วันพฤหัสบดีที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2561

1.เรื่อง ผอ.-รอง ผอ.สถานศึกษา, 2.ใครแต่งตั้งกรรมการคุมสอบปลายภาค, 3.ตำบลที่มีครู กศน.ตำบล 2 คน สอบครูผู้ช่วยได้ 1 คน จะถูกตัดตำแหน่งว่างไหม, 4.ถ่ายรูปชุดขาวไปรายงานตัวเป็นครูผู้ช่วย ใช้บ่าแบบไหน, 5.ครู กศน.เอานักศึกษามาเป็นสามี, 6.ใช้ใบวุฒิปลอมมาสมัครเรียน นายทะเบียนต้องทำอย่างไร, 7.อินทรธนูลูกจ้างประจำ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันเสาร์ที่ 18 ส.ค.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ไม่ทราบว่า ปี 62 เปิดสอบรองสถานศึกษาขึ้นตรงมั้ย และถ้าสอบรองติด แล้วอยู่ครบ 1 ปี สามารถสอบ ผอ.ได้เลยมั้ย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หลายคนบอกมาว่า แม้สอบรองได้ก็ไม่สามารถสอบ ผอ.ได้เลย ต้องรอทำชำนาญการพิเศษก่อนถึงจะสอบ ผอ.ได้ ใช้ ว.21 เหมือนกับครู เลยไม่แน่ใจ

             ผมตอบว่า
             1)  ปี 62 กศน.จะเปิดสอบรอง ผอ.สถานศึกษาขึ้นตรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการมีตำแหน่งว่างด้วย  ที่สอบปี 61 นี้จะขึ้นบัญชี 2 ปี  ( ลองดูประกาศผล ว่า หลังบรรจุยังมีเหลือขึ้นบัญชีไว้หรือไม่ )
             2)  เมื่อเป็นรอง ผอ.สถานศึกษาขึ้นตรงแล้ว จะสอบเป็น ผอ.สถานศึกษา กศน.อำเภอ ใช่หรือไม่  คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครสอบมีหลายข้อ เช่น เป็นรอง ผอ.สถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเป็นครูขำนาญการ ฯลฯ ( ลองดูคุณสมบัติในประกาศรับสมัครปีนี้ )
             3)  การทำวิทยฐานะของ รอง ผอ. ไม่ได้ใช้ ว.21 เหมือนครู แต่ใช้ ว.17/52 เหมือน ผอ.

         2. วันที่ 23 ส.ค.61 มีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  คณะกรรมการดำเนินการสอบ ใครเป็นผู้มีอำนาจลงนามแต่งตั้ง  เป็น ผอ.สำนักงาน กศน.จังหวัด หรือ ผอ.กศน.อำเภอ  และกรณีใช้บุคคลภายนอกเป็นกรรมการกำกับห้องสอบ ต้องทำเป็นคำสั่ง หรือ ประกาศ

             ผมตอบว่า   เมื่อวันที่ 11 ก.ย.56 กศน.นิคมคำสร้อย โทร.มาถามผมว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบปลายภาค ซึ่งตั้งบุคคลในสังกัดอื่นเป็นคณะกรรมการด้วย ใครเป็นผู้ออกคำสั่งแต่งตั้ง และอ้างอิงคำสั่งมอบอำนาจฉบับใด  ผมตอบว่า  การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบปลายภาคของนักเรียนนักศึกษา เป็นเรื่องของสถานศึกษา เป็นบทบาทอำนาจหน้าที่โดยตรงของ หัวหน้าสถานศึกษา ไม่ใช่อำนาจของปลัดกระทรวง จึง ออกเป็นคำสั่งโดยไม่ต้องอ้างอิงคำสั่งมอบอำนาจ ถ้าจะอ้างก็อ้างระเบียบการวัดผลและประเมินผลการเรียน

             ส่วนการแต่งตั้งบุคคลในสังกัดอื่นเป็นคณะกรรมการด้วยนั้น ท่านวรวิทย์ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติกร กจ.กศน. บอกว่า ก่อนออกคำสั่งแต่งตั้ง ให้ทำหนังสือไปขอความเห็นชอบผู้บังคับบัญชาหรือต้นสังกัด เช่น ผอ.โรงเรียนของเขาก่อน ว่า ขอรายชื่อครูในโรงเรียนรวมทั้ง ผอ. เพื่อ กศน.อำเภอแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการสอบฯ เมื่อเขาตอบเห็นชอบแล้ว ผอ.กศน.อำเภอก็สามารถออกคำสั่งแต่งตั้งได้ในลักษณะเดียวกับการแต่งตั้งบุคลากรในสังกัด กศน.อำเภอ ( อาจจะระบุในคำสั่งด้วยว่า โดยได้รับความเห็นชอบจากผู้อำนวยการโรงเรียน... ... )

         3. คืนวันที่ 24 ส.ค.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตำบลที่มีครู กศน.ตำบล 2 คน..สอบบรรจุได้..1คน..จะถูกตัดไปไหม...พอดีครูที่นี่สอบติดเพื่อบรรจุได้1 คน..ถ้าโดนตัดจะได้แก้ปัญหาคนมาทำงานแทน...

             ผมตอบว่า   ส่วนกลางเคยแจ้งว่าจังหวัดใดมีครู กศน.ตำบล.เกินกรอบ ( ดูหนังสือแจ้งที่  https://www.dropbox.com/s/f6sn6uxc65bnvpz/PRGchenge.pdf?dl=0 )
             ถ้าเป็นจังหวัดที่ส่วนกลางแจ้งว่าเกินมากกว่า 20 % ก็จะถูกตัด  จังหวัดต้องรายงานตำแหน่งว่างไปยังส่วนกลางเพื่อเกลี่ยอัตราไปให้จังหวัดอื่นที่มีครู กศน.ตำบลไม่ครบทุกตำบล
             ถ้าเกินน้อยกว่า 20 % และมีบางตำบลในจังหวัดนั้นยังไม่มีตำแหน่งครู กศน.ตำบล  ให้แจ้งส่วนกลางขอย้ายตำแหน่งไปตำบลนั้น 
             แต่ถ้าไม่ใช่จังหวัดที่ส่วนกลางเคยแจ้งว่าเกิน ก็ไม่ถูกตัด  จังหวัดสามารถบรรจุคนใหม่แทนได้เลย ( คนอื่นย้ายข้ามอำเภอมาแทนได้กรณีมีตำแหน่งว่าง และตำแหน่งไม่เกินกรอบ )  ถ้าจะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่นหรือย้ายเลขที่ตำแหน่งว่างไปตำบลอื่นต้องขอนุมัติส่วนกลางก่อน แต่ตำแหน่งครู กศน.ตำบลคงเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่นไม่ได้เพราะจะเกลี่ยให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ

         4. วันอาทิตย์ที่ 26 ส.ค.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ชุดขาว ตรงบ่าใช้แบบไหน แฟนสอบติด ( รูปถ่ายชุดเครื่องแบบพิธีการ )

             ผมตอบว่า   ใช้อินทรธนูแบบช่อชัยพฤกษ์ มีดอก 3 ดอก ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ )
             ถ้าได้เครื่องราชฯแล้ว ก็ประดับได้ ถ้าตอนเป็นพนักงานราชการได้เครื่องราชฯแล้ว ก็ประดับต่อไปได้  แม้ยังไม่ได้เครื่องราชฯก็ประดับแพรแถบย่อเหรียญที่ระลึกซึ่งไม่มีช้างไม่มีมงกุฎได้
             โดยถ้าเป็นเครื่องแบบพิธีการแบบครึ่งยศ/เต็มยศ(เสื้อขาว-กางเกงกระโปรงดำ เช่นแต่งวันเฉลิมฯพระเจ้าอยู่หัว ) ให้ประดับเหรียญตราเครื่องราชฯหรือเหรียญที่ระลึกจริง  แต่ถ้าเป็นเครื่องแบบปฏิบัติราชการ(สีกากี) กับเครื่องแบบพิธีการแบบปกติขาว(ขาวทั้งชุด) ก็ติดแพรแถบย่อแทนเหรียญตราจริง
             (ปีกโดดหอสูง ถ้ามีประกาศนียบัตรหลักฐานรับรองก็ประดับได้ )







         5. วันเดียวกัน ( อาทิตย์ที่ 26 ส.ค.) มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์แชร์เข้มกศน. ว่า  กรณีที่ครู กศน. เรา เอานักศึกษา มาเป็นสามี (ไม่ใช่นักศึกษาที่ตนเองสอน แต่เป็นนักศึกษาในสถานศึกษาที่ตนสังกัด) แบบนี้มีความผิดทางวินัยมั้ย และตอนนี้นศ. จบออกไปแล้ว ยังสามารถร้อง คุรุสภาได้อยู่หรือป่าว

             ผมตอบว่า เอานักศึกษามาเป็นสามีไม่ผิด ถ้าถูกต้องตามประเพณีและกฎหมาย บรรลุนิติภาวะแล้วต่างเป็นโสดตั้งใจเลี้ยงดูกันฉันสามีภรรยาและสู่ขอสมรสกันตามประเพณี
             เว้นแต่จะไม่ถูกต้องเช่นแย่งสามีคนอื่น สามียังเป็นผู้เยาว์

         6. วันที่ 27 ส.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  ในกรณีสถานศึกษาขอตรวจสอบวุฒิการศึกษาของนักศึกษาไปยังสถานศึกษาเดิม  แล้วปรากฏว่าสถานศึกษาเดิมตอบกลับมาว่าไม่มีรายชื่อในระบบงานไอที  ในฐานะนายทะเบียนจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป

             ผมตอบว่า

             1)  ในส่วนของการทะเบียน

                  - ถ้าพบว่านักศึกษานำใบวุฒิปลอมมาสมัครเรียน หลังจากที่ให้ลงทะเบียนเรียนไปแล้ว ยังเรียนไม่จบ  ให้เสนอผู้บริหารเพิกถอนสภาพนักศึกษา  ( วิธีเพิกถอนสภาพนักศึกษาในโปรแกรม IT ให้ใช้เมนู 1-1-6 คือ 1.ขั้นตอนการดำเนินงาน - 1.บันทึกประวัตินักศึกษา - 6.แก้ไขข้อมูลการจบออก โดยเลือกสาเหตุที่จบ/ออก เป็น “3.หมดสภาพ” )
                  - ถ้าพบภายหลังว่านักศึกษานำใบวุฒิปลอมมาสมัครเรียน หลังจากเรียนจนจบได้วุฒิแล้ว ให้เพิกถอนวุฒิการศึกษา

             2)  ในส่วนของการแจ้งความดำเนินคดีข้อหาปลอมแปลงเอกสาร
                  - สำหรับสถานศึกษาที่ถูกปลอมแปลงใบวุฒิ ( สถานศึกษาที่ถูกแอบอ้างว่าเป็นผู้ออกใบวุฒินั้น ) จะเป็นผู้เสียหายหลัก เมื่อตรวจพบ ผอ.ต้องไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาข้อหาปลอมแปลงเอกสารราชการ แล้วรายงานต้นสังกัดโดยเร็ว ถ้าไม่ดำเนินการจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
                  - สำหรับสถานศึกษาที่ถูกนำวุฒิปลอมมาสมัคร จะแจ้งความข้อหาถูกใช้ข้อความเท็จ ( เขียนใบสมัครว่าเรียนจบมาแล้วทั้งที่ไม่จบจริง ) หรือไม่ อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา  ( ถ้าเป็น มสธ. เขาจะแจ้งความดำเนินคดีทุกราย เพื่อเป็นตัวอย่างในสังคม ไม่ปล่อยให้คนที่ใช้ข้อความเท็จลอยนวล )

         7. เย็นวันเดียวกัน ( 27 ส.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีพี่ที่เป็นลูกจ้างประจำให้สอบถามว่าพนักงานพิมพ์ ส 4 แต่งชุดกากีติดแถบแบบไหน แต่งชุดขาวติดช่อแบบไหน

             ผมตอบว่า   ต้องรู้ค่าจ้างด้วยจึงจะบอกได้  โดยทั่วไปเป็นดังนี้ ( ดูภาพประกอบ )
             1)  ลูกจ้างประจำหมวดแรงงาน ไม่มีสิทธิติดอินทรธนู
             2)  ลูกจ้างประจำหมวด กึ่งฝีมือ ค่าจ้างถึงขั้นต่ำของอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทตำแหน่งทั่วไป ระดับปฏิบัติ งาน ( ระดับ 2 เดิม ) ขึ้นไป ( 4,870 บาทขึ้นไป )

                  - เครื่องแบบปฏิบัติงาน(สีกากี) ใช้แบบ 1 แถบ ( 1 ขีด ) มีวงกลมเหนือแถบ
                  - เครื่องแบบพิธีการ(เสื้อขาว) ใช้แบบลายดอกประจำยาม 1 ดอก มีใบเทศ

             3)  ลูกจ้างประจำหมวด ฝีมือ ขึ้นไป
                  3.1)  ค่าจ้างเท่าอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทตำแหน่งทั่วไป ระดับปฏิบัติ งาน ( ระดับ 2 เดิม ) ( 4,870 – 8,339 บาท )
                         - เครื่องแบบปฏิบัติงาน(สีกากี) ใช้แบบ 1 แถบ ( 1 ขีด ) มีวงกลมเหนือแถบ
                         - เครื่องแบบพิธีการ(เสื้อขาว) ใช้แบบลายดอกประจำยาม 1 ดอก มีใบเทศ
                  3.2)  ค่าจ้างเท่าอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทตำแหน่งวิชาการ ระดับปฏิบัติ การ ( ระดับ 3-5 เดิม ) ( 8,340 – 15,049 บาท )
                         - เครื่องแบบปฏิบัติงาน(สีกากี) ใช้แบบ 2 แถบ ( 2 ขีด ) มีวงกลมเหนือแถบบน
                            ( ของลูกจ้างประจำ กับ พนักงานราชการ สป.ศธ. จะเป็นวงกลม โดยบ่าซ้ายขวา 2 ข้างเหมือนกัน ติดสลับข้างกันได้ แต่ของข้าราชการจะเป็นขมวด โดยบ่า 2 ข้างซ้ายขวาไม่เหมือนกัน ติดสลับข้างกันไม่ได้ )
                         - เครื่องแบบพิธีการ(เสื้อขาว) ใช้แบบลายดอกประจำยาม 2 ดอก มีใบเทศ
                  3.3)  ค่าจ้างเท่าอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทตำแหน่งวิชาการ ระดับชำนาญการขึ้นไป ( ระดับ 6 เดิม ) ( 15,050 บาทขึ้นไป )
                         - เครื่องแบบปฏิบัติงาน(สีกากี) ใช้แบบ 3 แถบ ( 3 ขีด ) มีวงกลมเหนือแถบบน
                         - เครื่องแบบพิธีการ(เสื้อขาว) ใช้แบบลายดอกประจำยาม 3 ดอก มีใบเทศ

             ตำแหน่งพนักงานพิมพ์ ส4 จะเป็นหมวดฝีมือ ( ตำแหน่งใดเป็นหมวดใด ดูที่  https://www.dropbox.com/s/3l0qtwmzj5c6aix/UniformedEmployees2.pdf?dl=0 )





วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2561

1.จะอบรมลูกเสือหลักสูตร B.T.C. ต้องอายุเท่าไร, 2.พิธีที่พนักงานราชการรับพระราชทานเครื่องราชฯ เขียนป้ายอย่างไร, 3.สอนเสริมได้วันละไม่เกินกี่ชั่วโมง, 4.นับเวลาผู้จะรับเข็มเชิดชูเกียรติยังไง งานบุคคลบอกว่ายังไม่ถึงเกณฑ์, 5.เรื่องนายทะเบียน, 6.การสอบวิชาเลือก เป็นอำนาจของจังหวัดหรืออำเภอ, 7.ผมเป็นคนมีปัญหา


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 31 ก.ค.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  การฝึกอบรมหลักสูตร BTC ทั้งวิสามัญและสามัญรุ่นใหญ่ อายุเท่าไหร่ขึ้นไปครับถึงจะเข้าการอบรมได้

             ผมตอบว่า   ผู้ที่จะเข้าอบรมหลักสูตรผู้กำกับลูกเสือ ขั้นความรู้เบื้องต้น ( B.T.C.) ต้องผ่านการอบรมขั้นความรู้ทั่วไป
             ส่วนผู้ที่จะเข้ารับการฝึกอบรมขั้นความรู้ทั่วไป ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
             แต่เขามักจะจัดอบรมขั้นความรู้ทั่วไป ควบคู่กับขั้นความรู้เบื้องต้น โดยใช้เวลาอบรมรวม 3 คืน 4 วัน  ผู้ที่จะเข้ารับการฝึกอบรมต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป
             ( ดูในข้อ 6-7 ที่ https://www.dropbox.com/s/jrcn3gzu79mvtvo/scoutT.pdf?dl=0 )

         2. วันที่ 2 ส.ค.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ในกรณีที่พนักงานราชการได้รับพระราชทานเครื่องราชฯปีนี้ และผอ.จังหวัดให้มีพิธีการรับต่อหน้าพระฉายาลักษณ์ เราจะใช้คำอย่างไรครับสำหรับเขียนป้าย
             พิธีเข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๐ ต่อหน้าพระฉายาลักษณ์ หรือว่าอย่างไรครับ

             ผมตอบว่า   ควรใช้ประโยคว่า พิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ ประจำปี ๒๕๖๐ หน้าพระฉายาลักษณ์  ( ไม่ต้องมีคำว่า "เข้า", "ต่อ" เพราะคำนี้เป็นภาษาพูด )

         3. ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  ค่าตอบแทนสอนเสริมฯ ไม่เกิน ชม. ละ ๒๐๐ บาท/คน คำถามคือเบิกได้วันละกี่ ชม.ครับ

             ผมตอบว่า   สอนเสริม กศ.ขั้นพื้นฐานใช่ไหม  ในหนังสือ “คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” หน้า 87 กำหนดไว้เพียงสั้น ๆ ว่า “ค่าตอบแทนวิทยากรสอนเสริม ให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังกำหนด”
             ส่วน “คู่มือการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2549 กำหนดไว้ในหน้า 60 ว่า
             “กำหนดให้มีการสอนเสริมในการจัดการเรียนรู้วิธีเรียนแบบพบกลุ่ม ทุกระดับการศึกษา ในหมวดวิชาพื้นฐาน สาระการเรียนรู้ที่ยุ่งยากซับซ้อนต่อการทำความเข้าใจ ได้แก่ หมวดวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ หมวดวิชาละไม่เกิน 12 ชั่วโมง ในแต่ละภาคเรียน  สำหรับจำนวนผู้เรียนที่เข้ารับการสอนเสริมแต่ละครั้ง ให้หัวหน้าสถานศึกษาพิจารณาตามความเหมาะสม  สำหรับค่าตอบแทนวิทยากรสอนเสริม ให้เบิกจ่ายในอัตราชั่วโมงละ 200 บาท ตามหนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน ที่ ศธ 0210.03/7113 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2548 ( ซึ่งอ้างอิงหนังสือกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ที่ กค 0409.7/15059 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 )”
             ฉะนั้น ปัจจุบันไม่ได้กำหนดจำกัดว่า สอนเสริมได้ไม่เกินวันละกี่ชั่วโมง
             ( อนึ่ง ครูหรือวิทยากรสอนเสริม ต่างจากวิทยากรการอบรม โดยการอบรมอาจมีวิทยากรพร้อมกันมากกว่า 1 คน แต่ครูสอนเสริมคงต้องมีคนเดียวในกลุ่มเดียวกันเวลาเดียวกัน )

         4. วันที่ 3 ส.ค.61 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  การที่จะได้รับเข็มเชิดชูเกียรตินั้น นับอายุการทำงานเป็นพนักงานราชการมาหรือ ฉันเป็นครูอาสาปี 2540 จนถึงปัจจุบัน งานบุคคลบอกว่ายังไม่ถึงเกณฑ์รับเหรียญ เพราะนับเวลาเริ่มเป็นพนังานราชการ อยากเรียนถามว่าใช่หรือไม่ เพราะเช็คชื่อแล้วไม่มีชื่อรับเหรียญทองปีนี้

             ผมตอบว่า   นับรวมระยะเวลา 3 ตำแหน่ง คือ ครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ครู ศรช. ที่ต่อเนื่องกัน  ถ้าเว้นช่วงแล้วเข้ามาใหม่ให่้เริ่มต้นนับใหม่ เช่นถ้าลาออกจากครู ศรช. 30 ก.ย.58 แล้วเป็นครูอาสาฯ 1 ต.ค.58 ต่อเลย ก็จะนับเวลารวมต่อกัน  เศษเกิน 6 เดือน นับเป็น 1 ปี
             ครบปีนี้ รับปีหน้า เช่น ครบ 20 ปี ภายใน 30 ก.ย.60 รับเข็มทองในปี 2561 เป็นต้น
             ส่วนกลางให้จังหวัดสำรวจรายชื่อส่งไป
             ( ถ้านับเวลาเฉพาะตอนเป็นพนักงานราชการ ประเทศไทยก็ยังไม่มีพนักงานราชการคนไหนได้เข็มทองหรอก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐประเภทพนักงานราชการ มีกำหนดขึ้นมายังไม่ครบ 20 ปี )

         5. วันที่ 7 ส.ค.61 มี ผอ.กศน.เขต โทร.มาถามผมเรื่องนายทะเบียน 2 คำถาม ว่า

             1)  นายทะเบียนลา 1 สัปดาห์ ถ้าต้องออกใบ รบ.ในช่วงที่นายทะเบียนลานี้ จะให้คนอื่นเป็นนายทะเบียนแทน หรือ ผอ.ลงนามในนามนายทะเบียนด้วย ได้หรือไม่
                  ผมตอบว่า  ไม่ได้  ปกติต้องรอ แต่ถ้ามีความจำเป็นรอไม่ได้ ผอ.ก็ออกคำสั่งแต่งตั้งคนอื่นเป็นนายทะเบียนชั่วคราว และเมื่อนายทะเบียนคนเดิมกลับมาทำงานโดย ผอ.ต้องการให้คนเดิมเป็นนายทะเบียน ผอ.ก็ออกคำสั่งแต่งตั้งนายทะเบียนใหม่อีกครั้ง

             2)  การแต่งตั้งนายทะเบียน ถ้ามีข้าราชการต้องแต่งตั้งจากข้าราชการ กรณีที่มีข้าราชการคนเดียวใกล้เกษียณและไม่ต้องการเป็นนายทะเบียน จะแต่งตั้งพนักงานราชการเป็นนายทะเบียนได้หรือไม่
                  ผมตอบว่า  เหตุผลที่ว่าใกล้เกษียณยังไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอ แต่เหตุผลที่ว่าเขาไม่ต้องการเป็นนายทะเบียน ต้องให้เขาบันทึกแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนจึงจะพิจารณาแต่งตั้งพนักงานราชการเป็นนายทะเบียนได้

         6. วันที่ 8 ส.ค.61 มีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  การจัดตารางสอบรายวิชาเลือกเสรี เป็นอำนาจของ จังหวัด หรือว่า กศน.อำเภอ
             ผมตอบว่า   มีนโยบาย 2 นโยบาย ที่ต่างกัน  แต่นโยบายที่ออกทีหลัง เป็นการแจ้งในที่ประชุมอบรม ดังนี้
             1)  นโยบายเดิม การจัดสอบปลายภาควิชาเลือก ให้อยู่ในความดูแลของจังหวัด โดยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด เช่น ถ้ามีวิชาเลือกวิชาเดียวกัน 2 อำเภอขึ้นไป ต้องสอบในเวลาและเครื่องมือเดียวกัน ( ถ้าวิชาเลือกใดมีเพียงอำเภอเดียวจึงอนุโลมให้อำเภอนั้นดำเนินการเอง )
             2)  นโยบายใหม่ ตั้งแต่มีโปรแกรมการเรียนรู้ มีวิชาเลือกเสรี ซึ่งอาจมีวิชาเลือกเสรีเป็นร้อยเป็นพันวิชาตามบริบทของแต่ละอำเภอ มีการแจ้งในที่ประชุมอบรมตั้งแต่สมัยท่านเลขาฯสุรพงษ์ว่า การประเมินผลวิชาเลือกเสรีให้เป็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งบางวิชาอาจไม่ต้องสอบแต่ประเมินจากโครงงาน หรือสอบอัตนัยข้อเดียว ฯลฯ

         7. วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค.61 ผมสนทนาทางไลน์กับหัวหน้ากลุ่มงานหนึ่งของส่วนกลาง กศน. ถึงเรื่องบุคลากรสำนักงานพระพุทธศาสนาถูกจับหลายท่าน บางท่านเป็นคนคุ้นเคยพวกเรา
             ผมบอกว่า  “บางครั้งก็อยู่ที่สถานการณ์ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ ยากที่จะยึดตัวเองเป็นที่ตั้ง”
             แล้วผมก็ระบายว่า
             ผมรู้สึกดีใจมาก ๆ ที่ผมรอดพ้นมาจนเกษียณแล้ว
             ผมมีปัญหาสำคัญ 2 เรื่อง
             1)  ผมหงุดหงิดกับพฤติกรรมของเด็กยุคใหม่ ถ้าผมเป็นครูในโรงเรียน วันหนึ่งผมต้องโดนแจ้งความ ลงข่าวหน้าหนึ่ง เรื่องลงโทษเด็กเกินกว่าเหตุแน่ แต่โชคดีที่ผมเป็นข้าราชการครู กศน.ที่ไม่ได้สอนเด็ก
             2)  ผมเป็นคนตรง ( ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อดีหรือไม่ เพราะทำให้ผมมีความทุกข์ มีปัญหาในการทำงานหลายครั้ง แต่ผมก็เปลี่ยนนิสัยไม่ได้ ) ผมเคยเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุสำคัญหลายครั้ง เช่น อบจ.ตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุที่ อบจ.ซื้อให้หน่วยงาน กศน., เคยเป็นหัวหน้างานการเงินระดับจังหวัด, เคยรักษาการในตำแหน่ง ผอ.จัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ฯลฯ  การดำเนินการเหล่านี้ทำให้ผมกลายเป็นคนมีปัญหาในสายตาของหลายคน
                  ตลอดเวลารับราชการ 40 ปี ผมได้ฉายาเกี่ยวกับความตรงหลายฉายา เช่นสมัยที่ทีวีไทยนำเรื่องเปาบุ้นจิ้นเข้ามาฉายยุคแรก ผมก็ได้รับฉายาว่าเปาบุ้นจิ้น  บางครั้งก็ได้รับฉายาว่าไม้บรรทัดเหล็ก  ผมไม่ยอมทำงาน "นายทะเบียน" เพราะต้องดำเนินการในลักษณะให้อภิสิทธิ์คนบางประเภท และอีกหลายงานในยุคของผู้บริหารบางคน  ผมทำงานได้หลายงานแต่ต้องยอมให้ผมทำตามระเบียบ
                  บางคนบอกว่าผมตรงขนาดเสาไฟฟ้าอยู่ตรงหน้าผมก็ไม่เดินอ้อมแต่เดินชนเสา คนแบบนี้จะประสบปัญหา ไม่ก้าวหน้า
                  แต่ผมก็ดีใจมากที่รอดมาถึงเกษียณแล้ว