วันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560

1.คุมสอบครึ่งวัน เบิกค่าเครื่องดื่มคนละ 15 หรือ 30 บาท, 2.เงินอุดหนุนรายหัวเหลือจากปีก่อน เปลี่ยนโครงการใช้จ่ายได้ไหม, 3.มีคนว่า กศน.ไม่ได้มาตรฐาน, 4.จากอยุธยาไปเชียงใหม่ ไปขึ้นรถไฟที่หัวลำโพง เบิกได้ไหม, 5.ตอบไปก็แสลงใจผู้รับจ้างเหมาบริการต่าง ๆ, 6.จนท.บันทึกข้อมูล/ธุรการ ที่จ้างด้วยเงินอุดหนุน คุมสอบปลายภาคไม่ได้, 7.เรียน ป.บัณฑิต พ่อเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาทิตย์ที่ 20 ส.ค.60 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ค่าเครื่องดื่มในการสอบคนละ 30 บาทต่อวันต่อคน..ถ้าคุมสอบครึ่งวัน เบิก 15 บาท/คน..ใช่หรือเปล่า

             เรื่องนี้ ผมไม่แน่ใจ จึงเรียนถามต่อไปยัง หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ว่า  ในหนังสือที่แจ้งเรื่องค่าใช้จ่าย/ค่าบำรุงสนามสอบ ถ้าเป็นค่าตอบแทนกรรมการ จะระบุว่าไม่เกิน 300 บาทต่อครึ่งวัน ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน แต่ในส่วนของค่าเครื่องดื่ม ไม่พูดถึงครึ่งวันเลย ระบุเพียงว่า "ค่าเครื่องดืม วันละไม่เกิน 30 บาท/คน" เมื่อระบุอย่างนี้ กรรมการที่คุมสอบครึ่งวัน จะเบิกค่าเครื่องดื่มได้ไม่เกิน 15 บาท หรือไม่เกิน 30 บาท
             อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน ตอบตอนค่ำวันอาทิตย์ ว่า  ระเบียบระบุเป็นวัน หากคุมสอบครึ่งวันซึ่งระเบียบไม่ระบุครึ่งวัน ให้อยู่ในดุลพินิจของ ผอ.กศน.อำเภอผู้อนุมัติเบิก ว่าจะให้เบิกไม่เกิน 15 บาท หรือไม่เกิน 30 บาท

         2. ค่ำวันอาทิตย์ที่ 20 ส.ค.60 ผมเรียนถาม อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ว่า  เงินอุดหนุนรายหัวปี 59 ยังใช้ไม่หมด ปกติจังหวัดต้องทำแผน/โครงการใช้จ่ายเงิน ส่งคลังจังหวัดเพื่อนำเงินมาเก็บไว้ในบัญชีธนาคารใช่ไหม  ถ้ามีนโยบายเร่งด่วนเช่นเรื่องลูกเสือ จะใช้เงินนี้นำ นศ.ไปเข้าค่ายลูกเสือ แต่ในแผน/โครงการที่ทำไว้ไม่มีโครงการนี้ จะใช้จ่ายได้ไหม หรือจะปรับแก้แผนได้ไหม

             อ.สุนีย์ ตอบว่า  เงินอุดหนุนปี 59 ต้องใช้จ่ายตามโครงการที่ขออนุมัติไว้ก่อนสิ้นปี งปม.59 เท่านั้น เปลี่ยนโครงการไม่ได้ .. เรื่องเข้าค่ายลูกเสือให้ใช้เงินพัฒนาผู้เรียนปี 60
             ( ปกติ งบพัฒนาผู้เรียน ปี 60 ก็ต้องเสนอแผนให้ สนง.กศน.จังหวัดล่วงหน้า แต่ก็ขออนุมัติปรับเปลี่ยนแผนกับ ผอ.จังหวัดได้ )





         3. ดึกวันที่ 22 ส.ค.60 หลังจากผมโพสต์คลิปท่านเลขาธิการ กศน.ตอบเรื่องมีผู้บอกว่า กศน.ไม่ได้มาตรฐานไป ก็ไม่ผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  ถ้าเราคิดว่า กศน.ให้ความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เราก็ควรใช้ว่าเทียบเท่า แต่วุฒิเรามันมีศักดิ์และสิทธิเท่าในระบบโรงเรียน ประเด็นนี้แหละที่ทำให้คนดูถูกและมีปัญหามาตลอด เรื่องนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ กป.ไปทำ MOU กับ Seven Eleven เขาอยากได้เด็ก ม.ปลายของเราไปทำงาน แต่พอเอาไปอบรมก่อนออกทำงาน ปรากฏว่าเด็กเราอ่อนความรู้ ไม่ get ideas ซักเรื่อง  เขาพูดว่าวุฒิมีศักดิ์และสิทธิเท่ากับเด็กในระบบแต่ทำไมเด็กเรากับเด็กในระบบจึงมีความรู้ต่างกันมาก  ถ้าเราใช้เทียบเท่ามันก็ไม่เกิดปัญหา เพราะยังไง ๆ มันก็ไม่เท่า หรือว่าไง

             ผมตอบว่า   กศน.เราอยากได้ทุกอย่าง อยากเรียนง่ายจบเร็ว แล้วก็อยากได้ศักดิ์และสิทธิ์เหมือนในระบบ  ( ครู กศน.ก็อยากสอนแบบพัฒนาชุมชน ไม่อยากยุ่งยากเหมือนครูในระบบ แต่ก็อยากได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเพื่อให้มีสิทธิสอบเป็น ขรก.ครูและมีวิทยฐานะ ) มันก็มีปัญหาเรื่อยไป
             ( แต่ ปวช.ก็ไม่เหมือน ม.ปลายในระบบ เชาเรียนวิชาสามัญนิดเดียวเน้นวิชาชีพ แต่เขาก็มีศักดิ์และสิทธิเท่า ม.ปลายในระบบเหมือนกันนะ เพียงแต่เขาแยกเป็นคำว่า ปวช.ให้แตกต่าง )

         4. คืนวันที่ 22 ส.ค.60 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  จากอยุธยาเดินทางไปราชการที่เชียงใหม่ หากไปรถไฟ เราจะไปขึ้นรถที่หัวลำโพงได้ไหม กรณีเบิกค่าเดินทาง แต่รถจอดยุดยาด้วย คือจะตีตั๋วพร้อมกันหลายคน เพื่อได้ที่นั่งใกล้กัน

             เรื่องนี้  ผมคิดว่า ตามหลักการคงไม่ได้ แต่เพื่อความแน่ใจผมจึงเรียนถามหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ตอนดึกวันเดียวกัน ท่านตอบว่า
             ไม่ได้  เป็นการเดินทางย้อน ต้องเบิกจากอยุธยาไปเชียงใหม่ แล้วอย่าลืมเก็บกากตั๋วรถไฟเป็นหลักฐานเบิกด้วยนะคะ เพราะกลุ่มงานคลังเคยเวียนแจ้งไปแล้วกรณีเบิกค่าโดยสารรถไฟ
             ( ราชการไม่รับเหตุผลส่วนตัวที่ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน และ การจะได้ที่นั่งใกล้กันหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ขึ้นรถต้นทางหรือไม่ แต่อยู่ที่จองเร็วที่นั่งยังว่างมาก รวมกันให้คน ๆ เดียวจอง ก็ได้ที่นั่งใกล้กัน )

         5. ดึกวันเสาร์ที่ 26 ส.ค.60 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  การจ้างเหมาตามระเบียบพัสดุ ตำแหน่งครู ศรช. ครู ปวช. ครูสอนคนพิการ บรรณารักษ์ ปี 2560 ต้องทำการประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้างหรือไม่ เพราะสัญญาบอกสิ้นสุด 30 กย 60 / ปึ 61 สอบคัดเลือกใหม่ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ที่จริง การประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้างนั้น ไม่ถูกต้อง ตอบไปก็จะแสลงใจผู้รับจ้างเหมาบริการต่าง ๆ  ( การ สอบคัดเลือกก็ไม่จำเป็น )
             เรื่องนี้  เมื่อเดือน ก.ค.53 กระทรวงการคลังส่งหนังสือเวียน ด่วนมาก ถึงส่วนราชการต่าง ๆ
             ( สำนักงาน กศน. ส่งหนังสือกระทรวงการคลังฉบับนี้ไปให้ทุกจังหวัด ตามหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.117/2782 ลงวันที่ 9 ส.ค.53  และที่ สนง.กศน.จ.อย. ก็ส่งหนังสือนี้ต่อให้ทุกอำเภอ แต่เนื่องจากหนังสือมันยาว หลายแห่งจึงอ่านไม่เข้าใจ )
             หนังสือฉบับนี้สรุปได้ว่า
             " ปัจจุบัน ส่วนราชการหลายแห่งได้ดำเนินการจ้างเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ( กศน. ก็จ้างเหมาบริการหลายตำแหน่งหน้าที่ ด้วยวิธีจ้างเอกชนซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ) เพื่อปฏิบัติงานในลักษณะเช่นเดียวกับการจ้างแรงงาน ที่ไม่ถูกต้อง ทำให้
             ผู้รับจ้างคิดว่าเป็นบุคลากรของรัฐ และเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้เหมือนบุคลากรของรัฐ
             ดังนั้นเพื่อลดปัญหาข้อโต้แย้ง จึงให้ส่วนราชการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด ดำเนินการจ้างตามระเบียบพัสดุ ไม่ใช่ระเบียบลูกจ้าง
             - จ้างดำเนินงานเฉพาะโครงการหรือเฉพาะครั้งคราวที่มีความจำเป็นเพื่อเสริมการปฏิบัติงานในหน้าที่ปกติของส่วนราชการ ไม่จำเป็นต้องจ้างเต็มปีงบประมาณ และ มิให้ทำสัญญาจ้างในลักษณะต่อเนื่อง
             - อัตราค่าจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายตามวุฒิการศึกษา แต่ให้เป็นอัตราค่าจ้างปกติทั่วไปที่เป็นที่ยอมรับว่าเหมาะสมกับงานนั้น โดยให้คำนึงถึงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ด้วย
             - ไม่ถือเป็นบุคลากรของรัฐที่จะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ สวัสดิการ จากทางราชการ แต่เป็น "ผู้รับจ้างทำของ" ผู้ว่าจ้างไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องนำส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม แต่ผู้รับจ้างสามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ตามมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม "

.             หนังสือฉบับนี้ คุณดำรงศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน. ปี 53 ท่านยกตัวอย่างการจ้างตามระเบียบพัสดุว่า การค้ำประกันสัญญาจ้างต้องใช้ทรัพย์ไม่ใช่ใช้คนค้ำฯ และ
            
ไม่ทำสัญญาจ้างในลักษณะต่อเนื่อง คือไม่ใช้วิธีประเมินผลงานแล้วจ้างคนเดิมต่อเหมือนลูกจ้างชั่วคราว แต่ต้องดำเนินการเรื่องจ้างใหม่ทุกครั้ง ซึ่งอาจจะได้คนเดิมหรือไม่ก็ได้
             ( อนึ่ง ถึงแม้ว่า กระทรวงการคลังจะกำหนดว่า อัตราค่าจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายตามวุฒิการศึกษา แต่การจ่ายค่าจ้างตามวุฒิก็ไม่ผิด เพราะกระทรวงการคลังแค่ใช้คำว่า "ไม่จำเป็น" )
             ส่วนการ "ประกาศสอบคัดเลือก" ผู้รับจ้างเหมาบริการนั้น จริง ๆ แล้วไม่ถูกตามหนังสือกระทรวงการคลังฉบับนี้ ซึ่งให้ดำเนินการจ้างตามขั้นตอนของระเบียบพัสดุ  ( แต่ถ้าการสอบคัดเลือกนั้น เพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อหาคนที่เหมาะสม นอกเหนือจากการดำเนินการตามระเบียบพัสดุถูกต้องครบทุกขั้นตอนด้วย ก็คงไม่เป็นไร )
             ผมเคยตอบเรื่องนี้เช่น ใน
             - ข้อ 2 ที่  
https://www.gotoknow.org/posts/406637
             - ตอบ อ.สุพจน์ ตอนท้ายที่  
https://www.gotoknow.org/posts/445618

         6. วันอาทิตย์ที่ 27 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล/เจ้าหน้าที่ธุรการที่จ้างด้วยเงินอุดหนุน สามารถคุมสอบปลายภาคเรียนได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ใน คู่มือดำเนินการจัดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาฯหน้า 22 ข้อ 2.6 ( ดูได้ในข้อ 3 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2016/05/testkill.html ) กำหนดว่า กรรมการกำกับห้องสอบ เป็นครูของ กศน. ครู ศรช. สพฐ.
             เรื่อง
คู่มือการจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ปลายภาคนี้ จะมีการปรับปรุง โดยผมได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งสำนักงาน กศน.ที่ 80/2560 ให้เป็นคณะทำงานจัดทำคู่มือดำเนินการจัดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ปลายภาคเรียนและการจัดสอบ E-Exam  ซึ่งคณะทำงานประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ค.- 1 มิ.ย.60 และเสนอวิธีดำเนินการจัดสอบในเรื่องต่าง ๆ เช่น ในส่วนของกรรมการกำกับห้องสอบ ให้เป็น ข้าราชการทุกสังกัด พนักงานราชการทุกสังกัด ครูในสถานศึกษาของรัฐหรือเอกชน แต่ครูผู้สอนสังกัดสำนักงาน กศน.ไม่ให้กำกับห้องสอบนักศึกษาของตนเอง  ( ดูในข้อ 2 ที่ https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10207165722541804 )
             ฉะนั้น จึงให้ จนท.บันทึกข้อมูล/ธุรการ ที่จ้างด้วยเงินอุดหนุน คุมสอบปลายภาคไม่ได้ เพราะ ไม่ใช่ข้าราชการ-ไม่ใชพนักงานราชการ-ไม่ใช่ครู
             ท่าน ผชช.พรรณทิพา ( ผชช.เฉพาะด้านส่งเสริมมาตรฐาน กศน. อดีต ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ ) บอกว่า จนท.กศน. ทั้งข้าราชการ-พนักงานราชการ-จ้างเหมา ทุกตำแหน่ง เป็นกรรมการกลางได้

             ( จริง ๆ แล้ว เงินอุดหนุนรายหัว ใช้จ้าง จนท.ธุรการ ไม่ได้นะ เพราะธุรการเป็นเรื่อง กศ.ขั้นพื้นฐาน โดยอ้อมไม่ใช่โดยตรง )

         7. วันเสาร์ที่ 26 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถามเกี่ยวกับระเบียบการเบิกจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหน่อย คือลูกสาวอายุ 22 ปี และเรียนจบ ศศ.บ.เอกภาษาอังกฤษ จาก ม.ราชภัฎกำแพงเพชร และกำลังมารายงานตัวเพื่อเข้าเรียนต่อ ป.บัณฑิต ที่เดิม  พ่อจะยังมีสิทธิเบิกค่าเล่าเรียนบุตรได้อีกหรือไม่ เพราะว่าลูกสาวอายุยังไม่ถึง 25 ปี แต่ว่าเรียน ป.บัณฑิต

             ผมตอบว่า   เบิกไม่ได้  ค่าการศึกษาบุตรเบิกได้แค่ระดับ ป.ตรี และเบิกในระดับ ป.ตรี ได้เพียงหลักสูตรเดียว  ( ป.บัณฑิต เป็นหลักสูตรที่สูงกว่า ป.ตรี แต่ต่ำกว่า ป.โท )


วันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2560

1.ครู กศน.น่าสงสาร, 2.ต้องรักษาสภาพย้อนหลังทุกภาคไหม-นศ.พิการเรียนช้า ถ้าเกิน 5 ปีต้องเรียนใหม่ไหม-ต้องนำวิชาเลือกบังคับเข้ากรรมการสถานศึกษาไหม-ต้องมีการสอบกลางภาคไหม, 3.มีต่ออายุราชการของพนักงานราชการไม๊, 4.พนักงานราชการซื้อเครื่องราชอิสริยาภรณ์แบบนี้ถูกไหม, 5.การประเมิน/ต่อสัญญา พนักงานราชการ, 6.ประเมิน พรก.ได้คะแนนพอใช้ ไม่ต่อสัญญาใช่ไหม, 7.งบอุดหนุนรายหัว เหลือ ซื้อหนังสือได้ไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้


         1. คืนวันที่ 10 ส.ค.60 มีผู้เขียนข้อความตอบกลับท้ายโพสต์ผมบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ว่า  น่าสงสารกันนะพวกเราครูอาสา ครูกศน.ทำงานกันมา25ปีขึ้น เกษียนแล้วต้องกลับมาเริ่มต้น0 เพราะเราไม่มีเงินบำเน็จบำนาญกะเค้ากัน แต่เค้าเกษียนกันแล้วสบาย...เดินสายเที่ยวกันอย่างเดียว ?

             ผมเขียนข้อความตอบกลับว่า  ถ้าทำประกันสังคมแบบส่งเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพ ก็มีบำเหน็จบำนาญตามเกณฑ์นะ ( ดูในข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2013/11/10-mpbs.html )
             พนักงานราชการบรรจุใหม่ วุฒิ ป.ตรี หลักสูตร
4 ปี จะได้รับเงินเดือนมากกว่าข้าราชการพลเรือน 20 % โดยพนักงานราชการได้ 18,000 บาท แต่ข้าราชการได้ 15,000 บาท ส่วนที่เกินนี้ เป็นเงิน
             - ชดเชยบำเหน็จบำนาญ 10 %  โดยเมื่อ พรก.เกษียณจะไม่มีบำเหน็จบำนาญจากเงินงบประมาณอีก ( แต่ก็มีบำเหน็จบำนาญจากเงินประกันสังคมตามหลักเกณฑ์ )
             - ชดเชยสวัสดิการ 5 %  โดยจะเบิกค่าสวัสดิการเช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าตรวจสุขภาพ ค่าช่วยเหลือบุตร ค่าการศึกษาบุตรไม่ได้ ( แต่ก็เบิกจากระบบประกันสังคมได้ )
             - ชดเชยเงินประกันสังคมส่วนที่ลูกจ้างจ่ายสมทบ 5 %
             ส่วนที่เกินเดือนละประมาณ
3,000 บาทนี้ จะเป็นเงินชดเชยบำเหน็จบำนาญ ( 10 % ของเงิน 15,000 ) ประมาณ 1,500 บาท ซึ่งจะเป็นปีละประมาณ 18,000 บาท ถ้าทำงาน 25 ปี จะเป็นประมาณ 450,000 บาท นั่นคือเท่ากับพนักงานราชการได้เงินบำเหน็จบำนาญจากราชการประมาณ 450,000 บาท

         2. วันที่ 7 ส.ค.60 มี ขรก.ครูจาก กศน.อ.เมือง จังหวัดใกล้เคียง ไปหาผมถึงที่ กศน.อ.ผักไห่ คุยกันเรื่องการดำเนินงาน กศ.ขั้นพื้นฐานอย่างเดียว แต่หลายประเด็น ที่จำได้ เช่น

             1)  นศ.หายไปหลายเทอม แล้วมาลงทะเบียนรักษาสถานภาพ ต้องให้ลงทะเบียนรักษาสถานภาพย้อนหลังทุกภาคเรียนไหม
                  ผมตอบว่า  ตามหลักการ ถ้าไม่ลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนใด ก็ให้ติดต่อมาลงทะเบียนรักษาสถานภาพไว้ เพื่อให้รู้ว่ายังไม่เลิกเรียน ยังมีตัวตน ยังไม่หายไปไหน  ถ้าภาคเรียนใดไม่มาลงทะเบียนอะไรเลย ครูควรติดตามถามปัญหาเพื่อการแนะแนวได้ทันสภาพปัญหา
                  แต่.. ถึงแม้ไม่ลงทะเบียนอะไรเลยติดต่อกัน ( ไม่เกิน 6 ภาคเรียน ) โปรแกรมก็ไม่ได้เปลี่ยนให้เขาพ้นสถานภาพการเป็นนักศึกษา ถ้าเขาหายไปติดต่อกัน 6 ภาคเรียน แล้วต้นภาคเรียนที่ 7 เขามาลงทะเบียนรักษาสภาพในช่วงที่ยังเปิดให้ลงทะเบียน ก็ให้ลงทะเบียนรักษาสถานภาพเฉพาะในภาคเรียนที่ 7 ภาคเรียนเดียว โดยลงทะเบียนรักษาสถานภาพในโปรแกรม ITw ด้วย ก็จะมีสถานภาพเป็นนักศึกษาต่อไป ไม่ต้องลงทะเบียนรักษาสถานภาพย้อนหลังในภาคเรียนที่ 1-6 เพราะไม่มีระเบียบให้ลงทะเบียนย้อนหลัง เนื่องจากเจตนาจะให้ นศ.มีการติดต่อสื่อสารกับสถานศึกษาทุกภาคเรียน

             2)  นศ.พิการหลายคนเรียนได้ช้า ถ้าพิการมากเช่นพิการทางสมอง จะไม่สามารถเรียนจบได้ภายใน 5 ปี วิชาที่เรียนเกิน 5 ปีแล้ว ต้องเรียนใหม่เหมือน นศ.ปกติหรือไม่
                  ผมตอบว่า  นศ.พิการ กับ นศ.ปกติ ยังใช้ระเบียบหลักเกณฑ์และหลักสูตรเดียวกัน ฉะนั้น วิชาที่เรียนเกิน 5 ปีแล้ว ก็ต้องเรียนใหม่เหมือน นศ.ปกติ
                   ( อาจช่วย นศ.พิการให้เรียนจบง่ายขึ้น โดย ลดจำนวนรายวิชาเลือกเสรีที่ต้องเรียนให้เหลือน้อยลง ด้วยการ พัฒนาวิชาเลือกเสรีสำหรับคนพิการขึ้นมาโดยเฉพาะ ให้แต่ละวิชามีเนื้อหาน้อยแต่หน่วยกิตมาก ซึ่งจำนวนหน่วยกิตกำหนดจากเวลาที่ต้องใช้ในการเรียนรู้ ถ้าต้องใช้เวลาเรียนรู้ 40 ชม.จะเท่ากับ 1 หน่วยกิต ฉะนั้นเนื้อหาวิชา 2 หน่วยกิตของคนปกติ คนพิการเรียนได้ช้า ถ้าต้องใช้เวลาเรียนมากกว่าคนปกติ 2 เท่า วิชาที่มีเนื้อหาเท่า ๆ กันนั้น ถ้าคนพิการต้องใช้เวลาเรียน 160 ชม. วิชานั้นก็จะเป็น 4 หน่วยกิตสำหรับคนพิการ เมื่อแต่ละวิชาของคนพิการมีหน่วยกิตมาก จำนวนวิชาเลือกเสรีของคนพิการก็จะน้อยลง เรียนแต่ละเทอมไม่กี่วิชา
                  ส่วนนักศึกษาที่พิการทางสมองมาก ๆ จนไม่สามารถเรียนสายสามัญได้ ก็ไม่ต้องรับเข้าเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน )

             3)  ต้องนำวิชาเลือกบังคับให้คณะกรรมการสถานศึกษาเห็นชอบไหม คณะกรรมการต้องลงนามทุกคนไหม
                  ผมตอบว่า  หลักสูตรต่าง ๆ ต้องให้คณะกรรมการสถานศึกษาเห็นชอบ คำว่าหลักสูตรนี้อาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หลักสูตรรายวิชาแต่ละรายวิชา กับ หลักสูตรสถานศึกษา  ซึ่งต้องผ่านคณะกรรมการสถานศึกษาทั้ง 2 ส่วน
                  หลักสูตรสถานศึกษาคือ ภาพรวมโครงสร้างหลักสูตรทั้งหมดในแต่ละระดับชั้น ซึ่งรวมทั้งกำหนดวิชาบังคับและวิชาเลือกทั้งหมดไว้ในหลักสูตรสถานศึกษาด้วย
                  เมื่อส่วนกลางกำหนดวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้น ก็จะไปกระทบให้หลักสูตรสถานศึกษาเปลี่ยนแปลง เมื่อหลักสูตรสถานศึกษาเปลี่ยนแปลง ตามหลักการก็ต้องนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาให้คณะกรรมการรับทราบด้วย

                  หลักฐานสำคัญที่แสดงว่าหลักสูตรได้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาแล้ว คือ รายงานการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา
                  การให้กรรมการสถานศึกษาลงนามในเล่มหลักสูตร ก็เป็นหลักฐานได้อีกอย่างหนึ่ง ถ้ากรรมการลงนามเกินครึ่งก็ใช้เป็นหลักฐานแทนรายงานการประชุมได้ แต่ถ้าจำนวนกรรมการที่ลงนามไม่ถึงครึ่งหรือประธานลงนามเพียงผู้เดียว ก็ยังต้องใช้รายงานการประชุมประกอบเป็นหลักฐานด้วย

             4)  จำเป็นต้องมีการสอบกลางภาคไหม
                  ประเด็นนี้คิดไม่ตรงกัน โดย ผมบอกว่า  การวัดผลระหว่างภาค ไม่จำเป็นต้องมีการสอบกลางภาค โดยเฉพาะวิชาเลือกเสรีท่านอดีตเลขาฯสุรพงษ์เคยพูดว่า การวัดผลระหว่างภาคของวิชาเลือกเสรีอาจวัดจากโครงงานอย่างเดียวก็ได้ หรือสอบอัตนัยข้อเดียวก็ได้
                  แต่.. อาจารย์ท่านที่มาคุยด้วย บอกว่า หนังสือสั่งการจาก สนง.กศน. เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ได้กำหนดอย่างที่ผมบอก แต่กำหนดว่า
                   “การประเมินผลระหว่างภาคเรียน ทั้งรายวิชาบังคับและรายวิชาเลือก ให้มีคะแนนจาก 3 ส่วน ( ไม่ได้ใช้คำว่า ควรมีคะแนนจาก 3 ส่วน” ) คือ
                  - คะแนนจากการทำกิจกรรม  ได้แก่ แบบฝึกหัด, กรต., รายงาน, ภาคปฏิบัติ เป็นต้น
                  - คะแนนจากการทำโครงงาน หรือแฟ้มประมวลผลงาน/ชิ้นงาน
                  - คะแนนจากการทดสอบ  ได้แก่ การทดสอบย่อย, การทดสอบระหว่างภาคเรียน ( เน้นอัตนัย )
                   ( ดูหนังสือแจ้งนี้ได้ที่  https://db.tt/3fIuhsFW )
                  โดยส่วนที่ 3. กำหนดว่า คะแนนจากการทดสอบ ได้แก่ ทดสอบย่อย ทดสอบระหว่างภาคเรียน” ( ใช้คำว่า ได้แก่ไม่ได้ใช้คำว่า เช่น” ) ฉะนั้นต้องมีการ ทดสอบระหว่างภาคเรียน ซึ่งการทดสอบระหว่างภาคเรียนที่ไม่ใช่การทดสอบย่อย ก็คือการสอบกลางภาค  สรุป ต้องมีการทดสอบย่อย การสอบกลางภาคด้วย ทุกวิชา ทุกวิธีเรียน

                  ผมจึงถามประเด็นนี้กับคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. เมื่อ 8 ส.ค.60 ว่า  เมื่อหนังสือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นอย่างนี้ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าวิชาใด วิธีเรียนใด ไม่สอบกลางภาค จะถือว่าทำผิดหรือไม่
                  คุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ตอบว่า  หนังสือฉบับนี้ออกจากกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ น่าจะเป็นข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับการวัดผลประเมินผลตามหลักการมากกว่า.. การวัดระหว่างภาคจะมี 3 หรือกี่ส่วน ให้แล้วแต่ธรรมชาติของแต่ละวิชา

         3. วันอาทิตย์ที่ 13 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  มีต่ออายุราชการของพนักงานราชการไม๊

             ผมตอบว่า   ไม่มีการต่ออายุพนักงานราชการทั่วไปของ สป.ศธ.
             ( เดิม ปีหนึ่งท่านอดีตเลขาธิการ กศน. แจ้งในที่ประชุมว่าจ้างพนักงานราชการที่อายุ 60 ปีต่อได้ แต่ปีหลังท่านเดิมก็แจ้งในที่ประชุมให้จ้างแค่อายุ 60  และปี 54 ก็มีการกำหนดเรื่องอายุสูงสุดของพนักงานราชการ ไว้ในข้อ 3 ของข้อกำหนด สป.ศธ. ดูได้ที่
             https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/PRGgasean.pdf )

         4. วันเดียวกัน ( อาทิตย์ที่ 13 ส.ค.) มีพนักงานราชการถามผมทางไลน์ ว่า  ปรึกษาหน่อย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ผมได้รับแล้ว คือ บ.ช. และยื่นขอปี 59 (รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา) คือ จ.ม. ถ้ามีประกาศ ผมจะซื้อ โดยมีเหรียญในหลวงด้วย รวมแบบในรูป ถูกไหม

             ผมตอบว่า   ( เหรียญซ้าย = จ.ช., เหรียญกลาง = บ.ช. )  ถ้าขอประจำปี 59 จะไม่มีการพระราชทานนะ เพราะ ร.9 สวรรคตก่อนวันที่ 5 ธ.ค.59  แต่ต้นสังกัดก็นำมาขอรวมให้ใหม่ในปี 60 ( ขอพระราชทานจาก ร.10 ) ซึ่งกว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประดับได้ก็ประมาณ ม.ค.61
             ส่วนเหรียญด้านขวา เหรียญที่ระลึก ร.9 ทรงเจริญพระชนพรรษา 7 รอบ 84 พรรษาในปี พ.ศ.54 นั้น ใครเกิดไม่หลังปี 54 ก็ประดับได้ 






         5. วันที่ 15 ส.ค.60 ผมเรียนถามเรื่องการประเมิน/ต่อสัญญา พนักงานราชการ จากท่าน ผอ.กจ.กศน. ได้รับข้อมูลดังนี้

             - ให้ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการ เพื่อการต่อสัญญาและการเพิ่มค่าตอบแทนประจำปี ตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่ปฏิบัติปกติ
             - ให้ประเมินทุกคนที่บรรจุอยู่ก่อนวันที่ 1 ต.ค.60 แม้ว่าจะอายุราชการไม่ถึง 4 เดือน ( ประเมินเพื่อต่อสัญญา ) โดยถ้าบรรจุแต่งตั้งหลังช่วงการประเมินครั้งที่ 1/60 ก็ให้ประเมินครั้งที่ 2/60 เพียงครั้งเดียว ( ถ้าประเมินครั้งเดียว คะแนนที่ได้ไม่ต้องหารด้วยสอง )
             - ผู้ที่มีเวลาปฏิบัติงานในปี งปม.60 ไม่ครบ 8 เดือน เช่นบรรจุแต่งตั้งหลังวันที่ 1 ก.พ.60 ให้ประเมินเพื่อการต่อสัญญาอย่างเดียว ไม่ได้ประเมินเพื่อการเพิ่มค่าตอบแทนประจำปี
             ( ผู้ที่มีเวลาปฏิบัติงานไม่ครบ 8 เดือน จะต่อสัญญาด้วยค่าตอบแทนเท่าเดิม โดยผลการประเมินต้องอยู่ระหว่าง ดี ถึงดีเด่น )
             - ผู้ที่ผ่านการประเมิน ( คือคะแนนเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้นไป ) ให้ต่อสัญญาครั้งนี้เป็นเวลา 3 ปี ทุกคน ส่วนผู้ที่คะแนนเฉลี่ยในปี งปม.60 ต่ำกว่าดี ให้เลิกจ้าง โดยถ้าเดิมอัตราไม่เกินกรอบอยู่ ให้เรียกบรรจุคนใหม่แทนในตำแหน่งเดิมที่เดิม ถ้าจะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่นหรือย้ายที่ ให้ขออนุมัติส่วนกลางก่อน และถ้าเดิมอัตราครู กศน.ตำบล เกินกรอบอยู่ ให้แจ้งส่วนกลางเพื่อเกลี่ยอัตราไปให้จังหวัดอื่นที่มีครู กศน.ตำบลไม่ครบทุกตำบล
             - ในส่วนของการย้าย นั้น ยังไม่มีนโยบายจากระดับกระทรวงในเรื่องนี้ว่ารอบนี้จะมีการให้ย้ายไปทำสัญญาใหม่ในที่ใหม่เหมือนรอบที่ผ่านมาหรือไม่ ( ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ให้ย้ายได้ )


         6. คืนวันที่ 16 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ได้อ่านจากข้อความที่อาจารย์โพสต์เรื่องการประเมินต่อสัญญา พนง.ราชการในรอบเดือนตุลาคม 2560 ที่จะถึงนี้  ขอถามแทนเพื่อนว่า คือในการประเมินครั้งที่ 1 ที่ผ่านมาได้คะแนนพอใช้ ถ้าครั้งที่ 2 ได้คะแนนพอใช้อีก ผลคือ ไม่ต่อสัญญาใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ใช่ครับ ถ้าได้พอใช้ 2 ครั้ง เฉลี่ยแล้วก็จะไม่เกินพอใช้แน่นอน ซึ่งถ้าเฉลี่ยต่ำกว่าดีก็ไม่ต่อสัญญา
             คะแนน 2 ครั้งรวมกันแล้วหารด้วย 2 ต้องเป็น 75 % ขึ้นไป  ( พอใช้ = 65-74 %, ดี = 75-84 %, ดีมาก = 85-94 % )
             - ถ้าครั้งที่ 1 ได้ 74.9 ( พอใช้ )  ครั้งที่ 2 ต้องได้อย่างน้อย 75.1 ( ดี )  จึงจะเฉลี่ยเป็น ดีขึ้นไป
             - ถ้าครั้งที่ 1 ได้ 65 ( พอใช้ )  ครั้งที่ 2 ต้องได้อย่างน้อย 85 ( ดีมาก )  จึงจะเฉลี่ยเป็น ดีขึ้นไป
             ถ้าตั้งใจทำงานเต็มที่แล้ว คณะกรรมการและผู้บริหารเขาคงเพิ่มคะแนนให้

              ( การประเมิน ไม่ใช่ประเมินในเดือน ต.ค.นะ แต่ควรประเมินและประกาศผลก่อน เพราะจะหมดสัญญาเดิมเมื่อสิ้นเดือน ก.ย. ถ้าให้ทำงานต่อในเดือน ต.ค.ไปแล้วแจ้งผลภายหลังว่าไม่ต่อสัญญา ก็อาจมีปัญหา )

         7. วันที่ 18 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  งบอุดหนุน (รายหัว) กรณีเหลือ สามารถให้สถานศึกษาซื้อหนังสือได้ไหม หนังสือเรียน ทั้งบังคับ และทั่วไป กรณีได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
             ผมตอบว่า   ซื้อได้ตามระเบียบ/วงเงิน/แผน
             ตามคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 605/59 ลว.28 มี.ค.59 ข้อ 11 กำหนดให้เบิกจ่ายเงินอุดหนุน เป็นค่าดำเนินการเกี่ยวกับสื่อ วัสดุอุปกรณ์การศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้  การซื้อหนังสือเรียนวิชาบังคับ-วิชาเลือก ไว้ที่ กศน.ตำบล/ศรช. สำหรับให้ นศ. อ่าน/ยืมอ่าน ก็ถือเป็นการซื้อสื่อตามข้อ 11 นี้  ( แต่ถ้าซื้อแจก นศ. หรือซื้อหนังสือทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับหลักสูตรสถานศึกษา ซื้อไม่ได้ )

วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2560

1.กิจกรรมศูนย์ฝึกอาชีพ เบิกค่าป้ายได้ไหม, 2.เรื่องการขอย้ายประจำปี, 3.ทำไมครู ศรช.ต้องจ่ายเองหมด, 4.ที่ให้ผู้บริหารอยู่ไม่เกิน 4-6 ปีนั้น หมายถึง ผอ.กศน.อ.ใช่ไหม, 5.ปัญหาการฝึกปฏิบัติวิชาชีพที่ กศน.ระหว่างเรียน ป.บัณฑิต, 6.ทัศนศึกษาศูนย์วิทย์ฯ เบิกค่าอะไรได้บ้าง, 7.เมื่อไหร่ครู กศน.ตำบลจะครบทุกตำบล



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 2 ส.ค.60 Manoch Keeratikittikanlaya ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  งบรายจ่ายอื่น กิจกรรมศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน เบิกค่าป้ายไวนิลได้ไหม

             ผมตอบว่า   ค่าป้ายไวนิลอะไร เขียนว่าอย่างไร เป็นวัสดุฝึกหรือเปล่า ฝึกวิชาอาชีพการทำป้ายหรือเปล่า
             งบศูนย์ฝึกอาชีพ ( รายจ่ายอื่น ) ให้จัดในรูปแบบกลุ่มสนใจหรือชั้นเรียน ไม่ให้จัดในรูปแบบฝึกอบรม ซึ่งการจัดในรูปแบบกลุ่มสนใจหรือชั้นเรียน ผมเคยโพสต์ตอบแล้วว่าเบิกค่าป้ายไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นวัสดุฝึก เช่นฝึกวิชาอาชีพการทำป้ายไวนิล
             ดูคำตอบเดิม ๆ เช่นใน
             - ข้อ 1 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2016/07/1-15.html
             - ข้อ 5.4 (1) ที่  http://nfeph.blogspot.com/2016/03/moenet.html

         2. วันที่ 31 ก.ค.60 มี ผอ.กศน.อ. ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  วาระย้ายสิงหา มี ผอ.อำเภอที่เราต้องการย้ายไป ท่านเกษียณ 30 กันยานี้ เราเขียนขอลงเลยได้ไหม

             เรื่องนี้  ผมคิดว่า ได้ เพราะคำสั่งย้ายคงไม่ออกก่อนวันที่ 1 ต.ค. และปกติการขอย้ายเราจะเขียนขอลงที่ไหนก็ได้ที่คิดว่าจะว่าง ที่รู้ว่าจะมีคนขอย้ายออก ก็ได้  เพียงแต่เมื่อถึงเวลาที่เขาพิจารณาการย้าย ถ้าตำแหน่งนั้นไม่ว่าง ตำแหน่งเดิมไม่ได้ออกจริง เราก็จะไม่ได้ย้ายไปลงที่ตำแหน่งนั้น
             แต่เพื่อความแน่ใจ ผมได้เรียนถามประเด็นนี้กับท่านผู้ทรงคุณวุฒิ และ รก.กจ.กศน. ท่านบอกว่า เขียนขอย้ายลงตำแหน่งที่คิดว่าจะว่าง จะเกษียณ ได้  ทั้งนี้ กจ.จะแจ้งเรื่องการขอย้ายประจำปีพร้อมตำแหน่งว่าง ( แต่ไม่แจ้งตำแหน่งที่จะเกษียณ ) มายังจังหวัด

             อนึ่งการประชุม อ.ก.ค.ศ.สป. ในวันที่ 4 ส.ค.60 ที่ประชุมให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาย้าย ผอ. จาก 6 ข้อ เป็น 8 ข้อ

         3. คืนวันที่ 3 ส.ค.60 Aom Maylilinn ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ทำไม่ครู ศรช. ต้องออกค่าใช้จ่ายเองในการซื้ออุปกรณ์การสอน เช่น กระดานดำ เสาธง โต๊ะหนังสือ ตรงนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายจากรัฐไห้ใช้ไม่ และไปโครงการต่างจังหวัดก็ต้องจ่ายเองหมด หนูสงสัย

             ผมตอบว่า   ค่าใช้จ่ายหลายอย่างที่ถาม จ่ายจากเงินรัฐ ( เงินอุดหนุน เงินรายได้สถานศึกษา งบบริหาร ) ได้  รวมทั้งค่าไปโครงการต่างจังหวัด ( ค่าไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ ) ผมก็เคยโพสต์แล้วว่า ผู้รับจ้างเหมาบริการสามารถเบิกได้ในกรณีใด
             แต่ถ้าเป็นค่าครุภัณฑ์ จะจ่ายได้เฉพาะเงินรายได้สถานศึกษากับเงินที่ได้รับการจัดสรรเจาะจงมาให้ซื้อครุภัณฑ์อะไรโดยเฉพาะ ซึ่งเกือบทุกแห่งไม่มีเงินนี้หรอก
             ทุกแห่งจะมีเงินอุดหนุนกับงบบริหาร ซึ่งหลายแห่งเขาก็จัดสรรให้ครู ศรช.เบิกจ่ายได้นะ ไม่ได้ให้ครูจ่ายเองหมด ลองคุยขอความอนุเคราะห์กับ ผอ.ดู อาจเบิกได้บางส่วน   แต่ถ้ามากไป เงินอุดหนุนไม่พอ ( ยิ่งถ้าครู ศรช.มาก นักศึกษาน้อย จะได้รับเงินอุดหนุนน้อย ส่วนงบบริหารนั้นไม่พอกันอยู่แล้ว ) อาจต้องหาวิธีขอความร่วมมือช่วยเหลือจากเครือข่าย ซึ่งถ้าเราเข้ากับชุมชนได้ดีอาจประชาสัมพันธ์ให้นักศึกษา+ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในชุมชน เต็มใจช่วยสนับสนุนได้  แต่ต้องระวังไม่เรี่ยไรโดยที่บางคนไม่เต็มใจ ( การขอรับการสนับสนุนจากนักศึกษา+ประชาชน ต้องได้รับความเห็นชอบหรือดำเนินการโดย ผอ. อย่าทำโดยพลการ )  บางอย่างเราก็จ่ายเองบ้าง

         4. เย็นวันเสาร์ที่ 5 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตามหนังสือที่แจ้งว่า ให้ผู้บริหารอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 4 ปี ถ้าจำเป็นไม่เกิน 6 ปีนั้น หมายถึง ผอ.กศน.อำเภอ ใช่มั้ย  ถ้าใช่ ผอ.ที่ต้องย้ายเนื่องจาก ครบ 4-6 ปีแล้ว สามารถเบิกค่าเช่าบ้านได้มั้ย ประเด็นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันทั่วประเทศ

             ผมตอบตามความเข้าใจตัวเองไปก่อน ( เพราะเพิ่งเห็นคำถามตอนกลางคืน ไม่กล้ารบกวนถามใครต่อ ) โดยตอบว่า
             1)  หมายถึงทั้ง ผอ./รอง ผอ.จังหวัด และ ผอ./รอง ผอ.สถานศึกษา ( รวม ผอ.กศน.อ.)

             2)  ถ้าไม่ได้ขอย้ายเอง ก็เบิกค่าเช่าบ้านได้ตามหลักเกณฑ์

             ต่อมาวันจันทร์ที่ 7 ส.ค. ผมเรียนถามเรื่องนี้กับท่านสัจจา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ได้รับคำตอบตรงกับที่ผมตอบไปแล้ว
             ( ดูหนังสือชุดนี้ ได้ที่ 
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/cheinge4y.pdf )

         5. เช้าวันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 5 ส.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มาเรียน ป บัณฑิต ที่ ม.ราชภัฏภูเก็ต และกำลังเรียนเทอมที่ 2 ฝึกงาน คือเป็นครู กศน.ตำบล ตอนแรกก็ส่งเอกสารครูพี่เลี้ยงและผู้บริหารเป็นครู กศน.และฝึกงานที่ กศน.ที่ตนเองทำงานอยู่  แล้วอยู่ๆ อ.หัวหน้าหลักสูตร ป บัณฑิตบอกว่า คุรุสภาเค้าบอกว่าต้องไปฝึกสอนกับโรงเรียนในระบบ
             กศน.ฝึกงานการสอนไม่ได้  กศน.ไม่ผ่าน สมศ ทุกแห่ง เลยงงว่าต้องไปขอฝึกงานที่อื่น ต้องเปลี่ยนครูพี่เลี้ยงและผู้บริหารใหม่หมดเลย เป็นในระบบ ครูพี่เลี้ยงและผู้บริหารก็ในระบบหมดเลย ต้องไปสอนในระบบสัปดาห์ละอย่างน้อย 6 ชม  แล้วมันมีปันหาเวลาทำงานจันถึงศุกก็ต้องทำงานในตำแหน่งหน้าที่อยู่แล้ว และ กศน.ก็ต้องสอนนักศึกษาอยู่แล้วด้วยทั้ง ม.ต้นและ ม.ปลาย  เลยงงมาก อยากจะรบกวนสอบถามว่า กศน นี้ฝึกงานได้หรือไม่ในการเรียน ป บัณฑิตอะ และ กศน.ที่ทำงานอยู่ก็ผ่าน สมศ นะ

             ผมตอบว่า   ฝึกปฏิบัติวิชาชีพที่ กศน.ได้ บอกเขาหรือเปล่าว่า กศน.ที่คุณทำงานอยู่ก็ผ่านการประเมินจาก สมศ.  ลองนำหนังสือที่แจ้งว่าฝึกสอนที่ กศน.ได้ ที่ผมเคยนำมาโพสต์ เช่นในข้อ 5.2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2016/03/moenet.html  ไปให้เขาดู ถ้าเขาสงสัยให้เขาถามคุรุสภา
             ( วันที่ 8 ส.ค.60 ผมถามสำนักมาตรฐานวิชาชีพ คุรุสภา 02-2806168 ได้คำตอบว่า ฝึกสอนที่ กศน.ได้ทุกแห่งที่ผ่านการประเมินภายนอกจาก สมศ. )

             มหาลัยเขาเอือมระอา ที่เขามานิเทศตามตารางสอน/แผนการสอน ที่ครู กศน.ส่งเขา แล้วปรากฏว่าครู กศน.ไม่ได้สอนตามตารางสอน/แผนการสอน  บางมหาลัยจึงไม่ยอมรับที่จะให้ปฏิบัติการสอนที่ กศน. ( คนสมัครเรียน ป.บัณฑิต จากสังกัดอื่นก็เกินโควต้าที่เขาจะรับได้แล้ว )

         6. วันที่ 4 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษา กรณีเบิกจ่ายโครงการทัศนศึกษาศูนย์วิทยาศาสตร์ เบิกค่าอะไรได้บ้าง ต้องจัดจ้างจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ หรือค่าอาาร อาหารว่างมั้ย

             ผมตอบ   ( ตอบครั้งแรกวันที่ถาม แต่สังเกตภายหลังพบว่าผมคลิกส่งคำตอบไม่สมบูรณ์ คำตอบไม่ขึ้น จึงส่งใหม่เย็นวันเสาร์ที่ 5 ส.ค. ) ตอบว่า
             นักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐานใช่ไหม เป็นกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนใช่ไหม
             ลองเสิร์ชหาดูที่ผมเคยโพสต์ เช่นในข้อ 5 ที่ 
http://nfeph.blogspot.com/2017/01/scienem.html  จะมีลิ้งค์ไปดู แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาร่วมกับกลุ่มศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา” ( เอกสารนี้จะระบุเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ในข้อ 3.3 )

         7. เช้าวันเสาร์ที่ 5 ส.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เคยถามแล้ว และคำตอบทำให้ฉันอึ้งไปพักใหญ่  ฉันเคยถามว่า เมื่อไหร่ครู กศน.ตำบลจะครบทุกตำบล เนื่องจากตัวเองเป็นครูอาสาที่ต้องรักษาการตำบล กางแขนกางขาคนเดียวหลายหน้าที่ ต้องทำหน้าที่ครูตำบลทุกอย่าง เน้นว่าทุกอย่าง แถมต้องนิเทศตำบลอื่นที่ตนเองดูแลอีก 2 ตำบล และยังงานหัวหน้างานต่อเนื่อง เจองานตำบลไปก็หลังแอ่น ทั้งจัดต่อเนื่อง ทั้งภารกิจ 4 ศูนย์ คือทำทุกอย่างที่ครูตำบลทำ แถมยังต้องลงนิเทศตำบลอื่นที่รับผิดชอบ บางทีกิจกรรมซ้ำกันในวันเดียวกัน ไปไม่ถูก ตั้งสติแป๊บ แล้วค่อยๆคิด 
             พยายามทำทุกอย่างให้เร็วกว่าคนอื่นเพราะตัวเองมีหลายหน้าที่ แต่ก็ยังไม่วายที่ต้องมานั่งทำนั่งดูนั่งแลครูตำบลที่ตนเองดูแล  งาน หน.ต่อเนื่องต้องรายงาน ต้องเข้าไปเซนชื่อให้กับครูทุกตำบลเวลาส่งงาน ตนเองทำงานอยู่ตำบลตนก็ต้องวิ่งไปวิ่งมาเพื่อเซนชื่อ ไหนจะค่าน้ำมันรถ ค่าดูแลนักศึกษา ค่าโน้นนี่นั้นในตำบล ไม่เคยเบิก อยากมีครูตำบลมาผ่อนแรงบ้าง  เหนื่อยมาก เหนื่อยกว่าครูตำบลแต่เงินเดือนเท่าเดิม  คำตอบอาจจะทำให้คนทำงานอย่างหนูอึ้งไปบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับเพราะวาสนาเรามีแค่นี้
             คิดว่าอย่างน้อย เสียงสะท้อนจากครูตัวเล็กๆอย่างฉันก็ได้บอกได้บ่น
             สรุป ฉันจะได้ครูตำบลเมื่อไหน่ ห้ามตอบเหมือนเดิมว่า เมื่อครู กศน.ตำบลของจังหวัดที่เกิน เกษียร เมื่อออก เมื่อตาย
             ปล. สอบถามทางจังหวัดเรื่องการทำงานของฉันเป็นยังงัยได้เลย ว่าสิ่งที่ฉันเล่าให้ฟังมันคือเรื่องจริง ฉันเป็นครูอาสาอยู่อำเภอบ....... จังหวัด....... ชื่อ..........

             ผมตอบว่า   ( เรื่องที่ว่า เมื่อไหร่ ครู กศน.ตำบล จะครบทุกตำบล นี้  ต้องถาม กจ. กศน. ว่า จะมีวิธีบริหารจัดการอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ มีการตรวจสอบจังหวัดที่มีครู กศน.ตำบลเกินอยู่ ว่าเขาแจ้งเมื่อมีครู กศน.ตำบลเสียชีวิต ลาออก อายุครบ 60 เลิกจ้าง ทุกครั้ง เพื่อโอนอัตราว่างให้จังหวัดที่ไม่ครบหรือเปล่า )  คำตอบผมก็คงเหมือนเดิม