วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2562

1.การขอเครื่องราชฯชั้นสายสะพาย และเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ, 2.ขออนุญาตไปราชการงานกฐินได้ไหม, 3.ขรก.38 ค.(2) ที่มีสิทธิ์สอบเป็น ผอ.สถานศึกษา ต้องเป็นหัวหน้ากลุ่มใน สนง.กศน.จังหวัดหรือสถานศึกษา, 4.ทำสัญญาจ้างพนักงานราชการไม่ต้องติดอากรแสตมป์, 5.การเรียน กศน.ขั้นพื้นฐาน แบบออนไลน์ ถือว่าเป็นส่วนย่อยของแบบ ทางไกล (ขึ้นทะเบียนในโปรแกรม ITw เป็นวิธีเรียนทางไกล), 6.เครื่องตรวจกระดาษคำตอบปลายภาค คะแนนบางคนหาย นายทะเบียนไม่ให้สอบซ่อม ต้องเรียนใหม่, 7.ใบวุฒิลูกเสือหาย ทำอย่างไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันอาทิตย์ที่ 29 ก.ย.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า
             1) น้องข้าราชการเขาส่งเรื่องขอเครื่องราชฯไปนานแล้ว ยังไม่ได้ ติดตามที่สำนัก จะต้องติดต่อใครคะ
             2) ผู้เกษียณที่มีคุณสมบัติได้รับชั้นสายสะพาย(ภาษาบ้านๆ)ต้องดำเนินการอย่างไรคะ บุคลากรที่จังหวัดบอกว่าเขาส่งมาให้เอง
             3) ขรก.ครูจะเกษียณ ในตำแหน่ง ผอ.อำเภอ แต่เป็นครูไม่ครบ 30 ปี จะขอเครื่องหมายเชิดชูเกียรติได้หรือไม่คะ ในหนัวสือ สพฐ.ผู้บริหารการศึกษา ต้องเป็นครูมาไม่น้อยกว่า 10 ปีค่ะ

             ผมตอบว่า
             1) ถ้าจังหวัดตรวจสอบว่าเคยขอให้แล้ว ก็ลองเข้าไปเช็คที่ http://thanundon.soc.go.th/Home/FrmloginUser ( เช็คที่นี่ได้ทุกสังกัด คลิกที่ “สำหรับผู้ใช้ทั่วไป” แล้วกรอกข้อมูล ) ดูว่าได้หรือยัง
                ถ้ายังไม่ได้ คนสังกัด กศน.ถาม กจ.กศน. กลุ่มงานทะเบียนประวัติและบำเหน็จความชอบ ผมไม่ทราบว่าปัจจุบันใครเป็นเจ้าหน้าที่ โทร.ถามที่ 02-2800299
             2) ถาม กจ.เช่นกัน..
                แน่ใจหรือว่าคุณสมบัติครบที่จะได้ชั้นสายสะพาย
                ที่ผ่านมา ครูที่ไม่ใช่ผู้บริหาร ถ้าไม่ได้ คศ.4 ขอชั้นสายสะพายไม่ได้นะ แม้จะเกษียณ
                ถ้าเป็นผู้บริหารหรือเป็น ขรก.พลเรือน/38 ค.(2) ชำนาญการพิเศษก็ขอได้
                ที่ผ่านมา ขรก.ครูที่ไม่ได้ คศ.4 ขอไม่ได้ ขอได้เฉพาะผู้บริหาร คศ.3 ที่เงินเดือนเต็มขั้น และได้ ท.ช.มาแล้ว 5 ปี นับถึง 28 ก.ค.  ขอในปีที่เกษียณหรือจะเกษียณ
             ( ปีนี้ครูเปลี่ยนเป็น เลื่อนขั้นเป็นร้อยละแล้ว ไม่รู้ว่าจะขอได้เหมือน ขรก.พลเรือน/38 ค.(2) หรือยัง )
             3) ตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ ไม่ใช่ผู้บริหาร การ ศึกษานะครับ แต่เป็นผู้บริหาร สถาน ศึกษา ซึ่งถ้าเป็นครู+ผู้บริหารสถานศึกษา(ผอ.กศน.อ.) ครบ 30 ปี ก็ขอรับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูอาวุโสได้
             ( ผู้ยื่นขอรับเครื่องหมายเชิดชูเกียรติครูอาวุโส จะต้องมีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ข้อ ดังนี้
             ก. เป็นสมาชิกคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 กันยายน ปีนั้น
             ข. เป็นผู้ประกอบวิชาชีพครู หรือผู้บริหาร สถาน ศึกษา หรือศึกษานิเทศก์ ที่ได้รับเงินเดือนประจำ และมีระยะเวลาประกอบวิชาชีพรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ปี กรณีเป็นผู้บริหาร การ ศึกษา ต้องเคยเป็นครู หรือผู้บริหาร หรือศึกษานิเทศก์ มาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี และระยะเวลาในการประกอบวิชาชีพรวมกันไม่น้อยกว่า 30 ปี
             ค. เป็นครูหรือดำรงตำแหน่งอื่นเกี่ยวกับการให้การศึกษา จนถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ( ไม่นับรวมเวลาราชการทวีคูณ ) และ
             ง. มีประวัติชีวิตการงานดีตลอดมา มีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีตามจารีตของครู )

         2. เย็นวันที่ 4 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์กลุ่ม ว่า  ขออนุญาตไปราชการ ( งานกฐินพระราชทานของกรม ) ได้ป่าวคะ ถามเผื่อคนอยู่ในราชการ เพราะเคยเห็นพี่เอกโพสต์ว่าไปงานกฐินด้วยศรัทธา มิใช่ไปปฏิบัติราชการ

             ผมตอบว่า   ขออนุญาตไปราชการงานกฐินไม่ได้
             แต่ เขามักจะจัดประชุมในช่วงใกล้วันถวายผ้าพระกฐิน ณ สถานที่ใกล้งานกฐิน นั้น โดยมีการประชุมจริง ๆ
             ขออนุญาตไปราชการงานประชุมนั้นได้ ถ้าเป็นการประชุมหรือปฏิบัติราชการจริงจังในเรื่องที่ถูกต้องเหมาะสม ( ปีนี้ท่าน รมว.ศธ.มีนโยบายให้ลดการประชุมสัมมนาที่ใหญ่โต แต่ให้ทดแทนด้วยเทคโนโลยี ยกเลิกการจัดงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง/การจัดงานแบบอีเว้นท์ )

         3. วันที่ 3 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  บุคลากรทางการศึกษาอื่น ตามมาตรา 38 ค.(2) ที่มีสิทธิ์สอบ ตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ต้องมีประสบการณ์การบริหารไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากลุ่มมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี หมายถึงหัวหน้ากลุ่มงานในสำนักงาน กศน.จังหวัดหรือสถานศึกษาคะ

             ผมตอบว่า   หัวหน้ากลุ่มใน สนง.กศน.จังหวัดครับ และต้องเป็นตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มตามโครงสร้างทางกฎหมายด้วยนะ ถ้า ผอ.จังหวัดตั้งกลุ่มเกินโครงสร้างที่กำหนดก็ไม่ใช่

         4. วันเสาร์ที่ 5 ต.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้เพิ่งถามต่อท้ายโพสต์เก่าเมื่อสี่ปีก่อนของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊กเรื่องการทำสัญญาจ้าง ว่า ขอหนังสือสั่งการเกี่ยวกับการจ้างพนักงานราชการของส่วนราชการไม่ต้องติดอากรแสตมป์ด้วยครับอาจารย์..จะนำไปยืนยันกับหน่วยงานบางแห่ง...ที่ให้ติดอากร

             ผมตอบว่า ผมเบื่อมากที่จะตอบคำถามที่แสดงถึงความไม่รู้พื้นฐานทางระเบียบกฎหมายเลย ลักษณะเดียวกับถามว่า
             - “ขอดูหลักฐานที่ว่าการไถ่ชีวิตโคกระบือไม่บาป”
             - “ขอดูหนังสือสั่งการว่ายังไม่ยกเลิกใบ รบ.หลักสูตร 44”
             - “ผอ.บอกว่า ขอระเบียบที่ ผอ.จังหวัดไม่มีอำนาจในการเอาครูไปช่วยราชการที่ สนง.จังหวัด ลงนามโดยเลขาการุณ มีไหม”
             - “ให้หาระเบียบว่า กพช. 200 ชม. ครอบคลุม นศ.เทียบโอนด้วย หรือผู้หญิงต้องทำเท่าผู้ชาย”
             - “ขอหนังสือสั่งการว่าทำสัญญาจ้างพนักงานราชการไม่ต้องติดอากรแสตมป์”
             คนที่มีพื้นฐานทางระเบียบกฎหมายอยู่บ้าง จะถามตรงข้ามกับคำถามเหล่านี้ ผู้ที่ต้องเป็นฝ่ายหาระเบียบหลักฐานคือฝ่ายตรงข้ามครับ คือต้องถามผู้นั้นกลับ ว่า
             - “ขอดูหลักฐานที่ว่าการไถ่ชีวิตโคกระบือเป็นบาป”
             - “ขอดูหนังสือสั่งการยกเลิกใบ รบ.หลักสูตร 44”
             - “ขอดูระเบียบ/คำสั่งมอบอำนาจ ให้ ผอ.จังหวัดเอาครูไปช่วยราชการที่จังหวัด”
             - “ขอดูระเบียบที่ว่า กพช.200 ชม.ไม่ครอบคลุม นศ.เทียบโอน หรือผู้หญิงทำน้อยกว่าผู้ชาย”
             - “ขอหนังสือสั่งการว่าทำสัญญาจ้างพนักงานราชการต้องติดอากรแสตมป์”

             คุณจะต้องเป็นฝ่ายขอดูหลักฐานจากเขาที่ว่า การทำสัญญาจ้างพนักงานราชการต้องติดอากรแสตมป์
             ผมก็โพสต์ในข้อ 3 ชัดแล้วว่า “ถ้าไม่เข้าตาม http://www.rd.go.th/publish/6162.0.html นี้ ไม่ต้องติดอากร ( การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เข้าข้อ 4.จ้างทำของ )”

             ถ้าคุณคลิกเข้าไปดูที่ http://www.rd.go.th/publish/6162.0.html จะเห็นว่า ประเทศไทยให้ติดอากรสแตมป์ใน 28 ลักษณะเท่านั้น ขอย้ำคำว่า เท่านั้น อะไรที่ไม่อยู่ใน 28 ลักษณะนี้ไม่ต้องติดอากรแสตมป์
             ตามเอกสาร “108 คำถาม กับ พนักงานราชการ” ซึ่งเป็นเอกสารของสำนักงาน ก.พ.(กลุ่มบริหารพนักงานราชการ) ระบุในข้อ 81 ว่า “สัญญาจ้าง(พนักงานราชการ)ไม่ต้องติดอากรแสตมป์” ( ดูได้ที่ http://bit.ly/358f1q9 )
             และกรมสรรพากรก็ตอบเหมือนกัน ที่
             http://interapp3.rd.go.th/call_center_inter/show/faq1.php?id=401489

         5. วันที่ 4 ต.ค.62 ประชาสัมพันธ์ กศน. โพสต์แบนเนอร์ประชาสัมพันธ์รับสมัคร กศน.ขั้นพื้นฐาน ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ลงในไลน์กลุ่ม “ส.การศึกษาตลอดชีวิต

             ผมถามว่า  การเรียนยังมีแค่ 3 รูปแบบ ยังไม่มีแบบออนไลน์หรือครับ หรือว่าแบบออนไลน์เป็นส่วนย่อยของแบบทางไกล
             ประชาสัมพันธ์ กศน. ตอบว่า ใช่ค่ะ อยู่ในแบบทางไกล
             ผมถามต่อ ว่า  Ok ครับ ถ้าการเรียนออนไลน์อยู่ในแบบทางไกล.. ของ กศน.อำเภอ/เขต แบบทางไกลจะมีคะแนนระหว่างภาคเพียง 20 % ใช่ไหมครับ ถามเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ
             คำถามนี้ ยังไม่มีคำตอบ

         6. วันที่ 10 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ทำไมข้อสอบวิชาเลือกพอตรวจออกมาแล้วไม่มีคะแนน วิชาบังคับทำไมไม่มีคะแนนที่เครื่องตรวจนะคะ เป็นแบบนี้ทุกเทอมครูกะหากันจนหัวฟู ถ้าหาไม่เจอเด็กก็ลงใหม่ เสียเวลาเด็ก

             ผมตอบว่า  คำถามไม่ชัดเจนเลย ตรวจที่ไหน ใครตรวจ ครูหาที่ไหน อย่างไร ฯลฯ
             ผู้ถามบอกว่า  หายุกศน.อำเภอคะ ถ้าหาไม่เจอเด็กก็จะขส.คะ เพราะไม่มีคะแนนแล้วก็ไม่ได้สอบซ่อม เป็นแบบนี้จน...เบื่อๆๆๆคะ เพราะเวลานำข้อสอบที่ไปตรวจมาส่งยุอำเภอ.กระดาษคำตอบปนกันหมดแล้วทีนี้ก็หาไม่เจอคะ ที่ว่างๆๆนะคะไม่มีคะแนนผลการตรวจปลายภาคค่ะ แต่ไม่ใช่ขาดสอบนะคะเด็กมาสอบคะ ทีนี้ครูแต่ละตำบลก็ไปหาไปรื้อไปค้นถ้าไม่เจอนายทะเบียนก็ไม่ให้คะ

             ผมตอบว่า  ถามว่าตรวจที่ไหนก็ไม่ตอบ  เข้าใจว่าตรวจที่ศูนย์ภาค ใช่ไหม
             ปัญหาอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
             - นักศึกษาฝนในกระดาษคำตอบไม่ถูกต้อง/ครบถ้วน/ชัดเจน ฝนรหัสประจำตัวนักศึกษา และ/หรือ รหัสวิชา ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน ใช้ดินสอ 2B ปลอม หรือฝนเบาไม่เต็มช่อง ฯลฯ ทำให้เครื่องตรวจฯอ่านได้ไม่ครบถ้วน ( คนตรวจก็ไม่ควรทำให้กระดาษคำตอบที่ตรวจแล้วปะปนสับสนกัน )
             - ตอนที่ลงข้อมมูลต่าง ๆ ของนักศึกษาในโปรแกรม ITw อาจลงข้อมูลไม่ละเอียดครบถ้วนในจุดใดจุดหนึ่ง รหัสบางอย่างไม่ตรงกับรหัสที่เครื่องตรวจฯบันทึกมา ระบบจึงกรอกคะแนนให้ใครไม่ได้

             วิธีแก้ที่สำคัญคือ
             1) ชี้แจงให้คนคุมสอบช่วยตรวจการฝนในกระดาษคำตอบให้ชัดเจนครบถ้วนและถูกต้อง
             2) แจ้งจังหวัดให้แจ้งคณะกรรมการที่นำกระดาษคำตอบไปตรวจที่ศูนย์ภาค ไม่ให้ทำกระดาษคำตอบที่ตรวจแล้ว ปะปนสับสนกัน
             ( นอกจากเครื่องตรวจกระดาษคำตอบจะตีพิมพ์คะแนนลงในกระดาษคำตอบแต่ละแผ่นแล้ว ยังตีพิมพ์เลขลำดับแผ่นกระดาษคำตอบที่ตรวจ ลงในกระดาษคำตอบแต่ละแผ่นด้วย และเมื่อนำไฟล์คะแนนไปลงโปรแกรม ITw ก็สามารถให้โปรแกรมรายงานออกมาได้ว่า "กระดาษคำตอบแผ่นลำดับเลขที่เท่าไรมีปัญหากรอกคะแนนไม่ได้" เมื่อรู้เลขที่แผ่นกระดาษคำตอบที่มีปัญหา และกระดาษคำตอบทุกแผ่นยังเรียงลำดับไว้ ก็จะสามารถหากระดาษคำตอบแผ่นที่มีปัญหามาดูได้ง่าย ถ้าดูแล้วกระดาษคำตอบไม่มีปัญหา ก็แสดงว่าข้อมูลในโปรแกรม ITw ที่ลงไว้ตอนขึ้นทะเบียน/ลงทะเบียนไม่ถูกต้องครบถ้วนบางจุด มีหลายอำเภอที่กรอกข้อมูลไม่ครบถ้วนถูกต้องทุกจุด จุดไหนขี้เกียจกรอกก็ไม่กรอกกัน )

             3) เมื่อนำไฟล์คะแนนมาลงโปรแกรม ถ้าคะแนนของรายใดหายไป ให้ตรวจจนพบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ( ในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากการฝนกระดาษคำตอบ แต่เกิดจากโปรแกรม ITw เช่นลงรหัสวิชาในโปรแกรมผิด ระบุตำแหน่งการอ่านตัวเลขในไฟล์คะแนนผิด อาจต้องส่งไฟล์แบ็คอัพและไฟล์คะแนนไปถามผู้รู้ เช่น คุณสุขุมผู้พัฒนาโปรแกรม ITw ) เมื่อรู้สาเหตุแล้วก็พยายามป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในเทอมต่อไปอีก
                อนึ่ง การที่ผู้ขาดสอบไม่มีสิทธิสอบซ่อม นั้น จะดูว่าใครขาดสอบต้องดูที่ลายเซ็นนักศึกษาเข้าสอบด้วย

         7. วันที่ 8 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ถ้าทำใบประกาศวุฒิBTC หาย สามารถทำอย่างไรได้บ้าง

             เรื่องนี้  ท่านสมปอง วิมาโร ผอ.ส่วนฯใน สนง.ลูกเสือแห่งชาติ แจ้งว่า การอบรม BTC และ ATC เป็นหลักสูตรที่จัดโดยลูกเสือจังหวัด โดยผู้อำนวยการฝึกเป็นผู้ลงนามในวุฒิบัตร ขณะนี้ยังไม่มีระเบียบการออกใบแทน จึงให้ผู้อำนวยการฝึกออกใบรับรองไปก่อน
             ( แต่หากเป็นนักศึกษาที่เรียน ค.บ. กศ.บ. ศษ.บ. ถ้ามีการอบรมลูกเสือเขาจะบันทึกไว้ในทรานสคริป สามารถใช้ทรานสคริปยืนยันแทนวุฒิบัติที่สูญหายได้ )
             ขณะนี้ สนง.ลูกเสือกำลังทำระเบียบการออกใบแทน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย