วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

1.เรียนจบก่อนเด็กในวัยเดียวกันได้ไหม, 2.เรียนครบทุกวิชาตั้งแต่ 2/62 ขาดแต่ กพช. ทำอย่างไรไม่ให้ขาดสภาพเป็น นศ., 3.เลขประจำตัวคนต่างด้าว, 4.อายุผลการเรียน, 5.จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในวันหยุด เจ้าหน้าที่เบิกค่าทำงานนอกเวลาได้ไหม จ่ายค่าสถานที่ได้ไหม, 6.จะเกษียณและเงินเดือนตัน ต้องเสนอ วPA ด้วยหรือ?, 7.เรียนเกินโครงสร้างหลักสูตรได้ไหม

สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันสงกรานต์ 13 เม.ย.66 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊กผม ว่า  ลูกชายดิฉันเรียนการศึกษาทางไกลภาคภาษาอังกฤษ ระดับประถมศึกษา ตอนนี้เรียนจบประถมเทอมนี้ แต่ทางการศึกษาทางไกลแจ้งว่า อายุยังไม่ครบ12 ปีบริบูรณ์ (ทางการศึกษาทางไกล ตัดอายุถึง30เมษายน)
จึงไม่สามารถออกหนังสือรับรองการจบได้
ดิฉันอยากจะขอเห็นเอกสาร ที่ระบุว่า เด็กที่จบต้องมีอายุครบ12ปีบริบูรณ์ อาจารย์พอจะมีไหมคะ

             ผมตอบว่า
             1)  เรื่องนี้ เมื่อปี 2551 มีหนังสือสำนักงาน กศน. ที่ ศธ 0210.04/5719 เรื่องการรับนักเรียนในระบบเข้าศึกษาในสถานศึกษา กศน. ลงวันที่ 11 ธ.ค.51 ระบุว่า  กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ เข้าเรียนภาคบังคับในสถานศึกษา กศน. ให้ สนง.เขตพื้นที่การศึกษาทำหนังสือส่งตัวมา
                  โดยระบุในข้อ 3 ว่า

                   “๓.กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ เข้าเรียนในสถานศึกษา กศน. สำนักงาน กศน.จะ
ออกแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสภาพและวัยตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาของกลุ่มเป้าหมาย และต้องใช้เวลาเรียนไม่น้อยกว่าเด็กและเยาวชนในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ




                   


             2)  ต่อมา 28 พ.ย.57 คุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า คำว่า "ต้องมาใช้เวลาเรียน กศน.ไม่น้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่เรียนอยู่ในโรงเรียนปกติ" นั้น ให้ยึดอายุเป็นหลัก ไม่ยึดจำนวนปีที่เรียน โดยหลักสำคัญในการจบ คือ
                 ก. ต้องเรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร  และ
                 ข. จะจบประถมต้องอายุ 12 ปี จะจบ ม.ต้น ต้องอายุ 15 ปี ไม่ว่าจะมีการเทียบโอนหรือไม่ก็ตาม ส่วนเวลาเรียนจะเป็นกี่ปีไม่สำคัญ อาจน้อยกว่า 3 ปี หรือมากกว่า 6 ปีก็ได้ ให้ยึดอายุเป็นหลัก
                 โดยถ้าเขายังอายุน้อย เหลือเวลาอีกมากกว่า 6 ปี หรือ 3 ปี จึงจะอายุครบ 12 ปี หรือ 15 ปี ควรจัดทำแผนการเรียนการสอนตามเวลาที่เหลือ เช่น มาเริ่มเรียน ม.ต้น ตอนอายุ 11 ปี ซึ่งเหลือเวลา 4 ปีจึงจะอายุครบ 15 ปี ก็ควรทำแผนการสอนให้เขาใช้เวลาเรียน 4 ปี เพราะถ้าให้เขาเรียน 2 ปีจบแล้วไม่ออกใบวุฒิให้เขา เขาจะไม่เข้าใจ เป็นปัญหาได้
                   (ตามหนังสือแนบที่ 3 แต่ในหนังสือนี้จะอธิบายระดับ ม.ต้น เป็นหลัก ส่วนระดับประถมต้องตีความเอง)

             กรณีนี้ เมื่อ 26 พ.ย.64 ผมเคยตอบในข้อ 4 ที่  https://nfeph.blogspot.com/2022/02/gpax-5.html  ว่า
             "ทั้งนี้
สถานศึกษาต้องจัดแผนการเรียนให้เขาทยอยเรียนทยอยทำ กพช.ให้ครบเมื่ออายุ 15 ปี ไม่ใช่รีบเรียนจนจบก่อนอายุ 15 ปี แล้วให้รออยู่เฉยๆ เมื่อมีการฟ้องร้อง ศาลปกครองขอดูเงื่อนไขการจบหลักสูตร ซึ่งเงื่อนไขไม่มีเรื่องอายุ ศาลจะให้สถานศึกษา กศน.แพ้คดี เพราะนักเรียนในระบบบางคนก็จบ ม.3 ก่อนอายุ 15 ปีได้"

             3)  อย่างไรก็ตาม ปี 2565 กฤษฎีกาตอบข้อหารือเรื่องนี้ สอดคล้องกับหนังสือปี 2551 ว่า
                   “หากผู้เรียนผ่านเกณฑ์การจบหลักสูตร ที่ ได้
มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่อายุยังไม่พ้นเกณฑ์ฯ แล้ว ก็ออกวุฒิการศึกษาให้แก่ผู้เรียนซึ่งมีอายุยังไม่พ้นเกณฑ์ได้”
                  ประเด็นนี้ หลายสถานศึกษาไม่มีปัญหา เพราะ ได้มีการปรับปรุงแผนการเรียนการสอนให้เรียนครบตามเงื่อนไขการจบหลักสูตรพร้อมกับอายุพ้นเกณฑ์
แต่บางสถานศึกษา ไม่ปฏิบัติตามหนังสือแจ้งใน 1) ข้อ ๓. คือ
ไม่จัดแผนการเรียนตามอายุ จึงเกิดปัญหาขึ้น

 

         2. เย็นวันที่ 28 เม.ย.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เรียนครบทุกวิชา ขาดแต่ กพช.110 ชม. เทอมสุดท้ายที่เรียน 2/62  ต้องดำเนินการอย่างไรไม่ให้ขาดสภาพเป็น นศ.

             ผมตอบว่า   ถ้าเรียนภาคเรียนสุดท้าย 2/62 ต้องลงทะเบียนรักษาสภาพอย่างช้าในภาคเรียน 1/66 ( ขาดการรักษาสภาพได้ไม่เกิน 6 ภาคเรียน )
             การลงทะเบียนรักษาสภาพและการลงทะเบียนเรียนที่ถูกต้อง ต้องให้เขาลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ( ป้องกันนักศึกษาผี และเพื่อเป็นหลักฐานว่าเขายังติดต่อศึกษากับสถานศึกษาอยู่ไม่ได้เลิกเรียนไปแล้ว )

             ถ้าสถานศึกษาใดไม่มีแบบฟอร์มใบลงทะเบียนรักษาสภาพ ก็อาจจะใช้ใบลงทะเบียนเรียนมาเพิ่มเติมข้อความว่าลงทะเบียนรักษาสภาพ
             จากนั้นนายทะเบียนก็ลงในโปรแกรม
ITw ที่เมนู 1-3-3 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน-บันทึกการลงทะเบียน-ลงทะเบียนรักษาสภาพ )
 

 
        
3.
วันที่ 15 พ.ค.66 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw DOEL ว่า  มีนักศึกษาพม่ามาสมัครเรียนแต่เลขประจำตัวคนต่างด้าวขึ้นต้นด้วยเลข6จะต้องทำอย่างไรคะในระบบไอที

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้ส่วนกลางแจ้งคู่มือแนวปฏิบัติบ่อยแล้ว ผมก็เคยตอบบ่อยแล้วเช่นกัน
             ถ้ากรอกเลขประจำตัว 13 หลักของเขาแล้ว โปรแกรม ITw บอกว่า “เลขประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง” จะมีทางเลือก 2 ทาง คือ

             1)  ให้ผู้ประสงค์จะเรียนซึ่งไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ไปติดต่อทำบัตรประจำตัว กับฝ่ายทะเบียนท้องที่ ตามคู่มือฯข้อ 2.2 ในหน้า 100 เล่มปกสีเหลือง  หรือหน้า 103 เล่มปกสีเลือดหมู ก่อน  ( เขาพำนักอยู่ในเขตท้องที่ไหนก็ให้ไปติดต่อฝ่ายทะเบียนท้องที่นั้น ฝ่ายทะเบียนท้องที่จะมีความรู้ในการตรวจสอบดีกว่าเรา บางครั้งเราก็อ่าน VISA/Passport ของเขาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเป็นวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าประเภทไหน )  แล้วให้เขานำหลักฐานการขึ้นทะเบียนมาใช้เป็นหลักฐานการสมัครเรียน จะได้มีเลขประจำตัว 13 หลัก ที่ขึ้นต้นด้วยเลข 8 “คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายฯ”  หรือ

             2)  ปฏิบัติตามขั้นตอนในการกำหนดรหัสประจำตัวผู้เรียนตามที่ กศน.กำหนด ( รหัส G ) ไปจนกว่า นศ.จะได้เลขประจำตัว 13 หลักตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
             ดาวโหลด คู่มือการใช้งานระบบกำหนดรหัสประจำตัวนักเรียนนักศึกษาต่างด้าว (รหัส G) ทุกสังกัด (ฉบับ 20 ต.ค.65) ได้ที่
             https://drive.google.com/drive/folders/13Ls9aRhUss4ks7vGF7w_VhZpfmMpNsqM?fbclid=IwAR2U-vte-9pJTaGo2sMEgd3Mz6fe1OYve5WU5jtsKNaBPzzsuHeSCxeI7Bc

             - เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษารหัสที่ขึ้นต้นด้วย G แล้ว สถานศึกษาต้องคอยติดตามเน้นย้ำประสานผู้เรียน/ผู้ปกครอง ให้เขาไปขึ้นทะเบียนฯที่ฝ่ายทะเบียนของหน่วยงานมหาดไทยท้องที่นั้น ให้เจ้าของที่พักที่เขาพำนักอยู่ไปเป็นพยาน และนำรหัส G ของเราไปแจ้งด้วย
             - ถ้า นศ.ไปขึ้นทะเบียน ได้รับรหัสประจำตัว 13 หลักใหม่ จากหน่วยงานมหาดไทยมาแจ้งเราก่อนเรียนจบ เราต้องแก้รหัสประจำตัว 13 หลักในทะเบียนนักศึกษา ตามรหัสใหม่ของมหาดไทย แทนรหัสที่ขึ้นต้นด้วย G

 

         4. ดึกวันที่ 1 มิ.ย.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หลักสูตร 51 เก็บผลการเรียนให้นักศึกษา 5 ปี ถ้าปีที่ 6 เป็นต้นไป นักศึกษามาขอลาออก  สถานศึกษาสามารถออกใบรบ.  ผลการเรียนที่นักศึกษาเคยสอบผ่านได้หรือไม่
             คำว่าอายุผลการเรียน 5 ปีหมดอายุนั้นนับอย่างไรค่ะ หมายถึงนับตั้งแต่สม้ครเป็นนักศึกษาปีที่ 1-ปีที่ 5 หรือนับจากปีที่มีผลการเรียนเช่นปีแรกไม่มีผลการเรียน ปีที่ 2 มีผลการเรียน  ก็จะเริ่มนับจากปีที่ 2

             ผมตอบว่า   อายุผลการเรียน เป็นอายุของแต่ละวิชาเลย แต่ละวิชาหมดอายุไม่พร้อมกัน เช่น

นาย ก.ไก่ เรียนเพียง 2 วิชา โดย
             1)  เรียนผ่านวิชา อชxxxxxx ในภาคเรียนที่ 1/60
             2)  เรียนผ่านวิชา สคxxxxxx ในภาคเรียนที่ 2/60
             -วิชาที่ 1 จะมีอายุผลการเรียนอยู่ได้ถึง 1/65
             -วิชาที่ 2 จะมีอายุผลการเรียนอยู่ได้ถึง 2/65
             - ถ้าเขามาลาออกในภาคเรียนที่ 1/65 ( เข้าโปรแกรมออกใบ รบ. โดยเลือกภาคเรียนเป็น 65/2 ) ถ้าเขายังรักษาสภาพไว้ ในใบ รบ.จะปรากฏเกรดของทั้ง 2 วิชานี้
             - ถ้าเขามาลาออกในภาคเรียนที่ 2/65 ในใบ รบ.จะปรากฏเฉพาะวิชาที่ 2 เท่านั้น ( ในโปรแกรมเมนูลงทะเบียน ที่ช่อง "วิชาที่ลงแล้ว" ด้านขวา ชื่อวิชาที่ 1 จะเป็นตัวสีจาง ดูตรงนี้ก็ได้คือถ้าวิชาไหนเป็นสีจางก็คือหมดอายุแล้ว จะไม่ปรากฏในใบ รบ.ที่ออก)

             - ถ้าเขามาลาออกในภาคเรียนที่ 1/66 และไม่ได้รักษาสภาพไว้ จะลาออกไม่ได้ โปรแกรมจะออกใบ รบ.ไม่ได้ เพราะพ้นสภาพไปแล้ว

 

         5. ดึกวันอาทิตย์ที่ 20 ส.ค.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ในกรณีที่จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเช่นโครงการติวสอบต่างๆที่จัดในวันหยุดราชการ ครูหรือเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมกิจกรรม สามารถเบิกค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาได้ไหม รวมเจ้าหน้าที่ที่เป็นจ้างเหมาบริการด้วย /และถ้าในโครงการมีการเบิกค่าอาหาร ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม สามารถเบิกนอกเวลาได้ไหม
             และถ้าโครงการนี้จัดโดยใช้สถานที่อื่นเช่นขอใช้สถานที่โรงเรียนอื่นในการทำกิจกรรม สามารถเบิกค่าตอบแทนได้ไหม

             ผมตอบว่า
             1)  ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลานั้น จะเบิกจ่ายได้เฉพาะกรณีปฏิบัติงานนอกเวลาอยู่ในที่ตั้งสำนักงานปกติ ถ้าออกไปจัดกิจกรรมอยู่นอกที่ตั้ง(นอกรั้ว)สำนักงานที่ทำงาน จะเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาไม่ได้

                   ( การเดินทางไปปฏิงานราชการนอกที่ตั้งสำนักงาน ถ้าใช้เวลานานก็อาจพิจารณาให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการตามเกณฑ์เวลาเดินทางและเบี้ยเลี้ยงตามจำนวนมื้อที่ไม่เลี้ยงอาหาร )
             2)  ที่ถามว่า "ถ้าโครงการนี้จัดโดยใช้สถานที่อื่น สามารถเบิกค่าตอบแทนได้ไหม" นั้น ค่าตอบแทนนี้หมายถึงค่าใช้สถานที่ใช่ไหม?
                  สามารถเบิกจ่ายค่าใช้สถานที่ให้แก่ “หน่วยงาน”ของเอกชนหรือ “ส่วนราชการ”อื่น ตามที่เรียกเก็บ ตามความจำเป็นเหมาะสมและประหยัด โดยให้พิจารณาจัดที่หน่วยงานของรัฐเป็นอันดับแรก

 

         6. วันที่ 28 ส.ค.66 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  คนจะเกษียณ กย. 66 นี้ ต้องจำเป็นนำเสนอ วpa ด้วยหรือคะ เค้าบอกส่าเพื่อนเลื่อนเงินเดือน แต่ในที่นี้ตันแล้ว และยังไงก็ไม่ได้เลื่อนขึ้น

             ผมตอบว่า   กรณีจะเกษียนด้วย+เงินเดือนตันแล้วด้วย การประเมิน PA และการประเมินเลื่อนขั้นตาม วPA จะไม่มีความหมาย
             - ถ้าจะเกษียณอย่างเดียว แต่เงินเดือนยังไม่ตัน จะมีความหมาย ต้องประเมินฯ เพราะจะได้เลื่อนเงินเดือนในวันที่ 30 ก.ย. โดยตัวเลขเงินเดือนใหม่ที่เลื่อนวันที่ 30 ก.ย.นี้จะนำไปใช้คำนวณบำเหน็จบำนาญ แม้เงินเดือนใหม่จะไม่ได้เพราะเกษียณ แต่จะได้บำเหน็จบำนาญมากขึ้น
             - ถ้าเงินเดือนตันอย่างเดียว ก็มีความหมาย ต้องประเมินฯ เพราะเงินเดือนตันก็จะยังได้เงินตอบแทนพิเศษ จะได้เท่าไรอยู่ที่ผลการประเมิน
             - แต่กรณีนี้เงินเดือนตันแล้วและจะเกษียณด้วย การประเมินฯจะไม่มีประโยชน์อะไร เพราะไม่ได้เลื่อนเงินเดือนแล้ว เงินตอบแทนพิเศษก็ไม่ได้เพราะเกษียณ ( การคำนวณบำเหน็จบำนาญ คำนวณจากเงินเดือนที่ไม่รวมเงินตอบแทนพิเศษ )
             อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ กบ.สกร.บอกว่า ก็ต้องประเมินฯไปตามกระบวนการ แม้จะไม่มีประโยชน์อะไร
             ข้อเสนอแนะของผมคือ ทำ PA1, PA2 ( ข้อตกลง, การประเมินตนเอง ) พอให้มีส่ง ไม่ต้องคิดอะไรมาก

 

         7. เที่ยงคืนวันที่ 25 ต.ค.66 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ตามโครงสร้างจบกศน. ม.ต้น ต้องจบวิชา บังคับ 40 เลือก 16 แต่ถ้าเทอมสุดท้าย ผู้เรียนจบตามโครงสร้างวิชาบังคับ 40 เลือก 20 เกินกว่าโครงสร้างจบ มา 4 หน่วยกิตได้ไหมคะอาจารย์ ขออนุญาตแนะนำแนวทาง ขอบคุณค่ะ (เทอมสุดท้ายนั้นลงทะเบียนไม่เกินหน่วยกิตตามที่กำหนดไว้ค่ะ)

             ผมตอบว่า   เรียนเกินไม่มีปัญหา ตามโครงสร้างหลักสูตรใช้คำว่า “ไม่น้อยกว่า” ไม่ใช่ “ไม่มากกว่า” คือ ทั้งวิชาเรียนและชั่วโมง กพช. เกินได้
             แต่.. ในส่วนของวิชาเลือก นั้น ม.ต้น-ปลาย ต้องเป็นวิชา “เลือกบังคับ ไม่น้อยกว่า” 6 หน่วยกิต ( 2 วิชา ) ด้วยนะ แม้เรียนวิชาเลือกเกิน 16 หน่วยกิต แต่ถ้ายังเรียนวิชาเลือกบังคับไม่ผ่าน 6 หน่วยกิต ก็ยังไม่ครบ ยังไม่จบตามนโยบาย
             เว้นแต่จะ “เทียบโอน” วิชาเลือกได้ครบ 16 หน่วยกิต ก็จบได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาเลือกบังคับครบ 2 วิชา
             และถ้าเป็นนักศึกษาเก่า (รหัสก่อน 591.....) คือก่อนที่จะมีนโยบายเรื่องวิชาเลือกบังคับ ก็ไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ
             คือ เป็น "นโยบาย" ให้ นศ. รหัส 591...... เป็นต้นมา ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ ถ้าเทียบโอนได้วิชาเลือกครบหน่วยกิตแล้ว ก็ไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับได้ แต่ถ้าเทียบโอนแล้วยังเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนอีกไม่น้อยว่า 4 หน่วยกิตในระดับประถม หรือ 6 หน่วยกิตในระดับ ม.ต้น-ม.ปลาย ก็ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ
             ดูนโยบายเรื่องวิชาเลือกบังคับได้ตามหนังสือในภาพประกอบต่อไปนี้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย