วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

1.คุณสมบัติของผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการครู กับข้าราชการบรรณารักษ์, 2.การทำ SAR กับค่าขีดจำกัดล่าง, 3.กรอบโครงสร้างการบริหารงาน กศน.อ., 4.การทำสัญญาจ้าง-การค้ำประกัน-การติดอากรแสตมป์, 5.วิธีแก้ปัญหาการจ้างทำการบ้าน, 6.ครู คศ.1 ค้ำประกันครู ศรช.ได้ไหม, 7.ครู ศรช.มี นศ.ไม่ถึง 60 คน เบิกจ่ายอย่างไร



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันอาทิตย์ที่ 28 ก.ย.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง คุณสมบัติของผู้สมัครสอบเป็นข้าราชการครู กับ ข้าราชการบรรณารักษ์  ดังนี้

             ถ้าจะสอบเป็นข้าราชการครูต้องมีคุณสมบัติหลัก 2 ข้อ คือ
             1)  มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้ว
             2)  มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู หรือ ใบอนุญาตปฏิบัติการสอน(ไม่ใช่หนังสืออนุญาตประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู)
                  เชื่อหรือไม่ คุณวุฒิทางการศึกษาที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้ว ปัจจุบันมีมากกว่า 19,000 คุณวุฒิ !

             ในขณะที่ ถ้าจะสอบเป็นข้าราชการบรรณารักษ์ ต้องมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทาง บรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ หรือสารสนเทศศาสตร์ เท่านั้น
             ที่ผ่านมา ผู้จะสอบเป็นข้าราชการบรรณารักษ์ มีเพียงวิธีเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยให้จบหลักสูตรปริญญาตรีทางบรรณารักษศาสตร์ สารนิเทศศาสตร์ หรือสารสนเทศศาสตร์ หรือ ให้ได้หน่วยกิตวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ตามที่กำหนด เท่านั้น

             แต่.. ตอนนี้ เรากำลังหาวิธีอื่น แทนการต้องเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตรทางบรรณารักษศาสตร์สารนิเทศศาสตร์หรือสารสนเทศศาสตร์
             คือ สพร.กศน.จะทำหลักสูตรให้บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการที่ไม่จบวุฒิบรรณรักษศาสตรฯ และมีอายุงานครบ 3 ปี เข้าอบรม 300 ชัวโมง และฝึกงาน 100 ชัวโมง เสนอให้ ก.พ.พิจารณา
             ถ้า ก.พ.อนุมัติ ก็จะง่ายกว่าเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยให้จบหลักสูตรปริญญาตรีทางบรรณารักษศาสตร์ฯ

            
( สำหรับคุณวุฒิทางการศึกษาซึ่งเป็นคุณสมบัติการสอบเป็นข้าราชการครู ที่ ก.ค.ศ.รับรองแล้วมากกว่า 19,000 คุณวุฒินั้น มีวุฒิอะไรบ้าง ตรวจสอบได้ในเว็บ ก.ค.ศ. ที่ http://qualification.otepc.go.th/menu.php โดย
             - ชี้ที่ "คุณวุฒิ คลิกที่ รับรองก่อน 6 ก.ย.54"
             - ใส่ชื่อมหาวิทยาลัยในช่อง ค้นหา
             - คลิกที่ปุ่มค้นหา (รูปแว่นขยาย)  ก็จะโชว์วุฒิที่ ก.ค.ศ.รับรอง ( อาจมีหลายหน้า ให้คลิกดูทีละหน้า )  ถ้าดูทุกหน้าแล้วไม่มีวุฒิที่หา ให้กลับออกมาแล้วคลิกเข้าไปหาที่ "คุณวุฒิ รับรองหลัง 6 ก.ย.54" ด้วย  ถ้าไม่มีอีก แสดงว่าวุฒินั้นไม่ได้รับการรับรอง  ถ้าไม่แน่ใจให้ติดต่อสอบถาม ก.ค.ศ.


         2. เช้าวันที่ 30 ก.ย.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการทำ SAR กับค่าขีดจำกัดล่าง ว่า
             ทุก กศน.อำเภอ/เขต ต้องทำ SAR ( รายงานการประเมินตนเอง ) ทุกปี  ตอนนี้ถึงเวลาส่ง SAR ปี งปม.57 แล้ว
             วิธีการคำนวณ ตัวบ่งชี้ที่ 1.5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพื่อทำ SAR
             - ให้โปรแกรม ITw คำนวณให้ ง่ายนิดเดียว
             - SAR เป็นการประเมินภายใน ใช้ค่าขีดจำกัดล่างของการสอบปลายภาค และเปรียบเทียบ 2 ปีงบประมาณ ( ถ้าเป็นการประเมินภายนอกโดย สมศ. จะใช้ค่าขีดจำกัดล่างของ N-NET และเปรียบเทียบ 2 ปีการศึกษา )
             - ทำ SAR ปีงบประมาณ 2557 ต้องเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างปีงบประมาณ 2557 (ภาค 2/56 และ 1/57 ) กับ ปีงบประมาณ 2556 ( ภาค 2/55 และ 1/56 )
             - เข้าโปรแกรม ITw ไปที่เมนู 1 - A - 1 - 4 ( ขั้นตอนการดำเนินงาน - รายงาน - รายงานผลการเรียน... - รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน )

             - จะเห็นว่าโปรแกรมกรอกค่าขีดจำกีดล่างของภาค 2/55 กับ 1/56 ไว้ให้แล้ว ให้เราเลือกปีงบประมาณ 2557 แล้วกรอกค่าขีดจำกัดล่างภาค 2/56, 1/57 เอง โดยใช้ข้อมูลที่ http://www.pattanadownload.com/download/g.2/g2.23.rar
              (ค่าขีดจำกัดล่างคือค่า Y ใน Sheet1 ทศนิยมกรอกเพียง 2 ตำแหน่ง ตัดตำแหน่งที่ 3 ทิ้งไป ไม่ต้องปัด  กรอกเสร็จแล้วอย่าลืมคลิกที่ "บันทึกค่าขีดจำกัดล่าง")
             แค่ เพียงเราคลิกที่ "ตัวอย่างก่อนพิมพ์" หรือ "พิมพ์" เท่านั้น โปรแกรมก็จะคำนวณให้เสร็จเรียบร้อยเลย ในชั่วพริบตา ( ถ้าลงคะแนนสอบปลายภาคไว้ครบถ้วนแล้ว โปรแกรมบวกลบคูณหารให้เอง )
             - ในกรณีที่ค่าขีดจำกัดล่างบางภาคเรียนยังไม่ออก ( เช่น ของภาค 1/57 คงจะออกภายในเดือน ต.ค.57 ) ถ้าต้องรีบส่ง SAR ให้ปล่อยว่างภาคเรียนนี้ไว้ก่อน คำนวณเท่าที่มีไปก่อน แต่เมื่อภายหลังได้ค่าขีดจำกัดล่างแล้ว ต้องเข้ามากรอกในโปรแกรม คำนวณใหม่ ปรับแก้ SAR ในส่วนนี้ใหม่


         3. คืนวันเดียวกัน ( 30 ก.ย.) Yangpara Nara ถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ถามอาจารย์เรื่องกรอบโครงสร้างการบริหารงานของ กศน.อำเภอที่ถูกต้อง  พอดีโครงสร้างฯที่ทำและแนบไว้ในแผนปฏิบัติงานประจำปีงบประมาณนั้น หลายคนที่ทำงานบอกว่ายังไม่ถูกต้อง

         ผมตอบว่า   มีแต่การกำหนด “กรอบอัตรากำลัง” ขรก.ครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ซึ่ง กำหนดเพียงว่า อัตรากำลังแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มอำนวยการ กลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ และ กลุ่มภาคีเครือข่ายและกิจการพิเศษ  ( บรรณารักษ์อยู่ในกลุ่มส่งเสริมปฏิบัติการ )  ดูได้ที่

             - จังหวัด-อำเภอเล็กมาก-เล็ก  ( แผนภูมิกรอบทุกขนาดอยู่ในไฟล์แรกนี้ )  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/502/original_framework1.PDF

             - อำเภอกลาง-ใหญ่-ใหญ่พิเศษ  http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/815/503/original_framework2.PDF

             ส่วน “กรอบโครงสร้างการบริหาร” ที่ว่าแต่ละกลุ่มมีภาระงานและบทบาทหน้าที่อะไรบ้าง นั้น สามารถปรับโครงสร้างได้ตามบริบทของแต่ละแห่งและปรับตามบทบาทภาระหน้าที่ที่เปลี่ยนแปลงตามนโยบาย

         4. วันที่ 2 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่อง การทำสัญญาจ้าง-การค้ำประกัน-การติดอากรแสตมป์ ว่า
            
( สำนักงาน กพ. ตอบว่า ถ้าส่วนราชการทำสัญญาจ้างกรณีไม่ต้องติดอากรแสตมป์ หากให้ปิดอากรแสตมป์ไปแล้ว ส่วนราชการจะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์คืนให้ )

             การจ้างแต่ละประเภท มีระเบียบต่างกันในเรื่องการทำสัญญา-การค้ำประกัน-การติดอากรแสตมป์ ต้องรู้ก่อนว่า การจ้างนั้นเป็นประเภทใด เช่น
             ก.  การจ้างบุคลากรของส่วนราชการ เช่น ครู ศรช., พนักงานราชการ
             ข.  การจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย

             1)  การจ้างพนักงานราชการ ไม่ต้องมีการค้ำประกัน เพราะมี "วินัย" ควบคุม ลักษณะเดียวกับข้าราชการ/ลูกจ้างประจำที่ไม่ต้องมีการค้ำประกัน
                  - การจ้างครู ศรช. มีการ "ค้ำประกันการกระทำให้เกิดความเสียหาย" โดยจะใช้บุคคล(ตำแหน่ง) หรือหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ได้
                  - การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ถ้ามีการทำสัญญาจ้าง ต้องมีหลักประกันสัญญา 5 % ตามระเบียบพัสดุกำหนดให้ใช้หลักทรัพย์เป็น "หลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา" ไม่มีระเบียบให้ใช้บุคคลเป็นหลักประกัน

