วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2562

1.ออกใบ รบ.ภาษาอังกฤษ, 2.การพัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ, 3.อัตราค่าการศึกษาบุตร, 4.นำชื่อ นศ.รหัส G เข้าระบบสอบ N-NET ไม่ได้, 5.ทวิศึกษา กศน.กับอาชีวศึกษา ยังมีอยู่ไหม, 6.ให้ครู กศน.ที่ไม่มีวุฒิครู เขียนใบลาออก, 7.ครูผู้ช่วย เข้าอบรมก่อนแต่งตั้งให้มีวิทยฐานะด้วยไหม


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. เย็นวันที่ 6 มิ.ย.62 มีผู้ถามในไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. ว่า  ขอคำแนะนำในการออกใบรบ.ภาษาอังกฤษค่ะว่าใช้คำต่างๆ เช่น จบประถมศึกษา การใส่ชื่อ กศน.เป็นภาษาอังกฤษ ฯลฯ ขอคำแนะนำจากอ.เอกชัยและท่านอื่นๆด้วยค่ะ และเลขที่ชุดที่ กับ เลขที่ นก. เราจะใช้เลขที่ออกจากชุดใบรบ.ภาษาไทยได้มั้ยคะ

             ผมตอบว่า   ให้ดูที่ผมเคยโพสต์เรื่องนี้ ในข้อ 2 (8) ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/ep.html
             ส่วน “เหตุที่ออก” คำภาษาอังกฤษของประโยคที่ว่า “จบระดับประถมศึกษา” ให้ดูคู่มือ “เอกสารการศึกษาฉบับภาษาอังกฤษ” ในหน้า 7 ที่ http://bit.ly/2XckGrm

         2. คืนวันที่ 6 มิ.ย.62 มี ผอ.กศน.อ. ถามผมทางไลน์ ว่า  อาจารย์พอมีข้อมูลเรื่องการจัดอบรมพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะผู้อำนวยการสถานศึกษาชำนาญการพิเศษ อีกเมื่อไหร่และที่ไหน มัวยุ่งอยู่กับการทำงานจนลืมดูทราบข่าวจากเพื่อนๆว่าการอบรมแต่ละครั้งจะมีผลแค่๓ปี ว่าจะส่งผลงานแต่ดูแล้วน่าจะส่งไม่ได้แล้ว

             ผมตอบว่า   ผมไม่ทราบว่า จะอบรมอีกเมื่อไร-ที่ไหน ( เดิม กจ.กศน.มักจะจัดอบรมเองปีละครั้ง เพราะจะมีคนเข้าอบรมมากเนื่องจากอบรมพร้อม ๆ กับ ขรก.ครูสายงานการสอน แต่ตอนนี้ครูสายงานการสอนมีระเบียบใหม่คงไม่ต้องอบรมแบบเดิมแล้ว เหลือแต่ผู้บริหาร คนน้อย กจ.อาจไม่จัดทุกปี

             หลังจากตอบแล้ว ผมนำคำถามนี้ไปถามต่อในไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. ปรากฏว่ามี ผอ.หลายท่านแนะนำให้ไปอบรมตามหน่วยฝึกอบรมต่าง ๆ เช่น ม.ราชภัฏหลายแห่งในทุกภาค
             โดยให้ผู้จะเข้าอบรม โหลดแบบฟอร์มขออนุญาตจากหน่วยฝึกอบรม แล้วทำแจ้งไปที่สำนักงาน กศน.จังหวัด ให้ สนง.กศน.จังหวัดเสนอต่อไปถึงทั้งที่หน่วยอบรม และส่วนกลาง กศน.( กจ.)
             เมื่อเข้าอบรมได้วุฒิบัตรแล้ว ต้องส่งวุฒิบัตรผ่าน สนง.กศน.จังหวัด ถึงส่วนกลาง กศน.เพื่อบันทึกในทะเบียนประวัติ
             และเมื่อเราส่งคำขอรับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะ ก็ต้องแนบวุฒิบัตรนี้ไปในแบบคำขออีกด้วย
             ( เห็นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประเมินใหม่ในเดือน ก.ค.62 รูปแบบการอบรมอาจมีการเปลี่ยน
                แม้จะเปลี่ยนเกณฑ์ แต่ปกติผลการอบรมตามเกณฑ์เก่าก็จะใช้ได้ เพียงแต่ ผลการอบรมจะใช้ได้ไม่เกิน 3 ปี ฉะนั้น ไม่ใช่อบรมก่อนค่อยเริ่มทำ เพราะอาจทำเสร็จช้า แต่ควรเริ่มทำก่อนแล้วค่อยอบรม )

         3. เช้าวันที่ 14 มิ.ย.62 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมทางไลน์ ว่า  พอจะทราบไหมคะว่าสวัสดิการค่าเล่าเรียนลูกมีเปลี่ยนแปลงอย่างไร ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้13มิย.เมื่อวานค่ะ เยิกได้ทั้งหมดที่เรียกเก็บแต่มีขมวดท้ายว่าเป็นไปตามที่กท.การคลังกำหนด ดูที่กำหนดจากไหนคะ มหาลัยปรับค่าเทอมปีที่ผ่านมาแพงขึ้นหลายเท่า กรณีเรียนแพทย์จาก 28000 เป็น50000 เยิกได้ทั้งปี 25000

             ผมตอบว่า   ใช้อัตราเดิม ( ตามหนังสือกรมบัญชีกลางที่ กค 0422.3/ว257 ลงวันที่ 28 มิ.ย.59 และที่ กค 0408.5/ว22 ลงวันที่ 12 ม.ค.61 ) ต่อไป จนกว่ากระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะปรับอัตราใหม่






         4. วันที่ 18 มิ.ย.62 มีผู้ถามในไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. ว่า  ถามวิธีการแก้ไข นำชื่อนักศึกษาขึ้นระบบ n-net มีปัญหาไม่สามารถนำนักศึกษารหัส G ขึ้นระบบได้

             เรื่องนี้  อ.ธานี กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ กศน. บอกว่า  นักศึกษาที่ขึ้นต้นด้วยรหัส G ให้กรอกข้อมูลรหัสนักศึกษา ดังนี้
             รหัสสถานศึกษา+เลขลำดับ(เริ่ม 001) จนครบ ตัวอย่างเช่น นักศึกษา กศน.อำเภอเมืองเพชรบุรี รหัสสถานศึกษา 1276010001 รหัสนักศึกษาที่กรอกจะเป็น 1276010001001
             คนต่อ ๆ ไปก็ลงท้าย 002 003 เรียงไปตามลำดับ ไม่ให้ซ้ำ

         5. วันที่ 18 มิ.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  อาจารย์ค่ะ ตอนนี้หลักสูตรคู่ขนาน (ทวิภาคี) ระหว่าง กศน.กับอาชีวศึกษา ยังมีอยู่มั้ยค่ะ

             ผมตอบว่า   แบบนี้ไม่ได้เรียกว่า ทวิภาคี แต่เรียกว่า ทวิศึกษา ( ส่วนทวิภาคีคือการจัดการศึกษาร่วมกับสถานประกอบการ เช่นหลักสูตร ปวช.จะให้เรียน-ฝึกในสถานประกอบการเอกชน )
             อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า ทวิศึกษา ถ้าเป็น นศ.เก่า ยังดำเนินการต่อไปจนกว่าจะเรียนจบ ส่วนผู้ที่จะสมัครเป็น นศ.ใหม่ต้องรอก่อนเพราะตอนนี้ สอศ.เปลี่ยนหลักสูตรจาก ปวช.56 เป็น ปวช.62 ก็ต้องรอเปลี่ยนหลักสูตรทวิศึกษาใหม่ด้วย

         6. คืนวันที่ 27 มิ.ย.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องของเรื่องคือ ทำเป็นครู กศน.อยู่จังหวัดชุมพร ผอ จังหวัดเข้าในที่ประชุมแล้วบอกว่า การประเมินพนักงานราชการครั้งต่อไป ใครไม่มีวุฒิครูให้เขียนใบลาออกเอง ถ้าไม่เขียนจะไม่ต่อสัญญาให้ เอาง่ายๆคือจะไล่ออกอย่างเดียว ถ้าไม่อยากโดนไล่ออก ก็ให้เขียนใบลาออกเอง ฉันก็สมัครสอบเพื่อจะเรียน แต่ด้วย ป.บัณฑิตแต่ละปีเปิดไม่กี่มหาลัย สอบแต่ละครั้งคนสอบก็เยอะ สอบไม่ติดไม่ได้เรียน อยากถามว่ามันมีนโยบายแบบนี้ด้วยหรอ

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้ เมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมาก็มีคนถามผมลักษณะนี้ คงจะคนละจังหวัดกัน รู้สึกว่าคนนั้นตอนจะต่อสัญญาครึ่งปีหลังนี้เขาได้ออกไปแล้วจริง เพราะเขียนใบลาออกไว้ตั้งแต่ตอนทำสัญญาครั้งก่อน ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นครู กศน.มานาน และเพราะอายุไม่น้อยแล้วจึงไม่เรียน ป.บัณฑิต คิดว่าครูสอน กศน.ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิครู
             ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันส่วนกลางมีนโยบายนี้หรือไม่ ( ไม่น่าจะมีนะ ) ปัจจุบันวุฒิครูเป็นเงื่อนไขในการรับครู กศน.รุ่นหลัง ๆ แต่ไม่ใช่เงื่อนไขในการต่อสัญญาจ้าง เพียงแต่ครู กศน.ที่ไม่มีวุฒิครูจะไม่มีสิทธิสอบเป็นข้าราชการครู ( ครูผู้ช่วย )
             ควรรีบหารือ กจ.กศน.ว่านโยบายเป็นอย่างไร เราควรทำอย่างไร ส่วนกลางควรทำความเข้าใจกับจังหวัดอย่างไรหรือไม่

             โดยเฉพาะ หลังจากที่ส่วนกลาง กศน. ทำหนังสือถึงคุรุสภา ขอให้คุรุสภาออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน แต่ระบุคุณสมบัติของผู้ที่เป็นครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน ว่า "จบ ป.ตรีที่ไม่จำเป็นต้อง ป.ตรีทางการศึกษา" ประกอบกับไม่ได้เน้นว่าครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนต้องสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน
             คุรุสภาจึงตอบกลับมาว่า ครู กศน.( ยกเว้นข้าราชการครู ) สอนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และต่อไปนี้ไม่ต้องมี/ไม่ต้องขอ "หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" อีกแล้ว
             เมื่อ ต่อไปนี้ครู กศน.สอนได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และไม่ต้องขอ "หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ครูที่ยังไม่มีหนังสืออนุญาตฯ หรือหนังสืออนุญาตหมดอายุ ก็ไม่มีสิทธิ์เรียน ป.บัณฑิต  ปัจจุบันถ้าไม่ได้เรียน ป.บัณฑิต และไม่ได้จบปริญญาทางการศึกษา ก็ไม่ได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูแล้ว
             ( คุณสรสิช ครู กศน.ตำบล กศน.อ.ชนแดน บอกผมทางไลน์ว่า “เมื่อต้นเดือน มี.ค.62 พาแฟนซึ่งเป็น ครู ศรช.ไปขอต่ออายุใบขออนุญาตสอนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ที่คุรุสภา แต่เจ้าหน้าที่คุรุสภา ยื่นสำเนาเอกสารที่ตอบเรื่องครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนให้ดู และบอกว่า ครู กศน.ไม่ต้องขอแล้ว เพราะสอนได้ไม่ผิด” )
             แล้วจะทำยังไงล่ะที่นี้ ถ้าหนังสืออนุญาตหมดอายุไปแล้วโดยยังไม่ได้เริ่มเรียน ป.บัณฑิต จะมีวุฒิครูได้ยังไง จะให้ลาออกหรือ !?



