วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2558

1.ผอ.ขอดู หนังสือหรือระเบียบหลักเกณฑ์ ที่ว่า สอบซ่อมได้กี่คะแนนก็ผ่าน, 2.ขรก.เคยย้ายแล้วจะย้ายได้อีกเมื่อไร, 3.ครู กศน.ตำบล ขอย้ายสับเปลี่ยนตำบลในอำเภอเดียวกัน / ข้ามจังหวัดโดยไม่ต้องมีคู่สับเปลี่ยน, 4.เทียบวุฒิ กับ เทียบโอน, 5.ชายพักคู่กับสาวประเภทสอง, 6.เลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างลาไปศึกษาต่อภาคปกติ .. ยากส์.., 7.เจ้าหน้าที่ไม่บันทึกการทำกิจกรรม กพช.ที่ทำทุกเทอม / การคิดจำนวนชั่วโมง กพช.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 4 มิ.ย.58 อ.ฐิฎา กศน.อ.อุทัย ถามผมทางโทรศัพท์ ว่า  ผอ.ขอดู หนังสือหรือระเบียบหลักเกณฑ์ ที่ว่า สอบซ่อมได้กี่คะแนนก็ผ่าน หาดูในคู่มือแล้ว ไม่ชัด จะให้ดูหนังสือหรือระเบียบหลักเกณฑ์ฉบับไหน
             เรื่องนี้  ระเบียบหลักเกณฑ์กำหนดไว้ใน หนังสือ คู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555)” ปกสีเลือดหมู ที่ส่งให้ กศน.อำเภอทุกแห่ง เมื่อต้นเดือน ธ.ค.55 หน้า 44 ข้อ 4) กำหนดว่า
             การตัดสินผลการเรียนรายวิชา ให้นำคะแนนระหว่างภาคเรียนมารวมกับคะแนนปลายภาคเรียน ต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 จะถือว่าผ่านการเรียนในรายวิชานั้น ทั้งนี้ ผู้เรียนต้องเข้าสอบปลายภาคเรียนด้วย
             จากระเบียบหลักเกณฑ์นี้ ก็สามารถสรุปได้แล้วว่า สอบปลายภาค หรือสอบซ่อม ( รวมทั้งคะแนนระหว่างภาค ) ได้กี่คะแนนก็ผ่าน ถ้า คะแนนระหว่างภาครวมกับคะแนนปลายภาคหรือคะแนนสอบซ่อมแล้วได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยเข้าสอบปลายภาคเรียนด้วย
             ต่อมา ปี 2555 จึงมีประกาศสำนักงาน กศน. ฉบับลงวันที่ 8 ต.ค.55 กำหนดเพิ่มเติม ว่า “1. คะแนนสอบปลายภาคเรียนในรายวิชาบังคับทุกระดับการศึกษา ผู้เรียนต้องได้คะแนนสอบปลายภาคเรียนอย่างน้อยร้อยละ 30 ของคะแนนสอบปลายภาค (12 คะแนนจาก 40)”
             ประกาศเพิ่มเติมฉบับนี้ กำหนดบังคับเฉพาะ สอบปลายภาค วิชาบังคับเท่านั้น
             ส่วนสอบปลายภาควิชาเลือก และ สอบซ่อม ยังเหมือนเดิม คือ ได้กี่คะแนนก็ผ่าน
             อย่างไรก็ตาม แม้ส่วนกลางไม่ได้กำหนดเกณฑ์การผ่านการสอบปลายภาควิชาเลือกและการสอบซ่อม แต่สถานศึกษาแต่ละแห่งก็สามารถกำหนดเกณฑ์นี้ขึ้นมาเองหรือไม่ก็ได้
             ผมเคยเขียนเรื่องการสอบซ่อม ไว้ในข้อ 5-6 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2015/04/etv.html



         2. วันที่ 8 มิ.ย.58 พุธ ศรีภักดี ถามในไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า
             1)  เป็นข้าราชการครู ย้ายเมื่อมิถุนายน 2557 สามารถย้ายได้อีกเมื่อไร
             2)  ข้าราชการครู ย้ายเมื่อเมษายน 2558 สามารถย้ายสับเปลี่ยนกับข้าราชการครูที่ย้ายเมื่อมิถุนายน 2557 ได้หรือเปล่า สามารถเขียนได้ตอนไหน
             3)  ผู้บริหารย้ายเมื่อกุมภาพันธ 2558 สามารถย้ายได้อีกตอนไหน
             ผมตอบว่า   ตามหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ส่งพร้อมหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.3/8 ลงวันที่ 5 ก.ค.49 ดูได้ที่  https://db.tt/8IFK2giK )  กำหนดคุณสมบัติของผู้ย้าย การย้ายกรณีปกติ ไว้ในข้อ 5.1.2 ว่าดำรงตำแหน่งในหน่วยงานการศึกษาปัจจุบันไม่น้อยกว่า 12 เดือน นับถึงวันที่ยื่นคำขอ
              ( หลักเกณฑ์นี้ ใช้กับการย้ายสับเปลี่ยน และใช้กับผู้บริหาร ด้วย )

         3. วันที่ 10 มิ.ย.58 Ake Zy ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ถ้าจะย้ายสับเปลี่ยนพื้นที่ปฎิบัติงานอยู่ในอำเภอเดียวกันและตำแหน่งครู กศน.ตำบลเหมือนกัน ต้องมีขั้นตอนและรายละเอียดอย่างไร
             ผมตอบว่า   ถึงจะสับเปลี่ยนอยู่ในอำเภอเดียวกัน ก็ต้องส่งเรื่องไปถึงส่วนกลาง เหมือนกันกับการสับเปลี่ยนข้ามจังหวัด  ( ทั้ง 2 คน ทำบันทึกขอสับเปลี่ยน เสนอผ่าน ผอ.กศน.อำเภอ ๆ ลงความเห็นส่งไปที่จังหวัด จังหวัดพิจารณาส่งต่อไปที่ส่วนกลาง )  ดูขั้นตอนวิธีการย้ายข้ามอำเภอ/ข้ามจังหวัดได้ในข้อ 4 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/463102
             เพียงแต่ขั้นตอนจะน้อยลงตรงที่ตัดขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดอื่นออกไป และจังหวัดอาจไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเพราะสับเปลี่ยนอยู่ภายในการดูแลของ ผอ.กศน.อำเภอคนเดียว และ ผอ.ก็เสนอความเห็นมาแล้ว
             การที่ สับเปลี่ยนครู กศน.ตำบลภายในอำเภอเดียวกัน ต้องส่งเรื่องถึงส่วนกลาง เพราะ เลขที่ตำแหน่งของครู กศน.ตำบล ระบุลึกถึงว่าเป็นเลขที่ตำแหน่งของตำบลใด ไม่ใช่ระบุแค่อำเภอเหมือนตำแหน่งครูอาสาสมัครฯ
             ( ผมเคยเขียนเรื่องนี้ในข้อ 1 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/etv.html )
             ดูตัวอย่างในคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการที่ 1123/58 ( ดูที่  https://db.tt/LRKFjKPI )
             จะเห็นว่าในคำสั่งนี้ เลขที่ตำแหน่งบางตำแหน่ง ระบุพื้นที่แค่จังหวัด ไม่ระบุอำเภอ และบางตำแหน่งระบุพื้นที่ถึงระดับอำเภอไม่ระบุตำบล  แต่ เลขที่ตำแหน่งของตำแหน่งครู กศน.ตำบล จะระบุพื้นที่ลงลึกถึงตำบล
             ฉะนั้น การสับเปลี่ยนตำแหน่งครู กศน.ตำบล แม้สับเปลี่ยนอยู่ภายในอำเภอเดียวกัน ก็ต้องเป็นคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพราะต่างตำบลก็เลขที่ตำแหน่งต่างกัน
             ในคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงฉบับนี้ จะเห็นตัวอย่างการสับเปลี่ยนภายในอำเภอเดียวกันอยู่หลายคน เช่นคนที่ 3, 5-11, 17 เป็นต้น
             นอกจากนี้ ในคำสั่งนี้ยังมีตัวอย่างการเกลี่ยตำแหน่งโดยไม่ต้องมีคู่สับเปลี่ยน ( คนที่ 12 กับ 19 ) เป็นกรณีเช่น ครู กศน.ตำบล ใน ตำบลที่มีตำแหน่งครู กศน.ตำบลมากกว่า 1 คน ขอเปลี่ยนไปตำบลที่ยังไม่มีตำแหน่งครู กศน.ตำบล ก็จะได้รับการพิจารณาอนุมัติโดยไม่ต้องมีคู่สับเปลี่ยน
             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า ส่วนกลางต้องใช้ระยะเวลาพิจารณาประมาณกี่ภาคเรียน
             ผมตอบว่า ไม่แน่นอน ( ไม่เกี่ยวกับภาคเรียน ) แต่นาน เพราะ ส่วนกลางจะคอยรวมพิจารณาพร้อมกันหลายจังหวัด



         4. วันเสาร์ที่ 13 มิ.ย.58 ณภัทร กานต์ ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ผลการเรียนจากโรงเรียนต่างประเทศ นำมาเทียบการเรียนการศึกษาพื้นฐานนอกระบบหลักสูตร กศน.51 ได้หรือไม่ (กรณี เรียนไม่จบระดับ ม.ปลาย จากต่างประเทศแต่มีผลการเรียนที่ออกจากโรงเรียนต่างประเทศเอาวุฒิ ม.ต้นมาสมัครเรียน กศน.)
             ผมร่วมตอบว่า   ต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง การ เทียบวุฒิกับการ เทียบโอน
             1)  การเทียบวุฒิการศึกษา หรือรับรองวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ คือ กรณี เรียน จบชั้นตัวประโยคแล้ว ( ป.6 ม.3 ม.6 )  ถ้าเป็นการเทียบวุฒิการศึกษาในระดับ กศ.ขั้นพื้นฐาน ( ไม่เกิน ม.ปลาย ) เป็นอำนาจหน้าที่ของ สพฐ.ส่วนกลาง   ถ้าระดับปริญญา จะรับรองโดย กพ.
             2)  การเทียบโอน คือ กรณี ยังเรียน ไม่จบชั้นตัวประโยค เช่นเรียนแค่ ป.5 ม.2 ม.5 เป็นต้น )
                  ถ้ายังเรียนไม่จบ ลาออกมาเรียนต่อ กศน. ไม่ว่าจะเรียนมาจากหลักสูตรในหรือต่างประเทศ ก็สถานศึกษา กศน.นี่แหละเป็นผู้เทียบโอน โดย กศน.อำเภอ/เขต มีหน้าที่เทียบโอนตามหนังสือแนวทางการเทียบโอนผลการเรียนฯ
             การเทียบโอนผลการเรียนที่ กศน.อำเภอ/เขต เป็นผู้ดำเนินการนี้ เทียบโอนได้จาก 5 แหล่ง คือ
             1. เทียบโอนจากหลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน ที่จัดการศึกษาเป็นระดับ ประถม ม.ต้น ม.ปลาย หรือเทียบเท่า ผลการเทียบโอนเป็น เกรด 8 ระดับ ยกเว้นการเทียบโอนระดับ ป.4 ผลเป็น ผ่าน
             2. จากการศึกษาต่อเนื่อง เช่น หลักสูตรระยะสั้น ผลเป็น ผ่าน
             3. จากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น ทหารกองประจำการ ผู้นำท้องที่ อสม. ผลเป็น ผ่าน
             4. จากหลักสูตรต่างประเทศ ผลเป็น ผ่าน
             5. จากการประเมินความรู้และประสบการณ์ ผลเป็น เกรด 8 ระดับ
             การเทียบโอนจากหลักสูตรต่างประเทศ  ให้เขานำใบระเบียนแสดงผลการเรียนไปให้สถาบันที่เชื่อถือได้ แปลเป็นภาษาไทยมาก่อน ให้สถาบันที่แปลประทับตรารับรองการแปลมาด้วย
             ถ้าเขาไม่จบ ม.ปลาย เช่นเรียนผ่านแค่เกรด 10 หรือ 11 ก็ให้นำวุฒิ ม.ต้น มาสมัครเรียน กศน.ม.ปลาย และยื่นขอเทียบโอน เราก็เทียบโอนตามในหนังสือแนวทางการเทียบโอนฯเล่มดังกล่าว ซึ่งระบุไว้ละเอียด ( ในหน้า 50 ระบุว่า ถ้าเรียนผ่านเกรด 10 เทียบโอนได้ไม่เกิน 19 หน่วยกิต โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับรายวิชาต่อไปนี้ ... ... )

         5. ผมไปประชุมที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง เรื่องบรรณาธิการและจัดชุดข้อสอบ EP ปลายภาค 1/58 ประชุมวันที่ 15-19 มิ.ย. เมื่อขึ้นไปที่ห้องพัก รูมเมทไม่อยู่ในห้อง ( ไม่ฝากกุญแจไว้ ) พนักงานยกกระเป๋าจึงไปเอากุญแจสำรองมาเปิดห้องให้ผม เมื่อเข้าไปในห้องผมเห็นกระเป๋าผู้หญิง ผมเข้าใจว่าผมเข้าห้องผิดเพราะโรงแรมบอกเลขห้องผมผิดหรือผมจำเลขห้องผิด จึงให้พนักงานยกกระเป๋า ลงไปถาม จนท.โรงแรม ๆ โทร.เข้ามือถือรูมเมท เขาพูดเป็นผู้หญิง  จนท.โรงแรมจึงโทร.มาบอกผมว่า รูมเมทเป็นสาวประเภทสองแต่งหญิง ผมจะเปลี่ยนห้องไหม  ผมคิดว่า เขาก็คงไม่อยากพักกับคนอายุมากอย่างผม จึงเปลี่ยนห้อง  ( หลังจากนั้น ทั้งห้องผมและห้องเขาก็มีผู้มาทีหลัง มาพักด้วย ผมคู่กับคนไทยด้วยกัน ส่วนห้องเขาพักคู่กับครู EP ชาวต่างประเทศ )
             กรณีนี้  อ.ปนัดดา หัวหน้ากลุ่มงานตรวจจ่าย กลุ่มการคลัง กศน. บอกว่า  ถ้าชายพักเดี่ยว 2 ห้อง จะเบิกจ่ายได้ห้องเดียว อีกห้องหนึ่งผู้พักต้องใช้เงินส่วนตัวจ่ายเอง กลับไปเบิกต้นสังกัดก็ไม่ได้  เพศเดียวกันจะเบิกห้องเดี่ยว 2 ห้องได้เฉพาะกรณีมีเหตุจำเป็นเช่นคนหนึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง  ส่วนการเป็นสาวประเภทสองโดยเฉพาะถ้ายังไม่แปลงเพศไม่ถือเป็นเหตุจำเป็น  ผมถามต่อว่า ถ้าแปลงเพศเป็นหญิงแล้วล่ะ จำเป็นไหม  อ.ปนัดดาตอบว่า ไม่แน่ใจ ต้องถามกรมบัญชีกลาง

         6. คืนวันที่ 22 มิ.ย.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการเลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างลาศึกษาต่อภาคปกติ ว่า
             ถึงแม้จะมีกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.
2550 ข้อ 8 ที่กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานวิจัย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการและมีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างลาไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานวิจัย

             แต่กฎ ก.ค.ศ. ฉบับนี้ ก็กำหนดเงื่อนไขไว้จนเป็นไปได้น้อย
             เริ่มตั้งแต่ระดับจังหวัดต้องพิจารณาเสนอเลื่อนขั้นเงินเดือนให้ผู้ที่อยู่ระหว่างลาไปศึกษาฯ เฉพาะผู้ที่ ผู้บังคับบัญชาส่งหรืออนุญาตให้ลาไปศึกษาฯในวิชาที่จะได้ใช้ความรู้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้หรือคุณภาพการศึกษาในสถานศึกษาหรือหน่วยงานการศึกษา และ มีผลการประเมินฯดีเด่นจริงๆ แล้ว
             เมื่อผ่านไปถึงส่วนกลางก็ต้องผ่านการพิจารณาของ อ.ก.ค.ศ. อีกครั้ง โดย อ.ก.ค.ศ.ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ คือ
             ต้องเรียนให้จบภายในเวลาตามที่หลักสูตรกำหนดไว้โดยไม่มีการขอขยายเวลา ( ป.โท 2 ปี, ป.เอก 3 ปี ) ถึงแม้จะได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อ 4 ปี แต่ถ้าหลักสูตรนั้นกำหนดให้สามารถเรียนจบได้ใน 3 ปี ก็ต้องเรียนให้จบภายใน 3 ปี และถึงแม้ว่าจะรีบรายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการภายใน 2 หรือ 3 ปี แต่ถ้ากลับเข้าปฏิบัติราชการโดยที่ยังเรียนไม่จบ ก็ถือว่าผิดเงื่อนไข ต้องงดเลื่อนขั้นเงินเดือนในระหว่างการลาศึกษาต่อ
             และ ผลการศึกษาฯ ต้องเป็นไปตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด
             ( ต่างกันกับข้าราชการทหาร/ตำรวจ ที่ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษา ฝึกอบรม จะได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามปกติ, ข้าราชการตำรวจที่ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม เป็นพนักงานสอบสวน สบ 1 ก็จะได้เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งเดือนละ 3,500 บาท ทุกคน โดยไม่ต้องยื่นเสนอผลงานให้ประเมินอีก และเงินเพิ่มรายเดือนนี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเป็น สบ 2 3 4 โดยไม่ต้องยื่นขอประเมินผลงานอีก  ตำรวจที่ตำแหน่งเป็นผู้บริหารเท่าซี 8 ก็จะได้เงินประจำตำแหน่ง 5,600 X 2 = 11,200 บาท โดยอัตโนมัติ )

         7. ดึกวันที่ 22 มิ.ย.58 ไซยูตี มะนุ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า
             1)  ใครเป็นผู้กำหนดจำนวนชั่วโมงกิจกรรม กพช.ให้แต่ละครั้ง ( กำหนดโดย คณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลโครงการ หรือ ครู กศน.ตำบล/ครูอาสาฯ หรือเจ้าหน้าที่ กพช. หรือผู้บริหาร )
             2)  กิจกรรมค่าย 3 วัน 2 คืน จำเป็นต้องให้ชั่วโมงกิจกรรม 25 ชั่วโมงหรือไม่ สามารถให้น้อยกว่าหรือมากกว่า 25 ชั่วโมงได้หรือไม่ มีหลักเกณพิจารณาอย่างไร
             3)  ถ้ากิจกรรม กพช.ทำทุกเทอม แต่เจ้าหน้าที่ไอทีไม่ได้คีย์ลงในโปรแกรมไอทีในแต่ละเทอมได้หรือไม่
             ผมตอบว่า
             1)  เอกสารหลักฐานการทำ กพช. ที่สำคัญมี 2 ขั้นตอนคือ
                  - การเสนอโครงการก่อนทำ กพช. ให้ ผอ.สถานศึกษา หรือผู้ที่ ผอ.สถานศึกษาแต่งตั้ง/มอบหมาย เห็นชอบ
                  - การรายงานผลการทำ กพช. หลังทำ กพช.เสร็จแล้ว ให้ ผอ.สถานศึกษา อนุมัติ
                  ในส่วนของเอกสารการรายงานผลการทำ กพช. ต้องปรับปรุงให้มีการแนบรายชื่อ นศ.ทั้งหมดที่ทำ กพช.นั้น และมีจำนวนชั่วโมงที่ทำ กพช. ของ นศ.แต่ละคน ต่อท้ายด้านขวาของรายชื่อ นศ.แต่ละคนด้วย
                  รายชื่อ นศ. และจำนวนชั่วโมงนี้ พิจารณาเสนอโดย นศ.ร่วมกับคณะกรรมการพิจารณาและประเมินผลการปฏิบัติโครงการ  เมื่อเสนอรายงานไปถึง ผอ.สถานศึกษา และ ผอ.สถานศึกษาอนุมัติหรือไม่อย่างไร รายชื่อและจำนวนชั่วโมงก็เป็นไปตามที่ ผอ.สถานศึกษาอนุมัตินี้แหละ  รายงานผลที่ ผอ.อนุมัติแล้วนี้ นายทะเบียนจะใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการบันทึกการทำกิจกรรม กพช.ของ นศ.แต่ละคน ลงในระบบทะเบียน
                  ในส่วนของเอกสารการเสนอโครงการก่อนทำ กพช.นั้น จะกำหนดให้แนบรายชื่อ นศ. และจำนวนชั่วโมง ด้วยเลยก็ได้  รายชื่อและจำนวนชั่วโมงแนบพร้อมการเสนอโครงการนี้ พิจารณาเสนอโดย นศ.ร่วมกับครูที่ดูแล นศ.กลุ่มนั้น
                  รายชื่อ นศ.และจำนวนชั่วโมง ในเอกสารทั้ง 2 ส่วนนี้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เพราะในการทำกิจกรรม กพช.จริง อาจไม่เป็นไปตามโครงการที่เสนอก็ได้  แต่รายชื่อและจำนวนชั่วโมงที่นายทะเบียนใช้บันทึกในระบบทะเบียน คือรายชื่อและจำนวนชั่วโมงในรายงานผลการทำ กพช. หลังทำ กพช.เสร็จ ที่ ผอ.อนุมัติแล้วเท่านั้น
             2)  การพิจารณาจำนวนชั่วโมง ของ นศ.ร่วมกับครูหรือคณะกรรมการฯ ว่าจะเป็นกี่ชั่วโมงนั้น หลักสูตรปี 51 แตกต่างและพิจารณาง่ายกว่าหลัก สูตรปี 30  โดยหลักสูตรปี 30 ใช้คำว่า หน่วยกิจกรรม” ( ม.ต้น ให้ทำ กพช. 41 หน่วยกิจกรรม, ม.ปลาย ให้ทำ กพช. 48 หน่วยกิจกรรม )  ที่จริงเปลี่ยนเป็นให้ทำ กพช. 100 “ชั่วโมงมาตั้งแต่หลักสูตรปี 44 แล้ว  แต่หลายคนยังยึดติดและใช้คำว่า หน่วยกิจกรรม มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เข้าใจผิดในการคิดจำนวนชั่วโมง กพช.
                  ถ้าเป็นหน่วยกิจกรรมตามหลักสูตรปี 30 โครงการใดจะให้กี่หน่วยต้องพิจารณาจากความสำคัญ-ประโยชน์-ความยากง่ายในการทำ  แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นให้ทำ กพช. 100-200 ชั่วโมง ในหลักสูตรปี 44-51 แล้ว จำนวนชั่วโมง ก็คือ เวลาเป็นจำนวนชั่วโมงที่ต้องใช้ในการทำกิจกรรมนั้นแค่นั้นเอง ไม่ต้องคิดมาก  ทุกโครงการที่ได้รับความเห็นชอบให้ทำ กพช.แล้ว จะต้องมีความสำคัญ-ประโยชน์มากพอแล้ว  จะให้กี่ชั่วโมงก็แค่พิจารณาให้ได้ว่ากิจกรรมนั้นต้องใช้เวลาทำทั้งหมดกี่ชั่วโมงเท่านั้นเอง
                  การนับจำนวนชั่วโมง ให้นับจำนวนชั่วโมงที่ใช้ตั้งแต่ นศ.วางแผน-ประสานงาน-สรุปประเมินผล ด้วย ส่วนช่วงไหนที่ นศ.ไม่ได้ทำกิจกรรมตามที่กำหนดก็ไม่ต้องนับเวลา เช่น การไปเข้าค่าย ถ้านักศึกษามีการมาประชุมเขียนแผนกันล่วงหน้า 3 ชั่วโมง ก็นับรวม 3 ชั่วโมงนี้เข้าไปด้วย, ในระหว่างการเดินทางไปเข้าค่าย ถ้า นศ.นั่งรถไปโดยไม่มีกิจกรรมระหว่างเดินทาง ก็ไม่นับชั่วโมงในระหว่างเดินทางนี้ ถ้ามีการทำกิจกรรมถึงแม้จะทำกิจกรรมบนรถก็นับชั่วโมงด้วย  ในภาคกลางคืน ถ้าปล่อยให้ นศ.ทำกิจวัตรของแต่ละคนและพักนอนตามอัธยาศัยก็ไม่นับชั่วโมงภาคกลางคืน แต่ถ้ามีกิจกรรมให้ทำในภาคกลางคืนก็นับจำนวนชั่วโมงที่ต้องทำกิจกรรมในภาคกลางคืนด้วย หรือไม่มีกิจกรรมที่ทำร่วมกันในภาคกลางคืนแต่มีการบ้านให้ต่างคนต่างทำให้เสร็จในคืนนั้น ก็นับรวมจำนวนชั่วโมงที่ต้องใช้ในการทำการบ้านด้วย เป็นต้น
             3)  ในโครงการเดียวกันที่มี นศ.หลายคนร่วมทำกิจกรรม กพช.  นศ.แต่ละคนไม่จำเป็นต้องได้ชั่วโมง กพช.เท่ากัน  เช่น โครงการแข่งขันกีฬา มี นศ.เพียงบางคนเป็นคณะทำงาน/คณะกรรมการจัดแข่งขันกีฬา ต้องมีการประชุมวางแผนกัน จะได้ชั่วโมงมากกว่า นศ.ที่ไม่ได้มาร่วมประชุมวางแผน  ส่วน นศ.บางคนเป็นนักกีฬาลงแข่งขันด้วย ต้องมีการซ้อมก่อนแข่ง ก็นับชั่วโมงช่วงการซ้อมเข้าไปด้วยก็ได้  นศ.บางคนมาร่วมในวันเชียร์กีฬาเท่านั้นก็ได้ชั่วโมงน้อยกว่า  ถ้ามีการแข่งขันหลายรอบ นศ.ที่มาร่วมกิจกรรมรอบเดียวก็ได้ชั่วโมงน้อยกว่า นศ.ที่มาร่วมกิจกรรมหลายวัน เป็นต้น  ( ในบัญชีรายชื่อ นศ.ที่ร่วมกิจกรรม กพช. แนบรายงานผลการทำ กพช. หรือแนบเสนอโครงการก่อนทำ กพช. จึงให้ปรับแบบฟอร์มโดยระบุจำนวนชั่วโมงไว้ด้านขวาของรายชื่อเป็นรายคนเลย )
             4)  กรอบการจัด กพช. ฉบับล่าสุด ยังเป็นปี 2555 ตอนนี้ยังไม่ได้กำหนดใหม่ แต่ในกรอบนี้ยังให้ทำ กพช. 100 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ กิจกรรมศีลธรรม 50 ชั่วโมง และกิจกรรมตามนโยบาย กศน. 50 ชั่วโมง  ปัจจุบันมีหนังสือแจ้งที่ให้เพิ่ม กพช.ทั้งหมดเป็น 200 ชั่วโมง ก็ยังให้ทำตามกรอบนี้ทั้ง 2 ส่วน แต่ปรับเป็นส่วนละ ไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมง  ( ผมเคยเขียนเรื่องนี้ในข้อ 7 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/550293 )
                  ในกรอบนี้ กำหนดว่า เข้าค่ายคุณธรรม 3 วัน 2 คืน 25 ชั่วโมง ซึ่ง เราไม่จำเป็นต้องให้ 3 วัน 2 คืน เป็น 25 ชั่วโมง อาจให้น้อยกว่าหรือมากกว่า 25 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำจริงตามที่ผมตอบในข้อ 2) นี้ โดยผู้พิจารณากำหนดจำนวนชั่วโมงก็เป็นไปตามในข้อ 1) นี้
             5)  ถ้า นศ.ทำกิจกรรม กพช.แล้วจริงแท้แน่นอน แต่ จนท.ไอที ไม่บันทึกข้อมูลในทะเบียนให้ ถ้ามีเอกสารรายงานผลการทำกิจกรรม กพช.ที่ ผอ.อนุมัติแล้ว ก็นำเอกสารนี้มาบันทึกข้อมูลย้อนหลัง หรือทำเอกสารขึ้นมาใหม่ได้  แต่ถ้าไม่มีเอกสารใดเลย ทั้งๆที่มีการเสนอทำ กพช. และ นศ.ทำจริง ก็ต้องดูว่าเป็นความบกพร่องของใคร  เป็นความบกพร่องของครู/เจ้าหน้าที่ หรือของ นศ.  ถ้าเป็นความบกพร่องของครู/เจ้าหน้าที่ แต่แก้ไขได้ ไม่เสียหายถึงขั้นมีการฟ้องร้อง และเป็นความบกพร่องครั้งแรก ก็อาจแค่ว่ากล่าวตักเตือน/ภาคทัณฑ์ เพื่อให้เกิดการตื่นตัวพัฒนา ไม่ให้มีปัญหาเกิดขึ้นอีก

วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

1.เงินค่าซื้อหนังสือ เหลือ ซื้ออย่างอื่นได้ไหม, 2.กศน.อำเภอ/เขต จัด กศ.รูปแบบทางไกลได้หรือ-ไฮไลท์ของ กศน.-อบรมการจัด กศ.วิธีเรียนทางไกลให้มีคุณภาพ, 3.การยื่นทำวิทยฐานะ, 4.ให้ของที่ระลึกวิทยากร แทนการจ่ายค่าตอบแทนวิทยากร, 5.นักศึกษาซ้ำซ้อน, 6.ศน.บอกว่าป้ายผิด, 7.ไม่เซ็นรับทราบคำสั่ง-ลบข้อมูล IT ทิ้ง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. มี ผอ.กศน.อำเภอ/เขต 2 ท่าน ถามผมด้วยวาจา และทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คว่า  สอบราคาซื้อหนังสือแล้วมีเงินเหลือ เงินที่เหลือนี้จะใช้ซื้ออย่างอื่นอีกได้หรือไม่

             เรื่องนี้  ผมเรียนถามหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. เมื่อวันที่ 26 พ.ค.58 ได้คำตอบว่า
             1)  การจัดสรรงบประมาณค่าหนังสือสำหรับบ้านหนังสืออัจฉริยะ กำหนดชัดเจนว่าให้ซื้อหนังสือพิมพ์กี่ฉบับ ซื้อวารสารกี่ฉบับ ถ้าซื้อครบถ้วนตามที่กำหนดแล้ว จะซื้อเกินไม่ได้ ถ้าเงินเหลือต้องส่งคืน
             2)  เงินอุดหนุนที่จัดสรรมาให้ซื้อ หนังสือเรียน ถ้ามีเงินเหลือ สามารถซื้อ หนังสือเรียนอื่น เช่น หนังสือเรียนรายวิชาเลือก ได้ เว้นแต่ ปีใด ผู้บริหารระดับสูงกำหนดนโยบายว่าถ้าเงินเหลือให้ส่งคืน ก็ต้องส่งเงินที่เหลือคืน เช่น ในการประชุมประเมินผลและพัฒนางาน กศน.ในปีงบประมาณ 2558 เมื่อ 27 พ.ค.58 ที่โรงแรมบัดดี้โอเรียนทอลริเวอร์ไซด์ ปากเกล็ด นนทบุรี ท่านเลขาธิการ กศน. แจ้งว่า การ ซื้อ/จ้างพิมพ์ หนังสือเรียน สามารถซื้อหนังสือเรียนเสริมได้ และถ้ามีเงินเหลือในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ให้รีบส่งเงืนคืน


         2. วันที่ 25-26 พ.ค.58 ผมไปเข้าฝึกอบรมหลักสูตร การจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิธีเรียนทางไกล ให้มีคุณภาพที่ โรงแรมวังยาวรีสอร์ท จ.นครนายก
             การดำเนินงานจัด กศ.ทางไกลของสถาบัน กศ.ทางไกล มีการประยุกต์จนแตกต่างไปจากหลักสูตร เช่น ม.ต้น มีแต่วิชา บังคับเลือกไม่มีวิชาเลือกเสรี, จัดให้เรียนวิชาความรอบรู้ในการเรียน แทนการทำโครงงาน ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะรูปแบบการเรียนทางไกล นศ.ไม่มีเวลา/ไม่ต้องมาเรียนกับครู ( ถ้าจะทำตามอุดมคติของหลักสูตรทั้งหมด เช่นให้ นศ.มาเรียนสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดคุณภาพ แต่ เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติที่ท่านรองเลขาธิการฯ ดร.ดิศกุล ใช้คำว่า “Mission Impossible” ก็ไม่มีประโยชน์ )
             ถึงแม้จะประยุกต์จนแตกต่างไปจากหลักสูตร แต่คุณภาพที่พิสูจน์ได้จากคะแนนเฉลี่ยการสอบ N-NET ของ นศ.สถาบัน กศ.ทางไกล ก็สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของ กศน.ทั่วประเทศ ในทุกสาระ

             อ.วาสนา บรรยายว่า ปัจจุบัน กศน.อำเภอ/เขต ไม่สามารถจัด กศ.รูปแบบทางไกลได้ เพราะ ประกาศสำนักงาน กศน.ฉบับลงวันที่ 8 ต.ค.55 ที่กำหนดว่า วิธีเรียนรู้แบบ กศน. ( หลักสูตร 51 มีวิธีเรียนเพียงวิธีเดียว คือวิธีเรียนรู้แบบ กศน. แต่มีรูปแบบการเรียนหลายรูปแบบ เช่นรูปแบบพบกลุ่ม รูปแบบทางไกล ) ต้องมีเวลาพบกลุ่มหรือพบครูไม่น้อยกว่า 75 % ยกเว้นเฉพาะ นศ.ของสถาบัน กศ.ทางไกล
             เมื่อต้องมาพบกลุ่ม/พบครู 75 % ก็จะเป็นรูปแบบการเรียนทางไกลไม่ได้
             กศน.อำเภอ/เขต จึงจัดการเรียนการสอนรูปแบบทางไกลไม่ได้
             เพื่อให้ กศน.อำเภอ/เขต สามารถจัดการเรียนการสอนรูปแบบทางไกลได้ สถาบัน กศ.ทางไกลจึงเสนอให้แก้ประกาศฉบับนี้ โดยปรับแก้จาก ยกเว้น นศ.ของสถาบัน กศ.ทางไกลเป็น ยกเว้นรูปแบบการเรียนแบบทางไกล
             ซึ่งท่านเลขาธิการ กศน.รับหลักการและมอบให้แก้ไขแล้ว ขั้นต่อไปคงต้องให้กลุ่มพัฒนา กศน.พิจารณาเสนอประกาศแก้ไขให้ลงนาม ( ยังไม่รู้ว่ากลุ่มพัฒนา กศน. จะอธิบายตีความประกาศฉบับเดิมว่าอย่างไร ประเด็นที่เข้าใจกันเดิมนั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร )

             ถ้า กศน.อำเภอ/เขต จัดการเรียนการสอนรูปแบบของสถาบัน กศ.ทางไกล ( นศ.ไม่ต้องมาพบกลุ่ม/พบครู แต่เป็น มินิ มสธ.) ได้เอง รับ นศ.รูปแบบทางไกลเป็นของตนเอง ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวของ นศ.ส่วนนี้ และนับหัว นศ.ส่วนนี้อยู่ใน 60 คนที่เป็น นศ.ของครู กศน. ก็จะเกิดความสะดวกคล่องตัว และจะเป็นไฮไลท์ของ กศน.

             เรื่องน่าสนใจที่ทราบจากการเข้าอบรมครั้งนี้ เช่น ภาค 1/58 จะให้ นศ.ที่เรียนทางไกล สอบปลายภาคที่อำเภอ ( ใครจะย้ายที่อยู่ปัจจุบันเพื่อไปสอบที่อำเภออื่น ให้แจ้งตั้งแต่ต้นเทอม )  และเรื่องที่สถาบัน กศ.ทางไกลขอความร่วมมือจาก กศน.อำเภอ/เขต คือ
             1)  การประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับผู้สนใจ
             2)  การช่วยจัดสอบปลายภาค และส่งกระดาษคำตอบให้ทันเวลาที่กำหนด
             3)  ในอนาคต ถ้าอำเภอใดมีนักศึกษาจำนวนมาก อาจต้องช่วยจัดสัมมนาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตก่อนจบหลักสูตร






         3. ในการอบรมตามข้อ 2. ท่าน อ. สาธิต เจรีรัตน์ ( ครูเชี่ยวชาญ ผู้แทน ขรก.ครู ใน อ.ก.ค.ศ. สป.) เป็นพิธีกร  ท่านอาศัยช่วงเวลาว่างบางช่วง พูดถึงเรื่องการทำวิทยฐานะในรูปแบบปัจจุบัน ให้ผู้เข้าอบรมได้รับทราบข่าวสารที่น่าสนใจ ดังนี้
             ปัจจุบันมีรูปแบบการทำวิทยฐานะที่สำคัญ 3 รูปแบบ ตามหนังสือเวียน ( ว.) ของ ก.ค.ศ. 3 ฉบับ คือ
             1)  7 ปี 58 ( วิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน = P.A. : Performance Agreement ) ออกใหม่ ใช้เฉพาะการยื่นทำชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ   วันที่ 3-5 มิ.ย.58 ก.ค.ศ.จะทำคู่มือ และก่อนยื่น ต้องรอแต่ละส่วนราชการต้นสังกัด ทำการทดสอบความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎีและการประเมินประสบการณ์วิชาชีพก่อน  ใครสอบผ่าน ( จะทำชำนาญการพิเศษต้องสอบได้คะแนน 70 % ขึ้นไป จะทำเชี่ยวชาญต้องสอบได้คะแนน 75 % ขึ้นไป ) จึงจะยื่นแผน ( ข้อตกลงการพัฒนางาน ) ขอรับการประเมินรูปแบบนี้ได้  และการประเมินฯ จะประเมินในอนาคตว่าทำได้ตามแผนหรือข้อตกลงการพัฒนางานหรือไม่อย่างไร
             2)  17 ปี 52 ( แบบทั่วไป  มิได้ถูกยกเลิก ใครจะยื่นขอรับการประเมินรูปแบบเดิมนี้ ก็ยังยื่นต่อไปได้ตามเดิม )
             3)  13 ปี 56 ( เชิงประจักษ์-ได้รางวัลระดับชาติ  ให้ยื่นในเดือน ธ.ค.58 เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว )

         4. วันที่ 29 พ.ค.58 เอมอร เทพประดิษฐ์ บ้าน ครูเอม ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  จัดโครงการอบรม ไม่เบิกค่าตอบแทนวิทยากร แต่ซื้อของที่ระลึกให้วิทยากร ได้ไม่เกินกี่บาท

             ผมตอบว่า  ไม่มีระเบียบให้ใช้เงินงบประมาณซื้อของที่ระลึกให้วิทยากร
             ผู้ถาม ถามต่อว่า  แล้วค่าของสมนาคุณ มันแตกต่างจากของที่ระลึกตรงไหน
             ผมตอบว่าค่าสมนาคุณวิทยากร” ( ไม่ใช่ค่า ของ สมนาคุณวิทยากร ไม่มีคำว่า ของ )  ก็คือค่าตอบแทนวิทยากรนั่นเอง มีเกณฑ์การจ่ายเป็นเงิน ( บาท )
             ที่เขาให้ของที่ระลึกกับวิทยากรกันนั้น เขาใช้เงินนอกระบบซื้อของที่ระลึกกัน หรือเป็นของที่ระลึกที่ไม่ต้องซื้อใหม่
             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  เชิญวิทยากร ไม่มีค่าตอบแทนวิทยากร แต่ซื้อของที่ระลึกมอบให้วิทยากร ในโครงการเขียนไว้ว่าซื้อของที่ระลึกมอบให้วิทยากร
             ผมตอบว่า  ถึงแม้โครงการจะเขียนไว้ และโครงการได้รับอนุมัติแล้ว แต่ถ้าไม่มีระเบียบรองรับก็เบิกจ่ายไม่ได้ ต้องขอแก้ไขโครงการจากผู้อนุมัติโครงการ เปลี่ยนเป็นค่าสมนาคุณวิทยากรซึ่งวิทยากรต้องเซ็นชื่อรับเงินสมนาคุณเป็นหลักฐาน
            แต่ถ้าหมายถึง ในการฝึกอบรมนั้นมีการไปดูงาน จึงจะจ่าย ค่าของสมนาคุณในการดูงานโดยเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง แห่งละ ( ไม่ใช่คนละ ) ไม่เกิน 1,500 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ ( ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 ข้อ 8 (11)

         5. วันที่ 2 มิ.ย.58 Panom Witheeprai เขียนในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  อยู่ กศน.มวกเหล็ก ขอรายชื่อนักศึกษาซ้ำซ้อน หาในครู กศน.นอกระบบ ไม่พบ

             ผมตอบว่า   วิธีการตรวจสอบจำนวนนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน ลงทะเบียน 2 แห่ง บัตรประชาชน ซ้ำซ้อน/ไม่ถูกต้อง
             เข้าไปที่  http://203.172.142.230/NFE-MIS/student_itw_conclus_process.php
             แล้วคลิกที่ชื่อจังหวัด เพื่อดูข้อมูลแต่ละอำเภอ
             ถ้ามีจำนวนนักศึกษาที่มีปัญหา ให้คลิกที่ตัวเลขจำนวนนักศึกษาที่มีปัญหานั้น เพื่อดูรายชื่อนักศึกษาที่มีปัญหา
             และคลิกต่อที่ชื่อนักศึกษาที่มีปัญหา เพื่อดูข้อมูลว่าซ้ำซ้อนกับอำเภอใด

             กลุ่มแผนงาน กศน. บอกว่า อำเภอที่มี นศ. ซ้ำกัน จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวของ นศ.รายนั้นทั้ง 2 อำเภอ  ถ้าพ้นวันที่ 7 มิ.ย.58 ข้อมูลในเว็บฯยังซ้ำอยู่ ก็จะตัดออกทั้ง 2 อำเภอ

             ถ้าอำเภอที่ซ้ำ ประสานงานตกลงกันแล้วว่า อำเภอใดจะเป็นฝ่ายถอนการลงทะเบียน ( อาจต้องให้ ผอ. คุยกับ ผอ. )  เมื่อถอนการลงทะเบียนในโปรแกรม ITw แล้ว อำเภอนั้นต้องนำส่งข้อมูลจากโปรแกรมขึ้นเว็บใหม่ ( บางจังหวัดให้อำเภอส่งข้อมูลขึ้นเว็บเอง บางจังหวัดให้อำเภอส่งข้อมูลให้จังหวัดเป็นผู้นำขึ้นเว็บ )  โดยต้องนำข้อมูลใหม่ขึ้นเว็บไม่ให้เหลือข้อมูลซ้ำ ภายในวันที่ 7 มิ.ย.58
              ( อย่าลืมเข้าไปตรวจสอบจำนวน นศ. นอกงบประมาณด้วย โดยคลิกเลือกที่หัวตาราง เปลี่ยนจาก ในงบประมาณเป็น นอกงบประมาณ  มีบางอำเภอคีย์ข้อมูลลงโปรแกรม ITw ผิด เข้ากลุ่มนอกงบประมาณนี้หลายคนโดยไม่ตั้งใจ  ถ้ามีจำนวนอยู่ในกลุ่มนี้ จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว
             นอกจากนี้ ควรตรวจสอบข้อมูล รายงานสรุปจำนวนนักศึกษาพิการ, รายงานสรุปจำนวนนักศึกษา English Program ที่  http://203.172.142.230/NFE-MIS/student_itw_is.php  ด้วย

         6. คืนวันที่ 2 มิ.ย.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  อยากรู้เรื่องป้าย กศน.ตำบล เนื่องด้วย ศน.จังหวัดว่าทำไมยังมีศูนย์การเรียนชุมชนอยู่ด้านล่างป้าย ศน.บอกว่าไม่ถูก

             ผมตอบว่า   ศูนย์การเรียนชุม มีได้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน  แต่ กศน.ตำบล ให้ประกาศจัดตั้งเพียงตำบลละ 1 แห่ง  ถ้าแห่งใดประกาศจัดตั้งเป็น กศน.ตำบล แล้ว ก็ใช้ชื่อ กศน.ตำบล แทนชื่อศูนย์การเรียนชุมชน
             ในภาคอิสาน-ภาคเหนือ เดิมมีศูนย์การเรียนชุมชนในตำบลเดียวหลายแห่ง ปัจจุบันยังมีศูนย์การเรียนชุมชนอยู่  เปลี่ยนเป็น กศน.ตำบลเพียงตำบลละแห่งเดียว  ถ้าเปลี่ยนแล้วในป้ายก็ไม่ต้องมีชื่อศูนย์การเรียนชุมชน  ( แต่ถ้าชื่อเดิมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จะเขียนชื่อเดิมไว้ในป้ายด้วยก็ไม่ผิดกฎหมาย )






         7. คืนวันเดียวกัน ( 2 มิ.ย.) มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า 

            1)  ถ้าข้าราชการครู/ครูอาสาสมัคร/และครู กศน.ตำบล ไม่เซ็นรับทราบคำสั่งที่ ผอ.มอบหมายงาน มีความผิดตามระเบียบใช่ไหม

             2)  ต่อจากข้อ 1) ถ้าพนักงานราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ไอที เจตนาลบข้อมูลนักศึกษาที่ลงทะเบียนในภาคเรียนที่ 1/2558 เสร็จแล้ว ลบออกเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย เพราะไม่พอใจ ผอ. ทำให้ส่งไม่ทันขึ้นเว็บ มีความผิดอย่างไร ผอ.แจ้งความได้ไหม

             3)  ผอ.อำเภอส่งตัวพนักงานราชการคนนี้กลับ กศน.จังหวัดผู้จ้าง แต่ ผอ.จังหวัดไม่รับกลับ ควรทำอย่างไร

             ผมตอบว่า

             1)  การไม่เซ็นรับทราบคำสั่งโดยไม่มีเหตุผล มีความผิด  ถ้าจะไม่ทำตามคำสั่งต้องบันทึกแจ้งเหตุผล  ( การจะบันทึกแจ้งเหตุผล อาจยากในทางปฏิบัติ แต่ก็มีผู้บันทึกมาแล้ว )  ถ้าไม่เซ็นรับทราบคำสั่ง ผอ.อาจหาพยานว่าให้เซ็นแล้วไม่ยอมเซ็น เพื่อเอาผิดฐานไม่ปฏิบัติตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้

             2)  การเจตนาลบข้อมูลทำให้ส่งข้อมูลไม่ทัน เป็นความผิด จะผิดมากหรือน้อย เป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่ตามมา ว่ามีผลเสียหายร้ายแรงแค่ไหนหรือไม่ แก้ไขได้หรือไม่ เช่น ทำให้ไม่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวหรือไม่ ทำให้ นศ.ไม่มีสิทธิเรียนหรือไม่

                  เรื่องภายใน คนทำเป็นบุคลากรในสังกัด ทำกับงานภายใน จะไปแจ้งความทำไม ต้องบริหารจัดการภายใน จะลงโทษต้องตรวจสอบตามขั้นตอนให้ชัดเจน ลบจริงหรือไม่ เจตนาที่แท้จริงคืออะไร ถ้าเจตนาลบข้อมูลให้มีปัญหาจริงก็มีความผิดมากน้อยตามพฤติกรรมและความเสียหาย

             3)  การที่จังหวัดเป็นผู้จ้าง ไม่ได้แปลว่าพนักงานราชการคนนั้นต้องทำงานที่จังหวัด  บางตำแหน่ง "ต้อง" ทำงานที่สถานศึกษา ทำงานที่จังหวัดไม่ได้
                  ผอ.สถานศึกษาต้องใช้ความสามารถบริหารจัดการให้ทำงานร่วมกันได้ ทุกคนมีทั้งข้อดีข้อเสีย  ถ้าใช้หลักการบริหารต่างๆแล้วไม่ได้ผล ยังมีปัญหา มีความผิดจริง ก็ลงโทษ แจ้งจังหวัดพิจารณาดำเนินการลงโทษตามขั้นตอน ( ซึ่งไม่มีขั้นตอนให้ส่งไปอยู่ที่อื่น )  ถ้ามีความผิดมากก็เลิกจ้าง

             ผมตอบคำถามนี้ตอนเช้า พอตอนกลางวันได้รับแจ้งว่า พนักงานราชการที่ลบข้อมูล นำข้อมูล BackUp มาให้แล้ว
             เรื่องนี้ ข้อเท็จจริงอาจไม่เป็นไปตามความข้างเดียวนี้ก็ได้ แต่ที่ผมยังนำเรื่องนี้มาลงเผยแพร่ ก็เพื่อจะให้ข้อคิดเห็นว่า ถ้า พฤติกรรมเป็นไปตามที่บอกนี้จริง จะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร