วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วันเข้าประเมินภายนอก, สารสนเทศคู่มือปฏิบัติงาน ตช. 3.1, แนวปฏิบัติการดำเนินงานเทียบระดับการศึกษา, มาตรฐาน 52-55, ประกาศมาตรฐาน 52-55, สมัครสอบครูผู้ช่วยแล้วลาออก, ถ้าตัวบ่งชี้ที่ 1.5 (ภายใน) “ต้องปรับปรุง”, ลงทะเบียนเรียนย้อนหลัง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันที่ 30 พ.ย.56 คุณ Ammie Za Za ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  จะเข้าไปดูวันที่ สมศ.มาประเมินได้ที่ไหน เพื่อนๆหลายๆอำเภอเค้ารู้วันแล้ว แต่ว่าอำเภอหนูยังไม่รู้เลย

             ผมตอบว่า   ไม่มีที่ดูที่ไหน แต่คณะกรรมการที่จะเข้าประเมินอำเภอใด จะเป็นผู้ติดต่อไปที่อำเภอนั้นเองว่าจะเข้าประเมินวันใด โดยปกติเขาจะติดต่อแจ้งล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์ ถ้าจะเข้าประเมินไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังแจ้งต้องได้รับความยินยอมจากเรา แต่ถ้าเขาแจ้งล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 1 สัปดาห์แล้วเราจะต่อรองให้เข้าประเมินหลังแจ้งเกินกว่าที่เขากำหนด ต้องได้รับความยินยอมจากเขา



         2. เย็นวันที่ 2 ธ.ค.56 คุณ อรัญญา จิตมะโน ถามผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ตอนนี้ได้รับงานสารสนเทศของ กศน.อำเภอ แล้วเขาให้จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของอำเภอ ซึ่งก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าคู่มือการปฏิบัติงานของอำเภอต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง พอจะมีตัวอย่างให้หรือปล่าวคะ

             ผมตอบว่า   การทำคู่มือการปฏิบัติงาน เริ่มตั้งแต่พิจารณาว่างานตามบทบาทหน้าที่ของ กศน.อำเภอ มีอะไรบ้าง แล้วเขียนขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานแต่ละงานนั้น ( เขียนขั้นตอนต่าง ๆ ในลักษณะที่สำหรับให้เจ้าหน้าที่คนอื่นอ่านแล้วสามารถทำงานนั้นแทนกันได้ หรือสำหรับให้เจ้าที่ที่เข้ามาใหม่สามารถทำงานนั้นได้ ) อาจบอกเทคนิควิธี/ข้อพึงระวัง/คำแนะนำ และนำตัวระเบียบแบบฟอ์มต่าง ๆ มารวมไว้ในภาคผนวกด้วย
อาจแยกเป็นหลายฉบับหลายเล่มหลายเรื่อง หรือรวมเล่ม  อาจจัดทำโดยวิธีการแต่งตั้งให้ผู้มีทักษะในแต่ละเรื่องเป็นผู้จัดทำในแต่ละเรื่อง หรือให้คนที่มีประสบการณ์มากรวบรวมเรียบเรียงคนเดียว
             ( บางเรื่อง ส่วนกลางหรือ กศน.ภาค หรือ กศน.จังหวัด ทำเอกสารไว้เป็นเล่ม เราสามารถนำเอกสารนั้นมาปรับปกเป็นคู่มือการปฏิบัติงานของ กศน.อำเภอได้ เช่นเรื่อง ศูนย์ภาษาอาเซียน ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน การเทียบโอน การเทียบระดับ การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ การสอนผู้ไม่รู้หนังสือ ฯลฯ )
             ขอแนะนำให้อ่านใน ข้อ 2 (1) ที่ http://www.gotoknow.org/posts/504565 จะเข้าใจระบบสารสนเทศมากขึ้น โดยตอนท้ายจะมีลิ้งค์เอกสารระบบสารสนเทศทั้งระบบของ กศน.อ.ตรอน ซึ่งในหน้า 9-10 ของเอกสารนี้ จะระบุว่ามีคู่มือปฏิบัติงานเรื่องอะไรบ้าง ส่วนรายละเอียดของคู่มือปฏิบัติงานคงต้องติดต่อขอจาก กศน.อ.ตรอน
             ( ดูเอกสารระบบสารสนเทศของ กศน.อ.เมืองลำพูน ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/DOC/informationlampoon.doc 
อำเภอใดมีคู่มือการปฏิบัติงานอีก ก็ช่วยกันอนุเคราะห์ ช่วยกันเผยแพร่หน่อยนะครับ ขอบคุณมาก
                ดูตัวอย่างคู่มือระบบสารสนเทศ กศน.อ.สามโคก ปทุมธานี ของคุณอาคม จันตะนี บอกว่า ดูตัวอย่างคู่มือระบบสารสนเทศ กศน.อำเภอสามโคก ปทุมธานี ได้ที่  http://www.bangphonua.com/articles/42111739/SAR%202552-2555.html ..คุณอาคม บอกว่า เอกสารใดที่มีอยู่แล้วให้อ้างอิงแหล่งที่อยู่มาไว้ในนี้ได้เลย ไม่ต้องเขียนใหม่ ถ้าจะให้ดีก็จัดทำเป็นหมวดหมู่ไว้ในเว็บไซต์ จัดทำเป็น e-book ด้วย ใส่ลิงค์ที่อยู่ของเอกสารจะดีกว่า ง่ายและรวดเร็ว เป็นระบบกว่า   แต่ละสถานศึกษาข้อมูลจะไม่เหมือนกัน และต้องปรับปรุงพัฒนาตามวิธีการดำเนินงานที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง อยู่เสมอ )



         3. วันที่ 3 ธ.ค.56 สำนักงาน กศน. แจ้ง แนวปฏิบัติการเทียบระดับฯ ตามหนังสือด่วนมาก ที่ ศธ 0210.03/5735 ลงวันที่ 3 ธ.ค.56 มีรายละเอียดเช่น
             3.1  เทียบระดับฯแบบเดิม ตั้งแต่ปี งปม.57 ให้ดำเนินการเฉพาะระดับประถมฯ แต่ ผู้เทียบระดับ ม.ต้น ม.ปลาย แบบเดิม ที่ผ่านมิติใดมิติหนึ่ง หรือมาตรฐานใดมาตรฐานหนึ่ง หรือผ่านมิติประสบการณ์ข้ามระดับ ให้ดำเนินการประเมินให้เสร็จภายในปี งปม.57 ซึ่งจะมีการประเมิน 2 ครั้ง โดยสอบมิติความรู้ความคิดในเดือน ก.พ. และ ส.ค.57
             3.2  ผู้ที่ประเมินไม่ผ่านในแต่ละรุ่น ขอรับการประเมินอีกรุ่น ให้เก็บค่าธรรมเนียม 750 บาท/รุ่น ทั้งการเทียบระดับแบบเดิมและแบบสูงสุด ( ผู้ผ่านมิติประสบการณ์ข้ามระดับแบบเดิม ขอรับการประเมินมิติความรู้ความคิดในระดับต่อไป ให้เก็บค่าธรรมเนียม 1,500 บาท )
             3.3  การเทียบระดับประถมฯ ( แบบเดิม ) เพิ่มการประเมินทักษะการอ่านและเขียนภาษาไทย
             3.4  เทียบระดับฯสูงสุดฯ สะสมผลการเรียนเฉพาะวิชาที่มีการอนุมัติผลการประเมินแล้วเท่านั้น คือ ผ่านภาคทฤษฎีและคะแนนรวมภาคประสบการณ์ถึง 60 %

                   ถ้าผ่านภาคทฤษฎี แต่คะแนนรวมภาคประสบการณ์ ( ประเมินได้ 2 ครั้งในแต่ละรุ่น ) ไม่ถึง 60 % จะสะสมเฉพาะภาคทฤษฎีไม่ได้ ต้องสอบใหม่ในรุ่นต่อไปทั้ง ภาคทฤษฎี สทศ.+ภาคทฤษฎี กศน.+ภาคประสบการณ์
             3.5  ให้มีการจัดสะมมนาวิชาการ 3 วัน 2 คือ หรือ 30 ชั่วโมง ทั้งแบบเดิม และแบบสูงสุดฯ
             ฯลฯ

             ดูรายละเอียดในหนังสือ ที่ http://www.pattanadownload.com/download/g.3/g3.30.PDF

 

         4. วันที่ 4 ธ.ค.56 คุณ Adisak Thakoengsuk เขียนในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  อยากได้ประกาศใช้มาตรฐาน 52-55

             ผมตอบว่า   มาตรฐานการศึกษานอกโรงเรียน สำหรับการประกันคุณภาพภายใน มีมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ในแต่ละปี ไม่เหมือนกัน  กศน.อ.บางแห่ง ไม่ได้ทำ SAR ในบางปี  เมื่อจะทำย้อนหลังต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย

             - SAR ปี 55  มี 6 มาตรฐาน  26 ตัวบ่งชี้  ( ประกาศให้ใช้มาตรฐานเมื่อ 19 เม.ย.55 ดูประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/Compressrd/standardAnnouncedNFE55.zip )

             - SAR ปี 53-54  มี 6 มาตรฐาน  27 ตัวบ่งชี้  ( ประกาศให้ใช้มาตรฐานเมื่อ 31 ม.ค.53 ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/standardAnnouncedNFE53.pdf )
             - SAR ปี 52  มี 6 มาตรฐาน  22 ตัวบ่งชี้  ( ประกาศให้ใช้มาตรฐานเมื่อ 14 ส.ค.51 )
             - SAR ปี 51  มี 9 มาตรฐาน  28 ตัวบ่งชี้  ( ประกาศให้ใช้มาตรฐานเมื่อ 10 ต.ค.50 )
             - SAR ปี 47-50  มี 21 มาตรฐาน  73 ตัวบ่งชี้


         5. วันที่ 5 ธ.ค.56 ผมเผยแพร่สาระน่ารู้ในวันหยุด ลงในเฟซบุ๊ค เช่น มีคำถามมาจาก 3 หรือ 4 คน ว่า  สมัครสอบครูผู้ช่วย กศน. แล้วลาออก มีสิทธิ์สอบไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบมาแล้วมีชื่อ ก็สามารถเข้าสอบได้ แต่ถึงจะสอบได้ก็ไม่สิทธิ์ได้บรรจุแล้ว



         6. วันที่ 10 ธ.ค.56 เนื่องในวันหยุด ผมตั้งคำถามเรื่องการประเมินคุณภาพ ในเฟซบุ๊ค  ว่า

             กศน.อำเภอแห่งหนึ่งใน จ.พระนครศรีอยุธยา นำค่าขีดจำกัดล่าง การสอบปลายภาค กศ.ขั้นพื้นฐาน ภาค 1/56 มาปรับแก้ SAR ปี 56 แล้ว ปรากฏว่า ตัวบ่งชี้ที่ 1.5 ของการประเมินภายในฯ ( ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ) ได้คะแนนไม่ถึง 5.00 อยู่ในเกณฑ์ ต้องปรับปรุงเร่งด่วน
             จึงมีคำถาม ถามว่า
             1. การที่ตัวบ่งชี้ที่ 1.5 อยู่ในเกณฑ์ ต้องปรับปรุงเร่งด่วน นี้ จะส่งผลอย่างไรกับผลการประเมินคุณภาพภายในฯ
             2. จะส่งผลไปถึง การประเมินคุณภาพภายนอกฯ ด้วยหรือไม่ อย่างไร
             3. จะแก้ไข หรือควรแก้ไข ได้อย่างไร หรือไม่

             คำตอบตามทรรศนะของผมคือ
             1. การประเมินภายในฯ ไม่มีการสรุปว่า ผ่านหรือไม่ผ่านการประเมิน เช่น ไม่ได้กำหนดว่า ต้องไม่มีตัวบ่งชี้ใดอยู่ในระดับคุณภาพต้องปรับปรุง ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีผลรวมคะแนนตั้งแต่กี่คะแนนขึ้นไป
                 เพียงแต่มีเกณฑ์ว่าคะแนนเท่าไรอยู่ในระดับคุณภาพใด การที่ตัวบ่งชี้ที่ 1.5 มีคะแนนต่ำ ก็จะส่งผลให้คะแนนรวมต่ำลง ระดับคุณภาพในภาพรวมอาจจะต่ำลงด้วย

             2. การประเมินภายนอกฯ ตามตัวบ่งชี้ที่ 5.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการศึกษาพื้นฐาน ไม่ได้คำนวณจากคะแนนสอบปลายภาค แต่ คำนวณจากคะแนนสอบ N-NET ก่อนจบฯ ซึ่งเป็นคะแนนแยกต่างหาก มีค่าขีดจำกัดล่างต่างจากที่นำมาคำนวณใน SAR นี้ ผลจึงอาจต่างกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อคะแนนปลายภาคต่ำ คะแนน N-NET ก็อาจจะต่ำด้วยก็ได้ ( ต้องลองคำนวณจากคะแนน N-NET ดู ) แต่ แม้คะแนนตัวบ่งชี้ที่ 5.1 จะต่ำ ก็มักมีคะแนนตัวบ่งชี้ที่ 5.2 และ 5.3 ( ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้สำเร็จการศึกษาต่อเนื่องตามหลักสูตร/โครงการ และ ผู้สำเร็จการศึกษาต่อเนื่องที่นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ) มาช่วยดึงให้คะแนนรวมตัวบ่งชี้ที่ 5 อยู่ในระดับสูงกว่า ต้องปรับปรุง” ( ถ้าอยู่ในระดับต้องปรับปรุง ก็จะ ไม่ผ่านการประเมินคุณภาพภายนอกฯ )
                 แต่คะแนนรวมของการประเมินภายในฯจะส่งผลต่อการประเมินภายนอกฯโดยตรงที่สำคัญตัวบ่งชี้หนึ่ง คือ ตัวบ่งชี้ที่ 8 ของการประเมินภายนอกฯ ( พัฒนาการของการประกันคุณภาพภายในโดยสถานศึกษาและต้นสังกัด ) ซึ่งถ้าคะแนนภาพรวม SAR 3 ปีย้อนหลัง ลดลงทุกปี ( และมีอย่างน้อย 1 ปี ได้คะแนนต่ำกว่า 4.5 จากคะแนนเต็ม 5 ) ก็จะได้คะแนนพัฒนาการเป็น 0 ( 0 คูณอะไรก็ได้ 0 ) คะแนนเต็มเชิงปริมาณก็ไม่เกิน 2.5 สรุปคือ ตัวบ่งชี้ที่ 8 จะอยู่ในเกณฑ์ ต้องปรับปรุงนั่นคือ ไม่ผ่านการประเมินภายนอก

                 ประเด็นนี้สำคัญนะครับ ถ้าที่ใด คะแนนภาพรวม SAR 3 ปีย้อนหลัง ลดลงทุกปี ( และมีอย่างน้อย 1 ปี ได้คะแนนต่ำกว่า 4.5 จากคะแนนเต็ม 5 ) ก็รู้ผลการประเมินภายนอกฯเลยว่า ไม่ผ่าน

             3. คะแนนการประเมินภายในฯ ตัวบ่งชี้ที่ 1.5 คำนวณมาจากตัวเลขคะแนนผลการเรียน ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้
                 แต่ให้ดูว่า คะแนนภาพรวม SAR 3 ปีย้อนหลัง ลดลงทุกปี ( และมีอย่างน้อย 1 ปี ได้คะแนนต่ำกว่า 4.5 จากคะแนนเต็ม 5 ) หรือไม่ ถ้าใช่ ควรปรับแก้ SAR ( ในตัวบ่งชี้อื่น ) ให้มีบางปีคะแนนรวมไม่ลดลง
                 แต่ สิ่งที่ต้องแก้ไขโดยตรง ( ต้องปรับปรุงเร่งด่วน ) คือ ต้องปรับปรุง ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยปรับปรุงพัฒนาการจัด กศ.ขั้นพื้นฐาน ให้การเรียนของผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้น ( นี่คือหลักการและเหตุผลของการประเมินคุณภาพ )



         7. ดึกวันที่ 12 ธ.ค.56 มีผู้ส่งคำถามผ่านเฟซบุ๊คผม ว่า  นายทะเบียนให้ครู กศน.ตำบล กรอกลงทะเบียนเอง และได้มีปัญหาตามมาคือ ลงทะเบียนนักศึกษาไม่ครบ แทนที่จะจบเทอมนี้กลับต้องไปจบเทอมหน้า ในกรณีนี้เราสามารถแก้ไขรายวิชาได้หรือไม่ ลงรายวิชาเพิ่มได้ไหม นายทะเบียนบอกว่าลงเพิ่มอีกไม่ได้แก้ไขไม่ได้ จริงหรือเปล่า ถ้าแก้ไขไม่ได้หรือเพิ่มรายวิชาไม่ได้ก็อยากจะให้อาจารย์ฝากไว้เป็นแง่คิด บอกทางผู้ใหญ่ด้วย เพราะเพื่อน ๆ ฉันก็เคยเจอเหตุการแบบนี้มาก่อน มันเสียเวลาเสียความรู้สึกผู้ปกครองและนักศึกษาและครูผู้สอนมาก ฝากอาจารย์ช่วยตอบคำถามด้วย

             ผมตอบว่า   สามารถแก้ไขรายวิชาย้อนหลังได้ ลงรายวิชาเพิ่มย้อนหลังได้
            แต่ต้องระมัดระวัง เพราะการปล่อยให้ทำอะไรง่าย ๆ มักส่งผลเสียตามมา
            ที่นายทะเบียนกำหนดว่าแก้ไขไม่ได้ อาจเพื่อให้เกิดการระมัดระวัง รอบคอบ
            แต่ที่ถูกต้องคือ ต้องให้เป็นไปตามความจริง
            ถ้านักศึกษาลงทะเบียนเรียนจริง มาเรียนจริง มาสอบจริง แต่เราลืมลงทะเบียนในทะเบียน/ในโปรแกรม ITw เราก็ต้องแก้ไขโดยการลงทะเบียนย้อนหลังให้เขา
            เพราะเป็นความบกพร่องของเรา ไม่ใช่ความบกพร่องของนักศึกษา

            วิธีการที่เหมาะสมคือ
            1. ก่อนแก้ไขลงทะเบียนย้อนหลัง ให้ตรวจสอบให้ชัดเจนก่อนว่านักศึกษาลงทะเบียนเรียนและมาเรียนมาสอบจริงหรือไม่ ( อาจดำเนินการตรวจสอบกันเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้ลายลักษณ์อักษรนี้อ้างอิงในการแก้ไขการลงทะเบียนย้อนหลัง ) และตรวจสอบด้วยว่าการลงทะเบียนไม่ครบนี้ เป็นความบกพร่องของใคร
            2. ถ้าไม่ใช่ความบกพร่องของนักศึกษา ก็ต้องมีบุคลากรบกพร่อง ผู้บกพร่องก็ต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าไม่ต้องรับผิดชอบเลยก็จะเกิดการมักง่ายเกิดการบกพร่องอีก การรับผิดชอบ ถ้าเป็นครั้งแรกและไม่ร้ายแรง อาจแค่ตักเตือน/ภาคทัณฑ์ ถ้าเป็นครั้งที่สองอาจเพิ่มโทษ
            3. การที่นายทะเบียนให้ครู กศน.ตำบล กรอกลงทะเบียนเอง นายทะเบียนก็ต้องรับผิดชอบ ต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบ ถ้ามีข้อผิดพลาดจนเกิดปัญหา ก็ถือว่าเป็นความบกพร่องของนายทะเบียนด้วย  ( เรื่องงานทะเบียน เอกสารหลักฐานต่าง ๆ ต้องอยู่ที่ฝ่ายทะเบียน ปัจจุบัน กศน.ตำบลยังไม่ได้เป็นสถานศึกษา จึงยังแยกทะเบียนไม่ได้ ข้อมูลต่าง ๆ จะอยู่ในทะเบียน  เมื่อหลายปีก่อนจะไม่ให้ครูรู้รหัสเข้าโปรแกรม ITw เพราะอาจมีการแก้ไขข้อมูลสำคัญ ลักษณะคล้ายการห้ามครูผู้สอนคุมสอบ แต่ปัจจุบันมีนักศึกษามากขึ้น บางแห่งนายทะเบียนยังลงทะเบียนต่าง ๆ เอง บางแห่งให้มีครูบางคน ไม่ใช่ทุกคน ช่วยเป็นคณะทำงานของนายทะเบียน บางแห่งให้ครูแต่ละคนช่วยบันทึกทะเบียน แต่ให้แยกรหัสผ่านเข้าโปรแกรม รหัสที่ให้ครูทุกคนเข้าโปรแกรมได้นั้นจะบันทึกข้อมูลได้เพียงบางเรื่อง  แต่อย่างไรก็ตาม นายทะเบียนต้องเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบการบันทึก การตรวจสอบจะให้ครูตรวจสอบหรือจะตรวจสอบอย่างไรก็แล้วแต่ นายทะเบียนก็ยังเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบด้วย นายทะเบียนไม่ใช่มีหน้าที่แค่ลงนามโดยไม่ต้องรับผิดชอบ )

             ( กรณีที่เพิ่มวิชาลงทะเบียนของนักศึกษาคนเดิม จะไม่กระทบกับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว แต่ถ้าเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียน คือเดิมไม่ได้ลงทะเบียนให้นักศึกษารายนี้เลย และหมดเวลาแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงยอดนักศึกษาแล้ว เราก็จะไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวของ นศ.รายนี้
               กรณีที่หมดเวลาแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงยอดข้อสอบแล้ว ก็ให้สอบด้วยข้อสอบสำรอง
               กรณีต้องเพิ่มผู้เข้าสอบ
N-NET อ่านในข้อ 3 ที่ http://www.gotoknow.org/posts/518664 )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย