วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

1.ผู้รับจ้างเหมาบริการ/ประชาชนทั่วไป/พ่อค้าคหบดี ประดับเหรียญได้ไหม, 2.แพรแถบย่อเครื่องราชฯกรณีเปลี่ยนสังกัด, 3.ขอไปช่วยราชการแทนอัตราที่เกษียณไปได้ไหม, 4.คำถามน่าคิด (ใบวุฒิเป็นสามเณรสูญหาย มาขอใหม่จะใช้รูปปัจจุบันและคำหน้าหน้าชื่ออย่างไร ไม่มีรูปตอนเป็นสามเณรแล้ว), 5.ใครบอกให้ ผอ.เซ็นชื่อคาบรูปในใบ รบ., 6.นศ.หญิงมุสลิมใช้รูปถ่ายที่คลุมศีรษะ ติดใบ รบ.ได้ไหม, 7.อยากให้ปรับปรุงสิทธิของ ครู ศรช.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. ดึกวันที่ 27 ต.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องเกี่ยวกับแพรแถบ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ธกส. ติดแพรแถบตามปีเกิดได้ใช่มั้ย เพราะเท่าที่ถามพี่ๆที่ทำงานบางคนก็ว่าติดได้บางคนก็ว่าติดไม่ได้เราไม่ใช่ข้าราชการ

             ผู้ที่จะอ่านคำตอบต่อไปนี้ของผมให้เข้าใจ ขอให้ไปศึกษาความแตกต่างของ 4 ข้อนี้ก่อน
             1)  เครื่องราชอิสริยาภรณ์  ( ต้องขอพระราชทาน )
             2)  เหรียญที่ระลึก  ( ไม่ต้องขอพระราชทาน )
             3)  เหรียญตราจริง
             4)  แพรแถบย่อแทนเหรียญตราจริง  ( ปกติแพรแถบย่อ 1 แท่งแนวนอน จะมี 3 ท่อนต่อกัน แทน 3 เหรียญ )
             สี่อย่างนี้แตกต่างกัน โดย เครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็มีทั้งเหรียญตราจริงของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และแพรแถบย่อแทนเหรียญเครื่องราชอิสริยาภรณ์
             เหรียญที่ระลึกก็มีทั้งเหรียญที่ระลึกจริง และแพรแถบย่อแทนเหรียญที่ระลึก
             สายแพรของเหรียญแต่ละชนิดจะมีสีและลายเฉพาะตัวไม่ซ้ำกัน โดยสีและลายของแพรแถบย่อจะเหมือนกับสีและลายสายแพรของเหรียญจริงแต่ละชนิด

             งานพิธีที่ให้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ/เต็มยศ จะประดับเหรียญจริง ไม่ประดับแพรแถบย่อฯ ถ้าไม่มีเหรียญจริงก็ไม่ต้องประดับทั้งเหรียญจริงและแพระแถบย่อฯ
             งานพิธีที่ให้แต่งเครื่องแบบปกติขาว-กากี จะประดับแพรแถบย่อฯ ไม่ประดับเหรียญจริง

             ผมตอบว่า   คนไทยทุกคนประดับ เหรียญที่ระลึกหรือแพรแถบย่อเหรียญที่ระลึก ได้  โดยถ้าเป็นเครื่องแบบพิธีการครึ่งยศ/เต็มยศ คือเสื้อขาว กางเกง/กระโปรงดำ จะประดับแพรแถบย่อไม่ได้นะ ต้องประดับเหรียญตราจริง โดยแพรแถบย่อใช้ประดับแทนเหรียญตราในกรณีไม่ได้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ/เต็มยศ  ( เครื่องแบบครึ่งยศคือเครื่องแบบเต็มยศที่ไม่สวมสายสะพาย )
             แม้แต่ประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหบดี ผู้รับจ้างเหมาบริการ ที่ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯก็ประดับเหรียญที่ระลึกได้ และใช้หลักเกณฑ์เดียวกันด้วย คือ ใครเกิดทันปีที่ออกเหรียญที่ระลึกใด ก็มีสิทธิ์ประดับเหรียญนั้นทุกคน ( ถ้าเป็นแพรแถบย่อของเหรียญที่ระลึกล้วน ๆ จะไม่มีช้างไม่มีมงกุฎอยู่ในนั้น )

             แต่ก็ต้องประดับให้ถูกกับงาน และใส่ชุดให้ถูก เช่น ประดับร่วมงานพิธีวันปิยมหาราชใช้แพรแถบย่อ  งานพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระเจ้าอยู่หัวใช้เหรียญตราจริง

             โดยถ้าเป็นประชาชนทั่วไป พ่อค้าคหบดี ผู้รับจ้างเหมาบริการ
             - บุรุษ  ประดับกับเครื่องแบบขอเฝ้า ( ชุดขาวราชประแตน เช่นเดียวกับชุดชาวข้าราชการทั่วไป แต่ที่ปกคอเสื้อใช้แผ่นทาบคอกิ่งชัยพฤกษ์ประกอบด้วยใบข้างละ ๕ ใบ แทนเครื่องหมายส่วนราชการ และไม่มีอินทรธนูที่บ่า กระดุมเสื้อเป็นกระดุมเกลี้ยงสีทอง )
             - สตรี  จะไม่มีเครื่องแบบขอเฝ้าที่เป็นชุดขาวเหมือนบุรุษ ให้ประดับกับ ชุดไทย คือชุดไทยจิตรลดา ไทยอมรินทร์ ไทยบรมพิมาน สีพื้น สวมถุงน่องไม่ให้เห็นผิวเนื้อเท้า






         2. คืนวันเดียวกัน ( 27 ต.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ค ว่า  ดิฉัน ครูอาสาฯ สอบขึ้นบัญชีผู้สอบได้ครูผู้ช่วยของ กศจ. เรื่องเครื่องราชฯที่ได้รับเครื่องจริง จ.ม. จะต้องส่งคืนหรือเปล่า และอีกอย่างหากเราจะติดแพรแถบเครื่องราชกับชุดกากีในฐานะครูผู้ช่วย กศจ.นั้น สามารถติดแพรแถบต่อเนื่องจาก กศน.ได้หรือเปล่า

             ผมตอบว่า   ดูในคำตอบเดิม ๆ ที่ผมโพสต์ 3 ครั้งแล้ว เช่น ในข้อ 1 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/11/youtube.html
              ( เครื่องราชฯของทุกสังกัดเหมือนกัน แพรแถบย่อหรือแถบจำลองเครื่องราชฯก็คือแทนเหรียญเครื่องราชฯ เมื่อยังไม่ต้องส่งคืนก็ประดับต่อไปได้ )

         3. เช้าวันที่ 31 ต.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เป็น ขรก.ครู สามารถขอไปช่วยราชการแทนในอำเภอที่ตำแหน่ง ขรก.ครูพึ่งเกษียณไป กย. ได้เลยไหม

             ผมตอบว่า   เมื่อเกษียณ อัตราจะถูกตัดไปก่อน
             และเมื่อ กรมบัญชีกลาง-ก.ค.ศ. คืนอัตราเกษียณมาให้สังกัดต่าง ๆ ( ซึ่งต้องใช้เวลา เมื่อก่อนใช้เวลาเกินครึ่งปี เดี๋ยวนี้เร็วขึ้น ) จะมีการนำอัตราที่ได้คืนนั้นมาจัดสรรใหม่ ซึ่งอาจจะไม่ได้จัดสรรให้ที่เดิม
             ฉะนั้น ที่เดิมอาจไม่มีอัตราที่จะบรรจุคนใหม่แล้ว
             ลองติดต่อสอบถาม กจ.กศน. ดูนะ 02-2822159
             ( การขอย้าย/ขอไปช่วยราชการ นอกช่วงเวลาที่กำหนด เราต้องมีเหตุกรณีพิเศษ )

         4. วันที่ 30 ต.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องการขอวุฒิการศึกษา สำหรับนักศึกษาที่จบไปแล้ว มีคำนำหน้าว่า สามเณร แต่เนื่องจากวุฒิหาย จึงมาขอวุฒิใหม่ (ผ่านมา 21 ปีแล้ว)  ปัจจุบันใข้คำนำหน้าว่านายแล้ว เราจะทำหนังสือรับรองโดยใช้คำนำหน้าชื่อว่าสามเณร ตามวุฒิที่สถานศึกษาเคยออกไปแล้ว หรือใช้ชื่อเป็นนายเลย

             ผมตอบว่า   การจะเปลี่ยนชื่อ-สกุล หรือเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ ต้องยื่นหลักฐานขอเปลี่ยนก่อนวันอนุมัติจบ  ถ้าเขาเปลี่ยนหลังวันจบ เราจะเปลี่ยนไม่ได้ เวลานำใบวุฒิไปใช้ที่ไหนก็ต้องใช้ใบวุฒิคู่กับหลักฐานการเปลี่ยน
             ผู้ถาม  ถามต่อว่า  แล้วรูปถ่ายที่ติดหนังสือรับรอง ใช้รูปใส่เสื้อเชิ้ตขาวกระดุมใสได้เลยใช่ไหม

             ประเด็นนี้น่าคิด เพราะชื่อเป็นสามเณร แต่รูปปัจจุบันเป็นฆราวาส ผมไม่มั่นใจ จึงถามคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. คุณกิตติพงษ์บอกว่าจะหาคำตอบให้
             ระหว่างที่ยังไม่ได้คำตอบ ผมก็คิดพิจารณาตามระเบียบ แล้วคิดคำตอบเตรียมไว้ตอบเองว่า
             ใช้รูปถ่ายปัจจุบัน
            
( ถ้ามีผู้เห็นใบวุฒิแล้วสงสัยว่าชื่อเป็นสามเณร ทำไมรูปเป็นผู้ใหญ่และเป็นฆราวาส เราเป็นผู้ตรวจสอบรับรองวุฒิ ก็อธิบายที่ไปที่มา ไปตามความเป็นจริง )
             ยังไม่ทันจะตอบ ก็ได้รับคำตอบจากคุณกิตติพงษ์ว่า
            
ยังใช้คำนำหน้าชื่อว่าสามเณรครับเพื่อสะดวกในการค้นหาต้นขั้ว แต่ให้ใช้รูปปัจจุบัน  รูปปกติก็ถ่ายไม่เกิน 6 เดือนตามระเบียบ

             5. วันที่ 2 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  เป็น จนท.งานทะเบียน ของวิทยาลัยเทคนิคนครพนม อยากถามเรื่องการใช้ตรานูน คือการออก ใบ รบ.1 ตรงรูปถ่ายนักศึกษา ในระเบียบให้หัวหน้าสถานศึกษาลงลายมือคาบรูปกำกับนั้น หากจะใช้ตรานูนประทับคาบรูปแทนจะได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ใบ รบ.ของ กศน. หรือของสังกัดไหนครับ ระเบียบของแต่ละสังกัดอาจแตกต่างกัน  ของ กศน.ไม่มีระเบียบให้ลงลายมือชื่อกำกับคาบรูป ( หัวหน้าสถานศึกษาลงลายมือชื่อที่เดียว แล้วใช้ตราประจำสถานศึกษา ประทับด้วยหมึกสีแดงชาด ให้ส่วนหนึ่งของตรา ประทับบนส่วนหนึ่งของรูป อีกส่วนหนึ่งของตราทับบนลายมือชื่อของหัวหน้าสถานศึกษา )
             และไม่มีระเบียบให้ใช้ตรานูน  ( ตรานูนจะถ่ายเอกสารไม่ชัด )
             แต่สถานศึกษา กศน.บางแห่งก็ใช้ตรานูนเพราะการโฆษณาติดต่อขายของผู้ขายตรานูน  และเซ็นชื่อคาบรูปด้วย
             ซึ่งไม่ทราบว่าใช้ระเบียบหลักเกณฑ์ใด

             ( ตามคำอธิบายการกรอกระเบียนแสดงผลการเรียน ข้อ 5.7 กำหนดว่า ประทับตราประจำสถานศึกษาด้วยหมึกสีแดงชาด ให้บางส่วนติดรูปถ่ายและบางส่วนติดบนส่วนที่จะเป็นลายเซ็นของหัวหน้าสถานศึกษาและ
               ตามคำอธิบายการออกและกรอกรายการประกาศนียบัตร กำหนดไว้ในข้อ 2.4.7 ว่า
ประกาศนียบัตรทุกฉบับ ทุกประเภท ต้องใช้ตราส่วนราชการหรือตราประจำสถานศึกษา ประทับบนลายมือชื่อผู้มีอำนาจลงนามไว้เป็นสำคัญ โดยใช้สีแดงชาด” )

         6. วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  รูปของนักศึกษาที่จะนำมาติดใบวุฒิ ถ้า นศ.เป็นหญิงที่นับถือศาสนาอิสลาม แล้วถ่ายรูปแบบคลุมผมมา สามารถใช้ไดหรือไม่

             ผมตอบว่า   ระเบียบที่จะต้องยึดถือปฏิบัติ คือ
             ในคู่มือการดำเนินงาน ( คู่มือการดำเนินงานฯ เป็นเอกสารแนบท้ายประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ถือเป็นระเบียบให้ปฏิบัติ ) กำหนดว่า
            
รูปถ่าย 1 นิ้ว จำนวน 4 รูป หน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก สวมเสื้อสีขาวมีปกหรือชุดสุภาพ ( ถ่ายไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่ใช้รูปถ่ายประเภทโพลาลอยด์ ) เพื่อใช้ติดใบสมัคร 1 รูป ติดบัตรประจำตัว 1 รูป ติดสมุดประจำตัวนักศึกษา 1 รูป และสำหรับกิจกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็น 1 รูป
             ส่วนรูปติดใบ รบ. ไม่ได้กำหนดลักษณะของรูปไว้ จึงอนุโลมให้เป็นลักษณะเดียวกัน
             ถ้าถ่ายรูปแบบคลุมผม แล้วยังเป็นไปตามลักษณะที่กำหนดนี้ ก็ใช้ได้

             และเมื่อเทียบเคียงกับ ระเบียบการถ่ายรูปติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ( รวมทั้งพนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) ซึ่งกำหนดกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นสตรีไทยมุสลิม ตามหนังสือที่ นร 1304/ว 1074/ 4 ก.พ.40 ว่า
            
สามารถถ่ายรูปที่มีผ้าคลุมศีรษะได้ แต่ ต้องเห็นหน้า ( คือเห็นทั้ง หน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก และคาง )
             สรุปได้ว่า  นศ.สตรีไทยมุสลิม สามารถถ่ายรูปที่มีผ้าคลุมศีรษะ ติดใบ รบ.ได้ แต่ ต้องเห็นทั้ง หน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก และคาง

         7. คืนวันที่ 9 พ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า อยากให้ปรับปรุงสิทธิของ ครู ศรช.บ้าง คือการทำสัญญาจ้างเป็นรายหนึ่งปี เพราะแต่ก่อน ครู ศรช. และครูที่เป็นลูกจ้างชั่วคราว มีประกันสังคม แต่ตอนนี้ปรับเปลี่ยนเป็นจ้างเหมาบริการ ทำให้ ครู ศรช.ขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานมาก อีกทั้งตอนนี้สัญญาจ้างเป็นรายหกเดือน เวลาต่อสัญญาอีกครั้งคือช่วงเดือน เม.ย.และ ต.ค.เงินเดือนของครูเราก็ออกช้ามาก เลยอยากให้มีการปรับปรุงสิทธิของ ครู ศรช. ครูทุกประเภท และจ้างเหมาทุกประเภทบ้าง

             ผมตอบว่า
             1)  เรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้รับจ้างเหมาบริการนั้น เป็นไปตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจ รมว.ศธ. ( ผู้รับจ้างเหมาบริการ ทำประกันสังคมด้วยตนเองได้นะ )
                  โดยบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของรัฐในแต่ประเภท ( ผู้รับจ้างเหมาบริการ-ลูกจ้างชั่วคราว-พนักงานราชการ-ลูกจ้างประจำ-ข้าราชการ-ผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) จะมีสิทธิแตกต่างกัน ไม่เท่ากัน แม้แต่ข้าราชการเหมือนกันแต่ตำแหน่งต่างกันก็มีสิทธิต่างกัน เช่น ผอ. อนุญาตให้ตัวเองไปราชการโดยใช้รถส่วนตัวได้ ส่วนผู้ที่เป็น ขรก.ครู ถ้าต้องการสิทธินี้ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็น ผอ.
             2)  ในส่วนของการทำสัญญาจ้างเป็นรายปีนั้น อยู่ในอำนาจของเรา ลองเรียกร้องไปที่ส่วนกลางซีครับ การจ้างเหมาด้วยงบดำเนินงานเช่นจ้างเหมาบรรณารักษ์ ยังจ้างเป็นรายปีได้ ทั้งที่ส่วนกลางก็จัดสรรงบให้ครั้งละครึ่งปีเช่นกัน
                  แต่การจ้างด้วยเงินอุดหนุนจะมีจำนวน นศ.เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือไม่แน่ว่าภาคเรียนหน้าจะเหลือจำนวน นศ.เหมาะสมที่จะจ้างต่อหรือไม่
                  อย่างไรก็ตาม ถ้าจะช่วยกันก็สามารถให้ทำสัญญาจ้างเป็นปีได้ เช่น แม้ภาคเรียนหน้าจะมี นศ.เท่าไร ก็ให้ประโยชน์เขาไปปีหนึ่ง ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ หรือ ทำสัญญาเป็นปีแต่ระบุในสัญญาว่าถ้าภาคเรียนใดมี นศ.น้อยกว่าเกณฑ์จะไม่จ้าง เป็นต้น
                  ลองช่วยกันเรียกร้องไปที่ส่วนกลางซีครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย