วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2562

1.สมัครเรียน ป.บัณฑิตไม่ได้, 2.ครูผู้ช่วยขอย้ายได้ไหม, 3.จบสาขาบัญชี ต้องการประกอบอาชีพครู, 4.สอบเทียบระดับ มิติความรู้ฯ เบิกค่าเครื่องดื่มได้ไหม, 5.กรณีนี้สอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน.กรณีพิเศษได้รึเปล่า, 6.ผู้รักษาการในตำแหน่ง ลงนามเรื่องใดไม่ได้, 7.เข้าสอบ N-Net ไม่ทัน


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. ช่วงพักเที่ยงวันที่ 31 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  มีเรื่องอยากปรึกษาครับ เป็นครูผู้สอนคนพิการ กศน.อำเภอบ้านผือ อุดรธานี อยากได้ใบอนุญาตประกอบการสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีด เพื่อนำไปสมัครเรียน ป.บัณฑิต แต่ทางคุรุสภาแจ้งว่าไม่สามารถออกให้ได้ เพราะ กศน.ได้รับการยกเว้น

             ผมตอบว่า   ไปขอที่คุรุสภาส่วนกลางใช่ไหม ลองขอที่คุรุสภาจังหวัดหรือยัง คุรุสภาแต่ละจังหวัดอาจจะยังปฏิบัติไม่เหมือนกันก็ได้ เผื่อฟลุ้ค
             ถ้าทุกแห่งไม่ออกให้ ก็ต้องทำใจ ต่อไปนี้ครู กศน.หมดสิทธิสมัครเรียน ป.บัณฑิต ซึ่งจะไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไปสมัครสอบเป็นข้าราชการครู
             ครู กศน.ที่ไม่จบปริญญาทางครู ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และยังไม่ได้เริ่มเรียน ป.บัณฑิต ต่อไปก็ต้องเลิกคิดที่จะสอบเป็นครูผู้ช่วยแล้ว ให้คิดเป็นครู กศน.ตลอดไป หรือมุ่งอาชีพอื่น ถ้าจะเป็นข้าราชการก็ต้องไม่ใช่ข้าราชการครู
             ( เขาไม่ได้เรียกว่าใบอนุญาตประกอบการสอนฯนะ )

             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  แต่ทางราชภัฎอุดรธานีแจ้งว่า หากจะสมัครเรียน ต้องแนบระเบียบจากคุรุสภาว่า กศน.ไม่ต้องขอใบอนุญาตดังกล่าว แต่หาระเบียบตัวดังกล่าวไม่เจอเลย
             ผมตอบว่า  ราชภัฏอุดรธานีเข้าใจผิด ไม่ใช่ว่า ไม่ต้องขออนุญาตก็เลยเรียนได้โดยไม่ต้องมีหนังสืออนุญาต แต่ ไม่ต้องขออนุญาตคือไม่มีสิทธิสมัครเรียน มหาวิทยาลัยจะรับสมัครไม่ได้ ถ้ามหาวิทยาลัยให้เรียนจนจบแล้ว ระวังจะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูจากคุรุสภาไม่ได้
             ระเบียบที่ต้องการนั้น ที่จริงเป็นหนังสือตอบของคุรุสภา ตามภาพประกอบนี้ ลองไปให้ ม.ราชภัฏดู แต่ควรจะให้เขาหารือคุรุสภาว่ากรณีนี้จะเรียน ป.บัณฑิตโดยไม่มีหนังสืออนุญาตได้ไหม ถ้าไม่หารือก่อนอาจเสียเวลาเรียนจนจบแล้วมีปัญหาไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภาในภายหลัง
             ผลเป็นประการใด มาเล่าให้ผมฟังด้วยนะ จะได้เป็นข้อมูลตอบคนอื่น

             หลังจากที่ผมโพสต์คำถามคำตอบนี้ลงเฟซบุ๊กไปได้เพียงสิบกว่านาที ท่านณภัค ถิรกุลยศมาดี จากคุรุสภา เขามาเขียนต่อท้ายโพสต์ผมยาวเลย สรุปในประเด็นนี้ได้ว่า
             การขอ "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพครูโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ไม่ว่าจะไปยื่นขอที่เจ้าหน้าที่คุรุสภาประจำจังหวัดใดก็ตาม มีมาตรฐานเดียวกัน เพราะผู้อนุมัติคือส่วนกลาง ( ส่วนกลางไม่อนุมัติ )
             ส่วนกรณีเรียน ป.บัณฑิต ถ้าสถาบันดังกล่าวรับไว้เรียน ก็สามารถเรียนได้ แต่เป็นการเรียนเพื่อพัฒนาตนเอง ได้วุฒิ ป.บัณฑิตฯ แต่ไม่สามารถสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา

             ผมถือโอกาสถามเพิ่มเติมว่า  ครู กศน.มีหลากหลายตำแหน่ง บางตำแหน่งก็สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน ม.ต้น-ม.ปลาย เช่นตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล ตำแหน่งครูอาสาสมัคร กศน. ตำแหน่งครู ปวช.
             ตำแหน่งเหล่านี้จะขอ หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพฯโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพฯ ได้ไหม ( กศ.ขั้นพื้นฐานที่ กศน.จัดนี้ เป็นหลักสูตรของรัฐบาล และสถานศึกษา กศน.ก็ต้องผ่านการประเมินภายนอกจาก สมศ.)
             ท่านณภัค ตอบว่า  ไม่สามารถออกหนังสืออนุญาตให้ได้ เพราะ พ.ร.บ.สภาครูฯ ยกเว้นให้ไม่ต้องขอ







         2. วันที่ 2 ส.ค.62 มีผู้ถามบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊กผม ว่า  เรียนถามท่าน ผอ. ตามหนังสือ ศธ0210.118/4343 ลงวันที่ 31 กค 62 เรื่องการย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูฯ ขอเรียนถามว่า กรณีที่เราเป็นครูผู้ช่วย ที่เพิ่งบรรจุในวันที่ 1 ตุลาคม 61 ที่ผ่านมาแล้วนั้น สามารถเขียนขอย้ายไปในตำแหน่งครูผู้ช่วย ที่ว่างอยู่ได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ครูผู้ช่วยยังขอย้ายไม่ได้ ครูผู้ช่วยต้องเป็นไปตามเงื่อนไขในประกาศรับสมัครสอบบรรจุว่ากี่ปีจึงจะขอย้ายได้ เช่นถ้าในประกาศรับสมัครสอบบบรรจุกำหนดว่า 3 ปีจึงจะขอย้ายได้ แม้ปัจจุบันจะผ่านจากครูผู้ช่วยเป็นตำแหน่งครูแล้ว แต่ถ้ายังรวมไม่ครบ 3 ปีก็ยังขอย้ายไม่ได้
             ( อย่างน้อยที่สุดก็ต้องผ่านการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี )
             ผมไม่ได้เป็น ผอ.นะ
             ( ที่หนังสือดังกล่าวระบุว่า “ผู้มีความประสงค์ขอย้ายต้องอยู่ปฏิบัติงานในหน่วยงาน/สถานศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ 30 ก.ย.62” นั้น หมายถึงผู้ที่เคยย้ายแล้ว จะขอย้ายอีก ต้องรอให้ครบ 1 ปีก่อน )

         3. คืนวันที่ 6 ส.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  สวัสดีคะ พอดีเรียนจบ ป.ตรี สาขาบัญชี ปัจจุบันทำงานบริษัทเอกชน แต่ต้องการประกอบอาชีพครู แต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู ต้องทำอย่างไรบ้างคะ

             ผมตอบว่า   ถ้าจะเป็นข้าราชการครูต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ถ้าต้องการมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ปัจจุบันเหลือวิธีปกติ 2 วิธี
             1)  เรียนอีก ให้จบ “ปริญญาทางการศึกษา” ในสถาบัน/หลักสูตร ที่คุรุสภารับรอง
             2)  ไปหาสมัครเป็นครูผู้สอนอัตราจ้างในสถานศึกษา เช่นโรงเรียนประถม-มัธยม สพฐ. แล้วให้สถานศึกษานั้นขอ "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบอาชีพ" จากคุรุสภา แล้วใช้หนังสือนี้+หลักฐานการจ้างเป็นครู สมัครเรียนให้จบ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู ในหลักสูตรที่คุรุสภารับรอง

         4. วันอาทิตย์ที่ 11 ส.ค.62 มีผู้ถามในโอเพนแชท ( ไลน์สแควร์เดิม ) กลุ่ม กศน. ว่า  เราสามารถเบิกค่าน้ำคณะกรรมการสอบเทียบระดับได้มั้ยคะ.(ที่ผ่านมายังไม่เคยเบิกค่ะ) สอบประเมินมิติความรู้ความคิดค่ะ

             ผมตอบว่า   เบิกได้วันละไม่เกิน 30 บาท/คน ( ตามหลักเกณฑ์ในภาพประกอบนี้ )







             5. ดึกวันที่ 13 ส.ค.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็นครู ศรช.มา 5 ปี จึงลาออก ลาออกได้ประมาณ 2 เดือน มีโทรศัพท์จาก กศน.จังหวัดให้มารับตำแหน่งครู กศน.ตำบล ปัจจุบันจึงทำงานในตำแหน่งครู กศน.ตำบล กรณีนี้ สามารถสอบบรรจุครูผู้ช่วย กศน.กรณีพิเศษ ที่นับอายุการทำงานไม่น้อยกว่า 3 ปีได้รึเปล่า

             ผมตอบว่า   ได้.. นับรวมกันได้แม้ไม่ต่อเนื่องกันก็ได้ แต่ไม่นับรวมช่วงที่ไม่ได้สังกัดและสอน กศน.
             ทั้งนี้ต้องดูประกาศรับสมัครแต่ละครั้งว่าต้องใช้หลักฐานและคำรับรองจาก ผอ.สถานศึกษา/หน่วยงานแต่ละแห่งอย่างไรบ้าง
             ครั้งที่ผ่านมา กำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติมของผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก ว่า
             “ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่ง พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้างเหมาบริการจากเงินงบประมาณหรือเงินรายได้ของสถานศึกษา และ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนในสถานศึกษา สังกัด กศน. ซึ่งต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย ( ขาดวันเดียวก็ไม่ได้ ) โดยมีตารางสอนไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การนับเวลาการสอนให้นับได้ตั้งแต่วันที่ได้รับวุฒิปริญญาตรี”

         6. เช้าวันที่ 20 ส.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ใบวุฒิ กศ. รักษาการในตำแหน่ง ผอ.สามารถลงนามในใบวุฒิได้ไหมค่ะ

             ผมตอบว่า   มีบางคนบอกว่า ผู้รักษาการในตำแหน่ง ไม่สามารถลงนามในบางเรื่อง เช่น ลงนามในใบ รบ. เรื่องการเงิน เรื่องการบริหารบุคคล
             ที่จริงเป็นความเข้าใจผิด ที่ถูกคือ
             “ผู้รักษาการในตำแหน่ง มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาการนั้น”
             เพียงแต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ และไม่เร่งด่วน ผู้ดำรงตำแหน่งไม่อยู่เพียงไม่นาน ถ้ารอได้ ผู้รักษาการในตำแหน่งก็อาจจะรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงกลับมาตรวจสอบและลงนามเอง หรือจะโทร.หารือผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงก่อนลงนาม ก็ได้
             การรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงมาลงนามในเรื่องสำคัญนี้เป็นเพียง "มารยาท" ไม่มีในระเบียบกฎหมาย

         7. คืนวันที่ 26 ส.ค.62 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ในบล็อกของผม ว่า  ท่าไม่ทันสอบN-Net สอบ E-Exam เทอมหน้า จะทันไม่ค่า

             ผมตอบว่า   ปกติถ้าส่งชื่อเข้าสอบ N-Net แล้วไม่เข้าสอบ ( เขามีค่าดำเนินการพิมพ์ข้อสอบส่งข้อสอบจัดคนคุมสอบสำหรับที่นั่งสอบเราให้แล้ว ยิ่งถ้าคนขาดสอบมีจำนวนมากรวมได้เป็นห้อง ๆ ก็เสียค่ากรรมการดำเนินการระดับต่าง ๆ มากขึ้น ) ก็ต้องติดต่อ กศน.อำเภอ/เขต เขียนคำร้องแจ้งเหตุผลที่ไม่ได้เข้าสอบและขออนุญาตสอบใหม่ตามกำหนด แล้ว กศน.อำเภอ/เขตต้องส่งเรื่องไปตามลำดับให้ส่วนกลางพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด ว่าจะให้เข้าสอบอะไรเมื่อไร


วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2562

1.จนท.จังหวัดบอกว่ายกเลิกการเทียบโอนผู้นำท้องถิ่นแล้ว ผอ.อำเภอบอกว่าเทียบไม่ได้ ?, 2.พนักงานราชการสงสัยที่ ผอ.อำเภอไม่รับย้าย, 3.การจ้างเหมาบริการ หากขาดงานต้องหักค่าจ้าง 500 บาท/วัน และค่าปรับไม่ต่ำกว่า 100 บาทใช่ไหม, 4.ขอระเบียบการสอบ E-Exam, 5.บางจังหวัดไม่ให้ผู้รับจ้างเหมาบริการเบิกค่าไปราชการ, 6.ผ่านอบรมผู้กำกับลูกเสือสามัญ BTC ติดเข็มลูกเสือสีไหน, 7.พนักงานสอบเป็นข้าราชการไม่ได้ซักที รัฐบาลใหม่มีโอกาสไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. คืนวันที่ 10 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องการเทียบโอนวิชาสามัญ ในรูปแบบกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ที่เป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน  สมาชิก อบต.สถานศึกษายังเทียบได้หรือไม่  มีการยกเลิกหรือยัง ถ้ามีการยกเลิกขอหนังสือได้มัย เพราะเจ้าหน้าที่ของการศึกษาขั้นพื้นฐานของจังหวัดบอกว่าเขายกเลิกแล้วและสถานศึกษาไม่สามารถเทียบได้  จะได้เอาเอกสารไปยืนยันกับ ผู้เรียนที่เป็นผู้นำท้องถิ่นได้ ผอ.อำเภอ บอกว่าเทียบไม่ได้

             ผมตอบว่า   เทียบได้ตามเกณฑ์ ยังไม่ยกเลิก ( เรียกว่าเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายพิเศษ )

             ผู้ถาม ถามต่อว่า  ต้องสอบหน้าจอมัย
             ผมตอบว่า  ไม่ต้องสอบหน้าจอ เทียบเป็นรายวิชาตามเกณฑ์

             ( ผมนำคำถาม-คำตอบนี้ ไปลงในไลน์กลุ่ม ส.การศึกษาตลอดชีวิต แล้วมีผู้ถามผมว่า  จะหาดาวน์โหลดคู่มือการเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่ได้จากที่ไหนได้บ้าง
             ผมตอบว่า  ในเอกสารแนวทางการเทียบโอนฯกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เล่มปกสีเขียว ( ตามภาพประกอบ ) จะเป็นคู่มือการเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มผู้นำท้องที่/ผู้นำท้องถิ่นด้วย
             ถ้าหาเล่มนี้ไม่เจอ ดาวน์โหลดได้ที่  http://bit.ly/2XAFrkt
             ( เป็นไฟล์สกุล .rar นะ บางคนบางเครื่องอาจเปิดดูไม่ได้ต้องให้คนอื่นทำให้ )







         2. วันที่ 12 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉัน ครู กศน.ตำบล ทำงานอยู่นอกพื้นที่มา 5 ปี ปัจจุบัน มีครูในเขตพื้นที่ลาออก ทำให้มีตำแหน่งว่าง แต่ ผอ.ในเขตพื้นที่ไม่รับย้าย ไม่ตัดตำแหน่งจะเรียกบรรจุใหม่ อยากเรียนถามว่า ผอ.อำเภอสามารถทำแบบนี้ได้หรือไม่ ซึ่งฉันเข้าใจว่าเวลามีตำแหน่งว่าง ทางสำนักงานจังหวัด จะมีหนังสือแจ้งให้คนที่ประสงค์จะย้าย ย้ายก่อน แล้วถ้าไม่มีคนย้ายค่อยเปิดบรรจุใหม่ รบกวนถามเพื่อความแน่ใจ

             ผมตอบว่า   เลขที่ตำแหน่งว่างภายในจังหวัด เป็นอำนาจของ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด ว่า จะเปิดให้ขอย้ายกันก่อนหรือไม่ก็ได้ ( ส่วนใหญ่จะเปิดให้ขอย้ายกันก่อน ซึ่งต้องตั้งคณะกรรมการพิจารณา แต่ตอนว่างเพียง 1-2 ตำแหน่งอาจรวมไว้รอเปิดให้ขอย้ายตอนว่าง 2-3 ตำแหน่ง ) โดย ผอ.สนง.กศน.จังหวัดและคณะกรรมการ อาจฟังความเห็นของ ผอ.กศน.อำเภอด้วย
             แต่ช่วงนี้ ส่วนกลางแจ้งให้ชะลอการย้ายทั้งหมดไว้ตั้งแต่ 4 มิ.ย.62 จนกว่าส่วนกลางจะทำกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการรอบที่ 5 (2564-2567) เสร็จ

         3. วันที่ 25 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอสอบถามค่ะ เป็นความรู้อาจารย์ เรื่องการจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกถ้าหากขาดงานไม่มีปฏิบัติงาน ต้องหัก จากเงินฐานเดือน 15,000 บาท หักเขา 500 บาท/วัน ถูกหรือไม่ค่ะ และต้องปรับเพิ่มร้อยละ 0.10 ไม่ต่ำกว่า 100 บาท อีกไหมค่ะ

             ผมตอบว่า   ครับ.. รายละเอียดให้เป็นไปตามสัญญาจ้างข้อ 6 ข้อ 7 และผนวก 3 หน้า 2 เรื่องการปรับ ( ดูข้อ 6 ก่อน )
             ดูตัวอย่างสัญญาจ้างเหมาบริการ กศน. ได้ที่  http://bit.ly/2OisLuo





         4. คืนวันที่ 22 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  รบกวนสอบถามเรื่องระเบียบการสอบexam หน่อยคะ คือนักศึกษาขาดสอบn-net เทอมที่แล้ว สามารถมาขอสอบexam เทอมนี้ได้ไหมคะ (เก็บหน่วยกิตครบแล้ว)

             ผมส่งภาพหลักเกณฑ์ให้ ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) โดยบอกว่า นี่คือระเบียบหลักเกณฑ์ ควรอ่านให้เข้าใจทุกข้อ โดยเฉพาะที่ขีดเส้นใต้





         5. เย็นวันที่ 25 ก.ค.62 ที่ผมนำคำถามคำตอบเรื่องการจ้างเหมาบริการไปลงในไลน์กลุ่ม “ส.การศึกษาตลอดชีวิต ปรากฏว่าสมาชิกกลุ่มท่านหนึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานใน ศกพ.กศน.ซึ่งท่านคอยดูแลเป็นกำลังใจให้ผู้รับจ้างเหมาบริการเช่นครูผู้สอนคนพิการ เขียนว่า “บางจ. ไม่จ่ายในกรณีอื่นๆๆ เข่น การไปราชการ”

             ผมตอบว่า   สัญญาจ้างระบุว่า “กรณี...ให้ผู้รับจ้างไปปฏิบัติงานนอกสถานที่ต่าง ๆ...จะเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 240 บาท ค่าที่พักเบิกจ่ายได้ตามระเบียบ” นั้น ผมเข้าใจว่าผู้ออกแบบสัญญาจ้างนี้รู้ระเบียบ จึงใช้คำว่า “ไปปฏิบัติงานนอกสถานที่” แทนคำว่า “ไปประชุมอบรมสัมมนา”
             เพราะ ผู้รับจ้างเหมาบริการ ถือเป็นบุคคลภายนอก จะเบิกตาม “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ” จากผู้จ้างไม่ได้ แต่หน่วยงานที่จัดประชุมอบรมสัมมนา จะต้องเป็นผู้จ่ายค่าอาหาร-ที่พัก-พาหนะ ทั้งหมด จะให้ผู้รับจ้างเหมาบริการกลับมาเบิกจากผู้จ้างไม่ได้
             ฉะนั้น ต้องดูว่า ที่บางจังหวัดไม่จ่ายในกรณีอื่น ๆ เช่นการไปราชการ นั้น เป็นกรณี “ไปปฏิบัติงานนอกสถานที่” หรือ “ไปประชุมอบรมสัมมนา”

         6. วันที่ 30 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ผ่านการฝึกอบรมผู้กำกับลูกเสือสามัญ BTC มา ต้องติดเข็มทางลูกเสือแบบไหน สีไหน ( ถามพร้อมส่งภาพเข็มเครื่องหมายผู้บังคับบัญชาลูกเสือมาให้ดู 2 เข็ม พื้นสีเขียวกับพื้นสีแดง )

             ผมตอบว่า   B.T.C. เป็นวุฒิทางลูกเสือ แต่ เข็มเครื่องหมายนี้ เป็นเครื่องหมาย “ตำแหน่ง” ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ให้ติดเข็มตามตำแหน่งที่เป็นทางการ(ใน ลส.13) ไม่ใช่ติดตามวุฒิ เช่นถ้าคุณตำแหน่งรองผู้กำกับลูกเสือ จะเป็นเข็มพื้นสีแดงไม่มีขอบสีขาว ไม่ว่าคุณจะผ่านการอบรม B.T.C. หรือ A.T.C.ก็ตาม  ( ถ้าพื้นสีเขียวไม่มีขอบสีขาว จะสำหรับตำแหน่งผู้กำกับลูกเสือ )
             ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ พ.ศ.2553 ข้อ 5 (7) (จ) กำหนดว่า ผู้กำกับกองลูกเสือสามัญมีอายุไม่น้อยกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์และต้องได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ประเภทลูกเสือสามัญ  รองผู้กำกับลูกเสือสามัญมีอายุไม่น้อยกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์และต้องได้รับวุฒิบัตรการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญขั้นความรู้เบื้องต้น
             ถ้าเป็นรองหรือผู้กำกับลูกเสือสำรอง จะมีอักษร ล - ร , ลูกเสือสามัญจะไม่มีอักษร , ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่จะมีอักษร ล - ญ , ลูกเสือวิสามัญจะมีอักษร ล – ว
             โดยมีรายละเอียดดังนี้
             1)  พื้นสีธงชาติ = พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ
             2)  พื้นสีม่วงขอบสีธงชาติ = ตำแหน่งใน สนง.คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ( สภานายก, อุปนายก, กรรมการ, สภานายกกิตติมศักดิ์, อุปนายกกิตติมศักดิ์และกรรมการ กิตติมศักดิ์แห่งสภาลูกเสือแห่งชาติ, ประธาน, รองประธาน, กรรมการแห่งสภาลูกเสือแห่งชาติ, ผู้อํานวยการใหญ่, รองผู้อํานวยการใหญ่, ผู้ช่วยอํานวยการใหญ่, ผู้ตรวจการใหญ่พิเศษ, ผู้ตรวจการใหญ่, รองผู้ตรวจการใหญ่, ผู้ตรวจการลูกเสือ, รองผู้ตรวจการลูกเสือ, ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือประจําสํานักงานคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ )
             3)  พื้นสีม่วงขอบสีเหลือง = ตำแหน่งใน สนง.คณะกรรมการบริหารลูกเสือจังหวัด ( ผู้อํานวยการลูกเสือจังหวัด, รองผู้อํานวยการลูกเสือจังหวัด, ผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด, รองผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด, ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสือจังหวัด, กรรมการลูกเสือจังหวัด, กรรมการพิเศษลูกเสือจังหวัด )
             4)  พื้นสีม่วงขอบสีแดง = ตำแหน่งใน สนง.คณะกรรมการบริหารลูกเสืออำเภอ ( ผู้อํานวยการลูกเสืออําเภอ, รองผู้อํานวยการลูกเสืออําเภอ, ผู้ตรวจการลูกเสืออําเภอ, รองผู้ตรวจการลูกเสืออําเภอ, ผู้ช่วยผู้ตรวจการลูกเสืออําเภอ, กรรมการลูกเสืออําเภอ, กรรมการพิเศษลูกเสืออําเภอ )
             5)  พื้นสีม่วง = ผู้อํานวยการลูกเสือโรงเรียน, รองผู้อํานวยการลูกเสือโรงเรียน
             6)  พื้นสีเขียวขอบสีขาว = ผู้กํากับกลุ่มลูกเสือโรงเรียน
             7)  พื้นสีแดงขอบสีขาว = รองผู้กํากับกลุ่มลูกเสือโรงเรียน
             8)  พื้นสีเขียวมีอักษร "ล - ร" = ผู้กํากับลูกเสือสํารอง
             9)  พื้นสีแดงมีอักษร "ล - ร" = รองผู้กํากับลูกเสือสํารอง
            10)  พื้นสีเขียว = ผู้กํากับลูกเสือสามัญ
            11)  พื้นสีแดง = รองผู้กํากับลูกเสือสามัญ
            12)  พื้นสีเขียวมีอักษร "ล - ญ" = ผู้กํากับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
            13)  พื้นสีแดงมีอักษร "ล - ญ" = รองผู้กํากับลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
            14)  พื้นสีเขียวมีอักษร "ล - ว" = ผู้กํากับลูกเสือวิสามัญ
            15)  พื้นสีแดงมีอักษร "ล - ว" = รองผู้กํากับลูกเสือวิสามัญ
            16)  พื้นสีเขียวขอบสีน้ําเงิน = เจ้าหน้าที่สังกัด สนง.คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ





         7. เย็นวันที่ 30 ก.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ครู กศน.ตำบลค่า สอบถามครูกศนในตำแหน่งพนักงานราชการสอบไม่ได้ซักทีอยากบรรจุรัฐบาลใหม่เรามีโอกาสบรรจุไหมในอนาคตค่ะ

             ผมตอบว่า   มันก็ต้องผ่านการคัดเลือกนั่นแหละ คอยดูเถอะ แม้จะรัฐบาลใหม่ก็ตาม เพียงแต่จะเป็นข้าราชการตำแหน่งครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ(รับบุคลากรภายในสังกัด) จะใช้อายุตัว หรืออายุราชการ ที่มาก ของครูอัตราจ้าง เป็นคุณสมบัติที่จะมีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มประสบการณ์ แต่ไม่ใช่จะเรียกบรรจุเป็นครูผู้ช่วยเรียงตามลำดับอายุตัวหรืออายุราชการสูงสุดลงมา ไม่ใช่ว่าใครอายุ 59 ปี 11 เดือน 29 วัน จะได้บรรจุเป็นอันดับที่ 1
             แค่เพียงใช้อายุที่มากตามเกณฑ์ที่จะกำหนด เป็นคุณสมบัติในการสมัครเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มประสบการณ์หรือกลุ่มอายุมากนี้
             เมื่อสมัครเข้ารับการคัดเลือกในกลุ่มนี้แล้ว ก็ต้องแข่งขันกันภายในกลุ่มประสบการณ์หรือกลุ่มอายุมากด้วยกันเอง ซึ่งการคัดเลือกในกลุ่มอายุมากหรือกลุ่มประสบการณ์นี้ อาจจะไม่ต้องสอบเหมือนกลุ่มทั่วไป แต่ก็มีการประเมินหลายด้านนะ

             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  “เขาน่าจะบรรจุให้หมดน่ะ จะได้มีกำลังใจ”
             ผมตอบว่า  เราก็คิดเพื่อตัวเรา แต่ละคนก็คิดในมุมของตัวเอง.. ทุกกรมทุกกระทรวงต้องการอัตราข้าราชการเพิ่มกันทั้งนั้น แต่งบประมาณแผ่นดินที่ได้จากภาษีและเงินกู้ ใช้เป็นเงินเดือนค่าจ้างบุคลากรเกินครึ่งไปมาก เหลือเป็นงบลงทุนพัฒนาประเทศเป็นส่วนน้อย  ตอนนี้กระทรวงศึกษาฯเมื่อครูเกษียณจะได้อัตราคืนมาบรรจุข้าราชการใหม่ 100 % กระทรวงอื่นถ้าข้าราชการเกษียณก็จะได้คืนเป็นอัตราข้าราชการเพียงบางส่วน ที่เหลือถูกตัดเปลี่ยนเป็นพนักงานราชการ
             เมื่ออัตรามีจำกัด จึงตามใจเราไม่ได้ คนที่เรียนจบแล้วยังไม่ได้งานเขาก็เดือดร้อน.. สพฐ.จ้างครูเกษียณสอนต่อเพราะขาดแคลนครู คนที่ยังไม่ได้งานเขาก็โวยว่าทำไมไม่เอาเงินมาจ้างพวกเขาแทน