วันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

1.จบประถม กศน.อายุยังไม่ครบ 15 จะต่อ ม.ต้น ต้องขอ สพม.ไหม, 2.หลักสูตรระยะสั้น วันละไม่เกินกี่ชั่วโมง, 3.การทำลายแบบทดสอบ, 4.เทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ กลุ่มไหนได้บ้าง, 5.นศ.สาวประเภทสอง แต่งหญิงถ่ายรูปติดบัตรประจำตัว + ติดใบ รบ. ได้ไหม, 6.เคยเรียนวิชาการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นวิชาเลือกมาแล้ว ต้องเรียนเป็นวิชาเลือกบังคับอีกไหม, 7.ระเบียบข้อปฏิบัติการอยู่เวร



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เช้ามืดวันเสาร์ที่ 23 เม.ย.59 ปิ่นโต เถา หย่ายย ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  นักศึกษาที่อายุไม่ถึง 15 ปี คืออายุ 13 ปี จะต้องเรียนระดับประถมศึกษากับ กศน.กี่ปี  (ไปขอหนังสือส่งตัวมาจาก สพป.แล้ว)
             ถ้าเรียนจบประถมแล้วต้องการเรียนต่อ ม.ต้น จะต้องไปขอหนังสือส่งตัวจาก สพม.ด้วยมั้ย เพราะถ้าเรียน 2 ปี อายุก็จะยังไม่ถึง 15 ปี และระยะเวลาเรียน ม.ต้นกี่ปี

             ผมตอบว่า  ผมโพสต์เรื่องนี้เป็นระยะ ๆ  3-4 ครั้งแล้ว เช่นในข้อ 7 (2) ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/youtube.html เข้าไปอ่านดูนะ
             หลักสำคัญในการจบ กรณีของเด็กในวัยเรียน ต้องครบทั้ง 2 ข้อ คือ
             1)  ต้องเรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร และ
             2)  จะจบประถมต้องอายุ 12 ปีเต็ม จะจบ ม.ต้น ต้องอายุ 15 ปีเต็ม ไม่ว่าจะมีการเทียบโอนหรือไม่ก็ตาม
             ส่วนเวลาเรียนจะเป็นกี่ปีไม่สำคัญ อาจน้อยกว่า 3 ปี หรือมากกว่า 6 ปีก็ได้ ให้ยึดอายุเป็นหลัก

             ในประเด็นที่ว่า ขอหนังสือส่งตัวมาเรียนจบประถมแล้วอายุก็ยังไม่เต็ม 15 ปี จะเรียนต่อ ม.ต้น ต้องไปขอหนังสือส่งตัวจากเขตพื้นที่เพื่อมาเรียน ม.ต้นอีกไหม  ให้ดูที่หนังสือส่งตัว ถ้าเขาระบุชัดว่าส่งมาเรียนประถม ก็ต้องไปขอหนังสือส่งตัวมาเรียน ม.ต้นอีก  แต่โดยทั่วไปจะไม่ได้ระบุชัดอย่างนั้น ก็สามารถเรียนต่อ ม.ต้นกับเราได้เลย ไม่ต้องไปขอหนังสือส่งตัวใหม่อีก

         2. วันที่ 26 เม.ย.59 Bigwong Nfe ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเบิกจ่ายค่าตอบแทน หลักสูตรระยะสั้น ตามคู่มือได้กำหนดไหมว่า วันหนึ่งเบิกได้ไม่เกินกี่ชั่วโมง  ผู้บริหารบอกว่าเบิกได้ไม่เกินวันละ 5 ชม.เท่านั้น  แต่ตามความเข้าใจคือสามารถเบิกกี่ ชม. ก็ได้ เพราะหนังสือไม่ได้กำหนดไว้

             ผมตอบว่า   ระเบียบเดิม กำหนดให้สอนวันละ 3 ชั่วโมง ถ้าเกินต้องขออนุมัติ แต่ต้องไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง และไม่เกินสัปดาห์ละ 30 ชั่วโมง   แต่ ระเบียบหลักเกณฑ์/คู่มือ ปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดเรื่องจำนวนชั่วโมงการเรียนการสอนในแต่ละวันไว้แล้ว  จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารว่าจะกำหนดหรือไม่ จะให้แจ้งเหตุผลเพื่อขออนุมัติเมื่อเกินกำหนดหรือไม่ อย่างไร
 

         3. วันที่ 28 เม.ย.59 Pornprasit Tae-mai ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เรื่องทำลายแบบทดสอบ การสอบวัดผลสัมฤทธิ์ฯ สำนักงาน กศน. ใช้ระเบียบไหน

             ผมตอบว่า   ดูใน “คู่มือดำเนินการจัดสอบเพื่อวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาฯ” หน้า 22 ข้อ 5.3  ( ตามภาพประกอบ )







         4. เย็นวันเดียวกัน ( 28 เม.ย.) Nuttery Ratana ถามบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊คผม ว่า
             1)  การเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ นศ.พื้นฐาน อพปร. เทียบโอนได้ไหม
             2) ใช้เทียบกับกลุ่มไหนได้บ้าง เช่นผู้นำ

             ผมตอบว่า การเทียบโอนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ มี 8 กลุ่ม ( ไม่มี อพปร.) คือ
             1) กลุ่ม อสม.
             2) กลุ่มสมาชิกและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
             3) กลุ่มผู้นำท้องที่
             4) กลุ่มทหารกองประจำการ-ทหารประจำการ-อาสาสมัครทหารพราน
             5) กลุ่มผู้มีความรู้และประสบการณ์จากการประกอบอาชีพ
             6) กลุ่มผู้เรียนในสถาบันศึกษาปอเนาะ-โรงเรียนเอกชนที่สอนศาสนาอิสลาม
             7) กลุ่มสมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
             8) กลุ่มผู้นำและสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตร

             ดูในหนังสือปกสีเขียว “แนวทางการเทียบโอนผลการเรียน จากความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราชช 2551”
             หนังสือนี้ ส่วนกลางส่งให้ทุกอำเภอแล้ว ( ส่งให้พร้อมกับเล่มสีน้ำเงิน “การเทียบโอนจากหลักสูตร 44 เข้าสู่หลักสูตร 51” )
             ดูภาพปกในข้อ 2 ที่  http://www.gotoknow.org/blogs/posts/487113
              ( ถ้าหาเล่มสีเขียวนี้ไม่เจอ ดาวน์โหลดไฟล์ที่  https://dl.dropbox.com/u/109014048/teboon.rar )

 

         5. เมื่อประมาณเดือน มี.ค.59  มี ผอ.กศน.อ. โทร.มาถามผมว่า นศ.สาวประเภทสอง แต่งหญิงถ่ายรูปมาติดบัตรประจำตัวนักศึกษาได้ไหม

             เนื่องจากถามทางโทรศัพท์กะทันหัน ผมไม่มีเวลาศึกษาค้นคว้า ได้ตอบว่า
             ในคู่มือการดำเนินงาน ( คู่มือการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นระเบียบให้ปฏิบัติ ) กำหนดว่า
              “รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 4 รูป หน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก สวมเสื้อสีขาวมีปกหรือชุดสุภาพ ( ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่ใช้รูปถ่ายประเภทโพลาลอยด์ ) เพื่อใช้ติดใบสมัคร 1 รูป ติดบัตรประจำตัว 1 รูป ติดสมุดประจำตัวนักศึกษา 1 รูป และสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็น 1 รูป”
             ส่วนรูปติดใบ รบ. ไม่ได้กำหนดลักษณะของรูปไว้ จึงอนุโลมให้เป็นลักษณะเดียวกัน

             ผมตอบว่า   ถ้าผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละแห่ง จะไม่อนุญาตให้สาวประเภทสองแต่งหญิงถ่ายรูปมาติดบัตร ก็อาจจะอ้างเรื่อง “ไม่สุภาพ”

             หลังจากตอบไปแล้ว ผมตั้งใจว่าจะศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง แต่ก็ลืมไป วันนี้วันหยุด ( เสาร์ที่ 7 พ.ค.59 ) นึกขึ้นได้
             จากการศึกษา  เห็นว่า นับวันประเทศต่าง ๆ จะให้สิทธิทางเพศมากขึ้นเรื่อย ๆ สถาบันการศึกษาหลายแห่งให้สาวประเภทสองแต่งหญิงเข้าเรียนได้  รัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ให้สิทธิทางเพศกำเนิดและเพศสภาพมากขึ้น  ปัจจุบัน กทม.กำหนดเรื่องการทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ทุกเขตอนุญาตให้สาวประเภทสองแต่งหญิงจัดเต็ม ( เสื้อผ้าหน้าผม เป็นหญิง แต่งหน้าเหมือนเวลาเธอแต่งตัวออกจากบ้านไปเที่ยว ) ทำบัตรประจำตัวประชาชนได้ แต่ต้องแต่งกายไม่โป๊เกินไป อย่างเช่น เสื้อเกาะอก เสื้อสายเดี่ยว ห้ามเด็ดขาด เน้นการแต่งกายสุภาพเคารพสถานที่ราชการ

             ฉะนั้น จึงให้นักศึกษาที่เป็นสาวประเภทสอง แต่งหญิงถ่ายรูปมาสมัครเรียน+ติดบัตรประจำตัว นศ.+ติดใบ รบ. ได้
              ( ตามหลักการ รูปถ่ายต้องเหมือนตัวจริง เพื่อการตรวจสอบ  เมื่ออนุญาตให้แต่งหญิงเข้าห้องสอบได้ ในการตรวจสอบดูรูปในบัตรว่าตัวจริงมาเข้าสอบเองหรือไม่ ถ้าตัวจริงแต่งหญิง ส่วนรูปมีความแตกต่าง ก็จะยากในการตรวจสอบ )

 

         6. เช้ามืดวันเสาร์ที่ 14 พ.ค.59 Malee Pangdee ถามต่อโพสต์ผมในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  วิชาการใช้พลังงานไฟฟ้าฯเคยเป็นวิชาเลือกทั่วไปมาก่อน ถ้านักศึกษาเรียนไฟฟ้าวิชาเลือกไปแล้ว ต้องเรียนไฟฟ้าเลือกบังคับอีกมั้ย

             ผมตอบว่า   หมายถึงนักศึกษาเก่าใช่ไหม นักศึกษาเก่าไม่จำเป็นต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ ( เรียนก็ได้ไม่เรียนก็ได้ )  ถ้าเป็นวิชาเดียวกัน ไม่ให้เรียนซ้ำอีก
             วิชาเลือกบังคับที่พัฒนามาจากวิชาเลือกเดิม ถ้ามีเนื้อหาสอดคล้องกันไม่น้อยกว่า 60 % ก็ไม่ให้เรียนซ้ำ
             แต่ถ้าเป็นนักศึกษาใหม่ ถึงแม้จะเคยเรียนวิชาเลือกนี้ตอนเรียนในระดับที่ต่ำกว่า ก็ให้เรียนวิชาเลือกบังคับด้วย

 

         7. คืนวันเสาร์ที่ 21 พ.ค.59 พงษ์ธวัช ตั้งฑีฆะรักษ์ ถามในอินบ็อกซ์เฟสบุ๊คผม ว่า  ขอระเบียบ หรือแนวทางข้อปฏิบัติการอยู่เวรรักษาการที่ สถานศึกษา กศน.อำเภอ. ที่ กศน.ใช้กันอยู่  คืออยากทราบ เช่น
             - เวรรกลางวันให้อยู่กี่คน  เวรกลางคืนอยู่กี่คน
             - ผู้หญิงสามารถอยู่เวรกลางคืนได้ไหมและกี่คน  เป็นต้น

             ผมตอบว่า   ช่วยหาดูในคำตอบเก่าที่ผมเคยตอบ เช่นในข้อ 7 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/06/12.html
             ( จำนวนคนอยู่ในข้อ 3 ของหลักเกณฑ์ )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย