วันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

1.เงินรายได้สถานศึกษา ใช้อะไรได้บ้าง, 2.หนังสือรับรองการหักภาษีของผู้รับบำนาญ, 3.การย้ายกรณีพิเศษ กี่ปีจึงย้ายได้ ใช้แบบฟอร์มใด, 4.ขอเทียบวุฒิเปรียญธรรม, 5.ใบรับรองการเทียบวุฒิทางธรรม, 6.ตั้งอาจารย์ที่เพิ่งเกษียณเป็นกรรมการกลางสอบปลายภาคได้ไหม, 7.ทำโครงการประกวดแบบให้เงินรางวัลด้วย ใช้ระเบียบอะไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. เช้าวันที่ 9 ก.พ.63 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  สถานศึกษามีเงินรายได้ของสถานศึกษาที่ได้มาจากการเก็บค่าลงทะเบียนนศ.รุ่นเก่าๆ สถานศึกษาสามารถนำเงินมาใช้พัฒนาฯ ปรับภูมิทัศน์ ซื้อวัสดุ ได้ไหมคะ สถานศึกษาสามารถใช้อะไรได้บ้างคะ

             ผมตอบว่า   ใช้ได้เหมือนเงินงบประมาณ (งบดำเนินการ+เงินอุดหนุน รวมค่าครุภัณฑ์) คือใช้ได้ตามระเบียบราชการ ขั้นตอนวิธีการใช้เช่นวิธีการจัดซื้อจัดจ้างก็เหมือนเงินงบประมาณ รายการที่เงินงบประมาณใช้ไม่ได้ก็ใช้เงินรายได้สถานศึกษาไม่ได้ อัตราก็เป็นไปตามระเบียบราชการเช่นเดียวกับงบประมาณ แต่จ่ายซ้ำซ้อนกับงบประมาณไม่ได้ เช่นจ่ายค่าทำงานนอกเวลาจากเงินงบประมาณเต็มอัตราไปแล้วจะจ่ายเงินนี้อีกไม่ได้
             ที่เพิ่มขึ้นมาคือใช้ซื้อครุภัณฑ์ได้

         2. ผู้รับบำนาญ พิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ปี 62 ( สำหรับยื่นเสียภาษีต้นปี 63 ) ได้ที่  https://pws.cgd.go.th/EFiling/login.jsf

             เข้าสู่ระบบด้วยการกรอกเลขประจำตัวประชาชน และรหัสผ่าน แล้วคลิกที่ “เข้าสู่ระบบ”
             ( ใครยังไม่เคยเข้าใช้บริการให้คลิกที่ “ลงทะเบียน” เพื่อขอรหัสผ่าน, ใครเคยเข้าใช้บริการแล้ว ถ้าลืมรหัสผ่าน ให้คลิกที่ “ขอรหัสผ่านใหม่” )
             -เข้าไปได้แล้วคลิกเลือกประเภทเงิน “บำนาญปกติ”
             -แล้วเลื่อนลงไปที่ส่วน “พิมพ์เอกสาร” คลิกที่ “พิมพ์หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย”
             -ใส่ปีภาษี “2562” แล้วคลิก “พิมพ์”

         3. วันอาทิตย์ที่ 9 ก.พ.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หนูบรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วย 1 ต.ค. 61 ตามเกณฑ์สามารถย้ายได้ 4 ปี แต่เนื่องจากหนูเป็นบุตรคนเดียว บิดามารดาเจ็บป่วยต้องรักษาต่อเนื่อง หนูจะลองยื่นย้ายกรณีพิเศษจะมีสิทธิย้ายได้มั้ยคะ แบบฟอร์มใช้ตัวเดียวกันกับย้ายกรณีปกติมั้ยคะ

             ผมตอบว่า   การย้ายกรณีพิเศษมี 4 กรณีย่อย บางกรณีต้องรอให้พ้นการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้ม ส่วนกรณี "การย้ายเพื่อดูแลบิดามารดาหรือคู่สมรสที่เจ็บป่วยร้ายแรง" ไม่ต้องรอให้พ้นการทดลองฯ
             ใช้แบบฟอร์มคำร้องขอย้ายแบบเดียวกับกรณีปกติ แต่ต้องแนบหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงความเป็นกรณีพิเศษกรณีนั้น ๆ ( ดูในข้อ 5.2.4 ที่ http://bit.ly/2RskHbp )

         4. คืนวันที่ 13 ก.พ.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรียนจบป.ธ.6 ทางโลกจบแค่ป.4 ต้องการเรียนสารพัดช่าง เขาต้องการวุฒิม.3 ต้องไปเอาใบเทียบก.ศ.น ยังไง เพราะเอาใบป.ธ.6ที่ไปยื่นให้สารพัดช่างเขาไม่รับ ขออาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยนะ

             ผมตอบว่า   กศน.ไม่มีอำนาจบทบาทหน้าที่ในการ "เทียบวุฒิ" มีแต่อำนาจบทบาทหน้าที่ในการ "เทียบโอน" สำหรับผู้เรียน กศน. ( หน่วยงานที่มีอำนาจบทบาทหน้าที่ในการเทียบวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ สพฐ. แต่ ได้ข่าวว่าเขารับเทียบวุฒิเฉพาะวุฒิที่จบมาจากต่างประเทศ )
             คุณลองนำ พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรมฉบับใหม่ 2562 ( ดาวโหลดได้ที่  http://bit.ly/2VBDl2L ) หรือประกาศกระทรวงศึกษาธิการฉบับเดิม ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ไปให้สารพัดช่างดู เขาอาจจะรับคุณเข้าเรียน






         5. เช้าวันเสาร์ที่ 22 ก.พ.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า  ในกรณี่ที่ใบประกาศปธ.๓ยังเทียบม.ต้นเราจะไปขอใบรับรองจากที่ไหนกรณีที่สถาบันที่จะสมัครเรียนเขาถาม

             ผมตอบว่า   มันมี พรบ. มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการให้เทียบวุฒิอยู่แล้ว ไม่ต้องมีใบรับรองอีก
             เราก็นำ พรบ./นำประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ไปให้เขาดู ปกติสถาบันเขาจะรับสมัครถ้าไม่ผิดคุณสมบัติอื่นๆของเขาเช่น เพศ อายุ ฯลฯ ( โดยเฉพาะสถาบันของรัฐ.. ตอนผมเรียน ป.โทที่ ม.ราชภัฏ เพื่อนร่วมห้องไม่จบ ป.ตรี แต่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ม.ราชภัฏยังรับเข้าเรียน ป.โทเลย )
             ถ้าเขาไม่รับทั้งๆที่คุณสมบัติถูกต้องตามระเบียบเขา เพราะเจ้าหน้าที่เขาไม่เข้าใจ ก็อาจร้องไปที่ผู้บังคับบัญชา/หน่วยเหนือของเขา ถ้าไม่ได้ผลและมั่นใจว่าคุณสมบัติเราถูกต้องหมดรวมทั้งจำเป็น ก็อาจฟ้องถึงศาลปกครอง






         6. คืนวันที่ 25 ก.พ.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  สถานศึกษาสามารถแต่งตั้ง. อาจารย์ที่เพิ่งเกษียณไปเป็นกรรมกลาง. ในสนามสอบปลายภาคได้ไหม

             ผมตอบว่า   ผมเคยตอบในข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2019/03/police.html  ว่า
             “ กรรมการดำเนินการสอบปลายภาคต้องเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือพนักงานราชการ ที่ยังไม่เกษียณ ( สังกัดอื่นก็อนุโลมได้ )  ถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ ต้องเป็น “ครู” ที่สังกัด กศน. ( ครู ศรช. ครู ปวช. ครูสอนคนพิการ-เด็กเร่ร่อน ฯลฯ ที่ชื่อตำแหน่งมีคำว่าครู ) แต่นโยบายเรา ไม่ให้ครู กศน.คุมสอบ นศ.“กลุ่มของตนเอง” นะ ”
             “ นางพรรณทิพา ( อดีต ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ ) บอกว่า จนท.กศน. ทั้งข้าราชการ-พนักงานราชการ-จ้างเหมา ทุกตำแหน่ง เป็นกรรมการกลางได้ ”
             คำว่า กรรมการดำเนินการสอบ หมายรวมถึงกรรมการกลางด้วย เพราะกรรมการกลางก็มีโอกาสทำความผิดได้ เช่น คัดลอกข้อสอบ ซึ่งนายสัจจา อดีต ผอ.กจ.กศน.เคยตอบว่า ผู้กำกับการสอบมีความประมาทเลินเล่อหรือจงใจละเว้นหรือรู้เห็นแล้วไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือไม่รายงานต่อหัวหน้าจนเป็นเหตุให้มีการทุจริตในการสอบเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการประพฤติผิด“วินัย”ร้ายแรง
             - คำว่า วินัย ใช้กับข้าราชการ+ลูกจ้างประจำ+พนักงานราชการ ที่ยังไม่เกษียณ ส่วนผู้ที่ทำผิดหลังเกษียณ เราจะลงโทษไม่ได้แล้ว ต้องเป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง
             - คำว่า ผู้กำกับการสอบในที่นี้ หมายถึง คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดูแลในการสอบทั้งหมด
             ฉะนั้น ตามหลักการ กรรมการกลางก็ต้องเป็นบุคคลที่ราชการยังสามารถลงโทษได้ด้วย คือยังไม่เกษียณ

         7. วันที่ 26 ก.พ.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  จะทำโครงการประกวดทักษะภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ แล้วมีเงินรางวัลด้วยคะหนูอยากทราบว่าจะต้องใช้ระเบียบอะไรมาใช้ในการทำโครงการสำหรับเงินรางวัลต่างๆ
             ผมตอบว่า   เรื่องรางวัลผู้ชนะการประกวด/แข่งขัน จะอยู่ใน “ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมการจัดงานและการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ.2549 และที่แก้ไขเพิ่มเติม” ซึ่งจะต้องเป็นการจัดงานตามแผนงานโครงการตามภารกิจปกติ และอัตราในการเบิกจ่ายแต่ละรายการนั้น ให้หัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณพิจารณาอนุมัติการเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเหมาะสมและประหยัด ( หัวหน้าส่วนราชการของเราคือปลัดกระทรวงศึกษาธิการ )
             ซึ่งส่วนกลางของเรายังไม่ได้กำหนดอัตราเงินรางวัลโครงการประกวดทักษะภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือไว้ จึงเบิกจ่ายเงินรางวัลนี้ไม่ได้ ถ้าจะทำเรื่องขออนุมัติไปส่วนกลางก็ไม่แน่ว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ เพราะการประกวดทักษะภาษาไทยสำหรับผู้ไม่รู้หนังสือ คงไม่ใช่การจัดงานตามแผนงานโครงการตามภารกิจปกติ
             ( ถ้าเป็น อปท.เขาจะมีการจัดงานตามแผนงานโครงการตามภารกิจปกติได้หลายงาน  แม้การสอนผู้ไม่รู้หนังสือเป็นภารกิจปกติของเราแต่การจัดงานประกวดฯคงไม่ใช่ คงต้องใช้เงินอื่นเช่นเงินบริจาค )

วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

1.คนต่างด้าว/ต่างชาติ เรียนการศึกษาต่อเนื่องได้ไหม, 2.จบเปรียญธรรม 5 ประโยค เทียบเพื่อเรียนต่อ กศน.ได้ไหม, 3.นศ.รับ รบ.ไปนานแล้ว ตอนนี้ต้องการใบประกาศนียบัตร ออกได้ไหมใครลงนาม, 4.มีภารกิจในวันสอบ N-NET ครูบอกว่าไม่ได้ ต้องสอบ, 5.รอสอบ E-Exam ครูคนนึงบอกจบเทอมหน้า อีกคนบอกจบเทอมนี้, 6.ตอนแรกครูบอกมีสิทธิ์สอบ N-NET ตอนหลังบอกไม่มีชื่อ, 7.โครงการแข่งกีฬา ซื้อน้ำมันมวยได้ไหม

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้


         1. วันที่ 17 ม.ค.63 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่อง การจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง...คนต่างด้าว/คนต่างชาติ สามารถเรียน กิจกรรมพัฒนาอาชีพ กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต กิจกรรมพัฒนาสังคมและชุมชน ได้ไหม

             ผมตอบว่า   เรียนได้
             ( ตาม "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานวันเดือนปีเกิดในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548" ให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัด ระดับ "ประเภท" หรือ พื้นที่การศึกษา )
             ถ้าที่ใดต้องการเลขประจำตัว 13 หลัก แล้วเขาไม่มี ก็ให้เขาไปขึ้นทะเบัยนกับฝ่ายทะเบียนท้องที่มาก่อน


             2. คืนวันที่ 16 ม.ค.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เรียนจบ ปธ. 5 ไม่มีประสบการณ์สอน ในทางสามัญ จะสามารถ ใช้ปธ5 เทียบเพื่อเรียนต่อ กศน. ได้มั๊ย

             ผมตอบว่า
             1)  ถ้าตอนเรียนเปรียญธรรม นั้น ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ
                  - เปรียญธรรม 3 ประโยค ( ป.ธ.3 ) จะเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนต้น ( ม.3 ) ให้สมัครเรียน ม.ปลาย (เปรียญธรรม 4-5 ประโยคก็เช่นกัน)
                  - เปรียญธรรม 5 ประโยค ( ป.ธ.5 ) + ได้รับแต่งตั้งให้สอนวิชาพระปริยัติธรรมในโรงเรียนพระปริยัติธรรมไม่น้อยกว่า 1 ปี และทำการสอนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 ชั่วโมง จะเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ( ม.6 )
                  - เปรียญธรรม 6 ประโยค จะเทียบเท่า ม.6 โดยไม่ต้องมีประสบการณ์การสอน
             2)  ถ้าตอนเรียนเปรียญธรรมนั้น จบการศึกษาภาคบังคับแล้ว ( ที่ไม่ต่ำกว่า ป.6 ถ้าตอนที่เรียนเปรียญธรรมนั้นภาคบังคับเป็น ม.ต้น ก็ต้องจบ ม.ต้น )
                  เปรียญธรรม 3 ประโยค ( ป.ธ.3 ) จะเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ( ม.6 ) แม้จะไม่มีประสบการณ์การสอน

         3. วันที่ 24 ม.ค.63 มีผู้ถามในไลน์โอเพนแช็ทกลุ่ม กศน. ว่า  นศ.รับ รบ.ไปแล้วเมื่อปี 52 แต่ยังไม่ได้รับใบประกาศฯ เนื่องจากยังไม่ได้พิมพ์ แล้วพอมาถึงตอนนี้ นศ.ต้องการใบประกาศฯ สามารถออกให้ได้มั้ย ผอ.ที่ลงนาม เป็น ผอ.คนเดิม หรือ ผอ.ปัจจุบัน

             ผมตอบว่า   ออกให้ได้
             ปกติการออกใบประกาศนยบัตร และใบ รบ. ออกวันไหน ผอ.ที่ลงนามก็ต้องเป็น ผอ.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันนั้น ( ผอ.ปัจจุบัน )
             แต่ที่บางครั้งต้องใช้ ผอ.และนายทะเบียนคนเก่า เพราะ ต้องใช้ใบ รบ.นั้นเป็นหลักฐานการเรียนต่อไปก่อนนั้นแล้ว เช่น จบ ม.ต้น กศน.และเรียนต่อ ม.ปลาย กศน.ที่สถานศึกษาเดิม ก็ต้องออกใบ รบ.ม.ต้น ไม่เกินวันสุดท้ายของวันสมัครเรียน ม.ปลาย แต่บางแห่งให้เรียนต่อ ม.ปลายไปก่อนเลย แล้วจึงออกใบ รบ ม.ต้นในภายหลัง ซึ่งไม่ถูกต้อง กรณีนี้ต้องออกใบ รบ.ม.ต้นย้อนหลัง โดย ผอ.และนายทะเบียนที่ลงนามต้องเป็น ผอ.และนายทะเบียนย้อนหลังด้วย
             ( คำถามนี้มีคำตอบอยู่ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร 51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 171 ข้อ 1.3 )

         4. คืนวันอาทิตย์ที่ 26 ม.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าเราขาดสอบ n-net ไม่สามารถไปสอบได้จริงๆ จะสามารถเข้าสอบ E-Eaxm ได้ไหม ถามอาจารย์ที่ฉันเรียนเขาบอกไม่ได้ ต้องสอบไม่งั้นเขาไม่ส่งชื่อไปเปิดให้สอบ E-Eaxm   วันที่ 9 ฉันมีภารกิจไม่สามารถ ไปสอบได้จริงๆ

             ผมตอบว่า   คงจะเป็นเพราะถ้ายอมให้คนหนึ่ง ก็จะมีคนตาม อ้างนั่นอ้างนี่ตามมาอีกเยอะ จนที่ผ่านมามีปัญหาห้องสอบ E-Exam ไม่เพียงพอ ส่วนกลางจึงออกแนวปฏิบัติมาแก้ไข เช่น

ถ้าวันสอบ N-NET เทอมนี้ใครติดภารกิจอื่นที่สำคัญมากกว่า สถานศึกษาก็ยังไม่ต้องส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ในเทอมนี้ พร้อมจะสอบในเทอมใดค่อยส่งชื่อเข้าสอบ N-NET
             กรณีส่งชื่อเข้าสอบในเทอมใดไปแล้ว ถึงวันสอบเกิดอุบัติเหตุเข้าสอบไม่ได้ จะขอเข้าสอบ E-Exam แทนในเทอมนั้น นักศึกษาต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องขอเข้าสอบ E-Exam กรณีพิเศษ บอกเหตุผลความจำเป็นที่ส่งชื่อแล้วเข้าสอบ N-Net ไม่ได้ ผ่านสถานศึกษา ผ่านจังหวัด ไปให้สำนักงาน กศน.ส่วนกลางพิจารณานำชื่อเข้าสอบ E-Exam จึงจะเข้าสอบ E-Exam ในเทอมนั้นแทนได้ ซึ่งต้องยื่นคำร้องภายในวันที่กำหนด เช่น เทอม 2/62 ให้ยื่นคำร้องถึงสำนักงาน กศน.ส่วนกลางภายในวันที่ 10 มี.ค.63 โดยส่วนกลางจะกำหนดวันสอบ E-Exam กรณีพิเศษนี้ หลังวันที่ 10 มี.ค.63 อันจะทำให้จบช้า และถ้ายื่นคำร้องไม่ทันก็ยิ่งต้องรอไปสอบเทอมต่อไปอีก

         5. วันที่ 28 ม.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  หนูเทียบโอนเรียนมานะคะ ในใบวิชาเรียนเขียนจบเทอมนี้ แต่พอรายชื่อสอบ N-net มาไม่มีชื่อหนู ทีนี้ครูที่โรงเรียนเขาบอกเทียบช้า แต่ตอนไปเทียบเขาบอกว่าทัน แล้วตอนนี้คือหนูต้องรอสอบ e-exam แบบนี้หนูยังจะจบเทอมนี้หรือว่าต้องจบเทอมหน้าหรอคะ แต่ครูเขาบอกจบเทอมนี้ รอสอบ e-exam ก้จบเดือนพฤษภา หนูก็งงว่าสรุปหนูจบเทอมไหน สอบ e-exam เดือนมีนาครูบอกมาวี้อะค่ะ ครูคนนึงบอกหนูจบเทอมหน้า อีกคนบอกจบเทอมนี้

             ผมตอบว่า   ปกติถ้ายังไม่เคยส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ได้ทัน จะยังเข้าสอบ E-Exam แทนไม่ได้ ต้องรอส่งชื่อเข้าสอบ N-NET เทอมหน้า แต่ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นต้องรีบจบ ก็ยื่นคำร้องขอสอบ E-Exam กรณีพิเศษ ตามขั้นตอน/กำหนดการ ไม่ใช่ลงทะเบียนแค่จังหวัด ครูเขาเข้าใจหรือเปล่า
             ต้องถามครูให้เขาศึกษาชัด ๆ ( บางครั้งครูก็ไม่รู้รายละเอียด ) ถามว่าเขาหมายถึงการเข้าสอบ E-Exam กรณีปกติ หรือกรณีพิเศษ กรณีปกติจะสอบก่อน กรณีพิเศษจะสอบทีหลัง แต่ผมไม่แน่ใจว่ากรณีไม่เคยส่งชื่อเข้าสอบ N-NET จะลงทะเบียนเข้าสอบกรณีปกติได้ไหม ระวังครูเข้าใจผิดแล้วแก้ไขภายหลังไม่ทัน.. ถ้าเงื่อนไขการจบอื่น ๆ ครบแล้ว สอบ E-Exam เสร็จก็จบเลย แต่อาจจะจบช้ากว่าเพื่อนๆที่ไม่ต้องสอบ E-Exam ถ้าได้สอบ E-Exam ปลายเทอมนี้ ก็จบปลายเทอมนี้

         6. คืนวันที่ 29 ม.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  แฟนฉันเรียน กศน ถึงเวลาที่จะสอบ nเน็ต ตอนไปเรียนอาจารย์บอกมีสิทสอบ แต่พอตอนส่งรายชื่อมาให้ดูที่นั่งและห้องสอบ กับไม่มีชื่อ แบบนี้ควรทำอย่างไร

             ผมตอบว่า   เว็บ สทศ.เขาลงรายชื่อนักศึกษาที่ส่งเข้าสอบ ให้สถานศึกษาตรวจสอบตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.62 แล้วนะ คุณไม่ถาม/ไม่บอกว่าเหตุใดจึงไม่มีชื่อ แต่ละเหตุอาจมีวิธีแก้ต่างกัน เช่นถ้าเช็คดีๆแล้วพบว่าเคยมีการส่งชื่อเข้าสอบ N-NET แล้ว เทอมนี้ส่งอีกจะไม่มีชื่อ กรณีนี้เทอมนี้ก็ลงทะเบียนสอบ E-Exam ได้
             ปกติถ้ายังไม่เคยมีชื่อเข้าสอบ N-NET ทั้งๆที่เทอมนี้เป็นเทอมสุดท้าย ต้องดำเนินการตามข้อ 3 ในแนวปฏิบัติฯ คือจะยังเข้าสอบ E-Exam แทนไม่ได้ ต้องรอส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ในเทอมหน้า แต่ถ้ามีเหตุผลความจำเป็นต้องรีบจบ ก็ยื่นคำร้องขอสอบ E-Exam กรณีพิเศษ ตามขั้นตอน/กำหนดการ

             หลังจากผมตอบไปแล้วสักพัก ผู้ถาม ๆ อีก ว่า  อาจาร์ที่เรียนเค้าบอกว่าให้ทางแฟนฉันหาใบสมัครเรียนต่ออะเผื่อที่จะเอามาทำเรื่องสอบ E-Exam ใช่หรือป่าว คือฉันไม่เข้าใจว่าต้องไปสมัครเรียนเผื่อเอาใบมาทำเรื่องสอบได้ด้วยเหรอ ช่วยอธิบายให้ฉันเข้าใจหน่อยนะคุณครู ฉันงงมากเลย
             ผมตอบว่า  เขาคงให้หาหลักฐานอะไรที่จะแสดงได้ว่า "จำเป็นจะต้องจบในเทอมนี้" เพื่อนำมาประกอบคำร้องขอสอบ E-Exam กรณีพิเศษปลายเทอมนี้ เพราะถ้าไม่มีเหตุผลความจำเป็นเขาก็จะให้รอสอบ N-NET เทอมหน้า จบเทอมหน้า

         7. คืนวันที่ 3 ก.พ.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันทำโครงการพานักศึกษาไปเข่งขันกีฬาที่อุบลแต่ผู้บริหารบอกว่าน้ำมันมวยและสเปลคลายกล้ามเนื้อไม่สามารถซื้อได้   มีระเบียไหนไม่ที่แจ้งว่าซื้อไม่ได้เผื่อฉันไม่เคยเห็นมาก่อน รบกวนหน่อย

             ผมตอบว่า   การเบิกจ่าย ไม่จำเป็นต้องมีระเบียบระบุว่าซื้อไม่ได้ แค่ไม่มีระเบียบรองรับว่าซื้อได้ ก็เบิกจ่ายไม่ได้
             ประเด็นนี้ ท่าน อ.สุนีย์ ฉัตรวัฒนานนท์ ผู้ตรวจสอบภายใน กศน.( รู้สึกว่าเกษียณปี 62 ) แนะนำว่า ให้นำไปเบิกจ่ายรวมอยู่ใน "ค่าวัสดุและเครื่องแต่งกายขบวนพาเหรด" ตามตารางแนบท้ายคำสั่ง สป.ศธ.ที่ 669/61 ลว.20 มี.ค.61