วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

1.ครู ปวช.ลาพักผ่อน, 2.เครื่องพิมพ์ เป็นครุภัณฑ์หรือไม่, 3.ก่อสร้างอาคาร กศน.ตำบล, 4.ให้ มส.นักศึกษา ใช้ระเบียบที่คน กศน.ไม่น้อย ไม่เห็นด้วย, 5.ข้าราชการครูสอนวันอาทิตย์ เบิกไม่ได้, 6.หนังสือที่ให้ กศน.อำเภอตรวจสอบวุฒิเอง, 7.วิชาเลือกเสรี/โปรแกรมการเรียนรู้




สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  หนูเป็นครู ปวช.กศน ทำงานมาแล้ว 6 ปี และเป็นลูกจ้างชั่วคราว   ตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวของ กศน. มีสิทธิ์ลาพักผ่อนได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ครู ปวช.กศน.ไม่ใช่ลูกจ้างชั่วคราว  ครู ปวช.กศน.ไม่มีสิทธิลาพักผ่อน
             ลูกจ้างชั่วคราวต้องจ้างด้วยงบบุคลากร มีเลขที่อัตรา  ( นิติกร กจ.กศน.บอกว่า กศน.ไม่มีลูกจ้างชั่วคราวมานานแล้ว )

 

         2. วันที่ 4 เม.ย.59 ผอ.กศน.อ. ท่านหนึ่ง ถามผมว่า  เครื่องพิมพ์ ( Printer ) เป็นครุภัณฑ์หรือไม่ ซื้อได้หรือไม่

             เรื่องนี้  เครื่องพิมพ์ ( Printer ) เป็น “สิ่งของที่โดยสภาพมีลักษณะคงทนถาวร มีอายุการใช้งานยืนนาน เมื่อชำรุดเสียหายแล้วสามารถซ่อมแซมให้ใช้งานได้ดังเดิม”  จึงเป็น ครุภัณฑ์  ซึ่งปัจจุบันถ้าเป็นครุภัณฑ์ไม่ว่าจะราคาเท่าไร ก็ใช้เงินงบดำเนินงานซื้อไม่ได้
             ( เงินรายได้สถานศึกษา ซื้อได้  ส่วนเงินอุดหนุนรายหัว กศ.ขั้นพื้นฐาน เป็นงบดำเนินงานประเภทหนึ่ง ใช้ซื้อไม่ได้ ถ้าจะใช้งบประมาณซื้อ งบลงทุนซื้อได้ )

         3. เช้าวันที่ 12 เม.ย.59 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง  สำรวจ กศน.ตำบล ที่มีที่ดินพร้อมสำหรับก่อสร้างอาคาร กศน.ตำบล ( เนื้อที่อย่างน้อย 20 X 25 เมตร )
             ดูหนังสือแจ้งที่  https://db.tt/orIxjNol 

 

         4. เช้ามืดวันเสาร์ที่ 16 เม.ย.59 Tanyaluk Neamprapan ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เราสามารถตัด มส.นักศึกษาได้ไหม ถ้าได้หรือไม่ ขอระเบียบด้วย

             ผมตอบว่า
             1)  ให้ มส. ( ไม่มีสิทธิเข้าสอบปลายภาค ) แก่นักศึกษาได้  โปรแกรม ITw ก็มีเมนูให้ลง มส.

             2)  ระเบียบคือ ประกาศสำนักงาน กศน.ฉบับลงวันที่ 8 ต.ค.55 ข้อ 2 ที่กำหนดว่า  วิธีเรียนรู้แบบ กศน. ( หลักสูตร 51 มีวิธีเรียนวิธีเดียว คือวิธีเรียนรู้แบบ กศน. แต่มีรูปแบบการเรียนหลายรูปแบบ เช่นรูปแบบพบกลุ่ม รูปแบบทางไกล )  ต้องมีเวลาพบกลุ่มหรือพบครูไม่น้อยกว่า 75 % จึงจะมีสิทธิเข้าสอบปลายภาคเรียน  ยกเว้นเฉพาะ นศ.ของสถาบัน กศ.ทางไกล
             ถ้าผู้เรียนมีระยะเวลาการพบกลุ่มหรือพบครูไม่ถึงร้อยละ 75 แต่ถึงร้อยละ 50 ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษาที่จะพิจารณาอนุญาตให้เข้าสอบปลายภาคเรียน  ( ถ้าไม่ถึงร้อยละ 50 ผู้บริหารก็อนุญาตให้เข้าสอบไม่ได้ ) 
             ดาวน์โหลดประกาศฉบับนี้ได้ที่  https://db.tt/rFV5M591

             คน กศน.จำนวนไม่น้อย ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้  แต่... พอมีการคำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบ/ขาดสอบปลายภาค โดยบางครั้งใช้จำนวนผู้มีสิทธิสอบเป็นจำนวนเต็ม ก็มีผู้หันมาใช้ประกาศฉบับนี้ลง มส.ให้นักศึกษา เพื่อให้จำนวนเต็มลดลง จำนวนร้อยละของผู้เข้าสอบจะได้เพิ่มขึ้น

             ผมคิดว่า เพื่อช่วยแก้ปัญหานักศึกษาผี ( นักศึกษาที่ไม่ได้ลงชื่อในใบลงทะเบียนเรียนด้วยตนเอง ) ควรใช้จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน เป็นจำนวนเต็มในการคำนวณร้อยละของผู้เข้าสอบ/ขาดสอบปลายภาค

         5. คืนวันเดียวกัน ( เสาร์ที่ 16 เม.ย.59 ) บุญชนะ ครูนกฮูก ล้อมสิริอุดมิ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ข้าราชการ ได้รับมอบหมายให้สอนในวันอาทิตย์ เบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาได้ไหม

             ผมตอบว่า   โดยปกติ เคยมีหนังสือราชการแจ้งนานแล้วว่า บุคลากรสังกัด กศน.สอนนอกเวลาราชการ เบิกได้  แต่.. มีหนังสือสำนักงาน กศน.แจ้งให้ข้าราชการครูสอนเสริมสัปดาห์ละ 6 ชั่วโมง และไม่ให้เบิกค่าตอบแทน ( อยู่ในข้อ 2.6 ของแนวนโยบายฯแนบหนังสือสั่งการ ที่  https://db.tt/LkvYKiCV
             และ ท่านเลขาธิการ กศน. นายสุรพงษ์ จำจด สั่งการในที่ประชุมที่ จ.สุโขทัย เมื่อวันที่ 12 พ.ย.58 ว่า “ข้าราชการครู กศน. ได้หารือกรมบัญชีกลางแล้ว แม้จะสอนนอกเวลาราชการ เบิกไม่ได้ เพราะเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรง ให้สอนโดยไม่เบิก”
             เมื่อเบิกค่าสอนไม่ได้ ก็เบิกค่าปฏิบัติงานนอกเวลาไม่ได้เช่นกัน ( ค่าปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ เป็นการปฏิบัติงานนอกเวลาในสำนักงาน )

             ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าสอนพิเศษและค่าสอนเกินภาระงานสอนในสถานศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2551 กำหนดว่า  ถ้าสอนเกินภาระงานสอนก็จะเบิกได้ ( ระดับ ม.ต้น-ปลาย ชั่วโมงละ 200 บาท ) เช่น  บทบาทหน้าที่ของ ขรก.ครู กศน. ที่ ก.ค.ศ.กำหนดคือ ต้องสอนตามตารางสอนไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมง และมีภาระงานสอนอื่นอีกรวมเป็นสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมง ถ้าสอนเกินนี้และสอนนอกเวลาราชการโดยไม่หยุดในวันทำการ ก็เบิกได้ ถ้ามีเงินให้เบิกและผู้บริหารให้เบิก

              ( ผมเองก็เคยสอนเสริมในวันอาทิตย์ทั้งเช้าและบ่าย ก็ไม่ได้เบิก แต่ ขอหยุดในวันธรรมดา 1 วัน เหมือนกับครู กศน.อื่นที่พบกลุ่มวันอาทิตย์หยุดวันศุกร์ )






         6. วันที่ 19 เม.ย.59 มี ขรก.จาก สนง.กศน.จังหวัดใกล้เคียง มาหาผมที่ กศน.อ.ผักไห่ จะเชิญผมไปร่วมเป็นวิทยากรเรื่องวิชาเลือกเสรี/โปรแกรมการเรียนรู้ และขอหนังสือฉบับที่แจ้งให้ กศน.อำเภอตรวจสอบวุฒิเอง แทนจังหวัด ( หนังสือฉบับปี 2553 )





         7. ตามหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.03/1733 เรื่องขอความร่วมมือจัดการเรียนการสอนวิชาเลือกเสรีโดยการพัฒนาเป็นโปรแกรมการเรียนรู้ ลงวันที่ 28 มี.ค.59  ( ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่https://db.tt/CtMuFC6S )  กำหนดว่า  ภาคเรียนที่ 1/59 ให้แต่ละจังหวัดมีสถานศึกษานำร่อง ลงทะเบียนเรียนวิชาเลือกเสรีตามโปรแกรมการเรียนรู้ จังหวัดละอย่างน้อย 1 อำเภอ ส่วนอำเภออื่นที่ยังไม่มีโปรแกรมการเรียนรู้ ในภาค 1/59 ให้นักศึกษาใหม่ลงทะเบียนเรียนเฉพาะวิชาบังคับและวิชาเลือกบังคับ

             1)  “โปรแกรมการเรียนรู้” คล้ายแผนการเรียนรายบุคคล หรือคล้ายแผนการเรียนในหลักสูตรเก่า ( ที่มีแผน ก แผน ข แผน ค เหมือนกันทุกแห่ง ) แต่โปรแกรมการเรียน จะมีหลากหลายมากกว่าแผนการเรียน ต่างอำเภอจะมีโปรแกรมการเรียนแตกต่างกัน หรืออาจมีโปรแกรมที่เหมือนกันได้ ถ้าสภาพ/ความต้องการของผู้เรียนเหมือนกัน
                  “โปรแกรมการเรียน” แปลให้เข้าใจง่าย คือ “กลุ่มวิชาเลือกเสรี” ที่ตรงกับสภาพ/ความต้องการ ของผู้เรียน/ชุมชน
                  ผู้เรียนแต่ละคนให้เลือกเรียนโปรแกรมเดียว ที่ตรงกับสภาพ/ความต้องการ เช่น โปรแกรมปั้นเตาอั้งโล่ โปรแกรมการเลี้ยงปลา โปรแกรมการเลี้ยงกบ โปรแกรมขับรถบรรทุก โปรแกรมเสริมสวย โปรแกรมนำเที่ยวท้องถิ่น โปรแกรมสำหรับผู้ต้องการศึกษาต่อ ฯลฯ

             2)  เมื่อกำหนดโปรแกรมการเรียนรู้โดยใช้ผู้เรียนและชุมชนเป็นฐานในการกำหนดแล้ว ก็ต้องกำหนดรายวิชาในแต่ละโปรแกรมให้ครบจำนวนหน่วยกิต
                  รายวิชาต่าง ๆ ในแต่ละโปรแกรมนี้คือรายวิชาเลือกเสรี เช่น ระดับ ม.ปลาย ต้องเรียนวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต ( จำนวนหน่วยกิตวิชาบังคับและวิชาเลือกยังเท่าเดิม ) เป็นวิชาเลือกบังคับที่ส่วนกลางกำหนดแล้ว 6 หน่วยกิต ถ้าสถานศึกษาไม่กำหนดวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้นอีก จะเหลือเป็นวิชาเลือกเสรี 26 หน่วยกิต  ฉะนั้น ในแต่ละโปรแกรมก็ต้องมีรายวิชาเลือกเสรีที่รวมทุกรายวิชาต้องไม่น้อยกว่า 26 หน่วยกิต

             3)  ผมถามกลุ่มพัฒนา กศน.ว่า สถานศึกษาจะกำหนดให้มีวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้นอีกได้ไหม กพ.ตอบว่าได้ ( ผมไม่แน่ใจว่านโยบายท่านเลขาฯเป็นอย่างไร แต่ กพ.ตอบว่าได้ ผมก็จะยึดว่าสถานศึกษาสามารถกำหนดให้มีวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้นอีกได้  ( กพ.ยกตัวอย่างว่า สิงห์บุรีก็มี วิชาสิงห์บุรีบ้านเรา เป็นวิชาเลือกบังคับ แต่ผมดูโปรแกรมของ กศน.ตำบลบางมัญ อ.เมืองสิงห์บุรี ที่ กพ.กรุณาส่งมาให้ผมดูแล้ว เขาเพิ่งกำหนดรายวิชาเลือกเสรีในโปรแกรมการเรียนรู้ไว้เพียงโปรแกรมเดียว โดยมีรายวิชาสิงห์บุรีบ้านเราอยู่ในโปรแกรมนี้ ไม่ได้บอกว่ารายวิชาสิงห์บุรีบ้านเราเป็นวิชาเลือกบังคับ ยังไม่แน่ว่าโปรแกรมอื่นจะมีวิชานี้หรือไม่ )
                  เมื่อมีวิชาเลือกบังคับเพิ่มขึ้น จำนวนหน่วยกิตของวิชาเลือกเสรีในแต่ละโปรแกรมก็จะลดลง

             4)  กพ. บอกว่า อำเภอที่นำร่องในภาค 1/59 ต้องนำร่องทั้ง 3 ระดับ โดยมีโปรแกรมการเรียนรู้ให้เรียนในภาค 1/59 อย่างน้อยระดับละ 1 โปรแกรมก่อนก็ได้ ภาคเรียนต่อไปค่อยพัฒนาโปรแกรมเพิ่มขึ้น โดยในแต่ละโปรแกรมต้องกำหนดชื่อรายวิชาและจำนวนหน่วยกิตของแต่ละรายวิชาไว้ให้ครบถ้วนก่อนเปิดให้ลงทะเบียนเรียน แต่เนื้อหา/หนังสือเรียน อาจพัฒนาไว้เพียงบางรายวิชาสำหรับใช้เรียนในภาค 1/59 ก่อน รายวิชาอื่น ๆ กำหนดไว้แต่ชื่อและจำนวนหน่วยกิตก่อนก็ได้

             5)  รายวิชาเลือกเสรีต้องสอดคล้องกับโปรแกรม เช่น โปรแกรมเกษตรกร อาจประกอบด้วยรายวิชาการทำปุ๋ยชีวภาพ  แต่รายวิชาการทำผ้าบาติคคงจะอยู่ในโปรแกรมเกษตรกรไม่ได้  โดยให้ สนง.กศน.จังหวัด เป็นผู้พิจารณาความสอดคล้องของรายวิชาเลือกเสรีกับโปรแกรม รวมทั้งเป็นผู้กำหนดสัดส่วนคะแนนและวิธีการวัดผลประเมินผลในแต่ละรายวิชา ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของวิชา ก่อนให้สถานศึกษานำไปใช้

             6)  บางรายวิชาอาจอยู่ซ้ำในหลายโปรแกรมได้ เช่นรายวิชา Mini MBA อาจอยู่ในทุกโปรแกรมที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ/ธุรกิจ
                  ในแต่ละระดับมีชื่อโปรแกรมเหมือนกันได้ แต่รายวิชาในแต่ละระดับไม่ให้เหมือนกัน ไม่ให้มีวิชารหัส 0 ที่เหมือนกันทุกระดับ

             7)  ถ้าแต่ละอำเภอมีหลายโปรแกรม จำนวนวิชาเลือกทั้งหมดยิ่งจะมาก เพราะแต่ละโปรแกรมย่อมต้องมีวิชาเลือกบางวิชาหรือหลายวิชาที่ไม่ซ้ำกัน แต่ละโปรแกรมก็มีจำนวนหน่วยกิตวิชาเลือกไม่น้อยกว่าเดิมที่เราบ่นตรงกันว่าวิชามาก เป็นปัญหา  การมีหลายโปรแกรมยิ่งจะมีวิชามากขึ้นอีก  วิธีแก้ปัญหาคือ กำหนดให้แต่ละรายวิชามีหน่วยกิตมาก ก็จะลดจำนวนวิชาลงได้  กพ.บอกว่า ระดับประถมวิชาละไม่น้อยกว่า 2 หน่วยกิต ระดับ ม.ต้น-ปลาย วิชาละไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต  ยิ่งจำนวนหน่วยกิตในแต่ละวิชาน้อย จำนวนวิชายิ่งมาก ยิ่งเป็นปัญหาในการบริหารจัดการมากกว่าเดิม  เช่นระดับ ม.ปลาย รายวิชาเลือกเสรีรวม 26 หน่วยกิต ถ้าวิชาละ 3 หน่วยกิต ก็ต้องมีถึง 9 วิชาในแต่ละโปรแกรม  ( วิชาบังคับกับวิชาเลือกบังคับอีก 16 วิชา เมื่อรวมวิชาเลือกเสรีในโปรแกรมการเรียนอีก 9 วิชา เป็น 25 วิชา คือมีโปรแกรมเดียวก็มี 25 วิชาแล้ว )

             8)  อำเภอที่ยังไม่นำร่อง ยังไม่มีโปรแกรมการเรียน เมื่อยังไม่มีโปรแกรมการเรียนก็จะยังไม่มีรายวิชาเลือกเสรี เพราะยังไม่รู้ว่าจะเป็นโปรแกรมเกี่ยวกับวิชาอะไร  ภาคเรียนที่ 1/59 จึงให้เรียนเฉพาะวิชาบังคับกับวิชาเลือกบังคับก่อน โดยให้เรียนวิชาบังคับมากกว่าปกติเพื่อทดแทนวิชาเลือก  ควรคุยรวมกันทั้งจังหวัดว่าภาคเรียนที่ 1/59 อำเภอที่ไม่นำร่องควรให้ นศ.ใหม่ เรียนวิชาบังคับวิชาใดบ้าง ให้เหมือนกันทั้งจังหวัด จะได้ง่ายต่อการบริหารจัดการ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย