วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2561

1.เข้าใจ เห็นใจ ขอส่งกำลังใจ ให้ ผอ.กศน.อำเภอ ทั้ง 6 ท่าน, 2.วุฒิจาก สปป.ลาว สมัครเรียนได้ไหม ( อธิบายเรื่อง เทียบวุฒิ กับ เทียบโอน อีกซักครั้ง ), 3.ครูอาสาฯตกใจ ถึงคราวอวสาน.., 4.จังหวัดอนุมัติย้าย 6 เดือนแล้ว อำเภอไม่ให้ไปเพราะไม่มีหนังสือจากส่วนกลาง ?!, 5.ครูอาสาฯเพิ่งเกษียณ ต้องเกลี่ยอัตราไหม, 6.การขอย้ายกรณีพิเศษ, 7.พนักงานราชการขอย้ายข้ามจังหวัดกรณีทั่วไปได้อีกเมื่อไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. หลายปีก่อน ( ช่วงกฐิน กศน. หาดใหญ่ ) ผอ.กศน.อำเภอ 6 ท่าน เดินทางไปประชุมฯด้วยกัน โดยเหมารถตู้
             การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการนั้น เนื่องจากอยู่คนละอำเภอ และต้องเบิกจากงบอำเภอ แต่รถตู้คันเดียว ตอนนั้นไม่รู้วิธีว่าจะเบิกอย่างไร จะให้ใครเบิกค่ารถตู้จากอำเภอใด ดังนั้นเพื่อความสะดวก จึงขออนุญาตเดินทางโดยรถส่วนตัวและเบิกเป็นใช้รถส่วนตัว ซึ่งก็เบิกเงินได้ต่างจากค่ารถตู้ไม่มากมายอะไรเลย

             แต่เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ถูกสอบสวนลงโทษ และมีการอุทธรณ์ เรื่อยมา จนถึงตอนนี้ ได้ข่าวว่าสรุปจบจาก กพ.แล้ว “ปลดออก” ทั้ง 6 ท่าน
             ผมเห็นใจหลายท่านมาก ยังหนุ่มยังสาว อนาคตน่าจะยังอีกยาวไกล
             ผมโพสต์ครั้งนี้ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ แก่คนอื่น ๆ และ
             ขอส่งกำลังใจให้ทั้ง 6 ท่าน อย่าคิดอะไรมาก เมื่อเรารู้ตัวดีว่า เรามิได้มีเจตนาจะโกงกินเงินเลย เราเพียงแต่ใช้วิธีเบิกจ่ายที่สะดวก มีส่วนต่างเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย
             ก็ขอให้ภาคภูมิใจในการทำงานและผลงานต่าง ๆ มากมายของท่านต่อไป คิดเสียว่าได้เออรี่ ได้พักเร็วขึ้น ได้พ้นจากระบบงานหยุมหยิมแล้ว
             ( ทุกวันนี้ผมเองก็สบายใจ ดีใจ ที่ไม่ต้องไปทำงานทุกวัน แต่ได้บำนาญทุกเดือน ผมคิดว่าถ้ารู้ว่าดีอย่างนี้ผมน่าจะเออรี่นานแล้ว )

         2. วันหยุดชดเชย 15 ต.ค.61 มีครู กศน.ตำบล ถามผมทางไลน์ ว่า  นศ.มาจาก สปป.ลาว เป็นวุฒิ ป.6 ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) สมัครกับ กศน.ได้เลยเปล่า

             ผมตอบว่า   วุฒิจากต่างประเทศ ที่จะนำมาใช้ จะมี 2 กรณี คือ
             1)  ใช้เป็น “วุฒิเดิม” ( จบหลักสูตรระดับชั้นตัวประโยค เช่น ป.6-7, ม.ต้นหรือ ม.3, ม.ปลายหรือ ม.6 ) เพื่อเป็นหลักฐานสมัครเรียนในระดับที่สูงขึ้นเลย เช่นใช้สมัครเข้าเรียน ม.ต้น หรือ ม.ปลาย
             2)  ใช้เทียบโอนเป็นรายวิชาบางวิชา ในกรณีที่จบระหว่างชั้นตัวประโยค เช่นเรียนผ่านเกรด 8 มา.. ถ้าจบเกรด 9 จะเทียบเท่า ม.ต้น ใช้สมัครเรียนต่อ ม.ปลาย แต่ถ้าจบเกรด 8 ต่ำกว่า ม.ต้น สูงกว่า ป.6 อย่างนี้เขาต้องมีวุฒิประถมมาสมัครเรียน ม.ต้น แล้วจึงใช้หลักฐานเกรด 8 นี้ เทียบโอนเป็นบางวิชาในระดับ ม.ต้น เพื่อไม่ต้องเรียนในบางวิชาของ ม.ต้น จะได้จบ ม.ต้น เร็ว
             ผมเคยโพสต์ตอบเรื่องนี้ 3 ครั้งแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่เข้าใจความแตกต่างของ การเทียบวุฒิ กับ การเทียบโอน ถ้าไม่เข้าใจความแตกต่างนี้ ถึงจะถาม-ตอบอีกกี่ครั้งก็ไม่เข้าใจ
             - ถ้าจะใช้เป็น “วุฒิเดิม” ( จบชั้นตัวประโยคมา ) เขาต้องไปผ่านการเทียบวุฒิมาก่อน จะนำใบวุฒิของต่างประเทศมาใช้กับ กศน.เราไม่ได้นะ 
                กศน.เราไม่มีอำนาจบทบาทหน้าที่ในการเทียบวุฒิจากต่างประเทศ  ถ้าเป็นวุฒิระดับปริญญา เขาต้องไปขอเทียบวุฒิที่ ก.พ. แต่ถ้าเป็นวุฒิระดับ ม.ต้น ม.ปลาย เขาต้องไปติดต่อขอเทียบวุฒิที่ สพฐ.มาก่อน ( สำนักงาน สพฐ.ที่ทำหน้าที่เทียบวุฒิจากต่างประเทศนี้ อยู่ในกระทรวง ศธ. ใกล้กับ กศน.)  แล้วจึงนำหลักฐานการเทียบวุฒินั้น มาใช้เป็นวุฒิเดิมสมัครเรียนระดับต่อไปกับเรา
             - แต่ถ้าจะใช้เทียบโอนเป็นรายวิชา เช่น มีหลักฐานการผ่านเกรด 11 และมีใบวุฒิ ม.ต้นของไทยหรือ วุฒิต่างประเทศที่เทียบเป็นวุฒิ ม.ต้นกับ สพฐ.แล้ว ก็นำวุฒิ ม.ต้น มาสมัครเรียน ม.ปลายกับเรา แล้วจึงใช้หลักฐานการผ่านเกรด 11 เทียบโอนเป็นบางวิชา เพื่อจะได้เรียนจบ ม.ปลาย เร็วขึ้น
                กรณีการใช้เทียบโอนนี้ ถ้าคณะกรรมการเทียบโอนพิจารณาไม่ได้ อาจให้เขานำหลักฐานการผ่านเกรด 11 ไปให้สถาบันแปลภาษา แปลเป็นภาษาไทยมาก่อน ประทับตราสถาบันแปลรับรองมาด้วย แล้วเราก็ใช้พิจารณาเทียบโอนรายวิชา

             หลักฐานตามภาพที่คุณยกมานั้น ถ้าบอกว่าเป็นหลักฐานการจบระดับประถมของลาว จะใช้เป็นวุฒิเดิมสมัครเรียน ม.ต้นเลย ไม่ได้ครับ ( ใบวุฒิต่างประเทศใช้เป็นวุฒิเดิมกับเราไม่ได้ ) เขาต้องไปเทียบวุฒิมาก่อน  แต่ ปัจจุบัน สพฐ. ไม่รับเทียบวุฒิประถมแล้ว รับเทียบแต่วุฒิ ม.ต้น ม.ปลาย
             ฉะนั้น ถ้ายังไม่จบระดับ ม.ต้น ต้องมาเรียนประถมใหม่นะครับ สมัครเรียนประถมไม่ต้องใช้วุฒิเดิม เมื่อสมัครเรียนประถมแล้ว ใบนี้ก็อาจให้ใช้เทียบโอนเป็นบางวิชาจะได้เรียนจบประถมเร็วขึ้น หรือถ้าจะเรียนประถมใหม่หมดก็ไม่ต้องใช้ใบนี้




 

         3. เช้ามืดวันที่ 18 ต.ค.61 มีครูอาสาฯถามผมทางไลน์ ว่า  รอง.จังหวัดบอกว่า..ครูอาสา..จะไม่มีการสอบแทนตำแหน่งที่ว่าง..ออก ตัดตำแหน่งเลย..จะปรับตำแหน่งเป็นนักวิชาการ.อำเภอละ1คน แล้วอำเภอมีหลายคนทำไง..เลิกจ้างหรือ ถึงคราว..อวสานครูอาสา.

             ผมตอบว่า
             1)  การเกลี่ยตำแหน่งครูอาสาฯให้เหลือเฉลี่ยอำเภอละ 1 คน ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะต้องตกใจ เพราะไม่ได้จะเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และ
                  การเกลี่ยแบบนี้อาจต้องใช้เวลาชั่วชีวิตคนจึงจะเหลือเฉลี่ยอำเภอละ 1 คน
                  เช่นเดียวกับการเกลี่ยตำแหน่งครู กศน.ตำบล ให้มีครบทุกตำบล ๆ ละ 1 คน เกลี่ยมาสิบปีแล้วก็ยังมีครู กศน.ตำบลไม่ครบทุกตำบล ( ไม่รู้ว่ามีบางจังหวัดที่มีครู กศน.ตำบลเกินกรอบ รีบบรรจุครู กศน.ตำบลใหม่เมื่อมีครู กศน.ตำบลออก โดยไม่แจ้งส่วนกลาง บางหรือเปล่า )
                  เพราะ การเกลี่ยจะบังคับจิตใจใครให้ย้ายหรือลาออกหรือเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผล ไม่ได้
                  ( ให้เกลี่ยเฉพาะตำแหน่งว่าง )
                  ต้อง รอคอย จนกว่า จะมีครูอาสาฯ อายุครบ 60 ปี หรือลาออกด้วยความสมัครใจเช่นลาออกไปบรรจุเป็นข้าราชการ หรือ เสียชีวิต หรือทำความผิดวินัยทำงานไม่ผ่านประเมินถูกเลิกจ้าง
                  ถ้าครูอาสาฯคนใดไม่ “ลาออก-เกษียณ-ตาย-ทำไม่ดีถูกเลิกจ้าง” ก็เป็นครูอาสาฯต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องสนใจอะไร แม้ปัจจุบันจะมีครูอาสาฯมากก็ไม่ต้องสนใจ
             2)  ถ้า มีครูอาสาฯออกด้วยเหตุต่าง ๆ ตามข้อ 1) และจังหวัดนั้นมีจำนวนครูอาสาฯเกินจำนวนอำเภอ จังหวัดนั้นต้องขอเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯ ที่ว่างลงนั้น เป็นตำแหน่งอื่นที่เหมาะสม เช่นถ้าอำเภอไม่มีข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ก็เปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯที่ว่างเป็นพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ แล้วเลิกจ้างเหมาบริการตำแหน่งบรรณารักษ์ เป็นต้น
                  เปลี่ยนตำแหน่งแล้วอยู่ที่อำเภอเดิมหรือจะย้ายไปอยู่ที่อื่น จังหวัดก็คุยกับอำเภอแล้วจังหวัดเสนอส่วนกลาง
             3)  การที่มีนโยบายให้เกลี่ยตำแหน่งครูอาสาฯเป็นตำแหน่งอื่นนี้ มีเหตุผลที่
                  ตามกฏเกณฑ์ที่ตกลงไว้กับ ก.พ.ร.นั้น ตำแหน่งครูอาสาฯต้องมีหน้าที่เป็นครูผู้สอนนะครับ ถ้าเราบอกว่าปัจจุบันมีครู กศน.ตำบลแล้ว ครูอาสาฯไม่ต้องสอนแล้ว ก.พ.ร.จะให้ยุบ/เลิกจ้างตำแหน่งครูอาสาฯทั้งหมด
                  ถ้า ก.พ.ร.รู้ว่าครูอาสาฯในบางอำเภอไม่ได้ทำหน้าที่ครูผู้สอน จะมีปัญหา
                  จึงควรเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯเป็นตำแหน่งอื่นที่ทำหน้าที่ตรงกับชื่อตำแหน่ง
                  ไม่ใช่ว่า เมื่อตำแหน่งครูอาสาฯว่างลง ก็จ้างคนใหม่เป็นตำแหน่งครูอาสาฯอีก แต่ให้ทำงานต่าง ๆ อยู่ที่อำเภอ ไม่ต้องสอน โดยบอกว่า ถึงจะไม่ได้สอนแต่ฉันเป็นคนประเมิน ฉันให้ผ่านประเมิน ใครจะทำไม  แบบนี้ถ้ามีผู้ร้องไปที่ ก.พ.ร. ครูอาสาฯทั้งประเทศอาจมีปัญหา ( ก.พ.ร.เคยยุบพนักงานราชการบางตำแหน่งของกระทรวงวัฒนธรรมและกรมป่าไม้แล้ว )

         4. เช้าวันที่ 19 ต.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเป็นครู กศน ตำบล อำเภอแก้งคร้อ มีข้อสงสัย เดือนเมษยน 2561 มี กศน ท่านนึงเสียชีวิตลง ทางกศน.จังหวัดได้ปนะกาศ ให้ครู กศน ตำบลย้ายพื้นที่แทนตำนั้น ฉันทำเรื่องย้ายไปแทน จังหวัดอนุมัติการย้ายแล้ว และจังหวัดได้ทำหนังสือแจ้งไปส่วนกลางแล้ว แต่ส่วนกลางยังไม่ตอบกลับ ขอถามว่า
             ถ้าจังหวัดอนุมัติแล้วสามารถมาปฏิบัติบัติงานยังพื้นที่นั้นได้ไหม
             2 ส่วนกลางจะมีหนังสือตอบกลับมาตอนไหน ต้องใช้เวลานานไหม
             3 ผอ อำเถอ ก็อ้างว่ายังไม่มีหนังสือจากส่วนกลาง แต่ฉันมีความลำบาก ถ้าได้ย้าย ไปกลับก็สั้นลง 56 กิโลเมตร ค่านำ้มันเดือนนึงก็หลายบาท ทั้งค่าเล่าเรียนลูกอีก2 คน

             ผมตอบว่า   ถ้าย้ายคนภายในจังหวัด โดยมีเลขที่ตำแหน่งรองรับ ในตำแหน่งเดียวกัน ( ไม่ใช่ย้ายเลขที่ตำแหน่ง )  จังหวัดให้ย้ายได้เลย ไม่ต้องคอยส่วนกลางตอบกลับ
             เช่น นาย A ตำแหน่งครู กศน.ตำบล เลขที่ 5432 ซึ่งเป็นเลขที่ตำแหน่งครู กศน.ตำบล ของตำบล ก.ไก่
             ส่วน นาง B ตำแหน่งครู กศน.ตำบล เช่นเดียวกัน แต่เลขที่ 8888 ซึ่งเป็นเลขที่ตำแหน่งครู กศน.ตำบล ของตำบล ข.ไข่
             ต่อมา นาย A เสียชีวิต ทำให้เลขที่ 5432 เป็นตำแหน่งว่าง และจังหวัดพิจารณาให้ นาง B ย้ายไปครองตำแหน่งเลที่ 5432 ที่ตำบล ก.ไก่ แทน โดยคายเลขที่ 8888 ไว้ที่ ตำบล ข.ไข่ ทำให้เลขที่ 8888 กลายเป็นตำแหน่งว่าง
             เลขที่ 5432 ก็ยังอยู่ตำบล ก.ไก่เหมือนเดิม, เลขที่ 8888 ก็ยังอยู่ตำบล ข.ไข่เหมือนเดิม เปลี่ยนแต่คนครองตำแหน่ง  แบบนี้ให้อำนาจจังหวัดดำเนินการโดยไม่ต้องคอยส่วนกลางตอบกลับ  เมื่อคณะกรรมการจังหวัดพิจารณาและจังหวัดแจ้งให้สถานศึกษาย้าย พร้อมจังหวัดบันทึกลงฐานข้อมูล DPIS ภายใน 3 วัน แล้ว รายงานให้สำนักงาน กศน. “ทราบ” ภายใน 30 วัน

             ส่วนที่ต้องรอให้ส่วนกลางตอบกลับก่อน มี 2 กรณี คือ
             1)  การเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งครูอาสาฯ เลขที่ 7722 เป็นตำแน่งครูอาสาฯของ อำเภอ ม.ม้า เมื่อว่างลง ( ผู้ครองตำแหน่งเดิม ตาย-ลาออก-เกษียณ-ถูกเลิกจ้าง ) จังหวัดและอำเภอต้องการเปลี่ยนตำแหน่งว่างเลขที่ 7722 นี้ จากตำแหน่งครูอาสาฯ เป็นตำแหน่งบรรณารักษ์ กรณีนี้ต้องคอยให้ส่วนกลางตอบกลับก่อน
             2)  การย้ายเลขที่ตำแหน่ง เช่น จังหวัดและอำเภอต้องการย้ายตำแหน่งครูอาสาฯ เลขที่ 7722 ของอำเภอ ม.ม้า ไปไว้ที่อำเภอ ส.เสือ  ไม่ว่าจะเป็นเลขตำแหน่งว่างหรือเลขตำแหน่งที่มีคนครองอยู่ ( ถ้าเป็นตำแหน่งที่มีคนครองอยู่ก็คือจะย้ายไปทั้งคนและเลขที่ ) โดยที่เดิมอัตราจะหายไป คนอื่นจะมาแทนที่เดิมอีกไม่ได้  กรณีนี้ต้องคอยให้ส่วนกลางตอบกลับก่อน
             ถ้าจะให้ชัดเจน ลองสอบถาม กจ.กศน. 02-2822159 ว่ากรณีของคุณต้องคอยให้ส่วนกลางตอบกลับไหม ( ครึ่งปีแล้ว )

             วันเสาร์ที่ 20 ต.ค.61 เวลา 09.36 น. คุณณัฐพนธ์ กจ.กศน. แนะนำผมทางไลน์ เรื่องการขอเปลี่ยนพื้นที่ของพนักงานราชการ ( มีเลขที่ตำแหน่งว่างในตำแหน่งและกลุ่มงานเดียวกัน ) 2 กรณี ว่า
             ตามหนังสือซักซ้อมแนวปฏิบัติระบบพนักงานราชการ มีแนวปฏิบัติ ดังนี้
             กรณี 1. เปลี่ยน พท.ปฏิบัติงานภายในจังหวัด ให้เป็นอำนาจของ ผอ.จังหวัด โดยดำเนินการ ดังนี้
             1.1  พนักงานราชการผู้ประสงค์ขอเปลี่ยน พท. เขียนคำร้อง หรือทำบันทึกแจ้งความประสงค์ ยื่นต่อผู้บังคับบัญชา เช่น ผอ.กศน.อำเภอ เพื่อให้ความเห็นชอบ
             1.2  หากเห็นชอบ ให้ทำหนังสือแจ้งจังหวัดพิจารณา
             1.3  หากจังหวัดเห็นชอบ ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการเปลี่ยน พท. จัดประชุม สรุปผลการประชุม ออกคำสั่ง ทำบัญชีแนบท้ายคำสั่ง
             1.4  แจ้ง พรก.รายดังกล่าว ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบตามคำสั่ง โดย
                   1.4.1  ให้ พรก. นำสัญญาจ้างที่ยังไม่หมดสัญญาไปด้วย และให้แนบคำสั่งไว้ท้ายสัญญาจ้าง
                   1.4.2  ปรับปรุงข้อมูลใน dpis ให้เป็นปัจจุบัน
             1.5  จังหวัดส่ง คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ รายงานการประชุม สรุปผลการประชุม คำสั่ง บัญชีแนบท้ายฯ ให้ สนง.กศน.รับทราบ การเปลี่ยนพื้นที่ภายในจังหวัด ไม่ต้องรอให้ สนง.กศน. ตอบกลับ
             กรณี 2. เปลี่ยน พท. ข้ามจังหวัด/หน่วยงาน ต้องรอคำสั่งจาก สนง.กศน.เท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการได้เอง กรณีข้ามจังหวัด ปกติ สนง.กศน.จะแจ้งให้ขอเปลี่ยนเมื่อต่อสัญญา และเนื่องจากขณะนี้ เป็นช่วงการเลื่อนค่าตอบแทน พรก. จึงขอชะลอการย้าย จนกว่าการเลื่อนค่าตอบแทนจะแล้วเสร็จ  การขอข้ามจังหวัดนี้แม้เลื่อนค่าตอบแทนเสร็จแล้ว ถ้ายังไม่มีคำสั่งจาก สนง.กศน. ก็ยังส่งเรื่องขอเปลี่ยนส่ง.กศน.ไม่ได้ ยกเว้นขอเปลี่ยนกรณีมีเหตุจำเป็นพิเศษ
             อนึ่ง ถ้าจังหวัดจะเปลี่ยนตำแหน่ง เช่นเปลี่ยนจากครูอาสาฯ เป็นบรรณารักษ์ หรือจะย้ายเลขที่ตำแหน่งจากที่หนึ่งไปไว้อีกที่หนึ่ง ต้องแจ้งให้ สนง.กศน.ตอบกลับก่อน ผู้รับผิดชอบคือ กลุ่มงานอัตรากำลัง กจ.
             หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ นายณัฐพนธ์ เบอร์มือถือ 095 6936147

         5. คืนวันเดียวกัน ( 19 ต.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครูอาสา ใน กศน.อำเภอ มี2 คน และเพิ่งจะเกษียนไป 1 คน ตอนนี้ตำแหน่งครูอาสา ในอำเภอ เหลือ1 คน จังหวัดจะต้องเกลี่ยครูอาสาที่เกษียนไปแล้วนั้นว เป็นพนักงานราชการตำแหน่ง บรรณารักษ์ โดยที่เลิกจ้าง บรรณารักษ์จ้างเหมารึเปล่า

             ผมตอบว่า   ตามนโยบาย ให้จังหวัดพิจารณาทำลักษณะนั้นครับ ถ้ารวมทั้งจังหวัดมีจำนวนครูอาสาฯมากกว่าจำนวนอำเภอ
             แต่ ถ้าอำเภอนี้มีครูอาสาฯ 2 อัตรา แต่อำเภออื่น 2-3 อำเภอ ไม่มีครูอาสาฯ  รวมทั้งจังหวัดมีจำนวนครูอาสาฯไม่เกินจำนวนอำเภอ ก็อาจขอย้ายเลขที่อัตราครูอาสาฯที่เกษียณนั้นไปไว้ที่อำเภอที่ไม่มีครูอาสาฯและจ้างคนใหม่ในตำแหน่งครูอาสาฯ

         6. การยื่นขอย้าย

             1)  การย้ายกรณีปกติ ( กลับภูมิลำเนา, ไปอยู่ร่วมกับคู่สมรส, ไปดูแลบิดามารดา ) จะยื่นคำร้องขอย้ายได้เมื่อถึงช่วงเวลาที่กำหนด
             2)  การขอย้ายกรณีพิเศษ ( ยื่นขอย้ายได้โดยไม่มีการกำหนดช่วงเวลา ) เช่น
                  - ติดตามคู่สมรส ( คู่สมรสต้องย้ายไปจากเราหลังจากที่เราบรรจุอยู่ที่เดิมนี้แล้ว จึงจะเรียกว่าย้ายติดตามคู่สมรสเป็นกรณีพิเศษ แต่ถ้าย้ายไปอยู่ร่วมกับคู่สมรสโดยคู่สมรสไม่ได้เพิ่งย้ายไป ก็จะเป็นการย้ายกรณีปกติ )
                  - เจ็บป่วยร้ายแรง
                  - ถูกคุกคามต่อชีวิต
                  - บิดามารดาหรือคู่สมรสเจ็บป่วยร้ายแรง

             การขอย้ายกรณีพิเศษ ไม่ใช่จะอ้างเหตุกรณีพิเศษโดยง่าย เพราะ จะต้องแนบหลักฐานต่าง ๆ แม้แต่การขอไปช่วยราชการในลักษณะประจำ ก็ยังต้องแนบหลักฐานต่าง ๆ มาก ตัวอย่างเช่น มีข้าราชการครู กศน. คนหนึ่ง ขอไปช่วยราชการโดยอ้างเหตุเพื่อดูแลบิดามารดาและบุตร 3 คน ปรากฏว่า สป.ศธ. ขอข้อมูลเพิ่มเติมหลายรายการ ตามภาพประกอบโพสต์นี้






         7. เช้าวันอาทิตย์ที่ 21 ต.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า ปีงบ62 ครูกศน.ตำบล ย้ายได้มั๊ย กลับภูมิลำเนา

             ผมตอบว่า   พนักงานราชการให้ขอย้ายกรณีปกติ (ไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่ฯ ) ข้ามจังหวัด ในช่วงต่อสัญญาพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะต่อสัญญาทุก 4 ปี ตอนนี้ทำสัญญา 1 ต.ค.59-30 ก.ย.63 ( ดูสัญญานะ ) จะให้ต่อสัญญา+ขอย้ายข้ามจังหวัด ในช่วง ก.ย.-ต.ค.63


วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2561

1-2.ผอ.กศน.อำเภอ/เขต มีอำนาจไหม ( 2 เคส ), 3.ผู้ไปซื้อแบบพิมพ์ทางการศึกษา ต้องเป็นข้าราชการหรือไม่, 4.การทำลายข้อสอบ ใช้ระเบียบสารบรรณหรือระเบียบพัสดุแน่, 5.“เงินที่ได้มา ผอ.ไม่ได้เอาไปไหน แต่ต้องเอาไว้ซื้อน้ำกับทำบุญ”, 6.ประกาศอำนาจหน้าที่ กศน.จังหวัด, 7.ครู กศน. แปลงร่าง..


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 28 ก.ย.61 คุณวงศ์ธวัช ครู กศน.ตำบล ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ผอ.กศน.เขต มีอำนาจในการส่งตัว ครู กศน.ตำบล ไปช่วยราชการ กศน.จ.มั้ย (พอดี มีปัญหากับ ผอ.เขต เรื่องผมไปตรวจสอบการทุจริตเบิกจ่ายงบประมาณ)

             ผมตอบว่า   ตามข้อ 2.1 ใน “แนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการสังกัดสำนักงาน กศน.” กำหนดไว้ว่า
             1)  การสั่งให้ไปปฏิบัติ งาน นอกเหนือจากเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง ต้องมีระยะเวลาสิ้นสุดการไปปฏิบัติงานที่ชัดเจน ( จะต้องไม่เกิน 4 เดือน ในรอบปีงบประมาณ )
             2)  งาน ที่สั่งให้ไปปฏิบัติ ไม่ควรจะแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง ( จะต้องคำนึงถึงลักษณะงาน ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ ภาระงาน สภาพการปฏิบัติงาน คุณลักษณะและคุณสมบัติของพนักงานราชการ และเงื่อนไขอื่น ๆ )
             3)  เคสนี้ เมื่อ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต ประสานงานกับ ผอ.กศน.จังหวัด/กทม. แล้ว ผอ.กศน.จังหวัด/กทม. ต้องเป็นผู้สั่ง โดยระบุว่าให้ไปปฏิงานอะไร ตั้งแต่เมื่อไรถึงเมื่อไร จากนั้น ผอ.กศน.อำเภอจึงทำหนังสือส่งตัวไป







         2. วันที่ 1 ต.ค.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  แฟนฉันเป็นหัวหน้ากศน.ตำบล ฉันเป็นครูกศน.ตำบล อยู่ตำบลเดียวกัน มีครู กศน.ตำบล 3 คน ผอ.จะให้แยกกันอยู่ ให้แฟนฉันไปเป็นลูกน้องตำบลใหม่ เลขที่ตำแหน่งอยู่ที่เดิม ถามว่า ถ้าไม่ย้ายได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าย้ายแบบที่เจ้าตัวไม่ได้ยื่นขอย้ายเอง ต้องให้ไปปฏิบัติงานในลักษณะงานตามสัญญาจ้าง ปีงบประมาณละไม่เกิน 4 เดือน ระบุว่าให้ไปปฏิบัติงานอะไรและสิ้นสุดเมื่อใด ไว้ตั้งแต่วันให้ไป โดยเสนอให้ ผอ.จังหวัดเป็นผู้สั่ง
             ส่วนการตั้ง "หัวหน้า" กศน.ตำบล ก็ต้องเสนอให้ ผอ.จังหวัดเป็นผู้ตั้งเช่นกัน

         3. วันที่ 27 ก.ย.61 มีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  การจัดซื้อแบบพิมพ์ (ระเบียนฯ) ผู้ที่ไปซื้อ ต้องเป็นข้าราชการ หรือไม่

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบของ กศน. ( ในคู่มือการดำเนินงานฯ ปกสีเลือดหมู หน้า 157 ) ระบุแต่เพียงว่า "การสั่งซื่อแบบพิมพ์ ให้ ผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. เป็นผู้สั่งซื้อ”
             ในทางปฏิบัติ ถ้าไม่ได้สั่งซื้อทางไปรษณีย์ แต่ให้คนไปซื้อที่ร้านค้าของ สกสค. .. สนง.กศน.จังหวัด ต้องเป็นผู้ออกหนังสือสั่งซื้อเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุชื่อผู้ไปซื้อ ไว้ในหนังสือนี้ด้วย และผู้ไปซื้อต้องนำบัตรประจำตัวไปแสดงกับผู้ขายด้วย
             แต่ระเบียบของ องค์การค้า สกสค. กำหนดว่าผู้ไปซื้อต้องเป็น “ข้าราชการหรือบุคลากรทางการศึกษา”
             วันที่ 2 ต.ค.61 ผมถาม สกสค. ว่า คำว่าบุคลากรทางการศึกษา หมายถึงใครได้บ้าง
             ได้รับคำตอบว่า ใครก็ได้ที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาของหน่วยงานทางการศึกษา/สถานศึกษานั้น เป็นลูกจ้างประจำก็ได้ เป็นพนักงานราชการก็ได้ ขอให้เป็นคนที่ระบุชื่อสกุลไว้ในหนังสือสั่งซื้อ

         4. เย็นวันที่ 1 ต.ค.61 มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ กศน. ว่า  การทำลายข้อสอบ ที่ผ่านการสอบไปแล้ว ต้องดำเนินการขั้นตอนอย่างไร

             ผมตอบว่า   ที่ถูกต้อง การทำลายข้อสอบ ทั้งกระดาษคำถามและกระดาษคำตอบ ทั้งข้อสอบที่มาจากส่วนกลางและข้อสอบวิชาเลือกเสรีของอำเภอเอง ใช้ระเบียบการทำลายหนังสือ ตามระเบียบสารบรรณ
             ซึ่งตามระเบียบสารบรรณกำหนดเรื่องการทำลายหนังสือให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรม แต่ของเราระดับอธิบดีกรมคือปลัดกระทรวง และปลัดกระทรวง ศธ.มอบอำนาจเรื่องนี้ให้ ผอ.กศน.จังหวัด ตามคำสั่งมอบอำนาจที่ 531/51 ข้อ 7 ซึ่ง ผอ.กศน.จังหวัดจะมอบอำนาจต่อไม่ได้ ต้องออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการเอง โดยถ้าจะทำลายหนังสือหรือข้อสอบที่อยู่ที่อำเภอ จังหวัดอาจแต่งตั้งบุคลากรของอำเภอเป็นคณะกรรมการ
             เรื่องการทำลายหนังสือนี้ จังหวัดควรเป็นผู้เริ่มดำเนินการ แต่หลายจังหวัดไม่ค่อยรู้ไม่ค่อยทำเรื่องนี้ ลองคุยกับจังหวัดให้จังหวัดศึกษาดูซีครับ
             อนึ่งเรื่องการทำลายข้อสอบนี้ ในคู่มือของกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ ระบุว่าทำลายตามระเบียบพัสดุ ซึ่งผมคิดว่าไม่ถูกต้อง เพื่อความแน่ใจ วันที่ 2 ต.ค.61 ผมถามอดีตหัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กลุ่มการคลัง กศน. ( เกษียณแล้ว ) ว่า
             การทำลายข้อสอบปลายภาค ที่สอบเสร็จแล้ว ( กระดาษคำถาม และ กระดาษคำตอบ ) ทำลายตามระเบียบสารบรรณ หรือ ระเบียบพัสดุ
             ท่านตอบว่า  ทำลายตามระเบียบสารบรรณ  ( แต่ในส่วนของ ถ้ามีค่าใช้จ่ายเช่นค่าจ้างทำลาย ให้จ้างตามระเบียบพัสดุ )
             ในทางปฏิบัติ เคยมีหนังสือแจ้งเมื่อปี 2551 เรื่องการทำลายข้อสอบ ( ชุดคำถาม ) ให้จังหวัดเป็นผู้ทำลาย เมื่อสอบเสร็จต้องขนส่งไปจังหวัด ไม่ได้อยู่ที่อำเภอ โดยอาจทำลายด้วยการเผา หรือให้เอกชนทำการย่อยเป็นเส้น ๆ ให้ไม่สามารถอ่านได้ เมื่อย่อยแล้วก็ ให้ หรือ ขาย เอกชนไป ( แทนที่จะมีค่าใช้จ่าย กลับมีรายได้ถ้าใช้วิธีทำให้ไม่สามารถอ่านได้แล้วขาย ซึ่งปัจจุบันมักใช้วิธีนี้ เอกชนมีเครื่องมือทำลายต่อหน้ากรรมการ ส่วนการเผากระดาษจำนวนมากนั้นไม่ง่ายและการเผาทำลายสิ่งแวดล้อม )  ส่วนกระดาษคำตอบ ก็เป็นอำนาจของจังหวัดเหมือนกัน เพียงแต่เอกสารถ้าอยู่ที่อำเภอ จังหวัดมักจะออกคำสั่งแต่งตั้งคนอำเภอเป็นกรรมการทำลายอยู่ที่อำเภอ
             ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ ( ฉบับที่ 3 ) พ.ศ.2560 กำหนดว่า “คณะกรรมการทำลายหนังสือประกอบด้วยประธานและกรรมการอีกอย่างน้อย 2 คน โดย ปกติ ให้แต่งตั้งจากข้าราชการ” 
             ถ้าอำเภอมีข้าราชการไม่ครบ 3 คน อาจให้ข้าราชการอำเภออื่นร่วมเป็นกรรมการ หรืออาจอนุโลมให้เป็นข้าราชการเฉพาะประธาน ส่วนกรรมการอาจเป็นลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ

         5. “...ก็ให้ทำเหมือนอำเภอเพื่อนๆ เค้ามั่งนะ ทำอะไร ไม่ใช่ว่าแลอำเภอข้างเคียงก็ไม่แล ทำตามใจตัวเอง อยู่อำเภออื่นที่ผ่านมาเขาเข้าใจเรื่องนี้ว่าส่วนต่างที่ได้มานี่ ผอ.ไม่ได้เอาไปไหนนะ บอกทุกที่ ที่อยู่ ว่าส่วนต่างที่ได้มา พอเวลาทอดกฐิน ทอดผ้าป่าในปีงบประมาณหนึ่ง ประเทศไทยนั้นนะ ศาสนาพุทธมีเดือนไหนนะ เดือนตุลา เดือนพฤศจิกา เค้าต้องมีเรี่ยไรกันม่าย เค้าก็ต้องเรี่ยไรมา ถึงเค้ามาเรี่ยไรแล้วนั้นเราไม่ให้หรือ เราก็ต้องให้ ถึงให้ ให้ตามอัธยาศัย ให้ 10 บาท 20 บาท ต่ออำเภอนั้นมันก็ให้ได้ แต่คิดว่ามันเหมาะสมม่าย อำเภอเค้าให้สี่หลัก ไม่ใช่สามหลัก ห้าหลัก อำเภอใหญ่เค้าก็ให้มากตามงบประมาณที่ได้”

             ตามความคิดผมนะ ผอ. ถ้าเหมือนแหลงถึงแล้ว ถ้าเหมือนว่ามันต่างกัน ก็มันไม่แตกต่างกับคอรัปชั่นหรือว่าโกง ในขณะที่เราสอนเด็กว่าอย่างงั้น แม้ว่าข้ออ้างไปทำบุญ ทำไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเบี้ยทำบุญ สมมุติว่าเบี้ยขายยาเสพติด นี่แหละไปทำบุญ มันอิได้บุญมั้ย ตรงนั้นผมว่าไม่เห็นด้วยตรงนั้นนะ นี้ส่วนตัวผม เพราะว่าเราไปสอนเด็กว่า อย่าโกงพันโน้นพันนี้ ประเทศไทยในขณะที่เราด่าคนรุ่นก่อน ประเทศไทยเป็นพันนี้เพราะว่าเราเป็นพันนั้น ถึงเราอีทำแบบนั้นต่อไปก็ไม่รู้ ผมว่ามันแลว่าเราแหลงไหรไม่กล้าสบตาคน แม้ว่าเรามีข้ออ้าง ที่ว่ามันแลดูดี ว่าซื้อน้ำไว้ทำบุญพันนี้แหละ แต่ถ้าเหมือนว่าของมันแพงขึ้น ผมว่าก็คือโกงนั่นแหละ”

             https://mgronline.com/south/detail/9610000100752 ( มีคลิปเสียงอยู่ท้ายเว็บ )

         6. ตามที่ผมเคยถามท่านผู้รู้ ว่า "กศน.จังหวัดต่าง ๆ นำอำนาจหน้าที่ของ กศน.จังหวัด 13 ข้อ มาจากไหน มาจากระเบียบกฎหมายหรือคำสั่ง/หนังสือสั่งการ/หนังสือแจ้งฉบับไหน" นั้น

             ท่าน ดร.ปาน กิมปี ได้กรุณานำเอกสารประกาศฯ มาลงให้ในกลุ่มไลน์
             สรุปว่า อำนาจหน้าที่ของ กศน.จังหวัด/กทม. 13 ข้อ กำหนดไว้ใน “ประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ...จังหวัดและ...กรุงเทพ...เป็นหน่วยงานการศึกษา...”
             ประกาศ ณ วันที่ 4 มี.ค.51 ( ชื่อประกาศยาว 3-4 บรรทัด ผมเลยย่อชื่อ )
             ขอบพระคุณท่าน ดร.ปาน กิมปี มากครับ






         7. วันที่ 11 ต.ค.61 สำนักงาน กศน.แจ้งเรื่อง การบริหารอัตรากำลังพนักงานราชการ/จ้างเหมาบริการ จำกัดการจ้างเหมาบริการ ระบุว่างบประมาณค่าจ้างเหมาบริการของสำนักงาน กศน.ถูกตัดลดลง
             ( สวนทางกับ สพฐ.ที่ปีนี้จัดสรรอัตราให้ทุกโรงเรียนจ้าง จนท.ธุรการ )
             ดูหนังสือ กศน.นี้ได้ที่
             https://www.dropbox.com/s/aqj3iuvt3k9t4bd/JangMhao.pdf?dl=1

             ในเรื่องนี้ มีผู้โพสต์ในกลุ่มไลน์ ว่า
             “ปัญหาที่พบเห็นก็คือให้บรรณารักษ์ไปนั่งทำงานที่สถานศึกษา เช่นทำการเงินให้ ผอ. ทำพัสดุให้ ผอ. แม้บรรณารักษ์ที่เป็นข้าราชการก็ไม่เว้น หรือแม้แต่ครูตำบลแทนที่จะได้นั่งทำงานในพื้นที่กลับต้องนั่งในหน่วยงาน
               ประดางานที่ทำก็เลยกลายเป็นธุรการเสียส่วนใหญ่
               จะแก้ไขกันอย่างไร? ทีนี้ครูตำบลก็เลยกลายเป็นคนแปลกหน้าของตำบล ไปทีไรก็ใส่กุญแจปิด.เหลือแต่ป้าย ระวังชาวบ้านเขาจะส่งภาพมาเน้อ.
               เหตุที่เกิดคือไปพบน้องบรรณารักษ์ปรับทุกข์ให้ฟัง เขาต้องไปทำงานที่อำเภอด้วย”

             อีกท่านหนึ่ง ตอบว่า
             “บางทีก็ต้องคิดมุมกลับอีกนะ บางครั้งสำนักส่วนกลางมีหลายหน่วยงาน กองโน่นนี่นั่นจะเอาข้อมูลเรื่องนี้ด่วน อ้าวกพ.จะเอาเรื่องนี้ กองแผนให้ทำแผนและข้อมูลด่วนๆๆ กจ.อบรมครู ศกพ.อบรมครูพิการ เชิญชวนจัด กศน.คนพิการอีก นโยบายด่วนจากกระทรวงมาอีก ส่งเสริมการอ่านอีก มากมายเลย งานประจำก็มี จังหวัดจะอบรมอีก ศท.จะมาถ่ายทำวิดีโอกศน. กิจกรรมต่างๆมากมายหายใจไม่ทันเลย เลยเป็นอย่างที่ได้ยินมานะ ก็เลยต้องลุยและรู้ทุกงานยกเว้นงานในหน้าที่ โชคดีที่เป็นอดีต ศน.ที่ออกนิเทศก็เห็นใจทั้งหน่วยเหนือและหน่วยปฏิบัติ”

             ผมร่วมแสดงความคิดเห็น ว่า
             “อยู่ระดับอำเภอไม่มีใครทำงานหน้าเดียวหรอกครับ โดยเฉพาะครู กศน. ทำงานมากกว่า 8 หน้า
             เวลาเห็นใครปกป้องจะให้บางตำแหน่งทำงานหน้าเดียวแล้ว รู้สึกระทมขมขื่นแทนครู กศน. ( ใครดูแลงานใดก็ให้ความสำคัญแต่งานนั้น )
             หลายคนในส่วนกลางบอกว่า ครู กศน.ต้องอยู่ประจำตำบล ไม่ให้มาทำงานที่อำเภอ แล้วที่อำเภอมีตำแหน่ง จนท.ธุรการไหม มีตำแหน่ง จนท.พัสดุไหม มีตำแหน่ง จนท.การเงินไหม มีตำแหน่ง จนท.แผนฯไหม มีตำแหน่ง จนท.บัญชีไหม มีตำแหน่ง จนท.ฯลฯ ไหม  แม้แต่ตำแหน่ง จนท.ทะเบียนนักศึกษาก็ไม่มี
             บางอำเภอมี ขรก.คนเดียวคือ ผอ. อำเภอส่วนใหญ่มี ขรก.ครูอีก 1 คน ถ้าเป็น อ.ในเมืองจึงจะมี ขรก.ครู 2-3 คน  อำเภอ 99 % ไม่มีนักการฯ/คนงาน
             ( คนไม่พอทุกตำแหน่ง ทำให้ผลงานมีปัญหาทั้งห้องสมุดและ กศน.ตำบลหลายแห่ง บางกลุ่มงานในส่วนกลางมีอัตราจ้างเหมาบริการเป็น 10 )
             อำเภอในภาคกลาง(ยกเว้น กทม.)+ตะวันออก+ใต้ ส่วนใหญ่ ยังมีครู กศน.ตำบลไม่ครบทุกตำบล ที่ อ.ผักไห่ ช่วงที่ผมยังไม่เกษียณ ต้องใช้ครูอาสาฯ+ครู กศน.ตำบล+จ้างครู ศรช. จึงจะครบทุกตำบล ( เงินที่จ้างครู ศรช.ก็ได้ตามรายหัว นศ. บางตำบลมี นศ.น้อยเงินรายหัวน้อยไม่อยากจ้างก็ไม่ได้ เพราะไม่มีครูอาสา+ครู กศน.ตำบลเลย ก็ต้องจ้างครู ศรช.เพื่อให้มีคนอย่างน้อยตำบลละ 1 คน ตำบลไหนมีครูอาสาฯหรือครู กศน.ตำบลดูแลแล้วก็ไม่จ้างครู ศรช. จึงจะทำให้เงินอุดหนุนรายหัวเพียงพอ
             แต่หนังสือฉบับนี้ ก็ระบุว่าจะเกลี่ยครูอาสาฯให้เหลืออำเภอละคนเดียว อีกแล้ว
             คนส่วนกลางบางคน มีหน้าที่ดูแลงานห้องสมุดเคลื่อนที่เพื่อชาวตลาด ทำรายงานผลแต่ละเล่ม ใช้เวลาทำ/ตรวจปรู้ฟ เล่มละ 1 ปี อำเภอทำเอกสารเดือนละหลายเล่ม

             ครู กศน. แปลงร่าง..
             - เวลาจะสอน แปลงร่างเป็นครู
             - ไฟเจ๊ง ครู กศน.แปลงร่างเป็น ช่างไฟ
             - น้ำไม่ไหล ครูแปลงร่างเป็นช่างประปา
             - เจ้านายอยากได้อาคาร ครูแปลงร่างเป็นช่างปูน
             - เจ้านายอยากได้โปสเตอร์ ไวนิล ครูแปลงร่างเป็นช่างกราฟฟิค
             - เจ้านายอยากได้ป้ายผ้า ครู กศน.ก็แปลงร่างเป็นช่างศิลป
             - เจ้านายอยากได้รูปกิจกรรม ครูแปลงร่างเป็นช่างภาพ
             - มีของมาลงที่สำนักงาน ครูแปลงร่างเป็นกรรมกร
             - มีงานภาคเวที ครูแปลงร่างเป็นพิธีกร
             - รถ นศ. เจ๊ง ครูแปลงร่างเป็นช่างยนต์
             - ขยะเต็มสำนักงาน ครูแปลงร่างเป็นภารโรง
             - กลางคืนเกิดเหตุการณ์ไม่ค่อยสงบ ครูแปลงร่างเป็นยาม
             - เทศกาลกีฬา กศน. ครูแปลงร่างเป็นกองเชียร์ เป็นนักกีฬา
             - ในตำบลมีงานการกุศล ครูแปลงร่างเป็นเด็กโบกรถ
             - กำนันจัดงานแต่งลูกสาว ครูแปลงร่างเป็นเด็กเสิร์ฟ เด็กล้างจาน
             โดย Enrico Piaggio กศน.อ.มายอ จ.ปัตตานี