วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

1.ออกจากประกันสังคม ( ออกจากพนักงานราชการ ) เพราะสอบบรรจุได้ จะได้เงินอะไรจากประกันสังคม, 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถ้ารอหมดอายุแล้วจึงต่อ จะถูกปรับ 200 บาท/เดือน, 3.คำนวณเกรดการเทียบโอนฯได้ 2.25 ควรให้เกรด 2 หรือ 2.5, 4.ใบประกาศนียบัตรหมด ต้องดำเนินการอย่างไร, 5.ให้ข้าราชการใน ค่ายทหาร/เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่มได้ไหม, 6.เรื่องปกติของ กศน. แต่เขารับไม่ได้, 7.เรียนผ่านทุกวิชาแล้ว ขาดแต่สอบ N-NET กับ กพช. ต้องลงทะเบียนอย่างไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1.
คืนวันที่ 9 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             “ ฉันได้ข้อมูลจากการเข้าอบรมเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับพนักงานราชการชึ่ง ผอ.กจ.และ อ.จักราวุธ เป็นวิทยากร ให้กับครู กศน.จังหวัดร้อยเอ็ด และฉันได้โทรปรึกษากับ อ.จักราวุธ อาจารย์ก็แนะนำในเรื่องการขอเงินจากกองทุนประกันสังคม ในกรณีที่ลาออกจากประกันสังคมเนื่องจากสอบได้ครูผู้ช่วย เราสามารถขอเงินกองทุนประกันสังคม ในส่วนที่เราจ่าย 5 เปอร์เช็นแต่ละเดือน จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.กองทุนประกันสังคม 2.กองทุนส่วนการรักษาพยาบาล 3.กองทุนสำหรับการว่างงาน. และเราสามารถขอส่วนที่เป็นกองทุนในส่วนที่เราไม่ได้ใช้จาก ส่วนที่เป็นการรักษาพยาบาล ที่เราไม่ได้ใช้บริการในแต่ละป ถ้าไม่ได้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลเราก็สามารถขอ ในส่วนนี้คืนได้ในกรณีที่ลาออก และเมื่อสถานะการประกันลาออกจากประกันสังคมให้ขอโค๊ตการจ่ายเงินสมทบเดือนสุดท้ายและเดือนแรกเพื่อจะดำเนินการขอเงินส่วนนี้ผ่านทางเว็ปไชต์
                แต่ภายหลังฉันไม่สามารถติดต่อ อ.จักราวุธ ได้. ฉันจึงปรึกษาขอคำแนะนำจากอาจารย์อีกทาง ว่าข้อมูลที่ฉันได้มาเป็นจริงหรือไม่ เพื่อดำเนินการต่อไป ”

             ผมตอบว่า   อาจจะฟังผิด.. ขอคืนค่ารักษาพยาบาลไม่ได้หรอกครับ เพราะสำนักงานประกันสังคมเขาจ่ายเงินเหมาจ่ายส่วนของเราให้โรงพยาบาลไปทุกปีแล้ว บางคนใช้เกินบางคนใช้ไม่หมด ถ้าคืนคนที่ใช้ไม่หมด แล้วคนที่ใช้เกินจะเอาที่ไหนมาล่ะ
             สิ่งที่จะได้ตามเกณฑ์คือ ส่วนของเงินออมกรณีชราภาพ กับเงินกรณีว่างงาน  ดูที่ผมเคยอธิบายเรื่องนี้ในข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/02/blog-post.html
             ในส่วนของสิทธิประโยชน์ “กรณีว่างงาน” ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนติดต่อกัน และอายุไม่เกิน 55 ปี จะได้รับสิทธินี้ แต่ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับจากวันลาออก นะ ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานนะ แล้วมาเบิกที่ สนง.ประกันสังคม ไม่ใช่ขึ้นทะเบียนกับ สนง.ประกันสังคม
             ซึ่งจะได้เงิน 30 % ของค่าจ้างจริง ( แต่ถ้าค่าจ้างเกินเดือนละ 15,000 บาท ให้คิดค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท คือจะได้เงินไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท ) เป็นเวลา 90 วัน ( 3 เดือน ) รวมจะได้ไม่เกิน 13,500 บาท โดยต้องรายงานตัวเป็นผู้ว่างงานทุกเดือน
             ถ้าขึ้นทะเบียนหลัง 30 วัน นับจากวันลาออก จะได้รับเงินลดลงตามวันทั้งหมดนับจากวันลาออกถึงวันขึ้นทะเบียน เช่น ถ้าขึ้นทะเบียนวันที่ 27 นับจากวันลาออก จะได้รับสิทธิเต็ม 90 วัน แต่ถ้าขึ้นทะเบียนวันที่ 32 นับจากวันลาออก จะถูกตัดสิทธิไป 31 วันเลย เหลือได้รับเงินเพียง 59 วัน และถ้าขึ้นทะเบียนช้าเกิน 3 เดือน ก็จะไม่ได้รับเงินนี้เลย แต่เกินแล้วจะขึ้นทะเบียนก็ได้ เพื่อให้สำนักงานจัดหางานเขาจัดหางานใหม่ให้เท่านั้น
             ลองขึ้นทะเบียนทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ที่  https://empui.doe.go.th/auth/index  ก็ได้
             แม้การออกจากงานเพราะหมดสัญญาแล้วไม่จ้างต่อ ก็ได้รับสิทธินี้ ยกเว้นถูกเลิกจ้างกรณีทำความผิดต่าง ๆ จึงจะไม่ได้รับสิทธินี้

             เรื่องเงินกรณีว่างงานนี้ มีข้อมูลแตกต่างกัน คือ ท่านประกันสังคมจังหวัดท่านหนึ่งบอกว่า “ถ้าสำนักงานประกันสังคมรู้ว่าออกแล้วมีงานทำใหม่ จะไม่จ่ายให้”
             แต่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ยืนยันว่า จ่ายให้ 90 วัน แม้จะถามย้ำว่า ออกจากประกันสังคมแล้วเป็นข้าราชการต่อทันทีนะ ก็ยังยืนยันว่าจ่ายให้ 90 วัน

         2. เดือนมิถุนายน 2562 จะเป็นอีกรอบหนึ่งที่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา หมดอายุมากที่สุด
             ดังนั้น ลองดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู/ผู้บริหาร ของตนเอง ว่าจะหมดอายุเมื่อไร ถ้าจะหมดอายุในเดือนมิถุนายน 2562
             "เดือนหน้า" ธันวาคม 2561 ก็เริ่มต่ออายุได้แล้วนะ
             เพราะต้องต่ออายุภายใน 180 วัน ก่อนวันหมดอายุ ถ้ารอให้หมดอายุแล้วจึงต่อ จะเสียค่าปรับเดือนละ 200 บาท เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน และถ้าปล่อยให้หมดอายุครบ 5 ปี จะต่ออายุไม่ได้เลย
             ตอนนี้เจ้าหน้าที่คุรุสภาจังหวัดย้ายไปอยู่ที่ สนง.ศธจ. แล้ว ไปต่ออายุที่ สนง.ศธจ.





         3. เย็นวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอความรู้เกี่ยวกับการเทียบโอนหน่อย ถ้าฉันคำนวณแล้วได้ผล 2.25 เราควรให้นักเรียนเกรด 2 หรือ  2.5

และถ้าคำนวณได้ 2.75 เราควรให้เกรด 2.5 หรือ 3

             ผมตอบว่า   เกรดของ “แต่ละวิชา” ของเรา ให้ปัดเศษตามหลักคณิตศาสตร์ ให้ทศนิยมเป็น .00 หรือ .50 เพราะเกรดรายวิชาจะต้องมีทศนิยมเป็น .00 หรือ .50  โดย ถ้าใกล้เลขต่ำให้ปัดลง ถ้าใกล้เลขสูงหรือใกล้เท่ากันให้ปัดขึ้น 
             ( ส่วน ระดับผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตร จะมีทศนิยมสองตำแหน่งเป็นเท่าไรก็ได้ ตัดตำแหน่งที่สามทิ้งเลย ไม่ปัด )
             กรณีที่ถามนี้ 2.25 ใกล้ทั้ง 2.00 และใกล้ 2.50 เท่ากัน ให้ปัดขึ้นเป็น 2.50, ถ้า 2.24 ปัดลงเป็น 2.00, ถ้า 2.75 ปัดขึ้นเป็น 3.00
             ( ถ้าสนใจไฟล์ PowerPoint ที่ผมทำไปประกอบการบรรยายเรื่องการเทียบโอนฯ ตั้งแต่ปี 2557  ดาวน์โหลดได้ที่
                https://drive.google.com/file/d/1Wz94AeyF2vWVY5e7GgB-REs5Eked06dR/view?usp=sharing )






         4. วันเดียวกัน ( 11 พ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เนื่องจากใบประกาศนียบัตร (กศน.2) ระดับ ม.ปลาย ของ กศน.อำเภอ หมด ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

             ผมตอบว่า   ประกาศนียบัตร ( กศน.2 ) เป็นหลักฐานการศึกษาควบคุมและบังคับแบบ เช่นเดียวกับ ระเบียนแสดงผลการเรียน ( กศน.1 ) จึงดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ กศน.อำเภอ ทำหนังสือไป กศน.จังหวัด ขอให้ กศน.จังหวัดดำเนินการสั่งซื้อให้
             เป็นไปตามหนังสือแจ้งในภาพประกอบโพสต์นี้ ( หนังสือนี้ได้มาจากคุณ KRUSURAPEE-Jam )






         5. วันนี้ ( 12 พ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า 
             “ กรณีกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่นในค่ายทหาร ในเรือนจำ ในสถานพินิจ ทางกศนอำเภอมีสิทธิ์จ้างครูประจำกลุ่ม ที่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นข้าราชการ ประจำหน่วยงานนั้นๆได้หรือเปล่า
                ถ้าได้ มีระเบียบหรือคำสั่งตัวไหนที่รองรับหรือเปล่า
                ( เนื่องจาก การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ จาก เจ้าหน้าที่ ประจำหน่วยงานนั้นๆ ) ”

             เรื่องนี้   เพื่อความมั่นใจ ผมนำคำถามไปให้สมาชิกกลุ่มไลน์ ITw NFE ช่วยกันให้ข้อมูลด้วย แล้วผมจึงตอบว่า
             กศน.จังหวัด สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการในหน่วยทหาร เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่มได้  เพราะไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ห้าม ผู้ที่บอกว่าไม่ได้ เขาอาศัยระเบียบหลักเกณฑ์ใด  เข้าใจว่าปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการในหน่วยทหาร เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่ม มีเพียงส่วนน้อยที่แต่งตั้งคนนอกเข้าไปเป็นครูประจำกลุ่ม
             ใน “คู่มือการจัด กศ.ตามหลักสูตร กศน.51 สำหรับเด็กและเยาวชนในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน” ( คู่มือนี้ออกเมื่อปี 2560 ) หน้า 4 ก็ระบุว่า กศน.แต่งตั้งครูประจำกลุ่มจาก ครูสามัญหรือครูวิชาชีพหรือบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมาย ของกรมพินิจฯ
             ( ในหน่วยทหาร/เรือนจำ ก็ลักษณะเดียวกัน )

         6. เย็นวันที่ 13 พ.ย.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันทำงานอยู่ กศน. แล้วเรียนต่อ ป.บัณฑิต แล้วทีนี้เวลาฝึกสอน ฉันสามารถฝึกสอนที่ กศน.ได้ใหม

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบ/หลักการ สามารถฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนและปฏิบัติการสอนที่ กศน. ได้ เพราะคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์ว่าสถานศึกษาที่จะฝึกปฏิบัติการสอน ต้องเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและผ่านการประเมินภายนอกจาก สมศ. ซึ่ง กศน.ก็เข้าเกณฑ์นี้
             แต่ในทางปฏิบัติ
             - บางมหาวิทยาลัย ให้ ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. ได้ เช่น ม.นราธิวาส, ม.ราชภัฏเชียงใหม่, มรท.ราชมงคลพระนคร, ม.ราชภัฏเพชรบุรี, ม.ราชภัฏเชียงราย, ม.ราชภัฏนครราชสีมา, วิทยาลัยสันตพล, ม.เชนต์จอห์น, ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด
             - บางมหาวิทยาลัย ไม่ให้ ฝึกปฎิบัติการสอนที่ กศน. เช่น ม.ราชภัฏเทพสตรี, ม.ราชภัฏนครปฐม, ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์, ม.ราชภัฏสวนดุสิต, ม.ราชภัฏศรีษะเกษ
             สาเหตุที่บางมหาวิทยาลัย ไม่ให้ ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. เพราะเขารับไม่ได้ในเรื่องปกติของเรา คือ สอนไม่ตรงตาม ตาราง/เวลาสอน ไม่ตรงแผนการสอน ทำให้เขาเสียเวลามานิเทศเก้อ
             การนิเทศส่วนใหญ่จะแจ้งแผนล่วงหน้า แต่ บางมหาวิทยาลัยทำแผนนิเทศบอกช่วงนิเทศกว้างหลายวันโดยไม่ระบุรายละเอียดว่าวันใดไปที่ใด อย่างไรก็ตามอาจารย์นิเทศก็มักโทร.บอกล่วงหน้า แต่อาจารย์นิเทศบางท่านไม่บอกล่วงหน้า ( อาจารย์นิเทศจะไม่มีเวลามานิเทศในวันเสาร์อาทิตย์ )
             เรื่องนิเทศการฝึกปฏิบัติการสอน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเรียน ป.บัณฑิต ดังจะเห็นได้จาก คุรุสภากำหนดโควตาให้มหาวิทยาลัยรับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ตามจำนวนอาจารย์ที่จะไปนิเทศนี่แหละ คือถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีอาจารย์นิเทศ 1 คน ก็ให้รับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ครั้งละ 10 คน ถ้ามีอาจารย์นิเทศ 10 คน ก็รับได้ครั้งละ 100 คน
             นักศึกษา กศน.เรา ก็มาไม่ค่อยตรงเวลา ตารางสอนระบุเริ่ม 9.00 น. แต่ 9.30 น.แล้ว นักศึกษาเพิ่งมาครึ่งเดียว
             สรุปคือ ตามระเบียบ/หลักการนั้น สามารถฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน.ได้  ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่ให้ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. และ เรามั่นใจว่าจะสอนตรงตาม ตารางสอน/เวลาสอน/แผนการสอน ได้ ก็เจรจากับมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัยยอมให้ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน.แล้ว ก็พยายามรักษาไว้ โดยสอนให้ตรงตาม ตารางสอน/เวลาสอน/แผนการสอน ไม่ให้อาจารย์มานิเทศเก้อ
             ( ปกติตารางสอน กศน.ที่ส่งมหาวิทยาลัย ต้องระบุชั่วโมงสอนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 10-12 ชม. ครูจึงมีสิทธิ์สมัครเรียน ป.บัณฑิต แต่ถ้าครู กศน.ไปฝึกปฏิบัติการสอนที่โรงเรียน สพฐ. ในส่วนตารางสอนที่ สพฐ.ต้องระบุชั่วโมงสอนอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 6-8 ชั่วโมง )

         7. วันที่ 14 พ.ย.61  มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  กรณีที่นักศึกษาเรียนครบตามหน่วยกิต แต่ขาดสอบ n-net และ กพช.ไม่ครบ จะต้องลงทะเบียนหรือจะทำยังไง

             ผมตอบว่า  ก็ให้เขาสอบ N-NET และทำ กพช.จนกว่าจะครบ
             ถ้าไม่ทิ้งไว้เกิน 6 เทอม หรือรวมเวลาตั้งแต่ได้ผลการเรียนวิชาแรกเกิน 10 เทอม ก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้าจะทำไม่เสร็จใน 6 เทอม ต้องให้เขาลงทะเบียนรักษาสถานภาพไว้ด้วย เพราะการบันทึกภาคเรียนที่สอบ N-NET และการบันทึกชั่วโมง กพช.ในภาคเรียนใด โปรแกรม ITw ไม่ได้ถือว่าเป็นการลงทะเบียน/รักษาสถานสภาพ


วันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

1.ผอ.กศน.จังหวัดไม่ให้ย้าย, 2.ผอ.นำรถหลวงไปใช้ส่วนตัว, 3.พ้นสภาพ-เทียบโอน, 4.นายทะเบียนไม่ยอมให้ใช้รูปพระติดใบ รบ., 5.เข็มเชิดชูเกียรติ กศน. ติดไม่เหมือนกันสักที่, 6.พนักงานราชการเกษียณ จะได้อะไร, 7.การปรับเงินเดือนให้ได้ตามวุฒิ ป.โท


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เช้าวันปิยมหาราช 23 ต.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเขียนขอย้าย แต่ ผอ.กศน.จังหวัดไม่ให้ย้าย.. ไม่ได้ย้ายไปไหนไกล ย้ายข้ามตำบลในอำเภอเดียวกัน ท่านให้เหตุผลว่า ทำงานในพื้นที่ยังไม่ดีพอ แต่คะแนนประเมินฉัน อยู่ 85-90 ตลอดทุกครั้ง

             ผมตอบว่า   ก็เป็นอำนาจขั้นต้นของ ผอ.กศน.จังหวัด  ต้องหารือกับท่าน  การพิจารณาย้ายไม่ได้ดูที่คะแนนประเมินอย่างเดียว ถ้าท่านจะให้กรรมการพิจารณา ก็ยังต้องผ่านกรรมการอีก

         2. เช้าวันเดียวกัน ( 23 ต.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถ้ามีข้อมูลหรือทราบว่ามี ผอ.นำรถหลวงไปใช้เป็นการส่วนตัวขับกลับไปบ้านที่ทำงาน สามารถร้องเรียนได้ที่ไหน และจะทราบผลหรือมีผลนานไหมที่จะถูกตรวจสอบ ถ้าผิดจริงจะมีการหลุดคดีมีคนในเอื้อไหม

             ผมตอบว่า
             - ถ้าหลักฐานไม่แน่นหนาจริง ๆ ก็มีโอกาสหลุดมาก ๆ
             - คนในมักจะเอื้อกัน ผู้บริหารก็จะเอื้อผู้บริหารด้วยกัน ช่วยกันโดยไม่สนใจความถูกต้องหรือชาติบ้านเมืองส่วนรวม
             - การตรวจสอบพิจารณา ใช้เวลานานมาก
             - หน่วยงานที่รับร้องเรียนมีมาก เช่น รัฐบาล ต้นสังกัด ปปช. ปปง. สตง. ฯลฯ

         3. วันที่ 30 ต.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเป็นนักศึกษา กศน.อ.เมืองสมุทรปราการ เรียนเทอมแรกในเทอม 2/58 และเรียนครบหน่วยกิตในเทอม 1/60 สอบทุกอย่างผ่านหมด แต่ กพช ไม่ครบ 200 ชั่วโมง จึงไม่ได้ยื่นคำร้องขอจบ
             แต่ปรากฏว่า เทอมนี้ทางเขตฉันเขาแจ้งว่า รหัสนักศึกษาหมดอายุ ต้องลาออก แล้วเทียบโอนเรียนใหม่ ซึ่งเขตที่ฉันเรียน มีนักศึกษาโดนบังคับลาออกเยอะมาก ครูให้ฉันยื่นคำร้องขอลาออกและให้สมัครเรียนใหม่ เทียบโอน 75% และต้องเข้าชั้นเรียนเพิ่มอีก ครู กศน.ตำบลฉันไม่ให้คำปรึกษาที่ชัดเจน อ้างว่ายุ่ง ให้ฉันคิดเอง เอาเอกสารให้ฉันคืน และจะมาว่าครูไม่ได้นะ
             ฉันควรจะทำอย่างไรดี ควรร้องเรียนไปยัง ผอ กศน จังหวัดดีหรือเปล่า ครูให้ฉันยื่นใบคำร้องขอลาออกแล้วด้วย ช่วยฉันและเพื่อนๆด้วย

             ผมตอบว่า   ควรหาเบอร์โทร. ผอ.กศน.อำเภอ แล้วรีบโทร.ไปคุยก่อนสายเกินไป บอก ผอ.ว่า ผมบอกว่า "เรียนเทอมสุดท้าย 1/60 ยังไม่พ้นสภาพ"

             ครั้งแรกผมคิดจะไม่นำเรื่องนี้ขึ้นเฟซบุ๊ก แต่ก็มีประเด็นหนึ่งที่อยากบอก เพราะยังเข้าใจกันผิด คือ ที่ว่า เทียบโอนได้ 75 % นั้น หมายถึง การ “เทียบโอน” จาก “หลักสูตรอื่น”
             แต่ ถ้าเป็นหลักสูตรเดียวกัน เช่นหลักสูตร กศน.51 เหมือนกัน จะ “โอน” ได้ทั้งหมดที่ปรากฏอยู่ในใบ รบ.ที่ลาออกมา รวมทั้ง กพช.ก็โอนได้ด้วย
             เช่น ตอนเป็นทหารเกณฑ์ เรียนหลักสูตร กศน.51 อยู่ในค่ายทหารที่จังหวัดหนึ่ง เมื่อครบกำหนดการเป็นทหารเกณฑ์แล้วแต่ยังเรียนไม่จบ ก็ลาออกมา แล้วกลับมาสมัครเรียนต่อที่จังหวัดภูมิลำเนา ในหลักสูตร กศน.51 เหมือนกัน  ลักษณะนี้จะโอนได้ทั้งหมดที่ปรากฏในใบ รบ.ที่ลาออกมา ซึ่งแม้แต่การลาออกและสมัครใหม่ในสถานศึกษาเดิมนี้ ก็โอนได้หมดในลักษณะเดียวกัน
             เพียงแต่ว่า ผลการเรียนวิชาที่หมดอายุไปก่อนวันลาออก จะไม่มีปรากฏในใบ รบ.ที่ลาออก

         4. เช้าวันที่ 1 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  พระเรียนจบ ม.ปลาย กับ กศน. ออก รบ. แล้วติดรูปที่เป็น พระ ใช้คำนำหน้า ว่า พระนภา จันทร์ถา (ตามชื่อ) ได้มั้ย มีระเรียบมั้ย นายทะเบียน ไม่เช็นให้ ให้หาระเบียบมา
             ถ้าไม่ออกวุฒิให้ ฉันก็ไม่รู้ว่าจะรับสมัครพระมาเรียนทำไม ขอคำชี้แนะด้วย

             ผมตอบว่า   รูปต้องสัมพันธ์กับคำนำหน้าชื่อ และต้องเป็นรูปปัจจุบัน ถ้าปัจจุบันเป็นพระ รูปก็เป็นพระ คำนำหน้าก็เป็นพระ
             ให้ใช้คำว่า พระภิกษุ นะ ไม่ใช่พระเฉย ๆ คำว่าพระเฉย ๆ มีความหมายอื่น
             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า ปัจจุบัน เป็นพระ ใช้รูปพระ ปกติก็เคยออกให้ นายทะเบียนคนปัจจุบันถามหาระเบียบ ต้องเป็นนาย ฉันก็ตอบว่า ท่านเป็นพระ
                   ฉันจะเอาระเบียบมาจากไหน
             ผมตอบว่า  ช่วยเสิร์ชหาคำตอบเดิม ๆ เอาเองบ้าง ผมไม่ค่อยว่างที่จะตอบเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซาก ๆ
                       เช่นดูในข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/12/nfe-mis.html
                       ระเบียบอยู่ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร 2551 (ฉบับปรับปรุง 2555) หน้า 139 ข้อ 4

         5. คืนวันที่ 5 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอถามส่วนตัวหน่อย การประดับเหรียญเชิดชูเกียรติ ทองแดง เงิน ทอง ติดตรงไหนของชุดกากี แต่ละคนเห็นติดไม่เหมือนกันสักที่

             ผมตอบว่า   ปกติองค์กรที่ออกเข็มเชิดชูเกียรติต่าง ๆ จะออกระเบียบ/ประกาศ/ข้อบังคับ ประกอบเข็มนั้น โดยบอกด้วยว่าประดับอย่างไรตรงไหน  แต่สำนักงาน กศน.ยังไม่ได้ออกระเบียบ/ประกาศ/ข้อบังคับประกอบเข็มเชิดชูเกียรตินี้ แต่คุณฝน ณัฐมน ปชส.กศน. เคยบอกผมตั้งแต่ตอนเธออยู่ กป.กศน.ว่า ประดับได้
             เข็มเชิดชูเกียรติทั่วไปจะประดับที่กระเป๋าเสื้อด้านขวา แม้รูปทรงเข็มเชิดชูเกียรติของเราจะไม่เหมาะที่จะประดับกระเป๋าเสื้อก็ตาม ( ปกติรูปทรงเข็มเชิดชูเกียรติจะเป็นแนวตั้ง ยาว ๆ )
             ถ้าจะประดับกับเครื่องแบบปกติขาว ( ขาวทั้งชุด ) ก็ประดับได้ ผู้หญิงไม่มีกระเป๋าเสื้อก็ประดับที่อกเสื้อด้านขวา
             ถ้าที่กระเป๋าเสื้อด้านขวาประดับเข็มอื่นแล้ว ก็ประดับที่เหนือกระเป๋าเสื้อด้านขวา ( เหนือป้ายชื่อ เหนือปีกโดดร่ม )
             แต่ถ้ามีมากกว่า 1 เข็ม โดยเข็มมีศักดิ์ไม่เท่ากัน เช่นครู กศน.ได้ทั้งเข็มเชิดชูเกียรติและเข็มวิทยพัฒน์ ประดับเข็มที่มีศักดิ์สูงกว่าเข็มเดียวก็พอ โดยเข็มเชิดชูเกียรติมีศักดิ์สูงกว่า เพราะเข็มวิทยพัฒน์แสดงว่าผ่านการอบรมพัฒนาเท่านั้น แต่เข็มเชิดชูเกียรติแสดงว่ารับราชการมาเป็นเวลานาน ซึ่งย่อมจะต้องเคยผ่านการอบรมพัฒนามาด้วยแล้ว   ถ้าเคยได้ทั้งเข็มทองแดง เข็มเงิน เข็มทอง ก็ประดับเฉพาะเข็มทอง





         6. วันที่ 8 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเป็นพนักงานราช ครู กศน.ตำบล หากฉันเกษียณจะได้ค่าตอบแทนอะไรบ้าง

             ผมตอบว่า   ข้าราชการ+ลูกจ้างประจำ ตอนออกก็มีแต่บำเหน็จบำนาญตามหลักเกณฑ์ ส่วนพนักงานราชการทุกกระทรวง ตอนออก ไม่มีบำเหน็จบำนาญจากต้นสังกัด เพราะ “ได้รับอยู่ทุกเดือนแล้ว” โดย
             พนักงานราชการบรรจุใหม่ จะได้รับเงินเดือนมากกว่าข้าราชการพลเรือนบรรจุใหม่ที่วุฒิเดียวกัน อยู่ 20 % เช่นปัจจุบันพนักงานราชการบรรจุใหม่ได้ 18,000 บาท แต่ข้าราชการพลเรือนวุฒิเดียวกัน ( ป.ตรี หลักสูตร 4 ปี ) ได้ 15,000 บาท
             ( บรรจุใหม่ได้มากกว่า 20 % พอดี มาตลอดตั้งแต่ประเทศไทยมี พรก.
                ตอน ขรก.ได้ 7,940 บาท พรก.บรรจุใหม่ได้ 9,530 บาท ไม่รวมค่าครองชีพ,
                เมื่อปรับเงินเดือนให้ ขรก.ได้ 9,140 บาท พรก.ได้ 10,970,
                1 ม.ค.55 ขรก.บรรจุใหม่ได้ 11,680 พรก.ได้ 14,020 )

             ที่พนักงานราชการได้เกินข้าราชการในแต่ละเดือน 20 % นี้ แบ่งเป็น
             - ค่าประกันสังคมส่วนที่หักจากลูกจ้าง 5 %
             - ค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าการศึกษาบุตร ค่ารักษาพยาบาล ค่าตรวจสุขภาพ 5 %
             - บำเหน็จบำนาญ 10 %
             เงินเหล่านี้ พนักงานราชการได้ไปแล้ว ได้ไปโดยอัตโนมัติทุกเดือนแล้ว ส่วนข้าราชการต้องทำเรื่องเบิกเป็นครั้ง ๆ โดย ขรก.ได้บำเหน็จบำนาญตอนออก
             เช่นบรรจุใหม่ พรก.ได้เกิน ขรก.เดือนละ 3,000 บาท ( เงินเดือนข้าราชการ 15,000 เงินเดือนพนักงานราชการ 18,000 ซึ่งมากกว่า 3,000 ) รวมเป็นมากกว่าปีละ 36,000 บาท ถ้า ทำงาน 30 ปีเกษียณก็เท่ากับรวมส่วนเกินนี้ได้ประมาณ 1 ล้าน 8 หมื่นบาท เฉลี่ยเป็นบำเหน็จบำนาญประมาณ 540,000 บาท  เป็นค่าสวัสดิการต่าง ๆ 270,000 บาท  เป็นค่าลูกจ้างสมทบประกันสังคม 270,000 บาท )
             พนักงานราชการจึงรับบำเหน็จบำนาญจากต้นสังกัดเพิ่มอีกไม่ได้ นอกจากไปรับทาง ประกันสังคม โดย ถ้า พนักงานราชการคนใดทำประกันสังคมแบบส่งเงินสมทบเข้ากองทุนชราภาพ พนักงานราชการก็ได้บำเหน็จบำนาญตามเกณฑ์ ( ดูเกณฑ์ในข้อ 5 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2013/11/10-mpbs.html )

         7. คืนวันที่ 8 พ.ย.61 คุณสหัส เลิศไกร แจ้งในกลุ่มไลน์สแควร์ “กศน.” ( กลุ่มไลน์นี้รับสมาชิกเฉพาะบุคลากร กศน. ตอนนี้มีสมาชิกพันกว่าคน ) ว่า  “ หนังสือ ( เรื่อง กว่าจะได้นั่งบัลลังก์ศาล ) ได้รับจากมือผู้เขียนเมื่อปี58เป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งที่เคยอ่านมา อดีตเคยเป็นนักศึกษา กศน.เป็นผู้เขียน ตอนนี้เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล อยากส่งต่อให้ท่านอื่นได้อ่านด้วย มอบให้ อ.เอกชัยตั้งคำถามครับ แล้วจะส่งให้นะครับ ”

             ผมจึงตั้งคำถามให้สมาชิกกลุ่มตอบ ( ใครตอบถูกคนแรกจะได้รับหนังสือ )
             คำถามคือ  “ นายสหัส เลิศไกร เดิมเป็นครูอาสาฯ กศน.อ.ฉวาง นครศรีธรรมราช ต่อมาสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู กศน.อ.ควนขนุน พัทลุง
             ต่อมาเรียนจบ ป.โท และยื่นขอปรับเงินเดือนให้ได้รับตามวุฒิ ป.โท ตอนที่ยื่น นายสหัส ดำรงตำแหน่งครู คศ.1 เงินเดือน 19,920 บาท
             ถามว่า นายสหัส จะได้รับการปรับเงินเดือนให้ได้ตามวุฒิ ป.โท หรือไม่ เพราะอะไร ? ”

             เฉลยคำตอบ
             “ จะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนให้ได้ตามวุฒิ ป.โท เพราะ ตอนขอปรับนั้นดำรงตำแหน่งครู คศ.1 เงินเดือน 19,920 บาท ซึ่งมากกว่าอัตราเงินเดือนวุฒิ ป.โท ที่ ก.ค.ศ.กำหนดแล้ว
             ( ก.ค.ศ.กำหนดอัตราเงินเดือน “วุฒิ ป.โททั่วไปที่ ก.ค.ศ.รับรอง” ในตำแหน่งครูผู้ช่วย = 17,690 บาท, และในตำแหน่งครู คศ.1 = 17,910 บาท )
             การจะปรับวุฒิได้ นอกจากเงินเดือนยังต่ำกว่าวุฒินั้นแล้ว สำหรับ ขรก.ครูยังต้องเรียนจบหลังบรรจุ โดยถ้าลาศึกษาต่อหลังบรรจุและหลังวันที่ 8 ธ.ค.59 ต้องศึกษาต่อให้ตรงสาขาด้วย
             อย่างไรก็ตาม แม้ปรับวุฒิไม่ได้ ก็ให้ยื่นเรื่อง ขอเพิ่มวุฒิการศึกษาในทะเบียนประวัติ ก.พ.7 แทนการยื่นเรื่องขอปรับเงินเดือนให้ได้ตามวุฒิ
             อนึ่ง เกณฑ์การขอมีวิทยฐานะชำนาญการปัจจุบัน ว 21/60 วุฒิการศึกษาไม่ได้ช่วยให้ขอมีวิทยฐานะได้เร็วขึ้นแล้ว”