วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2561

1.พนักงานราชการหญิงใส่เสื้อคอแบะปล่อยเอวติดอินทรธนู ผิดไหม, 2.การลงโทษผู้เข้าสอบ, 3.ไม่ได้แจ้งให้เบิกต้นสังกัด เบิกได้ไหม, 4.ครู ศรช.รับค่าคุมสอบได้วันเดียวใช่ไหม-ตำนานค่าคุมสอบ, 5.ด่วน.. เปลี่ยนแปลงอัตราการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนใหม่ ตั้งแต่ 20 มี.ค.61, 6.การขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา, 7.ชพค.-ชพส.หักส่วนกลางอย่างไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 14 มี.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบล็อกเฟซบุ๊ก ว่า  การแต่งกายชุดผู้หญิงสีกากี ของพนักงานราชการ ครู กศน.ตำบล แบบคอแบะปล่อยเอว ต้องใส่อินทนูไหม มีคนว่าแต่งกายผิดระเบียบค่ะ

             ผมตอบว่า   เครื่องแบบพนักงานราชการ กศน.สีกากี ติดอินทรธนู 2 ขีด ( ถ้าติด 3 ขีดผิด )
             ระเบียบเครื่องแบบพนักงานราชการ กศน.สีกากี หญิง จะมีเสื้อ 2 แบบ คือแบบคอตั้ง กับแบบคอแบะปล่อยเอว ติดอินทรธนูได้ทั้ง 2 แบบ  แต่ของ ชาย จะมีเสื้อแบบคอตั้งเพียงแบบเดียว
             ดูระเบียบได้ที่  
https://www.dropbox.com/s/4c70t0n8ldwv6mx/formPRGnfe.pdf?dl=1

         2. เช้าวันเสาร์ที่ 17 มี.ค.61 มีผู้โพสต์ภาพประกาศ ในกลุ่มไลน์แชร์เข้มกศน. ว่า  ผู้ให้ผู้อื่นมาสอบ และผู้มาสอบแทน มีความผิด จำคุก 1 ปี 6 เดือน





             ผมเห็นว่าน่าสนใจ เป็นการป้องปรามไม่ให้มีการทุจริต เพื่อคุณภาพการศึกษา แต่ผมก็สงสัยอยากรู้ จึงถามว่า ใช้กฎหมายใดมาตราไหน
             ผู้โพสต์ไม่ได้ตอบ แต่มีผู้อื่นนำ
            
- ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการปฏิบัติของผู้เข้าสอบ พ.ศ. 2548 กับ
            
- ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548
             มาโพสต์
             ผมบอกว่า ถูกต้อง การลงโทษผู้เข้าสอบของเรา ที่ทำความผิด ต้องยึดระเบียบ
2 ฉบับนี้เป็นหลัก
             สถานศึกษาอาจจะกำหนดรายละเอียดการลงโทษไว้ในระเบียบสถานศึกษาอีกก็ได้ แต่จะกำหนดเกินอำนาจของ ผอ.สถานศึกษา เช่นให้จำคุก ไม่ได้

             ส่วนกรณี การลงโทษกรรมการดำเนินการสอบที่บกพร่อง/รู้เห็นการทุจริต ต้องอาศัยระเบียบกระทรวงอีกฉบับที่เกี่ยวกับการคุมสอบ ซึ่งให้ลงโทษทางวินัย ด้วยเหตุนี้ท่านอดีต ผอ.กจ.กศน.จึงสรุปว่าการแต่งตั้งกรรมการคุมสอบต้องแต่งตั้งบุคคลที่ทางราชการสามารถลงโทษได้ คือมีหน่วยราชการเป็นต้นสังกัด จะแต่งตั้งชาวบ้านทั่วไปไม่ได้ แม้แต่ผู้รับบำนาญก็ตั้งไม่ได้เพราะพ้นจากราชการแล้วต้นสังกัดเดิมสั่งลงโทษผู้รับบำนาญไม่ได้แล้ว ถ้าผู้รับบำนาญทำความผิดก็เป็นเรื่องของกฎหมายบ้านเมือง เว้นแต่จะทำความผิดไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณจึงจะสามารถลงโทษย้อนหลังแม้เกษียณแล้วได้

         3. คืนวันเสาร์ที่ 17 มี.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  จังหวัดมีหนังสือให้ไปประชุมที่จังหวัดแต่ในหนังสือไม่ได้บอกว่าให้เบิกจ่ายค่าเดินทางไปราชการ เราสามารถเบิกจ่ายค่าเดินทางไปราชการได้ไหม

             ผมตอบว่า   ถ้าเป็นการ "เดินทางไปราชการ" นอกรั้วสำนักงาน ก็สามารถเบิกจ่ายค่าเดินทางได้ ถ้า
             ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปราชการ+รวมเวลาเดินทางครบตามเกณฑ์+มีงบให้เบิก+ผู้บริหารอนุมัติให้เบิก

         4. คืนวันที่ 16 มี.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนคุมสอบปลายภาคครู.ศรช. ในวันที่17-18มีนาคมนี้ ครู.ศรช.สามารถรับค่าตอบแทนได้แค่วันเดียวคือวันที่17..ใช่ไหม ส่วนวันที่18จะไม่ได้รับเนื่องจากเปนวันปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างเหมา

             ผมตอบว่า   เสิร์ชหาดูในที่ผมเคยโพสต์แล้วนะ
             ผมเพิ่งโพสต์เมื่อต้นเดือนนี้เองว่า
ถ้าบุคลากรสังกัด กศน.ดำเนินการสอบนอกวันราชการของเขาก็เบิกได้เต็ม
             ผมโพสต์มีคำว่า
เต็มด้วย เพราะผมยังติดกับตำนานค่าคุมสอบ คือเราเคยใช้ระเบียบกระทรวงการคลังปี 2534 ซึ่งกำหนดอัตราค่าคุมสอบในวันทำงาน เบิกได้ครึ่งหนึ่งของอัตราค่าคุมสอบในวันหยุด ( ระเบียบกระทรวงการคลังนี้ แม้จะคุมสอบในวันทำงานก็เบิกได้นะ แต่เบิกได้ไม่เต็ม ผมติดคำว่า เต็ม มาจากระเบียบนี้ )

             ที่มาที่ไปของค่าคุมสอบคือ กระทรวงการคลังไม่ได้ออกระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินเกี่ยวกับการสอบปลายภาคไว้โดยเฉพาะ
             ( อาจเป็นเพราะว่าการสอบปลายภาคในโรงเรียนไม่ได้จ่ายเงิน มีแต่ของ กศน. ที่จ่ายเงิน )
             แต่มี
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลเกี่ยวกับการสอบ พ.ศ.2534
             ระเบียบนี้กำหนดไว้ในข้อ 8 ของระเบียบว่า
            
ข้อ 8 เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบให้ได้เงินรางวัล ดังนี้
             (1)  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงในวันทำการปกติวันละ 50 บาท
             (2)  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงในวันทำการปกติวันละ 100 บาท
             (3)  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงในวันหยุดราชการวันละ 100 บาท
             (4)  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงในวันหยุดราชการ วันละ 200 บาท
             ข้าราชการที่ได้รับเงินรางวัลตามวรรคแรก ให้งดเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา

             สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (กรมการศึกษานอกโรงเรียน) จึงขออนุมัติกรมบัญชีกลาง ขอใช้ระเบียบนี้ ในการเบิกจ่ายค่าตอบแทนกรรมการและเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบในการจัดการศึกษานอกโรงเรียนสายสามัญโดยอนุโลม
             เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว กศน. ก็แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดและสถานศึกษาในสังกัด ตามหนังสือที่ ศธ 1106/5409 ลงวันที่ 16 ส.ค. 36 โดยแจ้งเหมือนข้อ 8. ของระเบียบนี้
             ( แต่พวกเรามาดัดแปลงกันเอง เช่นวันหนึ่งสอบ 3 วิชา ถ้าคุมสอบวิชาเดียวจ่าย 100 บาท ถ้าใครคุมสอบสองวิชาขึ้นไปจ่าย 200 บาท ทั้ง ๆ ที่ ในหนังสือ กศน. กำหนดตามข้อ 8. คือระบุจำนวนชั่วโมงไม่ใช่จำนวนวิชา )

             ต่อมา กระทรวงการคลังได้ยกเลิกระเบียบกระทรวงการคลังนี้ และให้ใช้ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนการสอบ พ.ศ.2549แทน
             ระเบียบปี 49 นี้ กำหนดในส่วนของเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบ ไว้ในบัญชีหมายเลข 2 ข้อ 4 ว่า การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย หรือเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบ ให้ได้รับเงินค่าตอบแทน ดังนี้
             4.1  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงในวันทำการปกติ ไม่เกิน 100 บาทต่อวัน
             4.2  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงในวันทำการปกติ ไม่เกิน 200 บาทต่อวัน
             4.3  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมงในวันหยุดราชการ ไม่เกิน 200 บาทต่อวัน
             4.4  ปฏิบัติงานไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงในวันหยุดราชการ ไม่เกิน 400 บาทต่อวัน

             สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (กรมการศึกษานอกโรงเรียน) จึงต้องขออนุมัติกรมบัญชีกลาง อีกครั้ง ขอเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์และอัตราในระเบียบใหม่ คือระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนการสอบ พ.ศ.2549 โดยอนุโลม
             เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว สำนักบริหารงาน กศน. ก็แจ้งสถานศึกษาในสังกัด ตามหนังสือที่ ศธ 0210.117/5749 ลงวันที่ 11 ต.ค.49 ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ )
             เมื่อกระทรวงการคลังออกระเบียบใหม่ปรับเพิ่มอัตรา เราก็ขออนุฒัติใช้ระเบียบใหม่อีก จน กรมบัญชีกลางแจ้งว่า
ให้ส่วนราชการเป็นผู้กำหนดระเบียบภายในได้โดยไม่ต้องขอตกลงกับกระทรวงการคลังสำนักงาน กศน.จึงกำหนดรายการค่าใช้จ่ายเองตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2/52 เป็นต้นมา และแจ้งทุกจังหวัด ตามหนังสือสำนักงาน กศน.ที่ ศธ 0210.117/4514 ลว.3 ธ.ค.52 ( ดูหนังสือฉบับนี้ได้ในข้อ 1 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/481090 )
             รายการค่าใช้จ่ายที่สำนักงาน กศน.กำหนดเองนี้ ไม่พูดถึงการคุมสอบในวันหยุด วันทำงาน แล้ว ( ไม่มีเบิกเต็ม ไม่เต็ม แล้ว )
             เมื่อไม่พูดถึง ก็คงต้องยึดตามหลักของระบบราชการเรา คือ
            
ถ้าบุคลากรสังกัด กศน.ดำเนินการสอบในวันราชการของเขา ก็เบิกไม่ได้
             อย่างไรก็ตาม วันเวลาทำงานของแต่ละคนในหน่วยงานเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ข้าราชการทั่วไปอาจทำงานวันจันทร์-ศุกร์ ส่วนครู กศน.อาจทำงานวันอาทิตย์-พฤหัสบดี หยุดวันศุกร์เสาร์  ( ในช่วงวิกฤติการจราจร เวลาทำงานของบุคลากรใน กทม.บางคนเริ่ม 8.00 น. บางคนเริ่ม 9.00 น. )
             ถ้าวันทำงานของใครเป็นวันอาทิตย์-พฤหัสบดี และเป็นกรรมการดำเนินการสอบวันอาทิตย์ก็เบิกเงินไม่ได้
             แต่บางอำเภอ ระหว่างภาคให้ครู กศน.ทำงานวันอาทิตย์-พฤหัสบดี แต่พอพบกลุ่มวันสุดท้ายเสร็จ ก็เปลี่ยนให้ครู กศน.มาทำงานวันศุกร์ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ทันที แบบนี้การคุมสอบวันอาทิตย์ก็เบิกได้
             แต่ ถ้าในสัญญาจ้าง-คำสั่งจ้าง ที่จังหวัดทำไว้ ระบุไว้ชัดเจนว่าให้ปฏิบัติงานในวันอาทิตย์ด้วย แบบนี้ก็จะเปลี่ยนไม่ได้
             หรือแม้สัญญาจ้าง-คำสั่งจ้าง ระบุไม่ชัดเจน แต่ ผอ.ยังให้หยุดวันศุกร์ทำงานวันอาทิตย์ในช่วงปิดเทอมอยู่เหมือนเดิม ก็เบิกค่าตอบแทนกรรมการดำเนินการสอบวันอาทิตย์ไม่ได้


 



         5. ด่วน.. เปลี่ยนแปลงอัตราการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนใหม่ ตั้งแต่ 20 มี.ค.61
             ดูหนังสือแจ้งที่ 
https://www.dropbox.com/s/7b4k52vjo4xphsv/Udnhun61.pdf?dl=1 
             มีการเปลี่ยนแปลงดังนี้  ( การซื้อการจ้าง ให้ดำเนินการตามระเบียบพัสดุ )
            
1)  เพิ่มรายการอัตราค่าซื้อเครื่องแบบลูกเสือวิสามัญและเครื่องแบบอาสายุวกาชาด สำหรับให้ นศ.ยืมใช้ สถานศึกษาละไม่เกิน 40 ชุด  ( ถ้าชำรุด จำหน่ายจากทะเบียน ตามระเบียบพัสดุ แล้วซื้อทดแทนใหม่ได้ )
                 
- ค่าเครื่องแบบลูกเสือวิสามัญ พร้อมเครื่องหมายประกอบ ชุดละไม่เกิน 1,500 บาท
                 
- ค่าเครื่องแบบอาสายุวกาชาด พร้อมเครื่องหมายประกอบ ชุดละไม่เกิน 400 บาท
            
2)  ค่าใช้สถานที่ ให้พิจารณาสถานที่หน่วยงานของรัฐเป็นอันดับแรก
            
3)  ค่าตอบแทนวิทยากรเป็นคณะ ชม.ละไม่เกิน 1,200 บาท ( เดิมไม่เกิน 600 บาท )
            
4)  ระบุในส่วนของการแข่งขันกีฬาระดับอำเภอ/เขต ดังนี้
                  
- ตัดค่าจ้างเหมายานพาหนะออก
                 
- ตัดค่าพลุ-ดอกไม้ไฟออก ลดค่าใช้จ่ายในพิธีเปิดปิด จากไม่เกิน 30,000 เหลือไม่เกิน 10,000 บาท
                 
- ลดค่าวัสดุและเครื่องแต่งกายขบวนพาเหรด จากไม่เกิน 3,000 เหลือไม่เกิน 1,000 บาท
                  
- ตัดค่าที่พักออก
            
5)  เพิ่มอัตราการเบิก ในการแข่งขันกีฬาระดับจังหวัด และระดับภาคขึ้นไป จำนวนระดับละ 11 รายการ


 



         6. วันที่ 23 มี.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ พวก38ค(2)ในสนง.จังหวัด การขอใบประกอบผู้บริหารฯ มีเกณท์ยังไงบ้างนอกจากจบบริหารการศึกษาที่คุรุสภารับรอง เพราะจากการติดต่อสอบถามจนท.คุรุสภาตอบไม่เคยตรงกันสักที ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและข้อสงสัยในการปฏิบัติ
             จนท.คุรุสภา จะบอกแค่ว่าเราไม่มีหน้าที่สอนไปสอนได้ไง เราบอกช่วยสอนและต้องการความก้าวหน้าในสาขาวิชาชีพเลยต้องทำตามคุณลักษณะที่คุรุสภากำหนด  ครั้งล่าสุดบอกว่าถ้ามีคำสั่งให้เป็นหัวหน้างานฯจะลดลงจาก 7 ปี เหลือ5ปี ต้องสอนต่อเนื่องอย่างต่ำ5ปีการศึกษา  โดยไม่มีอะไรการันตีว่าพอถึง5ปีจาก7ปีแล้วจะเปลี่ยนเกณไปเป็นแบบไหนอีก
             จึงอยากถามในเรื่องนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก้ข้าราชการ38ค(2) ในเรื่องการขอใบประกอบต่างๆที่ทางคุรุสภากำหนด

             ผมตอบว่า   ที่ว่าลดการสอนจาก 7 ปี เหลือ 5 ปี ถ้ามีคำสั่งให้เป็นหัวหน้างาน นั้น คงเข้าใจผิด
             ที่ถูกคือ ไม่ใช่ 7 ปี แต่ให้มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนในสถานศึกษามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
             หรือ
             มีประสบการณ์ด้านปฏิบัติการสอนไม่ครบ 5 ปี + มีประสบการณ์ในตำแหน่งหัวหน้าหมวดหรือหัวหน้าฝ่ายหรือหัวหน้างานหรือตำแหน่งบริหารอื่น ๆ ในสถานศึกษา ( ถ้าเป็นหัวหน้างานที่ สนง.กศน.จังหวัดไม่เกี่ยวนะ เพราะ สนง.กศน.จังหวัดไม่ใช่สถานศึกษา ) มาแล้วไม่น้อยกว่า 24 เดือนใน 3 ปีการศึกษา   หมายถึง ถ้าได้รับแต่งตั้งมอบหมายให้เป็นหัวหน้างานในสถานศึกษารวมไม่น้อยกว่า 24 เดือนใน 3 ปี ก็สอนไม่ครบ 5 ปีก็ได้

             ลองเสิร์ชดูข้อมูลที่ผมเคยโพสต์/ตอบ เช่น ใน
             - ข้อ 6 ที่  
https://www.gotoknow.org/posts/505575
             - ข้อ 4 ที่  
https://www.gotoknow.org/posts/471886
             - ข้อ 3.2 (4) ที่  
https://www.gotoknow.org/posts/476995
             - ข้อ 5.2 ที่  
https://www.gotoknow.org/posts/462139
             และ ดูคู่มือการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ต่าง ๆ ได้ที่
            
https://www.dropbox.com/s/3tik26l2j2ef2y8/ManualEdC.pdf?dl=1

         7. เช้าวันที่ 28 มี.ค.61 ผมนำภาพตัวเลขเงิน ชพค.-ชพส. ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ไปลงในกลุ่มไลน์ต่าง ๆ
ปรากฏว่ามีสมาชิกกลุ่มไลน์ “ขับเคลื่อน พรบ.กศช.” เขียนว่า “ดูแปลกๆ... การหักส่วนกลางมีเกณฑ์อย่างไร เป็นเรื่องต้องรู้ยิ่ง”

             ผมตอบว่า
             - การหักเงินสงเคราะห์รายศพจากสมาชิก หักตามจำนวนผู้เสียชีวิตในงวดเดือนที่ผ่านมา ตัดยอดวันที่ 20 ( งวดที่ผ่านมาคือช่วง 21 ก.พ.-20 มี.ค.) ศพละ 1 บาท เช่น งวดเดือนที่ผ่านมา มีสมาชิก ชพค.เสียชีวิต 495 ศพ ก็หักสมาชิก ชพค.คนละ 495 บาท
             - ส่วนเงินที่ทายาทของ 1 ศพ จะได้รับนั้น จะได้ 96 % ของเงินที่หักได้จากสมาชิก เช่น ณ 20 มี.ค.61 มีจำนวนสมาชิก ชพค.คงเหลือทั้งสิ้น 947,860 คน หักเงินสมาชิกได้ศพละ 947,860 บาท ทายาทจะได้รับ 96 % เป็นเงิน 909,946 บาท เป็นต้น

             - เงินที่หักไว้ 4 % เป็นค่าบริหารจัดการ เช่น เจ้าหน้าที่ ชพค.-ชพส.ของทั้งส่วนกลางและทุกจังหวัด ทุกคนไม่ได้รับเงินเดือน/ค่าจ้างจากเงินงบประมาณนะ เป็นลักษณะเดียวกับสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ทั่วประเทศ แต่ได้เงินเดือน/ค่าจ้างจากเงิน 4 % นี้ นอกจากนั้นเงิน 4 % ยังใช้จ่ายเป็นค่าวัสดุสำนักงาน ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ
             - มีการประกาศ ชื่อ-สกุล-จังหวัด ของสมาชิก ชพค.-ชพส.ที่เสียชีวิตทุกศพ ทุกงวดเดือน ไว้ที่ สนง.คุรุสภาทุกจังหวัด หรือทุกคนดูได้ในเว็บไซต์คุรุสภาที่
                http://www.otep-cpks.go.th/otepcpks/cpk-member-9/





 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย