วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

1.ค่าตอบแทนวิทยากร ชั่วโมงละเท่าไรแน่, 2.ทำไม กศน.บังคับให้เรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์, 3.ต้องอบรมลูกเสือใหม่ใช่ไหม, 4.กลุ่มสนใจยังคงสอนได้ไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมง หรือเปล่า, 5.เทียบโอนมาจากในระบบ จะจบ กศน.ในเทอมเดียวได้ไหม, 6.พนักงานราชการเกษียณ มีเงินขวัญถุงให้จริงไหม, 7.แฟ้มประวัติข้าราชการบรรณารักษ์ เรียกว่าอะไร กพ.7 หรือ กคศ.16


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. มีผู้สับสน/สงสัย ว่าค่าตอบแทนวิทยากรการศึกษาต่อเนื่อง ชั่วโมงละเท่าไรแน่

             สรุปดังนี้
             ค่าตอบแทนวิทยากรการศึกษาต่อเนื่อง กศน.
             - รูปแบบการฝึกอบรมประชาชน ไม่เกินชั่วโมงละ 400 บาท
             - รูปแบบกลุ่มสนใจ และรูปแบบชั้นเรียนวิชาชีพ ไม่เกินชั่วโมงละ 200 บาท

         2. บางคนวิจารณ์ว่า หลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน ( ประถม-ม.ปลาย ) กศน. ไม่ใช่โรงเรียนในระบบ จึงไม่ควรบังคับให้เรียนพวกวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไม่มีประโยชน์ในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน

             ตอบ
             - ถ้าเป็น กศ.ที่มี “วุฒิการศึกษา” ระดับ ประถม - ม.ปลาย จะเป็นการศึกษา “ขั้นพื้นฐาน” ต้องเรียน “วิชาพื้นฐาน” ซึ่งเป็นพื้นฐานทั้งสำหรับ การดำรงชีวิต และพื้นฐานสำหรับ การศึกษาต่อ
                คนที่บอกว่า วิชาเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ในการดำรงชีวิตนั้น เข้าใจผิด/ไม่เข้าใจ  ( ที่ถูกต้อง วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ มีประโยชน์ในการดำรงชีวิตมาก )
             - ผู้ที่ได้วุฒิ กศ.ขั้นพื้นฐาน มีสิทธิในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่ง กศ.ขั้นพื้นฐานของ กศน. ก็มีศักดิ์และสิทธิเท่าผู้จบ กศ.ขั้นพื้นฐานในระบบ ต้องสามารถศึกษาต่อได้ หลักสูตรจึงต้อง “เทียบเท่า” กัน
             - กศ.ขั้นพื้นฐานนี้ ผู้เรียนยังไม่ได้สรุปแน่นอนว่าจะศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นในสาขาใด จึงต้องเรียนวิชาพื้นฐานหลายวิชา เพื่อให้สามารถเลือกเรียนต่อได้หลายสาขา สามารถเปลี่ยนใจเปลี่ยนสาขาในอนาคต และวิชาพื้นฐานที่เป็นวิชาบังคับเหล่านี้ก็เป็นพื้นฐานของทุกสาชา
             - บางคนบอกว่า รับรองว่าจะไม่ศึกษาต่อระดับสูงขึ้นแน่นอน ต้องการเพียงใบวุฒิสำหรับเข้าทำงานที่ ..... นั้น .. การที่เขากำหนดว่าผู้จะเข้าทำงานที่นั้นต้องมีวุฒิใด ก็คือ เขาต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรวุฒินั้น ไม่ใช่ขอเพียงมีใบวุฒินั้น
             - บางคนบอกว่า รับรองว่าจะไม่ศึกษาต่อระดับสูงขึ้นแน่นอน ต้องการเรียนแต่วิชาที่ถูกใจ อยากให้มีแต่วิชาเลือกเสรีที่ทันสมัย นำไปใช้ได้เลย ไม่ต้องมีวิชาบังคับ ..
                ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ต้องเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน ..
                กศน. มีการจัดการศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่ “ทันสมัย นำไปใช้ได้เลย เลือกได้ตามใจ”
                ( ธรรมชาติของ กศ.ขั้นพื้นฐาน กับ กศ.ต่อเนื่อง/กศ.ตามอัธยาศัย แตกต่างกัน ต้องเลือกให้ถูกทาง )
             - วิชาต่าง ๆ ของ กศ.ต่อเนื่อง และ กศ.ตามอัธยาศัย สามารถปรับเปลี่ยน ยกเลิก พัฒนาวิชาใหม่ ๆ ให้ทันสมัย ได้ตลอดเวลา
                ดูตัวอย่างวิชา กศ.ต่อเนื่อง รูปแบบกลุ่มสนใจ ของ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา ตามภาพประกอบ





         3. คืนวันที่ 19 ธ.ค.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเรียน กศน.ได้รับการอบรมในหลักสูตรผู้กำกับลูกเสือวิสามัญขั้นความรู้เบื้องต้นมาแล้ว.. ได้วุฒิบัตรมาแล้ว แต่ครูที่ กศน.บอกว่าต้องอบรมหลักสูตรผู้กำกับลูกเสือวิสามัญขั้นความรู้เบื้องต้นใหม่เพราะว่าแต่ละปีจะสอนแตกต่างกัน สรุปฉันต้องไปอบรมใหม่ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ถามครูให้ชัดอีกทีว่า ที่จะให้ไปอบรมใหม่นั้น เป็นหลักสูตรผู้กำกับลูกเสืออะไร เช่น ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ใช่ไหม ถ้าเป็นลูกเสือวิสามัญเหมือนเดิม ขั้นความรู้เบื้องต้นเหมือนเดิม ก็ไม่ต้องอบรมใหม่
             ( ครูอาจขอเพียงหากลุ่มเป้าหมายเข้าอบรมให้ครบ เป็นสำคัญ )
             อนึ่ง จะใช้งบประมาณ เช่นเงินอุดหนุน จัดอบรม "นักเรียนนักศึกษา" ในหลักสูตร "ผู้กำกับ" ลูกเสือ ไม่ได้

         4. วันที่ 20 ธ.ค.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมบนไทม์ไลน์เฟซบุ๊ก ว่า  “กลุ่มสนใจเปิดได้วันละกี่ชั่วโมง”

             และวันที่ 19 ธ.ค.61 ก็มีผู้ถามผมในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า “ตอนนี้กลุ่มสนใจ จัดสอนได้วันละกี่ชั่วโมง ยังคงวันละไม่เกิน 3 ชั่วโมงอยู่หรือเปล่า”

             เรื่องนี้  เจ้าหน้าที่ กป.กศน.ซึ่งเป็น จนท.ใหม่ ยังไม่กล้าฟันธงในขณะนี้ ( ถามเมื่อ 23 ธ.ค.61 ) เพราะกลัวพลาด
             ส่วนผม คิดว่า อยู่ในดุลยพินิจของ ผอ.กศน.อำเภอ/จังหวัด เพราะ
             - ระเบียบปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดห้ามเปิดสอนกลุ่มสนใจเกินวันละ 3 ชั่วโมง และ
             - ตามคู่มือปัจจุบัน แบ่งกลุ่มสนใจเป็น 2 ประเภท คือ
                ประเภทจัดตามความต้องการ/ความสนใจที่มีการรวมกลุ่มของผู้เรียน หลักสูตรไม่เกิน 30 ชม. กับ
                ประเภทจัดตามภารกิจ เช่น อำเภอ/จังหวัดเคลื่อนที่/ร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานอื่น ผู้สนใจมาสมัครเรียน ณ สถานที่จัดกิจกรรม หลักสูตรไม่เกิน 5 ชั่วโมง
                ซึ่งประเภทหลังนี้ ถ้าจัดวันละไม่เกิน 3 ชม. ก็ต้องจัด 2 วัน ไม่สอดคล้องกับลักษณะภารกิจอำเภอ/จังหวัดเคลื่อนที่ ซึ่งเคลื่อนที่ไปเพียงวันเดียว

         5. นที่ 3 ม.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  การเทียบโอนผลการเรียนจากในระบบมากศน. สามารถจบในเทอมเดียวได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   ได้.. ถ้าเทียบโอนได้มาก
             แต่ กพช. เทียบโอนจากในระบบไม่ได้ เพราะคนละหลักสูตร
             สามารถใช้กิจกรรมพัฒนาตนเองชุมชนสังคมและกิจกรรมจิตอาสา ที่ นศ.ทำเอง ก่อนขึ้นทะเบียนเป็น นศ.กศน. เทียบโอนเป็น กพช.ได้ไม่เกิน 150 ชม. หรือทำ กพช.ใหม่ 200 ชม.ในเทอมเดียว ( ทำแบบทำ กพช.คนเดียวก็ได้  ถ้าใครไม่สามารถทำได้ 200 ชม.ก็ไม่จบในเทอมเดียว )

         6. คืนวันที่ 7 ม.ค.62 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เมื่อครูอาสาฯเกษียณอายุราชการแล้ว กศน.มีเงินขวัญถุงให้ จริงเท็จประการใดช่วยช่วยตอบด้วย(ไม่เกี่ยวประกันสังคม) ฉันถามนิติกร กศน.เมื่อสิงหาคม61ว่ามีให้ บอกฉันว่าขอให้อยู่ครบเกษียณได้แน่นอน วันนั้น ผอ.ศฝช.ได้รับฟังกันหลายคน ช่วยตอบให้กระจ่างด้วย ถ้าได้รับจะรับได้ที่ไหน อย่างไร หรือพูดแค่เป็นยาหอมให้เราดีใจ ขอบคุณ

             ผมตอบว่า   เงินขวัญถุงไม่มีในระเบียบกฎหมาย ถ้ามีก็เป็นเรื่องภายในหน่วยงานโดยใช้เงินสวัสดิการ เช่นเงินที่ได้จากการขายไดอารี่ ขายเสื้อ  ตอนนี้มีครูอาสาฯ พนักงานราชการ เกษียณไปมากหลายคนแล้ว ( พนักงานราชการ ไม่ได้ใช้คำว่า เกษียณ ) ก็ไม่ได้เงินขวัญถุงกันไม่ใช่หรือ ( แม้แต่พนักงานราชการเสียชีวิต ทายาทหลายคนก็ไม่ได้เงินสวัสดิการนี้ในการร่วมจัดพิธีศพ )

         7. เย็นวันเดียวกัน ( 7 ม.ค.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า
             1) แฟ้มประวัติข้าราชการบรรณารักษ์(แฟ้มสีเหลือง) เรียกว่าอะไร กพ.7 หรือ กคศ.16
             2) ตอนนี้ฉันข้าราชการ บรรณารักษ์ และ เป็นครูประจำกลุ่มด้วย ต้องการใส่ข้อมูลการเป็นครูประจำกลุ่มลงในแฟ้มประวัติข้าราชการ เพื่อขอรับใบประกอบผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคต ( ประสบการณ์ สอน 5 ปี) ฉันจะไปขอเพิ่มข้อมูลใส่แฟ้มประวัติ ที่ กจ.กศน. ได้หรือไม่

             ผมตอบว่า
             1)  แฟ้มประวัติข้าราชการ ก็เรียกว่า แฟ้มประวัติข้าราชการ คนละอย่างกับ ก.พ.7 หรือ ก.ค.ศ.16 โดย
                  - ก.พ.7 หรือ ก.ค.ศ.16 คือ บันทึกประวัติย่อ เป็นแผ่นบัตรหนาสีขาวขนาด A4
                  - แฟ้มประวัติข้าราชการ(แฟ้มสีเหลือง) คือ แฟ้มรวบรวมเอกสารหลักฐานที่สำคัญของข้าราชการ
                  - ก.พ.7 ใช้กับ “ข้าราชการพลเรือน” ส่วน “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” ก.ค.ศ.กำหนดให้ใช้ ก.ค.ศ.16 แทน ก.พ.7 ตั้งแตปี 55  ซึ่งบรรณารักษ์ของ กศน.เป็นบุคลากรทางการศึกษา ที่ถูกต้องจึงต้องใช้ ก.ค.ศ.16
             2)  ก.ค.ศ.16 ใช้บันทึกประวัติที่สำคัญ และแฟ้มประวัติใช้รวบรวมเอกสารหลักฐานที่สำคัญ เช่น ตำแหน่งจริงหรือตำแหน่งหลัก ในที่นี้ตำแหน่งจริงหรือตำแหน่งหลักคือ ตำแหน่งบรรณารักษ์ ส่วนข้อมูลหลักฐานการเป็นครูประจำกลุ่มไม่ต้องบันทึกใน ก.ค.ศ.16 และไม่ต้องรวบรวมในแฟ้มประวัติข้าราชการ
                  ( ข้อมูลสำคัญที่ต้องให้ กจ.กศน.เพิ่มใส่แฟ้มประวัติ เช่น คุณวุฒิที่สูงขึ้น ต้องส่งพร้อมหลักฐานผ่าน กศน.อำเภอ/จังหวัด )
             3)  การจะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร ต้องขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ก่อน และการจะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู “ปัจจุบัน”คุรุสภาจะตรวจสอบว่าตำแหน่งหลักเป็นตำแหน่งครูผู้สอนหรือไม่ ถ้าตำแหน่งหลักเป็นบรรณารักษ์ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งครูผู้สอน จะขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูไม่ได้แล้ว แม้จะสอนตามตำแหน่งครูประจำกลุ่มก็ตาม
             4)  ตำแหน่งครูผู้สอนที่ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู จะใช้คำสั่งแต่งตั้ง/สัญญาจ้างตำแหน่งหลัก เป็นหลักฐาน  ไม่ได้ดู ก.ค.ศ.16/แฟ้มประวัติฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย