วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

1.นศ.กศน.เป็นกลุ่มเป้าหมาย กศ.ต่อเนื่องได้ไหม, 2.เนื้อหาเรื่องใดเป็นทักษะชีวิต, 3.จ้างพิมพ์หนังสือ 2 แสน ไม่ทำสัญญาได้ไหม, 4.การจ้างครูประเภทต่าง ๆ แบบจ้างเหมาบริการ, 5.พนักงานราชการย้าย(ปฏิบัติงานนอกพื้นที่) ข้ามจังหวัด-จังหวัดที่มีครู กศน.ตำบล เกิน/ขาด, 6.ใบวุฒิปลอม ออกโดย กศน.ตำบล, 7.ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ เป็นช่างพื้นฐานหรือไม่



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้
 

         1. เช้าวันที่ 23 มิ.ย.59 Pattanan Dondee ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  กลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง กรณีเป็นนักศึกษาหลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐานสามารถนำมาเป็นกลุ่มเป้าหมายในการจัดกิจกรรมได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   กลุ่มเป้าหมายคือประชาชน  แต่ นศ.กศน.ขั้นพื้นฐาน ก็เป็นประชาชน ย่อมเป็นกลุ่มเป้าหมายได้  แต่ถ้ากลุ่มนั้นมีแต่ นศ.กศ.ขั้นพื้นฐานล้วน ๆ ก็ไม่เหมาะ โดยเฉพาะถ้าจัดในช่วงเวลาพบกลุ่ม กศ.ขั้นพื้นฐาน โดยงด/ไม่เลื่อนการพบกลุ่ม ยิ่งไม่ถูก
 

         2. ครู กศน.ตำบลที่ กศน.อ.ผักไห่ คนหนึ่ง ไม่เข้าใจความแตกต่างของ วิชาชีพ-ทักษะชีวิต-เศรษฐกิจพอเพียง-เทคโนโลโยลีที่เหมาะสม เช่น เสนอขอจัด กศ.ต่อเนื่อง ในเรื่องแนะแนวการศึกษาต่อ  เสนอจัดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในเรื่องเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร  เสนอจัดทักษะชีวิตในเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัว

             ผมอธิบายว่า  การแนะแนวการศึกษาต่อเป็น กศ.ขั้นพื้นฐานมากกว่า กศ.ต่อเนื่อง  การปลูกพืชผักสวนครัวเป็นเศรษฐกิจพอเพียงมากกว่าทักษะชีวิต  ให้หาวิชาใหม่  วิชาที่เขาหามาใหม่ก็ไม่ตรงอีก  บางครั้งผมก็ปล่อยผ่านเรื่องส่งให้จังหวัดพิจารณา เพราะอธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ   มาแนะนำในเฟซบุ๊คนี้ดีกว่า

             "ทักษะชีวิต" จัดฝึกอบรมได้ใน "เนื้อหาวิชา" 7 เรื่อง ได้แก่
              ( เนื้อหาวิชาเหล่านี้ ให้จัด "กิจกรรม" ให้เกิดทักษะชีวิต 10 ทักษะ คือ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การสร้างสัมพันธภาพ การตระหนักรู้และเห็นคุณค่าในตนเอง ความเห็นใจผู้อื่น การจัดการกับอารมณ์ การจัดการกับความเครียด )
             1)  สุขภาพกาย-จิต
             2)  ยาเสพติด
             3)  เพศศึกษา
             4)  คุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์
             5)  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
             6)  ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
             7)  ประชาธิปไตยในวิถีชีวิต

         3. วันที่ 23 มิ.ย.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊กผม ว่า  จ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนงบ 2 แสนบาท ใช้ใบสั่งจ้างหรือสัญญาจ้าง  เห็น ผอ. บอกว่าใช้ใบสั่งจ้างก็ได้

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบพัสดุ ข้อ 133 การซื้อการจ้างโดยวิธีตกลงราคา กับวิธีพิเศษ ใช้ใบสั่งซื้อ/จ้างแทนสัญญาได้ อยู่ในดุลยพินิจ อาจให้ทำสัญญาเพื่อความรัดกุม  ( ช่วง 1 ต.ค.58 - 30 ก.ย.59 วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาท ใช้วิธีตกลงราคาได้ )  ลักษณะเดียวกับที่ผมเคยตอบใน
             - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/09/n.html  และ
             - ข้อ 4 (2) ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/10/sar.html

 

         4. วันเดียวกัน ( 23 มิ.ย. ) ส่วนกลางส่งเรื่องการจ้างครูประเภทต่าง ๆ แบบจ้างเหมาบริการ ให้ทุกจังหวัดทางอีเมล

             ดูได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/teacherJang.pdf  

              ( ครูสอนคนพิการ, ครู ปวช., ครู กพด., ครูชาวเล, ครู ศรช., ครูบ้านยามชายแดน, ครูผู้สอนเด็กเร่ร่อน, ครูประจำกลุ่มยกเว้นครูประจำกลุ่มที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ )

             ส่งตัวอย่างแบบฟอร์มสัญญาจ้างให้ด้วย
             ถ้าจ้างด้วยเงินอุดหนุน เช่น ครู ศรช. ให้จ้างครั้งละ 6 เดือน ( ครึ่งปีงบประมาณ )  ถ้าจ้างด้วยงบดำเนินงาน เช่น ครู กพด. ครูบ้านยามชายแดน ให้จ้างครั้งละ 1 ปีงบประมาณ
             ถ้าจ้างโดยวิธีตกลงราคา หรือวิธีพิเศษ โดยไม่ทำสัญญา จะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้

             การจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ
             ค่าเบี้ยเลี้ยงไปราชการวันละ 240 บาท  ค่าที่พักเบิกได้ตามระเบียบ  ค่าพาหนะตามความจำเป็นและประหยัด  ค่าทำงานนอกสัญญา ชั่วโมงละ 50 บาท

         5. จังหวัดที่มีครู กศน.ตำบล เกิน/ขาด, พนักงานราชการย้าย ( ปฏิบัติงานนอกพื้นที่ ) ข้ามจังหวัด  อ่านข้อ 2 ของหนังสือแจ้งที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/PRGchenge.pdf

         6. วันที่ 24 มิ.ย.59 ผอ.กศน.อ.สวรรคโลก โทร.มาถามผม ว่า  มีวิทยาลัยชุมชน ส่งใบวุฒิการศึกษาที่ระบุว่าเรียนจบจาก กศน.ตำบลแห่งหนึ่งในอำเภอสวรรคโลก มาให้ กศน.ตำบลแห่งนั้นตรวจสอบ ซึ่งเป็นใบวุฒิปลอม กรณีนี้ใครจะเป็นผู้แจ้งความ

             ผมตอบว่า   ปกติสถานศึกษาที่ถูกปลอมแปลงเอกสารจะเป็นผู้แจ้งความ แต่ กศน.ตำบลไม่ใช่สถานศึกษา  อย่างไรก็ตาม กศน.ตำบลเป็นส่วนหนึ่งของ กศน.อ.สวรรคโลก ฉะนั้น กศน.อ.สวรรคโลกอาจจะต้องเป็นผู้แจ้งความ แต่ผมไม่แน่ใจจึงแนะนำให้หารือนิติกร กจ.กศน.
             กศน.อ.สวรรคโลกได้หารือ กจ.กศน. และผมเองก็หารือเรื่องนี้กับท่านวรวิทย์ หัวหน้ากลุ่มงานวินัยและนิติกร กจ.กศน.ด้วย  จากการหารือกันสรุปว่า กศน.ตำบลเป็นส่วนหนึ่งของ กศน.อ.สวรรคโลก ปกติต้องรายงานให้ปลัดกระทรวงมอบอำนาจให้ไปแจ้งความ แต่เรื่องการปลอมแปลงเอกสารใบวุฒิปลอมนี้ ในเบื้องต้นให้ กศน.อ.สวรรคโลกไปแจ้งความ และรายงาน สนง.กศน.จังหวัดโดยเร็ว เพื่อให้จังหวัดรายงานเข้าไปส่วนกลางต่อไป

 

         7. วันที่ 6 ก.ค.59 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  หลักสูตรช่างพื้นฐาน เราสามารถเปิดหลักสูตรช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่  หัวหน้างานต่อเนื่องที่อำเภอบอกว่าไม่สามารถเปิดได้ ต้องเป็นช่างปูน ช่างประปาหรือช่างไฟฯ  ส่วนช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ไม่ถือเป็นช่างพื้นฐาน

             ผมตอบว่า   หลักสูตรช่างพื้นฐาน ( ช่างภายในบ้าน ) เช่น ช่างไม้ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างปูน ช่างทาสี ช่างเชื่อม ช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและเครื่องใช้สำนักงาน
             ส่วนช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ แล้วแต่จะตีความ บางคนก็ว่าช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ไม่ใช่ช่างพื้นฐาน บางคนก็ว่าใช่เพราะคอมพิวเตอร์ก็เป็นเครื่องใช้ภายในบ้าน
             เปิดไปก็ไม่ผิด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย