วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2558

1.จ้างพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ทำไมต้องกำหนดเอกบรรณารักษ์, 2.ทำวิทยฐานะแนวใหม่ (PA) ให้พัฒนางานไม่น้อยกว่า 2 ปี, 3.การสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี, 4.ชื่อสาขาวิชาเอกที่เรียนจบมา ไม่ตรงกับชื่อกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกที่เปิดรับสมัครสอบบรรจุ, 5.ข้าราชการชายไว้ผมยาว หรือทำสีผม ผิดระเบียบไหม ?, 6.ผอ.ย้ายสับเปลี่ยนแต่ชื่อตามเอกสาร ตัวยังทำงานที่เดิม?, 7.ผอ. อาจจะไม่เข้าใจ หรือ ผอ.ไม่มีนโยบาย/ไม่อนุญาตให้ทำอย่างนี้



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เช้าวันอาสาฬหบูชา ( 30 ก.ค.58 ) ไข่นุ้ย ปุญญวัฒน์ ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  พนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ คุณสมบัติคือต้องได้รับปริญญาทางบรรณารักษ์ศาสตร์ และ/หรือ สารนิเทศศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์แล้วบรรณารักษ์อัตราจ้างในสังกัด กศน. ที่ปฎิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่มีวุฒิทางบรรณารักษ์ฯ จะมีชะตากรรมอย่างไร ทางท่านผู้ใหญ่จะมีแนวทางช่วยเหลือหรือเปล่า

             เรื่องนี้  กจ.กศน.ตอบว่า  ในการรายงานขอกำหนดตำแหน่งพนักงานราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ ไปยัง ก.พ. นั้น กศน.กำหนดคุณสมบัติโดยอิงระเบียบหลักเกณฑ์ของ ก.พ.
             ซึ่งพนักงานราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ จะมีสิทธิในอนาคต เช่น มีสิทธิสมัครสอบเป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ซึ่งต้องเตรียมบุคลากรที่ได้รับปริญญาทางบรรณารักษ์ศาสตร์ และ/หรือ สารนิเทศศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ จึงจะมีสิทธิสอบเป็นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์

              ( พนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ก็กำหนดคุณสมบัติว่าต้องได้รับปริญญาวิชาครู หรือจบ ป.บัณฑิตวิชาชีพครู )

         2. เช้าวันที่ 14 ส.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องหลักเกณฑ์การทำวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญแนวใหม่ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน ( PA ) 7  ว่า
             คำว่า ข้อตกลงในการพัฒนางาน หมายถึง ข้อเสนอในการพัฒนางานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ที่ผู้ขอรับการประเมินได้จัดทำไว้กับคณะกรรมการชุดที่ 1 และได้รับความเห็นชอบจาก อ.ก.ค.ศ. หรือ ก.ค.ศ. แล้วแต่กรณี ให้เป็นข้อตกลงเพื่อแสดงว่าภายในระยะเวลาที่กำหนดจะพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ดีขึ้น ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ และสามารถยกระดับคุณภาพผู้เรียนและคุณภาพการศึกษาได้ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
             ซึ่งมีระยะเวลาในการพัฒนา ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 3 ปี

             โดยมีคณะกรรมการประเมิน 2 ชุด ได้แก่
             คณะกรรมการชุดที่ 1  ทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอในการพัฒนางานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อให้เป็นข้อตกลงในการพัฒนางาน  รวมทั้งทำหน้าที่ประเมินผลการพัฒนางานตามข้อตกลงครั้งที่ 1 เมื่อได้พัฒนางานไปแล้ว 2 ภาคเรียน และครั้งที่ 2 ประเมินสรุปผลเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดตามข้อตกลง
             ส่วนคณะกรรมการชุดที่ 2  ทำหน้าที่ประเมินตามข้อตกลงเพื่อพัฒนางาน อย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง และ เป็นพี่เลี้ยงตลอดระยะเวลาของการพัฒนางานตามข้อตกลงด้วย

             ทั้งประเทศมีผู้ได้ คศ.4 แล้ว 1,000 กว่าคนเท่านั้น ขณะที่ คศ.3 มีราว 2 แสนคน
             ที่มา :  นสพ.บางกอกทูเดย์ ฉบับวันที่ 14-20 ส.ค.58


         3. เย็นวันเดียวกัน ( 14 ส.ค.) กศนตำบล ป่าซาง อำเภอแม่จัน ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การสรุปผลการปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณ.. กศน.เรามีรูปแบบที่เป็นมาตราฐานใช้เหมือนกันทั้งหมดที่ถูกต้องไหม ถ้าไม่มีแสดงว่าทำรูปแบบไหนก็ไม่มีผิดใช่ไหม

             ผมตอบว่า  ไม่เห็นมีรูปแบบกำหนด.. ขอให้ทำให้เป็นตามชื่อ "สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี" ถ้าเพิ่งจะทำครั้งแรก ควรหาของคนอื่นมาดูเป็นตัวอย่าง
             ผมไม่ทราบว่ากำลังพูดถึง สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กศน.อำเภอ หรือของบุคลากร เช่น ครู กศน.ตำบล หรือของอะไร
             ถ้าเป็นการ สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปีของบุคลากร เช่น ครู กศน.ตำบล  ต้องสรุปให้มีข้อมูลครอบคลุม
             1)  บทบาทหน้าที่/พันธกิจ ของ กศน.ตำบล
             2)  บทบาทหน้าที่/งานที่รับผิดชอบ/มอบหมาย ของ ครู กศน.ตำบลคนนั้น
             3)
 ที่สำคัญ ควรสอดคล้องและเรียงลำดับตาม แบบประเมินฯ/เกณฑ์การประเมิน ครู กศน.ตำบล ( เอาแบบประเมินฯมาดู )

         4. วันที่ 17 ส.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค ว่า

             ในกรณีที่ ชื่อสาขาวิชาเอกที่เรียนจบมา ไม่ตรงกับชื่อกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกที่เปิดรับสมัครสอบบรรจุ แต่เป็นคุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง.. ให้ตรวจสอบว่าจะสมัครสอบบรรจุในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกใดได้ โดย

             1)  ดูในประกาศรับสมัครของแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งจะกำหนดไว้ว่า สาขาวิชาเอกใด อยู่ในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกใดที่เปิดรับสมัคร เช่น
                 สาขาวิชาเอก พุทธศาสตร์ สมัครได้ในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอก สังคมศึกษา เป็นต้น
                  ( ดูตัวอย่างสาขาวิชาเอกอื่น ๆ ได้ที่ https://db.tt/Drotxtnn )

             2)  ถ้า ชื่อสาขาวิชาเอกที่เรียนจบมา คล้าย แต่ไม่ตรงกับที่เขตพื้นที่ฯกำหนดไว้  แต่เป็น คุณวุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรองให้ใช้วิธี นับจำนวนหน่วยกิต จากหมวดวิชาเฉพาะ หรือจำนวนหน่วยกิตรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript เช่น
                 จบ ป.ตรี หลักสูตร 4 ปี ถ้าศึกษาเนื้อหาวิชาในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกนั้น 30 หน่วยกิตขึ้นไป ก็สมัครสอบในกลุ่มวิชาเอกหรือสาขาวิชาเอกนั้น
                 ดูแนวปฏิบัติการนับหน่วยกิตนี้ได้ ในหนังสือ ที่ ศธ 0206.6/7 ลงวันที่ 18 เม.ย.56  หนังสือฉบับนี้รวมอยู่ท้ายไฟล์ตัวอย่างสาขาวิชาเอก ในข้อ 1)


         5. วันที่ 20 ส.ค.58 ครูเด่น สบเมย ถามในอินบ๊อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า ข้าราชการชายไว้ผมยาว หรือย้อมสีผมอื่นที่ไม่ใช่สีดำ ผิดระเบียบหรือไม่

             ผมตอบว่า   ข้าราชการชายไว้ผมยาวปิดตีนผม ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องการไว้ผมและการแต่งกายของข้าราชการ ลูกจ้าง และผู้ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2516
             ส่วนเรื่องการทำสีผมเป็นสีอื่น ที่ไม่ใช่การย้อมผมให้ผมดำ เพิ่งมีในยุคปัจจุบัน จึงไม่มีกำหนดในระเบียบ   ในทางปฏิบัติอนุโลมให้สตรีทำสีผมที่สีไม่ฉูดฉาดได้ แต่บุรุษทำสีผมถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย ไม่เป็นแบบอย่างที่ดี
 




         6. วันที่ 24 ส.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การที่ ผอ บางพื้นที่ย้ายสับเปลี่ยนตามกำหนดการทำงาน แต่ย้ายแต่ชื่อ ย้ายตามเอกสาร แต่ตัวจริงไม่ย้ายตาม ยังทำงานที่หน่วยงานเดิม เข้าข่ายผิดกฎหมายไหม

             ผมตอบว่า   มีด้วยหรือ  เขาอาจจะเดินทางช้าหน่อยมั้ง  ถ้ามีเหตุผลที่ต้องอยู่เคลียร์เรื่องสำคัญจำเป็นที่ทำให้เดินทางช้าโดยรายงานชี้แจงต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับก็ไม่เป็นไร  แต่ถ้าช้ามากเกินความจำเป็นโดยไม่รายงานชี้แจงขออนุญาต ก็มีความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย
             ( แล้วใครจะลงนามในหนังสือราชการของอำเภอ/เขตใด ใช้ชื่อใด ? )


         7. ดึกวันที่ 26 ส.ค.58 Chavisara Tiandee ถามในแฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  ลูกเรียนครบทุกวิชาในเทอมนี้ (ม.ปลาย 28 วิชา) แต่ไม่มี ชม. กพช. เทอมนี้เขาไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำแล้ว ถาม ผอ.ว่าทำ กพช ช่วงปิดเทอมได้ไหม เขาบอกไม่มี กพช.ตอนปิดเทอม  ถ้าทำเทอมหน้า 200 ชม.เลยเพื่อจบ จะทำได้ไหม เพราะ ผอ.บอกว่าทำเทอมเดียว 200 ชม.ไม่ได้ ช่วยตอบด้วยนะ กลุ้มใจมากเลย

             ผมตอบว่า   จริง ๆ แล้ว ทำได้
             - ทำ กพช.ช่วงปิดเทอมก็ได้
             - ทำ กพช.เทอมเดียว 200 ชม. ก็ได้
             เราไม่จำเป็นต้องทำ กพช.ตามที่สถานศึกษาเป็นผู้กำหนด/เป็นผู้คิดให้ทำเป็นกลุ่ม  ( ที่ถูกต้องตามหลักการคือ นักศึกษาเป็นผู้เสนอโครงการ กพช.โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา  การกำหนดโครงการ กพช.โดยสถานศึกษานั้นผิดหลักการ )  เราสามารถคิดเสนอทำโครงการ กพช.คนเดียวก็ได้ เช่นโครงการจิตอาสาช่วยพัฒนาห้องสมุด ( มาเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ทุกวัน ได้ กพช.วันละ 7 ชม.) เป็นต้น
             ผอ. อาจจะไม่เข้าใจ หรือ ผอ.ไม่มีนโยบาย/ไม่อนุญาตให้ทำอย่างนี้

             ถ้าทำ กพช.เสร็จครบในช่วงปิดเทอม อนุมัติผลก่อนเปิดเทอม ก็ถือว่าจบในภาคเรียนที่ผ่านมา เพียงแต่จบไม่พร้อมรุ่น
             ดูข้อมูลในคำตอบเก่าเรื่องนี้ ในข้อ 2 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย