วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

1.ใช้ใบประกาศนียบัตรหลักสูตร 51 ออกให้ผู้จบหลักสูตร 44, 2.ถามระเบียบใบ รบ. เช่นการทำลายเมื่อพิมพ์ผิด, 3.ถามเรื่องค่าตอบแทนกรรมการเก็บรักษาข้อสอบ, 4.สงสัยเรื่อง ค่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุดได้ 3 เท่า, 5.ทำไมไม่ให้ครูเบิกค่าคุมสอบวันอาทิตย์, 6.แบบฟอร์มการลาใช้แบบไหน ผอ.สถานศึกษาคิดแบบเองได้ไหม, 7.เรียนในระบบมาปีเดียว เทียบโอนได้


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันเสาร์ที่ 9 มี.ค.62 มีผู้ถามผมในไลน์สแควร์กลุ่ม กศน. ว่า  นศ.จบม.ปลาย หลักสูตร 2544 มาขอประกาศนยบัตร ม.ปลายหลักสูตร 44 สามารถออกได้หรือไม่ หากได้จะใช้แบบประกาศนียบัตรหลักสูตร 51 ได้หรือไม่ค่ะ

             ผมตอบว่า   ออกได้  โดยใบประกาศนียบัตร กศ.ขั้นพื้นฐาน หลักสูตร 44 กับหลักสูตร 51 เหมือนกัน เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการออกประกาศนียบัตร พ.ศ.2539 ทั้งคู่ ซึ่งในแบบใบประกาศนียบัตรที่ซื้อมา จะไม่ได้พิมพ์ชื่อหลักสูตรมาด้วยว่าเป็นหลักสูตร 44 หรือ 51 แต่สถานศึกษาจะต้องเป็นผู้พิมพ์หรือเขียนชื่อหลักสูตรเข้าไปเอง ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ฉะนั้น จึงใช้แทนกันได้






         2. เย็นวันที่ 11 มี.ค.62 มีผู้ถามในไลน์กลุ่ม ITW NFE ว่า  รบกวน สมาชิกในกลุ่มทุกท่าน อยากได้ระเบียบการออกใบรบ. การเก็บรักษาใบรบ. หรือทำลายใบรบ.(กรณีที่พิมพ์ผิดและถูกยกเลิก) สมาชิกท่านใดพอมีระเบียบเหล่านี้บ้าง

             ผมตอบว่า   เคยอ่านคู่มือการดำเนินงานบ้างไหม ต้องหาเวลาอ่านให้จบแล้วเวลาสงสัยอะไรก็จะพอนึกออกว่าเรื่องอะไรอยู่ประมาณหน้าไหน
             ต้องดูหลาย ๆ หน้า (ตอบเพียง 7-8 บรรทัดไม่ได้)
             ถ้าเป็นคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร 51 ฉบับปรับปรุง 55 ปกสีเลือดหมู ดูที่หน้า 77, 83, 156-159
             ( ใบ รบ.เป็นเอกสารหลักฐานควบคุม จึงไม่มีการทำลายไม่ว่ากรณีใด ๆ .. ถ้าพิมพ์ผิด ให้ขีดเส้นทแยงมุมด้วยสีแดง 2 เส้น แล้วติดไว้กับต้นขั้วตลอดไปอย่าให้สูญหาย ถ้าอ้างว่าเผลอทำลายทิ้งไปแล้ว ต้องดำเนินการออกประกาศยกเลิกตามระเบียบ )

         3. เย็นวันที่ 11 มี.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอสอบถามเรื่องหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่าตอบแทนกรรมการเก็บรักษาข้อสอบ การสอบปลายภาค ที่อำเภอ สามารถเบิกได้วันละเท่าไหร่

             เรื่องนี้  ปัจจุบันไม่มีระเบียบให้เบิกจ่ายค่าตอบแทนกรรมการเก็บรักษาข้อสอบ  ช่วงในเวลาราชการก็ทำงานตามปกติ ช่วงนอกเวลาก็มีเวรยามอยู่
             ผมทำงานอยู่ กศน.อำเภอ 20 ปี ก็ไม่เห็นมีเบิกเรื่องนี้
             ผมนำเรื่องนี้ไปถามต่อในกลุ่มไลน์ ITw NFE และกลุ่มไลน์สแควร์ กศน.  มีแต่คนบอกว่า “มีคำสั่งแต่งตั้ง แต่ไม่เคยเบิก” ไม่มีใครบอกว่าเคยเบิกซักคน

         4. คืนวันที่ 11 มี.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  กฎหมายที่ว่าทำงานล่วงเวลาในวันหยุด นายจ้างต้องจ่าย 3 เท่า นั้น เฉพาะลูกจ้างตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 มาตรา 63 (ที่คิดค่าแรงเป็นรายวัน) ส่วนลูกจ้างของส่วนราชการก็จะมีรายละเอียด ตามสัญญาจ้างกำกับอยู่ ใช่หรือไม่.?

             ผมตอบว่า   ใช่  อันนี้หมายถึงลูกจ้างองค์กรเอกชน และก็ไม่ได้หมายถึงการทำงานปกติในวันหยุดนะ แต่ต้องเป็นทั้งวันหยุดด้วยล่วงเวลาด้วย ช่วงล่วงเวลาในวันหยุดจึงจะได้ 3 เท่า เช่น โรงงานมีงานเร่งด่วนตามออร์เดอร์ จึงให้คนงานมาทำงานในวันหยุดโดยนอกจากให้ทำงานในวันหยุดช่วง 08.00-17.00 น.แล้ว ในวันหยุดนั้นยังให้ทำงานต่อจาก 17.00 น.ไปถึง 21.00 น.อีกดวย ช่วงเวลา 17.00-21.00 น.ของวันหยุดนี่แหละที่นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลา 3 เท่า

             ส่วน เจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ ข้าราชการ-ลูกจ้างประจำ-พนักงานราชการ-ลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่ใช่ผู้รับจ้างเหมาบริการซึ่ง กศน.ไม่มีลูกจ้างชั่วคราวประเภทนี้  ปัจจุบันยังให้เป็นไปตาม "ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ.2550"
             ( สำหรับค่าทำงานนอกเวลาของผู้รับจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ ให้เป็นไปตามสัญญาจ้าง )

             ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ พ.ศ.2550 ที่ใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐ กำหนดว่า  วันทำการ เบิกเงินตอบแทนได้ไม่เกิน 4 ชั่วโมง ๆ ละ 50 บาท ส่วนวันหยุดราชการเบิกเงินตอบแทนได้ไม่เกิน 7 ชั่วโมง ๆ ละ 60 บาท เมื่อไม่เกิน 7 ชั่วโมง จึงไม่มีค่าล่วงเวลาในวันหยุด ( ส่วนที่เกิน 7 ชั่วโมงในวันหยุดจึงจะได้มาก แต่ส่วนราชการยังไม่ให้ทำงานเกิน 7 ชั่วโมง.. 7 ชั่วโมงนี้ไม่นับรวมช่วงทานอาหารกลางวัน 1 ชั่วโมง )

         5. เย็นวันเสาร์ที่ 16 มี.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  วันที่ 16-17 มีนาคม 62 เป็นวันสอบปลายภาค ฉันได้มาคุมสอบ ปกติแล้วเค้าจะให้เงินคุมสอบ 2 วัน 1200 บาทใช่มั้ย แต่ที่นี้ฉันได้แค่วันเดียวคือ 600 บาท อยากสอบถามว่า แบบนี้ทางอำเภอเค้าทำถูกหรือป่าว ฉันถามเค้าไปเค้าบอกว่า มันคือวันพบกลุ่มของฉัน เลยไม่สามารถให้เงินได้ แต่อำเภออื่นให้กัน ฉันควรจะทำอย่างไร อ.มีระเบียนอะไรให้ฉันอ่านมั้ย

             ผมตอบว่า   ผมตอบเรื่องนี้บ่อยมากแล้ว เช่น ใน

             - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2015/02/stopday.html

             - ข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2018/03/kuk.html

         6. คืนวันที่ 19 มี.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  แบบฟอร์มการลาประเภทต่างๆของราชการ จะใช้แบบไหนที่ถูกต้อง.?
             1) ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลา พ.ศ.2555 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 25 มกราคม 2555 มีผลบังคับใช้วันที่ 25 มกราคม 2555)
             2) ตามที่สำนักงาน กศน. กำหนด
             3) สถานศึกษาคิดแบบขึ้นมาเอง อย่างไรก็ได้ ตามที่ผู้บริหารฯกำหนด

             ผมตอบว่า   แบบฟอร์มการลาประเภทต่าง ๆ ของราชการ ใช้แบบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลา พ.ศ.2555  ซึ่งแบบฟอร์มตามที่สำนักงาน กศน.แจ้ง ก็เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลา พ.ศ.2555 นั่นแหละ
             ( ผู้บริหารสถานศึกษาจะคิดกำหนดแบบเองทำไม ถ้าคิดกำหนดแบบเองก็ต้องดูว่าแบบที่คิดกำหนดเองนั้น มีข้อมูลขาดหรือเกินจากแบบตามระเบียบสำนักนายกฯอย่างไร ถ้าข้อมูลที่ขาดหรือเกินนั้นไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบกฎหมายใด ก็อนุโลมใช้ได้ )

         7. วันที่ 21 มี.ค.62 มี ผอ.กศน.เขต ถามผมทางไลน์ ว่า  นศ เรียนในระบบแค่ 2 เทอม สามารถเทียบโอนผลการเรียนได้ไหม เช่น วิชาบังคับ ในกรณีนี้คือ สังคมศึกษา ซึ่งของเขาเรียน 6 เทอมในวิชาสังคมคือ 100% ฉะนั้นเรียนแค่ปีเดียว คือ 33.33 % หรือเปล่า คือเนื้อหาทั้ง 6 เทอม สอดคล้อง 100% เรียน 2 เทอม ก็ได้รับความรู้ของเนื้อหาสอดคล้องกับหลักสูตรเพียง 33.33 % ถ้าคณิต ก็ต้องเอาวิชาที่เกี่ยวกับคณิต มารวมกัน เช่น ค21101 ค 21102 ใช่ไหม ถ้าวิชาสังคม เราเอาวิชาสังคม กับหน้าที่พลเมือง มารวมคิดได้ใช่ไหม
             จำได้ว่า เคยเอาคนไปเทียบ เรียนถึง ม.5 เทอม 1 (ตอนที่อยู่อุบล) เขาบอกว่าเทียบโอนไม่ได้เลย ได้แค่สิทธิเรียนจบก่อน 2 ปีเท่านั้น

             ผมตอบว่า   การเทียบโอน ต้องดูเนื้อหาวิชาที่ได้เกรด 1 ขึ้นไป ว่าสอดคล้องกับวิชาใดของเราถึง 60 % บ้าง ถ้าเนื้อหาวิชาสอดคล้องกันไม่น้อยกว่า 60 % ก็เทียบโอนวิชานั้นได้ หน่วยกิตของวิชาเขาที่นำมาเทียบโอนต้องไม่น้อยกว่าหน่วยกิตของวิชาเราที่รับเทียบโอน
             ถ้าไม่รู้เนื้อหาวิชาเขาก็ให้เดาจาก "ชื่อวิชา"
             หลายวิชาที่เนื้อหาเป็นวิชาเดียวกันเช่น วิทย์ 1 วิทย์ 2 วิทย์ 3 ก็รวมกันเทียบโอนเป็นวิชาวิทย์เรากี่วิชาก็ได้ หรือวิชาวิทย์เขาวิชาเดียวเเทียบเป็นวิชาวิทย์เรามากกว่า 1 วิชาก็ได้ ดูจำนวนหน่วยกิตรวมด้วย
             จำนวนภาคเรียนที่เรียนมาไม่เกี่ยว
             แต่ถ้าเรียนมาน้อย จำนวนหน่วยกิตที่ได้เกรด 1 ขึ้นไป น้อยกว่าหน่วยกิตวิชาเรา ก็เทียบโอนไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเรียนมาปีเดียวก็เทียบโอนได้ยาก แต่ไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะหลักสูตร 51 ของเราแต่ละวิชาหน่วยกิตไม่มาก เทียบโอนง่ายขึ้น
             เช่น เขาเรียนวิชาเขา สังคม 1 = 1 หน่วยกิต, กับสังคม 2 = 2 หน่วยกิต ได้เกรดไม่น้อยกว่า 1 ทั้ง 2 วิชา รวมเป็น 3 หน่วยกิต
             ถ้าสังคมของเรา 3 หน่วยกิต ก็เทียบโอนได้ แต่ถ้าสังคมของเราวิชาเดียว 4 หน่วย ก็เทียบโอนไม่ได้
             ( 60 % ของความตรงในเนื้อหา ไม่ใช่ 60 % ของหน่วยกิต )
             ถ้าสังคมของเรามีวิชาเดียว 6 หน่วยกิต แต่สังคมของเขามี 6 วิชา ๆ ละ 1 หน่วยกิต เขาก็ต้องเรียนมาครบ 6 วิชาจึงจะเทียบโอนได้ ถ้าเรียนมา 5 วิชาก็ยังเทียบโอนไม่ได้ รวมหน่วยกิตต้องไม่น้อยกว่าของเรา ยึดหน่วยกิตเป็นหลัก )
             ค21101 + ค21102 ของเขา ก็ต้องเทียบโอนเป็นวิชาคณิตศาสตร์ของเรา
             แต่ถ้า ค21101 + ค21102 รวมเป็น 3 หน่วยกิต แต่คณิตศาสตร์ของเราวิชาเดียว 4 หน่วยกิต ก็เทียบโอนไม่ได้
             ( เขาเรียนมาวิชาเดียวก็อาจจะเทียบโอนได้แล้ว แต่เทียบโอนเป็นวิชาของเราได้ไม่เกินหน่วยกิตของเขา
             ให้ตัดเรื่องเทอมออกไปเลย แล้วดูเนื้อหาวิชา กับหน่วยกิต ว่าเป็นวิชาอะไรของเราได้หรือไม่ ถ้าได้ หน่วยกิตพอหรือไม่ )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย