วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2562

1.การวัดผลประเมินผลวิชาเลือกเสรี ไม่ได้ให้จังหวัดออกข้อสอบ, 2.ชื่อเต็ม สำนักงาน กศน.ที่เป็นภาษาอังกฤษ ทำไมมีคำไม่ครบตามชื่อเต็มภาษาไทย ?, 3.การกู้น่ะไม่ผิดหรอก แต่...., 4.อยากจะถามหลายเรื่อง แต่น้ำท่วมปากคะ, 5.หลักสูตรเถื่อน, 6.การจ้างตำรวจรักษาความปลอดภัยสนามสอบปลายภาค, 7.ขอระเบียบค่าตอบแทนคณะกรรมการดำเนินการสอบ กศน.+ กรอกคะแนนรวมใน กศน.4 ใช้หมึกสีอะไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันที่ 4 มี.ค.62 Jittamas Chatwicha ผอ.กศน.อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีหนังสือสั่งการฉบับหนึ่ง ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมาที่ระบุว่าให้สถานศึกษาจัดทำข้อสอบและกำหนดตารางสอบรายวิชาเลือกเอง  อาจารย์มีหนังสือมั๊ยคะ เคยเห็นแต่ไม่ทราบเอาไว้ไหน พอดีย้ายที่ทำงานค่ะ

             ผมตอบว่า   มีนโยบาย 2 นโยบาย ที่ต่างกัน ดังนี้
             1)  นโยบายเดิม การจัดสอบปลายภาควิชาเลือก ให้อยู่ในความดูแลของจังหวัด โดยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด เช่น ถ้ามีวิชาเลือกวิชาเดียวกัน 2 อำเภอขึ้นไป ต้องสอบในเวลาและเครื่องมือเดียวกัน ( ถ้าวิชาเลือกใดมีเพียงอำเภอเดียวจึงอนุโลมให้อำเภอนั้นดำเนินการเอง )
             ดูหนังสือแจ้งได้ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร 51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 210 ( ย่อหน้าที่ 3 ของหนังสือที่ ศธ 0210.03/1164 ลว.26 มี.ค.53 )
             2)  นโยบายใหม่ ตั้งแต่มีโปรแกรมการเรียนรู้ มีวิชาเลือกเสรี ซึ่งอาจมีวิชาเลือกเสรีเป็นร้อยเป็นพันวิชาตามบริบทของแต่ละอำเภอ มีการแจ้งในที่ประชุมอบรมตั้งแต่สมัยท่านเลขาฯสุรพงษ์ ว่า การประเมินผลวิชาเลือกเสรีให้เป็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละสถานศึกษา ซึ่งบางวิชาอาจไม่ต้องสอบแต่ประเมินจากโครงงาน หรือสอบอัตนัยข้อเดียว ฯลฯ

             แต่ หลังจากผมตอบไปแล้ว ท่าน ผอ.กศน.อ.จัตุรัส ได้ส่งหนังสื่อแจ้งฉบับที่ว่า การวัดผลประเมินผลวิชาเลือกเสรีให้สถานศึกษาดำเนินการเอง ไม่ได้ให้จังหวัดออกข้อสอบ มาให้ผม ตามหนังสือในภาพประกอบโพสต์นี้
             ( กศน.อำเภอ อาจจะขอให้ กศน.จังหวัด ดูแลเรื่องออกข้อสอบวิชาเลือกเสรีในวิชาใดให้ด้วย ก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของทุกฝ่าย )


 




         2. ชื่อเต็มของ สำนักงาน กศน. ที่เป็นชื่อเต็มภาษาไทย กับชื่อเต็มภาษาอังกฤษ จะแตกต่างกันโดย มีคำหนึ่งในชื่อเต็มภาษาไทย ที่ไม่มีในชื่อเต็มภาษาอังกฤษ
             ถามว่า  คำนี้คืออะไร และ ทำไมจึงไม่มีคำนี้ในชื่อภาษาอังกฤษ ?

             เฉลยคำตอบ..
             ท่าน ผชช.ปาริชาติ เย็นใจ ซึ่งเป็นผู้กำหนดชื่อเต็มสำนักงาน กศน.เป็นภาษาอังกฤษ บอกว่า
             ชื่อเต็มภาษาไทยมีคำว่า ส่งเสริม แต่เราทั้งจัด ส่งเสริม และสนับสนุนให้ผู้อื่นจัดด้วย
             เวลาใช้ชื่อภาษาอังกฤษ จึงตัดคำว่า ส่งเสริม (promotion) เพราะ กลัวฝรั่งจะสับสนว่าเราส่งเสริมอย่างเดียว ไม่ได้จัดเอง ต้องการเน้นสาระสำคัญของคำว่า Non-Formal และ Informal ( การส่งเสริม เป็นเพียงวิธีการหนึ่งของการทำงาน ) โดยใช้ว่า Office of the Non-Formal and Informal Education
             และเปลี่ยนมาใช้อักษรย่อภาษาอังกฤษ เป็น ONIE ย่อจากชื่อเต็มภาษาอังกฤษ ตาม พรบ.กศน.51 แทนอักษรย่อ NFE เดิม

         3. วันที่ 5 มี.ค.62 มีผู้โพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่า  รู้ยังท่านที่กู้เงินฌาปณกิจสงค์เคราะห์ครู ดอกเบี่ยมันสูงกว่าต้น เงินต้นล้านสอง ดอกเบี่ยหนึ่งล้านห้าแสนบวกค่าศพรายเดือนเฉลี่ยเดือนละห้าร้อยบาทส่งยาวสามสิบปีเราต้องจ่ายทั้งสิ้นสองล้านแปดแสนแปดหมื่นบาท ต้องมีอาชีพเสริมเพิ่มเพราะค่าครองชีพปัจุบันมันสูงมากน้ำมันก็แพงเงินเดือนครูใช้เดือนชนเดือนแทบจะติดลบ สู้ไปครับคุณครูสู้ๆผมคิดถูกที่ไม่กู้ครับสบายๆชิวๆ

             ผมร่วมแสดงความคิดเห็น ว่า
             ครับคิดถูกที่ไม่กู้ ข้อมูลนี้ทุกคนรู้ก่อนกู้ ไม่มีใครบังคับให้กู้ ถ้ากู้เป็นล้านก็ต้องเป็นอย่างนี้เป็นปกติ
             เชื่อหรือไม่ เมื่อหลายปีก่อน ดอกเบี้ยเงินฝากเผื่อเรียก ร้อยละ 5 ฝากประจำร้อยละ 8 ดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 11-15 ครูคนไหนกู้สหกรณ์ครู 7-8 หมื่น ก็เป็นที่ฮือฮาแล้ว
             แต่สมัยนี้กู้กันคนละตั้ง 7-8 แสน แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำลงมาก แต่เมื่อเงินต้นมากดอกเบี้ยก็มากเป็นปกติธรรมด๊าธรรมดา ยิ่งส่งเงินต้นน้อย ส่งยาวนาน ดอกเบี้ยก็ยาวเป็นปกติธรรมด๊าธรรมดา
             ทุกคนรู้ข้อมูลก่อนกู้แล้ว ไม่มีใครบังคับให้กู้ ไม่มีการแอบแก้สัญญาขึ้นดอกเบี้ยหลังกู้
             การกู้น่ะไม่ผิดหรอก โดยเฉพาะกู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ถ้าครูคนไหนกู้ได้เงินเข้ากระเป๋าแล้ว กู้มากเงินเดือนเหลือไม่พอ จึงบ่นว่าดอกเบี้ยแพง แบบนี้จะแย่มากนะคุณ "ครู" เอ๋ย
             สังคมควรส่งเสริมคนที่อยู่อย่างพอเพียง ดีกว่าช่วยเหลือคนที่ทำอะไรเกินตัว

         4. วันเดียวกัน ( 5 มี.ค.) มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             อยากจะถามหลายเรื่อง แต่น้ำท่วมปากคะ การจัดโครงการอาชีพระยะสั้น สามารถทำในช่วงนี้ผิดระเบียบมั้ยค่ะ แค่สงสัยค่ะ ถ้ามีการจัดโครงการต่างๆของโครงการกศน.ต้องมีการคืนงบใช่หรือไม่ อยากทราบระเบียบค่ะ ศึกษาไว้นะคะ ถ้ามีการจัดไม่ทันตามแผนที่วางไว้ที่เสนอไว้ต้นเทอม

             ผมตอบว่า   เรื่องที่ว่า "ต้องทำในช่วงไหน ถ้าจัดไม่ทันตามแผนต้องมีการคืนงบใช่หรือไม่" นั้น แล้วแต่นโยบายการบริหารของแต่ละจังหวัด แต่ละอำเภอ ครับ
             สำหรับรัฐบาลและส่วนกลางนั้น เร่งรัดให้จัดและเร่งเบิกจ่ายเงิน แต่ถ้ายังไม่ถึงปลายปีงบประมาณก็ยังไม่ต้องส่งคืนส่วนกลาง ( แล้วแต่งบด้วย ถ้าเป็นงบลงทุนยิ่งเร่งรัดมาก )
             แต่การบริหารของบางจังหวัด ถ้าเห็นว่าอำเภอไหนจัดช้า ถ้าไม่เร่งแก้ไข ปลายปีอาจแก้ไม่ทัน เขาอาจจะนำเงินคืนจากอำเภอนั้นไปให้อำเภออื่นที่จะจัดได้ทัน เพื่อภาพรวมทั้งจังหวัดไม่เสียหาย ก็ได้

         5. หลักสูตรเกี่ยวกับการบริการสุขภาพ เช่น วิชานวดแผนไทย เป็นต้น ถ้า กศน.คิดหลักสูตรขึ้นมาเองแล้วเปิดสอนเลย จะเป็นหลักสูตรเถื่อน ( ตามหนังสือในภาพประกอบโพสต์นี้ ) ซึ่งเกิดปัญหาโดน รมว.ด่า มาแล้ว






         6. วันที่ 5 มี.ค.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ( ผมเพิ่งเห็นคำถามในวันถัดมา ) ว่า  อ.ค่ะ ขอความอนุเคราะห์ สอบถามเรื่องการจ้างตำรวจมารักษาความปลอดภัยของสนามสอบค่ะ

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้ เป็นนโยบายสำนักงาน กศน.ให้มีมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสนามสอบ ตามหนังสือแจ้งในภาพประกอบโพสต์นี้
             แต่ ไม่มีระเบียบรองรับให้ “จ้าง” จนท.รักษาความปลอดภัยสนามสอบ
             ในหนังสือสำนักงาน กศน.ก็ระบุให้ “ประสานขอความอนุเคราะห์” จากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่
             ซึ่งก็มีหลายแห่ง “ประสานขอความอนุเคราะห์” ตามนโยบาย
             อย่างไรก็ตาม บางแห่ง ถ้าประสานขอความอนุเคราะห์โดยไม่ต้องจ้าง ไม่ได้ ก็แต่งตั้งให้ จนท.ตำรวจเป็นกรรมการดำเนินการสอบ และเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้ตามเกณฑ์กรรมการดำเนินการสอบได้
             บางแห่งแต่งตั้งเป็น "กรรมการกลาง" ( ถ้าจำนวนห้องสอบมาก จะแต่งตั้งกรรมการกลางได้มาก การแต่งตั้งตำรวจเป็นกรรมการกลางจึงไม่กระทบกับการแต่งตั้งคนอื่น )
             บางแห่งมีจำนวนห้องสอบน้อยตั้งกรรมการกลางได้น้อย ไม่เหมาะที่จะแต่งตั้งตำรวจร่วมเป็นกรรมการกลาง  เช่นตอนผม รก.ผอ.กศน.อ.ผักไห่ นายทะเบียนเขาคิด/ดำเนินการ เสนอแต่งตั้งตำรวจ 2 นาย มาเป็น "กรรมการคุมห้องสอบ" ผมก็เห็นว่าไม่ผิด
             กรรมการดำเนินการสอบปลายภาคต้องเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือพนักงานราชการ ที่ยังไม่เกษียณ ( สังกัดอื่นก็อนุโลมได้ )  ถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ ต้องเป็น “ครู” ที่สังกัด กศน. ( ครู ศรช. ครู ปวช. ครูสอนคนพิการ-เด็กเร่ร่อน ฯลฯ ที่ชื่อตำแหน่งมีคำว่าครู ) แต่นโยบายเรา ไม่ให้ครู กศน.คุมสอบ นศ.“กลุ่มของตนเอง” นะ
             ( การตั้งกรรมการดำเนินการสอบมีเกณฑ์กำหนดจำนวนคนตามจำนวนห้องสอบ  รวมกรรมการดำเนินการสอบทั้งหมดต้องตั้งไม่เกินเกณฑ์ )






         7. หลังจากที่ผมเผยแพร่คำตอบเรื่องการจ้างตำรวจรักษาความปลอดภัยสนามสอบปลายภาค ไปในไลน์แล้ว มีผู้ถามผมในไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. อีก 2 คำถาม คือ

             7.1  ขอระเบียบค่าตอบแทนคณะกรรมการดำเนินการสอบ กศน.
                   ผมตอบว่า  ดูในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/481090

             7.2  ขอสอบถามระเบียบ การกรอกคะแนน ใน กศน.4 ค่ะ กำหนดไหมค่ะว่าช่องคะแนนรวมให้ใช้หมึกสีแดง คือเคยแต่ใช้หมึกแดงลง ขส. มส. 0
                   ผมตอบว่า  เรื่อง กศน.4 มีอธิบายในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร 51 ฉบับปรับปรูง 55 ปกสีเลือดหมู หน้า 79-80 ข้อ 2.1 (2.1.1-2.1.3) ซึ่งไม่ได้กำหนดบังคับสีหมึกที่ใช้ในการกรอก

             ( กลุ่มไลน์สแควร์ กศน. รับสมาชิกกลุ่มเฉพาะบุคลากร กศน. ไม่รวมนักศึกษา ปัจจุบันมีสมาชิกพันกว่าคน สื่อสารถามตอบกันในเรื่องวงใน กศน.
               ใครสนใจจะเข้ากลุ่มนี้ ขอให้แจ้งขอเข้ากลุ่มโดยบอกทั้ง ตำแหน่ง และ สังกัด “ที่ชัดเจน” เช่น “ครูอาสาสมัคร กศน.อ.หนองหูลิง” ไปที่ผู้เป็นสมาชิกกลุ่มอยู่แล้ว หรือที่ "อินบ็อกซ์ กล่องข้อความ" ในเฟซบุ๊กของผมก็ได้ จะส่งลิ้งค์หรือ QR-code สำหรับเข้ากลุ่มให้ที่อินบ็อกซ์ แต่จะไม่แจ้งลิ้งค์หรือ QR-code ที่นี่ เพราะ นศ.และผู้ที่ไม่ได้สังกัด กศน.จะเห็นและเข้ากลุ่มไปได้ด้วย )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย