วันเสาร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2557

อบรมมาตรฐานวิชาชีพครูแล้วต้องมีการสอบมั้ย, ผ่านอบรม 9 มาตรฐาน ได้ใบประกอบวิชาชีพไหม?, นศ.เก่า ย้าย ต้องทำ กพช. 200 ชม., ให้ชะลอการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการสถานศึกษา, ศึกษาต่อภาคนอกเวลา ใช้เวลาราชการไม่เกินวันละกี่ ชม., ประกาศนียบัตรเทียบระดับฯสูงสุด, ประเมินภายนอก ตบช.ที่ 11



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 17 เม.ย.57 คุณ “แอม แอม” ถามในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  การอบรมมาตรฐานสิชาชีพครู เมื่ออบรมจบหลักสูตรแล้วต้องมีการสอบมั๊ย
             ผมตอบว่า   มีการ Posttest ในวันสุดท้ายของการอบรม

         2. วันเดียวกัน ( 17 เม.ย.) คุณ “Prapatsee Piku” ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ผ่านการอบรม ( 9 มาตรฐานของคุรุสภา ) แล้วได้ใบประกอบวิชาชีพเลยไหม
             ผมตอบว่า   ถ้าผ่านครบ 9 มาตรฐาน ก็เหมือนจบ ป.บัณฑิตหลักสูตรที่ไม่มีฝึกสอน คือ ยังไม่ได้ใบประกอบวิชาชีพ ได้แต่ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ( ใช้สมัครสอบครูผู้ช่วยได้ )  จากนั้นเมื่อสอนครบ 1 ปี จึงจะได้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู

         3. คืนวันเดียวกัน ( 17 เม.ย.) กศน.ตำบลดอนยาง ณัฐกฤตา ไชยชนะ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ผู้เรียนที่รหัสเดิม 551 แต่ย้ายสถานศึกษาใหม่ โดยรหัสผู้เรียนใหม่เป็น 562 แล้วผู้เรียนจบในเทอมนี้ แต่โปรแกรมไม่ยอมให้จบเนื่องจาก กพช.ไม่ครบ 200 ชั่วโมง แต่ผู้เรียนเดิมใช้เกณฑ์ กพช. 100 ชั่วโมง พอย้ายที่ รหัสเปลี่ยน จะแก้ไขให้ผู้เรียนไดอย่างไร
             ผมตอบว่า   กรณีนี้ อ.เยาวลักษณ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ตอบว่า ถึงแม้จะเป็นนักศึกษาเก่า ยังไม่จบ แต่ถ้าย้ายไปขึ้นทะเบียนในสถานศึกษาใหม่ ได้รหัสประจำตัวใหม่เป็น 562...... ต้องทำ กพช. 200 ชั่วโมงนะ

         4. วันที่ 18 เม.ย.57 รอง ผอ.พัฒน์ กศน.จ.ชัยนาท เขียนในหน้าเฟซบุ๊คผม ว่า  ช่วยดูเรื่องการเบิกจ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการที่ สนง.กศน.แจ้งมาเมื่อเร็วๆนี้ ให้เพิ่มเบี้ยประชุม จาก 1200 บาท เป็น 1600 บาท  ขอถามว่าหนังสือดังกล่าวให้ใช้กับการจ่ายเบี้ยประชุม คณะกรรมการ สำนักงาน กศน.จังหวัด และ คณะกรรมการ กศน.อำเภอ หรือไม่
             ผมตอบว่า   ให้ดูจากหนังสือฉบับที่เก่ากว่านี้อีก คือ หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0210.117/11047 ลงวันที่ 24 ต.ค.56 ซึ่งสรุปได้ว่า
             1)  คณะกรรมการและอนุกรรมการ ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม ของเรา มีเพียง 2 คณะ คือ
                  - “คณะกรรมการส่งเสริมและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดหมายถึง คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด” ( เดิม 1,200 เปลี่ยนเป็น 1,600 บาท )
                  - “คณะอนุกรรมการภาคีเครือข่ายแต่งตั้งโดยคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยส่วนกลาง ( เดิม 800 เปลี่ยนเป็น 1,000 บาท )
             2)  สำหรับคณะกรรมการสถานศึกษา  กรมบัญชีกลางแจ้งว่า ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม  จึงขอให้ชะลอการเบิกจ่ายไปก่อน จนกว่าจะได้รับแจ้งจากกรมบัญชีกลางต่อไป
             ดูหนังสือฉบับนี้ได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/meettingmoney.pdf
             วันที่ 18 เม.ย. ผมถามกลุ่มงานคลัง ( อ.ปนัดดา ) กับ กป. ( อ.สร้อยทิพย์ )  ได้รับคำตอบว่ายังเบิกจ่ายเบี้ยประชุมกรรมการสถานศึกษาไม่ได้  ส่งบทบาทหน้าที่ไปให้กรมบัญชีกลางพิจารณาอยู่

         5. วันเดียวกัน ( 18 เม.ย.) คุณสืบพงษ์ กศน.หนองฉาง ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  การลาเพื่อศึกษาต่อภายในประเทศ ภาคนอกเวลาราชการ หากมีความจำเป้นต้องใช้เวลาราชการ จะใช้เวลาราชการได้ไม่เกินวันละกี่ชั่วโมง ( เตรียมสอบครู ผช. ของ สพฐ. เจอคำถามข้อนี้ คำตอบมีให้เลือก ครึ่งชั่วโมง 1 ชั่วโมง 1 ชั่วโมงครึ่ง 2 ชั่วโมง )
             ผมตอบว่า   การลาศึกษาต่อภาคนอกเวลา มี 2 กรณีคือ กรณีไม่ใช้เวลาราชการไปศึกษา กับกรณีใช้เวลาราชการบางส่วนไปศึกษา  ข้อนี้คงหมายถึงกรณีใช้เวลาราชการบางส่วนไปศึกษา ซึ่งกรณีนี้ต้องเป็นผู้พ้นจากการเตรียมความพร้อมและพัฒนาอย่างเข้มหรือการทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการแล้ว และ ต้องมีเวลากลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ได้ครบก่อนเกษียณ
             การใช้เวลาราชการบางส่วนนี้ ตามระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไปศึกษาฝึกอบรมดูงานหรือปฏิบัติงานวิจัยและพัฒนา พ.ศ.2552 ข้อ 22 (2) กำหนดว่า  ใช้เวลาราชการไปศึกษาต่อเฉลี่ยไม่เกินวันละ 1 ชม. 30 นาที รวมแล้วไม่เกิน 7 ชม. 30 นาที/สัปดาห์ หรือไม่เกิน 1 วันทำการ/สัปดาห์

         6. วันเสาร์ที่ 19 เม.ย.57 หลังจากผมโพสต์หนังสือแจ้งเกี่ยวกับเรื่องให้ผู้จบเทียบระดับฯสูงสุดฯรุ่นที่ 1 ไปรับประกาศนียบัตรกับ รมต. ลงในเฟซบุ๊ค ปรากฏว่ามี 2-3 คน โพสต์ว่า  ให้ส่วนกลางส่งใบประกาศฯไปให้ในพื้นที่โดยให้ ผอ.เป็นผู้มอบได้ไหม จะได้ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่เปลืองงบประมาณ
             ผมตอบว่า   ใบประกาศนียบัตรไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลาง แต่ กศน.อำเภอ เป็นผู้ออกประกาศฯ เราต้องออกแล้วถือไปให้ รมต.เป็นผู้มอบ  เป็นนโยบายผู้บริหารระดับสูง ( เฉพาะรุ่นที่ 1 )  ผอ.อำเภอเซ็นใบประกาศฯ แล้วเอาไปให้ รมต.มอบ
             คุณ “ฮาลอง เบW ถามต่อ ว่า  แล้วใบประกาศฯจะเหมือนกันหรือ
             ผมตอบว่า  ทำไมจะไม่เหมือนกันล่ะ ประกาศนียบัตรนี้เป็นเอกสารหลักฐานบังคับแบบ ต้องซื้อจากองค์การค้าคุรุสภา ทำหนังสือขอซื้อโดยจังหวัด แจ้งชื่อผู้ไปซื้อ นำบัตรข้าราชการไปด้วย ผู้ไปซื้อต้องเป็นข้าราชการ  และพิมพ์ใบประกาศนียบัตรด้วยโปรแกรม KSM
             ( เวลาไปซื้อควรซื้อ 4 อย่างเลยคือ ใบ รบ. ใบประกาศฯ รายงานผู้จบ และใบแทนใบ รบ.  หรืออาจยังไม่ซื้อใบแทนใบ รบ.ก็ได้ เพราะคงยังไม่มีใครทำหายแล้วมาขอใหม่ )

         7. วันที่ 21 เม.ย.57 คุณยศพร ครู ศรช. ที่ กศน.อ.สุวรรณคูหา ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  ตัวบ่งชี้ที่ 11 (ผลการดำเนินงานโครงการพิเศษเพื่อส่งเสริมบทบาทของสถานศึกษา)  ตัวบ่งชี้นี้ให้ทำเอกสารทั้งหมดที่ กศน.อ.ได้จัดทำโครงการหรือเปล่า หรือว่ายกมาเฉพาะโครงการที่ออกไปจัดทำนอกพื้นที่เท่านั้น ต้องยกมาให้ท่านกรรมการดูกี่โครงการแต่ละปีงบประมาณ
             ผมตอบว่า   ตัวบ่งชี้ที่ 11 ของ สมศ. เน้นที่ การพัฒนา "ชุมชน" โดยเราต้องเลือกมา 1 ชุมชน หรือหลายชุมชนก็ได้   คำว่าชุมชนโดยปกติจะหมายถึง "หมู่บ้าน" แต่บางอำเภออาจจะพัฒนาทั้ง "ตำบล" เพราะหมู่บ้านเดียวจะมีคนเข้าร่วมโครงการน้อย
             ควรเลือกชุมชนที่
             1)  ที่ผ่านมา กศน.อำเภอมี โครงการ/งาน/กิจกรรม ลงไปพัฒนาชุมชนนั้นอย่างต่อเนื่อง
             2)  ผลจากการพัฒนา ทำให้ชุมชนนั้นสามารถเป็นตัวอย่างหรือเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นได้ โครงการที่ลงไปยังยั่งยืนอยู่จนถึงปัจจุบัน  มีผู้ไปศึกษาดูงาน  เช่น หมู่บ้าน OTOP ที่ กศน.สอนวิชาชีพไว้ หรือหมู่บ้านที่มีแหล่งสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
             สรุปว่า ต้องเลือกชุมชนก่อน จากนั้นนำเสนอทุกโครงการ/งาน/กิจกรรม ที่ทำในชุมชนนั้น ที่เกี่ยวข้อง/ส่งผลให้ชุมชนนั้นพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นตัวอย่างในเรื่องนั้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย