วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

1.ข้อความตอนท้ายของหนังสือ กศน.เขตดุสิต ดี ... ?, 2.กศน.ตำบล 1 แห่ง มีครู กศน.ตำบล ได้กี่คน.., 3.ห้ามจ้างพนักงานราชการ กศน.ข้ามวงรอบ, 4.ถ้าไม่ได้เรียน ป.บัณฑิต ทำอย่างไรจะได้ใบประกอบวิชาชีพครู, 5.บางแห่งไม่ให้เทียบโอนเข้าเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน ถ้าเรียนมานานแล้ว, 6.ตรวจสอบวุฒิ กศ.ผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ ไม่รู้เกรด, 7.เรียน ป.โท เอกใด/ที่ใด ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้โดยไม่ต้องเรียน ป.บัณฑิต



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันเสาร์ที่ 29 ส.ค.58 ผมเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คของ อ. เอมอร สกุลบริบูรณ์ ซึ่ง อ.เอมอร นำหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบวุฒิของ กศน.เขตดุสิตมาลงในเฟซบุ๊คของ อ.เอมอร โดยบอกว่า ข้อความตอนท้ายๆ ดีนะ ( ข้อความตอนท้ายของหนังสือ กศน.เขตดุสิต ระบุว่า ขอความอนุเคราะห์ให้มหาวิทยาลัย... ... ดำเนินคดีการปลอมแปลงวุฒิเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่นักศึกษาผู้อื่นต่อไป” ) และ อ.เอมอรถามด้วยว่า วุฒิ แบบนี้ ตรงไหนผิดนะ

             เรื่องนี้  ผมคิดว่า
             1)  ดูใบวุฒิคร่าว ๆ ดูยาก  ต้องตรวจสอบกับทะเบียนต้นขั้ว  แต่มีจุดที่น่าสนใจคือ
                  - ใบ รบ.หลักสูตร 44 จะไม่มีเลขที่แบบนี้  ( เลขที่ใบ รบ.แบบนี้ เป็นลักษณะของใบ รบ. หลักสูตร 51 )
                  - บรรทัดที่ 2 ด้านขวา ไม่น่าจะใช้คำว่า "เขต" เฉยๆ น่าจะเป็น "เขต/อำเภอ"
                  - ตำแหน่งผู้บริหารใต้ลายเซ็น ไม่น่าจะพิมพ์สั้นอย่างนี้
                  - ฯลฯ

                   ( นอกจากนี้ มีผู้อื่นร่วมระบุจุดผิดปกติอื่นๆ เช่น

                  - ไม่มีวันที่ที่ ผอ.ลงนาม
                  - ชื่อวิชาในตาราง ต้องชิดเส้นข้างหน้า

                  - รหัสประจำตัวนักศึกษา กับเลขบัตรประชาชน เหมือนกันเลย

                  - ฯลฯ )

             2)  กศน.เขตดุสิต จะต้องเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีเองด้วย ถ้าไม่แจ้งความจะเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
                  ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ( ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2555 ) ปกสีเลือดหมู หน้า 141-143 ( ดูได้ที่ https://db.tt/1ZHSpR3g ) ระบุว่า กรณีเอกสารหลักฐานการศึกษาที่ตรวจสอบนั้น ไม่ใช่เอกสารฉบับจริง มีการปลอมแปลง ให้สถานศึกษาดำเนินการแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง และรายงานให้สำนักงาน กศน.ทราบโดยด่วน
                  ดูข้อมูลในข้อ 6 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/11/etv.html

                  ที่ให้แจ้งความในกรณีนี้ แจ้งความเอาผิด "คนที่นำใบวุฒิปลอมมาใช้สมัคร" เป็นหลัก ส่วนเขาจะซัดทอดไปถึงคนรับจ้างทำปลอมหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลัก  อย่างน้อยคนที่ไปจ้างเขาทำปลอม ( คนที่นำใบวุฒิปลอมมาใช้สมัคร ) ก็ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นตัวอย่าง






         2. ค่ำวันที่ 27 ส.ค.58 ครูเจษ แม่ฟ้าหลวง ถามบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า  กศน.ตำบล 1 แห่ง มีครู กศน.ตำบลได้กี่คน (พนักงานราชการ) ประกอบด้วยปัจจัยอะไรบ้าง? เช่น จำนวนนักศึกษา ฯลฯ

             ผมตอบว่า   ปกติ จะมีอัตราครู กศน.ตำบล ๆ ละ 1 คน  ( ครู กศน.ตำบลทั่วประเทศที่เราได้รับอัตราจาก กพร. จำนวนอัตราตามจำนวนตำบลทั่วประเทศ )  แต่ เนื่องจากในครั้งแรกที่ได้รับอัตราครู กศน.ตำบลมานั้น เรามาให้ครู ศรช.ทั่วประเทศที่มีอยู่ในตอนนั้นสอบเลื่อนเป็นครู กศน.ตำบล
             ซึ่งในขณะนั้น บางตำบลไม่มีครู ศรช. ( ส่วนใหญ่เป็นตำบลในภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ ) แต่ในบางตำบลมีครู ศรช.มากกว่า 1 คน ( ส่วนใหญ่เป็นตำบลในภาคเหนือ ภาคอิสาน และ กทม.)
             เมื่อครู ศรช.ทุกคนในตอนนั้นสอบเป็นครู กศน.ตำบล จึงทำให้รุ่นแรก บางตำบลมีครู กศน.ตำบลมากกว่า 1 คน และบางตำบลไม่มีครู กศน.ตำบลเลย ทั้งๆที่มีอัตราตำบลละ 1 คน
             จะใช้วิธีเกลี่ยจากตำบลที่มีมากกว่า 1 คน ให้ไปอยู่ตำบลที่ไม่มี โดยที่เขาไม่สมัครใจ ก็จะเกิดความเดือดร้อน จึงปล่อยมาจนถึงปัจจุบัน
             โดยจะคอยเกลี่ยอัตราว่าง คือ ถ้าครู กศน.ตำบลในตำบลที่มีมากกว่า 1 คน เกษียณ หรือตาย หรือลาออก หรือเลิกจ้าง จึงค่อยตัดอัตรานั้นไปให้ตำบลที่ไม่มีครู กศน.ตำบล

             สรุป ถ้าปัจจุบันตำบลใดมี 1 คนขึ้นไป จะไม่มีมากกว่านี้อีก ในอนาคตจะลดเหลือ 1 คน ( ถ้ามีจำนวนนักศึกษามาก ให้จ้างครู ศรช.เพิ่ม )  แต่ถ้าตำบลใดยังไม่มีครู กศน.ตำบล ในอนาคตจะมีได้ 1 คน

         3. เย็นวันที่ 31 ส.ค.58 Kare Wiraporn ถามในอินบ๊อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เป็นครูอาสาฯ พนักงานราชการ ทำงานครบ 1 ปี ถ้าผ่านการประเมินแล้ว...ต้องต่อสัญญากี่ปี

             ผมเคยโพสต์ตอบเรื่องนี้นานแล้ว และครั้งนี้ผมก็ตอบถูกต้องไปแล้ว แต่เพื่อความแน่ใจ วันที่ 1 ก.ย.58 ผมเรียนถาม จนท.กจ. ได้รับคำตอบว่า ระยะเวลาทำสัญญาจ้างพนักงานราชการ ให้เป็นดังนี้
             - ถ้าบรรจุใหม่ ให้ทำสัญญา 1 ปี แต่ต้องไม่ข้ามวงรอบ
             - การต่อสัญญาครั้งต่อไป ให้จ้างไปถึงวันสิ้นวงรอบ
             วงรอบการจ้างพนักงานราชการ กศน. ( 4 ปี ) คือ
             - 1 ต.ค.55 ถึง 30 ก.ย.59
             - 1 ต.ค.59 ถึง 30 ก.ย.63
             เช่น ถ้าบรรจุใหม่วันที่ 1 ก.ย.58 ครั้งแรกจะทำสัญญาจ้าง 1 ปี ถึงวันที่ 31 ส.ค.59 จากนั้นต่อสัญญาอีกเพียง 2 เดือน ถึง 30 ก.ย.59 ( จะทำสัญญาเกิน 30 ก.ย.59 ไม่ได้ )
             หลังจากนั้นพนักงานราชการ กศน. ทุกคน ที่บรรจุอยู่ก่อน 1 ต.ค.59 ต้องทำสัญญาใหม่ เป็นสัญญา 4 ปี ( 1 ต.ค.59 ถึง 30 ก.ย.63 )

         4. วันที่ 1 ก.ย.58 Suda Armart กศน.อ.ชนบท ถามในแฟนเพจเฟซบุ๊คผม ว่า  วิธีการที่จะได้ใบประกอบวิชาชีพครู นอกจากการเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครูแล้ว ตอนนี้คุรุสภา มีเปิดอบรมมาตรฐานความรู้วิชาชีพครู 9 มาตรฐาน แต่ก็ยังมีเงื่อนไขว่าสำหรับผู้ที่จบการศึกษาก่อนปี 2557 ไม่สามารถขอเทียบโอนความรู้ได้  ถามว่าพอจะมีวิธีการใดบ้าง (ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีครู ที่ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ประมาณ 10 คน)

             ผมตอบว่า   ผู้ที่มีสิทธิเข้าอบรมคือ ทุกคนที่ผ่านอย่างน้อย 1 มาตรฐานแล้ว  ส่วนการเทียบโอน ถ้าเริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 คุรุสภาไม่รับเทียบโอนแล้ว ( ผู้ที่เริ่มเรียนไม่เกินปีการศึกษา 2556 ต้องยื่นขอเทียบโอนภายใน 1 ปีนับจากวันอนุมัติให้จบหลักสูตร )
             นอกจากการอบรม และการเรียน ป.บัณฑิต ปัจจุบันจะเหลืออีก 1 วิธีที่จะนำไปสู่การขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู คือ การเรียน ป.ตรีทางการศึกษา ( หลักสูตร 5 ปี ) หรือเรียน ป.โททางการศึกษา ที่คุรุสภารับรอง

         5. คืนวันเดียวกัน ( 1 ก.ย.) YiNg Nui ถามเรื่องการเทียบโอนเข้าสู่ กศ.ขั้นพื้นฐาน ในอินบ๊อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า
             1)  กรณีที่เรียนไม่จบ ป.6 เทอมสอง สามารถเทียบโอนวิชาที่เรียนมาตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 เทอมหนึ่ง ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ต้องเรียนเพิ่มอีกกี่ปี
             2)  ถ้าอยากเรียนแบบทางไกล จำเป็นต้องมาสอบปลายภาคทุกเทอมหรือไม่

             ผมตอบว่า
             1)  สามารถเทียบโอนวิชามาเรียนต่อระดับประถม เพื่อให้เรียนจบระดับประถมเร็วขึ้นได้
             2)  เรียนแบบทางไกลก็จำเป็นต้องมาสอบปลายภาคทุกภาคที่ลงทะเบียนเรียน

             ผู้ถาม ๆ ต่อ ว่า ถ้ากรณีเรียนมานานแล้ว ยังโอนได้เหมือนเดิมใช่ไหม สอบถามที่ กศน.อื่น จนท.เเจ้งว่า ต้องเรียนใหม่หมด
             ผมตอบว่า  ปกติ การเทียบโอนการเรียนวิชาสามัญที่เป็นระดับชั้นต่าง ๆ ส่วนกลางไม่ได้กำหนดว่าต้องเรียนมาแล้วไม่เกินกี่ปี แม้แต่จบ ป.4 ตั้งแต่สมัยก่อน ถ้ามีหลักฐาน ยัง ให้เทียบโอนได้ถึง 24 หน่วนกิต  การเรียนถึง ป.6 เทอมแรก ก็ต้องเทียบโอนได้ไม่น้อยกว่า 24 หน่วยกิต  แต่บางสถานศึกษาเขาอาจกำหนดเองว่าต้องจบมาไม่เกินกี่ปี ซึ่งเขาก็มีอำนาจกำหนดลักษณะนี้ได้

         6. วันที่ 2 ก.ย.58 อ.สุริยัญ มีจันทร์ โทร.มาถามผมว่า  นักศึกษาทำใบวุฒิ กศ.ผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จ สูญหาย มาขอใบแทน  จังหวัดมอบให้ กศน.อำเภอดำเนินการ ตรวจสอบหลักฐานพบว่าเรียนจบแต่ไม่พบข้อมูลระดับผลการเรียน ( เกรด ) จะทำอย่างไร

             ผมตอบว่า   ถ้าเรียนก่อนจัดตั้งศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ หลักฐาน-เอกสารต่างๆ จะไม่อยู่ที่ กศน.อำเภอ จังหวัดจะมอบให้ กศน.อำเภอดำเนินการไม่ได้ จังหวัดต้องดำเนินการเอง โดยถ้าเป็นหลักสูตรก่อนหลักสูตรปี 44 ให้ออกเป็น หนังสือรับรองหรือใบรับรองตามระเบียบงานสารบรรณตามแบบที่กำหนด ไม่ใช่ออกเป็นใบแทนใบ รบ. และไม่ใช่ออกเป็นใบรับรองที่มีกำหนดอายุ 60 วัน
             ถ้ามีหลักฐาน-เอกสารว่าเรียนจบจริง แต่ข้อมูลผลการเรียนสูญหาย ก็ออกหนังสือรับรองโดยไม่ต้องระบุผลการเรียนก็ได้
             ดูข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ในข้อ 2 (5) ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/11/ep.html

         7. ตามที่ผมเคยโพสต์ในเฟซบุ๊คว่า  ปัจจุบันนี้การจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่มีการทดสอบตามมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐานแล้ว เหลือเพียง 4 วิธี คือ
             1)  การอบรมตามมาตรฐานวิชาชีพ 9 มาตรฐาน  ( ผู้มีสิทธิเข้าอบรมคือผู้ที่ผ่านมาตรฐานวิชาชีพแล้วอย่างน้อย 1 มาตรฐาน อาจเคยผ่านโดยการทดสอบ หรือการเทียบโอน ซึ่งการเทียบโอนสำหรับผู้ที่เริ่มเรียนก่อนปีการศึกษา 2557 ต้องยื่นขอเทียบโอนภายใน 1 ปี นับจากวันอนุมัติจบหลักสูตร ส่วนผู้ที่เริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 คุรุสภาไม่รับเทียบโอนแล้ว )
             2)  การเรียน ป.บัณฑิต  ( ปัจจุบันมีสิทธิเรียน ป.บัณฑิตวิชาชีพครู เฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่สอนอยู่ และมี หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ )
             3)  เรียน ป.ตรีทางการศึกษา หลักสูตร 5 ปี ( หลักสูตรใหม่ ตาม 11 มาตรฐานวิชาชีพครู ) ที่คุรุสภารับรอง
             4)  เรียน ป.โททางการศึกษา ที่คุรุสภารับรอง

             ทั้ง 4 วิธีนี้ ต้องมีประสบการณ์การสอนด้วย ( ถ้าเป็นการเรียน ป.บัณฑิต หลักสูตรปัจจุบัน ตามข้อ 2 กับ เรียน ป.ตรีทางการศึกษา หลักสูตร 5 ปี ตามข้อ 3 จะมีการจัดประสบการณ์การสอนให้ในระหว่างเรียนแล้ว แต่การอบรมตามข้อ 1 กับการเรียน ป.โททางการศึกษาตามข้อ 4 ถ้ายังไม่มีประสบการณ์การสอน จะขอได้เฉพาะ ใบอนุญาตปฏิบัติการสอนเพื่อไปหาประสบการณ์การสอนก่อน

             เมื่อเรียนจบตามวิธีที่ 2-3 และมีประสบการณ์การสอนแล้ว ปัจจุบันถ้าเริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 จะต้องสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับคุรุสภาอีกด้วย ส่วนผู้ผ่านการอบรมตามวิธีที่ 1 ถ้ามีประสบการณ์การสอนแล้ว ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้เลย ไม่ต้องสอบรับใบอนุญาตอีก
             การสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ไม่เหมือนกับการทดสอบตามมาตรฐานวิชาชีพครู 9 มาตรฐาน  โดย อ.สมกมล คุรุสภา บอกว่า สถาบันที่เรียนจะประสานงานกับคุรุสภาเพื่อดำเนินการสอบรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูให้เมื่อเรียนจบ ขณะนี้ ( ก.ย.58 ) ยังไม่เคยมีการสอบลักษณะนี้ เพราะผู้ที่เริ่มเรียนหลังปีการศึกษา 2556 ยังเรียนไม่จบ ไม่ต้องวิตกกังวลใดๆ เรียนมาจนจบหลักสูตร สอบได้อยู่แล้ว

             หลังจากที่ผมโพสต์ไป ปรากฏว่า วันที่ 3 ก.ย.58 อ.ฐิฎา กศน.อ.อุทัย คุยกับผมด้วยวาจา ว่า  จะแนะนำให้น้องๆที่ กศน.อ.อุทัย ซึ่งมีวุฒิ ป.ตรีแล้ว ใช้วิธีที่ 4 คือเรียน ป.โทที่คุรุสภารับรอง เพราะจะได้วุฒิ ป.โทด้วย ถ้าเรียน ป.บัณฑิต จะได้วุฒิ ป.บัณฑิตซึ่งสูงกว่า ป.ตรี แต่ต่ำกว่า ป.โท  และถามผมว่า เรียน ป.โท เอกใด/ที่ใด ที่ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้

             ผมตอบว่า  ขณะนี้ ( ก.ย.58 ) ป.โททางการศึกษาที่คุรุสภารับรองนี้ มีสถาบันที่คุรุสภารับรอง 17 รายการ ( ในอนาคตจะมีมากขึ้น ) ดูชื่อสถาบันและสาขาวิชาเอกที่คุรุสภารับรองได้ที่
             http://www.ksp.or.th/ksp2013//download-file/index.php?ref=qmWZZ205M3S0EJyxrTyjMT0zq3AZMJ1fM2y0EzyyrT5jG21kq0IZoz1iM2y0qTywrTRoSo3Q

             ส่วน ป.ตรีทางการศึกษา หลักสูตร 5 ปี มีสถาบันที่คุรุสภารับรอง 336 รายการ ดูได้ที่
             http://www.ksp.or.th/ksp2013/download-file/index.php?ref=qmqZZ202M3S0EJyxrTyjMT0zq3AZMJ1fM2y0EzyyrT5jG21kq0IZoz1iM2y0qTywrTRoSo3Q


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย