วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565

1.คนต่างด้าว เรียนจบ กศน. สมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ไหม, 2.เปรียญธรรม 3 ประโยค ต้องสมัคร กศน. ม.ต้น หรือ ม.ปลาย, 3.รูปถ่ายนักศึกษา ต้องรวบผม-โกนหนวด-ไม่ใส่เครื่องประดับ หรือไม่, 4.ทำแบบ กศน.4 แบบออนไลน์ได้ไหม, 5.ผู้รับจ้างเหมาบริการ ลาป่วย นับวันเสาร์อาทิตย์เป็นวันลาด้วยมั้ย, 6.พนักงานราชการจะขอย้ายได้ต้องอายุงานเท่าไร, 7.การออกเลขที่ประกาศนียบัตร ไม่ได้ให้ออกด้วยรหัสนักศึกษา

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 23 ส.ค.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  คนต่างด้าวมาบวชอยู่ที่ไทย แล้วเรียน กศน อยากทราบว่า ถ้าจบเขาสามารถไปต่อมหาลัยได้ไหม

             ผมตอบว่า   ไม่มีสัญชาติไทยใช่ไหม
             การศึกษาระดับอุดมศึกษา(มหาวิทยาลัย) เป็นระดับที่เกินขั้นพื้นฐานที่สหประชาชาติกำหนดให้ประเทศสมาชิกให้เรียนขั้นพื้นฐานแม้ไม่มีสัญชาติไทย
             ส่วนระดับอุดมศึกษา ต้องแล้วแต่ แต่ละมหาวิทยาลัยจะรับผู้ไม่มีสัญชาติไทยหรือไม่ โดยทั่วไปถ้าเป็น "หลักสูตรปกติ" ของมหาวิทยาลัย "ของรัฐ" "ส่วนมาก" จะไม่รับผู้ไม่มีสัญชาติไทย
             แต่ก็มี "หลักสูตรพิเศษหรือหลักสูตรอินเตอร์ หรือนานาชาติ" ต้องศึกษารายละเอียดในประกาศของแต่ละสถาบัน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน อาจจะไม่ได้กำหนดเรื่องสัญชาติไทย
             สรุปคือ ถ้าไม่มีสัญชาติไทย สามารถเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้ในบางแห่ง บางกรณี ต้องศึกษาประกาศรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัย

         2. เช้าวันเสาร์ที่ 16 ก.ย.65 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าจะเอา วุฒิเปรียญธรรม 3 ประโยค ไปสมัค กศน.ต้อง สมัค ม.ต้น หรือ ม.ปลาย อายุ20ปี เกิด ทางโลก จบ ป.6 ได้เปรียญธรรม 3 ตอนปีพ.ศ.2561 ได้เปรียญ 4 ตอน ปี 63 ทำยังไงได้บ้าง

             ผมตอบว่า   วุฒิเปรียญธรรม 3 ประโยค ใช้เป็นวุฒิเดิมในการสมัครเข้าศึกษาต่อ กศน ในระดับ ม.ปลายได้เลย โดย
             - นักธรรมชั้นเอก เทียบเท่าระดับประถม ( ป.6 ) ให้สมัครเรียนต่อ ม.ต้น (กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ประกาศให้ ธรรมศึกษา เทียบเท่านักธรรม แต่ กศน.กำหนดให้ทั้งนักธรรมเอกและธรรมศึกษาเอก เป็นคุณสมบัติในการสมัครเข้าเรียนระดับ ม.ต้น)
                ในอดีตมีการบันทึกไว้ว่า “หนังสือเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ น.ว.83/2447 ลงวันที่ 17 มี.ค.87” ระบุข้อกำหนดของ ก.พ.ในการเข้ารับราชการ ว่า นักธรรมตรีหรือธรรมศึกษาตรี เทียบให้เท่ากับประโยคประถมศึกษาตอนต้น ( ป.4 ) แต่ปัจจุบันหาหนังสือฉบับนี้ไม่พบแล้ว มีผู้จบธรรมศึกษาตรีอ้างหนังสือฉบับนี้ว่าจบ ป.4 สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ใหญ่บ้านได้ เรื่องนี้คงต้องหารือกระทรวงมหาดไทย ว่าได้หรือไม่
             - เปรียญธรรม 3 ประโยค ( ป.ธ.3 ) เทียบเท่า ม.ต้น ( ม.3 ) ให้สมัครเรียนต่อ ม.ปลาย
             - เปรียญธรรม 5 ประโยค จะเทียบเท่า ม.6 ได้ต่อเมื่อมีประสบการณ์การสอน
             - เปรียญธรรม 6 ประโยค เทียบเท่า ม.6 โดยไม่ต้องมีประสบการณ์การสอน
             - เปรียญธรรม 9 ประโยค เทียบเท่าวุฒิปริญญาตรี

             อนึ่ง พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 มาตรา 22 (ดู พรบ.นี้ได้ที่ http://bit.ly/2VBDl2L) กำหนดใหม่ เป็น
             - ชั้นนักธรรมเอก มีวิทยฐานะระดับ ม.ต้น (เดิมนักธรรมเอก เทียบเท่าวุฒิระดับประถม)
             - ชั้นเปรียญธรรม 3 ประโยค มีวิทยฐานะระดับ ม.ปลาย (เดิมเปรียญธรรม 3 ประโยค เทียบเท่าวุฒิระดับ ม.ต้น)
             แต่ การเรียนพระปริยัติธรรมจะเทียบแบบใหม่นี้ได้ ผู้เรียนต้องจบการศึกษาภาคบังคับ และในการเรียนพระปริยัติธรรมนี้ จะต้องเรียนวิชาสามัญเพิ่มเติมตามประกาศคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติมของการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมสนามหลวง และแผนกบาลีสนามหลวง พ.ศ. 2565 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.65 ดูได้ที่ https://moe360.blog/2022/04/21/ratchakitcha-20042565/)

             ผู้ถาม ๆ ต่อว่า ถ้าสึก ไปยังใช้ได้ไหม
             ผมตอบว่า  สึกแล้วก็ยังใช้ได้เหมือนเดิม (วุฒิทางธรรม นำมาเทียบเป็นวุฒิทางโลกได้ แต่วุฒิทางโลกนำไปเทียบเป็นวุฒิทางธรรมไม่ได้ เช่นแม้จบ ป.เอกทางโลกแล้วบวช ถ้าจะเรียนทางธรรมต้องเริ่มเรียนทางธรรมที่ระดับต้นเลย)

         3. วันที่ 11 ต.ค.65 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  รูปถ่ายที่นักศึกษานำมาติดในใบรบ. มีระเบียบรองรับมั้ยคะ ว่าควรแต่งกายอย่างไรและความเรียบร้อยของรูปอย่างไรบ้างเช่น ต้องรวบผม ต้องโกนหนวด ไม่ใส่เครื่องประดับประมานนี้

             ผมตอบว่า   ในคู่มือการดำเนินงาน (คู่มือการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นระเบียบให้ปฏิบัติ) กำหนดว่า
             “รูปถ่าย หน้าตรง ไม่สวมแว่นตาดำ และไม่สวมหมวก สวมเสื้อสีขาวมีปกหรือชุดสุภาพ (ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่ใช้รูปถ่ายประเภทโพลาลอยด์)"
             จากกรณีที่ถามคือ รวบผม โกนหนวด ไม่ใส่เครื่องประดับ ฯลฯ ให้พิจารณาว่า จะเข้าข่ายขัดข้อกำหนดใดหรือไม่ เช่น ข้อกำหนดที่ว่า "ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน" นั้น เหตุผลคือ รูปถ่ายต้องเหมือนตัวจริงในปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นบุคคลใด
             และเมื่อเทียบเคียงกับ ระเบียบการถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท (รวมทั้งพนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ) ซึ่งกำหนดกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสตรีไทยมุสลิม ตามหนังสือที่ นร 1304/ว 1074/ 4 ก.พ.40 ว่า
             “สามารถถ่ายรูปที่มีผ้าคลุมศีรษะได้ แต่ ต้องเห็นหน้า คือเห็นทั้ง หน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก และคาง" (เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นบุคคลใด)
             ดังนั้น ถ้าเส้นผม-หนวด-เครื่องประดับ บดบัง หน้าผาก-คิ้ว-ตา-จมูก-ปาก-คาง ก็ไม่ได้ (นักศึกษา กศน. ไม่ใช่เด็กนักเรียน อาจไม่จำเป็นต้องรวบผม แต่ผมก็ต้องไม่บดบังส่วนสำคัญของหน้า)

         4. วันสำคัญ 13 ต.ค.65 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  จะทำ กศน.4 แบบออนไลน์ สามารถทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ ขัดกับระเบียบหรือหลักการอย่างไร

             ผมตอบว่า   กศน.4 แบบบันทึกผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (จำได้ว่าเป็นเล่มบางๆสีขาว ปกค่อนข้างแข็ง) ไม่ได้เป็นเอกสารควบคุมบังคับแบบ แต่เป็นเอกสารที่สถานศึกษาดำเนินการเอง อย่างไรก็ตามก็เป็นเอกสารสำคัญที่ใช้สำหรับประกอบการตรวจทาน/ตรวจสอบ
             แม้จะตอบได้ว่าทำแบบออนไลน์ได้ แต่ในทางปฏิบัติจะยังไม่เหมาะสมไม่สะดวกเพราะ ระบบออนไลน์ของเรายังไม่เสถียร มีปัญหาในหลายๆโอกาส ฉะนั้นแม้ทำแบบออนไลน์ได้ เมื่อทำเสร็จแล้วถึงเวลาที่ ครู/นายทะเบียน/ผู้บริหารสถานศึกษา จะลงนาม ก็ควรปริ๊นท์ลงกระดาษมาเซ็นชื่อจริง ไม่ใช้ลายเซ็นดิจิทัลที่ยังมีปัญหา และจะได้สะดวกในการใช้ประกอบการตรวจทาน/ตรวจจสอบในโอกาสต่างๆ ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จะไม่มีปัญหา แต่อุปสรรคคือ ลักษณะของ กศน.4 เหมาะที่จะใช้กับกระดาษที่ยาวกว่า A4 ถ้าทำออนไลน์ เวลาปริ๊นท์ลงกระดาษที่ยาวกว่า A4 ก็จะหากระดาษและเครื่องปริ๊นท์ยาก ถ้าจะบีบและปรับฟอร์มให้พิมพ์ลงกระดาษ A4 จนได้ ตัวหนังสือก็อาจจะลีบจนอ่านยากหรือไม่
             ถ้าทำออนไลน์แล้วปริ๊นท์ลงกระดาษได้ ก็ได้

             ถ้าถามว่าทำออนไลน์แล้วทำไมยังต้องล้าสมัยปริ๊นลงกระดาษให้สิ้นเปลืองโลกร้อนอีก ผู้บริหารหรือครูอยากตรวจทานก็ดูออนไลน์ได้  แต่บุคลากรเราจำนวนไม่น้อยทั้งครูและผู้บริหารยังไม่ชำนาญออนไลน์ และระบบการใช้ลายเซ็นดิจิทัลก็ยังมีช่องโหว่ เช่น ไม่มีการตรวจสอบรับรองจริง หรือมีการทุจจริตแก้ไขเปลี่ยนข้อมูลตัวเลขภายหลังการลงนามรับรอง (การแก้เปลี่ยนตัวเลขในคอมฯจะไม่มีร่องรอยให้เห็นว่าเคยมีการแก้ไข) ในหลายโอกาสระบบออนไลน์ก็แฮ้งค์ใช้งานไม่ได้เป็นระยะๆ แม้จะสำรองข้อมูลไว้เป็นระยะๆ แต่เมื่อผ่านไป 8-9 ปี บางครั้งระบบโปรแกรมและระบบคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ตก็เปลี่ยนเวอร์ชั่นจนเข้าดูระบบเก่าได้ไม่ทุกคน

         5. วันหยุดชดเชย 24 ต.ค.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เงินเดือน 15,000 ตำแหน่งลูกจ้าง จ้างเหมาบริการ ให้มาทำวันจันทร์ถึงศุกร์ แล้วลาป่วย 1-7 ก.ย. 2565 (3,4 ก.ย. คือวันเสาร์ ถือเป็นวันลามั้ย)

             ผมตอบว่า   ผู้รับจ้างเหมาบริการไม่ถือเป็นลูกจ้าง แม้แต่ลูกจ้างชั่วคราวก็ไม่ใช่ ( เรื่องนี้แม้แต่ผู้บริหารหลายท่านก็เข้าใจผิด ) ตามสัญญาจ้างจะไม่ใช้คำว่า นายจ้าง-ลูกจ้าง แต่ใช้คำว่า ผู้จ้าง-ผู้รับจ้าง จึงใช้ระเบียบของลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้ (คือไม่ใช้ระเบียบการลา) แต่ให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง
             โดยถ้าไม่สามารถมาทำงานในวันที่หน่วยงานกำหนดให้เป็นวันทำงาน ก็ให้เป็นตามสัญญาจ้างข้อ 6 ข้อ 7 และผนวก 3 หน้า 2 เรื่อง "การปรับ" ( ดูข้อ 6 ก่อน )
             ดูตัวอย่างสัญญาจ้างเหมาบริการ กศน. ได้ที่ http://bit.ly/2OisLuo
             ทั้งนี้ วันเสาร์(ที่ถาม) ไม่ใช่วันที่หน่วยงานนี้กำหนดให้เป็นวันทำงาน ปกติก็ไม่นับรวมเป็นวันที่ไม่มาทำงาน แต่กรณีเป็นการหยุดงาน “คร่อมวันหยุด” คือหยุดงานตั้งแต่วันพฤหัสฯถึงวันพุธ คร่อมวันเสาร์อาทิตย์ นี้ ผมไม่แน่ใจนะ อาจจะนับรวมวันหยุดระหว่างนั้นด้วย
             เงินหักรายวันนั้นเขาคำนวนโดยเอา 30 หาร 15,000 ได้วันละ 500 ใช่หรือเปล่า ถ้าหาร 30 หักวันละ 500 บาท แสดงว่าหารทุกวันนำวันหยุดมารวมหารด้วย ก็คงนับวันหยุดที่คร่อมเป็นวันขาดงานด้วย




         6. วันที่ 7 พ.ย.65 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  มีระเบียบหรือไม่ว่า.พนักงานราชการ ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล จะต้องปฏิบัติงานในตำแหน่งกี่ปี จึงจะมีสิทธิ์ขอย้ายพื้นที่ได้ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัด
             โดยย้ายไปลง เลขตำแหน่งของ กศน.ตำบล ที่ว่าง
             และต้องแจ้ง สำนักงาน กศน.ส่วนกลาง ภายในกี่วัน

             ผมตอบว่า
             การย้าย ( เปลี่ยนพื้นที่ปฏิบัติงาน ) หลักเกณฑ์ของส่วนกลางไม่ได้กำหนดเรื่องอายุงาน คืออายุงานเท่าไรก็ย้ายได้ กำหนดแต่ให้มีอัตราว่างตำแหน่งเดียวกันรับย้าย แม้จะเพิ่งบรรจุก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจังหวัดว่าจะให้ย้ายหรือไม่ ซึ่งบางจังหวัดก็กำหนดอายุงานเอง
             ถ้าย้ายภายในจังหวัด โดยไม่ได้ย้ายเลขที่อัตรา ( ทิ้งเลขที่อัตราเดิมของตนไว้ที่ตำบล-อำเภอเดิม แล้วไปลงในเลขที่อัตราของตำบล-อำเภออื่นที่ชื่อตำแหน่งเดียวกันนะ ) ไม่ต้องแจ้งส่วนกลาง แค่บันทึกลงระบบออนไลน์โดยเร็ว
             แต่ถ้าจะย้ายเลขที่อัตรา หรือเปลี่ยนชื่อตำแหน่งเช่นเปลี่ยนตำแหน่งพนักงานราชการที่ว่างลง ต้องแจ้งให้ส่วนกลางดำเนินการ

         7. วันเดียวกัน ( 7 พ.ย.) มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  การออกเลขที่ใบประกาศนียบัตรของผู้จบการศึกษาในแต่ละระดับ ใช้รหัสนักศึกษาใช่หรือไม่คะ

             ผมตอบว่า   ไม่ใช่
             การออกเลขที่ประกาศนียบัตร ถ้าเป็นหลักสูตร กศน.2530-2531 ให้ออกเลขที่ด้วยรหัสประจำตัวนักศึกษา แต่ถ้าเป็นหลักสูตร กศน.2551 ให้ออกเป็นลำดับเลขที่ 1 2 3
             ( ดูในคู่มือการดำเนินงานฯ ถ้าเล่มปกสีเลือดหมู ดูหน้า 179 ข้อ 4.8 ระบุว่า "เลขที่ประกาศนียบัตร ... ... ให้ระบุเลข 1 ใหม่ทุกครั้งเมื่อมีการอนุมัติการสอบ
             และหน้า 171 เป็นระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการออกประกาศนียบัตร พ.ศ.2539 ข้อ 2.4.1 ระบุว่า เขียนหรือพิมพ์เฉพาะเลขลำดับ ไม่ต้องลง พ.ศ.กำกับ)
             การออกเลขที่ประกาศนียบัตรในโปรแกรม ITw คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw บอกว่า ให้คีย์เลขที่ประกาศนียบัตรในเมนู 1-5 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - แก้ไขข้อมูลการจบ/ออก )

วันเสาร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565

1.พนักงานราชการ จับได้ใบแดง ลาไปราชการทหารได้มั้ย, 2.นักศึกษาไม่มีวันเดือนเกิด, 3..ครูชาย แต่งหญิงได้ไหม, 4.จะสมัครเป็น ผอ.สถานศึกษา กศน. ต้องวิทยฐานะชำนาญการหรือชำนาญการพิเศษ, 5.เป็นทหารเกณฑ์อยู่ มีหนังสือเรียกตัวบรรจุ ทำไง, 6.ประกาศนียบัตรธรรมศึกษา-นักธรรม สูญหาย ทำไง, 7.การเซ็นใบ รบ./ใบประกาศนียบัตร ใช้ปากกาสีอะไร

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

        
1.
เช้าวันจักรี 6 เม.ย.65 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าพนักงานราชการ ครูกศน.ตำบล โดนไปทหาร สามารถทำเรื่องลาไปราชการทหารได้มั้ย มีจั้นตอนอย่างไรบ้าง

             ผมตอบว่า  คำว่า "โดนไปทหาร" คือจับได้ใบแดงใช่ไหม

             ทำเรื่องขอยกเว้นการรับราชการทหารหรือเปล่า

             ถ้าไม่ได้ทำ หรือขอยกเว้นไม่ผ่าน เมื่อจับได้ใบแดง ก็ต้องลาออก กรณีนี้ลาไปรับราชการทหารไม่ได้

         2. เย็นวันที่ 5 เม.ย.65 มี ผอ.กศน.เขต ถามผมทางไลน์ ว่า  มี นศ.ที่จบ โดยไม่มีวันที่ และเดือนเกิด ทำอย่างไรถึงจะพิมพ์ข้อมูลออกหลักฐานการจบได้คะ เพราะเดือน ในระบบ IT พิมพ์เป็น 0 หรือ=  ไม่ได้คะ  ในบัตรประชาชน เขาออกเป็น - - ให้คะ วุฒิเดิมจากโรงเรียนในระบบก็เหมือนกันคะ

             ผมตอบว่า  ให้เว้นว่าง ไม่ต้องพิมพ์อะไรเลย (พิมพ์แต่ปี พ.ศ.เกิด)

         3. คืนวันที่ 22 ก.พ.65 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ครูชายที่ได้รับการบรรจุ แต่งหญิงได้ไหม

             ผมตอบว่า  เคยมีการตอบข้อหารือเรื่องนี้ในปี 2560 ( ตามภาพประกอบ ) ว่า  ถ้าเป็นเครื่องแบบข้าราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบข้าราชการฯ ครูชายจะแต่งเครื่องแบบหญิงไม่ได้ แต่ถ้าเป็นชุดอื่นที่ไม่ใช่เครื่องแบบฯ ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม

             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  แล้วในกรณีที่ครูแต่งหน้าเป็นผู้หญิง ใส่วิกผมผู้หญิงสอน แต่แต่งกายเป็นชาย ทำได้ไหม
             ผมตอบว่า  ก็เหมือนกัน ตอนที่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบข้าราชการ จะแต่งหน้าทำผมเป็นหญิงได้ไหม ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม แต่ตอนแต่งเครื่องแบบฯทรงผมต้องเป็นไปตามทรงผมบุรุษในระเบียบ ส่วนการแต่งหน้าให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บังคับบัญชา

 

         4. วันที่ 1 มิ.ย.65 มีผู้โทรศัพท์ถามผมว่า  ที่ ก.ค.ศ.เห็นชอบการดำเนินการคัดเลือก รอง/ผอ.สถานศึกษา กศน. นั้น มีผู้พูดไม่ตรงกันว่า วิทยฐานะของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก จะต้องเป็นชำนาญการ หรือชำนาญการพิเศษ

             ผมตอบว่า   ต้องเป็นชำนาญการพิเศษ
             โดยในส่วนของ คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา นั้น ยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการของ ก.ค.ศ. ตาม ว8/62 ที่กำหนด "ให้เป็นไปตาม มาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา"
             ซึ่งมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ปัจจุบันกำหนดไว้ใน ว3/64 ว่า "2.2 ตำแหน่งครูที่มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าครูชำนาญการพิเศษ และมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี" (ตามในภาพประกอบโพสต์นี้)

 

         5. คืนวันที่ 12 เม.ย.65 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  สมมติถ้าระหว่างเป็นทหารเกณฑ์อยู่ แล้วมีหนังสือเรียกบรรจุฯ จะทำอย่างไรได้บ้าง

             ผมตอบว่า   โดยปกติจะเป็นดังนี้
             1)  หนังสือ ก.ค.ศ. ว1/56 ระบุว่า กรณีมีหนังสือเรียกให้ไปรายงานตัว แต่อยู่ระหว่างเป็นทหารเกณฑ์ ( ทหารกองประจำการ ) ให้ทำหนังสือแจ้งหน่วยที่เรียกบรรจุ พร้อมแนบสำเนาการรับราชการทหารประกอบ
                  กรณีนี้ เมื่อออกจากราชการทหารโดยไม่มีความเสียหาย และประสงค์จะเข้ารับราชการในตำแหน่งที่สอบได้และบัญชีผู้สอบแข่งขันได้นั้นยังไม่หมดอายุหรือยังไม่ยกเลิก หน่วยที่เรียกบรรจุจะขึ้นบัญชีไว้เป็นลำดับแรกที่จะบรรจุในครั้งต่อไปหลังพ้นจากราชการทหาร
             2) กรณีรายงานตัวแล้วแต่ยังไม่ถึงวันได้รับการบรรจุแต่งตั้ง ติดทหารเกณฑ์ก่อน ให้ทำเช่นเดียวกับกรณีตามข้อ 1)
             3) ตามหนังสือ ก.ค.ศ. ว11/56 กรณีบรรจุแต่งตั้งเป็น"ข้าราชการ"แล้ว ติดทหารเกณฑ์ ต้องออกจากการเป็นข้าราชการเพื่อไปรับราชการทหาร ต้นสังกัดจะสงวนตำแหน่งระดับเดียวกันไว้สำหรับบรรจุกลับเข้ารับราชการเมื่อพ้นจากราชการทหาร

         6. ดึกวันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค.65 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เคยได้นักธรรมโทมาก่อนเมื่อสมัยที่บวชเรียนปริยัติธรรม แต่ตอนนี้ทั้งใบจบนักธรรมตรี-โท หายไปหมดแล้ว  เราสามารถทำเรื่องขอใบจบนักธรรมใหม่ได้ไหม? ทำอย่างไร?

             ผมตอบว่า   กรณีประกาศนียบัตรธรรมศึกษา-นักธรรม สูญหาย
             ถ้าเป็นประกาศนียบัตร-ผลสอบ ก่อนปี พ.ศ. 2543 และปี 2552,2553, 2554,2555, 2556,2557  ให้
             - ติดต่อไปยังกองพุทธศาสนศึกษา กลุ่มการศึกษาพระปริยัติธรรม-บาลี โทร. 02 441 7951 หรือ
             - ศึกษาระเบียบวิธีปฏิบัติในการขอใหม่ ที่เมนู "ดาวน์โหลด" ภายในเว็บไซต์  http://deb.onab.go.th/
             ถ้าเป็นประกาศนียบัตรนอกจากนี้ คือปี 2543,44,45,45,47,48,49,50,51,58,59,60 ถึงปัจจุบัน
             - โหลดใบคำร้องที่  http://www.gongtham.net/web/downloads.php?cat_id=5
                ( เลื่อนลงไปจนสุดหน้า แล้วเลือกหน้าที่ 2
                   เมื่ออยู่หน้าที่ 2 แล้ว ก็เลื่อนลงไปล่างสุด มองหา "ใบคำร้องขอประกาศนียบัตรและข้อ
                   แก้ไข" แล้วกดดาวน์โหลด )
                   ปฏิบัติตามใบคำร้องและจัดส่งทางไปรษณีย์ ไปที่

                   สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง
                   อาคารหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร
                   เลขที่ 287 ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศ
                   เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

             ถ้าจะดูผลสอบ ปี 2543-ปัจจุบัน สืบค้นที่  http://www.gongtham.net/passlist/
             หรือติดต่อสอบถามเรื่องใบประกาศนียบัตรเพิ่มเติมที่ 084-8023539 พระมหาชลธิชา ปทีโป
             หมายเหตุ: ประกาศนียบัตรประจำปีการศึกษาที่สอบใหม่ของทุกปี จัดส่งถึงสำนักเรียนต่างๆ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
             ให้องค์กร/สถาบันสถานศึกษา ติดต่อขอรับกับสำนักเรียนที่ตนสังกัด
             * “ใบรับรอง” ที่สำนักพุทธออกให้ทดแทน สามารถใช้แทนได้

         7. เย็นวันที่ 6 มิ.ย.65 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  การเซ็นใบ รบ. และใบประกาศนียบัตรของ นายทะเบียน/ผู้บริหารสถานศึกษา (กศน.) ต้องใช้ปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น ใช่ไหมคะ เป็นสีดำได้ไหมคะ

             ผมตอบว่า   สีดำก็ได้
             ในคำอธิบายการกรอก ระบุสีของหมึกที่ใช้กรอก ( อนุโลมให้รวมสีของหมึกในการลงชื่อด้วย ) โดย
             - ในส่วนของการลงชื่อใน “หนังสือราชการ” ให้ใช้ สีน้ำเงิน หรือสีน้ำเงินดำ หรือสีดำ
             - ตามคำอธิบายการกรอก “ระเบียนแสดงผลการเรียน” ข้อ 2.2 ระบุว่า "ให้กรอกด้วยหมึกสีดำ หรือน้ำเงิน เท่านั้น"
             - ตามคำอธิบายการออกและการกรอก “ประกาศนียบัตรฯ” ข้อ 2.1 ระบุว่า "ให้เขียนหรือพิมพ์ด้วยหมึกสีดำให้ชัดเจน"