วันเสาร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2562

1.ตอนนี้ให้ชะลอการย้ายพนักงานราชการใช่ไหม, 2.พนักงานราชการไม่เข้าประเมิน ผอ.ให้ลาออก, 3.ผู้บริหารมีวาระกี่ปีต้องย้าย, 4.ครู กศน.ตำบล ทำวุฒิปลอม, 5.ผอ.จะไม่ยอมให้เด็กที่ขาดสอบ ลงทะเบียนอีก แบบนี้จะทำได้ไหม, 6.คน กศน.วิตกเรื่องการจ้างในปี งปม.ต่อไป, 7.รัฐไม่ควรให้โอกาส


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. คืนวันเสาร์ที่ 14 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตอนนี้มีการชะลอการย้าย พนักงานราชการ กศน ใช่ไหมคะ

             ผมตอบว่า   ใช่ครับ กำหนดตาม “แนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการ สังกัดสำนักงาน กศน.” ข้อ 4.6 ว่า มิให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน ในเดือน ก.ย.ของทุกปี





         2. วันที่ 23 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็นครู กศน.ตำบล อยากสอบถามว่า
             1) กรณีที่เราไม่ได้เข้ารับการประเมิน พนง.ราชการ ครั้งที่ 2 เรายังสามารถจะต่อสัญญาทำงานที่ กศน.ได้หรือเปล่า สัญญาจ้าง พนง.ราชการ หมดสัญญาปี 2563
             2)  ไม่เข้ารับการประเมิน เพราะ
                  - สุขภาพร่างกายป่วย มีโรคประจำตัว ภาวะเครียด แต่ไม่ได้แอดมิด รพ. นะ มีแต่การไปพบแพทย์เพื่อรักษาโรค
                  - เอกสารที่เข้ารับการประเมิน มีน้อย ไม่ครบตามตัวชี้วัด จึงขอไม่เข้ารับการประเมิน

             ผมตอบว่า   บรรจุเป็นครู กศน.ตำบลตำแหน่งนี้ตั้งแต่เมื่อไร ขอไม่เข้ารับการประเมินได้ด้วยหรือ ปกติไม่เคยมีแบบนี้ ถ้าป่วยก็ขอเลื่อนวันกับจังหวัด แล้วจังหวัดเขาว่ายังไงล่ะ

             ผู้ถาม ตอบว่า  ปี 54
             คือวันที่มีการประเมิน ไม่มาประเมิน แต่ไม่ได้แจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งเป็นคำพูดกับเพื่อยร่วมงาน
             ผมถามซ้ำว่า  แล้วจังหวัดเขาว่ายังไงล่ะ
             ผู้ถาม ตอบว่า  มีการพูดคุยกับ ผอ.อำเภอ ท่านให้ดูระเบียบฯ ว่าถ้าครู กศน.ตำบล ไม่เข้ารับการประเมิน จะไม่สามารถต่อสัญญาจ้างครั้งต่อไปได้ ตอนนี้คือ ท่าน ผอ.ให้ทำงานจนถึงสิ้นเดือน และให้เขียนใบลาออกเพื่อเสนอไป สนง.กศน.จังหวัด
             ผมตอบว่า  เลยไม่รู้ว่าจังหวัดเขาว่ายังไง
             - ปกติถ้าป่วย ก็เสนอขอเลื่อนวันประเมิน ในการประเมินนั้นถ้าคณะกรรมการประเมินเขาเห็นว่าป่วยมากจริงเป็นเหตุให้ผลงานน้อยจริง ถ้าเขาคิดว่าน่าเห็นใจจริง เขาก็อาจจะให้คะแนนประเมินเพียงแค่ผ่าน อาจจะได้เลื่อนค่าตอบแทนน้อย
             - พนักงานราชการ จะประเมินปีละ 2 ครั้ง นำคะแนน 2 ครั้งมารวมกันแล้วหารด้วย 2 เป็นคะแนนทั้งปี จะใช้คะแนนทั้งปีนี้สรุปว่าผ่านประเมินหรือไม่ ผ่านระดับใด ส่งผลถึงจำนวนเงินเลื่อนค่าตอบแทนประจำปี ถ้าคะแนนไม่ผ่านประเมินก็เลิกจ้าง
             เว้นแต่ จะเพิ่งบรรจุเข้าทำงานหลังช่วงประเมินครั้งที่ 1 ก็จะประเมินเฉพาะครั้งที่ 2 เพียงครั้งเดียว ใช้คะแนนครั้งที่ 2 โดยไม่ต้องหารด้วย 2 ซึ่งถ้าเพิ่งบรรจุหลังวันที่ 1 ก.พ.จะเป็นการประเมินเพื่อจ้างต่ออย่างเดียว เลื่อนค่าตอบแทนไม่ได้
             ( ตามระเบียบหลักเกณฑ์การประเมิน มีวัตถุประสงค์ได้ 4 อย่าง คือ
                ก. การเลื่อนค่าตอบแทน
                ข. การเลิกจ้าง
                ค. การต่อสัญญาจ้าง
                ง. อื่น ๆ
                การประเมินปีนี้ เพื่อการเลื่อนค่าตอบแทนและการเลิกจ้าง )
             - ถ้าคะแนนการประเมินทั้งปี ต่ำกว่า 75 % จังหวัดต้องสั่งเลิกจ้างครับ
             กรณีประเมินเฉพาะครั้งที่ 1 จะทำให้คะแนนประเมินครั้งที่ 2 ได้ 0 คะแนน คะแนนทั้งปีคือคะแนนครั้งที่ 1 บวก 0 แล้วหารด้วย 2 ซึ่งก็จะเหลือต่ำกว่า 75 % จังหวัดต้องสั่งเลิกจ้าง เว้นแต่จังหวัดจะให้จัดประเมินครั้งที่ 2 เฉพาะรายนี้ใหม่

         3. วันที่ 20 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ผู้บริหารสถานศึกษามีวาระกี่ปีต้องย้ายจากที่เดิม

             ผมตอบว่า   เป็นไปตามมาตรา 60 แห่ง พรบ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 คือ ไม่เกิน 4 ปี เว้นแต่จำเป็น ต่อได้คราวละ 1 ปี รวมไม่เกิน 6 ปี
             หมายรวมถึง ผอ./รอง ผอ.จังหวัด และ ผอ./รอง ผอ.สถานศึกษา ( รวม ผอ.กศน.อ./ข. ) ด้วย





         4. เช้าวันที่ 24 ก.ย.62 มี ผอ.กศน.อ. ถามผมทางไลน์ ว่า  ถ้าตรวจสอบวุฒิที่อื่นส่งมา แล้วพบว่าครู กศน.ตำบลทำวุฒิปลอมเอง จะดำเนินการอย่างไร

             ผมตอบว่า
             1)  ตอบกลับไปยังหน่วยที่ส่งมาให้ตรวจว่า เป็นใบวุฒิปลอม ( ไม่ได้ออกโดย กศน.อำเภอ )
             2)  รายงานจังหวัดโดยเร็ว ให้จังหวัดรายงานส่วนกลาง
             3)  แจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ กศน.อำเภอนั้น
             ครั้งแรกผมไม่แน่ใจว่าถ้าบุคลากรภายในปลอมเองควรรีบแจ้งความหรือไม่ วันนี้ผมจึงเรียนถามท่าน ผอ.กจ.กศน.ในเรื่องนี้ ท่านบอกว่าแม้ผู้ปลอมเป็นบุคลากรภายในของเราเอง ก็ต้องแจ้งความ ( กรณีรู้ตัวคนปลอมว่าเป็นบุคลากรของเรา ต้องทำทั้ง 2 ส่วน คือ แจ้งความด้วย วินัยด้วย )
             นอกจากนี้ กศน.เราต้องทำประกาศว่า ใบวุฒิฉบับนั้นไม่ได้ออกโดย กศน.อ.เราด้วย

             ผอ.ถามต่อ ว่า  แจ้งความ กศน.อำเภอเป็นคนแจ้ง หรือจังหวัดแจ้ง
             ผมตอบว่า
             1)  ผู้เสียหายคือ สถานศึกษาที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้ออกใบวุฒิปลอมนั้น ( ถูกปลอมแปลงเอกสาร )
                  ฉะนั้น ผู้ต้องแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดตามกฏหมายอาญา ข้อหาปลอมแปลงเอกสาร คือ กศน.อ.เรา หากไม่ดำเนินการแจ้งความและรายงานผ่านไปให้สำนักงาน กศน.ทราบโดยด่วน จะเป็นความผิดฐาน “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”
                  ส่วน สถานศึกษาที่ผู้ใช้วุฒิปลอมนำไปใช้ แล้วเขาส่งมาให้เราตรวจ เขาจะแจ้งความดำเนินคดี ข้อหาใช้ข้อความเท็จ ( ยังไม่จบแต่มาแจ้งเท็จว่าเรียนจบมาแล้ว ) หรือไม่ อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษานั้น อาจแค่ไม่รับสมัครคนนั้นเข้าเป็น นศ.เท่านั้น ( แต่ถ้าเป็น มสธ. ใครเอาวุฒิปลอมไปสมัครเรียนกับเขา เขาจะแจ้งความดำเนินคดีทุกราย )
             2)  ถ้าเป็นคดีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดิน สถานศึกษาจะแจ้งความเองไม่ได้ ต้องเสนอเรื่องผ่านจังหวัดให้ปลัดกระทรวงฯมอบอำนาจให้ ผอ.สถานศึกษาไปแจ้งความ ถ้าเป็นคดีอาญาแผ่นดิน เช่นการปลอมแปลงเอกสารของทางราชการนี้ เมื่อทราบเรื่อง สถานศึกษาต้องเป็นผู้ไปแจ้งความในเบื้องต้น แล้วรายงานผ่านจังหวัดไปให้ส่วนกลางมอบอำนาจให้จังหวัดดำเนินคดีอาญาต่อไป
             แต่เนื่องจากโดยทั่วไปการแจ้งความเป็นอำนาจของปลัดกระทรวง ( นิติบุคคล ) ถ้า ผอ.มอบอำนาจให้คนอื่นไปแจ้งความ จะเป็นการมอบต่อช่วง ฉะนั้น ให้ ผอ.กศน.อ.ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจด้วยตนเอง

         5. วันที่ 24 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเป็นครู ศรช. มีนักศึกษาที่สมัครเรียนภาคเรียนที่ 1 /62 แต่ขาดสอบ ผอ.จะไม่ยอมให้เด็กลงทะเบียน แบบนี้จะทำได้ไหม

             ผมตอบว่า   ที่จริง ผอ.ก็สามารถมีนโยบายอย่างนั้นได้ถ้าคิดว่าเป็นลักษณะของนักศึกษาผี แต่จะเหมาะสมหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
             ผอ.บางท่านมีนโนยายว่าถ้าขาดสอบแล้วจะลงทะเบียนในเทอมต่อไปอีก ต้องให้นักศึกษามาพูดคุยกับ ผอ.ก่อนว่าจะเรียนจริงจึงยอมให้ลงทะเบียนเรียนอีก  ผอ.บางท่านก็มีนโยบายว่าถ้าขาดสอบติดต่อกัน 2 ภาคเรียน ไม่ให้ลงทะเบียนเรียนอีก

         6. คืนวันที่ 27 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็นจ้างเหมาบริการ กศน.อำเภอ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ใช้เงินงบอุดหนุนในการจ้าง ตอนนี้ยังลูกผีลูกคนไม่มีทีทางว่าจะได้ทำงานต่อไหม อยากจะเรียนถาม อ. ว่า จ้างเหมาบริการที่ใช้เงินอุดหนุนนั้น ทางกรมเค้าจะจ้างต่อไหม

             ผมตอบว่า   โดยส่วนตัวผมคิดว่า คล้ายปีก่อน คือ ถ้าเป็นตำแหน่งเดิม/อัตราเดิม/คนเดิม และเดิมก็จ้างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกอย่าง ก็สามารถดำเนินการจ้างต่อเนื่องได้ ( ดำเนินการจัดจ้างและให้ผู้มีอำนาจอนุมัติให้จ้างไว้ภายในสิ้นปีงบประมาณ 30 ก.ย. ตามข้อ 2.ในหนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0408.4/ว351 ลงวันที่ 9 ก.ย.48 )  แต่ยังลงนามในสัญญาจ้างไม่ได้จนกว่าจะได้รับจัดสรรเงิน ( ถ้าจะลงนามในสัญญาจ้างต้องระบุในสัญญาว่า สัญญาจะมีผลเมื่อได้รับอนุมัติเงินประจำงวดจากสำนักงบประมาณแล้ว )  ซึ่งเมื่อสัญญายังไม่มีผล ก็ยังจะไม่ได้รับค่าจ้าง แต่เมื่อใดที่สัญญามีผลโดยดำเนินการจ้างต่อเนื่องไว้ก่อนแล้วก็เบิกจ่ายเงินค่าจ้างย้อนหลังไปตั้งแต่ 1 ต.ค.62 ได้
             ในส่วนของการจ้างด้วยเงินอุดหนุน นอกจากจะต้องถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทุกอย่างแล้ว ยังต้องดูงบอุดหนุนที่แต่ละแห่งได้รับตามจำนวนนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐานด้วย เรื่องการจ้างด้วยเงินอุดหนุนจึงต้องถามแต่ละแห่งแม้จะเป็นอัตราเดิมตำแหน่งเดิมคนเดิมก็ตาม

             หลักเกณฑ์การจ้างคือ
             1)  จ้างในชื่อตำแหน่ง และค่าจ้าง ตามที่ส่วนกลางกำหนด โดยในแต่ละแห่งไม่จ้างในชื่อตำแหน่งเดียวกับข้าราชการหรือพนักงานราชการ เช่นถ้า กศน.อำเภอใดมีพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์แล้วก็ให้หยุดจ้างเหมาบริการตำแหน่งบรรณารักษ์
             2)  ถ้าจ้างด้วยเงินอุดหนุนรายหัว ต้องจ้างในตำแหน่งที่ทำงาน กศ.ขั้นพื้นฐานโดยตรง ตามเกณฑ์จำนวนนักศึกษาต่อครู ที่กำหนด เพราะ กศน.ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวมาตามจำนวน นศ.ขั้นพื้นฐาน มิฉะนั้นจะเป็นการใช้เงินผิดประเภท ซึ่งผิด
             3)  ถ้าจ้างด้วยงบดำเนินงานผลผลิตที่ 4-5 แต่ละจังหวัดต้องจ้างจำนวนคนไม่เกินที่ส่วนกลางกำหนด  แต่การจ้างด้วยเงินอุดหนุน ส่วนกลางไม่ได้กำหนดจำนวนคน ( ยกเว้นครูที่ ศกพ.ดูแล เช่น ครูผู้สอนคนพิการ-เด็กเร่ร่อน)  จำนวนคนที่จ้างด้วยเงินอุดหนุนนั้นนอกจากจะดูข้อ 1) และ 2) นี้แล้ว แต่ละจังหวัดแต่ละแห่งต้องดูเงินอุดหนุนรายหัวที่ได้รับตามจำนวน นศ.กศ.ขั้นพื้นฐาน ด้วย
             4)  ถ้าจะจ้าง “คนใหม่” ยังดำเนินการจ้างไม่ได้ จนกว่าจะได้รับจัดสรรเงิน และจะจ้างย้อนหลังไปวันก่อนได้รับจัดสรรเงินไม่ได้
             ปีนี้ต่างจากปีก่อน ที่ปีนี้ พรบ.งบประมาณปี 63 ยังไม่ผ่านสภาฯ ( วันนี้ 28 ก.ย.62 ยังไม่เข้าสภาฯเลย ) จะส่งผลกับการจ้างเหมาบริการงบใดมากขึ้นอย่างไรหรือไม่ ให้ถามกลุ่มแผนงาน กศน. ได้ความว่ายังไง มาเล่าให้ฟังด้วยนะ

         7. วันที่ 26 ก.ย.62 หลังจากที่ผมโพสต์ตอบคำถามเรื่อง “ผอ.กศน.อ.จะไม่ยอมให้เด็กที่ไม่มาสอบปลายภาค ลงทะเบียนเรียนอีก แบบนี้จะทำได้ไหม” ลงในแฟนเพจเฟซบุ๊กไป
                 ปรากฏว่าคุณ Tk Sarajit Betta ได้นำภาพเอกสาร “รัฐธรรมนูญ มาตรา 54 รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษา” มาลงต่อท้ายโพสต์ผม โดยคุณ Tk Sarajit Betta ไม่ได้เขียนข้อความอะไรเลย

             ผมตอบว่า   จะบอกว่าอะไรหรือครับ Tk Sarajit Betta
             ถ้าหมายถึง จะไม่รับลงทะเบียน ไม่ได้ นั้น
             1)  การที่มีชื่อลงทะเบียน แต่ไม่มีตัวมาสอบ อาจเป็นนักศึกษาผี ( มีตัวตนแต่ไม่ได้สมัครเรียนเอง โดยมีผู้นำชื่อมาลงทะเบียนเพื่อนับจำนวนผู้เรียนให้ได้ตามที่กำหนด )
             2)  กศน.ให้โอกาสผู้ที่ขาดโอกาส โดยผู้ที่ลงทะเบียนเรียนทุกภาคเรียน รัฐบาลต้องจัดสรรเงินงบประมาณจากเงินภาษีประชาชนและเงินกู้ มาเป็นเงินอุดหนุนรายหัวทุกหัว รายนี้ให้โอกาสลงทะเบียนเรียนไปแล้ว แต่ไม่ยอมเรียนให้จบ รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนรายหัวให้ทุกภาคเรียนไปเรื่อย ๆ เป็นการเอาเปรียบประชาชนผู้เสียภาษีทุกคน รัฐไม่ควรให้โอกาสอย่างนี้
             3)  เพื่อแก้ปัญหา ผอ.อาจมีนโยบายให้นักศึกษามาคุยกันก่อนลงทะเบียนใหม่ เพื่อโชว์ตัวว่าสมัครเรียนเองจริง และแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ไม่ได้มาสอบ


วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562

1.พนักงานราชการเกษียณแล้ว แต่งเครื่องแบบไม่ได้, 2.ครู กศน.ตำบล/แขวงที่ไม่ใช่หัวหน้า กศน.ตำบล ลงนามในบันทึกข้อความได้ไหม, 3.พนักงานราชการใส่เครื่องชุดขาวในวันเผาศพได้ไหม, 4.พนักงานราชาการเกิดหลังปีงบประมาณต่ออีกหรือไม่ ?, 5.ความไม่เข้าใจชัดเจนในเรื่อง กพช., 6.พนักงานราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาวในพิธีหมั้นได้ไหม, 7.การเรียนเพิ่มหน่วยกิตวิชาวิทย์-คณิต หลังจบ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. เย็นวันที่ 10 ก.ย.62 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า  กรณีพนักงานราชการได้รับเครื่องราชฯ เมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้วเมื่อมีงานพิธีสามารถแต่งชุดปกติขาวได้หรือเปล่าค่ะ

             ผมตอบว่า   เรื่องเครื่องราชฯ กับ เครื่องแบบ เป็นคนละส่วนกัน
             พนักงานราชการ กับ ข้าราชการ แตกต่างกัน
             ข้าราชการเกษียณแล้วรับบำนาญ ถือเป็นข้าราชการนอกประจำการ แต่จะแต่งเครื่องแบบเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเครื่องหมายสังกัดข้างขวาเป็นเครื่องหมาย "นก" (นอกราชการ) ส่วนข้าราชการเกษียณที่รับบำเหน็จไม่รับบำนาญจะหมดสิทธิ์แต่งเครื่องแบบ
             แต่ พนักงานราชการ จริง ๆ แล้วไม่ได้ใช้คำว่าเกษียณ ใช้คำว่า หมดสัญญา ( เราพูดกันสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าเกษียณ )
             พนักงานราชการที่หมดสัญญาแล้ว จะแต่งเครื่องแบบพนักงานราชการไม่ได้ครับ
             บุคคลทั่วไปที่เป็นบุรุษ สามารถแต่งชุด "ขอเฝ้า" ได้ ซึ่งเป็นชุดขาวเหมือนชุดปกติขาวนี่แหละ พนักงานราชการชายที่หมดสัญญาหรือเกษียณแล้วก็แต่งชุดขอเฝ้าได้ ชุดขอเฝ้านี้ประดับเครื่องราชฯที่ได้รับได้ แต่จะติดเครื่องหมายต่าง ๆ เหมือนเครื่องแบบพนักงานราชการไม่ได้ กระดุมก็เป็นกระดุมเกลี้ยงสีทอง
             ส่วนสตรี ไม่มีชุดขอเฝ้าสีขาว พนักงานราชการสตรีที่หมดสัญญาแล้วจะแต่งชุดขาวแบบชุดปกติขาวไม่ได้ ถ้าจะประดับเครื่องราชฯร่วมงานก็ต้องแต่งชุดไทย
             ( ถ้าเป็นการประดับเหรียญจริงของเครื่องราชฯ สตรีที่แต่งชุดไทยยังใช้เครื่องราชฯที่ผูกเป็นโบว์ปีกแมลงปอเหมือนเดิมนะ ที่มีการเปลี่ยนเป็นเหมือนแบบบุรุษนั้น เฉพาะกรณีแต่งเครื่องแบบ )


         2. เวลา 06.40 น.วันที่ 11 ก.ย.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หนังสือภายใน(บันทึกข้อความ) ของกศน.แขวง หรือกลุ่มงาน ครูที่ไม่ได้เป็นหัวหน้ากศน.แขวง หรือหัวหน้ากลุ่มงาน มีสิทธิ์เซ็นมั้ย เช่น หนังสือบันทึกข้อความของกศน.แขวง แต่เซ็นเองไม่ให้หัวหน้ากศน.แขวง เซ็น

             ผมตอบว่า   "หนังสือภายใน" บุคลากรทุกคนที่เป็นเจ้าของเรื่อง ลงนามตั้งต้นได้ครับ แต่ ที่ถูกต้องก็ต้องให้หัวหน้าตามลำดับ ลงนาม(อาจลงความเห็นด้วย)ต่อท้าย หรือด้านริมซ้าย ไปตามลำดับ จนถึงผู้บริหารที่เสนอ
             ถ้าเจ้าของเรื่องลงนามแล้วเสนอตรงถึง ผอ.กศน.เขต โดยไม่ผ่านหัวหน้าตามลำดับ ก็เป็นอำนาจของ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต จะอนุโลมหรือไม่อย่างไร
             ปกติก็จะให้ผ่านหัวหน้าหรือผู้ทำการแทนหัวหน้าตามลำดับ หลายแห่งให้ผ่านหัวหน้าฝ่าย/กลุ่มงานใน กศน.อำเภอ/เขต อีกด้วย เว้นแต่จะไม่ใช่เรื่องงานประจำ เช่นบันทึกแจ้งร้องเรียนกล่าวโทษหัวหน้า
             ผอ.กศน.อำเภอ/เขตบางแห่งก็อาจกำหนดให้หัวหน้า กศน.ตำบล/แขวง เป็นผู้ลงนามตั้งต้นเลย
             สรุปว่า หนังสือภายใน ผู้บริหารหน่วยงานนั้นมีอำนาจอนุโลมกำหนดรายละเอียด
             ( ตำบลที่มีครู กศน.ตำบลมากกว่า 1 คน ก็มีปัญหาอีกแบบเนอะ  ดูคำตอบเดิมของผมในข้อ 3 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/02/dmis.html )


         3. วันที่ 11 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชการ ถ้าบิดามารดาเสียชีวิตสามารถใส่เครื่องชุดขาวในวันเผาศพได้ไหมค่ะ
             ผมตอบว่า  ใส่ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพใช่ไหม ถ้าพระราชทานเพลิงศพ พนักงานราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ ( สวมปลอกแขนดำ ) ได้

         4. วันเดียวกัน (11 ก.ย.) มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชาการเกิดหลังปีงบประมาณต่ออีกหรือไม่ค่ะ

             ผมตอบว่า   ลักษณะเดียวกับข้าราชการเกษียณครับ ถ้าเกิดหลังวันที่ 1 ต.ค.ก็ทำสัญญาจ้างได้ถึง 30 ก.ย.ปีถัดไป ( ไม่ใช่ทำสัญญา 4 ปี )

         5. วันที่ 12 ก.ย.62 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ “เมืองนักอ่าน 2560” ว่า รบกวนถามหน่อยค่ะ ถ้านศ.บริจาคอวัยวะและดวงตาเมื่อเดือนม.ค.62 จะขอกพช.เทอมนี้ได้ไหมคะ

             ผมร่วมตอบว่า   เรื่องนี้ขออธิบายยาวหน่อยนะ ดังนี้
             1)  กพช.ตามหลักสูตร กศน.51 กับ 31 แตกต่างกัน

                  - หลักสูตร 31 ให้ “หน่วยกิจกรรม” ตามความสำคัญ/ประโยชน์/ความยากของกิจกรรม ( ม.ต้น 41 หน่วยกิจกรรม, ม.ปลาย 48 หน่วยกิจกรรม )
                  - หลักสูตร 51 ให้ “ชั่วโมง” กพช. ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ “กิจกรรม” นั้น ( ระดับละ 200 ชั่วโมง ไม่ต้องมีคณะกรรมการมาพิจารณาจำนวนหน่วยกิจกรรม แต่เรายังหลงยึดติดกับหลักสูตร 31 )
                  ปกติ กพช. ต้องเป็น “กิจกรรม”
                  แต่การบริจาคอวัยวะและดวงตา ใช้เวลาบริจาคถึงชั่วโมงไหม จะให้จำนวนชั่วโมง กพช.กี่ชั่วโมง ?
             2)  การทำ กพช.ในช่วงที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา กศน.แล้ว นักศึกษาต้องเสนอโครงการก่อนทำ
                  ถ้าทำก่อนขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ก็ให้ใช้วิธีเทียบโอน กพช.
                  คำถามนี้ระบุว่าทำในช่วงขึ้นทะเบียนเป็น นศ.แล้ว แต่ไม่ได้เสนอก่อนทำ
             จากคำถามนี้ จึงไม่ถูกต้องทั้ง 2 ข้อ แต่ ถ้าจะอนุโลมให้ “ตามที่ผู้บริหารเห็นสมควร” ก็คงไม่เสียหายมั้งครับ จัดไป “ตามที่ผู้บริหารเห็นสมควร” ครับ
             แต่ผมว่าควรทำความเข้าใจกับครูและนักศึกษาเรื่อง กพช.ให้ถูกต้อง มีกิจกรรม กพช.ดี ๆ ให้เลือกอีกมาก ครั้งต่อไปทำให้ถูกจะได้สบายใจ

         6. เย็นวันที่ 12 ก.ย.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาวในพิธีหมั่นช่วงเช้าของการแต่งงานได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้ายังเป็นพนักงานราชการก็มีสิทธิแต่งเครื่องแบบครับ ในพิธีหมั้น พิธีแต่งงาน พิธีรับปริญญาแต่งชุดขาวใต้เสื้อครุย ก็แต่งได้

         7. วันที่ 13 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์โอเพนแช็ท กลุ่ม กศน. ห้องข่าวสารครูเอกชัย ว่า  สอบถามผู้รู้ นักศึกษาเรียนจบ กศน.ม.ปลาย แล้วแต่อยากลงสมัครเรียน ม.ปลายอีก เพื่อเก็บหน่วยกิต (รายวิชาวิทยาศาสตร์) เพิ่มเติม สมัครเรียนต่อ มหาวิทยาลัยในคณะ พยาบาลศาสตร์ ได้หรือไม่ อย่างไร

             ผมตอบว่า   เรียนเพิ่มเติมได้ในวิชาที่ยังไม่เคยเรียนผ่านได้เกรด 1 ขึ้นไป โดย
             - ตอนที่ลงทะเบียนเรียน ในช่อง "ประเภท" ด้านล่าง ( เมนู 1-3-1 ในโปรแกรม ITw ) ให้เลือกเป็น "9. เรียนเพิ่มเติมหลังจบ"
             - เมื่อจะออกหลักฐานการเรียน ให้เข้าไปที่เมนู 1-1-5 ( แก้ไขข้อมูลการจบ/ออก )
                ในช่อง "สาเหตุที่จบ/ออก" ให้เลือก "6. ศึกษาเพิ่มเติมหลังเรียนจบ" และใช้ใบ รบ. ออกตามปกติ
             ซึ่งจะได้ใบ รบ.ใบใหม่ที่มีแต่วิชาที่เรียนเพิ่มเติม นำไปใช้ควบคุู่กับใบ รบ.เดิม ใช้เกรดเฉลี่ยจากใบ รบ.เดิม ( การเรียนเพิ่มเติมหลังจบจะไม่เปลี่ยนเกรดเฉลี่ยนะ )