วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พนง.ห้องสมุดอัตราจ้าง กู้ ช.พ.ค., ปรับเพิ่มเงินเดือน ขรก.ครู มค.56-57, คน กศน.เถียงกัน, อายุ 52 จบระดับประถม จบภาคบังคับไหม, การเรียนการสอนสัปดาห์ละ 6 ชม., สำรวจข้อมูลแบ่งช่วงอายุ นศ.ไม่ตรงในโปรแกรม ITw, อำเภอหรือจังหวัดจ้างครู ปวช.


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง  ดังนี้


          1. คืนวันที่ 24 ต.ค.56 มีผู้เถียงกันยาวในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ เรื่อง ทำงานเท่ากัน หรือหนักกว่า แต่เงินเดือนน้อยกว่า

               แต่ละคนก็คิดเข้าข้างตัวเอง
               - ครูประจำกลุ่มก็บอกว่าเงินเดือนไม่เกิน 4,000 บาท น้อยจัง ทำงานเท่าครู ศรช.
               - บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการก็บอกว่าทำงานเท่าหรือหนักกว่าบรรณารักษ์และครู ศรช. แต่ได้เงินเดือนแค่ 9,140 บาท น้อยกว่าครู ศรช. โดยไม่พูดถึงครูประจำกลุ่ม
               - ครู ศรช.ก็บอกว่าทำงานเหมือนหรือหนักกว่าครู กศน.ตำบล/ครูอาสาฯ แต่ได้เงินเดือนน้อยกว่า โดยไม่พูดถึงพนักงานบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ
               - ครู กศน.ตำบล ครูอาสาฯ ก็บอกว่าทำงานมากกว่าข้าราชการ
               - ข้าราชการก็อาจจะบอกว่าทำงานมากกว่า ผอ.อำเภอ, ผอ.อำเภอก็อาจจะบอกว่าทำงานมากกว่า ผอ.จังหวัด ผอ.จังหวัดก็อาจจะบอกว่าทำงานมากกว่าเลขาธิการ นายกไทยก็อาจจะบอกว่าทำงานเท่าหรือหนักกว่านายกอเมริกาแต่ได้เงินเดือนน้อยกว่ามาก

 
              ผมเบื่อที่มีคนมาเขียนบ่อย ๆ ว่า ตำแหน่งนั้นทำงานเท่าหรือหนักกว่าตำแหน่งโน้น เรื่องแบบนี้มันอยู่ที่แต่ละคน และการบริหารจัดการในแต่ละแห่งซึ่งแตกต่างกัน

               ไม่ใช่ว่าบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการทุกคนทุกแห่งจะทำงานหนักกว่าบรรณารักษ์ข้าราชการ/ครู ศรช.  ไม่ใช่ว่าครู ศรช.ทุกคนทุกแห่งจะทำงานเท่าหรือหนักกว่าครู กศน.ตำบล  ไม่ใช่ว่าครู กศน.ตำบลทุกคนทุกแห่งจะทำงานหนักกว่าครูอาสาฯ  ไม่ใช่ว่าข้าราชการทุกคนทุกแห่งจะทำงานน้อย
               ใครมาเปิดประเด็นเรื่องทำงานเท่าหรือหนักกว่า ก็จะเกิดความไม่พอใจและเถียงกันยาวทุกครั้ง


               ทุกคนควรรู้ว่า ตำแหน่งต่างกันย่อมมีความแตกต่างกัน  ถ้ามันเหมือนกันทุกอย่างแล้วจะเรียกชื่อตำแหน่งให้ต่างกันหาสวรรค์วิมานอะไร
               คนบางคนก็มีสิทธิสอบเป็นครูผู้ช่วย แต่ไม่มีสิทธิ์สอบเป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ไม่มีสิทธิสอบเป็นแพทย์   ในขณะที่คนบางคนมีสิทธิ์สอบเป็นตำแหน่งบรรณารักษ์ ตำแหน่งแพทย์ แต่ไม่มีสิทธิ์สอบเป็นครูผู้ช่วย   ถ้าทุกสาขาวิชาเอกเหมือนกันหมด แล้วจะแยกสาขาวิชาเอกหาสวรรค์วิมานทำไม

               ถ้าใครมีความทุกข์กับตำแหน่งปัจจุบัน ก็ควรขวนขวายไปสู่ตำแหน่งที่ตนคิดว่าดีกว่า

         2. วันที่ 25 พ.ย.56 คุณ Chamnarn Kaewsila บรรณารักษ์จ้างเหมาฯ กศน.อ.ด... ... ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ว่าบรรณารักษ์จ้างเหมาบริการสามารถกู้ ชพค.ได้หรือเปล่า   บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการส่วนมากก็สมัครเป็นสมาชิก ชพค. แต่พอจะกู้ ผอ.จังหวัดไม่ให้กู้

             ผมตอบว่า   ปกติ ถ้าให้สมัครเป็นสมาชิกได้ก็น่าจะมีสิทธิ์ยื่นขอกู้  แต่การยื่นขอกู้นั้น เจ้าหน้าที่การเงินและ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด ต้องลงนามรับรองเรื่องจะหักเงินส่ง  ถ้าจังหวัดไม่ลงนามก็ยื่นต่อไปไม่ได้  จังหวัดอาจะเกรงว่าถ้าลงนามไปแล้วต้องรับผิดชอบ ถ้าลาออกหรือเลิกจ้างจะมีปัญหา จึงมีนโยบายไม่ให้บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการกู้เงิน ช.พ.ค. มั้ง    อีกอย่างหนึ่ง ธนาคารดูอายุงานที่ทำมาแล้วด้วย เช่นบางโครงการให้กู้เฉพาะคนที่ทำงานมาแล้ว 5 ปีขึ้นไป

         3. วันที่ 28 ต.ค.56 กศน.อ.ลอง โทร.มาถามผม ว่า มีผู้จบระดับประถมจาก กศน.อ.ลอง หลักสูตร 2544 เมื่อปี 2552  ( เกิด พ.ศ.2504 อายุ 52 ปี ) นำใบวุฒิไปสมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน คือ "จบการศึกษาภาคบังคับ"    ปรากฏว่ามีผู้ประท้วงว่า บุคคลนี้ขาดคุณสมบัติ   อ.ลอง จึงขอให้ กศน.อ.ลอง ทำหนังสือรับรองว่า บุคคลนี้จบการศึกษาภาคบังคับ   กศน.อ.ลอง ถามผมว่า จะทำอย่างไร ...

             ผมได้พูดคุยกับท่านปลัดอำเภอลองทางโทรศัพท์  ปลัดอำเภอลองพูดเหมือนปลัดอำเภออื่นบางคน คือให้ดูที่ปีเกิด ถ้าเกิดในช่วงที่ภาคบังคับเป็น ป.6 แล้วเรียบจบ ป.6 เมื่อไร ก็ถือว่าจบการศึกษาภาคบังคับ ผมเข้าใจว่าที่ปลัดอำเภอหลายคนพูดเหมือนกันคงเป็นเพราะผ่านการเรียนหรืออบรม ในรุ่นเดียวกัน ซึ่งเป็นการได้รับข้อมูลมาผิดนะครับ
             หนังสือกรมการปกครอง ที่ มท 0309 / 27 ลงวันที่ 7 มกราคม 2536 แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยมีประเด็นที่ให้พิจารณาคือ การจบการศึกษาภาคบังคับ นอกจากจะพิจารณาว่าผู้ใด จบการศึกษาปีใดชั้นใด แล้ว ต้องพิจารณาว่าในท้องที่ใดกำหนดให้จบการศึกษาชั้นใดด้วย
( เพราะแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2503 ไม่ได้บังคับเต็มพื้นที่พร้อมกันทั่วประเทศ ) หนังสือฉบับนี้ระบุชัดว่าพิจารณาว่าผู้ใดจบการศึกษาใน ปีใดไม่ได้พิจารณาว่าเกิดเมื่อใด

             ที่สำคัญ มีคำพิพากษาศาลปกครองในเรื่องนี้แล้ว กรณีลักษณะเดียวกันคือ จบระดับประถมที่ กศน.อ.หัวไทร ปี 51 สมัครเป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยเขาเกิดในช่วงที่การศึกษาภาคบังคับคือ ป.6
             ศาลตัดสินว่า ถ้าพ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายเดิมไปแล้ว แม้มีการขยายการศึกษาภาคบังคับในภายหลัง ก็ไม่ต้องกลับเข้ามาเรียนให้จบการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายใหม่ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่เกิดในช่วงการศึกษาภาคบังคับเป็น ป.6 แล้วมาเรียนจบ ป.6 ในช่วงการศึกษาภาคบังคับเป็น ม.ต้น จะถือว่าผู้นั้นจบการศึกษาภาคบังแต่อย่างใด
             สรุปว่า
ให้ดูจากปีที่จบการศึกษา ไม่ใช่ดูปีที่เกิด
             กรณีของ กศน.อ.ลองนี้ จบระดับประถมในปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงการศึกษาภาคบังคับคือ ม.ต้น จึงถือว่ายังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ครับ

             ( คำพิพากษาของศาล ยาว แบ่งเป็น 3 ไฟล์ ถ้าจะเจาะอ่านเฉพาะบางส่วน ส่วนที่ตัดสินในประเด็นนี้ อยู่ในหน้า 10 ท้ายไฟล์ที่ 2 ต่อกับหน้า 11 ต้นไฟล์ที่ 3
               - cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/879/850/original_court31012556.pdf
               - cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/879/851/original_court31012556n1.pdf
               - cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/879/852/original_court31012556n2.pdf )


         4. วันที่ 29 ต.ค.56 ผมเผยแพร่เรื่อง “การเรียนการสอน สัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง ทำอย่างไร ?” ในเฟซบุ๊ค  ดังนี้  (
ปีงบประมาณ 2559 เปลี่ยนกลับไปเป็นให้จัดการเรียนการสอนแบบพบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงอีกแล้ว )

             ตามที่กำหนดให้ผู้เรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน ต้องมีเวลามาเรียนสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง ( ดูหนังสือสั่งการได้ในข้อ 6 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/550293 ) นั้น วันที่ 29 ต.ค.56 ผมได้เรียนถามท่าน ผอ.กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า ใน 9 ชั่วโมงนี้ จัดการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง
             ท่าน ผอ. กรุณาอธิบาย ว่า สามารถแบ่ง 9 ชั่วโมง ออกเป็น 3 ส่วน ๆ ละ 3 ชั่วโมง คือ

             1)  เรียนกับครู กศน. 3 ชั่วโมง
                  เป็นการเรียนการสอนตามรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน เต็มรูปแบบ มี แผนการสอนแต่ละครั้งโดยละเอียด เหมือนกับการสอนของครูในระบบโรงเรียน   โดยทั่วไปจะนำเนื้อหาที่ยากง่ายปานกลางมาสอน  จะทำแผนการสอนแบบบูรณาการ หรือแผนการสอนแยกรายวิชาก็ได้

             2)  เรียนเสริมกับครู กศน. หรือครูสอนเสริม 3 ชั่วโมง
                  เป็นการเรียนให้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิชาการเพิ่มมากขึ้น  ในรายวิชา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆ ตามความต้องการของนักศึกษา   อาจจะเป็นการทบทวน การฝึก การติว การสอนเสริม  ในเนื้อหาที่ยาก นักศึกษายังไม่เข้าใจ หรือได้คะแนนการวัดผลระหว่างภาคต่ำ  คล้ายการ สอนเสริมเดิม เพียงแต่กำหนดจำนวนชั่วโมงให้เป็นรูปธรรมชัดเจนและนำมารวมไว้ในภาคบังคับสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมงนี้

             3)  ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองตามที่ครูมอบหมาย 3 ชั่วโมง
                  เป็นลักษณะให้ ทำงานที่มอบหมาย/แบบฝึกหัด/ตอบคำถามที่ระบุชัดเจนว่าให้ทำอะไร หรือหาคำตอบอะไร โจทย์หรือคำถามมีกี่ข้อ อะไรบ้าง โดยให้ทำอยู่ในสถานที่เรียน ( ในเวลา 3 ชั่วโมงนี้ รวมการทำความเข้าใจกับ “งาน" การทำงาน การนำเสนอผลงาน การตรวจการเฉลย )

             ทั้ง 3 ส่วนนี้ ต้องกำหนดเป็นปฏิทินล่วงหน้าตลอดภาคเรียน โดยจำแนกรายสัปดาห์ ว่า สัปดาห์ที่ 1 ส่วนที่ 1 จะสอนวิชาอะไร/เรื่อง อะไร ส่วนที่ 2 จะเสริมเรื่องอะไรบ้าง ส่วนที่ 3 จะให้การบ้านอะไรบ้าง กำหนดให้ครบทุกสัปดาห์ โดยครูทำแผนนี้ร่วมกับผู้เรียน และส่งแผนนี้ให้สถานศึกษาตั้งแต่ต้นภาคเรียน  ( ดูตัวอย่างปฏิทินการเรียนได้ในตอนท้ายของแนวนโยบายจุดเน้นฯ ที่ http://203.172.142.111/main_doc/pt1.pdf )

             นักศึกษา ทุกคนต้องมีเวลามาเรียนสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมงนี้ ตามเกณฑ์ 75 % จึงจะมีสิทธ์สอบปลายภาค ( ส่วนกลางกำลังพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มเกณฑ์เป็น 80 % หรือไม่ ) เช่น สัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง รวมภาคเรียนละ 162 ชั่วโมง นักศึกษาแต่ละคนก็ต้องมาอย่างน้อย 122 ชั่วโมง   โดย กศน.อำเภอ/เขต จัดการเรียนการสอนวิธีนี้วิธีเดียว
             ทางเลือกของผู้ที่ไม่มีเวลามาเรียนสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง คือ เรียนทางไกลกับสถาบันการศึกษาทางไกล หรือเทียบระดับการศึกษา ( ต้องอายุ 20 ปี มีอาชีพ )

           หมายเหตุ  ปีงบประมาณ 2559 เปลี่ยนกลับไปเป็นให้จัดการเรียนการสอนแบบพบกลุ่มสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมงอีกแล้ว

         5. วันเดียวกัน ( 29 ต.ค.) อ.รานี ครูชำนาญการ กศน.อ.บางปะหัน โทร.มาถามผม ว่า  ต้องกรอกข้อมูล นศ. แต่แบ่ง "ช่วงอายุ" ไม่ตรงกับโปรแกรม ITw  จะทำอย่างไร

             เรื่องนี้  คุณสุขุม ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้พัฒนาโปรแกรม ITw บอกว่า  โปรแกรม ITw สามารถรายงานสถิติโดยแบ่งช่วงอายุใหม่อย่างไรก็ได้
             วิธีการคือ เข้าไปที่เมนู 1 - C - 5 - 3 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - สถิติ - บันทึกข้อมูลเพื่อจำแนกประเภท - กำหนดช่วงอายุ )
             แล้วกำหนดช่วงอายุ ต่ำสุด สูงสุด ตามต้องการ เสร็จแล้วคลิกที่ "บันทึก"

          6. วันที่ 1 พ.ย.56 คุณดอกบัว เมืองน้ำดำ ถามผมผ่านเฟซบุ๊คว่า อำเภอ หรือ จังหวัด จ้างครู ปวช. อาศัยอำนาจตามคำสั่งฉบับใด
            เรื่องนี้ มีการเปลี่ยนเป็นให้จ้าง ครู ศรช. ครูผู้สอนคนพิการ ครู ปวช. เป็น
จ้างเหมาบริการ ตามระเบียบฯพัสดุ โดยจังหวัดเป็นผู้จ้าง        

             

         7. คืนวันเดียวกัน ( 1 พ.ย.56 ) ผมเผยแพร่ข้อมูลเรื่อง การปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการครู ในเฟซบุ๊ค ว่า  ข้าราชการครู 1 ม.ค.57 ป.ตรี ได้ 15,050 บาท ( มากกว่าข้าราชการพลเรือน 50 บาท )  โดย วันที่ 1 พ.ย.56 เรื่องปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการครู 1 ม.ค.56 และ 1 ม.ค.57 เพิ่งจะผ่าน ครม.  ( ของข้าราชการพลเรือน+ลูกจ้างประจำ+พนักงานราชการ ตกเบิก 1 ม.ค.56 ไปนานแล้ว ของข้าราชการครูเพิ่งจะผ่าน ครม.ไม่รู้ว่าเดือนไหนจึงจะได้ตกเบิก )



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย