วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2558

1.เงินค่าซื้อหนังสือ เหลือ ซื้ออย่างอื่นได้ไหม, 2.กศน.อำเภอ/เขต จัด กศ.รูปแบบทางไกลได้หรือ-ไฮไลท์ของ กศน.-อบรมการจัด กศ.วิธีเรียนทางไกลให้มีคุณภาพ, 3.การยื่นทำวิทยฐานะ, 4.ให้ของที่ระลึกวิทยากร แทนการจ่ายค่าตอบแทนวิทยากร, 5.นักศึกษาซ้ำซ้อน, 6.ศน.บอกว่าป้ายผิด, 7.ไม่เซ็นรับทราบคำสั่ง-ลบข้อมูล IT ทิ้ง



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. มี ผอ.กศน.อำเภอ/เขต 2 ท่าน ถามผมด้วยวาจา และทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คว่า  สอบราคาซื้อหนังสือแล้วมีเงินเหลือ เงินที่เหลือนี้จะใช้ซื้ออย่างอื่นอีกได้หรือไม่

             เรื่องนี้  ผมเรียนถามหน่วยตรวจสอบภายใน กศน. เมื่อวันที่ 26 พ.ค.58 ได้คำตอบว่า
             1)  การจัดสรรงบประมาณค่าหนังสือสำหรับบ้านหนังสืออัจฉริยะ กำหนดชัดเจนว่าให้ซื้อหนังสือพิมพ์กี่ฉบับ ซื้อวารสารกี่ฉบับ ถ้าซื้อครบถ้วนตามที่กำหนดแล้ว จะซื้อเกินไม่ได้ ถ้าเงินเหลือต้องส่งคืน
             2)  เงินอุดหนุนที่จัดสรรมาให้ซื้อ หนังสือเรียน ถ้ามีเงินเหลือ สามารถซื้อ หนังสือเรียนอื่น เช่น หนังสือเรียนรายวิชาเลือก ได้ เว้นแต่ ปีใด ผู้บริหารระดับสูงกำหนดนโยบายว่าถ้าเงินเหลือให้ส่งคืน ก็ต้องส่งเงินที่เหลือคืน เช่น ในการประชุมประเมินผลและพัฒนางาน กศน.ในปีงบประมาณ 2558 เมื่อ 27 พ.ค.58 ที่โรงแรมบัดดี้โอเรียนทอลริเวอร์ไซด์ ปากเกล็ด นนทบุรี ท่านเลขาธิการ กศน. แจ้งว่า การ ซื้อ/จ้างพิมพ์ หนังสือเรียน สามารถซื้อหนังสือเรียนเสริมได้ และถ้ามีเงินเหลือในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ให้รีบส่งเงืนคืน


         2. วันที่ 25-26 พ.ค.58 ผมไปเข้าฝึกอบรมหลักสูตร การจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน วิธีเรียนทางไกล ให้มีคุณภาพที่ โรงแรมวังยาวรีสอร์ท จ.นครนายก
             การดำเนินงานจัด กศ.ทางไกลของสถาบัน กศ.ทางไกล มีการประยุกต์จนแตกต่างไปจากหลักสูตร เช่น ม.ต้น มีแต่วิชา บังคับเลือกไม่มีวิชาเลือกเสรี, จัดให้เรียนวิชาความรอบรู้ในการเรียน แทนการทำโครงงาน ฯลฯ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ เป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพราะรูปแบบการเรียนทางไกล นศ.ไม่มีเวลา/ไม่ต้องมาเรียนกับครู ( ถ้าจะทำตามอุดมคติของหลักสูตรทั้งหมด เช่นให้ นศ.มาเรียนสัปดาห์ละ 9 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดคุณภาพ แต่ เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติที่ท่านรองเลขาธิการฯ ดร.ดิศกุล ใช้คำว่า “Mission Impossible” ก็ไม่มีประโยชน์ )
             ถึงแม้จะประยุกต์จนแตกต่างไปจากหลักสูตร แต่คุณภาพที่พิสูจน์ได้จากคะแนนเฉลี่ยการสอบ N-NET ของ นศ.สถาบัน กศ.ทางไกล ก็สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของ กศน.ทั่วประเทศ ในทุกสาระ

             อ.วาสนา บรรยายว่า ปัจจุบัน กศน.อำเภอ/เขต ไม่สามารถจัด กศ.รูปแบบทางไกลได้ เพราะ ประกาศสำนักงาน กศน.ฉบับลงวันที่ 8 ต.ค.55 ที่กำหนดว่า วิธีเรียนรู้แบบ กศน. ( หลักสูตร 51 มีวิธีเรียนเพียงวิธีเดียว คือวิธีเรียนรู้แบบ กศน. แต่มีรูปแบบการเรียนหลายรูปแบบ เช่นรูปแบบพบกลุ่ม รูปแบบทางไกล ) ต้องมีเวลาพบกลุ่มหรือพบครูไม่น้อยกว่า 75 % ยกเว้นเฉพาะ นศ.ของสถาบัน กศ.ทางไกล
             เมื่อต้องมาพบกลุ่ม/พบครู 75 % ก็จะเป็นรูปแบบการเรียนทางไกลไม่ได้
             กศน.อำเภอ/เขต จึงจัดการเรียนการสอนรูปแบบทางไกลไม่ได้
             เพื่อให้ กศน.อำเภอ/เขต สามารถจัดการเรียนการสอนรูปแบบทางไกลได้ สถาบัน กศ.ทางไกลจึงเสนอให้แก้ประกาศฉบับนี้ โดยปรับแก้จาก ยกเว้น นศ.ของสถาบัน กศ.ทางไกลเป็น ยกเว้นรูปแบบการเรียนแบบทางไกล
             ซึ่งท่านเลขาธิการ กศน.รับหลักการและมอบให้แก้ไขแล้ว ขั้นต่อไปคงต้องให้กลุ่มพัฒนา กศน.พิจารณาเสนอประกาศแก้ไขให้ลงนาม ( ยังไม่รู้ว่ากลุ่มพัฒนา กศน. จะอธิบายตีความประกาศฉบับเดิมว่าอย่างไร ประเด็นที่เข้าใจกันเดิมนั้นถูกต้องหรือไม่อย่างไร )

             ถ้า กศน.อำเภอ/เขต จัดการเรียนการสอนรูปแบบของสถาบัน กศ.ทางไกล ( นศ.ไม่ต้องมาพบกลุ่ม/พบครู แต่เป็น มินิ มสธ.) ได้เอง รับ นศ.รูปแบบทางไกลเป็นของตนเอง ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวของ นศ.ส่วนนี้ และนับหัว นศ.ส่วนนี้อยู่ใน 60 คนที่เป็น นศ.ของครู กศน. ก็จะเกิดความสะดวกคล่องตัว และจะเป็นไฮไลท์ของ กศน.

             เรื่องน่าสนใจที่ทราบจากการเข้าอบรมครั้งนี้ เช่น ภาค 1/58 จะให้ นศ.ที่เรียนทางไกล สอบปลายภาคที่อำเภอ ( ใครจะย้ายที่อยู่ปัจจุบันเพื่อไปสอบที่อำเภออื่น ให้แจ้งตั้งแต่ต้นเทอม )  และเรื่องที่สถาบัน กศ.ทางไกลขอความร่วมมือจาก กศน.อำเภอ/เขต คือ
             1)  การประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับผู้สนใจ
             2)  การช่วยจัดสอบปลายภาค และส่งกระดาษคำตอบให้ทันเวลาที่กำหนด
             3)  ในอนาคต ถ้าอำเภอใดมีนักศึกษาจำนวนมาก อาจต้องช่วยจัดสัมมนาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตก่อนจบหลักสูตร






         3. ในการอบรมตามข้อ 2. ท่าน อ. สาธิต เจรีรัตน์ ( ครูเชี่ยวชาญ ผู้แทน ขรก.ครู ใน อ.ก.ค.ศ. สป.) เป็นพิธีกร  ท่านอาศัยช่วงเวลาว่างบางช่วง พูดถึงเรื่องการทำวิทยฐานะในรูปแบบปัจจุบัน ให้ผู้เข้าอบรมได้รับทราบข่าวสารที่น่าสนใจ ดังนี้
             ปัจจุบันมีรูปแบบการทำวิทยฐานะที่สำคัญ 3 รูปแบบ ตามหนังสือเวียน ( ว.) ของ ก.ค.ศ. 3 ฉบับ คือ
             1)  7 ปี 58 ( วิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน = P.A. : Performance Agreement ) ออกใหม่ ใช้เฉพาะการยื่นทำชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ   วันที่ 3-5 มิ.ย.58 ก.ค.ศ.จะทำคู่มือ และก่อนยื่น ต้องรอแต่ละส่วนราชการต้นสังกัด ทำการทดสอบความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎีและการประเมินประสบการณ์วิชาชีพก่อน  ใครสอบผ่าน ( จะทำชำนาญการพิเศษต้องสอบได้คะแนน 70 % ขึ้นไป จะทำเชี่ยวชาญต้องสอบได้คะแนน 75 % ขึ้นไป ) จึงจะยื่นแผน ( ข้อตกลงการพัฒนางาน ) ขอรับการประเมินรูปแบบนี้ได้  และการประเมินฯ จะประเมินในอนาคตว่าทำได้ตามแผนหรือข้อตกลงการพัฒนางานหรือไม่อย่างไร
             2)  17 ปี 52 ( แบบทั่วไป  มิได้ถูกยกเลิก ใครจะยื่นขอรับการประเมินรูปแบบเดิมนี้ ก็ยังยื่นต่อไปได้ตามเดิม )
             3)  13 ปี 56 ( เชิงประจักษ์-ได้รางวัลระดับชาติ  ให้ยื่นในเดือน ธ.ค.58 เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว )

         4. วันที่ 29 พ.ค.58 เอมอร เทพประดิษฐ์ บ้าน ครูเอม ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  จัดโครงการอบรม ไม่เบิกค่าตอบแทนวิทยากร แต่ซื้อของที่ระลึกให้วิทยากร ได้ไม่เกินกี่บาท

             ผมตอบว่า  ไม่มีระเบียบให้ใช้เงินงบประมาณซื้อของที่ระลึกให้วิทยากร
             ผู้ถาม ถามต่อว่า  แล้วค่าของสมนาคุณ มันแตกต่างจากของที่ระลึกตรงไหน
             ผมตอบว่าค่าสมนาคุณวิทยากร” ( ไม่ใช่ค่า ของ สมนาคุณวิทยากร ไม่มีคำว่า ของ )  ก็คือค่าตอบแทนวิทยากรนั่นเอง มีเกณฑ์การจ่ายเป็นเงิน ( บาท )
             ที่เขาให้ของที่ระลึกกับวิทยากรกันนั้น เขาใช้เงินนอกระบบซื้อของที่ระลึกกัน หรือเป็นของที่ระลึกที่ไม่ต้องซื้อใหม่
             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  เชิญวิทยากร ไม่มีค่าตอบแทนวิทยากร แต่ซื้อของที่ระลึกมอบให้วิทยากร ในโครงการเขียนไว้ว่าซื้อของที่ระลึกมอบให้วิทยากร
             ผมตอบว่า  ถึงแม้โครงการจะเขียนไว้ และโครงการได้รับอนุมัติแล้ว แต่ถ้าไม่มีระเบียบรองรับก็เบิกจ่ายไม่ได้ ต้องขอแก้ไขโครงการจากผู้อนุมัติโครงการ เปลี่ยนเป็นค่าสมนาคุณวิทยากรซึ่งวิทยากรต้องเซ็นชื่อรับเงินสมนาคุณเป็นหลักฐาน
            แต่ถ้าหมายถึง ในการฝึกอบรมนั้นมีการไปดูงาน จึงจะจ่าย ค่าของสมนาคุณในการดูงานโดยเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง แห่งละ ( ไม่ใช่คนละ ) ไม่เกิน 1,500 บาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ ( ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2555 ข้อ 8 (11)

         5. วันที่ 2 มิ.ย.58 Panom Witheeprai เขียนในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  อยู่ กศน.มวกเหล็ก ขอรายชื่อนักศึกษาซ้ำซ้อน หาในครู กศน.นอกระบบ ไม่พบ

             ผมตอบว่า   วิธีการตรวจสอบจำนวนนักศึกษา กศ.ขั้นพื้นฐาน ลงทะเบียน 2 แห่ง บัตรประชาชน ซ้ำซ้อน/ไม่ถูกต้อง
             เข้าไปที่  http://203.172.142.230/NFE-MIS/student_itw_conclus_process.php
             แล้วคลิกที่ชื่อจังหวัด เพื่อดูข้อมูลแต่ละอำเภอ
             ถ้ามีจำนวนนักศึกษาที่มีปัญหา ให้คลิกที่ตัวเลขจำนวนนักศึกษาที่มีปัญหานั้น เพื่อดูรายชื่อนักศึกษาที่มีปัญหา
             และคลิกต่อที่ชื่อนักศึกษาที่มีปัญหา เพื่อดูข้อมูลว่าซ้ำซ้อนกับอำเภอใด

             กลุ่มแผนงาน กศน. บอกว่า อำเภอที่มี นศ. ซ้ำกัน จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวของ นศ.รายนั้นทั้ง 2 อำเภอ  ถ้าพ้นวันที่ 7 มิ.ย.58 ข้อมูลในเว็บฯยังซ้ำอยู่ ก็จะตัดออกทั้ง 2 อำเภอ

             ถ้าอำเภอที่ซ้ำ ประสานงานตกลงกันแล้วว่า อำเภอใดจะเป็นฝ่ายถอนการลงทะเบียน ( อาจต้องให้ ผอ. คุยกับ ผอ. )  เมื่อถอนการลงทะเบียนในโปรแกรม ITw แล้ว อำเภอนั้นต้องนำส่งข้อมูลจากโปรแกรมขึ้นเว็บใหม่ ( บางจังหวัดให้อำเภอส่งข้อมูลขึ้นเว็บเอง บางจังหวัดให้อำเภอส่งข้อมูลให้จังหวัดเป็นผู้นำขึ้นเว็บ )  โดยต้องนำข้อมูลใหม่ขึ้นเว็บไม่ให้เหลือข้อมูลซ้ำ ภายในวันที่ 7 มิ.ย.58
              ( อย่าลืมเข้าไปตรวจสอบจำนวน นศ. นอกงบประมาณด้วย โดยคลิกเลือกที่หัวตาราง เปลี่ยนจาก ในงบประมาณเป็น นอกงบประมาณ  มีบางอำเภอคีย์ข้อมูลลงโปรแกรม ITw ผิด เข้ากลุ่มนอกงบประมาณนี้หลายคนโดยไม่ตั้งใจ  ถ้ามีจำนวนอยู่ในกลุ่มนี้ จะไม่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัว
             นอกจากนี้ ควรตรวจสอบข้อมูล รายงานสรุปจำนวนนักศึกษาพิการ, รายงานสรุปจำนวนนักศึกษา English Program ที่  http://203.172.142.230/NFE-MIS/student_itw_is.php  ด้วย

         6. คืนวันที่ 2 มิ.ย.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  อยากรู้เรื่องป้าย กศน.ตำบล เนื่องด้วย ศน.จังหวัดว่าทำไมยังมีศูนย์การเรียนชุมชนอยู่ด้านล่างป้าย ศน.บอกว่าไม่ถูก

             ผมตอบว่า   ศูนย์การเรียนชุม มีได้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชน  แต่ กศน.ตำบล ให้ประกาศจัดตั้งเพียงตำบลละ 1 แห่ง  ถ้าแห่งใดประกาศจัดตั้งเป็น กศน.ตำบล แล้ว ก็ใช้ชื่อ กศน.ตำบล แทนชื่อศูนย์การเรียนชุมชน
             ในภาคอิสาน-ภาคเหนือ เดิมมีศูนย์การเรียนชุมชนในตำบลเดียวหลายแห่ง ปัจจุบันยังมีศูนย์การเรียนชุมชนอยู่  เปลี่ยนเป็น กศน.ตำบลเพียงตำบลละแห่งเดียว  ถ้าเปลี่ยนแล้วในป้ายก็ไม่ต้องมีชื่อศูนย์การเรียนชุมชน  ( แต่ถ้าชื่อเดิมมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก จะเขียนชื่อเดิมไว้ในป้ายด้วยก็ไม่ผิดกฎหมาย )






         7. คืนวันเดียวกัน ( 2 มิ.ย.) มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า 

            1)  ถ้าข้าราชการครู/ครูอาสาสมัคร/และครู กศน.ตำบล ไม่เซ็นรับทราบคำสั่งที่ ผอ.มอบหมายงาน มีความผิดตามระเบียบใช่ไหม

             2)  ต่อจากข้อ 1) ถ้าพนักงานราชการที่เป็นเจ้าหน้าที่ไอที เจตนาลบข้อมูลนักศึกษาที่ลงทะเบียนในภาคเรียนที่ 1/2558 เสร็จแล้ว ลบออกเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย เพราะไม่พอใจ ผอ. ทำให้ส่งไม่ทันขึ้นเว็บ มีความผิดอย่างไร ผอ.แจ้งความได้ไหม

             3)  ผอ.อำเภอส่งตัวพนักงานราชการคนนี้กลับ กศน.จังหวัดผู้จ้าง แต่ ผอ.จังหวัดไม่รับกลับ ควรทำอย่างไร

             ผมตอบว่า

             1)  การไม่เซ็นรับทราบคำสั่งโดยไม่มีเหตุผล มีความผิด  ถ้าจะไม่ทำตามคำสั่งต้องบันทึกแจ้งเหตุผล  ( การจะบันทึกแจ้งเหตุผล อาจยากในทางปฏิบัติ แต่ก็มีผู้บันทึกมาแล้ว )  ถ้าไม่เซ็นรับทราบคำสั่ง ผอ.อาจหาพยานว่าให้เซ็นแล้วไม่ยอมเซ็น เพื่อเอาผิดฐานไม่ปฏิบัติตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้

             2)  การเจตนาลบข้อมูลทำให้ส่งข้อมูลไม่ทัน เป็นความผิด จะผิดมากหรือน้อย เป็นความผิดร้ายแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเสียหายที่ตามมา ว่ามีผลเสียหายร้ายแรงแค่ไหนหรือไม่ แก้ไขได้หรือไม่ เช่น ทำให้ไม่ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวหรือไม่ ทำให้ นศ.ไม่มีสิทธิเรียนหรือไม่

                  เรื่องภายใน คนทำเป็นบุคลากรในสังกัด ทำกับงานภายใน จะไปแจ้งความทำไม ต้องบริหารจัดการภายใน จะลงโทษต้องตรวจสอบตามขั้นตอนให้ชัดเจน ลบจริงหรือไม่ เจตนาที่แท้จริงคืออะไร ถ้าเจตนาลบข้อมูลให้มีปัญหาจริงก็มีความผิดมากน้อยตามพฤติกรรมและความเสียหาย

             3)  การที่จังหวัดเป็นผู้จ้าง ไม่ได้แปลว่าพนักงานราชการคนนั้นต้องทำงานที่จังหวัด  บางตำแหน่ง "ต้อง" ทำงานที่สถานศึกษา ทำงานที่จังหวัดไม่ได้
                  ผอ.สถานศึกษาต้องใช้ความสามารถบริหารจัดการให้ทำงานร่วมกันได้ ทุกคนมีทั้งข้อดีข้อเสีย  ถ้าใช้หลักการบริหารต่างๆแล้วไม่ได้ผล ยังมีปัญหา มีความผิดจริง ก็ลงโทษ แจ้งจังหวัดพิจารณาดำเนินการลงโทษตามขั้นตอน ( ซึ่งไม่มีขั้นตอนให้ส่งไปอยู่ที่อื่น )  ถ้ามีความผิดมากก็เลิกจ้าง

             ผมตอบคำถามนี้ตอนเช้า พอตอนกลางวันได้รับแจ้งว่า พนักงานราชการที่ลบข้อมูล นำข้อมูล BackUp มาให้แล้ว
             เรื่องนี้ ข้อเท็จจริงอาจไม่เป็นไปตามความข้างเดียวนี้ก็ได้ แต่ที่ผมยังนำเรื่องนี้มาลงเผยแพร่ ก็เพื่อจะให้ข้อคิดเห็นว่า ถ้า พฤติกรรมเป็นไปตามที่บอกนี้จริง จะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย