วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

1.อนุมัติจบ ม.ปลายแล้ว แต่เกรด ม.ต้นเป็น 0 อยู่ 2 วิชา, 2.จบเทียบระดับแล้ว สมัครระดับต่อไปได้เลยหรือเว้น 1 เทอม, 3.บุคลากรละเลยการลงชื่อปฏิบัติงาน, 4.เทียบโอน รปภ. ทำอย่างไร, 5.4 มิติ คือ ? วัตถุ หรือเศรษฐกิจ (3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ), 6.กรรมการประเมินพนักงานราชการ, 7.ถ้า นศ.น้อย จ่ายตามรายหัวได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 2 พ.ย.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ถ้านักศึกษาอนุมัติจบ ม.ปลายไปแล้ว แต่เกรดในวุฒิ ม.ต้นเป็น 0 อยู่ 2 วิชา จึงทำการสมัคร ม.ต้นใหม่ แต่โปรแกรม ITw แจ้งสถานภาพ ว่าจบหลักสูตร ม.ปลายแล้ว ให้ป้อนเลขบัตรใหม่  ต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถสมัคร ม.ต้นได้  ตอนนี้เท่าที่คิดออกก้คือลบประวัติ ม.ปลาย แต่ถ้าลบประวัติ ม.ปลายจะผิดไหม แล้วผลการเรียนม.ปลายทั้งหมดนั้น ถือว่าโมฆะรึป่าว

             ผมตอบว่า   ถ้าเรียน ม.ปลาย ก่อนจบ ม.ต้น .. การเรียน ม.ปลาย ก็ต้องเป็นโมฆะอยู่แล้ว เท่ากับยังไม่ได้เรียน ม.ปลาย จะลบประวัติ ม.ปลาย ก็ได้
              ( เมื่อจบ ม.ต้น เรียบร้อย จึงจะเริ่มต้นสมัครเรียน ม.ปลายใหม่ )

         2. วันเดียวกัน (่ 2 พ.ย.59 ) Nattanich Malikae ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเทียบระดับการศึกษา(ไต่ระดับ) หากผู้เข้าเทียบระดับ จบระดับประถมแล้ว สามารถเรียนต่อได้เลย หรือต้องเว้น 1 ภาคเรียน  ตอนนี้มีผู้ที่ตอบแล้วว่าเว้น 1 ภาคเรียน แต่บางส่วนก็ว่าเทียบต่อได้เลย

             เรื่องนี้  อ.พรทิพย์ พรรณนิตานนท์ หัวหน้ากลุ่มงานเทียบระดับการศึกษา กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า  ถ้าอนุมัติจบก่อนหมดเวลาสมัครรุ่นต่อไป ก็สมัครระดับต่อไปได้เลย
              ( เมื่อก่อนที่เคยให้เว้น 1 รุ่น เพราะตอนนั้นเปิดให้เทียบระดับปีละตั้ง 4 รุ่น รุ่นที่ติดกันช่วงเวลาเหลื่อมซ้อนกัน ตอนนี้เหลือปีละ 2 รุ่นแล้ว ไม่ต้องเว้นแล้ว )

         3. วันที่ 4 พ.ย.59 ข้าราชการตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป สนง.กศน.จ. ... ... ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ขอความรู้และระเบียบอ้างอิง ประเด็นละเลยการลงชื่อปฏิบัติงานของบุคลากรทุกประเภท (เน้น กศน.อ.)

             ผมบอกให้ดูในหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.118/50 ลงวันที่ 11 ก.พ.56 เรื่องการลงเวลาการปฏิบัติราชการ  





         4. วันที่ 8 พ.ย.59 Arita Kaew ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเทียบโอน พนักงาน รปภ.ต้องทำอย่างไร ใช้หลักฐานอะไรบ้าง และแบบฟอร์มไหน

             ผมตอบว่า   ลองดูแนวทางที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teibOonRPPh.pdf

         5. คืนวันที่ 8 พ.ย.59 กีต้าร์ ซีซ่าส์ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข 4 มิติ  ที่ตรง 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม หรือ วัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม

             ผมตอบว่า   4 มิติ คือมิติทางด้านวัตถุหรือเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านวัฒนธรรมค่านิยมความเชื่อ
             การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ในระดับ ตัวเอง ครอบครัว องค์กร มักจะใช้คำว่ามิติด้านวัตถุ  ถ้าระดับ ชุมชน สังคม ประเทศชาติ มักจะใช้คำว่ามิติด้านเศรษฐกิจ
             มิติด้านวัตถุ/เศรษฐกิจ ในดับตัวเอง/ครอบครัว/องค์กร หมายถึง
             (1)  รู้จักบริหารงบประมาณ และใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่าและพอเพียง เกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด
             (2)  บริหารจัดการด้านการเงินส่วนตัวได้อย่างเหมาะสม ประหยัดอดออม และมีวินัยในการใช้จ่าย มีการวางแผนในการใช้จ่ายเงินเพื่ออนาคต






         6. เช้ามืดวันที่ 9 พ.ย.59 Suteera Phonyon ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไปใช้กี่คน มีใครบ้าง และคณะกรรมการกลั่นกรองใช้กี่คน ประกอบด้วยใครบ้าง

             ผมตอบว่า   ดูที่ ประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานราชการทั่วไปสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
             - ในส่วนของการประเมินฯ อยู่ในข้อ 5 (ค) เป็นหน้าที่ของ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายซึ่งจะประเมินเองหรือจะแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินฯก็ได้ แต่ก็ฟังนโยบายจากผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปด้วยว่าควรจะประเมินเองหรือจะมอบหมาย/แต่งตั้งผู้อื่นด้วย  ( ผู้ที่ลงนามเป็น ผู้ประเมินในแบบประเมินฯ คือผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายคนเดียว )

             - ในส่วนของ การแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินฯ อยู่ในข้อ 7 ประกอบด้วย

              (1)  หัวหน้าหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย  เป็นประธานฯ

              (2)  ผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่กำกับดูแลพนักงานราชการ  เป็นกรรมการ

              (3)  ผู้ปฏิบัติงานด้านการเจ้าหน้าที่  เป็นกรรมการและเลขานุการ

              ( ดูประกาศฉบับนี้ได้ที่  https://db.tt/KMnqJLi8 )

         7. เช้าวันที่ 7 พ.ย.59 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ถ้า ครู ศรช.ไม่สามารถมีนักศึกษาครบ 80 คน จะให้เงินเดือนตามรายหัวไหม

             เรื่องนี้   ตามรายละเอียดการจ้างเหมาบริการ ครู กศน. 8 ตำแหน่ง ( ดูได้ที่  https://www.dropbox.com/s/0yevos15vb5ixx6/teacherJang.pdf?dl=1กศน.ได้กำหนด ขอบเขตงานจ้างของแต่ละตำแหน่งไว้ เช่น ครู ศรช.รับผิดชอบ นศ.ไม่น้อยกว่า 40 คน ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อนรับผิดชอบ นศ.ไม่น้อยกว่า 20 คน เป็นต้น  อัตราค่าจ้าง 90,000 บาทต่อภาคเรียน..  หัวหน้ากลุ่มงานพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน. บอกว่า ต้องมีจำนวน นศ.ตามที่กำหนด
             ผมเรียนถามท่าน ผอ.กลุ่มงานคลัง กศน. ในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.59 ท่าน ผอ.บอกว่า การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุไม่ใช่การจ้างตามรายหัว ถ้า นศ.ถึงเกณฑ์ ( เกณฑ์ของครู ศรช.คือ รับผิดชอบนักศึกษาตั้งแต่ 1 กลุ่มขึ้นไป กลุ่มละไม่น้อยกว่า 40 คน" แปลว่า ขั้นต่ำ 40 คน ขั้นสูงไม่จำกัด มากกว่า 40 คนไม่เป็นไร แต่ไม่ต่ำกว่า 40 คน )  40 คนขึ้นไปเดือนละ 15,000 บาท, 80 คนหรือมากกว่าก็จ้างเดือนละ 15,000 บาท  ถ้าไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่จ้าง  ถ้า นศ.ไม่ถึงเกณฑ์แต่ผู้จ้างต้องการจ้างคนนี้ต้องมีเหตุผลความจำเป็นมาก ๆ และต้องขอความเห็นชอบส่วนกลางเป็นรายกรณีก่อน เช่น อยู่บนเกาะหรือบนภูเขาที่เกาะนั้นหรือภูเขาลูกนั้นมีประชากรนิดเดียวมีครูคนเดียวโอน นศ.จำนวนน้อยนี้ให้ครูคนอื่นไม่ได้ ( ให้ขอความเห็นชอบเฉพาะที่มีเหตุผลความจำเป็นมาก ๆ ถ้าเหตุผลไม่มากพอไม่ต้องจ้างไม่ต้องขอความเห็นชอบ )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย