วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

1.ออกจากประกันสังคม ( ออกจากพนักงานราชการ ) เพราะสอบบรรจุได้ จะได้เงินอะไรจากประกันสังคม, 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถ้ารอหมดอายุแล้วจึงต่อ จะถูกปรับ 200 บาท/เดือน, 3.คำนวณเกรดการเทียบโอนฯได้ 2.25 ควรให้เกรด 2 หรือ 2.5, 4.ใบประกาศนียบัตรหมด ต้องดำเนินการอย่างไร, 5.ให้ข้าราชการใน ค่ายทหาร/เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่มได้ไหม, 6.เรื่องปกติของ กศน. แต่เขารับไม่ได้, 7.เรียนผ่านทุกวิชาแล้ว ขาดแต่สอบ N-NET กับ กพช. ต้องลงทะเบียนอย่างไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1.
คืนวันที่ 9 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             “ ฉันได้ข้อมูลจากการเข้าอบรมเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับพนักงานราชการชึ่ง ผอ.กจ.และ อ.จักราวุธ เป็นวิทยากร ให้กับครู กศน.จังหวัดร้อยเอ็ด และฉันได้โทรปรึกษากับ อ.จักราวุธ อาจารย์ก็แนะนำในเรื่องการขอเงินจากกองทุนประกันสังคม ในกรณีที่ลาออกจากประกันสังคมเนื่องจากสอบได้ครูผู้ช่วย เราสามารถขอเงินกองทุนประกันสังคม ในส่วนที่เราจ่าย 5 เปอร์เช็นแต่ละเดือน จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.กองทุนประกันสังคม 2.กองทุนส่วนการรักษาพยาบาล 3.กองทุนสำหรับการว่างงาน. และเราสามารถขอส่วนที่เป็นกองทุนในส่วนที่เราไม่ได้ใช้จาก ส่วนที่เป็นการรักษาพยาบาล ที่เราไม่ได้ใช้บริการในแต่ละป ถ้าไม่ได้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลเราก็สามารถขอ ในส่วนนี้คืนได้ในกรณีที่ลาออก และเมื่อสถานะการประกันลาออกจากประกันสังคมให้ขอโค๊ตการจ่ายเงินสมทบเดือนสุดท้ายและเดือนแรกเพื่อจะดำเนินการขอเงินส่วนนี้ผ่านทางเว็ปไชต์
                แต่ภายหลังฉันไม่สามารถติดต่อ อ.จักราวุธ ได้. ฉันจึงปรึกษาขอคำแนะนำจากอาจารย์อีกทาง ว่าข้อมูลที่ฉันได้มาเป็นจริงหรือไม่ เพื่อดำเนินการต่อไป ”

             ผมตอบว่า   อาจจะฟังผิด.. ขอคืนค่ารักษาพยาบาลไม่ได้หรอกครับ เพราะสำนักงานประกันสังคมเขาจ่ายเงินเหมาจ่ายส่วนของเราให้โรงพยาบาลไปทุกปีแล้ว บางคนใช้เกินบางคนใช้ไม่หมด ถ้าคืนคนที่ใช้ไม่หมด แล้วคนที่ใช้เกินจะเอาที่ไหนมาล่ะ
             สิ่งที่จะได้ตามเกณฑ์คือ ส่วนของเงินออมกรณีชราภาพ กับเงินกรณีว่างงาน  ดูที่ผมเคยอธิบายเรื่องนี้ในข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/02/blog-post.html
             ในส่วนของสิทธิประโยชน์ “กรณีว่างงาน” ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนติดต่อกัน และอายุไม่เกิน 55 ปี จะได้รับสิทธินี้ แต่ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับจากวันลาออก นะ ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานนะ แล้วมาเบิกที่ สนง.ประกันสังคม ไม่ใช่ขึ้นทะเบียนกับ สนง.ประกันสังคม
             ซึ่งจะได้เงิน 30 % ของค่าจ้างจริง ( แต่ถ้าค่าจ้างเกินเดือนละ 15,000 บาท ให้คิดค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท คือจะได้เงินไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท ) เป็นเวลา 90 วัน ( 3 เดือน ) รวมจะได้ไม่เกิน 13,500 บาท โดยต้องรายงานตัวเป็นผู้ว่างงานทุกเดือน
             ถ้าขึ้นทะเบียนหลัง 30 วัน นับจากวันลาออก จะได้รับเงินลดลงตามวันทั้งหมดนับจากวันลาออกถึงวันขึ้นทะเบียน เช่น ถ้าขึ้นทะเบียนวันที่ 27 นับจากวันลาออก จะได้รับสิทธิเต็ม 90 วัน แต่ถ้าขึ้นทะเบียนวันที่ 32 นับจากวันลาออก จะถูกตัดสิทธิไป 31 วันเลย เหลือได้รับเงินเพียง 59 วัน และถ้าขึ้นทะเบียนช้าเกิน 3 เดือน ก็จะไม่ได้รับเงินนี้เลย แต่เกินแล้วจะขึ้นทะเบียนก็ได้ เพื่อให้สำนักงานจัดหางานเขาจัดหางานใหม่ให้เท่านั้น
             ลองขึ้นทะเบียนทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ที่  https://empui.doe.go.th/auth/index  ก็ได้
             แม้การออกจากงานเพราะหมดสัญญาแล้วไม่จ้างต่อ ก็ได้รับสิทธินี้ ยกเว้นถูกเลิกจ้างกรณีทำความผิดต่าง ๆ จึงจะไม่ได้รับสิทธินี้

             เรื่องเงินกรณีว่างงานนี้ มีข้อมูลแตกต่างกัน คือ ท่านประกันสังคมจังหวัดท่านหนึ่งบอกว่า “ถ้าสำนักงานประกันสังคมรู้ว่าออกแล้วมีงานทำใหม่ จะไม่จ่ายให้”
             แต่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ยืนยันว่า จ่ายให้ 90 วัน แม้จะถามย้ำว่า ออกจากประกันสังคมแล้วเป็นข้าราชการต่อทันทีนะ ก็ยังยืนยันว่าจ่ายให้ 90 วัน

         2. เดือนมิถุนายน 2562 จะเป็นอีกรอบหนึ่งที่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา หมดอายุมากที่สุด
             ดังนั้น ลองดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู/ผู้บริหาร ของตนเอง ว่าจะหมดอายุเมื่อไร ถ้าจะหมดอายุในเดือนมิถุนายน 2562
             "เดือนหน้า" ธันวาคม 2561 ก็เริ่มต่ออายุได้แล้วนะ
             เพราะต้องต่ออายุภายใน 180 วัน ก่อนวันหมดอายุ ถ้ารอให้หมดอายุแล้วจึงต่อ จะเสียค่าปรับเดือนละ 200 บาท เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน และถ้าปล่อยให้หมดอายุครบ 5 ปี จะต่ออายุไม่ได้เลย
             ตอนนี้เจ้าหน้าที่คุรุสภาจังหวัดย้ายไปอยู่ที่ สนง.ศธจ. แล้ว ไปต่ออายุที่ สนง.ศธจ.





         3. เย็นวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอความรู้เกี่ยวกับการเทียบโอนหน่อย ถ้าฉันคำนวณแล้วได้ผล 2.25 เราควรให้นักเรียนเกรด 2 หรือ  2.5

และถ้าคำนวณได้ 2.75 เราควรให้เกรด 2.5 หรือ 3

             ผมตอบว่า   เกรดของ “แต่ละวิชา” ของเรา ให้ปัดเศษตามหลักคณิตศาสตร์ ให้ทศนิยมเป็น .00 หรือ .50 เพราะเกรดรายวิชาจะต้องมีทศนิยมเป็น .00 หรือ .50  โดย ถ้าใกล้เลขต่ำให้ปัดลง ถ้าใกล้เลขสูงหรือใกล้เท่ากันให้ปัดขึ้น 
             ( ส่วน ระดับผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตร จะมีทศนิยมสองตำแหน่งเป็นเท่าไรก็ได้ ตัดตำแหน่งที่สามทิ้งเลย ไม่ปัด )
             กรณีที่ถามนี้ 2.25 ใกล้ทั้ง 2.00 และใกล้ 2.50 เท่ากัน ให้ปัดขึ้นเป็น 2.50, ถ้า 2.24 ปัดลงเป็น 2.00, ถ้า 2.75 ปัดขึ้นเป็น 3.00
             ( ถ้าสนใจไฟล์ PowerPoint ที่ผมทำไปประกอบการบรรยายเรื่องการเทียบโอนฯ ตั้งแต่ปี 2557  ดาวน์โหลดได้ที่
                https://drive.google.com/file/d/1Wz94AeyF2vWVY5e7GgB-REs5Eked06dR/view?usp=sharing )






         4. วันเดียวกัน ( 11 พ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เนื่องจากใบประกาศนียบัตร (กศน.2) ระดับ ม.ปลาย ของ กศน.อำเภอ หมด ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

             ผมตอบว่า   ประกาศนียบัตร ( กศน.2 ) เป็นหลักฐานการศึกษาควบคุมและบังคับแบบ เช่นเดียวกับ ระเบียนแสดงผลการเรียน ( กศน.1 ) จึงดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ กศน.อำเภอ ทำหนังสือไป กศน.จังหวัด ขอให้ กศน.จังหวัดดำเนินการสั่งซื้อให้
             เป็นไปตามหนังสือแจ้งในภาพประกอบโพสต์นี้ ( หนังสือนี้ได้มาจากคุณ KRUSURAPEE-Jam )






         5. วันนี้ ( 12 พ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า 
             “ กรณีกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่นในค่ายทหาร ในเรือนจำ ในสถานพินิจ ทางกศนอำเภอมีสิทธิ์จ้างครูประจำกลุ่ม ที่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นข้าราชการ ประจำหน่วยงานนั้นๆได้หรือเปล่า
                ถ้าได้ มีระเบียบหรือคำสั่งตัวไหนที่รองรับหรือเปล่า
                ( เนื่องจาก การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ จาก เจ้าหน้าที่ ประจำหน่วยงานนั้นๆ ) ”

             เรื่องนี้   เพื่อความมั่นใจ ผมนำคำถามไปให้สมาชิกกลุ่มไลน์ ITw NFE ช่วยกันให้ข้อมูลด้วย แล้วผมจึงตอบว่า
             กศน.จังหวัด สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการในหน่วยทหาร เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่มได้  เพราะไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ห้าม ผู้ที่บอกว่าไม่ได้ เขาอาศัยระเบียบหลักเกณฑ์ใด  เข้าใจว่าปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการในหน่วยทหาร เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่ม มีเพียงส่วนน้อยที่แต่งตั้งคนนอกเข้าไปเป็นครูประจำกลุ่ม
             ใน “คู่มือการจัด กศ.ตามหลักสูตร กศน.51 สำหรับเด็กและเยาวชนในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน” ( คู่มือนี้ออกเมื่อปี 2560 ) หน้า 4 ก็ระบุว่า กศน.แต่งตั้งครูประจำกลุ่มจาก ครูสามัญหรือครูวิชาชีพหรือบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมาย ของกรมพินิจฯ
             ( ในหน่วยทหาร/เรือนจำ ก็ลักษณะเดียวกัน )

         6. เย็นวันที่ 13 พ.ย.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันทำงานอยู่ กศน. แล้วเรียนต่อ ป.บัณฑิต แล้วทีนี้เวลาฝึกสอน ฉันสามารถฝึกสอนที่ กศน.ได้ใหม

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบ/หลักการ สามารถฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนและปฏิบัติการสอนที่ กศน. ได้ เพราะคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์ว่าสถานศึกษาที่จะฝึกปฏิบัติการสอน ต้องเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและผ่านการประเมินภายนอกจาก สมศ. ซึ่ง กศน.ก็เข้าเกณฑ์นี้
             แต่ในทางปฏิบัติ
             - บางมหาวิทยาลัย ให้ ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. ได้ เช่น ม.นราธิวาส, ม.ราชภัฏเชียงใหม่, มรท.ราชมงคลพระนคร, ม.ราชภัฏเพชรบุรี, ม.ราชภัฏเชียงราย, ม.ราชภัฏนครราชสีมา, วิทยาลัยสันตพล, ม.เชนต์จอห์น, ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด
             - บางมหาวิทยาลัย ไม่ให้ ฝึกปฎิบัติการสอนที่ กศน. เช่น ม.ราชภัฏเทพสตรี, ม.ราชภัฏนครปฐม, ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์, ม.ราชภัฏสวนดุสิต, ม.ราชภัฏศรีษะเกษ
             สาเหตุที่บางมหาวิทยาลัย ไม่ให้ ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. เพราะเขารับไม่ได้ในเรื่องปกติของเรา คือ สอนไม่ตรงตาม ตาราง/เวลาสอน ไม่ตรงแผนการสอน ทำให้เขาเสียเวลามานิเทศเก้อ
             การนิเทศส่วนใหญ่จะแจ้งแผนล่วงหน้า แต่ บางมหาวิทยาลัยทำแผนนิเทศบอกช่วงนิเทศกว้างหลายวันโดยไม่ระบุรายละเอียดว่าวันใดไปที่ใด อย่างไรก็ตามอาจารย์นิเทศก็มักโทร.บอกล่วงหน้า แต่อาจารย์นิเทศบางท่านไม่บอกล่วงหน้า ( อาจารย์นิเทศจะไม่มีเวลามานิเทศในวันเสาร์อาทิตย์ )
             เรื่องนิเทศการฝึกปฏิบัติการสอน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเรียน ป.บัณฑิต ดังจะเห็นได้จาก คุรุสภากำหนดโควตาให้มหาวิทยาลัยรับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ตามจำนวนอาจารย์ที่จะไปนิเทศนี่แหละ คือถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีอาจารย์นิเทศ 1 คน ก็ให้รับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ครั้งละ 10 คน ถ้ามีอาจารย์นิเทศ 10 คน ก็รับได้ครั้งละ 100 คน
             นักศึกษา กศน.เรา ก็มาไม่ค่อยตรงเวลา ตารางสอนระบุเริ่ม 9.00 น. แต่ 9.30 น.แล้ว นักศึกษาเพิ่งมาครึ่งเดียว
             สรุปคือ ตามระเบียบ/หลักการนั้น สามารถฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน.ได้  ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่ให้ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. และ เรามั่นใจว่าจะสอนตรงตาม ตารางสอน/เวลาสอน/แผนการสอน ได้ ก็เจรจากับมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัยยอมให้ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน.แล้ว ก็พยายามรักษาไว้ โดยสอนให้ตรงตาม ตารางสอน/เวลาสอน/แผนการสอน ไม่ให้อาจารย์มานิเทศเก้อ
             ( ปกติตารางสอน กศน.ที่ส่งมหาวิทยาลัย ต้องระบุชั่วโมงสอนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 10-12 ชม. ครูจึงมีสิทธิ์สมัครเรียน ป.บัณฑิต แต่ถ้าครู กศน.ไปฝึกปฏิบัติการสอนที่โรงเรียน สพฐ. ในส่วนตารางสอนที่ สพฐ.ต้องระบุชั่วโมงสอนอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 6-8 ชั่วโมง )

         7. วันที่ 14 พ.ย.61  มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  กรณีที่นักศึกษาเรียนครบตามหน่วยกิต แต่ขาดสอบ n-net และ กพช.ไม่ครบ จะต้องลงทะเบียนหรือจะทำยังไง

             ผมตอบว่า  ก็ให้เขาสอบ N-NET และทำ กพช.จนกว่าจะครบ
             ถ้าไม่ทิ้งไว้เกิน 6 เทอม หรือรวมเวลาตั้งแต่ได้ผลการเรียนวิชาแรกเกิน 10 เทอม ก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้าจะทำไม่เสร็จใน 6 เทอม ต้องให้เขาลงทะเบียนรักษาสถานภาพไว้ด้วย เพราะการบันทึกภาคเรียนที่สอบ N-NET และการบันทึกชั่วโมง กพช.ในภาคเรียนใด โปรแกรม ITw ไม่ได้ถือว่าเป็นการลงทะเบียน/รักษาสถานสภาพ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย