วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

1.ครู ปวช.ลาพักผ่อน, 2.เครื่องพิมพ์ เป็นครุภัณฑ์หรือไม่, 3.ก่อสร้างอาคาร กศน.ตำบล, 4.ให้ มส.นักศึกษา ใช้ระเบียบที่คน กศน.ไม่น้อย ไม่เห็นด้วย, 5.ข้าราชการครูสอนวันอาทิตย์ เบิกไม่ได้, 6.หนังสือที่ให้ กศน.อำเภอตรวจสอบวุฒิเอง, 7.วิชาเลือกเสรี/โปรแกรมการเรียนรู้




สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  หนูเป็นครู ปวช.กศน ทำงานมาแล้ว 6 ปี และเป็นลูกจ้างชั่วคราว   ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของ กศน. มีสิทธิ์ลาพักผ่อนได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ครู ปวช.กศน.ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว  ครู ปวช.กศน.ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน
             ลูกจ้างชั่วคราวต้องจ้างด้วยงบบุคลากร มีเลขที่อัตรา  ( นิติกร กจ.กศน.บอกว่า กศน.ไม่มีลูกจ้างชั่วคราวมานานแล้ว )

 

         2. วันที่ 4 เม.ย.59 ผอ.กศน.อ. ท่านหนึ่ง ถามผมว่า  เครื่องพิมพ์ ( Printer ) เป็นครุภัณฑ์หรือไม่ ซื้อได้หรือไม่

             เรื่องนี้  เครื่องพิมพ์ ( Printer ) เป็น “สิ่งของที่โดยสภาพมีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานยืนนาน เมื่อชำรุดเสียหายแล้วสามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดังเดิม”  จึงเป็น ครุภัณฑ์  ซึ่งปัจจุบันถ้าเป็นครุภัณฑ์ไม่ว่าจะราคาเท่าไร ก็ใช้เงินงบดำเนินงานซื้อไม่ได้
             ( เงินรายได้สถานศึกษา ซื้อได้  ส่วนเงินอุดหนุนรายหัว กศ.ขั้นพื้นฐาน เป็นงบดำเนินงานประเภทหนึ่ง ใช้ซื้อไม่ได้ ถ้าจะใช้งบประมาณซื้อ งบลงทุนซื้อได้ )

         3. เช้าวันที่ 12 เม.ย.59 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง  สำรวจ กศน.ตำบล ที่มีที่ดินพร้อมสำหรับก่อสร้างอาคาร กศน.ตำบล ( เนื้อที่อย่างน้อย 20 X 25 เมตร )
             ดูหนังสือแจ้งที่  https://db.tt/orIxjNol 

 

         4. เช้ามืดวันเสาร์ที่ 16 เม.ย.59 Tanyaluk Neamprapan ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เราสามารถตัด มส.นักศึกษาได้ไหม ถ้าได้หรือไม่ ขอระเบียบด้วย

             ผมตอบว่า
             1)  ให้ มส. ( ไม่มีสิทธิเข้าสอบปลายภาค ) แก่นักศึกษาได้  โปรแกรม ITw ก็มีเมนูให้ลง มส.

             2)  ระเบียบคือ ประกาศสำนักงาน กศน.ฉบับลงวันที่ 8 ต.ค.55 ข้อ 2 ที่กำหนดว่า  วิธีเรียนรู้แบบ กศน. ( หลักสูตร 51 มีวิธีเรียนวิธีเดียว คือวิธีเรียนรู้แบบ กศน. แต่มีรูปแบบการเรียนหลายรูปแบบ เช่นรูปแบบพบกลุ่ม รูปแบบทางไกล )  ต้องมีเวลาพบกลุ่มหรือพบครูไม่น้อยกว่า 75 % จึงจะมีสิทธิเข้าสอบปลายภาคเรียน  ยกเว้นเฉพาะ นศ.ของสถาบัน กศ.ทางไกล
             ถ้าผู้เรียนมีระยะเวลาการพบกลุ่มหรือพบครูไม่ถึงร้อยละ 75 แต่ถึงร้อยละ 50 ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะพิจารณาอนุญาตให้เข้าสอบปลายภาคเรียน  ( ถ้าไม่ถึงร้อยละ 50 ผู้บริหารก็อนุญาตให้เข้าสอบไม่ได้ ) 
             ดาวน์โหลดประกาศฉบับนี้ได้ที่  https://db.tt/rFV5M591

             คน กศน.จำนวนไม่น้อย ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้  แต่... พอมีการคำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบ/ขาดสอบปลายภาค โดยบางครั้งใช้จำนวนผู้มีสิทธิสอบเป็นจำนวนเต็ม ก็มีผู้หันมาใช้ประกาศฉบับนี้ลง มส.ให้นักศึกษา เพื่อให้จำนวนเต็มลดลง จำนวนร้อยละของผู้เข้าสอบจะได้เพิ่มขึ้น

             ผมคิดว่า เพื่อช่วยแก้ปัญหานักศึกษาผี ( นักศึกษาที่ไม่ได้ลงชื่อในใบลงทะเบียนเรียนด้วยตนเอง ) ควรใช้จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน เป็นจำนวนเต็มในการคำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบ/ขาดสอบปลายภาค

         5. คืนวันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 16 เม.ย.59 ) บุญชนะ ครูนกฮูก ล้อมสิริอุดมิ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ข้าราชการ ได้รับมอบหมายให้สอนในวันอาทิตย์ เบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาได้ไหม

             ผมตอบว่า   โดยปกติ เคยมีหนังสือราชการแจ้งนานแล้วว่า บุคลากรสังกัด กศน.สอนนอกเวลาราชการ เบิกได้  แต่.. มีหนังสือสำนักงาน กศน.แจ้งให้ข้าราชการครูสอนเสริมสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง และไม่ให้เบิกค่าตอบแทน ( อยู่ในข้อ 2.6 ของแนวนโยบายฯแนบหนังสือสั่งการ ที่  https://db.tt/LkvYKiCV
             และ ท่านเลขาธิการ กศน. นายสุรพงษ์ จำจด สั่งการในที่ประชุมที่ จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 12 พ.ย.58 ว่า “ข้าราชการครู กศน. ได้หารือกรมบัญชีกลางแล้ว แม้จะสอนนอกเวลาราชการ เบิกไม่ได้ เพราะเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรง ให้สอนโดยไม่เบิก”
             เมื่อเบิกค่าสอนไม่ได้ ก็เบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาไม่ได้เช่นกัน ( ค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ เป็นการปฏิบัติงานนอกเวลาในสำนักงาน )

             ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าสอนพิเศษและค่าสอนเกินภาระงานสอนในสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2551 กำหนดว่า  ถ้าสอนเกินภาระงานสอนก็จะเบิกได้ ( ระดับ ม.ต้น-ปลาย ชั่วโมงละ 200 บาท ) เช่น  บทบาทหน้าที่ของ ขรก.ครู กศน. ที่ ก.ค.ศ.กำหนดคือ ต้องสอนตามตารางสอนไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง และมีภาระงานสอนอื่นอีกรวมเป็นสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง ถ้าสอนเกินนี้และสอนนอกเวลาราชการโดยไม่หยุดในวันทำการ ก็เบิกได้ ถ้ามีเงินให้เบิกและผู้บริหารให้เบิก

              ( ผมเองก็เคยสอนเสริมในวันอาทิตย์ทั้งเช้าและบ่าย ก็ไม่ได้เบิก แต่ ขอหยุดในวันธรรมดา 1 วัน เหมือนกับครู กศน.อื่นที่พบกลุ่มวันอาทิตย์หยุดวันศุกร์ )






         6. วันที่ 19 เม.ย.59 มี ขรก.จาก สนง.กศน.จังหวัดใกล้เคียง มาหาผมที่ กศน.อ.ผักไห่ จะเชิญผมไปร่วมเป็นวิทยากรเรื่องวิชาเลือกเสรี/โปรแกรมการเรียนรู้ และขอหนังสือฉบับที่แจ้งให้ กศน.อำเภอตรวจสอบวุฒิเอง แทนจังหวัด ( หนังสือฉบับปี 2553 )





         7. ตามหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.03/1733 เรื่องขอความร่วมมือจัดการเรียนการสอนวิชาเลือกเสรีโดยการพัฒนาเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ ลงวันที่ 28 มี.ค.59  ( ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่https://db.tt/CtMuFC6S )  กำหนดว่า  ภาคเรียนที่ 1/59 ให้แต่ละจังหวัดมีสถานศึกษานำร่อง ลงทะเบียนเรียนวิชาเลือกเสรีตามโปรแกรมการเรียนรู้ จังหวัดละอย่างน้อย 1 อำเภอ ส่วนอำเภออื่นที่ยังไม่มีโปรแกรมการเรียนรู้ ในภาค 1/59 ให้นักศึกษาใหม่ลงทะเบียนเรียนเฉพาะวิชาบังคับและวิชาเลือกบังคับ

             1)  “โปรแกรมการเรียนรู้” คล้ายแผนการเรียนรายบุคคล หรือคล้ายแผนการเรียนในหลักสูตรเก่า ( ที่มีแผน ก แผน ข แผน ค เหมือนกันทุกแห่ง ) แต่โปรแกรมการเรียน จะมีหลากหลายมากกว่าแผนการเรียน ต่างอำเภอจะมีโปรแกรมการเรียนแตกต่างกัน หรืออาจมีโปรแกรมที่เหมือนกันได้ ถ้าสภาพ/ความต้องการของผู้เรียนเหมือนกัน
                  “โปรแกรมการเรียน” แปลให้เข้าใจง่าย คือ “กลุ่มวิชาเลือกเสรี” ที่ตรงกับสภาพ/ความต้องการ ของผู้เรียน/ชุมชน
                  ผู้เรียนแต่ละคนให้เลือกเรียนโปรแกรมเดียว ที่ตรงกับสภาพ/ความต้องการ เช่น โปรแกรมปั้นเตาอั้งโล่ โปรแกรมการเลี้ยงปลา โปรแกรมการเลี้ยงกบ โปรแกรมขับรถบรรทุก โปรแกรมเสริมสวย โปรแกรมนำเที่ยวท้องถิ่น โปรแกรมสำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อ ฯลฯ

             2)  เมื่อกำหนดโปรแกรมการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนและชุมชนเป็นฐานในการกำหนดแล้ว ก็ต้องกำหนดรายวิชาในแต่ละโปรแกรมให้ครบจำนวนหน่วยกิต
                  รายวิชาต่าง ๆ ในแต่ละโปรแกรมนี้คือรายวิชาเลือกเสรี เช่น ระดับ ม.ปลาย ต้องเรียนวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต ( จำนวนหน่วยกิตวิชาบังคับและวิชาเลือกยังเท่าเดิม ) เป็นวิชาเลือกบังคับที่ส่วนกลางกำหนดแล้ว 6 หน่วยกิต ถ้าสถานศึกษาไม่กำหนดวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้นอีก จะเหลือเป็นวิชาเลือกเสรี 26 หน่วยกิต  ฉะนั้น ในแต่ละโปรแกรมก็ต้องมีรายวิชาเลือกเสรีที่รวมทุกรายวิชาต้องไม่น้อยกว่า 26 หน่วยกิต

             3)  ผมถามกลุ่มพัฒนา กศน.ว่า สถานศึกษาจะกำหนดให้มีวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้นอีกได้ไหม กพ.ตอบว่าได้ ( ผมไม่แน่ใจว่านโยบายท่านเลขาฯเป็นอย่างไร แต่ กพ.ตอบว่าได้ ผมก็จะยึดว่าสถานศึกษาสามารถกำหนดให้มีวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้นอีกได้  ( กพ.ยกตัวอย่างว่า สิงห์บุรีก็มี วิชาสิงห์บุรีบ้านเรา เป็นวิชาเลือกบังคับ แต่ผมดูโปรแกรมของ กศน.ตำบลบางมัญ อ.เมืองสิงห์บุรี ที่ กพ.กรุณาส่งมาให้ผมดูแล้ว เขาเพิ่งกำหนดรายวิชาเลือกเสรีในโปรแกรมการเรียนรู้ไว้เพียงโปรแกรมเดียว โดยมีรายวิชาสิงห์บุรีบ้านเราอยู่ในโปรแกรมนี้ ไม่ได้บอกว่ารายวิชาสิงห์บุรีบ้านเราเป็นวิชาเลือกบังคับ ยังไม่แน่ว่าโปรแกรมอื่นจะมีวิชานี้หรือไม่ )
                  เมื่อมีวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้น จำนวนหน่วยกิตของวิชาเลือกเสรีในแต่ละโปรแกรมก็จะลดลง

             4)  กพ. บอกว่า อำเภอที่นำร่องในภาค 1/59 ต้องนำร่องทั้ง 3 ระดับ โดยมีโปรแกรมการเรียนรู้ให้เรียนในภาค 1/59 อย่างน้อยระดับละ 1 โปรแกรมก่อนก็ได้ ภาคเรียนต่อไปค่อยพัฒนาโปรแกรมเพิ่มขึ้น โดยในแต่ละโปรแกรมต้องกำหนดชื่อรายวิชาและจำนวนหน่วยกิตของแต่ละรายวิชาไว้ให้ครบถ้วนก่อนเปิดให้ลงทะเบียนเรียน แต่เนื้อหา/หนังสือเรียน อาจพัฒนาไว้เพียงบางรายวิชาสำหรับใช้เรียนในภาค 1/59 ก่อน รายวิชาอื่น ๆ กำหนดไว้แต่ชื่อและจำนวนหน่วยกิตก่อนก็ได้

             5)  รายวิชาเลือกเสรีต้องสอดคล้องกับโปรแกรม เช่น โปรแกรมเกษตรกร อาจประกอบด้วยรายวิชาการทำปุ๋ยชีวภาพ  แต่รายวิชาการทำผ้าบาติคคงจะอยู่ในโปรแกรมเกษตรกรไม่ได้  โดยให้ สนง.กศน.จังหวัด เป็นผู้พิจารณาความสอดคล้องของรายวิชาเลือกเสรีกับโปรแกรม รวมทั้งเป็นผู้กำหนดสัดส่วนคะแนนและวิธีการวัดผลประเมินผลในแต่ละรายวิชา ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิชา ก่อนให้สถานศึกษานำไปใช้

             6)  บางรายวิชาอาจอยู่ซ้ำในหลายโปรแกรมได้ เช่นรายวิชา Mini MBA อาจอยู่ในทุกโปรแกรมที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ
                  ในแต่ละระดับมีชื่อโปรแกรมเหมือนกันได้ แต่รายวิชาในแต่ละระดับไม่ให้เหมือนกัน ไม่ให้มีวิชารหัส 0 ที่เหมือนกันทุกระดับ

             7)  ถ้าแต่ละอำเภอมีหลายโปรแกรม จำนวนวิชาเลือกทั้งหมดยิ่งจะมาก เพราะแต่ละโปรแกรมย่อมต้องมีวิชาเลือกบางวิชาหรือหลายวิชาที่ไม่ซ้ำกัน แต่ละโปรแกรมก็มีจำนวนหน่วยกิตวิชาเลือกไม่น้อยกว่าเดิมที่เราบ่นตรงกันว่าวิชามาก เป็นปัญหา  การมีหลายโปรแกรมยิ่งจะมีวิชามากขึ้นอีก  วิธีแก้ปัญหาคือ กำหนดให้แต่ละรายวิชามีหน่วยกิตมาก ก็จะลดจำนวนวิชาลงได้  กพ.บอกว่า ระดับประถมวิชาละไม่น้อยกว่า 2 หน่วยกิต ระดับ ม.ต้น-ปลาย วิชาละไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต  ยิ่งจำนวนหน่วยกิตในแต่ละวิชาน้อย จำนวนวิชายิ่งมาก ยิ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการมากกว่าเดิม  เช่นระดับ ม.ปลาย รายวิชาเลือกเสรีรวม 26 หน่วยกิต ถ้าวิชาละ 3 หน่วยกิต ก็ต้องมีถึง 9 วิชาในแต่ละโปรแกรม  ( วิชาบังคับกับวิชาเลือกบังคับอีก 16 วิชา เมื่อรวมวิชาเลือกเสรีในโปรแกรมการเรียนอีก 9 วิชา เป็น 25 วิชา คือมีโปรแกรมเดียวก็มี 25 วิชาแล้ว )

             8)  อำเภอที่ยังไม่นำร่อง ยังไม่มีโปรแกรมการเรียน เมื่อยังไม่มีโปรแกรมการเรียนก็จะยังไม่มีรายวิชาเลือกเสรี เพราะยังไม่รู้ว่าจะเป็นโปรแกรมเกี่ยวกับวิชาอะไร  ภาคเรียนที่ 1/59 จึงให้เรียนเฉพาะวิชาบังคับกับวิชาเลือกบังคับก่อน โดยให้เรียนวิชาบังคับมากกว่าปกติเพื่อทดแทนวิชาเลือก  ควรคุยรวมกันทั้งจังหวัดว่าภาคเรียนที่ 1/59 อำเภอที่ไม่นำร่องควรให้ นศ.ใหม่ เรียนวิชาบังคับวิชาใดบ้าง ให้เหมือนกันทั้งจังหวัด จะได้ง่ายต่อการบริหารจัดการ


วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559

1.ซื้อเครื่องหมายลูกเสือได้ไหม, 2.การย้ายครู กศน.ตำบล แบบไม่ต้องสับเปลี่ยน, 3.เข็มเชิดชูเกียรติ, 4.ปัจจุบันพบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 หรือ 9 ชม., 5.ถ้ามีข้าราชการต้องเปลี่ยนข้าราชการเป็นนายทะเบียน, 6.เลิกจ้างครู ศรช.คราวเดียว 10 คน, 7.ปัญหาการเรียน ป.บัณฑิต ฝึกสอนที่ กศน.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 17 มี.ค.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เครื่องหมายลูกเสือ ซื้อได้ไหม

             ผมตอบว่า   เครื่องหมายลูกเสือ หมายถึงส่วนประกอบของเครื่องแบบลูกเสือใช่ไหม
             ทั้งส่วนประกอบของเครื่องแบบลูกเสือ และส่วนประกอบของเครื่องแบบข้าราชการ-พนักงานราชการ ก็ลักษณะเดียวกัน คือ เป็นของส่วนบุคคล ใช้เงินทางราชการซื้อไม่ได้

         2. คืนวันที่ 22 มี.ค.59 บุศรินทร์ กิตติศิลป์ธนากร ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ดิฉันเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งครู กศน.ตำบล เป็นหัวหน้า กศน.ตำบลคลองควาย  เมื่อต้นเดือน ครูอาสาสมัครฯตำบลเชียงรากน้อย อำเภอเดียวกัน ลาออก ดิฉันต้องการขอย้ายไปตำบลเชียงรากน้อยแทน เพราะอยู่ใกล้บ้าน ขอย้ายโดยไม่ได้เปลี่ยนตำแหน่ง จึงเรียน ผอ.อำเภอ และ ผอ.จังหวัดแนะนำว่าย้ายได้ จึงทำบันทึกขอย้ายไป แต่จังหวัดบอกว่าปรึกษากรมแล้ว กรมบอกว่าไม่สามรถย้ายได้  ดิฉันสามารถย้ายไปปฏิบัติหน้าที่แทนครูอาสาฯที่ลาออกไปได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   พนักงานราชการต้องย้ายสับเปลี่ยนกับอัตราตำแหน่งเดียวกัน ถ้าผู้ลาออกเป็นตำแหน่งครู กศน.ตำบลของตำบลเชียงรากน้อย จึงจะเป็นตำแหน่งเดียวกัน สับเปลี่ยนได้ แต่นี่ผู้ลาออกเป็นตำแหน่งครูอาสาฯ
             การเกลี่ยตำแหน่งที่ไม่ใช่อัตราว่าง โดยไม่ต้องสับเปลี่ยน เช่นครู กศน.ตำบลจะย้ายไปได้ เฉพาะย้ายจากตำบลที่มีอัตราครู กศน.ตำบลมากกว่า 1 อัตรา ไปยังตำบลที่ยังไม่มีอัตราครู กศน.ตำบลเลย

         3. วันที่ 25 มี.ค.59 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องสำรวจครู กศน. เพื่อรับเข็มเชิดชูเกียรติ ปี 59 ว่า

             ครู กศน.ที่จะขอรับเข็มเชิดชูเกียรติ มี 3 ตำแหน่ง
             1)  พนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาสมัคการศึกษานอกโรงเรียนทุกประเภท
             2)  พนักงานราชการตำแหน่งครู กศน.ตำบล
             3)  ครู ศรช.
             https://db.tt/vO2sdgyV


         4. คืนวันเดียวกัน ( 25 มี.ค.) Pui Jung ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ปัจจุบันพบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 หรือ 9 ชม. เริ่มภาคเรียนที่เท่าไร

             ผมตอบว่า   พบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/58 โดย
             - จัดกระบวนการเรียนรู้ 3 ชม.
             - จัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน การคิดเป็น การอ่าน การเขียน และทักษะการสื่อสารถ่ายทอดกระบวนการคิดให้ผู้อื่นเข้าใจ 3 ชม.
              ( ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/6hour.pdf )

         5. เช้าวันที่ 1 เม.ย.59 ผมตอบคำถาม ที่ ชาญชัย คำมุงคุณ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เห็นระเบียบใหม่ออกมาว่าให้ข้าราชการเป็นนายทะเบียน ถ้าตำแหน่งนายทะเบียนนี้แต่ก่อนพนักงานราชการทำอยู่ ถ้าใน กศน.อำเภอมีข้าราชการชำนาญการพิเศษอยู่แล้ว งานนายทะเบียนวัดผลนี้จะต้องทำคำสั่งแต่งตั้งใหม่ ให้ข้าราชการเป็นนายทะเบียนใหม่ ใช่ไหม

             ผมตอบว่า  ไม่ใช่ระเบียบใหม่ แต่เป็นคำสั่งตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งเป็นคำสั่งล่าสุดที่เราถือปฏิบัติ  ผมเคยตอบโดยลงลิ้งค์คำสั่งนี้ ในข้อ 8 ที่
             https://www.gotoknow.org/posts/514112
             คำสั่งนี้กำหนดคุณสมบัตินายทะเบียนไว้ 4 ข้อ โดยข้อ 4 กำหนดว่า
             "เป็นพนักงานราชการในกรณีที่ ไม่มีข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ"
             ฉะนั้น ถ้ามีข้าราชการ ก็ต้องแต่งตั้งใหม่ให้ข้าราชการเป็นนายทะเบียน

         6. คืนวันที่ 1 เม.ย.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  กศน.สามารถเลิกจ้างครู ศรช. 10 คนในคราวเดียวกันได้ไหม ด้วยสาเหตุเรื่องงบ ทั้งที่มีนักศึกษาที่ต้องดูแลอยู่ ตอนนี้เพื่อน ครู ศรช.ที่ จ.ขอนแก่น ตกงาน 10 คน

             ผมตอบว่า   ถ้าหมดสัญญาจ้างพร้อมกัน 10 คน ก็เลิกจ้าง 10 คนในคราวเดียวกันได้  ( มีนักศึกษาที่ต้องดูแล แต่ไม่ครบตามเกณฑ์ใช่ไหม )

             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  เขาบอกว่าไม่มีงบจ้าง เงินติดลบเทอมละหลายล้าน
             ผมตอบว่า  ก็เป็นไปได้ เพราะค่าตอบแทนครู ศรช. เบิกจากเงินอุดหนุนรายหัวนักศึกษา ถ้ามีจำนวนนักศึกษาน้อย ก็ได้เงินอุดหนุนรายหัวน้อย ไม่พอจ่ายค่าตอบแทนครู ศรช.

         7. วันที่ 3 เม.ย.59 เหมือนฝัน ศิริ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม เรื่องหนังสือที่ สนง.กศน.แจ้งให้ผู้เรียน ป.บัณฑิต ฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน และปฏิบัติการสอน ในสถานศึกษา กศน. ได้ ว่า
             “ทางคณบดีราชภัฎลำปาง ที่หนูเรียน ป.บัณฑิต อยู่ บอกเมื่อวันจันทร์ที่ 28 มี.ค.59 ว่า ทางคุรุสภาแจ้งกับคณบดีมาว่า หนังสือฉบับนี้ กศน.ออกเอง ทางคุรุสภาไม่รับทราบ ยังไงเราก็ต้องฝึกสอนในระบบค่ะ
             พวกหนูไม่มีเวลาไปสอนในระบบเพราะภารกิจเยอะมาก คณะบดีให้ drop ค่ะ”

             ผมตอบว่า   ต้องถาม กจ.กศน. 02-2800425 ว่าหนังสือฉบับนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร  ( คงมีหน่วยงานอื่นแจ้งมาที่ กศน.  ถ้ามี ก็น่าจะแนบหนังสือที่หน่วยงานอื่นแจ้งมาที่ กศน. มาพร้อมกับที่ส่งหนังสือฉบับนี้ให้จังหวัด  ลองขอสำเนาหนังสือนั้นไปให้มหาวิทยาลัยดูได้ไหม )  หรือให้คุรุสภาเป็นผู้แจ้งมหาวิทยาลัย  เรื่องอย่างนี้คงแจ้งแต่ผู้เรียนไม่ได้  คุรุสภา กับ คณะอนุกรรมการประเมินมาตรฐานฯที่ระบุในหนังสือนี้ ใครเป็นผู้มีอำนาจในเรื่องนี้ ใครแจ้งไปที่มหาวิทยาลัยที่สอน ป.บัณฑิต หรือยัง

             คุณเหมือนฝัน ศิริ ถามต่อ ว่า  ทำอย่างไรจะให้คุรุสภาแจ้งมหาวิทยาลัยได้ ขั้นตอนแรกต้องถาม กจ. ขั้นต่อไปอย่างไรดี
             ผมตอบว่า
             1. ปรึกษาหารือ กจ.กศน. ว่าเขาจะช่วยประสานงานให้เราได้แค่ไหน
             2. ถ้า กจ.ช่วยอะไรไม่ได้ ก็ถามที่คณะอนุกรรมการฯที่ระบุในหนังสือ และ คุรุสภา