วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

1.การรับคนต่างด้าวเข้าเรียน กศน., 2.รบ.สูญหาย-รบ.EP-นศ.หลักสูตรเก่าเพิ่งขอจบ, 3.ครูอาสาฯมีนักศึกษาไม่ครบจะมีผลอย่างไร (ถ้าจะปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ครูอาสาฯ), 4.ผอ.กศน.อำเภอ อนุญาตให้พนักงานราชการลาคลอดได้กี่วัน, 5.อาชีพระยะสั้น กับ หลักสูตรระยะสั้น แตกต่างกันอย่างไร, 6.การเบิกจ่ายเงินพัฒนาคุณภาพผู้เรียน, 7.การย้ายครู ศรช.



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันเสาร์ที่ 25 ต.ค.57 ผมเผยแพร่คำตอบเก่า ๆ เรื่องการรับคนต่างด้าว (บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย) เข้าเรียน กศน. ในเฟซบุ๊ค เพราะมีผู้ถามในกลุ่มครูนอกระบบอีก  ว่า

             1)  ปัจจุบันรัฐบาลเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียนได้ถ้าเข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ( ยกเว้นกลุ่มที่หนีภัยมาจากการสู้รบ จัดให้เรียนได้เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนด )   ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐาน วัน เดือน ปีเกิด ในการรับนักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศสามารถเข้าเรียนได้โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา  ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และการเป็นภาคีอนุสัญญาสิทธิเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยเด็กสิทธิเด็ก ข้อ 29 ระบุไว้ว่า เด็กไม่ว่าจะมีสัญชาติใด จะมีสถานะถูกกฎหมายหรือไม่ ก็มีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย  และ หนังสือสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียนที่ ศธ 0210.03/6217 ลว. 6 พ.ย. 49 ให้สถานศึกษาสามารถรับสมัครและออกหลักฐานการศึกษาให้เด็กที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้
                  คนต่างด้าวเรียนได้ทุกระดับ  ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะมีเรื่องนี้อยู่ในภาคผนวก
ทุกเล่มเช่นเล่มปกสีเหลืองที่เป็น 1 ใน 9 เล่ม ที่แจกให้ครูทุกคนตอนอบรมหลักสูตรใหม่ จะอยู่ในหน้า 96-114  ถ้าเป็นคู่มือหลักสูตร 2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555 ( ปกสีเลือดหมู ) ที่ส่งให้ทุกอำเภอเมื่อต้นเดือน ธ.ค.55 จะอยู่ในหน้า 99-117  ชื่อเรื่องจะไม่ได้ใช้คำว่า "คนต่างด้าว" แต่จะอยู่ในเรื่อง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียน ในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ( การจัดการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย )

             2)  หลักฐานที่ใช้สมัครเรียน ดูรายละเอียดและแบบฟอร์มจาก "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548" โดยดูในระเบียบข้อ 6   ถ้าไม่มีหลักฐานใด ๆ ให้ใช้ "บันทึกแจ้งประวัติบุคคล" เป็นหลักฐาน ( บันทึกแจ้งประวัติบุคคลนี้ ใช้แทนทั้งบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้าน )   อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://tabianprawet.blogspot.com/2012/04/blog-post.html
                  แต่ทางที่ดี เราควรให้ผู้ประสงค์จะเรียนซึ่งไม่มีหลักฐานทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ไปติดต่อทำบัตรประจำตัว กับฝ่ายทะเบียนอำเภอ ตามข้อ 2.2 ในหน้า 100 เล่มปกสีเหลือง  หรือหน้า 103 เล่มปกสีเลือดหมู ก่อน  ( เขาพำนักอยู่ในเขตท้องที่ไหนก็ให้ไปติดต่อฝ่ายทะเบียนท้องที่นั้น ฝ่ายทะเบียนอำเภอจะมีความรู้ในการตรวจสอบดีกว่าเรา บางครั้งเราก็อ่าน
VISA/Passport ของเขาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเป็นวีซ่าท่องเที่ยว หรือวีซ่าประเภทไหน )  แล้วให้เขานำหลักฐานการขึ้นทะเบียนมาใช้เป็นหลักฐานการสมัครเรียน จะได้มีเลขประจำตัว 13 หลัก อยู่ในประเภทที่ 8 คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายฯ

             3)  ถ้ากรอกเลขประจำตัวประชาชน คนต่างด้าว ตามที่มหาดไทยออกให้แล้ว โปรแกรม ITw บอกว่าเลขประจำตัวประชาชนไม่ถูกต้อง ก็ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชนที่โปรแกรมออกให้ไปก่อน โดยคลิกที่ปุ่มรูปไม้กายสิทธิ์ ด้านขวาของช่องสำหรับกรอกเลขประจำตัวประชาชน แล้วเลือก ต่างด้าว, ตกลงจะมีช่อง หมายเหตุการณ์ออกเลขมาให้กรอกเหตุผลที่ใช้โปรแกรมออกเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งจะกรอกว่าอย่างไรก็ได้ ( ไม่กรอกก็ได้ )

         2. คืนวันอาทิตย์ที่ 26 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง ออกใบ รบ.แทนฉบับที่สูญหาย ไม่มีระเบียบให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือใช้ใบ รบ.เลขที่ใหม่, ถ้าต้นฉบับใบ รบ.ฉบับที่อยู่กับ กศน.อำเภอ สูญหาย ทำไง ? , ออกใบ รบ.หลักสูตร EP, นศ.หลักสูตร 44 เพิ่งมาขอจบ ยังไม่เคยออกใบ รบ. ผอ.ก็เปลี่ยนคนแล้ว  ว่า

             1)  อ.กิตติพงศ์ Kittipong Kitti กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า  ใบ รบ.หลักสูตร 44, 51 ยังไม่ได้ยกเลิก ( ยกเลิกแต่ใบ รบ.หลักสูตร 30-31 และก่อนหน้านั้น ) ถ้านักศึกษาหลักสูตร 44 เพิ่งมาขอจบ ยังไม่เคยออกใบ รบ. ผอ.ก็เปลี่ยนคนไปแล้ว กรณีนี้ อ.กิตติพงศ์ บอกว่า ยังต้องออกใบ รบ.หลักสูตร 44 ตามปกติ ถ้าแบบฟอร์มใบ รบ.หลักสูตร 44 หมด ก็ต้องไปซื้อมาใหม่
                  ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใด การออกใบ รบ.หรือใบแทน ให้ ผอ.คนปัจจุบันเป็นผู้ลงนาม ไม่ใช่ให้ ผอ.คนเก่าที่อนุมัติจบหลักสูตรมาลงนาม   กรณีออกใบ รบ.เพราะจบการศึกษา วันที่ "วันอนุมัติการจบ" กับ "ออกเมื่อวันที่" ด้านล่างขอใบ รบ. จะเป็นวันเดียวกัน คือวันที่ ผอ.คนเดิมอนุมัติการจบเมื่อผ่านเงื่อนไขการจบหลักสูตรครบทุกข้อ   ส่วน วันที่ ด้านใต้ตำแหน่ง
ผอ. คือวันที่ ที่ ผอ.คนปัจจุบันลงนามในใบ รบ. ( ไม่ว่าจะ ผอ.เก่า หรือ ผอ.ใหม่ เซ็นชื่อวันไหน วันที่ใต้ลายเซ็นก็เป็นวันที่เซ็นต์ ไม่จำเป็นต้องเป็นวันเดียวกันกับ
วันอนุมัติการจบหรือ ออกเมื่อวันที่” )

             2)  กรณีนักศึกษาทำใบ รบ.หลักสูตร 44, 51 ชำรุดหรือสูญหาย  ตามคู่มือดำเนินงานหลักสูตร 44 ปกสีเหลือง  และ คู่มือดำเนินงานหลักสูตร กศน ขั้นพื้นฐาน 2551 (ปรับปรุง 2555) ปกสีเลือดหมู ที่ส่งให้ทุกอำเภอเมื่อต้นเดือน ธ.ค.55 หน้า 158 ระบุว่า "กรณีนักศึกษา ... ได้รับ .. ระเบียนแสดงผลการเรียน ... ไปแล้ว มาขอรับ..ใหม่ให้..ใช้ฉบับสำเนาที่จัดซื้อจากองค์การค้า..มาจัดทำโดยจะต้องกรอกเลข ชุดที่เลขที่ และรายการต่าง ๆ ให้ตรงกับเอกสารต้นฉบับ"  ( ไม่ใช่ใช้ใบ รบ.ฉบับเล่มที่เลขที่ใหม่ และไม่ได้ให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารจากต้นฉบับเดิม  แต่ให้ซื้อแบบฟอร์มใบแทนหรือสำเนา  และไม่ได้ให้ประทับตรายางว่าใบแทนหรือสำเนา )  ไม่ว่าจะออกใหม่เป็นครั้งที่เท่าไรก็ใช้แบบฟอร์มใบแทนหรือสำเนาเหมือนเดิม

             3)  การซื้อแบบฟอร์มใบแทนหรือสำเนา หลักสูตร 44, 51 จากองค์การค้า ตัวอย่างเช่นของหลักสูตร 44 ม.ต้น องค์การค้าฯจะเรียกว่า "กศน.1-ต (ชนิดแบบฟอร์ม)" รหัสสินค้าคือ 2002100095182  ( ถ้าเราไปบอกว่าขอซื้อ "ใบแทน" หรือ "สำเนา" เขาอาจจะไม่รู้จัก )  ราคาแผ่นละ 4 บาท (1 ห่อมี 200 แผ่น)

             4)  ถ้าต้นฉบับใบ รบ. ฉบับที่อยู่กับ กศน.อำเภอ สูญหาย โดยที่ นศ.รับคู่ฉบับไปแล้ว  กรณีนี้ ผอ.กศน.อ.เมืองเชียงใหม่  (นิติธร เทพเทวิน ) บอกว่า ตามระเบียบเกี่ยวกับหลักฐานการศึกษา ต้องทำประกาศสถานศึกษา ยกเลิกฉบับที่สูญหาย โดยระบุเล่มที่เลขที่ที่หายทุกฉบับ แล้วส่งประกาศฯไปให้ สนง.กศน.จังหวัด   เมื่อยกเลิกต้นฉบับ ส่วนที่นักศึกษารับไปแล้วก็ใช้ไม่ได้ ต้องออกฉบับใหม่ ที่เล่ม/เลขที่ใหม่ ไม่ใช่ใบแทนหรือสำเนา เพื่อให้มีต้นฉบับไว้ตรวจสอบภายหลังอีก  ถ้านักศึกษานำฉบับเก่าไปใช้โดยสุจริต เขาจะตรวจสอบมา สถานศึกษาก็แจ้งเหตุไปพร้อมแนบฉบับที่ออกใหม่ไปให้เขา  ถ้านักศึกษาไม่ได้นำฉบับเก่าไปใช้หรือเขาไม่ตรวจสอบมาก็แล้วไป เพราะได้ออกอย่างถูกต้อง

             5)  การออกใบ รบ.หลักสูตรก่อนหลักสูตร 44 ทุกหลักสูตร เช่นหลักสูตร 30-31 แทนฉบับที่ชำรุด/สูญหาย  ให้ปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ ศธ 0210.03/10974 ลงวันที่ 21 ธ.ค.49 ( ถ้าอยู่ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ค้นหาหนังสือนี้ ตามหนังสือนำส่งของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ ศธ 0210.03/ว 34 ลงวันที่ 22 ม.ค.50 )  ซึ่งกำหนดว่า ให้ออกเป็นใบรับรองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ พ.ศ.2526 ที่ปรากฏหมวดวิชาต่าง ๆ ที่เรียนผ่านมา พร้อมผลการเรียน ดังตัวอย่างในเอกสารที่ 1 ” ( คำว่า รหัสประจำวันแก้เป็น รหัสประจำตัว” ) โดยสามารถปรับส่วนที่เป็นผลการเรียนให้สอดคล้องกับโครงสร้างหลักสูตรนั้น ( คุณกรวรรณ กลุ่มพัฒนา กศน.บอกว่า ถ้าข้อมูลผลการเรียนสูญหาย ให้ดูโครงสร้างหลักสูตรนั้นว่าต้องเรียนวิชาใดบ้าง ถ้าเรียนเหมือนกันทุกคนก็ใส่วิชาที่เรียนลงไปด้วย โดยไม่ต้องมีผลการเรียนก็ได้ แต่ถ้าไม่สามารถทราบได้ว่าเรียนวิชาใดบ้างก็ไม่ต้องใส่ทั้งวิชาและผลการเรียน )   ดูหนังสือฉบับนี้และตัวอย่างเอกสารที่ 1 ได้ที่  https://www.gotoknow.org/posts/442192 

             6)  การออกใบ รบ. หลักสูตร English Program ให้ประทับตรายางว่า “English Program” ทั้งในฉบับภาษาไทบ ฉบับภาษาอังกฤษ ทั้งต้นฉบับและคู่ฉบับ  โดยใช้แบบอักษร Angsana New ขนาด 20 point ตัวหนา  ตามตัวอย่างที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/EP-rb.pdf

             7)  กรณีนักศึกษาขอเปลี่ยนชื่อ-สกุล ในใบ รบ.  เมื่อนักศึกษาเปลี่ยนชื่อ ก็ต้องนำหลักฐานการเปลี่ยนชื่อ มายื่นขอเปลี่ยนชื่อ  นายทะเบียนฯต้องตรวจสอบหลักฐานการเปลื่อนชื่อ ดูว่าเปลี่ยนวันที่เท่าไร ถ้าเปลี่ยนชื่อก่อนวันจบ เราก็เปลี่ยนชื่อให้เขา  แต่ถ้าวันที่เปลี่ยนชื่อ-สกุล ในใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล เป็นวันที่หลังวันอนุมัติจบหลักสูตรในใบ รบ. สถานศึกษาจะเปลี่ยนชื่อในใบ รบ.ให้ไม่ได้  เวลานักศึกษานำไปใช้ที่ไหน ก็ใช้ใบ รบ.ควบคู่กับใบเปลี่ยนชื่อ

             8)  การออกใบ รบ. เป็นภาษาอังกฤษ  ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร EP หรือหลักสูตรปกติ ก็ใช้โปรแกรม ITw ออกใบ รบ. ทั้งฉบับภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ด้วยเมนูเดียวกัน   สถานศึกษา ( กศน.อ./ข. ) สามารถออกใบระเบียนแสดงผลการเรียนและประกาศนียบัตรภาษาอังกฤษได้เอง  แต่ถ้าเป็นหนังสือรับรองการจบหลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ต้องส่งเรื่องผ่านจังหวัดให้ส่วนกลางเป็นผู้ออก
                  ออกใบ รบ.เป็นภาษาอังกฤษ ใช้เมนูเดียวกับการพิมพ์ใบ รบ.ภาษาไทย แต่เลือกภาษาที่ใช้ เป็น
ภาษาอังกฤษ
โดยปริ้นท์ลงกระดาษเปล่า แล้วก็ใช้กระดาษเปล่าที่ปริ้นท์นั้นเป็นใบ รบ.ภาษาอังกฤษฉบับจริงได้เลย ( โปรแกรมจะปริ้นท์เส้นและตราครุฑมาให้เรียบร้อย ชื่อภาษาอังกฤษของรายวิชาบังคับและวิชาเลือกที่ส่วนกลางพัฒนาขึ้นก็มีอยู่แล้ว )  ใช้ ชุดที่ เลขที่ เดียวกับในใบ รบ.ภาษาไทย ของคนนั้น ๆ   อย่างไรก็ตาม เราต้องกรอกบางอย่างเป็นภาษาอังกฤษเข้าโปรแกรม ITw เองก่อน คือ ส่วนที่อยู่หัวและท้ายใบ รบ. ได้แก่ ชื่อนายทะเบียน ชื่อผู้บริหารสถานศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา ชื่อ-สกุลนักศึกษา ( Name ) ศาสนา สัญชาติ ชื่อ-สกุลบิดา ( Father Name ) ชื่อ-สกุลมารดา ( Mother Name ) สถานศึกษาเดิม ( Previous Educational Institution ) จังหวัดของสถานศึกษาเดิม ( Province )  เหตุที่ออก ( Cause of Issue ) เช่น เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย = Completion of upper secondary level  คำชี้แจงกรณีเทียบโอน ( Explanation )  รวมทั้งต้องเติมชื่อภาษาอังกฤษของรายวิชาเลือกที่สถานศึกษาพัฒนาขึ้น ลงในตารางรหัสวิชา   ส่วนชื่อสถานศึกษา อำเภอ จังหวัด ภาษาอังกฤษ อยู่ในเมนู 3 - 1 ( ตารางรหัส - ศูนย์กศน. )

         3. เย็นวันที่ 27 ต.ค.57 Thavat Sonm ถามทางอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครูอาสาสมัครที่จะต้องมีนักศึกษา ภาคเรียนละ 60 คน ถ้าหาไม่ได้ หรือมีนักศึกษาไม่ครบ จะทำอย่างไร และมีผลอย่างไรบ้างต่อการทำงาน

             เรื่องนี้  มีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น

             1)  ในกรณีที่ครู กศน. ไม่ได้สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน .. จะ..
                  - ไม่มีสิทธิ์สมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการตำแหน่งครูผู้ช่วย กศน. ( กศน.รับเฉพาะบุคลากรในสังกัด โดย ก.ค.ศ.กำหนดคุณสมบัติว่าต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนตามคำสั่งหรือสัญญาจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าสามปี นับถึงวันรับสมัครคัดเลือกวันสุดท้าย โดยต้องแนบคำสั่งหรือสัญญาจ้างที่มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอน ซึ่ง กจ.กศน.บอกว่า ไม่ใช่คำสั่งแต่งตั้งเป็นครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล ครู ศรช. )
                  - ไม่มีสิทธิขอหนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพครู
                  - ไม่มีสิทธิ์เรียน ป.บัณฑิต
                  (
แต่เมื่อจะสมัครเหล่านี้ เรามีวัฒนธรรมในการสร้างหลักฐาน แต่ก็อาจสร้างหลักฐานไปได้ไม่ตลอดนะ เพราะการสร้างหลักฐานเท็จ ผู้เกี่ยวข้องเช่นผู้รับรองต้องรับผิดชอบด้วย  ผู้ร้องเรียนมีมาก ถึงแม้วัฒนธรรมของเราจะตำหนิผู้ร้องเรียนแทนที่จะตำหนิผู้ทำผิดก็ตาม )

             2)  เกณฑ์ของครูแต่ละคน เป็นเกณฑ์ทั้งขั้นต่ำและขั้นสูง คือ
                  - ครูอาสาฯ รวมครูอาสาปอเนาะ-ครู กศน.ตำบล-ครู ศรช. : 1 คน รับผิดชอบผู้เรียนไม่น้อยกว่า 60 คน ไม่เกิน 66 คน
                  - ครู ปวช. : 1 คน รับผิดชอบผู้เรียนไม่น้อยกว่า 40 คน ไม่เกิน 45 คน
                  - ครูสอนเด็กเร่ร่อน : 1 คน รับผิดชอบผู้เรียนไม่น้อยกว่า 20 คน ไม่เกิน 25 คน
                  - ครูสอนคนพิการทางการเห็น การได้ยิน ทางร่างกาย การเคลื่อนไหว และสุขภาพ : 1 คน รับผิดชอบผู้เรียนไม่น้อยกว่า 10 คน ไม่เกิน 15 คน
                  - ครูสอนคนพิการทางสติปัญญา การเรียนรู้ การพูด ภาษา พฤติกรรมหรืออารมณ์ ออทิสติก พิการซ้อน : 1 คน รับผิดชอบผู้เรียนไม่น้อยกว่า 5 คน ไม่เกิน 8 คน

                  ถ้าเกินเกณฑ์ขั้นสูง เป็นความรับผิดชอบของ ผอ.กศน.อำเภอ ซึ่งเป็นการ ไม่ปฏิบัติตามนโยบายส่วนจะเกิดอะไรขึ้นถ้าไม่ปฏิบัติตามนโยบาย ก็ขึ้นอยู่กับ ผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปจะดำเนินการอย่างไร
                  แต่ถ้าครูมีนักศึกษาน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ สิ่งที่จะเกิดขึ้น แตกต่างกันใน 2 กลุ่ม คือ

                  2.1  กลุ่มครูที่ไม่ได้เป็นพนักงานราชการ ( ครู ศรช. ครู ปวช. ครูสอนเด็กเร่ร่อน ครูสอนคนพิการ )  ถ้ามีนักศึกษาไม่ครบตามเกณฑ์ จะไม่ได้ค่าตอบแทนรายเดือนเต็มตามวุฒิ เช่น ถ้าครู ศรช. รายใดมีนักศึกษาไม่ครบ 60 คน ต้องเบิกเงินค่าตอบแทนรายเดือนตามจำนวนนักศึกษา หัวละไม่เกิน 150 บาท/เดือน เป็นต้น
                  2.2  กลุ่มครูที่เป็นพนักงานราชการ ( ครูอาสาฯ ครู กศน.ตำบล )  ถ้ามีนักศึกษาไม่ครบ 60 คน ถือว่าไม่ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ เป็นความผิดที่สามารถเลิกสัญญาจ้างได้  ( เมื่อวันที่ 17 พ.ย.56 ท่านอดีตเลขา กศน. นายประเสริฐ บุญเรือง ไปตรวจติดตามการปฎิบัติงาน และประชุมมอบนโยบาย ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ถ้าครูอาสาฯไม่สอนตามเกณฑ์ที่กำหนด ถือว่าไม่ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ มีความผิด ให้เลิกสัญญาจ้าง )  ขณะนี้หนังสือราชการกำหนดบทบาทหน้าที่ครูอาสาฯ ยังไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงใหม่ จึงยังต้องยึดตามฉบับลงวันที่ 20 พ.ย.56

             3)  นอกจากนี้ การไม่ทำงานตามบทบาทหน้าที่ จะมีผลตอน ประเมินผลการปฏิบัติงาน เพราะในแบบประเมินจะแยกให้คะแนนผลการปฏิบัติงาน ตามบทบาทหน้าที่ ( และก็มีคะแนนข้องานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายด้วย โดยให้สิทธิ์จังหวัดเพิ่มข้อ ให้สอดคล้องกับบริบทด้วย )  ฉะนั้นถ้าไม่ทำงานตามบทบาทหน้าที่ ก็น่าจะได้คะแนนประเมินต่ำ ส่งผลถึงเปอร์เซ็นต์การเพิ่มค่าตอบแทน และการต่อสัญญา  ( แต่อย่างว่าแหละผู้ประเมินก็คือผู้บริหาร คะแนนอยู่ในมือผู้บริหาร แต่ก็อาจกระทบจิตใจผู้ที่คิดว่าการประเมินไม่ยุติธรรม อาจมีปัญหากันได้ )

             4)  คุณสมชาย ครูอาสาฯ กศน.อ.ดอยสะเก็ด เคยถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  หลายๆอำเภอให้ครูอาสาสมัครฯ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ณ สำนักงาน กศน.อำเภอ โดยได้มอบหมายภาระงานเช่น งานแผน งานการเงิน บัญชี และพัสดุ งานทะเบียน โดยไม่ได้จัดการเรียนการสอน (หรือบางอำเภอก็ให้สอนด้วย)  ประกอบกับในพื้นที่มีครู กศน.ตำบลเต็มพื้นที่ ไม่มีตำบลเหลือให้ครูอาสาสมัครฯ ประจำอยู่เลย  ถ้าครูอาสาสมัครฯ จะลงประจำพื้นที่ก็จะซ้ำซ้อนกับครู กศน.ตำบล ซึ่งการมอบหมายงาน มีผลต่อการประเมินพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาสมัครฯ เนื่องจากเกณฑ์การประเมินยังยึดจำนวนนักศึกษาพื้นฐาน งานการศึกษาต่อเนื่อง เป็นเกณฑ์ในการประเมินในแต่ละปีด้วย .... อยากทราบว่าสำนักงาน กศน.จะมีแนวทางในการปรับบทบาทภาระงานของครูอาสาสมัครพื้นที่ปกติ ที่ปฏิบัติงานในสำนักงาน กศน.บ้างหรือไม่  อาจปรับบทบาทเหมือนพนักงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงาน กศน.จังหวัด ที่มีตำแหน่งนักวิชาการศึกษา นักวิชาการนโยบายและแผน ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับการมอบหมายภาระงานที่ได้ปฏิบัติ และการประเมินผลการปฏิบัติงานในแต่ละปีด้วย

             ผมตอบว่า
                  ก. ผู้ที่ดูแลข้าราชการพลเรือนคือ ก.พ., ผู้ที่ดูแลข้าราชการครูคือ ก.ค.ศ. ส่วนผู้ที่ดูแลพนักงานราชการก็คือ ก.พ.ร. ซึ่ง ก.พ.ร.เป็นหน่วยงานที่อยู่นอกเหนืออำนาจของ รมว.กระทรวงต่าง ๆ เราแก้ระเบียบไม่ได้  ตามระเบียบหลักเกณฑ์ของ กพร.นั้น มีหลักการให้จ้างพนักงานราชการตามโครงการ ไม่ได้ให้จ้างตลอดไป เมื่อโครงการใดสิ้นสุดแล้วก็ให้เลิกจ้างพนักงานราชการของโครงการนั้น โดยทุก 4 ปี เราต้องทำเรื่องถึง ก.พ.ร. ว่าโครงการของเรายังดำเนินการต่อ ขอจ้างพนักงานราชการต่อ ( เราขอเพิ่มด้วย แต่ไม่ได้ ) ฉะนั้นการจะเปลี่ยนบทบาทหน้าที่หรือเปลี่ยนชื่อตำแหน่งพนักงานราชการจึงทำได้ยาก โดยเราทำเอกสารขอจ้างพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาสมัครการศึกษานอกโรงเรียน ต่อ ก.พ.ร. ระบุบทบาทว่าเป็นครูทำหน้าที่สอน ถ้าเราขอเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ไปยัง ก.พ.ร.ว่า ขอให้ตำแหน่งครูอาสาฯไม่ต้องเป็นครูทำหน้าที่สอนแล้ว ก.พ.ร.อาจจะถือว่าโครงการนี้สิ้นสุดแล้ว และอาจจะให้เลิกจ้างพนักงานราชการตำแหน่งครูอาสาฯ

                  ข. การเปลี่ยนตำแหน่ง ทำได้ในกรณีที่ มีตำแหน่งครูอาสาฯว่างลง ( เช่น ลาออก อายุครบ 60 ปี เลิกจ้าง ตาย ) แล้วอำเภอต้องการเปลี่ยนเป็นตำแหน่งอื่น ( ระดับอำเภอ ตำแหน่งอื่นที่จะเปลี่ยนไปได้คือตำแหน่งนักวิชาการศึกษา กับตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไป  มีบางจังหวัดเปลี่ยนเป็นตำแหน่งใหม่ไว้ที่อำเภอ แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปไว้ที่จังหวัด )  ก็ให้จังหวัดเสนอเรื่องขอเปลี่ยนตำแหน่งไปที่ส่วนกลาง เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงรับสมัครเพื่อเลือกสรรในตำแหน่งใหม่ แต่มีข้อจำกัดโดย ก.พ.ร.กำหนดว่าการรับสมัครพนักงานราชการ ต้องรับสมัครบุคคลทั่วไป จะรับสมัครเฉพาะคนในสังกัดไม่ได้ และผู้ผ่านการสรรหาต้องเริ่มต้นรับค่าตอบแทนที่ขั้นต้นใหม่ ฉะนั้น ถ้าจะนำวิธีนี้มาเปลี่ยนตำแหน่งครูอาสาฯ โดยให้ครูอาสาฯลาออกแล้วสมัครในตำแหน่งใหม่ ก็ต้องสมัครแข่งกับบุคคลทั่วไป และเริ่มรับค่าตอบแทนที่ขั้นต้น ( 18,000 บาท ) ใหม่

                  ค. วิธีแก้ปัญหาที่ครูอาสาฯซ้ำซ้อนกับครู กศน.ตำบล ( ที่จริง ปัญหานี้เกิดเฉพาะในตำบลที่มีนักศึกษาน้อย แต่จังหวัดทางภาคเหนือ ภาคอิสาน ตำบลเดียวมีครู กศน.ตำบล 2-3 คน ก็ไม่มีปัญหาซ้ำซ้อนเพราะมีนักศึกษามาก ) คือให้ครูอาสาฯกับครู กศน.ตำบล ทำหน้าที่เหมือนกัน ให้มีโอกาสในการหานักศึกษาเท่าเทียมกัน ทั้งครูอาสาฯและครู กศน.ตำบล สอน กศ.ขั้นพื้นฐานด้วย ทั้งครูอาสาฯและครู กศน.ตำบล สอนผู้ไม่รู้หนังสือด้วย ถ้าครูอาสาฯทำงานแผน งานการเงินบัญชีพัสดุ งานทะเบียน ใน สนง.กศน.อำเภอด้วย ก็แบ่งหน้าที่ให้ครู กศน.ตำบลทำงานใน สนง.กศน.อำเภอด้วย จะได้เท่าเทียมกันในโอกาสการหานักศึกษา ( เมื่อวันที่ 17 พ.ย.56 ท่านอดีตเลขา กศน. นายประเสริฐ บุญเรือง ไปตรวจติดตามการปฎิบัติงาน และประชุมมอบนโยบาย ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ให้ครูอาสาฯเลิกนิเทศ แต่ให้ทำหน้าที่สอนเหมือนกันเด๊ะกับครู กศน.ตำบล และครู ศรช. ถ้าในอำเภอมีผู้ไม่รู้หนังสือ ให้ครูอาสาฯ+ครู กศน.ตำบล+ครู ศรช. เฉลี่ยกันสอนผู้ไม่รู้หนังสือเท่า ๆ กัน  นอกจากนี้ยังกำหนดในเอกสารแจ้งจังหวัดว่า ให้แต่งตั้งครูอาสาฯเป็นหัวหน้า กศน.ตำบลเป็นอันดับแรก ถ้าจำนวนครูอาสาฯไม่ครบตำบลจึงแต่งตั้งครู กศน.ตำบล ครู ศรช. เป็นหัวหน้า กศน.ตำบล ตามลำดับ )
                      ตำบลที่หานักศึกษายาก มีผู้สมัครใจเรียนจริงน้อย ถ้ามีครู ศรช.ลาออก โดยยังมีจำนวนครูอาสาฯ+ครู กศน.ตำบล+ครู ศรช. รวมไม่น้อยกว่าจำนวนตำบล ก็ไม่ควรจ้างครู ศรช.คนใหม่มาแทน เพราะอาจมีปัญหาเงินอุดหนุนไม่พอจ่าย







         4. เย็นวันที่ 29 ต.ค.57 นางสาวพันธิภา ประวาสุข ถามผ่านอินบ็อกซ์ผม ว่า  การลาคลอดบุตรของพนักงานราชการ (ครู กศน.ตำบล) สามารถลาได้กี่วัน แล้ว ผอ.อำเภอมีอำนาจอนุญาตลาได้กี่วัน

             ผมตอบว่า   พนักงานราชการทุกตำแหน่ง ใช้ระเบียบการลาเดียวกัน ดูระเบียบการลาของพนักงานราชการที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/forPRG.pdf
             ส่วนอำนาจอนุญาตการลา ระเบียบไม่ได้กำหนดผู้มีอำนาจอนุญาตการลาไว้โดยเฉพาะ จึงใช้หลักเกณฑ์เดียวกับข้าราชการหรือลูกจ้าง เพราะ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ.2547 ข้อ 4 กำหนดว่าเรื่องใดที่ไม่ได้กำหนดสำหรับพนักงานราชการโดยเฉพาะ ก็ให้ใช้หลักการเดียวกับข้าราชการหรือลูกจ้าง
             ซึ่งสรุปรวมจาก 2 ระเบียบได้ว่า  พนักงานราชการลาคลอดบุตรได้ 90 วัน แต่ให้ได้รับค่าตอบแทนระหว่างลาได้ไม่เกิน 45 วัน โดยถ้าเป็นพนักงานราชการอยู่ที่ กศน.อำเภอ ผู้อนุญาตลาคลอดบุตรก็คือ ผอ.กศน.อำเภอ อนุญาตได้ 90 วัน แต่ถ้าอนุญาตให้ลาเกิน 45 วัน อำเภอต้องรายงานการลาให้จังหวัดแจ้งเจ้าหน้าที่การเงิน งดเบิกจ่ายค่าตอบแทนในส่วนที่เกิน 45 วัน  ( พนักงานราชการรับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการลาคลอดบุตรจากกองทุนประกันสังคมได้อีก 45 วัน ไม่ว่าจะลาคลอดบุตรกี่วัน )

 
         5. ดึกวันที่ 30 ต.ค.57 Jiraporn Thivato ถามในเฟซบุ๊คผม ว่า  อยากสอบถามเกี่ยวกับแนวปฏิบัติการศึกษาต่อเนื่อง อาชีพระยะสั้นกับหลักสูตรระยะสั้น แตกต่างกันอย่างไร

             ผมตอบว่า  อาชีพระยะสั้นเป็นส่วนหนึ่ง/ประเภทหนึ่ง ของหลักสูตรระยะสั้น  โดยหลักสูตรระยะสั้นเป็นคำกว้าง แบ่งย่อยได้เป็น 4 ประเภท ปัจจุบันใช้คำว่าการศึกษาต่อเนื่อง แทนคำว่าหลักสูตรระยะสั้นแล้ว
             ก่อนปี 2554 กลุ่มแผนงาน และสำนักงบประมาณ ใช้คำว่า "การศึกษาต่อเนื่อง" ส่วนกลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการใช้คำว่า หลักสูตรระยะสั้นจนถึงปี 2554 จึงเปลี่ยนระเบียบหลักสูตรระยะสั้นใหม่ ไปใช้คำว่า การศึกษาต่อเนื่อง ให้เหมือนกันแทน โดยยกเลิก ระเบียบสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษานอกโรงเรียนหลักสูตรระยะสั้น พ.ศ.2549” ออกใหม่เป็น ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554” ( รวมทั้งยกเลิก ระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียนว่าด้วยการดำเนินงานการศึกษานอกโรงเรียนสายอาชีพ พ.ศ.2535” กับ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดกลุ่มสนใจ พ.ศ.2525” ด้วย )

             ปัจจุบัน การจัดการศึกษาของสถานศึกษาสังกัด กศน. แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ รวม 3 ประเภท คือ
             1)  การศึกษานอกระบบ
                  1.1  การศึกษาขั้นพื้นฐาน ( สายสามัญ )
                  1.2  การศึกษาต่อเนื่อง ( หลักสูตรระยะสั้น ) แบ่งย่อยเป็น 4 ประเภท

                        - อาชีพ ( การศึกษาสายอาชีพ, ทักษะอาชีพ, วิชาชีพระยะสั้น, การพัฒนาอาชีพ )
                        - ทักษะชีวิต ( พัฒนามาจากกลุ่มสนใจ )
                        - การพัฒนาสังคมและชุมชน
                        - การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
             2) การศึกษาตามอัธยาศัย

