วันพุธที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562

1.มาตรการประหยัดงบประมาณฉบับใหม่, 2.คำถามน่าคิด อยากให้ฝ่ายทะเบียน กศน.ขั้นพื้นฐาน และกลุ่มพัฒนา กศน.คิด, 3.ศาลตัดสินว่า จ้างเหมาฯแต่ให้ทำงานลักษณะลูกจ้างชั่วคราว ผิด, 4.วิชาเลือกบังคับ เรียนเกินได้, 5.เรียนวิชาการใช้พลังงานไฟฟ้าฯซ้ำ รหัสวิชาต่างกัน จบได้ไหม, 6.ต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ต้องส่งเอกสารหลักฐานไปที่คุรุสภาไหม, 7.มีวุฒิผู้กำกับลูกเสือ วิสามัญ แต่เป็นรองผู้กำกับลูกเสือ สามัญ จะแต่งกายตามวุฒิหรือตามตำแหน่ง


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. ออกฉบับใหม่แล้ว มาตรการประหยัดงบประมาณ ใช้แทนฉบับปี 2556 โดยให้ใช้ฉบับใหม่ ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ตั้งแต่ 1 ต.ค.62







         2. คืนวันที่ 11 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  สอบถามเรื่อง การออก รบ. และการอนุมัติจบหลักสูตร เนื่องจาก ปัจจุบัน ฉันก็เริ่มงง กับแนวปฏิบัติเรื่องการออก รบ. 100% กับการอนุมัติจบหลักสูตร เพราะมันเกี่ยวเนื่องกัน คือ
             การจะอนุมัติจบหลักสูตร ตามแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษาฯ กศน.3 จะมีข้อมูล เลขระเบียน (เลขนก.) ปรากฎว่า หากนักศึกษาไม่ยื่นเอกสารใบคำร้องของหลักฐานทางการศึกษา งานทะเบียนจะไม่ระบุเลข นก.ในรบ.ให้ เมื่อไม่ระบุให้ก็ไม่สามารถ ส่งแบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา ทันตามกำหนดเวลา
             จึงกลายเป็นแนวปฏิบัติว่า หากไม่ยื่นเอกสารคำร้องหลักฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด จะไม่อนุมัติจบ ให้ ซึ่งเป็นลักษณะนี้ มา 2ปีได้แล้ว แต่ฉันพึ่งได้เข้ามารับตำแหน่งได้ 2 เทอม และพึ่งจะมาทราบว่า ไม่อนุมัติจบให้ หากนักศึกษาไม่มายื่นเอกสาร เมื่อภาคเรียนที่แล้ว
             และก็มีปัญหาเกิดขึ้นคือ
             นักศึกษาในตำบลที่ฉันรับผิดชอบ รายวิชาหมดอายุ เพราะไม่ได้อนุมัติจบหลักสูตร ในเทอมที่ฉันมาบรรจุ พอดี แต่นักศึกษาคนนี้ เรียนครบหลักสูตร ไปเมื่อหลายเทอมที่แล้ว ไม่มีการลงทะเบียน (ก็ไม่รู้จะลงทะเบียนอะไรให้เขา) จนวิชาหมดอายุ
             ฉันจึงเริ่มตรวจสอบหลักฐานของนักศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มใช้แนวปฏิบัตินี้ ทำให้รู้เลยว่า ในภาคเรียนนี้จะมีนักศึกษาที่วิชาหมดอายุอีกหลายคนมาก
             ฉันจึงอยากทราบว่า แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษาฯ กศน.3 จำเป็นต้องมีเลขที่ นก. หรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องมี จะต้องทำอย่างไรกับกรณีที่นักศึกษาไม่มายื่นคำร้องของเอกสารจบ ว่าจะสามารถอนุมัติจบได้อย่างไร ฉันเข้าใจว่า การอนุมัติจบ กับ การออบรบ. มันเกี่ยวเนื่องกัน หรือฉันเข้าใจผิด เพราะฉันพึ่งบรรจุ ก็ไม่อยากจะเถียงเจ้าหน้าที่ทะเบียน กับท่าน ผอ.
             เพราะจากที่ลองถามและคุยกันหลายรอบแล้ว (แบบอ้อมๆ ) แนวปฏิบัตินี้เป็นเหมือนการ กระตุ้นให้ ครู ไปตามเอกสารกับนักศึกษาให้ได้ 100% เพื่อออก รบ. 100% และถ้านักศึกษาคนไหนไม่ให้ความร่วมมือซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็จะให้ไปจบในภาคเรียนหน้า และถ้าเทอมหน้าไม่ได้อีก ก็จะถัดไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็เกิดปัญหา(หมดอายุ) อย่างที่ฉันกล่าวไป

             ผมตอบว่า
             1) เชื่อหรือไม่ ตามหลักการในระเบียบหลักเกณฑ์นั้น นศ.มีเลขที่ใบ รบ. ตั้งแต่วันสมัครขึ้นทะเบียนรับรหัสประจำตัวนักศึกษา แล้ว!? โดย
                 ในคู่มือการดำเนินงานหลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2555 ปกสีเลือดหมู หน้า 166 คำอธิบายการออก รบ.
                 ข้อ 1 กำหนดว่า รบ.ใช้เป็นหลักฐานการเรียนของนักศึกษาทั้ง”เมื่อศึกษาอยู่”หรือออกจากสถานศึกษาแล้ว
                 ข้อ 5.8 การบันทึกผลการเรียนแต่ละภาคเรียนลงใน รบ. ต้องให้เป็นปัจจุบัน “ทุกภาคเรียน”
                 สองข้อนี้ หมายความว่า ให้บันทึกระเบียน ( รบ.) ไว้ตั้งแต่ได้เลขประจำตัวนักศึกษาทุกคน ไม่ว่าจะเรียนจบหรือไม่ และให้บันทึกผลการเรียนที่ได้ 1 ขึ้นไป ใน รบ.ฉบับต้นขั้ว ให้เป็นปัจจุบันทุกภาคเรียน
                 ข้อ 2.2 การกรอก รบ.ให้เขียนหรือพิมพ์ ถ้าเขียนก็เขียนทั้งแผ่น ถ้าพิมพ์ก็พิมพ์ทั้งแผ่น แต่ไม่จำเป็นว่าต้นขั้วกับคู่ฉบับจะต้องเขียนทั้งสองแผ่น หรือพิมพ์ทั้งสองแผ่น ต้นขั้วอาจเขียนแต่คู่ฉบับอาจพิมพ์ก็ได้ ต้นขั้วต้องกรอกข้อมูลเพิ่มทุกภาคเรียนคงต้องเขียน ส่วนคู่ฉบับกรอกตอนจบอาจพิมพ์
                 ทำไมเป็นอย่างนี้ ที่เป็นอย่างนี้เพราะถ้าไม่นับโปรแกรม ITw แล้ว หลักสูตร กศน.ขั้นพื้นฐานจะมีระเบียนหรือทะเบียนอย่างเดียวคือ รบ. ฉะนั้นนักศึกษาทุกคนไม่ว่าจะจบหรือไม่ ต้องมีข้อมูลอยู่ในทะเบียน ( ต้นขั้ว รบ.)
                 พวกเราส่วนใหญ่ไม่รู้หลักการตามระเบียบหลักเกณฑ์นี้ ส่วนน้อยรู้แต่ก็ไม่ทำตาม เพราะ จะสิ้นเปลือง รบ.มาก เนื่องจากมีผู้สมัครเรียน กศน.มากมาย แต่เรียนจบถึง 50% ไหม?
             2) ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ข้อใดระบุว่า ให้อนุมัติผลการจบต่อเมื่อ นศ.มาขอจบ แต่ ข้อ 5.9 ระบุว่า เมื่อ “เรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร” ก็อนุมัติการจบ+ออก รบ.คู่ฉบับ
             3) ไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ข้อใดระบุให้ นศ.ส่งหลักฐานขอจบ แต่ สถานศึกษาต้องตรวจสอบคุณสมบัติตามหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่วันสมัครขึ้นทะเบียนรับรหัสประจำตัวนักศึกษาแล้ว ไม่ใช่ว่าเรียนไปแล้วมาตรวจสอบหลักฐานพบว่าคุณสมบัติไม่ครบที่จะเรียน
                 ถ้ามีการเปลี่ยนข้อมูลหลังสมัครเช่นเปลี่ยนชื่อ นักศึกษาต้องเป็นฝ่ายแจ้งเอง อาจทำความเข้าใจในช่วงปฐมนิเทศ และ/หรือ พิมพ์ข้อมูลผู้คาดว่าจะจบให้ นศ.ตรวจสอบ
                 จะมีก็แต่รูปถ่าย ถ้าใช้เวลาเรียนเกิน 6 เดือน จะใช้รูปเดิมตอนสมัครเรียนไม่ได้ ต้องใช้รูปปัจจุบันถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน

             วิธีปรับ/แก้
             - ตรวจคุณสมบัติตามหลักฐานต่าง ๆ ให้ถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่ภาคเรียนแรก
             - เมื่อ “เรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตร” ก็อนุมัติการจบ+จองเลขที่ รบ.ไว้เลย ( ลงเลขที่ รบ.ในโปรแกรม ITw เมนู 1-1-6 )
                ถ้าเรียนครบตามโครงสร้างและเงื่อนไขการจบหลักสูตรแล้ว ไม่อนุมัติการจบ แต่ปล่อยให้วิชาหมดอายุ จะเป็นความผิดของสถานศึกษา
             - รายงานผู้สำเร็จการศึกษาภายใน 30 วัน นับจากวันอนุมัติการจบหลักสูตร

         3. วันอาทิตย์ที่ 13 ต.ค.62 มี ผอ.กศน.อ. นำเรื่องที่ศาลพิพากษาว่าการจ้างเหมาบริการแต่ให้ทำงานในลักษณะลูกจ้างชั่วคราว ผิด มาถามผมทางไลน์ว่า ครู ศรช.ของ กศน.ก็เข้าข่ายตามคำพิพากษานี้ ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่า ผมเคยโพสต์เรื่องนี้เมื่อสองปีก่อน ในข้อ 1 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2017/11/formnfestudent.html
             กรมบัญชีกลางเตือนแล้ว ถ้าเราถูกฟ้องเมื่อไรเราถึงจะแก้ แต่การแก้จะทำให้ทุกฝ่ายเดือดร้อนไปหมด คือ ต้องจ้างเป็นงาน ๆ ไม่จ้างต่อเนื่อง ( ตอนนี้ก็มีบางจังหวัดเริ่มจ้างเป็นงาน ๆ แล้ว เช่นจ้างเหมาตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล จ้างเฉพาะช่วงบันทึกข้อมูลเท่านั้น เลิกจ้างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลร้องมาที่ผมก็มี )
             ถึงอย่างไรเราก็จ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้ เพราะ กศน.ไม่ได้รับอัตราจ้างลูกจ้างชั่วคราวจากกรมบัญชีกลางมานานแล้ว ( ปี 62 สพฐ.ยังมีบางตำแหน่งเป็นลูกจ้างชั่วคราวอยู่ )
             การจ้างคนเก่า แต่ดำเนินการตามระเบียบพัสดุใหม่ ก็อาจถือเป็นจ้างเหมาบริการได้มั้ง เราต้องไม่ทำตามระเบียบพัสดุแค่เป็นพิธีเท่านั้น แต่ทุกขั้นตอนต้องทำตามระเบียบพัสดุจริง ๆ เช่นการตรวจรับงานจ้างในแต่ละช่วง ถ้าจ้างลูกจ้างชั่วคราวจึงจะไม่ต้องทำตามระเบียบพัสดุ

             ต่อมามีผู้ถามผมทางกลุ่มไลน์ “ส.การศึกษาตลอดชีวิต อีก ว่า  แล้วอาจารย์ว่าควรปฏิบัติอย่างไร เพราะเคยอ่านคำตัดสินศาลปกครองแล้ว การจ้างแบบที่เราปฏิบัติคือจ้างตามระเบียบพัสดุ ไม่ถูกต้อง / เคยมีคดีของกระทรวงพานิช
             ผมตอบว่า  ถ้ามีผู้ฟ้องศาลว่าเราจ้างเหมาบริการแต่ให้ทำงานในลักษณะลูกจ้างชั่วคราว โดยเราไม่สมทบเงินประกันสังคมส่วนของนายจ้าง ศาลก็อาจจะว่าเราจ้างผิดเป็นนิติกรรมอำพราง เราก็ต้องแก้ไข
             แต่เราไม่สามารถแก้ไขโดยเปลี่ยนการจ้างเป็นจ้างลูกจ้างชั่วคราวได้ เพราะ กศน.ไม่ได้อัตราลูกจ้างชั่วคราวจากกรมบัญชีกลางมานานแล้ว ( เมื่อก่อนมีเงิน บกศ. แต่แม้เราใช้เงิน บกศ.ของเราเองจ้างลูกจ้างชั่วคราวก็ยังต้องได้รับอนุมัติเลขที่อัตราจากกรมบัญชีกลาง )
             เมื่อเราแก้ไขโดยจ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวไม่ได้ เราก็ต้องแก้ไขโดยจ้างให้เหมือนจ้างเหมาบริการมากขึ้น เช่น จ้างครู ศรช.เป็นงาน ๆ อาจจ้างเฉพาะช่วงพบกลุ่มครั้งละ 5 เดือน ปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น ซึ่งจะเดือดร้อนกันไปทั่ว
             ( ผู้จะรับจ้างรายใดเสนอราคาจะรับค่าจ้างต่ำกว่าก็จ้างรายนั้น ลักษณะเดียวกับการจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ดำเนินการตามระเบียบพัสดุใหม่ทุกภาคเรียนซึ่งไม่จำเป็นต้องจ้างได้รายเดิม )

         4. วันที่ 16 ต.ค.62 มีผู้แจ้งผมในไลน์โอเพนแช็ทกลุ่ม กศน. ว่า  วันนี้มาตรวจไขว้ที่ จว.เกี่ยวกับผู้จบ...แล้วทาง จนท.จว.แจ้งว่า วิชาเลือกบังคับลงได้ไม่เกิน 2 รายวิชา...หากลงเกินไม่นับหน่วยกิต....และไม่จบ...ทำให้เกิดปัญหาเพราะมีหลายอำเภอลงเลือกบังคับ 3 - 4 วิชา...ซึ่งฉันแย้งแล้ว..แต่ จนท.จว.เขาบอกว่าให้ยึดระเบียบที่ให้ลงวืชาเลือกบังคับได้ไม่เกิน 2 วิชา

             ผมตอบว่า
             - ขอดูตัวระเบียบที่ว่า ลงวิชาเลือกบังคับได้“ไม่เกิน” 2 วิชา"
             - ให้จังหวัด โทร.ถามกลุ่มพัฒนา กศน.ด้วย
             ( โปรแกรม ITw จะเซ็ตไว้ตามระเบียบ ถ้าผิดระเบียบโปรแกรมจะไม่ให้จบ )

             ต่อมา ผู้ถาม แจ้งว่า  จนท.จว.โทรถามกองพัฒน์..กองพัฒน์ตอบว่าลงได้และนับ นก.
             ผมตอบว่า  ใช่ ผมไม่เคยเห็นหนังสือแจ้งที่มีคำว่า "ไม่เกิน" เราไม่ควรพูดเติมกันตามอำเภอใจ จะมีปัญหามากกว่าที่คิด วิชาเลือกบังคับเป็นวิชาใหม่ ๆ ที่ทันสมัย มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตประจำวันใน"ปัจจุบัน" ตรงตามนโยบาย จึงเป็นวิชาที่ควรส่งเสริมให้เรียน
             ( หน่วยกิตวิชาเลือกบังคับส่วนที่เกินก็นับเป็นหน่วยกิตวิชาเลือกเสรี จึงสามารถลดวิชาเลือกเสรีได้ หรือจะไม่ลดวิชาเลือกเสรีก็ได้ เพราะ วิชาเลือกเรียนเกินได้
               แต่อย่าลืมว่า ตารางสอบปลายภาค วิชาเลือกบังคับสอบในเวลาเดียวกันหลายวิชา ถ้า นศ.คนเดียว ลงวิชาเลือกบังคับในภาคเรียนเดียวหลายวิชา อาจมีปัญหาตอนสอบปลายภาค ต้องดูตารางสอบปลายภาคก่อนลงทะเบียน คือคนเดียวถ้าจะลงหลายวิชาก็ต้องทยอยแบ่งลงวิชาเลือกบังคับหลายเทอม )

