วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562

1.พนักงานราชการเกษียณแล้ว แต่งเครื่องแบบไม่ได้, 2.ครู กศน.ตำบล/แขวงที่ไม่ใช่หัวหน้า กศน.ตำบล ลงนามในบันทึกข้อความได้ไหม, 3.พนักงานราชการใส่เครื่องชุดขาวในวันเผาศพได้ไหม, 4.พนักงานราชาการเกิดหลังปีงบประมาณต่ออีกหรือไม่ ?, 5.ความไม่เข้าใจชัดเจนในเรื่อง กพช., 6.พนักงานราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาวในพิธีหมั้นได้ไหม, 7.การเรียนเพิ่มหน่วยกิตวิชาวิทย์-คณิต หลังจบ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. เย็นวันที่ 10 ก.ย.62 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า  กรณีพนักงานราชการได้รับเครื่องราชฯ เมื่อเกษียณอายุราชการไปแล้วเมื่อมีงานพิธีสามารถแต่งชุดปกติขาวได้หรือเปล่าค่ะ

             ผมตอบว่า   เรื่องเครื่องราชฯ กับ เครื่องแบบ เป็นคนละส่วนกัน
             พนักงานราชการ กับ ข้าราชการ แตกต่างกัน
             ข้าราชการเกษียณแล้วรับบำนาญ ถือเป็นข้าราชการนอกประจำการ แต่จะแต่งเครื่องแบบเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเปลี่ยนเครื่องหมายสังกัดข้างขวาเป็นเครื่องหมาย "นก" (นอกราชการ) ส่วนข้าราชการเกษียณที่รับบำเหน็จไม่รับบำนาญจะหมดสิทธิ์แต่งเครื่องแบบ
             แต่ พนักงานราชการ จริง ๆ แล้วไม่ได้ใช้คำว่าเกษียณ ใช้คำว่า หมดสัญญา ( เราพูดกันสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่าเกษียณ )
             พนักงานราชการที่หมดสัญญาแล้ว จะแต่งเครื่องแบบพนักงานราชการไม่ได้ครับ
             บุคคลทั่วไปที่เป็นบุรุษ สามารถแต่งชุด "ขอเฝ้า" ได้ ซึ่งเป็นชุดขาวเหมือนชุดปกติขาวนี่แหละ พนักงานราชการชายที่หมดสัญญาหรือเกษียณแล้วก็แต่งชุดขอเฝ้าได้ ชุดขอเฝ้านี้ประดับเครื่องราชฯที่ได้รับได้ แต่จะติดเครื่องหมายต่าง ๆ เหมือนเครื่องแบบพนักงานราชการไม่ได้ กระดุมก็เป็นกระดุมเกลี้ยงสีทอง
             ส่วนสตรี ไม่มีชุดขอเฝ้าสีขาว พนักงานราชการสตรีที่หมดสัญญาแล้วจะแต่งชุดขาวแบบชุดปกติขาวไม่ได้ ถ้าจะประดับเครื่องราชฯร่วมงานก็ต้องแต่งชุดไทย
             ( ถ้าเป็นการประดับเหรียญจริงของเครื่องราชฯ สตรีที่แต่งชุดไทยยังใช้เครื่องราชฯที่ผูกเป็นโบว์ปีกแมลงปอเหมือนเดิมนะ ที่มีการเปลี่ยนเป็นเหมือนแบบบุรุษนั้น เฉพาะกรณีแต่งเครื่องแบบ )


         2. เวลา 06.40 น.วันที่ 11 ก.ย.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หนังสือภายใน(บันทึกข้อความ) ของกศน.แขวง หรือกลุ่มงาน ครูที่ไม่ได้เป็นหัวหน้ากศน.แขวง หรือหัวหน้ากลุ่มงาน มีสิทธิ์เซ็นมั้ย เช่น หนังสือบันทึกข้อความของกศน.แขวง แต่เซ็นเองไม่ให้หัวหน้ากศน.แขวง เซ็น

             ผมตอบว่า   "หนังสือภายใน" บุคลากรทุกคนที่เป็นเจ้าของเรื่อง ลงนามตั้งต้นได้ครับ แต่ ที่ถูกต้องก็ต้องให้หัวหน้าตามลำดับ ลงนาม(อาจลงความเห็นด้วย)ต่อท้าย หรือด้านริมซ้าย ไปตามลำดับ จนถึงผู้บริหารที่เสนอ
             ถ้าเจ้าของเรื่องลงนามแล้วเสนอตรงถึง ผอ.กศน.เขต โดยไม่ผ่านหัวหน้าตามลำดับ ก็เป็นอำนาจของ ผอ.กศน.อำเภอ/เขต จะอนุโลมหรือไม่อย่างไร
             ปกติก็จะให้ผ่านหัวหน้าหรือผู้ทำการแทนหัวหน้าตามลำดับ หลายแห่งให้ผ่านหัวหน้าฝ่าย/กลุ่มงานใน กศน.อำเภอ/เขต อีกด้วย เว้นแต่จะไม่ใช่เรื่องงานประจำ เช่นบันทึกแจ้งร้องเรียนกล่าวโทษหัวหน้า
             ผอ.กศน.อำเภอ/เขตบางแห่งก็อาจกำหนดให้หัวหน้า กศน.ตำบล/แขวง เป็นผู้ลงนามตั้งต้นเลย
             สรุปว่า หนังสือภายใน ผู้บริหารหน่วยงานนั้นมีอำนาจอนุโลมกำหนดรายละเอียด
             ( ตำบลที่มีครู กศน.ตำบลมากกว่า 1 คน ก็มีปัญหาอีกแบบเนอะ  ดูคำตอบเดิมของผมในข้อ 3 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/02/dmis.html )


         3. วันที่ 11 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชการ ถ้าบิดามารดาเสียชีวิตสามารถใส่เครื่องชุดขาวในวันเผาศพได้ไหมค่ะ
             ผมตอบว่า  ใส่ในโอกาสพระราชทานเพลิงศพใช่ไหม ถ้าพระราชทานเพลิงศพ พนักงานราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาวไว้ทุกข์ ( สวมปลอกแขนดำ ) ได้

         4. วันเดียวกัน (11 ก.ย.) มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ผมในเฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชาการเกิดหลังปีงบประมาณต่ออีกหรือไม่ค่ะ

             ผมตอบว่า   ลักษณะเดียวกับข้าราชการเกษียณครับ ถ้าเกิดหลังวันที่ 1 ต.ค.ก็ทำสัญญาจ้างได้ถึง 30 ก.ย.ปีถัดไป ( ไม่ใช่ทำสัญญา 4 ปี )

         5. วันที่ 12 ก.ย.62 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ “เมืองนักอ่าน 2560” ว่า รบกวนถามหน่อยค่ะ ถ้านศ.บริจาคอวัยวะและดวงตาเมื่อเดือนม.ค.62 จะขอกพช.เทอมนี้ได้ไหมคะ

             ผมร่วมตอบว่า   เรื่องนี้ขออธิบายยาวหน่อยนะ ดังนี้
             1)  กพช.ตามหลักสูตร กศน.51 กับ 31 แตกต่างกัน

                  - หลักสูตร 31 ให้ “หน่วยกิจกรรม” ตามความสำคัญ/ประโยชน์/ความยากของกิจกรรม ( ม.ต้น 41 หน่วยกิจกรรม, ม.ปลาย 48 หน่วยกิจกรรม )
                  - หลักสูตร 51 ให้ “ชั่วโมง” กพช. ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ “กิจกรรม” นั้น ( ระดับละ 200 ชั่วโมง ไม่ต้องมีคณะกรรมการมาพิจารณาจำนวนหน่วยกิจกรรม แต่เรายังหลงยึดติดกับหลักสูตร 31 )
                  ปกติ กพช. ต้องเป็น “กิจกรรม”
                  แต่การบริจาคอวัยวะและดวงตา ใช้เวลาบริจาคถึงชั่วโมงไหม จะให้จำนวนชั่วโมง กพช.กี่ชั่วโมง ?
             2)  การทำ กพช.ในช่วงที่ขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา กศน.แล้ว นักศึกษาต้องเสนอโครงการก่อนทำ
                  ถ้าทำก่อนขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษา ก็ให้ใช้วิธีเทียบโอน กพช.
                  คำถามนี้ระบุว่าทำในช่วงขึ้นทะเบียนเป็น นศ.แล้ว แต่ไม่ได้เสนอก่อนทำ
             จากคำถามนี้ จึงไม่ถูกต้องทั้ง 2 ข้อ แต่ ถ้าจะอนุโลมให้ “ตามที่ผู้บริหารเห็นสมควร” ก็คงไม่เสียหายมั้งครับ จัดไป “ตามที่ผู้บริหารเห็นสมควร” ครับ
             แต่ผมว่าควรทำความเข้าใจกับครูและนักศึกษาเรื่อง กพช.ให้ถูกต้อง มีกิจกรรม กพช.ดี ๆ ให้เลือกอีกมาก ครั้งต่อไปทำให้ถูกจะได้สบายใจ

         6. เย็นวันที่ 12 ก.ย.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  พนักงานราชการแต่งเครื่องแบบปกติขาวในพิธีหมั่นช่วงเช้าของการแต่งงานได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้ายังเป็นพนักงานราชการก็มีสิทธิแต่งเครื่องแบบครับ ในพิธีหมั้น พิธีแต่งงาน พิธีรับปริญญาแต่งชุดขาวใต้เสื้อครุย ก็แต่งได้

         7. วันที่ 13 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์โอเพนแช็ท กลุ่ม กศน. ห้องข่าวสารครูเอกชัย ว่า  สอบถามผู้รู้ นักศึกษาเรียนจบ กศน.ม.ปลาย แล้วแต่อยากลงสมัครเรียน ม.ปลายอีก เพื่อเก็บหน่วยกิต (รายวิชาวิทยาศาสตร์) เพิ่มเติม สมัครเรียนต่อ มหาวิทยาลัยในคณะ พยาบาลศาสตร์ ได้หรือไม่ อย่างไร

             ผมตอบว่า   เรียนเพิ่มเติมได้ในวิชาที่ยังไม่เคยเรียนผ่านได้เกรด 1 ขึ้นไป โดย
             - ตอนที่ลงทะเบียนเรียน ในช่อง "ประเภท" ด้านล่าง ( เมนู 1-3-1 ในโปรแกรม ITw ) ให้เลือกเป็น "9. เรียนเพิ่มเติมหลังจบ"
             - เมื่อจะออกหลักฐานการเรียน ให้เข้าไปที่เมนู 1-1-5 ( แก้ไขข้อมูลการจบ/ออก )
                ในช่อง "สาเหตุที่จบ/ออก" ให้เลือก "6. ศึกษาเพิ่มเติมหลังเรียนจบ" และใช้ใบ รบ. ออกตามปกติ
             ซึ่งจะได้ใบ รบ.ใบใหม่ที่มีแต่วิชาที่เรียนเพิ่มเติม นำไปใช้ควบคุู่กับใบ รบ.เดิม ใช้เกรดเฉลี่ยจากใบ รบ.เดิม ( การเรียนเพิ่มเติมหลังจบจะไม่เปลี่ยนเกรดเฉลี่ยนะ )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย