วันเสาร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2566

1.เกณฑ์ข้าราชการครูขอย้าย เหลือ 2 ปีแล้วใช่ไหม, 2.การพิมพ์ตำแหน่งของครูที่รักษาการ ผอ. ลงในใบ รบ. พิมพ์ย่อหรือเต็ม, 3.ใช้เงินอุดหนุนจัดอบรมลูกเสือ ซื้อลำโพงได้ไหม, 4.การจ้างครู ติดอากรแสตมป์หรือตีตราสาร, 5.มีอัตราตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา กศน.ไหม, 6.หลักสูตร 2544, 2551 ออกเลขที่ประกาศนียบัตรอย่างไร, 7.จบเปรียญธรรม 5 ประโยค เรียนมหาจุฬาฯจนจบ เขาบอกให้หาวุฒิ ม.6 มาแจ้งจบ

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 8 พ.ย.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เนื่องด้วยเกณฑ์การย้ายของข้าราชการครู ที่กคศ.กำหนดใหม่ ให้ยกเลิกเกณฑ์4ปี เหลือ2ปี  ครูที่สอบบรรจุ กรณีพิเศษ ของสำนักงานกศน. ปี63 พ้นการพัฒนาอย่างเข้มแล้ว สามารถเขียนย้านในเดือน ม.ค.66 นี้ได้มั้ย

             ผมตอบว่า   ว18/2565 นี้ ครูที่สอบบรรจุกรณีพิเศษ ( สอบคัดเลือกจากบุคลากรภายในสังกัดที่สอนครบ 3 ปี ) ไม่ได้ลดอายุงานเหลือ 2 ปีนะ กลุ่มกรณีนี้ยังเป็นไปตามกำหนดเดิมที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครสอบบรรจุนั้น  แต่ถ้าเป็นสอบบรรจุที่รับบุคลลทั่วไปทั้งบุคลากรภายในและคนทั่วไปสมัครสอบบรรจุได้ จึงลดอายุงานเหลือ 2 ปียื่นขอย้ายได้ เริ่มใช้เกณฑ์ใหม่ให้ขอย้ายตั้งแต่ ม.ค.2566

         2. วันเสาร์ที่ 12 พ.ย.65 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  ในกรณีไม่มีผู้บริหาร และมี ขรก.ครูรักษาการฯ  ในใบ รบ.ตำแหน่งผู้บริหารต้องพิมม์ว่า  ครู  รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ......หรือใส่คำว่าผู้บริหารสถานศึกษา  (ใส่รักษาการจะยาวมาก)

             ผมตอบว่า   ถ้าจะให้ถูกต้อง พิมพ์ว่า "ครู รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอ....." ( คำว่า "กศน." พิมพ์คำย่อก็ได้ คำเต็มก็ได้ ส่วนวิทยฐานะ เช่นคำว่า ชำนาญการพิเศษ จะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ไม่ผิด ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ )
             การพิมพ์ชื่อตำแหน่งในใบ รบ. ด้วยโปรแกรม ITw สามารถพิมพ์ตำแหน่งได้ยาว 2 บรรทัด ตามตัวอย่างใน 2 ภาพประกอบนี้



 

         3. เช้าวันที่ 24 พ.ย.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เราจัดกิจกรรมอบรมลูกเสือระดับชั้นbtc.ให้คุณครู แต่เราขาดพวกลำโพง เคลื่อนที่ หรือแบบสะพาย เราสามารถ ซื้อผ่านโครงการได้มั้ย เนื่องจากการเช่า ไม่เหมาะสมกับกิจกรรม การอบรมลูกเสือ มีฐานการเรียนรู้หลายฐาน ถ้าเช่าทุกฐานคงไม่ไหว และมีกิจกรรมเดินทางไกล ซึ่งแบ่งและแยกเดินเป็นหมู่ๆ คงไม่มีใครลากล้อลำโพง หรือเช่ารถลำโพงขับตามได้ เลยมีข้อสงสัยว่าเราสามารถจัดซื้อได้ตามหนังสือ ว119ของคณะกรรมการวินัจฉัย กระทรวงการคลัง /และกรอบการใช้เงินอุดหนุนปี63 ได้มั้ย

             ผมตอบว่า  
             1)  พัสดุที่ไม่มีชื่ออยู่ในรายการครุภัณฑ์ และเมื่อชำรุดเสียหายไม่สามารถซ่อมแซมได้หรือไม่คุ้มค่าในการซ่อมแซม จะไม่ถือเป็นครุภัณฑ์ แต่ เครื่องขยายเสียงและลำโพงมีชื่ออยู่ในรายการครุภัณฑ์ไฟฟ้าและวิทยุ และเมื่อชำรุดเสียหายก็สามารถซ่อมแซมได้เพราะมีร้านรับซ่อมลำโพง ลำโพงจึงเป็นครุภัณฑ์
             2)  หนังสือ ว119 นั้น คือ ซื้อก่อนแล้วทำเรื่องจัดซื้อจัดจ้างตามหลัง ใช้ในกรณีวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท แต่ดูรายการตามตาราง 1-2 ที่แนบหนังสือ ว119 ก็ไม่เห็นมีรายการครุภัณฑ์
             3)  จะใช้เงินอุดหนุนรายหัว จัดอบรมลูกเสือให้ครูใช่ไหม ในหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน กศน.ปี 63
                  - ข้อ 4 ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ไม่รวมค่าครุภัณฑ์
                  - ข้อ 12.2 ค่าใช้จ่ายจัดกิจกรรมกีฬา กศน. ก็มีแต่ค่าเช่าอุกรณ์เครื่องเสียง ไม่มีค่าซื้อ
                  - ข้อ 12.3 ค่าใช้จ่ายจัดกิจกรรมลูกเสือ อาสายุวกาชาด ( หมายถึงจัดกิจกรรมให้นักศึกษา ไม่ใช่จัดกิจกรรมให้ครู ) ก็มีแต่ค่าเครื่องแบบ
             4)  ลองเสนอจัดซื้อจัดจ้างไปยัง สนง.กศน.จังหวัดก็ได้ ถ้าจังหวัดอนุมัติ จังหวัดก็จะร่วมรับผิดชอบ

         4. คืนวันที่ 7 ธ.ค.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  การจ้างครูต่างประเทศ หนูดูในเพจของอาจารย์บอกว่าติดอากรแสตมป์ แต่ในเพจกฎหมายให้ตีตราสาร หนูรบกวนขอความรู้อาจารย์ค่ะเพื่อจะได้ปฏิบัติได้ถูก

             ผมตอบว่า   "สัญญาจ้าง" เป็น "ตราสาร" ชนิดหนึ่ง
             ส่วนคำว่า "ตีตราสาร หรือ การตราสาร" คือ
ชำระเป็นเงินที่สำนักงานสรรพากร แทนการซื้ออากรสแตมป์มาติด ซึ่งสำนักงานสรรพากรจะ "สลักหลังตราสาร" ( สลักหลังสัญญาจ้าง ) เป็นหลักฐานว่าชำระค่าภาษีอากรแทนการซื้ออากรแสตมป์แล้ว

             กรณีค่าจ้างตลอดระยะเวลาจ้างตามสัญญาจ้าง รวมตั้งแต่ 200,000 บาทขึ้นไป ให้นำสัญญาไปสลักหลังตราสารเพื่อชำระค่าอากรแทนการปิดอากรแสตมป์ ที่สำนักงานสรรพากร

              ( ในเพจผม ไม่ได้กล่าวถึงการจ้างถึง 2 แสนบาท เพราะ กศน.จ้างเดือนละ 15,000 บาท ครั้งละไม่เกิน 12 เดือน รวมไม่ถึง 2 แสนบาท )

         5. เช้าวันที่ 29 ธ.ค.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัด สนง กศน มีอัตรา ต่ำแหน่งไหม ถ้ามี อยู่ในส่วนไหน

             ผมตอบว่า   มีตำแหน่งและอัตราเงินเดือนที่ สถานศึกษาขึ้นตรง เช่น สถาบัน กศน.ภาค, สทก., สธ., ศฝช., ศว.,
              ( เคยมีการกำหนดไว้ในโครงสร้างกรอบอัตรากำลังของ กศน.เขต/อำเภอ ขนาดเล็กถึงใหญ่พิเศษ แต่ยังไม่มีอัตราเงินเดือน)

         6. คืนวันที่ 10 ม.ค.66 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ใบประกาศนียบัตร หลักสูตร 51 ในส่วนของเลขที่ ให้ระบุเป็นลำดับที่ หรือรหัสนักศึกษาค่ะ ในคู่มือบอกให้ระบุเป็นลำดับที่ แต่ในหนังสือ หน้าที่ 181 ให้ระบุเป็นรหัสนักศึกษาหลักสูตร 2531 2530 2533 แล้วหลักสูตร 51 ละค่ะ ออกได้ทั้งที่เป็นเลขลำดับที่ใบประกาศที่จองไว้ในระบบ /รหัสนักศึกษาใช่ไหมค่ะ

             ผมตอบว่า   เลขที่ประกาศนียบัตร

             1) ในหนังสือ(คู่มือการดำเนินงาน) หน้าที่ 181 ให้ออกเลขที่ประกาศนียบัตรสำหรับหลักสูตร 2530 2533 ด้วยเลขรหัสประจำตัวนักศึกษา ซึ่งเป็นไปตาม คำอธิบายการกรอกประกาศนียบัตรท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการออกประกาศนียบัตร พ.ศ.2524
             2) ต่อมา พ.ศ. 2539 ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการออกประกาศนียบัตร พ.ศ.2539 ได้ยกเลิกระเบียบปี พ.ศ.2524 โดยคำอธิบายการกรอกประกาศนียบัตรท้ายระเบียบปี 2539 กำหนดว่า "เลขที่ ให้เขียนเฉพาะเลขลำดับที่ โดยไม่ต้องใส่เลข 0 นำหน้า และไม่ต้องลง พ.ศ.กำกับ เช่น ๑ ๒ ๓ ..."
             3) ฉะนั้น หลักสูตร 2544 (ประกาศนียบัตรคือ ปพ.2) และหลักสูตร 2551 ( ประกาศนียบัตรคือ กศน.2 ) ที่ถูกต้อง เลขที่ก็เป็นเลขลำดับที่ ๑ ๒ ๓ ...
             4) สำหรับหลักสูตร กศน.2551 ให้ดูในคู่มือการดำเนินงาน หน้า 179 ข้อ 4.8 ระบุว่า "เลขที่ประกาศนียบัตร ... ... ให้ระบุเลข ๑ ใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการอนุมัติการสอบ
                 และหน้า 171 เป็นคำอธิบายท้ายระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการออกประกาศนียบัตร พ.ศ.2539 ข้อ 2.4.1 ระบุว่า เขียนหรือพิมพ์เฉพาะเลขลำดับ ไม่ต้องลง พ.ศ.กำกับ)
                 ( การออกเลขที่ประกาศนียบัตรหลักสูตร 2551 ในโปรแกรม ITw คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw บอกว่า ให้คีย์เลขที่ประกาศนียบัตรในเมนู 1-5 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - แก้ไขข้อมูลการจบ/ออก )

         7. คืนวันที่ 12 ม.ค.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  อาตมาจบเอาประโยค5ไปสมัครเรียนมหาจุฬา ตอนนี้กำลังแจ้งจบ แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าแจ้งจบไม่ได้ ต้องไปหาวุฒิม.6มาแจ้งจบ เจ้าหน้าที่บอกว่าทางมหาลัยไม่ได้สอนวิชาสามัญเพิ่มให้ จึงสอบถามว่าเราจะสามารถเทียบโอนวุฒิได้ไหมครับ

             ผมตอบว่า   การเทียบวุฒิทางธรรม กับวุฒิ ม.ปลาย(ม.6) นั้น
             ถ้าเป็น พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับใหม่ 2562 แค่เปรียญธรรม 3 ประโยค ก็เทียบเท่า ม.ปลาย(ม.6) แล้ว แต่ต้องเรียนตาม พรบ.ใหม่นี้ คือจะต้องเรียนวิชาสามัญเพิ่มเติม
             เมื่อท่านไม่ได้เรียนตาม พรบ.ใหม่ ท่านต้องเทียบวุฒิแบบเดิมตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการฉบับลงวันที่ 22 ส.ค.2526 ( ตามภาพประกอบ ) คือ ปธ.5 จะเทียบเท่า ม.ปลาย ต้องได้รับแต่งตั้งให้สอนวิชาพระปริยัติธรรมในโรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่น้อยกว่า 1 ปี และทำการสอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ชั่วโมง  และไปขอเทียบเป็นวุฒิ ม.ปลาย ที่ สำนักทดสอบทางการศึกษา อาคาร สพฐ.4 ชั้น 1 กระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนินนอก เขตดุสิต กรุงเทพฯ  ( ตอนช่วงโควิดระบาดหนักเขาให้ขอเทียบฯทางไปรษณีย์ได้ แต่ตอนนี้คงต้องไปเอง ถ้าจะให้แน่ใจ โทร.ถามที่ 02 288 5789-92 )
             ถ้าท่านไม่เข้าหลักเกณฑ์และ สำนักทดสอบทางการศึกษา สพฐ. ไม่เทียบวุฒิ ม.ปลายให้ ก็ไม่ถือว่าท่านจบ ม.ปลาย ท่านก็ไม่มีวุฒิ ม.6 ไปแจ้งจบครับ