             สรุปได้ว่า  การศึกษาต่อเนื่องหรือหลักสูตรระยะสั้นของ กศน.อำเภอ คือทุกอย่าง ที่ไม่ใช่สายสามัญและอัธยาศัย
             เมื่อยุบรวมทุกอย่างของ กศน.อำเภอ ที่ไม่ใช่สายสามัญและอัธยาศัย รวมเป็นระเบียบฉบับเดียวคือระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554” แล้ว ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นอาชีพหรือทักษะชีวิตหรืออะไร จึงใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน อัตราการเบิกจ่ายเงินเดียวกัน เช่น อำนาจการอนุมัติหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องเป็นอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษา  ก่อนหน้านั้น การอนุมัติหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น ไม่ใช่อำนาจของผู้บริหารสถานศึกษา แม้แต่การเปิดสอนกลุ่มสนใจ ( ปัจจุบันคือทักษะชีวิต ) ก็ยังต้องเสนอนายอำเภอ แต่ระเบียบใหม่นี้ รวมกลุ่มสนใจหรือทักษะชีวิตด้วย ไม่ต้องเสนอนายอำเภอแล้ว
             ดูรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาต่อเนื่อง พ.ศ.2554” ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/Compressrd/ContinuingEducationGuide.rar
             เพื่อไม่ให้สับสน ควรลืมคำว่า หลักสูตรระยะสั้น
ไปได้แล้ว

         6. เย็นวันที่ 31 ต.ค.57 “บทเรียนชีวิต ที่แลกมาด้วยอนาคต” กศน.ดอยสะเก็ด เขียนในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  อยากได้ระเบียบเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินพัฒนาคุณภาพผู้เรียน

             ผมตอบว่า   ไม่มีระเบียบโดยเฉพาะ โดยท้ายข้อ 4 ในกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กำหนดว่า "ให้การเบิกจ่ายเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ ภายในวงเงินรายหัวผู้เรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมในภาคเรียนนั้นๆ โดยยึดหลักประหยัด ถูกต้อง โปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบ และไม่ให้สถานศึกษาเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้เรียนอีก"
             ใช้ระเบียบเบิกจ่ายการอบรมไม่ได้ ถ้าจำเป็นต้องเชิญวิทยากรภายนอกมาบรรยาย ให้จ่ายเป็นค่าตอบแทนวิทยากรสอนเสริม
             ลองดูในคำตอบเก่า ๆ เช่นใน

             - ข้อ 3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/491341
             - ข้อ 7 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/02/mba.html
             - ข้อ 3 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/536565
             - ข้อ 7 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/517947
             - ข้อ 7 (2) ที่  https://www.gotoknow.org/posts/539646


         7. คืนวันเสาร์ที่ 1 ต.ค.57 มีผู้ไม่ประสงค์ออกนาม ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ครู ศรช. อยากย้ายกลับบ้านเกิด ไม่ใช่ย้ายสับเปลี่ยนนะ ย้ายไปลงตำแหน่งว่าง สามารถทำได้ไหม ย้ายข้ามจังหวัด
             ( คำว่า ตำแหน่งว่าง คงหมายถึง อำเภอนั้นมีจำนวนนักศึกษาเกินโควตาครูอาสาฯ+ครู กศน.ตำบล+ครู ศรช. )

             เรื่องนี้  ผมเคยตอบแล้วว่า เรื่องการย้ายครู ศรช. ซึ่งไม่ได้เป็นพนักงานราชการ ไม่มีเลขที่ตำแหน่งระบุว่าเลขที่ตำแหน่งนั้นอยู่ที่อำเภอใด จะย้ายได้หรือไม่ให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งตามสัญญา นายจ้างครู ศรช.คือ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด ( ในสัญญาจ้างข้อ 1. ระบุอำเภอที่ปฏิบัติงานไว้ด้วย )   อยู่ที่ "นายจ้าง" คือแล้วแต่นโยบายของผู้บริหารแต่ละจังหวัด ( บางจังหวัดก็บอกว่าย้ายไม่ได้ )  เป็นอำนาจของท่าน ผอ.สนง.กศน.จังหวัดซึ่งเป็นผู้เซ็นสัญญา-ออกคำสั่งแต่งตั้ง จะให้ย้ายข้ามอำเภอภายในจังหวัดก็ได้ถ้าเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ( คือ ครู ศรช.ก็ต้องการย้าย จำนวนนักศึกษาอำเภอใหม่ก็มีรองรับ ผอ.อำเภอเดิมก็ยินดีให้ย้าย ผอ.อำเภอใหม่ก็ยินดีรับย้าย ผอ.จังหวัดก็มีนโยบายให้ย้ายได้  ก็ย้ายได้  แต่ถ้าสั่งย้ายข้ามอำเภอโดยที่ลูกจ้างไม่ยินยอม อาจมีปัญหา "ผิดสัญญา" )  ส่วนวิธีการในแต่ละจังหวัดอาจแตกต่างกัน บางจังหวัดอาจรอให้หมดสัญญาสิ้นปีงบประมาณก่อน เมื่อทำสัญญาใหม่จึงเปลี่ยนอำเภอที่ปฏิบัติงาน
             ผอ.สนง.กศน.จังหวัด มีอำนาจอยู่ภายในจังหวัด ฉะนั้น ครู ศรช.จึงย้ายข้ามจังหวัดไม่ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย