วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563

1.ตำแหน่งครูอาสาฯว่าง จะจ้างครูอาสาฯคนใหม่ได้ไหม, 2.การสอบ E-Exam กรณีปกติ กับกรณีพิเศษ, 3.ใบ รบ.ตอนจบเป็นฆราวาส สูญหาย มาขอใหม่ตอนเป็นพระ ไม่มีรูปฆราวาสแล้ว ทำอย่างไร?, 4.คุมสอบภาคบ่าย 40 นาที จ่ายค่าตอบแทนอย่างไร, 5.ฝากสอบได้ไหม, 6.เลื่อนสอบได้ไหม, 7.จบ ม.6 แล้วบวช อยากเรียนธรรมจะต้องเริ่มชั้นไหน


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันเสาร์ที่ 29 ก.พ.63 มี ผอ.กศน.อำเภอ ถามผมทางไลน์ ว่า  อาจารย์มีหนังสือสั่งการ หรือแจ้งจากสำนักงาน กศน ไหม ที่มีเนื้อหาทำนองว่า เมื่อครูอาสาสมัครฯ ของสถานศึกษาว่าลง หากสถานศึกษายังมีความจำเป็นที่ต้องมีครูอาสาสมัคร ก็สามารถบรรจุในตำแหน่งเดิมได้ หรือจะเปลี่ยนเป็นตำแหน่งนักวิชาการก็ โดยบรรจุในสถานศึกษานั้น คือไม่อยากให้จังหวัดตัดตำแหน่งครูอาสาสมัครไป ครูอาสาสมัคร จะเกษียณ ก.ย นี้

             ผมตอบว่า   เรื่องตำแหน่งครูอาสาฯ ล่าสุดต้องดำเนินการตามข้อ 2 ของหนังสือในภาพประกอบโพสต์นี้ คือ
             1)  ถ้าจังหวัดนั้นมีจำนวนครูอาสาฯมากกว่าจำนวนอำเภอ เมื่อมีครูอาสาฯออกด้วยเหตุใดๆก็ตาม ต้องขอเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯที่ว่างลงนั้น เป็นตำแหน่งอื่นที่เหมาะสม เช่นถ้าอำเภอไม่มีข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ก็เปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯที่ว่างเป็นพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ แล้วเลิกจ้างเหมาบริการตำแหน่งบรรณารักษ์ เป็นต้น
                  เปลี่ยนตำแหน่งแล้วอยู่ที่อำเภอเดิมหรือจะย้ายไปอยู่ที่อำเภออื่น จังหวัดก็คุยกับอำเภอแล้วจังหวัดเสนอขอไปที่ส่วนกลาง
             2)  ถ้าจังหวัดนั้นมีจำนวนครูอาสาฯไม่มากกว่าจำนวนอำเภอ แม้มีครูอาสาฯออกด้วยเหตุใดๆก็ตาม จะขอเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯที่ว่างลงนั้นเป็นตำแหน่งอื่นที่เหมาะสม หรือจะจ้างในตำแหน่งครูอาสาฯคนใหม่ก็ได้  ถ้าจะเปลี่ยนตำแหน่งหรือจ้างครูอาสาคนใหม่แล้วจะให้อยู่ที่อำเภอเดิมหรืออำเภอใด จังหวัดก็คุยกับอำเภอต่างๆ ถ้าสรุปว่าไม่เปลี่ยนตำแหน่งและไม่เปลี่ยนอำเภอก็ไม่ต้องแจ้งส่วนกลาง จังหวัดจ้างครูอาสาฯคนใหม่ไว้อำเภอเดิมได้เลย แต่ถ้าจะเปลี่ยนตำแหน่ง และ/หรือ เปลี่ยนอำเภอ จังหวัดต้องเสนอส่วนกลาง

         2. วันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 29 ก.พ.) ผมถามข้อมูลความรู้จาก อ.ธานี เครืออยู่ กลุ่มพัฒนา กศน. ทางไลน์ เรื่องการสอบ E-Exam กรณีปกติกับกรณีพิเศษ ได้รับความรู้จาก อ.ธานี สรุปได้ดังนี้

             1)  การสอบ E-Exam กรณีปกติ มีกรณีเดียว คือ เคยส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ของ สทศ.แล้วขาดสอบ จะขอสอบ E-Exam ในภาคเรียนหลังจากภาคเรียนที่ขาดสอบ N-NET และจะสอบในศูนย์ทดสอบฯภายในจังหวัดที่เรียนนั้น
                  กรณีปกตินี้ สถานศึกษาสามารถลงทะเบียนสอบให้นักศึกษาในระบบออนไลน์ตามช่วงเวลาที่กำหนดได้เลย ไม่ต้องยื่นคำร้องไปถึงส่วนกลาง
             2)  การสอบ E-Exam กรณีพิเศษ มี 4 กรณีย่อย คือ
                  2.1  กรณีที่เคยส่งชื่อสอบ N-NET ของ สทศ.แล้วขาดสอบในภาคเรียนก่อนหน้า และภาคเรียนนี้ก็ไม่ได้ลงทะเบียนสอบ E-Exam "กรณีปกติ" ในช่วงเวลาที่กำหนด
                  2.2  กรณีที่เคยส่งชื่อสอบ N-NET ของ สทศ.แล้วขาดสอบในภาคเรียนก่อนหน้า และภาคเรียนนี้จะขอไปสอบที่ศูนย์ทดสอบฯต่างจังหวัด แม้จะสามารถลงทะเบียนสอบในช่วงเวลาปกติก็ตาม ถ้าจะขอไปสอบที่ศูนย์ทดสอบฯในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดที่เรียน ถือเป็นกรณีพิเศษหมด
                  2.3  กรณีส่งชื่อสอบ N-NET ของ สทศ.ในภาคเรียนนี้ แต่ขาดสอบโดยมีเหตุจำเป็น เช่น ป่วย ติดราชการทหาร เป็นต้น และจะขอสอบ E-Exam ปลายภาคเรียนที่ขาดสอบ N-NET นี้เลย
                  2.4  กรณีไม่เคยส่งชื่อสอบ N-NET ของ สทศ.แต่มีความจำเป็นต้องรีบจบ/ต้องใช้วุฒิการศึกษา ไม่สามารถรอส่งชื่อเข้าสอบ N-NET ได้
                  การขอสอบกรณีพิเศษทั้ง 4 กรณีย่อย นักศึกษาต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักฐานแสดงเหตุผลความจำเป็นประกอบการพิจารณา แล้วสถานศึกษาส่งไปยังสำนักงาน กศน.จังหวัด ถ้า สนง.กศน.จังหวัดพิจารณาว่ามีเหตุผลความจำเป็นที่เหมาะสม ก็ส่งคำร้องต่อไปยังสำนักงาน กศน.ในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ลงทะเบียนสอบต่อไป

         3. คืนวันเสาร์ที่ 29 ก.พ.63 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  มีปัญหานิดค่ะ พระจะขอใบรับรองวุฒิกศน. มปลาย (แทนใบเก่าที่หาย) ใช้รูปถ่ายพระสงฆ์ ถูกมั้ย คะ? ท่านบอกเจ้าหน้าที่ให้ใช้รูปถ่ายสวมเสื้อนักศึกษา ซึ่งท่านไม่มี เพราะเป็นพระ แบบนี้ทำยังไงคะ

             ผมตอบว่า   ตอนที่เรียนจนจบเป็นฆราวาส ได้ใบวุฒิติดรูปฆราวาส แต่ใบวุฒิหาย จะขอใหม่ เจ้าหน้าที่ขอรูปฆราวาส แต่ท่านไม่มีเพราะปัจจุบันท่านเป็นพระสงฆ์ ใช่ไหม ( คุณเป็นโยมของท่านใช่ไหม )
             การออกใบ รบ.(ใบวุฒิ) ตอนจบครั้งแรก รูปถ่ายต้องสอดคล้องกับคำหน้านาม ณ วันจบ เช่นถ้าคำนำหน้านามเป็นนายรูปถ่ายก็ใส่เสื้อฆราวาส ถ้าคำนำหน้านามเป็นพระภิกษุสามเณรรูปถ่ายก็สวมจีวร ถ้าคำนำหน้านามเป็นยศรูปถ่ายก็ใส่เครื่องแบบตามยศ
             แต่การออกใบ รบ.ตอนขอใหม่แทนใบเก่าที่สูญหาย ต่างกัน ผมเคยตอบประเด็นนี้แล้วในข้อ 4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/11/rachsute.html
             คุณลองนำคำตอบนี้และคำตอบในข้อ 4 ของผมนั้น ไปให้เจ้าหน้าที่ดู ถ้าเขาไม่เชื่อก็ขอคุยกับ ผอ.เขา ถ้าผอ.ไม่เชื่ออีกก็ขอคุยกับระดับเหนือขึ้นไปคือเริ่มจากระดับ กศน.จังหวัด
             คำตอบคือ ต้องใช้รูปที่ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน ณ เวลาปัจจุบันตอนขอใหม่นี้ แม้จะไม่สอดคล้องกับคำหน้านามในใบ รบ.ก็ไม่เป็นไร ( คำนำหน้านามใช้นายตามเดิม แต่รูปในใบ รบ.ที่ขอใหม่สวมจีวร ไม่เป็นไร )
             ประเด็นนี้ตรงข้ามกับคำตอบในข้อ 4 นั้น คือในข้อ 4 ใบ รบ.เดิมรูปสวมจีวร แต่ตอนขอใหม่ลาสิกขานานแล้ว รูปในใบ รบ.ใหม่เป็นฆราวาสแต่คำนำหน้านามเป็นสามเณร ซึ่งหลักการเดียวกันคือใช้รูปปัจจุบัน

             เมื่อผมนำ การถาม-ตอบนี้ ไปลงในไลน์โอเพนแช็ทกลุ่ม กศน. มีผู้ถามว่า กรณีนี้เขามีสิทธิ์ยื่นคำร้อง ขอเปลี่ยนคำนำหน้าให้ตรงกับปัจจุบันได้ไหมคะ
             ผมตอบว่า  ไม่ได้.. หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล-คำนำหน้า ต้องลงวันที่ก่อนวันอนุมัติการจบเท่านั้น ถ้าเปลี่ยนหลังจากนี้สถานศึกษาจะเปลี่ยนให้ไม่ได้ เมื่อเขานำใบ รบ.ไปใช้ที่ใดเขาต้องใช้ใบ รบ.ประกอบควบคู่กับใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล-คำนำหน้าเอาเอง
             และปกติการเปลี่ยนต้องแจ้งสถานศึกษาก่อนจบด้วย ถ้าหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ-สกุล-คำนำหน้านาม ลงวันที่ก่อนวันอนุมัติจบแต่เขาแจ้งสถานศึกษาหลังจบ กรณีนี้แล้วแต่สถานศึกษาจะอนุเคราะห์เปลี่ยนให้หรือไม่ก็ได้





         4. วันที่ 5 มี.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การสอบปลายภาคกรรมการกำกับห้องวันที่ 14มี.ค.63 คุมสอบภาคเช้าเริ่มเวลา 08.30-12.30 น. และภาคบ่ายเวลาเริ่มเวลา 16.00- 16.40 น. จ่ายค่าตอบแทนอย่างไรคะ

             ผมตอบว่า   กรณีนี้อนุโลมให้เบิกเต็มวัน แม้ช่วงกลางจะไม่ได้คุมสอบ เพราะเขาแต่งตัวออกจากบ้านมาแล้ว ช่วงกลางคงไม่ได้กลับบ้านไปเปลี่ยนเสื้อผ้าพักผ่อน
             ถ้าเริ่มคุมสอบหลัง 9.00 น. และ/หรือ เลิกสอบก่อน 16.00 น. จึงให้เบิกครึ่งวัน
             ( ดูคำตอบเก่าในข้อ 6 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2015/02/e-exam-7.html )

         5. เย็นวันที่ 6 มี.ค.63 มีผู้ถามผมทางไลน์กลุ่ม ITw NFE ว่า  นักศึกษามาสมัครเรียนไว้เทอมนี้พอหลังปีใหม่ลงไปทำงานที่ กทม.แล้วโทรมาว่าขึ้นมาสอบวันที่ 14-15 ไม่ได้ขอสอบใน กทม.ได้มั้ยเขาบอก กศน.ที่ไกล้ที่เขาอยู่มาให้ค่ะ หนูก็เลยประสานไปที่อำเภอว่าขอฝากสอบ เจ้าหน้าที่อำภอนี้บอกฝากไม่ได้ มีแบบนี้ด้วยเหรอ หนูก็เลยรบกวนถามอาจารย์ว่า กศน.เราฝากสอบกับอำเภออื่นหรือจังหวัดอื่นได้หรือไม่ค่ะจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องต่อไปค่ะ

             ผมตอบว่า   ฝากสอบอย่างเดียว หรือฝากเรียนอย่างเดียว ไม่ได้ ต้องฝากทั้งเรียนและสอบ ทั้งเทอมเลย โดยต้องฝากตั้งแต่ต้นเทอม มิฉะนั้นจะมีปัญหาหลายอย่าง เช่นวิชาไม่ตรงกัน จะเอาข้อสอบที่ไหน โดยเฉพาะวิชาเลือกเสรีไม่ค่อยตรงกัน แม้แต่วิชาบังคับ+เลือกบังคับ ก็ไม่ใช่ว่าทุกแห่งจะมีข้อสอบทั้ง 14+6 วิชาทั้ง 3 ระดับ ทุกเทอม เพราะแต่ละเทอมเปิดวิชาบังคับไม่ครบทุกวิชา ถึงจะมีบางวิชาตรงกัน แต่เขาจัดห้องสอบไปแล้วจะเอาเข้าโปรแกรมห้องสอบอย่างไร หรือให้สอบกับกรรมการกลางหรือเข้าห้องสอบที่มีคนขาดสอบ ตรวจข้อสอบที่ไหน ฯลฯ
             ผมเคยโพสต์เรื่องนี้หลายครั้งแล้ว ลองอ่านดู เช่นใน
             - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/09/51-55.html
             - ข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/03/5000.html
             - ข้อ 2 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2018/09/e-exam.html

         6. คืนวันเดียวกัน ( 6 มี.ค.) มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การสอบปลายภาคเรียน สมมุติว่า มีนักเรียนที่ทำงาน กับ อบต. แล้วเค้าติดภาระกิจไปราชการ ไม่สามารถมาสอบได้ตามกำหนดเวลา แต่เค้าทำหนังสือจากต้นสังกัดขอสอบปลายภาค หลังกำหนดการการสอบปลายภาค มายัง ผอ.อำเภอ แล้ว ผอ.อำเภออนุญาตให้สอบหลังกำหนดการสอบปลายภาคได้ มันมีระเบียบให้สามารถสอบหลังได้มั้ย

             ผมตอบว่า   กรณีมีเหตุจำเป็น การเลื่อนสอบ ต้องใช้ข้อสอบคนละฉบับ ส่วนกลางหรือภาคจะมีข้อสอบฉบับสำรอง ( คู่ขนานกัน แต่คนละฉบับ ส่วนใหญ่ทหารกองประจำการจะขอใช้ข้อสอบนี้สอบนอกตารางเพราะติดภารกิจ )
             การสอบที่ใช้ข้อสอบฉบับเดียวกัน โดยเฉพาะข้อสอบระดับชาติ จะสอบนอกตารางไม่ได้ เพื่อป้องกันข้อสอบรั่ว เมื่อสอบเสร็จกรรมการกลางต้องตรวจนับบรรจุคืนเข้าซอง ส่งคืนจังหวัด/ทำลาย
             ด้วยเหตุนี้จึงต้องแจ้งตารางสอบให้นักศึกษาทราบตั้งแต่ต้นเทอมเลย เพื่อให้เขามีเวลาเคลียร์ให้ว่าง (ไม่ใช่เคลียร์ที่เรา)
             ผมเคยตอบเหตุผลเรื่องนี้ 3-4 ครั้งแล้ว ลองดูใน
             - ข้อ 5 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2018/09/mou.html
             - ข้อ 6 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/474979
             ในส่วนของเอกสารอ้างอิง ไม่มี “ระเบียบ” โดยตรง แต่มีหนังสือราชการตั้งแต่ปี 2553 ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ( ตอนนั้นสถาบันภาคเป็นผู้พิมพ์ข้อสอบทั้งหมด ) คือหนังสือสำนักงาน กศน. ด่วนมาก ที่ ศธ 0210.03/4031 ลงวันที่ 17 พ.ย.2553 ระบุไว้ในข้อ 2. ว่า “กำหนดการเลื่อนสอบให้สถานศึกษาเป็นผู้กำหนดเอง โดยขอความเห็นชอบจากสำนักงาน กศน.จังหวัด ส่วนการสั่งข้อสอบกรณีเลื่อนสอบให้แจ้งขอข้อสอบที่สถาบัน กศน.ภาค”





         7. วันที่ 19 มี.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าเรียนจบม.6แล้วบวชอยากเรียนธรรมจะต้องเริ่มชั้นไหน

            ผมนำเรื่องนี้ไปถามในกลุ่มไลน์ต่าง ๆ   มีผู้รู้ระดับ ผอ. 3 ท่าน ช่วยตอบมาดังนี้
            ไม่ว่าจะมีวุฒิทางโลกสูงเพียงใดแล้ว การเรียนทางธรรมก็ต้องเริ่มต้นเรียนที่ชั้นต้นไปตามลำดับ ไม่มีการข้ามชั้น แต่มีนักธรรม กับเปรียญธรรม
            - นักธรรม ต้องเริ่มเรียนจากนักธรรมชั้นตรีก่อน ต่อด้วยชั้นโท ชั้นเอก
            - เปรียญธรรม(บาลี) ต้องเริ่มจากบาลีไวยากรณ์ก่อน แล้วต่อด้วย เปรียญธรรม ( ปธ.) 1 จนถึง 9 ตามลำดับ
            จะเรียนทั้งนักธรรมและเปรียญธรรมไปพร้อมกันก็ได้ แต่มีเงื่อนไขว่า
            เมื่อผ่าน ปธ.2 แล้วจะเริ่มเรียน ปธ.3 ต้องสอบได้นักธรรมชั้นตรีก่อน
            จะเริ่มเรียน ปธ 4 ต้องสอบได้นักธรรมโทก่อน
            จะสอบ ปธ 7 ต้องสอบได้นักธรรมชั้นเอกก่อน
            ได้ ปธ 3 ถ้าเป็นพระเขาก็เรียกท่านมหาแล้ว แต่ถ้าเป็นสามเณรจะไม่เรียกมหา แต่จะเรียกสามเณรเปรียญ
            ถ้าฆราวาสเรียนนักธรรม จะเป็นธรรมศึกษาตรี-เอก ถ้าเรียนเปรียญธรรม จะเป็นบาลีศึกษา ( บ.ศ.) 1-9