         5. เย็นวันหยุดชดเชย 14 ต.ค.62 มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  เจอว่านักศึกษาลงทะเบียน ซ้ำในรายวิชา การใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน ในระดับม.ต้น ชื่อวิชาเดียวกันแต่ต่างรหัสกัน คือ รหัส พว 02027 กับรหัส พว 22002สามารถจบหลักสูตรได้หีอไม่ พอดีเด็กจะขบด้วย

             เรื่องนี้  เพื่อความมั่นใจ ผมได้ถาม อ.กิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ซึ่ง อ.กิตติงพงษ์ตอบตรงกับที่ผมคิด คือ แม้ 2 วิชานี้รหัสจะต่างกัน ชื่อวิชาก็ต่างกันนิดหน่อย โดย พว22002 ชื่อการใช้พลังงานไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน 2 (มีเลข 2 ต่อท้าย) แต่เนื้อหาเหมือนกันเกือบทั้งหมด จึงไม่ควรให้เรียนซ้ำ
             อย่างไรก็ตาม ถ้า นศ.เรียนซ้ำไปแล้ว ก็อนุโลมให้จบไปได้
             อ.กิตติพงษ์ฝากบอกครูให้ดูวิชาในแผนการเรียนกันให้ดี อย่าให้มีกรณีที่วิชาลักษณะนี้อยู่ในแผนการเรียนของ นศ.คนเดียวกันอีก

         6. เช้าวันที่ 22 ต.ค.62 มีผู้ถามในไลน์โอเพนแชทกลุ่ม กศน. ว่า  รบกวนอาจารย์เอกชัย ในการต่อใบประกอบวิชาชีพครูโดยใช้ระบบksp school เมื่อกรอกข้อมูลทั้งหมดตลอดจนจ่ายเงินแล้ว กล่าวคือดำเนินการทั้งหมดทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว เอกสารและหลักฐานทั้งหมดต้องส่งไปที่คุรุสภาตามหลังด้วยใหม

             ผมตอบว่า  ไม่ต้องส่งเอกสารหลักฐานตัวจริงไปยังคุรุสภา
             ( ตั้งแต่ 1 ส.ค.62 ให้จัดส่งคำขอทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยสแกนเอกสารหลักฐานอัพโหลดเข้าระบบโปรแกรม Ksp-School )

         7. เย็นวันที่ 22 ต.ค.62 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์เก่าของผมในแฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ท่าผ่านอบรมมีวุฒิ ผู้กำกับลูกเสือวิสามัญR.B.T.C แต่ฉันตอนนี้ร.ร.ให้ฉันเป็นรองผู้กำกับลูกเสือสามัญS.B.T.C การแต่งกายต้องใส่ชุด แบบครูลูกเสือวิสามัญ หรือ ใส่ตามตำแหน่งที่โรงเรียนแต่งตั้งเป็นครูลูกเสือสามัญ

             ผมตอบว่า   แต่งกายตามวุฒิ แต่ติด "เข็มเครื่องหมายตำแหน่งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ" ตามตำแหน่งที่เป็นทางการ (ใน ลส.13)
             แต่ตามข้อบังคับคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติว่าด้วยการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาลูกเสือ พ.ศ.2553 ข้อ 5 (7) (จ) กำหนดว่า "รองผู้กำกับลูกเสือสามัญ มีอายุไม่น้อยกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์และต้องได้รับวุฒิบัตรการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสามัญขั้นความรู้เบื้องต้น"
             ในเมื่อคุณไม่ได้รับวุฒิบัตรผู้กำกับลูกเสือสามัญ แล้วคุณได้รับตำแหน่งที่เป็นทางการ ( ใน ลส.13 ) เป็นรองผู้กำกับลูกเสือสามัญด้วยหรือ
             ที่ว่า ร.ร.ให้เป็นรองผู้กำกับลูกเสือสามัญ นั้น ถ้าไม่ใช่แต่งตั้งตาม ลส.13 จะติดเข็มตำแหน่งไม่ได้ แม้จะมีวุฒิก็ตาม ( ต้องติดเข็มตาม ลส.13 ถ้ายังไม่มี ลส.13 ก็ยังติดเข็มตำแหน่งใด ๆ ไม่ได้ )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย