วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

1.มาตรการประหยัดงบประมาณฉบับใหม่, 2.คำถามน่าคิด อยากให้ฝ่ายทะเบียน กศน.ขั้นพื้นฐาน และกลุ่มพัฒนา กศน.คิด, 3.ศาลตัดสินว่า จ้างเหมาฯแต่ให้ทำงานลักษณะลูกจ้างชั่วคราว ผิด, 4.วิชาเลือกบังคับ เรียนเกินได้, 5.เรียนวิชาการใช้พลังงานไฟฟ้าฯซ้ำ รหัสวิชาต่างกัน จบได้ไหม, 6.ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องส่งเอกสารหลักฐานไปที่คุรุสภาไหม, 7.มีวุฒิผู้กำกับลูกเสือ วิสามัญ แต่เป็นรองผู้กำกับลูกเสือ สามัญ จะแต่งกายตามวุฒิหรือตามตำแหน่ง


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. ออกฉบับใหม่แล้ว มาตรการประหยัดงบประมาณ ใช้แทนฉบับปี 2556 โดยให้ใช้ฉบับใหม่ ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ตั้งแต่ 1 ต.ค.62







         2. คืนวันที่ 11 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  สอบถามเรื่อง การออก รบ. และการอนุมัติจบหลักสูตร เนื่องจาก ปัจจุบัน ฉันก็เริ่มงง กับแนวปฏิบัติเรื่องการออก รบ. 100% กับการอนุมัติจบหลักสูตร เพราะมันเกี่ยวเนื่องกัน คือ
             การจะอนุมัติจบหลักสูตร ตามแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษาฯ กศน.3 จะมีข้อมูล เลขระเบียน (เลขนก.) ปรากฎว่า หากนักศึกษาไม่ยื่นเอกสารใบคำร้องของหลักฐานทางการศึกษา งานทะเบียนจะไม่ระบุเลข นก.ในรบ.ให้ เมื่อไม่ระบุให้ก็ไม่สามารถ ส่งแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา ทันตามกำหนดเวลา
             จึงกลายเป็นแนวปฏิบัติว่า หากไม่ยื่นเอกสารคำร้องหลักฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด จะไม่อนุมัติจบ ให้ ซึ่งเป็นลักษณะนี้ มา 2ปีได้แล้ว แต่ฉันพึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งได้ 2 เทอม และพึ่งจะมาทราบว่า ไม่อนุมัติจบให้ หากนักศึกษาไม่มายื่นเอกสาร เมื่อภาคเรียนที่แล้ว
             และก็มีปัญหาเกิดขึ้นคือ
             นักศึกษาในตำบลที่ฉันรับผิดชอบ รายวิชาหมดอายุ เพราะไม่ได้อนุมัติจบหลักสูตร ในเทอมที่ฉันมาบรรจุ พอดี แต่นักศึกษาคนนี้ เรียนครบหลักสูตร ไปเมื่อหลายเทอมที่แล้ว ไม่มีการลงทะเบียน (ก็ไม่รู้จะลงทะเบียนอะไรให้เขา) จนวิชาหมดอายุ
             ฉันจึงเริ่มตรวจสอบหลักฐานของนักศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มใช้แนวปฏิบัตินี้ ทำให้รู้เลยว่า ในภาคเรียนนี้จะมีนักศึกษาที่วิชาหมดอายุอีกหลายคนมาก
             ฉันจึงอยากทราบว่า แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษาฯ กศน.3 จำเป็นต้องมีเลขที่ นก. หรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องมี จะต้องทำอย่างไรกับกรณีที่นักศึกษาไม่มายื่นคำร้องของเอกสารจบ ว่าจะสามารถอนุมัติจบได้อย่างไร ฉันเข้าใจว่า การอนุมัติจบ กับ การออบรบ. มันเกี่ยวเนื่องกัน หรือฉันเข้าใจผิด เพราะฉันพึ่งบรรจุ ก็ไม่อยากจะเถียงเจ้าหน้าที่ทะเบียน กับท่าน ผอ.
             เพราะจากที่ลองถามและคุยกันหลายรอบแล้ว (แบบอ้อมๆ ) แนวปฏิบัตินี้เป็นเหมือนการ กระตุ้นให้ ครู ไปตามเอกสารกับนักศึกษาให้ได้ 100% เพื่อออก รบ. 100% และถ้านักศึกษาคนไหนไม่ให้ความร่วมมือซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็จะให้ไปจบในภาคเรียนหน้า และถ้าเทอมหน้าไม่ได้อีก ก็จะถัดไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เกิดปัญหา(หมดอายุ) อย่างที่ฉันกล่าวไป

             ผมตอบว่า
             1) เชื่อหรือไม่ ตามหลักการในระเบียบหลักเกณฑ์นั้น นศ.มีเลขที่ใบ รบ. ตั้งแต่วันสมัครขึ้นทะเบียนรับรหัสประจำตัวนักศึกษา แล้ว!? โดย
                 ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555 ปกสีเลือดหมู หน้า 166 คำอธิบายการออก รบ.
                 ข้อ 1 กำหนดว่า รบ.ใช้เป็นหลักฐานการเรียนของนักศึกษาทั้ง”เมื่อศึกษาอยู่”หรือออกจากสถานศึกษาแล้ว
                 ข้อ 5.8 การบันทึกผลการเรียนแต่ละภาคเรียนลงใน รบ. ต้องให้เป็นปัจจุบัน “ทุกภาคเรียน”
                 สองข้อนี้ หมายความว่า ให้บันทึกระเบียน ( รบ.) ไว้ตั้งแต่ได้เลขประจำตัวนักศึกษาทุกคน ไม่ว่าจะเรียนจบหรือไม่ และให้บันทึกผลการเรียนที่ได้ 1 ขึ้นไป ใน รบ.ฉบับต้นขั้ว ให้เป็นปัจจุบันทุกภาคเรียน
                 ข้อ 2.2 การกรอก รบ.ให้เขียนหรือพิมพ์ ถ้าเขียนก็เขียนทั้งแผ่น ถ้าพิมพ์ก็พิมพ์ทั้งแผ่น แต่ไม่จำเป็นว่าต้นขั้วกับคู่ฉบับจะต้องเขียนทั้งสองแผ่น หรือพิมพ์ทั้งสองแผ่น ต้นขั้วอาจเขียนแต่คู่ฉบับอาจพิมพ์ก็ได้ ต้นขั้วต้องกรอกข้อมูลเพิ่มทุกภาคเรียนคงต้องเขียน ส่วนคู่ฉบับกรอกตอนจบอาจพิมพ์
                 ทำไมเป็นอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะถ้าไม่นับโปรแกรม ITw แล้ว หลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐานจะมีระเบียนหรือทะเบียนอย่างเดียวคือ รบ. ฉะนั้นนักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะจบหรือไม่ ต้องมีข้อมูลอยู่ในทะเบียน ( ต้นขั้ว รบ.)
                 พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้หลักการตามระเบียบหลักเกณฑ์นี้ ส่วนน้อยรู้แต่ก็ไม่ทำตาม เพราะ จะสิ้นเปลือง รบ.มาก เนื่องจากมีผู้สมัครเรียน กศน.มากมาย แต่เรียนจบถึง 50% ไหม?
             2) ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ข้อใดระบุว่า ให้อนุมัติผลการจบต่อเมื่อ นศ.มาขอจบ แต่ ข้อ 5.9 ระบุว่า เมื่อ “เรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร” ก็อนุมัติการจบ+ออก รบ.คู่ฉบับ
             3) ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ข้อใดระบุให้ นศ.ส่งหลักฐานขอจบ แต่ สถานศึกษาต้องตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่วันสมัครขึ้นทะเบียนรับรหัสประจำตัวนักศึกษาแล้ว ไม่ใช่ว่าเรียนไปแล้วมาตรวจสอบหลักฐานพบว่าคุณสมบัติไม่ครบที่จะเรียน
                 ถ้ามีการเปลี่ยนข้อมูลหลังสมัครเช่นเปลี่ยนชื่อ นักศึกษาต้องเป็นฝ่ายแจ้งเอง อาจทำความเข้าใจในช่วงปฐมนิเทศ และ/หรือ พิมพ์ข้อมูลผู้คาดว่าจะจบให้ นศ.ตรวจสอบ
                 จะมีก็แต่รูปถ่าย ถ้าใช้เวลาเรียนเกิน 6 เดือน จะใช้รูปเดิมตอนสมัครเรียนไม่ได้ ต้องใช้รูปปัจจุบันถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

             วิธีปรับ/แก้
             - ตรวจคุณสมบัติตามหลักฐานต่าง ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่ภาคเรียนแรก
             - เมื่อ “เรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร” ก็อนุมัติการจบ+จองเลขที่ รบ.ไว้เลย ( ลงเลขที่ รบ.ในโปรแกรม ITw เมนู 1-1-6 )
                ถ้าเรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตรแล้ว ไม่อนุมัติการจบ แต่ปล่อยให้วิชาหมดอายุ จะเป็นความผิดของสถานศึกษา
             - รายงานผู้สำเร็จการศึกษาภายใน 30 วัน นับจากวันอนุมัติการจบหลักสูตร

         3. วันอาทิตย์ที่ 13 ต.ค.62 มี ผอ.กศน.อ. นำเรื่องที่ศาลพิพากษาว่าการจ้างเหมาบริการแต่ให้ทำงานในลักษณะลูกจ้างชั่วคราว ผิด มาถามผมทางไลน์ว่า ครู ศรช.ของ กศน.ก็เข้าข่ายตามคำพิพากษานี้ ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ผมเคยโพสต์เรื่องนี้เมื่อสองปีก่อน ในข้อ 1 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/11/formnfestudent.html
             กรมบัญชีกลางเตือนแล้ว ถ้าเราถูกฟ้องเมื่อไรเราถึงจะแก้ แต่การแก้จะทำให้ทุกฝ่ายเดือดร้อนไปหมด คือ ต้องจ้างเป็นงาน ๆ ไม่จ้างต่อเนื่อง ( ตอนนี้ก็มีบางจังหวัดเริ่มจ้างเป็นงาน ๆ แล้ว เช่นจ้างเหมาตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล จ้างเฉพาะช่วงบันทึกข้อมูลเท่านั้น เลิกจ้างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลร้องมาที่ผมก็มี )
             ถึงอย่างไรเราก็จ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้ เพราะ กศน.ไม่ได้รับอัตราจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากกรมบัญชีกลางมานานแล้ว ( ปี 62 สพฐ.ยังมีบางตำแหน่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ )
             การจ้างคนเก่า แต่ดำเนินการตามระเบียบพัสดุใหม่ ก็อาจถือเป็นจ้างเหมาบริการได้มั้ง เราต้องไม่ทำตามระเบียบพัสดุแค่เป็นพิธีเท่านั้น แต่ทุกขั้นตอนต้องทำตามระเบียบพัสดุจริง ๆ เช่นการตรวจรับงานจ้างในแต่ละช่วง ถ้าจ้างลูกจ้างชั่วคราวจึงจะไม่ต้องทำตามระเบียบพัสดุ

             ต่อมามีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ “ส.การศึกษาตลอดชีวิต อีก ว่า  แล้วอาจารย์ว่าควรปฏิบัติอย่างไร เพราะเคยอ่านคำตัดสินศาลปกครองแล้ว การจ้างแบบที่เราปฏิบัติคือจ้างตามระเบียบพัสดุ ไม่ถูกต้อง / เคยมีคดีของกระทรวงพานิช
             ผมตอบว่า  ถ้ามีผู้ฟ้องศาลว่าเราจ้างเหมาบริการแต่ให้ทำงานในลักษณะลูกจ้างชั่วคราว โดยเราไม่สมทบเงินประกันสังคมส่วนของนายจ้าง ศาลก็อาจจะว่าเราจ้างผิดเป็นนิติกรรมอำพราง เราก็ต้องแก้ไข
             แต่เราไม่สามารถแก้ไขโดยเปลี่ยนการจ้างเป็นจ้างลูกจ้างชั่วคราวได้ เพราะ กศน.ไม่ได้อัตราลูกจ้างชั่วคราวจากกรมบัญชีกลางมานานแล้ว ( เมื่อก่อนมีเงิน บกศ. แต่แม้เราใช้เงิน บกศ.ของเราเองจ้างลูกจ้างชั่วคราวก็ยังต้องได้รับอนุมัติเลขที่อัตราจากกรมบัญชีกลาง )
             เมื่อเราแก้ไขโดยจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้ เราก็ต้องแก้ไขโดยจ้างให้เหมือนจ้างเหมาบริการมากขึ้น เช่น จ้างครู ศรช.เป็นงาน ๆ อาจจ้างเฉพาะช่วงพบกลุ่มครั้งละ 5 เดือน ปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งจะเดือดร้อนกันไปทั่ว
             ( ผู้จะรับจ้างรายใดเสนอราคาจะรับค่าจ้างต่ำกว่าก็จ้างรายนั้น ลักษณะเดียวกับการจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ดำเนินการตามระเบียบพัสดุใหม่ทุกภาคเรียนซึ่งไม่จำเป็นต้องจ้างได้รายเดิม )

         4. วันที่ 16 ต.ค.62 มีผู้แจ้งผมในไลน์โอเพนแช็ทกลุ่ม กศน. ว่า  วันนี้มาตรวจไขว้ที่ จว.เกี่ยวกับผู้จบ...แล้วทาง จนท.จว.แจ้งว่า วิชาเลือกบังคับลงได้ไม่เกิน 2 รายวิชา...หากลงเกินไม่นับหน่วยกิต....และไม่จบ...ทำให้เกิดปัญหาเพราะมีหลายอำเภอลงเลือกบังคับ 3 - 4 วิชา...ซึ่งฉันแย้งแล้ว..แต่ จนท.จว.เขาบอกว่าให้ยึดระเบียบที่ให้ลงวืชาเลือกบังคับได้ไม่เกิน 2 วิชา

             ผมตอบว่า
             - ขอดูตัวระเบียบที่ว่า ลงวิชาเลือกบังคับได้“ไม่เกิน” 2 วิชา"
             - ให้จังหวัด โทร.ถามกลุ่มพัฒนา กศน.ด้วย
             ( โปรแกรม ITw จะเซ็ตไว้ตามระเบียบ ถ้าผิดระเบียบโปรแกรมจะไม่ให้จบ )

             ต่อมา ผู้ถาม แจ้งว่า  จนท.จว.โทรถามกองพัฒน์..กองพัฒน์ตอบว่าลงได้และนับ นก.
             ผมตอบว่า  ใช่ ผมไม่เคยเห็นหนังสือแจ้งที่มีคำว่า "ไม่เกิน" เราไม่ควรพูดเติมกันตามอำเภอใจ จะมีปัญหามากกว่าที่คิด วิชาเลือกบังคับเป็นวิชาใหม่ ๆ ที่ทันสมัย มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันใน"ปัจจุบัน" ตรงตามนโยบาย จึงเป็นวิชาที่ควรส่งเสริมให้เรียน
             ( หน่วยกิตวิชาเลือกบังคับส่วนที่เกินก็นับเป็นหน่วยกิตวิชาเลือกเสรี จึงสามารถลดวิชาเลือกเสรีได้ หรือจะไม่ลดวิชาเลือกเสรีก็ได้ เพราะ วิชาเลือกเรียนเกินได้
               แต่อย่าลืมว่า ตารางสอบปลายภาค วิชาเลือกบังคับสอบในเวลาเดียวกันหลายวิชา ถ้า นศ.คนเดียว ลงวิชาเลือกบังคับในภาคเรียนเดียวหลายวิชา อาจมีปัญหาตอนสอบปลายภาค ต้องดูตารางสอบปลายภาคก่อนลงทะเบียน คือคนเดียวถ้าจะลงหลายวิชาก็ต้องทยอยแบ่งลงวิชาเลือกบังคับหลายเทอม )

         5. เย็นวันหยุดชดเชย 14 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  เจอว่านักศึกษาลงทะเบียน ซ้ำในรายวิชา การใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ในระดับม.ต้น ชื่อวิชาเดียวกันแต่ต่างรหัสกัน คือ รหัส พว 02027 กับรหัส พว 22002สามารถจบหลักสูตรได้หีอไม่ พอดีเด็กจะขบด้วย

             เรื่องนี้  เพื่อความมั่นใจ ผมได้ถาม อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ซึ่ง อ.กิตติงพงษ์ตอบตรงกับที่ผมคิด คือ แม้ 2 วิชานี้รหัสจะต่างกัน ชื่อวิชาก็ต่างกันนิดหน่อย โดย พว22002 ชื่อการใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน 2 (มีเลข 2 ต่อท้าย) แต่เนื้อหาเหมือนกันเกือบทั้งหมด จึงไม่ควรให้เรียนซ้ำ
             อย่างไรก็ตาม ถ้า นศ.เรียนซ้ำไปแล้ว ก็อนุโลมให้จบไปได้
             อ.กิตติพงษ์ฝากบอกครูให้ดูวิชาในแผนการเรียนกันให้ดี อย่าให้มีกรณีที่วิชาลักษณะนี้อยู่ในแผนการเรียนของ นศ.คนเดียวกันอีก

         6. เช้าวันที่ 22 ต.ค.62 มีผู้ถามในไลน์โอเพนแชทกลุ่ม กศน. ว่า  รบกวนอาจารย์เอกชัย ในการต่อใบประกอบวิชาชีพครูโดยใช้ระบบksp school เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดตลอดจนจ่ายเงินแล้ว กล่าวคือดำเนินการทั้งหมดทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว เอกสารและหลักฐานทั้งหมดต้องส่งไปที่คุรุสภาตามหลังด้วยใหม

             ผมตอบว่า  ไม่ต้องส่งเอกสารหลักฐานตัวจริงไปยังคุรุสภา
             ( ตั้งแต่ 1 ส.ค.62 ให้จัดส่งคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยสแกนเอกสารหลักฐานอัพโหลดเข้าระบบโปรแกรม Ksp-School )

         7. เย็นวันที่ 22 ต.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ท่าผ่านอบรมมีวุฒิ ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญR.B.T.C แต่ฉันตอนนี้ร.ร.ให้ฉันเป็นรองผู้กำกับลูกเสือสามัญS.B.T.C การแต่งกายต้องใส่ชุด แบบครูลูกเสือวิสามัญ หรือ ใส่ตามตำแหน่งที่โรงเรียนแต่งตั้งเป็นครูลูกเสือสามัญ

             ผมตอบว่า   แต่งกายตามวุฒิ แต่ติด "เข็มเครื่องหมายตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ" ตามตำแหน่งที่เป็นทางการ (ใน ลส.13)
             แต่ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ พ.ศ.2553 ข้อ 5 (7) (จ) กำหนดว่า "รองผู้กำกับลูกเสือสามัญ มีอายุไม่น้อยกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์และต้องได้รับวุฒิบัตรการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญขั้นความรู้เบื้องต้น"
             ในเมื่อคุณไม่ได้รับวุฒิบัตรผู้กำกับลูกเสือสามัญ แล้วคุณได้รับตำแหน่งที่เป็นทางการ ( ใน ลส.13 ) เป็นรองผู้กำกับลูกเสือสามัญด้วยหรือ
             ที่ว่า ร.ร.ให้เป็นรองผู้กำกับลูกเสือสามัญ นั้น ถ้าไม่ใช่แต่งตั้งตาม ลส.13 จะติดเข็มตำแหน่งไม่ได้ แม้จะมีวุฒิก็ตาม ( ต้องติดเข็มตาม ลส.13 ถ้ายังไม่มี ลส.13 ก็ยังติดเข็มตำแหน่งใด ๆ ไม่ได้ )


วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

1.การขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพาย และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ, 2.ขออนุญาตไปราชการงานกฐินได้ไหม, 3.ขรก.38 ค.(2) ที่มีสิทธิ์สอบเป็น ผอ.สถานศึกษา ต้องเป็นหัวหน้ากลุ่มใน สนง.กศน.จังหวัดหรือสถานศึกษา, 4.ทำสัญญาจ้างพนักงานราชการไม่ต้องติดอากรแสตมป์, 5.การเรียน กศน.ขั้นพื้นฐาน แบบออนไลน์ ถือว่าเป็นส่วนย่อยของแบบ ทางไกล (ขึ้นทะเบียนในโปรแกรม ITw เป็นวิธีเรียนทางไกล), 6.เครื่องตรวจกระดาษคำตอบปลายภาค คะแนนบางคนหาย นายทะเบียนไม่ให้สอบซ่อม ต้องเรียนใหม่, 7.ใบวุฒิลูกเสือหาย ทำอย่างไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันอาทิตย์ที่ 29 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า
             1) น้องข้าราชการเขาส่งเรื่องขอเครื่องราชฯไปนานแล้ว ยังไม่ได้ ติดตามที่สำนัก จะต้องติดต่อใครคะ
             2) ผู้เกษียณที่มีคุณสมบัติได้รับชั้นสายสะพาย(ภาษาบ้านๆ)ต้องดำเนินการอย่างไรคะ บุคลากรที่จังหวัดบอกว่าเขาส่งมาให้เอง
             3) ขรก.ครูจะเกษียณ ในตำแหน่ง ผอ.อำเภอ แต่เป็นครูไม่ครบ 30 ปี จะขอเครื่องหมายเชิดชูเกียรติได้หรือไม่คะ ในหนัวสือ สพฐ.ผู้บริหารการศึกษา ต้องเป็นครูมาไม่น้อยกว่า 10 ปีค่ะ

             ผมตอบว่า
             1) ถ้าจังหวัดตรวจสอบว่าเคยขอให้แล้ว ก็ลองเข้าไปเช็คที่ http://thanundon.soc.go.th/Home/FrmloginUser ( เช็คที่นี่ได้ทุกสังกัด คลิกที่ “สำหรับผู้ใช้ทั่วไป” แล้วกรอกข้อมูล ) ดูว่าได้หรือยัง
                ถ้ายังไม่ได้ คนสังกัด กศน.ถาม กจ.กศน. กลุ่มงานทะเบียนประวัติและบำเหน็จความชอบ ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันใครเป็นเจ้าหน้าที่ โทร.ถามที่ 02-2800299
             2) ถาม กจ.เช่นกัน..
                แน่ใจหรือว่าคุณสมบัติครบที่จะได้ชั้นสายสะพาย
                ที่ผ่านมา ครูที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ถ้าไม่ได้ คศ.4 ขอชั้นสายสะพายไม่ได้นะ แม้จะเกษียณ
                ถ้าเป็นผู้บริหารหรือเป็น ขรก.พลเรือน/38 ค.(2) ชำนาญการพิเศษก็ขอได้
                ที่ผ่านมา ขรก.ครูที่ไม่ได้ คศ.4 ขอไม่ได้ ขอได้เฉพาะผู้บริหาร คศ.3 ที่เงินเดือนเต็มขั้น และได้ ท.ช.มาแล้ว 5 ปี นับถึง 28 ก.ค.  ขอในปีที่เกษียณหรือจะเกษียณ
             ( ปีนี้ครูเปลี่ยนเป็น เลื่อนขั้นเป็นร้อยละแล้ว ไม่รู้ว่าจะขอได้เหมือน ขรก.พลเรือน/38 ค.(2) หรือยัง )
             3) ตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ ไม่ใช่ผู้บริหาร การ ศึกษานะครับ แต่เป็นผู้บริหาร สถาน ศึกษา ซึ่งถ้าเป็นครู+ผู้บริหารสถานศึกษา(ผอ.กศน.อ.) ครบ 30 ปี ก็ขอรับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูอาวุโสได้
             ( ผู้ยื่นขอรับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูอาวุโส จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ข้อ ดังนี้
             ก. เป็นสมาชิกคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 กันยายน ปีนั้น
             ข. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู หรือผู้บริหาร สถาน ศึกษา หรือศึกษานิเทศก์ ที่ได้รับเงินเดือนประจำ และมีระยะเวลาประกอบวิชาชีพรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ปี กรณีเป็นผู้บริหาร การ ศึกษา ต้องเคยเป็นครู หรือผู้บริหาร หรือศึกษานิเทศก์ มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และระยะเวลาในการประกอบวิชาชีพรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ปี
             ค. เป็นครูหรือดำรงตำแหน่งอื่นเกี่ยวกับการให้การศึกษา จนถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ( ไม่นับรวมเวลาราชการทวีคูณ ) และ
             ง. มีประวัติชีวิตการงานดีตลอดมา มีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีตามจารีตของครู )

         2. เย็นวันที่ 4 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์กลุ่ม ว่า  ขออนุญาตไปราชการ ( งานกฐินพระราชทานของกรม ) ได้ป่าวคะ ถามเผื่อคนอยู่ในราชการ เพราะเคยเห็นพี่เอกโพสต์ว่าไปงานกฐินด้วยศรัทธา มิใช่ไปปฏิบัติราชการ

             ผมตอบว่า   ขออนุญาตไปราชการงานกฐินไม่ได้
             แต่ เขามักจะจัดประชุมในช่วงใกล้วันถวายผ้าพระกฐิน ณ สถานที่ใกล้งานกฐิน นั้น โดยมีการประชุมจริง ๆ
             ขออนุญาตไปราชการงานประชุมนั้นได้ ถ้าเป็นการประชุมหรือปฏิบัติราชการจริงจังในเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม ( ปีนี้ท่าน รมว.ศธ.มีนโยบายให้ลดการประชุมสัมมนาที่ใหญ่โต แต่ให้ทดแทนด้วยเทคโนโลยี ยกเลิกการจัดงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง/การจัดงานแบบอีเว้นท์ )

         3. วันที่ 3 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีสิทธิ์สอบ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หมายถึงหัวหน้ากลุ่มงานในสำนักงาน กศน.จังหวัดหรือสถานศึกษาคะ

             ผมตอบว่า   หัวหน้ากลุ่มใน สนง.กศน.จังหวัดครับ และต้องเป็นตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มตามโครงสร้างทางกฎหมายด้วยนะ ถ้า ผอ.จังหวัดตั้งกลุ่มเกินโครงสร้างที่กำหนดก็ไม่ใช่

         4. วันเสาร์ที่ 5 ต.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้เพิ่งถามต่อท้ายโพสต์เก่าเมื่อสี่ปีก่อนของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊กเรื่องการทำสัญญาจ้าง ว่า ขอหนังสือสั่งการเกี่ยวกับการจ้างพนักงานราชการของส่วนราชการไม่ต้องติดอากรแสตมป์ด้วยครับอาจารย์..จะนำไปยืนยันกับหน่วยงานบางแห่ง...ที่ให้ติดอากร

             ผมตอบว่า ผมเบื่อมากที่จะตอบคำถามที่แสดงถึงความไม่รู้พื้นฐานทางระเบียบกฎหมายเลย ลักษณะเดียวกับถามว่า
             - “ขอดูหลักฐานที่ว่าการไถ่ชีวิตโคกระบือไม่บาป”
             - “ขอดูหนังสือสั่งการว่ายังไม่ยกเลิกใบ รบ.หลักสูตร 44”
             - “ผอ.บอกว่า ขอระเบียบที่ ผอ.จังหวัดไม่มีอำนาจในการเอาครูไปช่วยราชการที่ สนง.จังหวัด ลงนามโดยเลขาการุณ มีไหม”
             - “ให้หาระเบียบว่า กพช. 200 ชม. ครอบคลุม นศ.เทียบโอนด้วย หรือผู้หญิงต้องทำเท่าผู้ชาย”
             - “ขอหนังสือสั่งการว่าทำสัญญาจ้างพนักงานราชการไม่ต้องติดอากรแสตมป์”
             คนที่มีพื้นฐานทางระเบียบกฎหมายอยู่บ้าง จะถามตรงข้ามกับคำถามเหล่านี้ ผู้ที่ต้องเป็นฝ่ายหาระเบียบหลักฐานคือฝ่ายตรงข้ามครับ คือต้องถามผู้นั้นกลับ ว่า
             - “ขอดูหลักฐานที่ว่าการไถ่ชีวิตโคกระบือเป็นบาป”
             - “ขอดูหนังสือสั่งการยกเลิกใบ รบ.หลักสูตร 44”
             - “ขอดูระเบียบ/คำสั่งมอบอำนาจ ให้ ผอ.จังหวัดเอาครูไปช่วยราชการที่จังหวัด”
             - “ขอดูระเบียบที่ว่า กพช.200 ชม.ไม่ครอบคลุม นศ.เทียบโอน หรือผู้หญิงทำน้อยกว่าผู้ชาย”
             - “ขอหนังสือสั่งการว่าทำสัญญาจ้างพนักงานราชการต้องติดอากรแสตมป์”

             คุณจะต้องเป็นฝ่ายขอดูหลักฐานจากเขาที่ว่า การทำสัญญาจ้างพนักงานราชการต้องติดอากรแสตมป์
             ผมก็โพสต์ในข้อ 3 ชัดแล้วว่า “ถ้าไม่เข้าตาม http://www.rd.go.th/publish/6162.0.html นี้ ไม่ต้องติดอากร ( การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เข้าข้อ 4.จ้างทำของ )”

             ถ้าคุณคลิกเข้าไปดูที่ http://www.rd.go.th/publish/6162.0.html จะเห็นว่า ประเทศไทยให้ติดอากรสแตมป์ใน 28 ลักษณะเท่านั้น ขอย้ำคำว่า เท่านั้น อะไรที่ไม่อยู่ใน 28 ลักษณะนี้ไม่ต้องติดอากรแสตมป์
             ตามเอกสาร “108 คำถาม กับ พนักงานราชการ” ซึ่งเป็นเอกสารของสำนักงาน ก.พ.(กลุ่มบริหารพนักงานราชการ) ระบุในข้อ 81 ว่า “สัญญาจ้าง(พนักงานราชการ)ไม่ต้องติดอากรแสตมป์” ( ดูได้ที่ http://bit.ly/358f1q9 )
             และกรมสรรพากรก็ตอบเหมือนกัน ที่
             http://interapp3.rd.go.th/call_center_inter/show/faq1.php?id=401489

         5. วันที่ 4 ต.ค.62 ประชาสัมพันธ์ กศน. โพสต์แบนเนอร์ประชาสัมพันธ์รับสมัคร กศน.ขั้นพื้นฐาน ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ลงในไลน์กลุ่ม “ส.การศึกษาตลอดชีวิต

             ผมถามว่า  การเรียนยังมีแค่ 3 รูปแบบ ยังไม่มีแบบออนไลน์หรือครับ หรือว่าแบบออนไลน์เป็นส่วนย่อยของแบบทางไกล
             ประชาสัมพันธ์ กศน. ตอบว่า ใช่ค่ะ อยู่ในแบบทางไกล
             ผมถามต่อ ว่า  Ok ครับ ถ้าการเรียนออนไลน์อยู่ในแบบทางไกล.. ของ กศน.อำเภอ/เขต แบบทางไกลจะมีคะแนนระหว่างภาคเพียง 20 % ใช่ไหมครับ ถามเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ
             คำถามนี้ ยังไม่มีคำตอบ

         6. วันที่ 10 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ทำไมข้อสอบวิชาเลือกพอตรวจออกมาแล้วไม่มีคะแนน วิชาบังคับทำไมไม่มีคะแนนที่เครื่องตรวจนะคะ เป็นแบบนี้ทุกเทอมครูกะหากันจนหัวฟู ถ้าหาไม่เจอเด็กก็ลงใหม่ เสียเวลาเด็ก

             ผมตอบว่า  คำถามไม่ชัดเจนเลย ตรวจที่ไหน ใครตรวจ ครูหาที่ไหน อย่างไร ฯลฯ
             ผู้ถามบอกว่า  หายุกศน.อำเภอคะ ถ้าหาไม่เจอเด็กก็จะขส.คะ เพราะไม่มีคะแนนแล้วก็ไม่ได้สอบซ่อม เป็นแบบนี้จน...เบื่อๆๆๆคะ เพราะเวลานำข้อสอบที่ไปตรวจมาส่งยุอำเภอ.กระดาษคำตอบปนกันหมดแล้วทีนี้ก็หาไม่เจอคะ ที่ว่างๆๆนะคะไม่มีคะแนนผลการตรวจปลายภาคค่ะ แต่ไม่ใช่ขาดสอบนะคะเด็กมาสอบคะ ทีนี้ครูแต่ละตำบลก็ไปหาไปรื้อไปค้นถ้าไม่เจอนายทะเบียนก็ไม่ให้คะ

             ผมตอบว่า  ถามว่าตรวจที่ไหนก็ไม่ตอบ  เข้าใจว่าตรวจที่ศูนย์ภาค ใช่ไหม
             ปัญหาอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
             - นักศึกษาฝนในกระดาษคำตอบไม่ถูกต้อง/ครบถ้วน/ชัดเจน ฝนรหัสประจำตัวนักศึกษา และ/หรือ รหัสวิชา ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน ใช้ดินสอ 2B ปลอม หรือฝนเบาไม่เต็มช่อง ฯลฯ ทำให้เครื่องตรวจฯอ่านได้ไม่ครบถ้วน ( คนตรวจก็ไม่ควรทำให้กระดาษคำตอบที่ตรวจแล้วปะปนสับสนกัน )
             - ตอนที่ลงข้อมมูลต่าง ๆ ของนักศึกษาในโปรแกรม ITw อาจลงข้อมูลไม่ละเอียดครบถ้วนในจุดใดจุดหนึ่ง รหัสบางอย่างไม่ตรงกับรหัสที่เครื่องตรวจฯบันทึกมา ระบบจึงกรอกคะแนนให้ใครไม่ได้

             วิธีแก้ที่สำคัญคือ
             1) ชี้แจงให้คนคุมสอบช่วยตรวจการฝนในกระดาษคำตอบให้ชัดเจนครบถ้วนและถูกต้อง
             2) แจ้งจังหวัดให้แจ้งคณะกรรมการที่นำกระดาษคำตอบไปตรวจที่ศูนย์ภาค ไม่ให้ทำกระดาษคำตอบที่ตรวจแล้ว ปะปนสับสนกัน
             ( นอกจากเครื่องตรวจกระดาษคำตอบจะตีพิมพ์คะแนนลงในกระดาษคำตอบแต่ละแผ่นแล้ว ยังตีพิมพ์เลขลำดับแผ่นกระดาษคำตอบที่ตรวจ ลงในกระดาษคำตอบแต่ละแผ่นด้วย และเมื่อนำไฟล์คะแนนไปลงโปรแกรม ITw ก็สามารถให้โปรแกรมรายงานออกมาได้ว่า "กระดาษคำตอบแผ่นลำดับเลขที่เท่าไรมีปัญหากรอกคะแนนไม่ได้" เมื่อรู้เลขที่แผ่นกระดาษคำตอบที่มีปัญหา และกระดาษคำตอบทุกแผ่นยังเรียงลำดับไว้ ก็จะสามารถหากระดาษคำตอบแผ่นที่มีปัญหามาดูได้ง่าย ถ้าดูแล้วกระดาษคำตอบไม่มีปัญหา ก็แสดงว่าข้อมูลในโปรแกรม ITw ที่ลงไว้ตอนขึ้นทะเบียน/ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนบางจุด มีหลายอำเภอที่กรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนถูกต้องทุกจุด จุดไหนขี้เกียจกรอกก็ไม่กรอกกัน )

             3) เมื่อนำไฟล์คะแนนมาลงโปรแกรม ถ้าคะแนนของรายใดหายไป ให้ตรวจจนพบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ( ในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการฝนกระดาษคำตอบ แต่เกิดจากโปรแกรม ITw เช่นลงรหัสวิชาในโปรแกรมผิด ระบุตำแหน่งการอ่านตัวเลขในไฟล์คะแนนผิด อาจต้องส่งไฟล์แบ็คอัพและไฟล์คะแนนไปถามผู้รู้ เช่น คุณสุขุมผู้พัฒนาโปรแกรม ITw ) เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในเทอมต่อไปอีก
                อนึ่ง การที่ผู้ขาดสอบไม่มีสิทธิสอบซ่อม นั้น จะดูว่าใครขาดสอบต้องดูที่ลายเซ็นนักศึกษาเข้าสอบด้วย

         7. วันที่ 8 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าทำใบประกาศวุฒิBTC หาย สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

             เรื่องนี้  ท่านสมปอง วิมาโร ผอ.ส่วนฯใน สนง.ลูกเสือแห่งชาติ แจ้งว่า การอบรม BTC และ ATC เป็นหลักสูตรที่จัดโดยลูกเสือจังหวัด โดยผู้อำนวยการฝึกเป็นผู้ลงนามในวุฒิบัตร ขณะนี้ยังไม่มีระเบียบการออกใบแทน จึงให้ผู้อำนวยการฝึกออกใบรับรองไปก่อน
             ( แต่หากเป็นนักศึกษาที่เรียน ค.บ. กศ.บ. ศษ.บ. ถ้ามีการอบรมลูกเสือเขาจะบันทึกไว้ในทรานสคริป สามารถใช้ทรานสคริปยืนยันแทนวุฒิบัติที่สูญหายได้ )
             ขณะนี้ สนง.ลูกเสือกำลังทำระเบียบการออกใบแทน