            ปัญหาที่ตามมา คือ
             - ครู กศน.ที่ไม่มีวุฒิครู(ปริญญาทางการศึกษา)และยังไม่ได้เรียน ป.บัณฑิต ไม่มีสิทธิสมัครสอบเป็นข้าราชการครู(ครูผู้ช่วย)
               ซึ่งการจะสมัครเรียน ป.บัณฑิต หลักสูตรที่คุรุสภารับรอง ต้องมี "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" ที่ยังไม่หมดอายุ
เมื่อคุรุสภาไม่ให้ขอ/ไม่ให้ต่ออายุ "หนังสืออนุญาตฯ" นี้แล้ว ผู้ที่ไม่มีวุฒิครูและยังไม่ได้เริ่มเรียน ป.บัณฑิต โดยยังไม่ได้ขอหนังสืออนุญาตนี้หรือเคยขอได้แต่หมดอายุแล้ว ก็หมดสิทธิสมัครเรียน ส่งผลให้หมดสิทธิสมัครสอบเป็นข้าราชการครู
             - การเรียน ป.บัณฑิต ช่วยให้มีความรู้ความสามารถในการจัด กศ.ขั้นพื้นฐาน เพิ่มขึ้น  เมื่อไม่มีสิทธิเรียนก็ขาดโอกาสนี้
               จริงๆแล้วเจตนารมณ์ของ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ว่าไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น หมายถึงศูนย์การเรียนที่ไม่ได้จัด กศ.ขั้นพื้นฐาน (ไม่ได้ให้วุฒิประถม-ม.ปลาย)

             อย่างไรก็ตาม คุรุสภาตอบว่า ตำแหน่งที่ กศน.ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีปริญญาทางการศึกษา ก็สอนได้โดยไม่ต้องขอ  ฉะนั้น ถ้าเป็นตำแหน่งที่ กศน.กำหนดว่าต้องมีปริญญาทางการศึกษา ก็อาจจะยังขอได้ )

 
             7. เช้าวันที่ 21 มิ.ย.62 มีผู้ถามในไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. ว่า  ครูผู้ช่วย เข้าอบรม(พัฒนาก่อนแต่งตั้งให้มีวิทยฐานะ)ด้วย ไหมคะ

             ผมตอบว่า   ครูผู้ช่วย ให้พัฒนาอย่างเข้ม 2 ปี ยังไม่ต้องอบรมพัฒนาก่อนมีวิทยฐานะ

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2562

1.เขตพื้นที่ฯ/ร.ร. ไม่ยอมส่งตัวมาเรียน กศน., 2.คำนำหน้าชื่อที่เป็นยศ ในโปรแกรม ITw ม.ต้น กับ ม.ปลาย ไม่เหมือนกัน ?!, 3.ใช้วุฒิ ป.6 จากต่างประเทศ มาสมัครเรียน ม.ต้น ทำอย่างไร, 4.เทียบวุฒิเปรียญธรรม 5 ประโยค ที่ไหน, 5.วุฒิเดิมสมัยก่อน เทียบระดับใด ดูในคู่มือหน้า 121, 6.เงินอุดหนุนค่าจัดการเรียนการสอน ใช้จัดกิจกรรมค่ายลูกเสือยุวกาชาดได้ไหม, 7.โรงเรียนจะส่งเด็ก 10 ขวบ มาเรียน กศน.


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันหยุดชดเชย 20 พ.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เด็กอายุไม่ถึง 15 ปี ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้ปกครอง เพื่อจะเข้ามาเรียน กศน.ใช่ไหม
             ผมตอบว่า   ตามหนังสือราชการที่แจ้งมา ใช้หนังสือรับรองจากผู้ปกครองไม่ได้ ถ้าอายุยังไม่เต็ม 15 ปีบริบูรณ์ และยังไม่จบ ม.ต้น ต้องมีหนังสือส่งตัวมาจากเขตพื้นที่การศึกษา  เขตพื้นที่ฯเขาจะพิจารณาเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเรียน กศน.
             ผู้ถาม บอกต่อ ว่า  เขตไม่ยอมออกให้.. รร ก็ไม่ยอมทำหนังสือส่งตัวมาให้
             ผมตอบว่า  ถ้าผู้เรียน/ผู้ปกครอง มีเหตุผลที่ต้องเรียน กศน. ให้เขาหารือ กศจ. หรือรอจนกว่าจะอายุเต็ม 15 ปีบริบูรณ์ จะสามารถมาเรียน กศน.ได้โดยไม่ต้องมีหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่ฯ
             ( ถึงแม้จะอายุ 15 ปีบริบูรณ์ แต่ถ้าโรงเรียนเดิมไม่ออกใบวุฒิประถมให้ ก็ให้เขาแจ้ง กศจ. หรือมาเริ่มเรียน กศน.ใหม่ตั้งแต่ระดับประถม )

         2. วันที่ 17 พ.ค.62 มีผู้ถามผมในไลน์กลุ่ม ส.การศึกษาตลอดชีวิต ว่า  จนท.itกศน.อำเภอเขาปริ๊นท์กศน.2ตรงช่องชื่อบิดาปรากฎว่าของม.ต้นคนทีมียศดาบตำรวจ ใช้ ด.ต. ส่วนม.ปลาย เปีนนายดาบตำรวจ เขาถามว่าจะใช้อะไรกันแน่ ถ้าคำเต็มเป็นดาบตำรวจ ไม่มีคำว่านายใช่หรือไม่
             ผมตอบว่า   ยศ ด.ต.นั้น ช่วงก่อนที่ พ.ร.บ.ตำรวจ 2547 จะมีผลบังคับใช้ จะอ่านว่า "นายดาบตำรวจ" ( มีคำว่า "นาย" ) แต่พอ พ.ร.บ.นี้ประกาศใช้แล้วตัดคำว่า "นาย" ออกเหลือเพียงคำว่า "ดาบตำรวจ" เท่านั้น
             แต่ ปกติชื่อบิดามารดา เราจะยึดตามทะเบียนบ้านที่เขานำมาเป็นหลักฐานสมัครเรียน ไม่สนใจว่าชื่อในทะเบียนบ้านเขาจะผิดหรือถูก ถ้าไม่มีใบเปลี่ยนชื่อมาแนบด้วยก็ยึดตามทะเบียนบ้าน  ถ้าในทะเบียนบ้านไม่ใส่ยศ เราก็ไม่ใส่ ถ้าในทะเบียนบ้านมียศก็ใส่ให้เหมือนในทะเบียนบ้าน ถ้าเขาย่อก็ย่อตาม  ถ้าในตัวเลือกของโปรแกรม ITw ไม่มีเหมือนในทะเบียนบ้านก็พิมพ์ตัวเลือกเพิ่มเข้าไป หรือแก้ไขตัวเลือกในโปรแกรม ITw ได้

         3. วันที่ 23 พ.ค.62 มีผู้ถามทางไลน์ ( ถามทางไลน์ส่วนตัวก่อน แล้วผมบอกให้ถามทางไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. จะได้แลกปลี่ยนพร้อมกันหลายคน ) ว่า  ถ้ามีนร.จบป.6จากต่างประเทศและจะเข้าเรียนกศน.ในระดับม.ต้น จะต้องทำอย่างไรบ้างคะ (วุฒิเป็นวุฒิจากต่างประเทศ)ยังไม่ได้แปล
             ผมตอบว่า   ถ้าจะใช้วุฒิต่างประเทศเป็น “วุฒิเดิม” เพื่อสมัครเรียนระดับสูงขึ้น ( ไม่ใช่ใช้เทียบโอน ) นี้ เดิมต้องไปเทียบวุฒิที่ สพฐ.ก่อน แต่ ตอนนี้ สพฐ.ไม่รับเทียบวุฒิระดับประถมแล้ว จึงไม่ได้แล้ว
             ต้องเรียนระดับประถมใหม่ และให้เขานำใบจบ ป.6 จากต่างประเทศนั้นไปให้สถาบันการแปล แปลโดยประทับตราสถาบันรับรองมาด้วย นำมาให้คณะกรรมการเทียบโอนของสถานศึกษาพิจารณาเทียบโอนเป็นบางวิชาในระดับประถม เพื่อจะได้เรียนระดับประถมจบเร็วขึ้น

         4. วันที่ 23 พ.ค.62 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เอาวุฒิ ปธ.๕ ไปเทียบ ม.ปลายได้ที่ไหน
             ผมตอบว่า   เดิมไปเทียบที่กรมวิชาการ แต่ปัจจุบันไม่มีกรมวิชาการแล้ว ให้ลองติดต่อที่ สพฐ.ส่วนกลาง ( ในกระทรวงศึกษาธิการ )

         5. วันที่ 27 พ.ค.62 มีผู้ถามผมในไลน์สแควร์ กศน. ที่ห้องแชต ข่าวสารครูเอกชัย ว่า  สอบไล่ได้ตามหลักสูตรประโยคประถมศึกษาตอนต้น จบปี พ.ศ.2520 เทียบได้กับวุฒิอะไร
             ผมตอบว่า   เรื่องแบบนี้ ควรถามในห้องแชต "กศน." เลยนะ จะได้แลกเปลี่ยนพร้อมกันหลายคน
             และผมตอบต่อ ว่า  ให้ดูในคู่มือการดำเนินงานฯ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555 ปกสีเลือดหมู หน้า 121 จะเห็นว่า ประโยคประถมศึกษาตอนต้น (จบระหว่าง 2507-2524) คือ ป.4
             (ให้สมัครเรียนระดับประถม แล้วเทียบโอนได้ 24 หน่วยกิต)

         6. เย็นวันที่ 30 พ.ค.62 มีผู้ถามในไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. ว่า  เราสามารถใช้ งบอุดหนุน ค่าจัดการเรียนการสอน จัดกิจกรรมค่ายลุกเสือหรืออาสายุวกาชาดได้ไหมคะ
             (มีผู้ตอบก่อนผม 2 คน ว่า ส่วนใหญ่ใช้งบกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผูเรียนนะครับ, ได้ค่ะ)
             ผมร่วมตอบ ว่า  เงินอุดหนุน เบิกจ่ายได้ 15 ข้อ ตามคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 605/59 ( เฉพาะข้อ 15 ต้องพิจารณาโดยส่วนกลาง )
             สถานศึกษาส่วนใหญ่ใช้ค่าจัดการเรียนการสอน ซื้อวัสดุอุปกรณ์/สื่อ ตามข้อ 11
             แต่สามารถใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เสริมหลักสูตรตามข้อ 8 ได้เช่นเดียวกับงบกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนซึ่งก็เป็นเงินอุดหนุนเช่นกันนี่แหละ
             โดยเฉพาะหลักสูตรสถานศึกษามีวิชาลูกเสือ การจัดกิจกรรมค่ายลูกเสือสำหรับนักศึกษาก็ชัดเจนว่า เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสริมหลักสูตร

         7. คืนวันที่ 29 พ.ค.62 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊กผม ว่า  ขอปรึกษานะคะ วันนี้รับโทรศัพท์ ผอ โรงเรียนในระบบแ่่งหนี่งในจังหวัดจะให้เรารับเด็ก อายุแค่ 10 ขวบ มาเรียน กศน
             ผมตอบว่า  เขาบอกเหตุผลว่าอย่างไรหรือ ?
             อายุ 10 ขวบ อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับ ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นที่เรียนโรงเรียนในระบบไม่ได้ โรงเรียนควรแนะนำให้ผู้ปกครองไปติดต่อเขตพื้นที่การศึกษา ให้เขตพื้นที่การศึกษาพิจารณาทำหนังสือส่งตัวเด็กมาเรียน กศน.
             ผู้ถาม บอกว่า  เด็กสมาธิสั้น และเรียนซ้ำชั้นมาสองปีแล้วค่ะอาจารย์
             ผมตอบว่า  อืม.. ก็ควรให้ผู้ปกครองและเขตพื้นที่การศึกษาฯร่วมพิจารณาด้วยว่า เหตุผลนี้ควรแก้ปัญหาอย่างไร
             แล้วถ้าเขตพื้นที่การศึกษาฯส่งตัวมาสมัครเรียน กศน. เราจะจัดการศึกษาอย่างไร หรือว่าเราทำให้ดีที่สุดได้แค่ไหนเอาแค่นั้น
             ( ถ้าเขตพื้นที่การศึกษา+ผู้ปกครอง+โรงเรียน พิจารณาเห็นว่าในพื้นที่นั้นไม่มีที่อื่นดีกว่า กศน. แล้วทำหนังสือส่งตัวมาเรียน กศน. เราก็คงไม่รับไม่ได้
             ผมเข้าใจว่าสมาธิสั้น เข้าข่ายเป็นความพิการอย่างหนึ่ง ซึ่ง กศน.กำหนดว่า “คนพิการประเภทที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา-ทางการเรียนรู้-ทางการพูดและภาษา-ทางพฤติกรรมหรืออารมณ์-บุคคลออทิสติก-พิการซ้อน  จำนวนไม่ต่ำ 5 คน แต่ไม่เกิน 8 คน ให้ใช้เงินอุดหนุนจ้างครูผู้สอนคนพิการโดยเฉพาะได้ 1 คน )