วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2566

1.ไม่ได้ขอพระราชทานเพลิงศพ แต่งชุดขาวได้ไหม, 2.มีตัวอย่างการออก รบ.หลักสูตร 2530 เป็นภาษาอังกฤษมั้ย, 3.สมัครเรียน 2 สถานศึกษาซ้อนกันจนจบ ทำยังไง, 4.ให้ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาผิดระดับชั้น จะแก้ไขอย่างไร, 5.ขึ้นทะเบียนเป็น นศ.ของสถานศึกษา 2 แห่ง-กรรมการกองกลาง ใช้ระเบียบตัวไหน, 6.นักวิชาการศึกษาถามเรื่อง เมื่อไรพ้นทดลอง-ปรับวุฒิ ป.โทได้ไหม, 7.สงสัยคะแนนในแบบประเมินครู กศน.ตำบล

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

        
1. วันที่ 6 ก.พ.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ข้าราชารถ้าในกรณีที่ไม่ได้ขอพระราชทานเพลิงศพ สามารถแต่งชุดขาวในวันเผาศพได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ถึงแม้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นจะอยู่ในตำแหน่งที่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบนั้น แต่ก็ต้องแต่งเครื่องแบบในกิจกรรมที่เหมาะสม กรณีนี้ควรแต่งเครื่องแบบอื่น ไม่ควรแต่งเครื่องแบบปกติขาว
             หลักเกณฑ์การแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน(รวมข้าราชการครู)ในงานพิธีต่างๆ นั้น คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2521 (ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร 0203/ว.5 ลงวันที่ 11 มกราคม 2521) ให้ถือปฎิบัติตามหลักเกณฑ์การแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนตามกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2520) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478

             ซึ่งในข้อ 3 ได้กำหนดการแต่งเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนในงานพิธีของเอกชนว่า
             (1)  งานพิธีส่วนบุคคลโดยเฉพาะ ซึ่งได้แก่งานหรือพิธีที่เอกชนแต่ละคนจัดทำขึ้นตามประเพณีหรือความเชื่อถือของแต่ละคน ซึ่งอาจเกี่ยวกับการทำบุญในทางศาสนาหรือไม่ก็ได้ เช่น งานพิธีเนื่องในการเกิด การหมั้น การสมรส การสร้างบ้านปลูกเรือน การบวชนาค เป็นต้น ให้แต่งเครื่องแบบปกติกากีคอพับไม่ผูกผ้าผูกคอ สำหรับงานพิธีเกี่ยวกับการตาย ให้แต่งเครื่องแบบปกติคอพับแขนยาว ไม่ผูกผ้าผูกคอ

              (2)  งานพิธีที่เกี่ยวกับประเพณีของท้องถิ่นหรือชุมชน ให้แต่งเครื่องแบบปกติขาว หรือเครื่องแบบปกติกากีคอพับไม่ผูกผ้าผูกคอ
             ผู้ที่จะเป็นเจ้าบ่าว ถ้าเป็นข้าราชการพลเรือนก็อาจแต่งเครื่องแบบปกติกากีคอพับไม่ผูกผ้าผูกคอ ตามข้อ (1) ได้ แต่หากจะถือว่าการสมรสเป็นงานพิธีที่เกี่ยวกับประเพณีของชุมชนก็น่าจะอนุโลมแต่งเครื่องแบบปกติขาวได้ตามข้อ (2)

 

         2. คืนวันที่ 15 ก.พ.66 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีตัวอย่าง การออก รบ เป็น ภาษาอังกฤษ หลักสูตร 30 มั้ยคะ พอดีมี นศ จะมาขอจะไปทำงานต่างประเทศ จะออกเป็นหนังสือรับรองให้ ไม่เคยออก รบ ภาษาอังกฤษให้ค่ะ ต้นฉบับที่เป็นภาษาไทยปลวกกินไปแล้ว ผอ และนายทะเบียนเกษียณอายุราชการไปแล้วค่ะ

             ผมตอบว่า
             1)  ต้องเข้าใจก่อนว่า "รบ.ภาษาอังกฤษ" กับ "หนังสือรับรองการจบหลักสูตรภาษาอังกฤษ" คนละอย่างกัน ถ้าจะไปศึกษาต่อต่างประเทศ ต้องใช้ "หนังสือรับรองการจบหลักสูตรภาษาอังกฤษ" นะ ไม่ใช่ "รบ.ภาษาอังกฤษ"

ผมไม่แน่ใจว่ากรณีรายนี้ (ไปทำงาน) จะใช้ "รบ.ภาษาอังกฤษ" ได้หรือไม่
             2)  ต้องเข้าใจว่า รบ.ภาษาอังกฤษนั้น มีศักดิ์เป็นเพียง "เอกสารฉบับแปล" เท่านั้น เลขที่ต้องเหมือนกับฉบับภาษาไทย โดยแทนที่จะไปให้สถาบันแปลเขาแปลให้ สถานศึกษาก็แปลและรับรองให้เอง จะแปลกี่ครั้งเลขที่ก็ต้องเหมือนต้นฉบับ ถ้าไม่เหมือนก็คือแปลผิด รวมทั้งนายทะเบียนและ ผอ.ก็ต้องเป็นคนเดิมในฉบับภาษาไทยด้วย
             แต่ถ้าจะออกใบ รบ.ภาษาอังกฤษโดย ผอ.และนายทะเบียนเป็นคนใหม่ในปัจจุบัน ก็ต้องออกใบ รบ.ภาษาไทยใหม่ก่อน อาจออกใหม่เพราะฉบับภาษาไทยเดิมชำรุดสูญหาย แล้วจึงแปลเป็น รบ.ภาษาอังกฤษ พิมพ์ลงในกระดาษเปล่า ไม่ใช่แบบฟอร์มที่ซื้อมาจากองค์การค้าของ สกสค. ไม่มีศักดิ์เหมือนใบ รบ.ต้นฉบับ

             แต่กรณีนี้ก็ออก รบ.ภาษาไทยใหม่ไม่ได้อีก เพราะหลักสูตรเก่าก่อนหลักสูตร 2544 ส่วนกลางยกเลิกใบ รบ.และแจ้งให้ทำลายแบบใบ รบ.ที่เหลือไปแล้ว ออกใบ รบ.ใหม่ไม่ได้แล้ว( เมื่ออกใบ รบ.ภาษาไทยใหม่ไม่ได้ ก็แปลเป็นใบ รบ.ภาษาอังกฤษไม่ได้ )
             3)  ถ้าจะออกหลักฐานการศึกษาใหม่ของผู้จบหลักสูตรก่อนปี 2544 ต้องออกเป็น "หนังสือรับรองตามแบบที่แจ้งในปี 2549" ( แจ้งโดยหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0210.03/10974 ลงวันที่ 21 ธ.ค.49
                  ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่  https://www.gotoknow.org/posts/442192 )
                  หนังสือรับรองนี้ คนละอย่างกับ หนังสือรับรองการจบหลักสูตรภาษาอังกฤษอีกนะ ซึ่งหนังสือปี 49 นี้ เขากำหนดแบบหนังสือรับรองตามใน 3 ภาพประกอบนี้ ( แต่ตรงคำว่า "รหัสประจำวัน" เขาพิมพ์ผิด ให้แก้เป็น "รหัสประจำตัว" ) โดยสามารถปรับส่วนที่เป็นผลการเรียนให้สอดคล้องกับโครงสร้างหลักสูตรนั้นๆ ( คุณกรวรรณ กลุ่มพัฒนา กศน.บอกเมื่อ ธ.ค.2554 ว่า ถ้าข้อมูลผลการเรียนสูญหาย ให้ดูโครงสร้างหลักสูตรนั้นว่าต้องเรียนวิชาใดบ้าง ถ้าเรียนเหมือนกันทุกคนก็ใส่วิชาที่เรียนลงไปด้วย โดยไม่ต้องมีผลการเรียนก็ได้ แต่ถ้าไม่สามารถทราบได้ว่าเรียนวิชาใดบ้างก็ไม่ต้องใส่ทั้งวิชาและผลการเรียน

             4)  สรุป กรณีนี้ ถ้าจะออกเป็น "หนังสือรับรองการจบหลักสูตรภาษาอังกฤษ" ให้ทำตามในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร กศน.51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 149-153
                  คือต้องส่งเรื่องผ่านจังหวัดไปให้ กศน.ส่วนกลาง ออกให้นะ
                  โดยการส่งเรื่องไปนั้นเขากำหนดให้ส่ง 2อย่างคือ รบ.ภาษาไทย กับ ร่างหนังสือรับรองการจบหลักสูตรภาษาอังกฤษ ไปด้วย
                  2 อย่างนี้ ให้ดำเนินการดังนี้
                  (1)  รบ.ภาษาไทย ให้ทำเป็นหนังสือรับรองตามแบบที่แจ้งในปี 2549 แทน ( ที่อธิบายไว้ในคำตอบข้อ 2 นี้ )
                  (2)  ร่างหนังสือรับรองการจบหลักสูตรภาษาอังกฤษ ให้พิมพ์ดัดแปลงจากแบบตัวอย่างในคู่มือฯหน้า 153 โดยเปลี่ยนชื่อหลักสูตรและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้เป็นหลักสูตร 2530
                  ทั้งนี้อาจโทร.ปรึกษารายละเอียดกับกลุ่มพัฒนาฯ กศน.

 

         3. วันที่ 3 มี.ค.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  นักศึกษา กศน.อำเภอ ก ม.ต้น เข้าเรียน ภาคเรียนที่ 2/61 รหัสนักศึกษา 6122 ภาคเรียนที่ 2/61,1/62, 2/62 ไม่มีผลการเรียน ภาคเรียนที่ 1/64 นำวุฒิ.ม.ต้น รหัส 6312 ของกศน.อำเภอ ข. ภาคเรียนที่ 1/63, 2/63 มาเทียบโอน กศน.อำเภอ ก จำนวน 2 ภาคเรียน โดยเทียบเข้าสู่รหัส 6122 ของกศน.อำเภอ ก และเรียนภาคเรียนที่1/64, 2/64 และ 1/65 อนุมัติจบ เดือนตุลาคม ผอ.ย้านมาใน วันที่อนุมัติจบพอดี ประเด็นคือ จบในกศน.อำเภอ ก รหัส 6122 ไม่สัมพันธ์กับวุฒิที่เทียบโอน 6312 ของกศน.อำเภอ ข ในเคสนี้จะต้องแก้ไขอย่างไรให้ถูกต้อง และผอ.อำเภอลงนามในวุฒิให้นักศึกษาที่ทาขอจบได้ไหม่ค่ะ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ดำเนินการก่อนผอ.จะย้ายมา เพราะมีเอกสารการเทียบโอนถูกต้อง

             ผมตอบว่า   แสดงว่า สมัครเรียน 2 สถานศึกษาเหลื่อมซ้อนกัน ซึ่งไม่ถูกต้อง
             ปกติถ้าเป็นการฝากสอบที่สถานศึกษาอื่น เมื่อก่อนต้องฝากสอบตั้งแต่ต้นเทอมให้ลงทะเบียนที่สถานศึกษาที่จะสอบก่อนที่จะคำนวณจำนวนแบบทดสอบปลายภาคให้สถานศึกษาที่สอบเป็นผู้เบิกเงินอุดหนุนรายหัวเทอมนั้น เป็นทั้งฝากสอบและฝากเรียนด้วย
             ตอนหลังฝากสอบโดยแจ้งปลายเทอม สถานศึกษาต้นทางส่งแบบบทดสอบไปให้โดยไม่ต้องลงทะเบียนที่สถานศึกษาปลายทาง และสถานศึกษาที่ใช้สอบไม่ได้เงินอุดหนุนรายหัว

             ถ้าเราพิจารณาว่า เขาสมัครเรียนเหลื่อมซ้อนกัน แต่เทอมที่เขาเรียนและสอบนั้นไม่ทับซ้อนกัน เราก็อาจจะอนุเคราะห์อนุโลมครับ อยู่ที่ ผอ.จะอนุเคราะห์อนุโลมหรือไม่
             ( ถ้าจะแก้ให้เขาทำเรื่องลาออกและสมัครใหม่ย้อนหลัง เป็นสมัครก่อนเรียนภาค 1/64 ก็ต้องอนุเคราะห์อนุโลมให้แก้อยู่ดี และต้องแก้หลายแห่ง เพราะเขาเรียนตั้งแต่ภาคเรียน 1/64 จนจบ ทุกวิชาด้วยรหัส 6122 ถ้าแก้วันสมัครก็ต้องแก้รหัสเป็น 6412 มากหลายแห่ง )



 

         4. วันที่ 8 มี.ค.66 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  กรณีการลงทะเบียนระดับชั้นให้นักศึกษาผิดค่ะ  คือมีนักเรียนที่จบชั้น ป.6 แล้ว มาสมัครเรียน ครู กศน.ตำบล น่าจะดูเอกสารผิด แทนที่จะนำมาสมัครในระดับ ม.ต้น แต่ไปสมัครเรียนในระดับ ม.ปลาย แล้วนายทะเบียนก็ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารก่อนลงทะเบียน จนได้สอบมาแล้วหนึ่งเทอมพึ่งรู้ว่าลงทะเบียนในระดับชั้นที่ผิด ต้องทำอย่างไรคะ

             ผมตอบว่า   คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw บอกว่า

             กรณีที่ 1  รู้ว่าผิดตั้งแต่เทอมแรกก่อนสิ้นสุดการขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ให้ลบประวัตินักศึกษารหัสนี้ ทางเมนู 1-1-4 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน – บันทึกประวัตินักศึกษา – ลบประวัตินักศึกษา ) โดยจดรหัสนี้ไว้ก่อนลบ
             แล้วขึ้นทะเบียนใหม่ให้คนนี้ในระดับ ม.ต้น
             และเมื่อจะขึ้นทะเบียนนักศึกษา ม.ปลายรายใหม่ (ภาคเรียนเดียวกัน)  เข้าเมนู 1-1-1 แล้ว ก็แก้รหัสนักศึกษาเป็นรหัสนี้ รหัสนี้ก็จะเป็นรายใหม่

             กรณีที่ 2  รู้ช้า  เริ่มเรียนไปแล้ว ไม่มีนักศึกษารายใหม่ที่เริ่มเรียนภาคเรียนเดียวกันมาแทนแล้ว ให้เพิกถอนสภาพนักศึกษาออกจากระดับ ม.ปลาย แล้วให้สมัครเริ่มเรียน ม.ต้นใหม่
                         วิธีเพิกถอนสภาพนักศึกษาในโปรแก รม
ITw ให้เข้าเมนู 1 – 1 – 6 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - บันทึกประวัตินักศึกษา - แก้ไขข้อมูลการจบออก ) แล้วเลือกสาเหตุที่จบ/ออก เป็น “3.หมดสภาพ” จากนั้นคลิดปุ่ม “บันทึก”

 

         5. วันที่ 9 มี.ค.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             1)  นศ.กศน.สามารถขึ้นทะเบียนเป็น นศ. ของสถานศึกษา 2 แห่งได้หรือไม่ ใช้ระเบียบตัวไหน
             2)  ระเบียบการดำเนินการสอบเรื่องของกรรมการกองกลางสามารถใช้ระเบียบตัวไหน

             ผมตอบว่า   ในแต่ละเรื่องนั้น บางเรื่องมีระเบียบเฉพาะ บางเรื่องต้องอาศัยระเบียบ+หลักเกณฑ์+นโยบาย แนวปฏิบัติ หลายฉบับประกอบกัน ยิ่งเรื่องที่กว้าง เช่นใช้คำว่า “ระเบียบกรรมการสอบเรื่องของกรรมการกองกลาง” เป็นคำที่กว้างมาก ไม้รู้ว่าหมายถึงด้าน จำนวนกรรมการกลาง ค่าตอบแทนกรรมการกลาง บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ คุณสมบัติของกรรมการกลาง หรือ ฯลฯ ยิ่งเกี่ยวกับระเบียบหลักเกณฑ์นโยบายแนวปฏิบัติหลายฉบับ ตอบให้ตรงใจยากมากแม้จะเสียเวลาตอบเวี่ยงแหยาว ถ้าตอบไม่ตรงก็อ่านคู่มือดำเนินงานฯหรือถามผู้อื่นนะ ผมก็ไม่ได้ว่างมาก

             1)  ในส่วนของ การขึ้นทะเบียนเป็น นศ. ของสถานศึกษา 2 แห่ง ( ไม่แน่ใจว่าหมายถึง 2 แห่งในสังกัด กศน.ด้วยกัน หรือ 2 แห่ง 2 สังกัด ) ให้ตีความจาก 2 เรื่องคือ กลุ่มเป้าหมายการรับนักศึกษา กับ เงินอุดหนุนรายหัวให้เรียนฟรี  2 เรื่องนี้แหละเป็นระเบียบหลักเกณฑ์ให้ โดยปกติจะเรียนเหลื่อมซ้อนกันมากกว่า 1 สถานศึกษาไม่ได้ เพราะ
                  1.1  กลุ่มเป้าหมายการรับนักศึกษา ในคู่มือการดำเนินงานฯ หลักสูตร 2551 ฉบับปรับปรุง 2555 ปกสีเลือดหมู หน้า 97 สรุปได้ว่า กศน.ขั้นพื้นฐาน เปิดสำหรับผู้ ด้อย/ขาด/พลาด โอกาสทางการศึกษา ( การเรียนได้มากกว่า 1 แห่ง ไม่ถือว่าเป็นผู้ด้อย/ขาด/พลาดโอกาสทางการศึกษา )
                       คู่มือการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารแนบประกาศ สป.ศธ.ทั้งเล่ม จึงเป็นระเบียบหลักเกณฑ์สำหรับถือปฏิบัติ ผู้เป็นนายทะเบียนควรอ่านให้จบอย่างน้อย 1 รอบ แม้จะจำได้ไม่หมดแต่ก็จะจำได้ว่ามีเรื่องอะไรบ้างอยู่ส่วนไหนของเล่ม สามารถค้นหาได้ง่ายขึ้น พึ่งตนเองได้
                  1.2  รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณจากภาษีและเงินกู้ เป็นเงินอุดหนุนรายหัว ให้เรียนฟรีคนละรอบเดียว ถ้าเรียน 2 แห่ง คนเดียวจะใช้เงินอุดหนุนรายหัว 2 แห่ง ไม่ถูกต้อง
                  หลายปีหลังนี้ส่วนกลางให้ทุกสังกัดออกทำการตรวจสอบผู้เรียนที่มีชื่ออยู่ในสถานศึกษามากกว่า 1 แห่ง เป็นประจำ
                  ( ผู้ที่จบระดับ ม.ปลายต้องส่งเกรดเข้ากระทรวง ถ้าจบ 2 แห่ง เกรดอาจไปชนกันที่กระทรวง กศ.ขั้นพื้นฐาน เรียนหลักสูตรไหนก็เหมือนกัน เพราะเป็นเพียงการศึกษาเรียนรู้ “ขั้นพื้นฐาน” สำหรับเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อหรือให้มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อการดำเนินชีวิต  เคยมีกรณีที่ไม่ให้เขาเรียนอีก แล้วเขาไปฟ้องศาลปกครอง ปรากฏว่าเขาแพ้ ศาลบอกว่าเขาได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานจากรัฐไปแล้ว
                  ถ้าต้องการเรียนเพิ่มเติมเป็นบางวิชาจึงจะให้เรียนได้ )
                  แม้แต่การเรียน 2 แห่ง ในสังกัด กศน.ด้วยกัน กผ.กศน.แจ้งในเว็บระบบข้อมูลนักศึกษาลงทะเบียน ทุกภาคเรียนว่า “...จะปิดระบบ แก้ไขอีกไม่ได้แล้ว ถ้ายังซ้ำซ้อนอยู่ กลุ่มแผนงานฯจะไม่จัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวสำหรับนักศึกษารายนั้นให้ทั้ง 2 อำเภอหรือทุกอำเภอที่ นศ.ลงทะเบียนเรียน 2 แห่งขึ้นไปในภาคเรียนเดียวกัน
                  ทุกแห่งต้องอัพโหลดข้อมูลภายในวันที่ ....... ส่วนวันที่ ....... เป็นช่วงการแก้ไขลดข้อมูลซ้ำซ้อน ไม่ให้เพิ่ม นศ.ใหม่มาแทนอีก เพราะถ้าเพิ่มก็อาจซ้ำซ้อนกับอำเภออื่นใหม่อีก อำเภอที่ซ้ำซ้อนใหม่จะเสียหายไปด้วย”

                  และ ตามหนังสือกรมการศึกษานอกโรงเรียน ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0405/2645 ลงวันที่ 26 มิ.ย.43 ได้ระบุว่า “เป็นการได้รับการศึกษาที่ซ้ำซ้อน เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่สิ้นเปลือง เป็นการให้โอกาสกับบุคคลที่ได้รับโอกาสไปแล้ว ควรให้โอกาสกับบุคคลที่ยังไม่มีโอกาส ตามหลักการและปรัชญาของการจัดการศึกษานอกโรงเรียน”
                  โดยกำหนดว่า
                  “ในกรณีที่มีผู้จบหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว มาขอขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนใหม่ในหลักสูตรเดิม เพื่อให้มีผลการเรียนเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าเดิม ... ขอเรียนชี้แจงว่า การจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญ สามารถลงทะเบียนเรียนเพิ่มเติมในหมวดวิชาต่าง ๆ เพื่อให้ครบตามคุณสมบัติที่สถาบันอุดมศึกษากำหนด หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ... ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อผู้เรียนแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะให้ผู้เรียนกลับมาขึ้นทะเบียนและลงทะเบียนเรียนหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายใหม่ ... เป็นการได้รับการศึกษาที่ซ้ำซ้อน เป็นการใช้ทรัพยากรเพื่อการศึกษาที่สิ้นเปลือง ... เป็นการให้โอกาสกับบุคคลที่ได้รับโอกาสไปแล้ว ควรให้โอกาสกับบุคคลที่ยังไม่มีโอกาส ตามหลักการและปรัชญาของการจัดการศึกษานอกโรงเรียน จึงไม่สามารถให้นักศึกษาที่จบหลักสูตรแล้วมาขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาใหม่และลงทะเบียนเรียนจนจบหลักสูตรอีกครั้ง   จึงขอให้สถานศึกษาทุกแห่งถือปฏิบัติ ... อย่างเคร่งครัด ถ้าสถานศึกษาใดมิได้ปฏิบัติ หากมีความผิดพลาดใด ๆ เกิดขึ้น ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติจะต้องรับผิดชอบ และถือเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติงาน”

                  อนึ่ง แบบฟอร์มใบสมัครเรียน ในหนังสือคู่มือการดำเนินงานหลักสูตรใหม่ ที่แจกให้ผู้เข้าอบรมหลักสูตรใหม่ 2551 จะมีข้อความรับรองในส่วนท้ายของใบสมัคร ว่า “...ไม่อยู่ในระหว่างการศึกษาในระบบโรงเรียนทุกสังกัด ... หากตรวจสอบพบภายหลัง... ให้คัดชื่อออก และหากตรวจสอบพบภายหลังที่จบหลักสูตรไปแล้ว .. ให้ .. ยกเลิกหลักฐานการศึกษา ...”

                  อย่างไรก็ตาม บางสถานศึกษาจะเข้าโครงการพิเศษ ที่ให้นักศึกษาเรียน 2 สถานศึกษา 2 สังกัดได้ เช่น โครงการทวิศึกษา

             2)  ในส่วนของ ระเบียบการดำเนินการสอบเรื่องของกรรมการกองกลาง มีหลายด้าน มีระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการปฏิบัติของผู้กำกับการสอบ พ.ศ.2548, ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการปฏิบัติของผู้เข้าสอบ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2555, จำนวนกรรมการกองกลาง ดูในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/481090

 

         6. วันที่ 12 มี.ค.66 มีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ ว่า
             1)  คนที่บรรจุเป็นข้าราชการ ( นักวิชาการศึกษา ) เมื่อ 11 กค.65 จะพ้นทดลองราชการเดือนไหน
             2)  บรรจุโดยใช้วุฒิ ป.ตรี เมื่อพ้นทดลองราชการแล้ว จะใช้วุฒิ ป.โท ยื่นขอปรับวุฒิได้ไหม ( จบโท. ก่อนได้บรรจุเป็นข้าราชการ )
             3)  เงินเดือน ป.ตรี 15,000 บาท ถ้าปรับเป็นวุฒิ ป.โท จะมีเงินเดือน เท่าไหร่

             ผมตอบว่า
             1)  นักวิชาการศึกษานี่ เป็นข้าราชการตามมาตรา 38ค.(2) ใช่ไหม ใช้ระเบียบข้าราชการพลเรือน คือ ทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการเป็นเวลาไม่น้อย 6 เดือน ( ถ้าครบ 6 เดือนแล้วไม่สามารถประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ราชการได้ ก็ขยายเวลาได้แต่รวมไม่เกิน 1 ปี )

             2)  ข้าราชการครูถ้า จบ ป.โท ก่อนบรรจุ จะขอปรับวุฒิไม่ได้ แต่ข้าราชการพลเรือนได้ แต่ว่า
                  2.1  ต้องจบ ป.โท ในสาขาวิชาเอกที่ตรงตามมาตรฐานตำแหน่งนั้น เช่น
                        - บรรณารักษ์ ถ้าจบปริญญาโทสาขาบรรณารักษ์ศาสตร์หรือสารนิเทศศาสตร์ ก็ปรับได้
                        - นักจัดการงานทั่วไป ถ้าจบโทเอกบริหารธุรกิจก็ปรับได้
                        ( ผมไม่ทราบว่า นักวิชาการศึกษา ต้องจบสาขาใด )
                  2.2  ไม่ใช่ว่า พ้นทดลองแล้วขอปรับได้เลยนะ กฎ ก.พ.ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ.2551 ข้อ 2 (3)(ข) กำหนดว่า "ผู้ได้รับปริญญาโทเพิ่มขึ้นหรือสูงขึ้นจากปริญญาตรีจะต้องดำรงตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยใช้วุฒิปริญญาตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี" จึงจะขอปรับเงินเดือนให้ได้รับตามวุฒิได้
                  2.3  เงินเดือนต้องยังต่ำกว่าเงินเดือนวุฒิ ป.โท ( ถ้าเงินเดือนไม่ต่ำกว่าแล้ว ก็ให้ยื่นเรื่องขอ "เพิ่มวุฒิการศึกษา"ในทะเบียนประวัติ ไม่ใช่ขอปรับเงินเดือนให้ได้รับตามวุฒิ )

             3)  เงินเดือนข้าราชการพลเรือนวุฒิปริญญาโทบรรจุใหม่กำหนดไว้ตั้งแต่ 1 ม.ค.57 คือ 17,500 บาท
             ( ถ้าเป็นข้าราชการ กศน. โทร.ถามรายละเอียดกับ กบ.กศน.นะ 02-2822159 )

 

         7. วันที่ 21 มี.ค.66 มีผู้ถามผมทางไลน์กลุ่มแชร์เข้มกศน. ว่า  มีน้องพนักงานราชการถามว่า ตัวชี้วัดที่ 7 จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเป้าหมาย

ระดับ 5 คะแนน ต้องจัดกี่ กิจกรรม   ผู้ถามในฐานะกรรมการการประเมินฯตอบว่า ต้องจัดกิจกรรมตามเป้าหมาย 4 กิจกรรมขึ้นไป และมีผลผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่าเป้าหมาย เช่น เป้าจัดกิจกรรมทักษะชีวิต 30 คน มีผลการดำเนินการ 35 คน  อธิบายถูกไหมครับอาจารย์@เอกชัย

             ผมตอบโดยสรุปได้ว่า   อันนี้คือแบบประเมิน ครู กศน.ตำบล ที่ประเมินปีละ 2 ครั้ง  ทั้งหมดมีเพียง 4 โครงการ/กิจกรรมเท่านั้น  ถ้าจะให้ได้ระดับคะแนน 5 ก็จัดทั้ง 4 กิจกรรมและต้องมีผลการดำเนินงาน "เกินเป้าหมาย" ทั้ง 4 กิจกรรม

             ก. คำว่า 4 "กิจกรรม" คือ โครงการ/กิจกรรม ดังนี้
                 1)  กิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
                 2)  กิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
                 3)  กิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน
                 4)  การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                 ต้องจัดครบทั้ง 4 กิจกรรมนี้ ถ้าจัดครบและได้ผลการดำเนินงานพอดีเป้าหมายทั้ง 4 กิจกรรม ก็ได้ระดับคะแนนแค่ 1
                 ถ้าได้ผลการดำเนินงานเกินเป้าหมายทั้ง 4 กิจกรรม ก็ได้ระดับคะแนน 5

             ข. คำว่า "เป้าหมาย" หมายถึงจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างจำนวนคนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนตั้งแต่ต้นปี เปรียบเทียบกับ จำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมจริง ถ้าจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมจริงมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็ถือว่า กิจกรรมนั้นมีผลการดำเนินงานเกินเป้าหมาย

             ค. ข้อความเกณฑ์การให้คะแนนในตารางกลางนั้น ผิด จึงทำให้มีผู้สับสนจนต้องนำมาถาม
                 ระดับคแนน 2-5 ต้องลบคำว่า “มากกว่า” ออกหมดทั้ง 4 ข้อ จึงจะไม่สับสน เช่น
                 ระดับคะแนน 5 มีผลการดำเนินงานตามเป้าหมาย 4 โครงการ และเกินกว่าเป้าหมาย 4 โครงการ

             นอกจากนี้ คำว่า “โครงการ/กิจกรรม” ควรใช้คำเดียวกันตลอด ไม่ใช่ คำอธิบายข้างบนใช้คำว่า “กิจกรรม” แต่ในตารางกลาง ใช้คำว่า “โครงการ” แล้วในตารางล่าง ใช้คำว่า โครงการ/กิจกรรม นี่แค่หน้าเดียวนะ ไม่รู้ว่าสติสมาธิของคนทำเป็นยังไง