วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2563

1.ครูผู้ช่วยบรรจุใหม่ ป่วยเป็นมะเร็ง ขอย้ายกรณีพิเศษ-ย้ายสับเปลี่ยน ได้ไหม?, 2.เครื่องแบบพนักงานราชการ สป.ศธ.(กศน.), 3.การสะสมวันลาพักผ่อน, 4.ห้องสมุดฯรับเงินค่าฝากรถ ผิดไหม, 5.ลาออกจากพนักงานราชการแล้ว ถามเรื่องคืนเครื่องราชฯ, 6.ขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารแล้ว จะส่งใบมาตามที่อยู่หรือที่ กศน., 7.ย้ายสถานศึกษา ต้องสอบ N-NET(E-Exam) ใหม่

 สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 19 ต.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็นครูผู้ช่วย กศน. รอบพิเศษ ขอเรียนถามอาจารย์
             คำถามที่ 1 ป่วยเป็นมะเร็งไทรอยด์ ผ่าตัดมาแล้ว 2 ครั้งจะสามารถขอย้ายกรณีพิเศษได้ไหม
             คำถามที่ 2 จะขอสับเปลี่ยนกับครูผู้ช่วยที่มีเอกเดียวกันได้ไหม

             ผมตอบว่า   การขอย้ายสับเปลี่ยน ( การย้ายกรณีปกติ ) ยังขอย้ายไม่ได้ ( การขอย้ายสับเปลี่ยนของ กศน. ไม่ต้องเป็นเอกเดียวกัน )
             ส่วนการย้ายเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง ( การย้ายกรณีพิเศษ ) ต้องเป็นผู้เจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้ายแรงที่ต้องรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และแพทย์แผนปัจจุบันในท้องถิ่นไม่สามารถรักษาได้ ซึ่งมีหลักฐานทางการแพทย์แผนปัจจุบันรับรอง
             ลองยื่นหลักฐานให้ส่วนกลางพิจารณานะ

         2. วันที่ 26 ต.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หนูเป็นครู กศน.ตำบลค่ะ อยากสอบถามเรื่องเครื่องแบบของพนักงานราชการครูกศน.ที่ถูกต้องและปัจจุบัน

             ผมตอบว่า   เครื่องแบบปกติใช่ไหม ดูจากประกาศฯที่  https://drive.google.com/file/d/1foMzLLNMp4U7ty2YyXjChQddTVUCcL2z/view?usp=sharing 
             หรือ  https://bit.ly/35xPQi3
             และ ดูภาพประกอบโพสต์นี้

 



 

         3. เช้าวันที่ 16 พ.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  วันพักร้อนของพนักงานราชการ พักได้ 10 ถ้าเลยเก็บไว้ปีถัดไป แล้วปีถัดไปใช่หมด 10 วัน แต่ยังมีที่สะสม เหลือ 2 วันจะใช่ 2 วันที่เหลือได้ไหมค่ะ
             ปีที่ 1 ลา 5 วัน
             ปีที่ 2 ลา 13 วัน
             ปีที่ 3 ลา 12 วัน ได้ไหมค่ะ

             ผมตอบว่า   ได้
             ( ตามระเบียบใช้คำว่าลาพักผ่อน ไม่ใช่ลาพักร้อน เพราะลาได้ทุกฤดู) พนักงานราชการลาพักผ่อนได้ปีละ 10 วัน ปีใดลาไม่หมด ยกวันลาที่เหลือไปรวมกับปีถัดไปได้ไม่เกิน 5 วัน รวมเป็นไม่เกิน 15 วันในปีถัดไป
             ( พนักงานราชการแม้อายุงาน 10 ปีขึ้นไป ก็สะสมได้ไม่เกิน 15 วัน ต่างกับข้าราชการที่ยกไปได้ไม่เกิน 10 วัน รวมเป็นไม่เกิน 20 วัน ถ้าข้าราชการรับราชการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี สะสมรวมไม่เกิน 30 วัน
             ส่วนชายแดนใต้ลาได้ปีละ 20 วัน สะสมปีถัดไปรวมไม่เกิน 30 วัน ถ้ารับราชการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี สะสมรวมไม่เกิน 40 วัน)
             สมมุติว่าปีแรกพนักงานราชการมีสิทธิลา 10 วัน แต่ลาไม่ครบ ถ้าเหลือเกิน 5 วัน ส่วนที่เหลือเกิน 5 วันนั้นจะตัดทิ้งหายขาดไปเลย จะนำวันที่เหลือเกิน 5 วันนั้นไปรวมกับปีใดอีกไม่ได้ เช่น ถ้าปีแรกมีสิทธิลา 10 วัน และ
             - ถ้าปีแรกลา 0-5 วัน ปีต่อไปจะมีสิทธิลา 15 วัน
             - ถ้าปีแรกลา 6 วัน ปีต่อไปจะมีสิทธิลา 14 วัน

             - ถ้าปีแรกลา 0-5 วัน ปีที่สองลา 15 วัน ปีที่สามจะมีสิทธิลา 10 วัน
             - ถ้าปีแรกลา 0 วัน ปีที่สองลา 0 วัน ปีที่สามจะมีสิทธิลา 15 วัน
             - ถ้าปีแรกลา 0 วัน ปีที่สองลา 15 วัน ปีที่สามจะมีสิทธิลา 10 วัน


 

         4. ดึกวันเสาร์ที่ 28 พ.ย.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ห้องสมุดเฉลิมราชกุมารี รับฝากรถ ของผู้มาเที่ยวงานประจำปี ของจังหวัด โดยรับฝากนอกเวลาราชการ และให้ ครู กศน.เป็น ผู้รับฝาก มีความผิดไหม โดยเงิน จะนำเข้า รายได้สถานศึกษา และ ผอ.จังหวัด อนุญาต ให้ รับฝากรถได้

             ผมตอบว่า   ก็ไม่มีความผิดนะ แต่ควรมีระเบียบหลักเกณฑ์อัตราการเก็บเงินรองรับ และการรับเงินรายได้สถานศึกษาต้องออกใบเสร็จราชการ


 

         5. เย็นวันอาทิตย์ที่ 6 ธ.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ในกรณีที่เราเป็นพนักงานราชการ ได้รับเครื่องราช แล่วลาออก ไม่ทำงานที่ไหนอีกแล้ว ต้องทำอย่างรัยกับเครื่องราชค่ะ เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย   แล้วพ่อเสีย พี่สาวรับราชการเลยขอพระราชทานเพลิงให้พ่อ แล้วให้ดิฉันอ่านประวัติ เราจะต้องใส่ชุดขาวมั๊ยคะ

             ผมตอบว่า
             1)  ปกติยังสามารถเก็บเหรียญตราชั้นสูงสุดของแต่ละตระกูลไว้ต่อไปได้จนเสียชีวิต นำไปโชว์ในงานศพก็ได้ เสร็จแล้วตามหลักกฎหมายทายาทต้องรับผิดชอบส่งคืน ทายาทตามกฎหมายจะบอกว่าไม่รับรู้ไม่ได้ ถ้าหาไม่พบทายาทก็ต้องชดใช้เป็นเงิน
                  จึงเป็นภาระกับทายาท ดังนั้นพอเกษียณหรือลาออกไม่รับราชการอีกแล้ว หลายคนก็มักจะส่งคืนกันเองให้เสร็จไปเลย
                  คุณไม่ได้บอกว่าตอนเป็นพนักงานราชการนั้นสังกัด กศน.หรือไม่ ถ้าใช่ก็ลองไปส่งคืนที่ สนง.กศน.จังหวัด
             2)  คนอ่านประวัติผู้วายชนม์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดปกติขาว โดยเฉพาะคุณถ้าลาออกแล้วและเป็นสตรี จะใส่ชุดปกติขาวไม่ได้แล้ว
                  พนักงานราชการที่ลาออกแล้วจะใส่ชุดปกติขาวไม่ได้ ถ้าเป็นบุรุษยังใส่ชุดขาวที่เป็นเครื่องแบบขอเฝ้า(ไม่ใช่เครื่องแบบปกติขาว)ได้ แต่สตรีไม่มีชุดขอเฝ้าที่คล้ายเครื่องแบบปกติขาว

         6. คืนวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ตอนนี้ทำเรื่องผ่อนผันแล้วคับ แล้วใบที่ทางอำเภอที่ต้องไปเกณฑ์ทหารเค้าจะส่งใบมาตามที่อยู่หรือส่งมาที่กศนหรอคับ

             ผมตอบว่า   กศน.จังหวัด จะแจ้งไปที่ กศน.อำเภอ ตามลักษณะหนังสือในภาพประกอบโพสต์นี้
             คุณก็ไปแสดงตัวตาม วัน-เวลา-สถานที่ ที่ระบุใน สด.35


 

         7. เย็นวันที่ 18 ธ.ค.63 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  หนูเรียนกศน.การศึกษาทางไกล ระบบเทียบโอน ม.ปลาย หนูจะจบเทอมนี้ (เทียบโอนเพราะหนูเคยเรียนกศนอีกที่มาก่อน แล้วไม่สะดวกเลยย้ายไปเรียนทางไกล) พอหนูจะจบหนูเก็บกพชครบหมดแล้ว หนูสอบถามว่าหนูต้องสอบ N-net อีกรอบไหม (เพราะหนูเคยสอบจากที่กศนเก่ามาแล้ว ใช้ผลข้อสอบเก่าได้ไหม) ติดต่อฝ่ายทะเบียนแจ้งว่าได้ (สอบถามก่อนมีการสอบn-netรอบล่าสุด) หนูมีผลสอบพร้อมชื่ออยู่ในเว็บ n-net เมื่อครั้งที่เคยเรียน กศนที่เก่า)
         พอมาวันนี้หนูไปทำเรื่องจบ เขากลับมาบอกว่า ผลสอบn-nEt ของปีเก่าใช้ไม่ได้ เพราะว่าเขาเพิ่งมาเปลี่ยนระบบหลังจากมีการสอบn-net รอบล่าสุดว่าไม่ให้ใช้ผลสอบเก่า

         ผมตอบว่า   ใช่ครับ มีหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 26 ต.ค.63 ว่า ถ้าลาออกและสมัครใหม่ ( การย้ายสถานศึกษาก็ต้องลาออกและสมัครใหม่ ) ไม่สามารถใช้ผลสอบ N-NET เก่า ต้องสอบใหม่
         ( ไม่ใช่สอบ N-NET แบบเดิมใหม่นะ แต่ให้สอบ E-Exam แทน )



 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย