วันเสาร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559

1.จะเปลี่ยนการจ้างครูผู้สอนคนพิการ เป็นครู ศรช.จริงหรือ, 2.คุณสมบัติในการสมัคร "ข้าราชการครู" กับ "พนักงานราชการครู", 3.กศน.อำเภอ เก็บเงินบำรุงสถานศึกษา-ทำไมไม่จัดสรรให้สอนเสริม, 4.ผู้รักษาการฯ ลงนามในใบ รบ.ได้ไหม, 5.จะไปอบรมที่หน่วยงานอื่นจัด ต้องขออนุมัติสำนักงาน กศน.ก่อน, 6.ครูประจำกลุ่มเบิกค่าตอบแทน 2 กลุ่ม ได้หรือไม่, 7.วิชาชีพระยะสั้น สอนได้วันละกี่ชั่วโมง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 15 ธ.ค.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ปัญหาคาใจ ได้รับทราบมาว่า ในภาคเรียนหน้าคือ 1/60 ครูผู้สอนคนพิการ จะได้ย้ายไปเป็นตำแหน่งครู ศรช. ทั้งหมด นั้น เป็นเรื่องจริงใช่หรือไม่ และยังให้จัดการศึกษาทั้งกลุ่มเป้าหมายเดิม ร่วมกับนักศึกษาใหม่ที่ต้องหาเพิ่มอีก 40 คน เดิมมีนักศึกษาพิการ 20 คน ต่อครูผู้สอน 1 คน คำถามคือ ทาง กศน. มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และ ค่ายานพาหนะ 1000 บาท/เดือนยังคงจะได้อยู่หรือไม่ ผลกระทบมีมากอยู่นะ ผู้น้อยขวัญเสียกันใหญ่เลย

             เรื่องนี้  กลุ่มแผนงาน กศน.บอกว่า แล้วแต่ แต่ละจังหวัดจะบริหารจัดการ จะจ้างครูผู้สอนคนพิการตามเดิมก็ได้ หรือจะเปลี่ยนเป็นครู ศรช.ก็ได้  ถ้าเปลี่ยนเป็นครู ศรช. ก็ต้องมีจำนวน นศ.รวมตามเกณฑ์ครู ศรช. และไม่มีค่าพาหนะ
              ( เงินอุดหนุนรายหัว ทั้ง นศ.ปกติ และ นศ.พิการที่เรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน ได้เท่ากัน แต่ต้องแบ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายของครูผู้สอนคนพิการมากกว่า อาจทำให้อำเภอ/จังหวัดที่มีครูผู้สอนคนพิการมาก ขาดแคลนงบเงินอุดหนุน และเปลี่ยนการจ้างครูผู้สอนคนพิการให้เป็น ครู ศรช.)

         2. คุณสมบัติในการสมัคร "ข้าราชการครู" กับ "พนักงานราชการครู"
             คำว่า ปริญญาทางการศึกษา” ( ที่ภาษาพูดว่า วุฒิครู” ) นั้น ไม่ได้มีแค่ 3 วุฒิ แต่มีมาก คือ
             1)  การศึกษา
             2)  ครุศาสตร์
             3)  ศึกษาศาสตร์
             4)  ครุศาสตร์อุตสาหกรรม
             5)  ศิลปศาสตร์ ( ศึกษาศาสตร์ หรือ ศึกษาศาสตร์การสอน )
             6)  วิทยาศาสตร์ ( ศึกษาศาสตร์ หรือ ศึกษาศาสตร์การสอน หรือ การสอน )
             7)  คหกรรมศาสตร์ วิชาเอกคหกรรมศาสตร์ศึกษา
             8)  เกษตรศาสตร์ วิชาเอกเกษตรศึกษา
             9)  บริหารธุรกิจ วิชาเอกธุรกิจศึกษา
             ถ้าเป็นการสมัคร ข้าราชการครูไม่ว่าจะเป็น สพฐ. หรือ กศน. จะได้หมดทั้ง 1-9 นี้
แต่ถ้าเป็น พนักงานราชการครู กศน.จะระบุเฉพาะข้อ 1-3 ส่วนข้อ 4-9 ไม่ระบุ

             การสมัครสอบเป็น ข้าราชการครูทั้ง สพฐ. และ กศน. ถ้าไม่พูดถึงคุณสมบัติทั่วไปและวิชาเอก ก็จะเหลือคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ข้อ ( ต้องมีทั้ง 2 ข้อ ) คือ
             1)  มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ กคศ.กำหนด และ
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือใบอนุญาตปฏิบัติการสอน
             ส่วนคุณสมบัติด้านนี้ในการสมัครสอบ พนักงานราชการครู กศน.จะไม่กำหนดคุณสมบัติข้อ 2 มีเพียงข้อ 1 คือ
             1)  มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา เฉพาะ 3 วุฒิ คือ ศึกษาศาสตร์ การศึกษา ครุศาสตร์ ถ้าเป็นคนในสังกัด กศน.เพิ่มอีก 1 วุฒิ คือ ป.บัณฑิต
              ( ป.บัณฑิตวิชาชีพครู เป็น "วุฒิ" ทางการศึกษา ที่สูงกว่า ป.ตรี แต่ต่ำกว่า ป.โท
                ส่วน "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ไม่ใช่ วุฒิ จึงไม่ได้ระบุไว้ )

         3. วันอาทิตย์ที่ 18 ธ.ค.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             ทำไม กศน.อำเภอไม่จัดสรรงบประมาณให้เด็กในกลุ่มครู ศรช.เรียนเสริม
             อีกหนึ่งประเด็น คือทาง กศน.อำเภอ เรียกเก็บเงินค่าเทอมจากนักศึกษา หัวละ 120 บาท ผิดระเบียบมั้ย มีการออกใบเสร็จให้ แต่ได้นำเรื่องเก็บเงินไปขอมติที่ประชุมกรรมการสถานศึกษา และมติเห็นชอบให้เก็บได้ แต่ยังเป็นที่แคลงใจของคณะครูว่า ผอ.เก็บเงินส่วนนี้ผิดระเบียบ และเอาเงินไปทำอะไร

             ผมตอบว่า
             เรื่องงบสอนเสริม กศน.อำเภอสามารถบริหารจัดการตามความเหมาะสมของบริบทแต่ละอำเภอ
              ( งบสอนเสริมก็รวมอยู่ในงบเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้ทุกอำเภอนั่นแหละ แล้วแต่อำเภอจะบริหารจัดการงบเงินอุดหนุน  อาจใช้งบพัฒนาคุณภาพผู้เรียนมาทำโครงการคล้ายการสอนเสริมก็ได้ )
             ส่วนเรื่องการเก็บเงินจากนักศึกษานั้น ผิด
             การใช้ใบเสร็จรับเงินในราชการ กศน. เป็นหลักฐานการรับเงิน จะต้องนำเงินเข้าระบบบัญชีของ กศน.อำเภอ ถ้านำเงินเก็บรักษาถูกต้องตามระบบและดำเนินการเบิกจ่ายถูกต้องตามระเบียบ ก็ถือว่าไม่ได้ทุจริต แต่ก็ยังผิด เพราะสถานศึกษาและกรรมการสถานศึกษาไม่มีสิทธิ์ไม่มีอำนาจลงมติเก็บเงินในรายการที่ไม่มีระเบียบรองรับ  ถ้าเป็นการบริจาค จะกำหนดให้บริจาคทุกคนไม่ได้ การจะบริจาคหรือไม่และจำนวนเงินต้องเป็นไปตามความสมัครใจของแต่ละคน

         4. วันที่ 19 ธ.ค.59 รัตติกาล บุญแข็ง ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ในการลงนามระเบียนแสดงผลการเรียนของนักศึกษาที่จบการศึกษา กรณีที่ผู้บริหารอำเภอไปราชการ ผู้รักษาการสามารถลงนามได้ไหม หรือต้องรอให้ ผอ. เป็นผู้ลงนามเพียงคนเดียว
             ( ผมเคยโพสต์เรื่องนี้แล้ว 2 ครั้งแล้ว )

             ผมตอบว่า   มีบางคนบอกว่า ผู้รักษาการในตำแหน่ง ไม่สามารถลงนามในบางเรื่อง เช่น ลงนามในใบ รบ.  ที่จริงเป็นความเข้าใจผิด ที่ถูกคือผู้รักษาการในตำแหน่ง มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาการนั้นเพียงแต่ถ้าเป็นเรื่องสำคัญ และไม่เร่งด่วน คอยได้ ผู้รักษาการในตำแหน่ง ก็อาจจะรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงกลับมาตรวจสอบและลงนามเองก็ได้ การรอให้ผู้ดำรงตำแหน่งตัวจริงมาลงนามในเรื่องสำคัญนี้เป็นเพียง "มารยาท" ไม่มีในระเบียบกฎหมาย

         5. วันที่ 20 ธ.ค.59 มีผู้บริหารถามผมเรื่องการอนุญาตให้บุคลากรไปเข้ารับการฝึกอบรมที่หน่วยงานอื่น นอกสังกัด กศน. เป็นผู้จัดฝึกอบรม

             เรื่องนี้  ตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.118/272 ลงวันที่ 26 ม.ค.54 กำหนดแนวปฏิบัติเรื่องการให้บุคลากรในสังกัดสำนักงาน กศน.ไปเข้ารับการฝึกอบรม กรณีส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นเป็นผู้จัดการฝึกอบรมตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้ในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ  โดยจังหวัดต้องขออนุมัติการส่งบุคลากรไปเข้ารับการฝึกอบรมต่อสำนักงาน กศน. ก่อน จึงจะอนุมัติให้บุคลากรผู้นั้นไปเข้ารับการฝึกอบรมได้ ( ถ้าหลักสูตรนั้นสำนักงาน กศน.ยังไม่เคยเห็นชอบ ) และการพิจารณาอนุมัติต้องคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็น ยึดประโยชน์ของทางราชการและงบประมาณที่ใช้ สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของบุคลากร และเมื่อฝึกอบรมเสร็จบุคลากรผู้นั้นต้องทำรายงานเสนอภายใน 60 วัน
             ( ถาม กจ.กศน.เมื่อ 21 ธ.ค.59 กจ.บอกว่าหนังสือฉบับนี้ยังมีผลบังคับใช้ )




 
         6. วันที่ 22 ธ.ค.59 San Sriprapun ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครูประจำกลุ่มสามารถเบิกค่าตอบแทน 2 กลุ่ม ได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   การจ้างครูประจำกลุ่ม ( ยกเว้นครูประจำกลุ่มที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ )  ปัจจุบันไม่ได้ให้เบิกค่าตอบแทนเป็นกลุ่มหรือเป็นรายหัว แต่ให้เปลี่ยนเป็นการจ้างเหมาบริการ โดยมี "ขอบเขตงานจ้าง" ให้รับผิดชอบผู้เรียนไม่เกิน 50 คน อัตราค่าจ้าง 19,200 บาท/ภาคเรียน  ฉะนั้น ให้รับผิดชอบผู้เรียนกลุ่มละไม่เกิน 40 คน ไม่เกิน 2 กลุ่ม รวมไม่เกิน 50 คน
             ดูที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teacherJang.pdf


         7. คืนวันที่ 26 ธ.ค.59 BenGy-Sirirat Chaywattana  ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  จะปรับแผนดำเนินกิจกรรม มีข้อสงสัย การศึกษาต่อเนื่อง กลุ่มสนใจระยะสั้น วิชาชีพระยะสั้นไม่เกิน 30 ชั่วโมง  ใน 1 วัน วิทยากรสามารถสอนได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง

             ผมตอบว่า   กลุ่มสนใจ วันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง ผมโพสต์เรื่องนี้ 3 ครั้งแล้ว
            
( ผมไม่แน่ใจกับความหมายของคำว่า กลุ่มสนใจระยะสั้น และวิชาชีพระยะสั้นไม่เกิน 30 ชั่วโมง ของคุณ )
             การจัดการศึกษาต่อเนื่อง นั้น ประกอบด้วย
            
- การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
            
- การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
            
- การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
             ให้ดำเนินการจัดการศึกษาต่อเนื่องโดยจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้นใน
2 รูปแบบ ได้แก่


             รูปแบบที่ 1  ชั้นเรียนวิชาชีพระยะสั้น  ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษา กศน. ใช้วิทยากรในการสอน สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนกับค่าวัสดุเท่านั้น จัดได้ 2 แบบ คือ
                        1.1  แบบกลุ่มสนใจ  เป็นการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรละไม่เกิน 30 ชั่วโมง วันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง
                        
1.2  แบบชั้นเรียนวิชาชีพระยะสั้น  เป็นการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรละ 31 ชั่วโมงขึ้นไป  ส่วนกลางไม่กำหนดจำนวนชั่วโมงต่อวัน ผู้บริหารระดับจังหวัด/อำเภอสามารถกำหนดได้

             รูปแบบที่ อบรมประชาชน  เป็นหลักสูตรระยะสั้นที่ใช้กระบวนการฝึกอบรมให้กับประชาชน ไม่ต้องลงทะเบียนเป็นนักศึกษา กศน. สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทน ค่าวัสดุ ค่าอาหารว่าง และอาหารกลางวันได้


วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

1.ปัญหาระหว่างครูอาสาฯกับครู กศน.ตำบล เรื่องผู้ไม่รู้หนังสือ, 2.มาสายกี่ครั้ง-ลงโทษอย่างไร, 3.คะแนนประเมินพนักงานราชการเป็นความลับไหม, 4.กลุ่มสนใจวันละไม่เกิน 3 ชม., 5.ผอ.ย้ายตามคำร้องขอ จะเบิกค่าเช่าซื้อบ้านต่อได้ไหม,.6.ทำความเข้าใจเรื่องการย้ายของผู้บริหาร, 7.การขอหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาต



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เช้าวันที่ 1 ธ.ค.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ครู กศน.ตำบล  มีหน้าที่เกี่ยวกับผู่ไม่รู้หนังสือมั้ย เห็นเขาว่าไม่เกี่ยวข้อง  ซึ่งความจริงแล้ว ครูอาสาจะสอนได้ต้องมาจากการสำรวจข้อมูลผู้ไม่รู้หนังสือจากตำบลใช่มั้ย ครูอาสายังลงพื้นที่ได้เหมือนเดิมมั้ย

             ผมตอบว่า   ตามบทบาทหน้าที่ครูอาสาฯที่กำหนดไว้กับ ก.พ.ร.นั้น ครูอาสาฯต้องสอนผู้ไม่รู้หนังสือ 35 คน ( ปีละ 2 รอบการประเมิน รวมปีละ 70 คน ) แต่ก็ไม่ได้แปลว่าครูอาสาฯจะผูกขาดห้ามคนอื่นเกี่ยวข้องกับผู้ไม่รู้หนังสือ ( ท่านเลขาฯคนเก่า ให้ครู กศน.ทุกคนแบ่งกันสอนผู้ไม่รู้หนังสือ ) ฉะนั้น จึงอยู่ที่บริบทและการบริหารจัดการของสถานศึกษาแต่ละแห่ง

             ตามบทบาทหน้าที่ครูอาสาฯ "ต้อง" ลงพื้นที่นะ เฉพาะการสอนผู้ไม่รู้หนังสืออย่างเดียวก็ต้องลงพื้นที่แล้ว ถ้าไม่มีผู้ไม่รู้หนังสือครูอาสาฯก็ต้องสอน กศ.ขั้นพื้นฐานภาคเรียนละ 60 คน ครูอาสาฯบางคนก็เป็นหัวหน้า กศน.ตำบล ถ้าครูอาสาฯดูแล 4 ตำบล จะให้ครูอาสาฯสำรวจผู้ไม่รู้หนังสือเองทั้งใน 4 ตำบล หรือจะให้ครู กศน.ตำบลสำรวจ หรือช่วยกันสำรวจ ก็อยู่ที่การบริหารจัดการของแต่ละอำเภอ ( แต่ กศน.ตำบลต้องมีข้อมูลจุลภาค ซึ่งรวมข้อมูลผู้ไม่รู้หนังสือในตำบลนั้น )
             การลงโปรแกรม ใครเป็นผู้สอนหรือดูแลรับผิดชอบผู้ไม่รู้หนังสือก็ให้ครูคนนั้นเป็นผู้ลงเป็นผลงาน ส่วนครูที่สำรวจผู้ไม่รู้หนังสือแต่ไม่ได้สอนหรือรับผิดชอบก็ไม่ต้องลงในความรับผิดชอบของตน  กรณีครูอาสาฯดูแลมากกว่า 1 ตำบล ให้นำงานของครูอาสาฯมาลงโปรแกรมเป็นบุคลากรของในระดับอำเภอ เช่นเดียวกับ ขรก.ครู  โดยไม่ต้องไปลงในระดับตำบลเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน

         2. วันเสาร์ที่ 3 ธ.ค.59 ผมตอบคำถาม ฟ้าส่งมา ฟ้าส่งมา ที่ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คว่า
             1)  กรณีครู กศน.ตำบล ลาคลอดลูก 90 วัน ใครมีอำนาจอนุญาต
             2)  ระเบียบการมาสายของข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และ พรก. มีมั้ย สายกี่ครั้ง/ลงโทษอย่างไร
             3)  ระเบียบการลาต่างๆ ของลูกจ้างประจำใช้แบบเดียวกันกับข้าราชการทั้งหมดเลยมั้ย

             ผมตอบว่า   กรณีพนักงานราชการลาคลอดใครอนุญาต - กรณีระเบียบการลาของข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ/พนักงานราชการ/ลูกจ้างชั่วคราว ใช้คนละฉบับ - และกรณีมาสายเกิน 18 ครั้ง ไม่มีสิทธิเลื่อนขั้น/เลื่อนค่าตอบแทน เหล่านี้ ผมเคยโพสต์ 3 ครั้งแล้ว ครั้งนี้จะขอไม่ตอบซ้ำ ๆ ซาก ๆ อีก

             ส่วนประเด็นมาสายกี่ครั้งลงโทษอย่างไร นอกเหนือจากไม่ได้เลื่อนขั้น/เลื่อนค่าตอบแทนถ้ามาสายเกิน 18 ครั้ง นั้น ถ้าหมายถึงการลงโทษทางวินัย การมาสายเฉย ๆ ยังไม่ถึงกับผิดวินัย ต้องประกอบกับอื่น ๆ ด้วย เช่น มาสายเป็นประจำโดยเคยตักเตือนหรือทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้แล้ว แต่ก็ไม่ปฏิบัติตนให้ดีขึ้น หรือมาสายแล้วเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายเช่นทำงานไม่ทัน ก็จะผิดวินัยฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการด้วยความตั้งใจอุตสาหะและเอาใจใส่  สำหรับการลงโทษ ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของพฤติกรรมและความเสียหายที่เกิดขึ้น

         3. คืนวันที่ 6 ธ.ค.59 Suphawan PHolyiam ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ในการประเมินพนักงานราชการ คะแนนที่เราได้เป็นความลับไหม เราสามารถขอดูคะแนนที่เราได้ ได้ไหม

             ผมตอบว่า   ไม่เป็นความลับ แต่ต้องเปิดเผย โดย
             1)  ในแบบประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานราชการทั่วไป พนักงานราชการต้องลงลายมือชื่อรับทราบผลการประเมิน ซึ่งระบุคะแนนและระดับผลการประเมิน
                  ทั้งนี้ ค.พ.ร. กำหนดหลักการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการว่า "มีประสิทธิภาพ โปร่งใส เป็นธรรม" จะให้ลงชื่อรับทราบโดยปิดบังไม่ให้เห็นระดับผลการประเมินไม่ได้
             2)  บัญชีรายละเอียดแนบท้ายคำสั่งเลื่อนค่าตอบแทน ก็ระบุคะแนนของแต่ละราย ซึ่งต้องให้พนักงานราชการรับทราบคำสั่ง
              ( ประเด็นนี้ เคยตอบแล้ว เช่นในข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/02/15y.html )

         4. วันที่ 7 ธ.ค.59 แดง พัฒนสิน กศน.พิชัย ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การศึกษาต่อเนื่อง รูปแบบกลุ่มสนใจและแบบชั้นเรียนวิชาชีพ สอนเกินวันละ 3 ชั่วโมงได้หรือเปล่า อ่านไม่พบข้อห้าม เกรงจะเบิกค่าวิทยากรผิดพลาด

             ผมตอบว่า   กลุ่มสนใจวันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง  เป็นข้อสั่งการ-นโยบาย  ดูในข้อสั่งการฯโดยเลขาฯ ข้อ 13.1 (1) ที่
             -  https://www.dropbox.com/s/96bdpkol63o6vvl/briefPolicy60.pdf?dl=1
             https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10205884682956615

         5. เย็นวันที่ 8 ธ.ค.59 ผอ.กศน.อ. ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ค ว่า  หากเช่าซื้อในอำเภอ ก แต่จะขอย้ายไปอำเภอ ข ในต่างจังหวัด แล้วที่เบิกเช่าซื้อไว้จะเบิกในอำเภอ ก ได้ไหม

             ผมตอบว่า   ไม่ได้  ถ้าย้ายไปท้องที่ใหม่ที่ไม่ใช่ท้องที่เดิมที่เคยเบิกค่าเช่าซื้อบ้าน จะเบิกค่าเช่าซื้อบ้านต่อได้เฉพาะกรณีท้องที่ใหม่ก็มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน แต่การย้ายตามคำร้องขอของตนเองนี้ท้องที่ใหม่ไม่มีสิทธิเบิกค่าเช่าบ้าน จึงไม่สามารถเบิกค่าเช่าซื้อบ้านต่อได้

         6. วันที่ 9 ธ.ค.59 ผมได้รับแจ้งทางโทรศัพท์จากผู้ใหญ่ในส่วนกลาง ให้โพสต์ทำความเข้าใจเรื่องการย้าย ดังนี้

             1)  การขอย้ายตามความประสงค์/ความจำนง ของ ขรก.ครู และผู้บริหารสถานศึกษา จะเบิกค่าเช่าบ้านไม่ได้  เป็นไปตาม ว 8 หลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  ( ดูหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.3/8 ลงวันที่ 5 ก.ค.49 นี้ได้ที่ https://db.tt/8IFK2giK )
             2)  ส่วนการย้าย ผอ.กศน.จังหวัด/กทม. ไม่ใช่สถานศึกษา ไม่ได้ใช้ ว 8 และมีจำนวนน้อย ส่วนกลางจะพิจารณาให้ย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยไม่ต้องแสดงความประสงค์/ความจำนงขอย้าย
             3)  การพิจารณาย้าย ผอ. ต้องดูขนาดสถานศึกษาด้วย
             4)  ถ้าจะยื่นขอให้ส่วนกลางพิจารณาย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ต้องมีรายละเอียดประกอบให้เข้าเกณฑ์การย้ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ

         7. วันที่ 15 ธ.ค.59 ฝน ธีรกานต์ ถามในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  การขอให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต้องทำยังไงบ้าง และใช้หลักฐานการยื่นอะไรบ้าง

             มีผู้ช่วยกันตอบ  โดยผมร่วมตอบ ว่า
             หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ นี้ สถานศึกษาเป็นผู้ขอ ( ผอ.ลงนามในหนังสือราชการถึงคุรุสภา )  ขอในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจ้างคนที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู มาเป็นครูสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน   หนังสืออนุญาตนี้ใช้สมัครเรียน ป.บัณฑิตได้ แต่ใช้สมัครสอบครูผู้ช่วยไม่ได้  ถ้าหนังสืออนุญาตนี้หมดอายุหรือย้ายสถานศึกษา ก็ต้องขออีกเป็นครั้งที่สอง - สาม ( ขอได้สามครั้งรวมไม่เกิน 6 ปีเท่านั้น ต้องรีบเรียน ป.บัณฑิต หรืออบรม ให้ผ่านก่อนหนังสือจะหมดอายุครั้งที่สาม )
             - ดูแนวปฏิบัติการขอหนังสืออนุญาต ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teacherOKcri.pdf 
             - ดาวน์โหลดแบบขออนุญาตฯ (คส.09.10) และตัวอย่างหนังสือนำส่งจากสถานศึกษา ที่  http://www.pattani2.go.th/activity/detail_download.php?aid=31
             - ดูตัวอย่างตารางสอน ตอนท้ายข้อ 8 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/507502 
              ( สถานศึกษาต้องส่งเรื่องถึงคุรุสภาก่อนสิ้นสุดสัญญาจ้างไม่น้อยกว่า 4 เดือน  ครูจ้างเหมาบริการก็ต้องขอ )

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

1.มาตรการประหยัดงบประมาณ ยังใช้อยู่ไหม ใช้ฉบับของปีไหน, 2.ระดับประถมเริ่มสอบ N-NET ตั้งแต่ภาคเรียนใด, 3.ผมว่าเรื่องนี้สำคัญ แต่ละจังหวัดทำไมทำไม่เหมือนกัน, 4.หลักฐานการจบ ป.4 ไม่ระบุวิชาที่เรียน จะใช้เทียบโอนได้ไหม, 5.จ้างเหมาบริการมีสิทธิสอบครูผู้ช่วยไหม/ปกติจะไม่มีการขึ้นบัญชี, 6.หลักเกณฑ์การสอบ ผอ.+รอง ผอ.สนง.กศน.จังหวัด, 7.ขรก.ครูเรียนต่อไม่ตรงสาขาจะใช้ปรับวุฒิหรือใช้ลดเวลาทำชำนาญการไม่ได้



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 15 พ.ย.59 มี ผอ.กศน.ข. โทร.มาถามผม ว่า  ปัจจุบันยังใช้มาตรการประหยัดงบประมาณฉบับปี 56 อยู่หรือไม่

             เรื่องนี้  ผมเรียนถามหัวหน้ากลุ่มงานตรวจจ่าย กลุ่มการคลัง กศน. เมื่อวันที่ 16 พ.ย.59 ได้รับคำตอบว่า  ยังใช้มาตรการประหยัดงบประมาณของ สป.ศธ. ฉบับล่าสุด คือฉบับปี 56 อยู่ ( ดูได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/saveMeasure.pdf ) โดยให้ใช้ไปจนกว่าจะมีฉบับใหม่

         2. วันเดียวกัน ( 15 พ.ย.) TheJeab Ungkanawin ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  นศ.ประถมฯเริ่มสอบ N-Net ครั้งแรกตั้งแต่ภาคเรียนใด (มี นศ.ประถม รหัส 5321.. มาขอใบ รบ. ซึ่งระบุจบภาคเรียนที่ 1/55 แต่ไม่ได้บันทึกการสอบ N-Net พยายามหาข้อมูลการสอบแล้วแต่ไม่พบ)

             ผมตอบว่า   เกณฑ์การจบหลักสูตรข้อที่ว่า เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ นี้ เริ่มมีในหลักสูตร 51 ซึ่งทุกระดับรวมทั้งระดับประถม ต้องผ่านเกณฑ์นี้ตั้งแต่เริ่มใช้หลักสูตร 51 เหมือนกัน เพียงแต่ระยะแรก แบบทดสอบการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติระดับประถม จัดทำโดย กศน.เอง  โดยเปลี่ยนเป็นใช้แบบทดสอบที่จัดทำโดย สทศ. ( N-NET ) ตั้งแต่ภาค 2/55  แต่ก่อนหน้านั้นระดับประถมก็ต้องผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ( NT ) เช่นกัน

         3. บางจังหวัดให้ผู้จบ ป.4 สมัยก่อน เรียนต่อ ม.ต้นได้เลย  บางจังหวัดให้เรียนระดับประถมโดยเทียบโอนวุฒิ ป.4 เข้าระดับประถมได้ 24 หน่วยกิต
             - ถ้าไม่ต้องเรียนประถม แล้วจังหวัดที่ให้เรียนประถม ก็ทำให้เขาเสียเวลาเสียโอกาสเสียค่าใช้จ่าย ( แม้เรียนฟรี ก็มีค่าใช้จ่ายบางอย่าง )
             - ถ้ายังไม่มีสิทธิเรียน ม.ต้น แล้วบางจังหวัดให้เรียน ม.ต้น การเรียน ม.ต้น และระดับต่อจากนั้น จะเป็นโมฆะทั้งหมด เป็นปัญหาใหญ่ในภายหลัง

             เย็นวันที่ 16 พ.ย.59 เจี๊ยบ ลูก พ่อรุณฯ โพสต์บ่นในเฟซบุ๊คของตน ว่า  ขอความชัดเจนแต่ทีแรกก็ไม่มีให้ มาวันนี้ดึงออกเกือบหมด บอกว่าคนที่จบ ป.4 สมัยเก่าแสดงว่าจบประถมแล้ว เอามาเรียนประถมไม่ได้ ให้เรียน ม.ต้นเลย จะบ้าตาย ชัยภูมิ ท่านดึงใบสมัครออกแล้ว

             ผมจึงเข้าไปซักถาม และคุยกันต่อในอินบ็อกซ์ ได้ความว่า  ท่าน ผอ.จังหวัดชัยภูมิ บอกว่า จบ ป.4 ในสมัยก่อน ถือว่าเป็นชั้นสูงสุด ภาคบังคับสมัยนั้นแค่ ป.4 เทียบได้กับจบ ป.6 ให้นำวุฒิ ป.4 ที่ระบุว่าสอบไล่ชั้นสูงสุด มาสมัคร ม.ต้น จะลงเรียนประถมไม่ได้
              (นักศึกษากลุ่มนี้ เรียนประถมมาแล้ว 1 ภาคเรียน)
             คณะกรรมการตรวจเอกสาร ใช้วิธีเช็ค ใน จปฐ. ถ้า จปฐ.บอกว่าจบประถม ก็ให้เรียน ม.ต้น (นักศึกษาบางคนยืนยันว่ายังไม่จบประถม จบแค่ ป.4)

             ผมบอกว่า  จบ ป.4 ก่อน พ.ศ.2507 ตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ.2494 ถือว่าจบการศึกษาภาคบังคับ แต่การจบการศึกษาภาคบังคับไม่ได้แปลว่าเทียบเท่าจบ ป.6 ในปัจจุบัน ไม่เกี่ยวกัน
             การรับสมัครต้องดูจากใบวุฒิเดิมเป็นสำคัญ ส่วน จปฐ.ไม่สำคัญ ไม่เกี่ยว
             คุณสมบัติของผู้สมัครระดับ ม.ต้น ที่กำหนดไว้ในคู่มือฯ ไม่มีระบุว่าจบการศึกษาภาคบังคับเลย แต่ระบุว่า สอบได้วุฒิหรือระดับชั้นอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
             - มัธยมปีที่ 3 (ม.3 เดิม) หรือ
             - ประถมศึกษาปีที่ 7 (ป.7) หรือ
             - ประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) หรือ
             - การศึกษาผู้ใหญ่ระดับที่ 3 หรือ
             - การศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จระดับที่ 3 หรือ
             - หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับประถมศึกษา หรือ
             - นาฏศิลป์ขั้นต้นปีที่ 3 หรือ
             - วุฒิอื่นที่กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้เทียบเท่าประถมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 หรือ
             - นักธรรมชั้นเอกหรือธรรมศึกษาเอก หรือ
             - ใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือ
             - ใบรับรองวุฒิการสอบเทียบความรู้ประถมปีที่ 7 เพื่อสิทธิบางอย่าง หรือ
             - เป็นผู้ที่เคยศึกษาหลักสูตรต่างประเทศ ระดับชั้น(เกรด) การศึกษาปีที่ 7 หรือ
             - สอบได้ระดับชั้น(เกรด) การศึกษาอย่างน้อยปีที่ 7 หรือสอบตก ป.7 ปีการศึกษา 2550 ถือว่าได้ ป.6
             สำหรับพระภิกษุสามเณรจะต้องมีคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้นและต้องสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโท

         4. เช้าวันที่ 17 พ.ย.59 Gudapach Suwantemee ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  มีนักศักษา ทำวุฒิ ป.4 หาย เขาไปขอ รร.เดิม แต่ทาง รร.ไม่มีวุฒิเดิมของเขาแล้ว จึงคัดทะเบียนผู้จบมาให้ แล้วลงตราประทับ รร. แต่ไม่มีรายวิชาที่เขาจบ ป.4 แต่ในนั้นลงว่าจบชั้น ป.4 เขาต้องเรียนประถม กศน.ใหม่ใช่ไหม หรือเทียบวิชา ป.4 ให้เขาได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าหลักฐานเชื่อถือได้ว่าจบ ป.4 แม้หลักฐานนั้นจะไม่มีชื่อวิชาที่เรียน ป.1-4 ก็เทียบวิชา ป.4 ให้เขาได้ 24 หน่วยกิต
              ( ตามแนวทางการเทียบโอนฯ ระบุว่าการเทียบโอนผลการเรียนของผู้ที่จบระดับประถมศึกษาปีที่ 4 และได้ใบสุทธิที่มีผลการเรียนรวม ให้เทียบโอนระดับประถมศึกษาจำนวน 24 หน่วยกิต ให้ผลการเรียนเป็น ผ่าน ในรายวิชาต่อไปนี้ ... ...” )
             ถ้า เรายอมรับหนังสือรับรอง ( ของ กศน.เอง ถ้าเป็นหลักสูตรก่อนปี 44 ตอนนี้เราก็ออกเป็นหนังสือรับรองเช่นกัน แสดงว่าหนังสือรับรองก็ใช้ได้ )  ใบสุทธิก็ไม่ได้มีข้อมูลมากไปกว่า จึงย่อมเทียบโอนได้เช่นกัน
             การเทียบโอนจาก ป.4 ไม่ใช่การเทียบโอนจากวิชาต่อวิชา แต่เป็นการเทียบโอนจากหลักสูตรในภาพรวม ผลการเทียบโอนเป็น ผ่าน  ฉะนั้นในใบสุทธิหรือหนังสือรับรอง จะมีหรือไม่มีผลการเรียนแต่ละวิชา ก็เทียบโอนได้เลย ให้เทียบโอนได้ 24 หน่วยกิตเท่ากันหมดทุกคน
             ต่างจากการเทียบโอนจากระดับ ป.6 ม.3 ม.6 ที่เทียบโอนจากวิชาต่อวิชา ผลการเทียบโอนแต่ละวิชาจะเป็นเกรด จึงต้องมีผลการเรียนของแต่ละวิชาที่เรียนมา จึงจะเทียบโอนได้

         5. เช้าวันที่ 24 พ.ย.59 คน พืเศษ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ที่ว่าทาง กศน.จะมีการเปิดสอบครูผู้ช่วยนั้น สอบในกรณีพิเศษหรือทั่วไป ลูกจ้างเหมาบริการมีสิทธิ์ที่จะสมัครสอบได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   จะสอบในกรณีพิเศษก่อน โดยสอบตามหลักเกณฑ์การสอบกรณีมีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ของ ก.ค.ศ.ข้อ 6 ( ดูได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/V12testTeacher.pdf ) ซึ่งระบุว่า
              “การบรรจุและแต่งตั้งครูอัตราจ้างหรือลูกจ้างชั่วคราวจากเงินงบประมาณ หรือเงินรายได้ของสถานศึกษา พนักงานราชการ ครูสอนศาสนาอิสลาม ลูกจ้างประจำ พนักงานจ้างเหมาบริการ ซึ่งทุกตำแหน่งต้องได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย

จะเห็นว่า มีคำว่า พนักงานจ้างเหมาบริการอยู่ด้วย แต่ไม่มีข้าราชการ ฉะนั้น จ้างเหมาบริการมีสิทธิสมัครสอบ แต่ ขรก.เช่น ขรก.ตำแหน่งบรรณารักษ์จะสมัครสอบเพื่อเปลี่ยนเป็น ขรก.ครู ไม่ได้
             อย่างไรก็ตาม การสอบเป็น ขรก.ครู ต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ อีก ดูในข้อ 7 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2015/04/etv.html
             อนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ.นั้น ถ้าดูในหน้า 3 ข้อ 8 กำหนดว่าการสอบกรณีนี้ ให้บรรจุและแต่งตั้งผู้ผ่านการคัดเลือกให้ครบตามจำนวนตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร โดยไม่ขึ้นบัญชี
             ฉะนั้น ถ้า กศน.จะเปิดรับสมัครสอบครูผู้ช่วย จะต้องขอทำความตกลงกับ ก.ค.ศ.เพื่อขอขึ้นบัญชี 1 ปี ก่อน

         6. การประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ 11/59 วันศุกร์ที่ 25 พ.ย.59 เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รอง ผอ. และ ผอ. สนง.กศน.จังหวัด/กทม. ดังนี้

             1)  ให้ อ.ก.ค.ศ. สป.ศธ. เป็นผู้ดำเนินการคัดเลือก โดยกำหนดวันเวลาในการดำเนินการคัดเลือก และจำนวนตำแหน่งว่างเพื่อใช้ในการบรรจุและแต่งตั้งครั้งแรก
             2)  ให้ อ.ก.ค.ศ. สป.ศธ. ประกาศรับสมัครคัดเลือก ไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันรับสมัคร
             3)  ให้สำนักงาน กศน. รับสมัครคัดเลือกไม่น้อยกว่า 7 วันทำการ โดยยื่นสมัครตามแบบหรือวิธีการที่ อ.ก.ค.ศ. สป.ศธ.กำหนด

             4)  ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่งรอง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สำนักงาน กศน.
                  - มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งรอง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - ดำรงตำแหน่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้  ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สถานศึกษา ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่ารอง ผอ.ชำนาญการพิเศษ หรือ ดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่า ผอ.ชำนาญการพิเศษ หรือ ดำรงตำแหน่ง ศน. ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่า ศน.เชียวชาญ หรือ ดำรงตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำว่าหัวหน้ากลุ่มหรือผู้อำนวยการกลุ่ม มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าอันดับ คศ.3 หรือไม่ต่ำกว่าระดับชำนาญการพิเศษ
                  - มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา
                  - ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

             5)  ผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการคัดเลือก ตำแหน่ง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัด สำนักงาน กศน.
                  - มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ. กำหนด เป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง ผอ.สนง. กศน.จังหวัด/กทม.
                  - ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สนง. กศน. จังหวัด/กทม. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และรับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้นต่ำของอันดับ คศ.4 หรือดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่า ผอ.เชี่ยวชาญ
                  - มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษา
                  - ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

             6)  ดำเนินการคัดเลือกโดยการประเมิน 2 ภาค คือ ภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป และภาค ข ความเหมาะสมกับตำแหน่ง  ผู้ผ่านการคัดเลือกต้องได้คะแนนภาค ก และภาค ข แต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60  โดยเรียงลำดับจากผู้ที่ได้คะแนนรวมสูงสุดจากมากไปหาน้อย
             7)  บัญชีผู้ได้รับการคัดเลือก ให้มีอายุบัญชีไม่เกิน 1 ปี
             8)  ในกรณีผู้ได้รับการคัดเลือกรายใดถึงลำดับที่ที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้ได้รับการคัดเลือกรายนั้นไม่มารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุและแต่งตั้งตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด หรือไม่สมัครใจที่จะได้รับการบรรจุและแต่งตั้ง หรือมารายงานตัวแต่ไม่เลือกหน่วยงานการศึกษาที่จะบรรจุและแต่งตั้ง หรือแจ้งสละสิทธิ์การบรรจุและแต่งตั้ง กรณีใดกรณีหนึ่ง  ให้เรียกตัวผู้ที่อยู่ในลำดับถัดไปมารายงานตัวเพื่อรับการบรรจุและแต่งตั้ง แทน

         7.
ก.ค.ศ. กำหนดใหม่ ให้ ขรก.ครูที่เรียนต่อสาขาวิชาที่
            1)  ไม่ใช่สาขาวิชาที่เรียนจบ ป.ตรี และหรือ ป.โท  หรือ
            2)  ไม่ตรงกับสาขาวิชา/กลุ่มสาระการเรียนรู้ ที่สอนหรือเคยสอน  หรือ
            3)  ไม่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมการเรียนรู้ ตามที่ส่วนราชการต้นสังกัดกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.ค.ศ.
            เมื่อเรียนจบ จะใช้วุฒินั้นขอปรับเพิ่มเงินเดือนตามวุฒิ หรือใช้เป็นคุณสมบัติในการลดเวลาทำชำนาญการ ไม่ได้

            เรื่องขอปรับเพิ่มเงินเดือนตามวุฒิไม่ได้นั้น ไม่ค่อยเป็นไร เพราะปัจจุบันเมื่อครูผู้ช่วยบรรจุครบ 2 ปี เป็น คศ.1 เงินเดือนขั้นต้นของ คศ.1 ก็ไม่น้อยกว่าเงินเดือนวุฒิ ป.โท อยู่แล้ว
            แต่ในส่วนของลดเวลาทำชำนาญการไม่ได้ จะมีผลกระทบมากกว่า
            เช่น เรียนจบ ป.ตรี ในสาขาวิชาเอกวิทยาศาสตร์ แล้วมาสอบบรรจุเป็นครู และเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์กับวิชาภาษาไทย แต่ ศึกษาต่อ ป.โท สาขาบริหารการศึกษา หรือสาขาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาไทย และไม่เป็นประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน/ส่งเสริมการเรียนรู้  จะลดเวลาทำชำนาญการไม่ได้
            ( ให้ สป.ศธ.เสนอรายชื่อวุฒิ ป.โท และ ป.เอก ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน/ส่งเสริมการเรียนรู้ ตามข้อ 3. ให้ ก.ค.ศ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในวันที่ 16 ม.ค.60 )

            หลักเกณฑ์นี้ มีผลกับเฉพาะผู้ที่เริ่มเรียนตั้งแต่ 9 ธ.ค.59 เป็นต้นไปเท่านั้น ไม่มีผลบังคับกับผู้ที่จบ หรือขออนุญาตลาศึกษาต่อก่อนวันที่ 9 ธ.ค.59