             2)  การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย  ถ้าวงเงินเกิน 100,000 บาท ต้องใช้วิธีสอบราคา หรือวิธีพิเศษ ตามแต่เหตุผล   ถ้าใช้วิธีสอบราคาต้องทำสัญญาจ้าง  แต่ถ้าใช้วิธีพิเศษจะทำสัญญาหรือใช้ใบสั่งจ้าง ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้จ้าง ( ถ้าเป็นการจ้างที่อาจเกิดความเสียหาย เช่นจ้างพนักงานขับรถ พนักงานที่ทำงานเกี่ยวกับการเงิน ควรทำสัญญาเพื่อให้มีหลักประกัน  ถ้าไม่ทำสัญญาและเกิดความเสียหายขึ้น หักเงินประกันไม่ได้และถ้าไม่สามารถเรียกชดใช้ค่าเสียหายได้สำเร็จ  ผู้จ้างต้องรับผิดชอบความเสียหายนั้นเอง )   ถ้าทำสัญญาต้องมีหลักประกันสัญญา ถ้าใช้ใบสั่งจ้างก็ไม่ต้องมีหลักประกันสัญญา แต่ก็ยังต้องติดอากรแสตมป์  สามารถทำสัญญา 12 เดือนเลยเพราะปีนี้คงไม่ได้ปรับเปลี่ยนค่าจ้างอีก

             3)  กรณีที่มีการประกันสัญญา เช่น ครู ศรช. และการจ้างตามระเบียบพัสดุ ต้องระบุเรื่องการประกันนั้นไว้ในตัวสัญญาด้วย การประกันจึงจะมีผล ( ทุกอย่างที่แนบท้ายสัญญาต้องระบุไว้ในตัวสัญญา ) เช่น สัญญาจ้างครู ศรช. ระบุไว้ในตัวสัญญาว่า
                  "ข้อ 10 เพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญานี้ ลูกจ้างได้จัดให้มีผู้ค้ำประกันการชดใช้ค่าเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้างตามที่ระบุไว้ในข้อ 4. และ ข้อ 9. ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันที่แนบท้ายสัญญานี้"
                   ( สัญญาพนักงานราชการที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการกำหนดตามประกาศที่ https://dl.dropbox.com/u/109014048/Contract.pdf ไม่มีข้อนี้  ซึ่งส่วนราชการต่าง ๆ ต้องใช้แบบสัญญาตามที่คณะกรรมการบริหารพนักงานราชการกำหนด  นั่นคือ พนักงานราชการไม่ต้องมีการค้ำประกันสัญญา )

             4)  การจ้างบุคลากรของส่วนราชการ เช่น ครู ศรช., พนักงานราชการ ไม่ต้องปิดอากรแสตมป์  แต่การจ้างเหมาบริการบุคคลภายนอกตามระเบียบพัสดุ เช่น บรรณารักษ์จ้างเหมาบริการ และอื่น ๆ อีกมากมาย ต้องปิดอากรแสตมป์ในสัญญจ้างหรือใบสั่งจ้าง
                   ( การ ซื้อตามระเบียบพัสดุ ก็ไม่ต้องติดอากรแสตมป์  มีแต่การจ้างตามระเบียบพัสดุที่ต้องติดอากรแสตมป์ เช่นเรื่องหนังสือเรียน ต้องดูว่าเป็นการซื้อหนังสือเรียน หรือจ้างพิมพ์หนังสือเรียน  บางอำเภอทำสัญญาซื้อหนังสือที่เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์เอกชนก็ไม่ต้องติดอากรฯ บางอำเภอทำสัญญาจ้างพิมพ์ตามต้นฉบับของที่กำหนดก็ต้องติดอากรแสตมป์ )
                  ถ้าไม่เข้าตาม http://www.rd.go.th/publish/6162.0.html นี้ ไม่ต้องติดอากร  ( การจ้างเหมาบริการตามระเบียบพัสดุ เข้าข้อ 4. จ้างทำของ )

             5)  ในกรณีที่ส่วนราชการทำสัญญาจ้างพนักงานราชการ โดยเรียกให้ปิดอากรแสตมป์ (ซึ่งไม่ต้องปิดอากรแสตมป์) ส่วนราชการจะต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อเยียวยาและบรรเทาความเสียหาย ให้แก่พนักงานราชการผู้นั้น"   คำตอบจากสำนักงาน กพ. ที่ http://www.ocsc.go.th/ocsc/th/index.php?option=com_kunena&func=view&catid=11&id=976&Itemid=228 คือ
                  "กรณีดังกล่าวไม่ต้องติดอากรแสตมป์ หากดำเนินการไปแล้ว ส่วนราชการจะต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์ดังกล่าวคืนให้"

             6)  การติดอากรแสตมป์ ติดเฉพาะการจ้างตามระเบียบพัสดุ โดย
                  - ต้นฉบับสัญญาจ้างหรือใบสั่งจ้าง ทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้าง ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ติดอากรแสตมป์ 1 บาท ( และให้ผู้รับจ้างเป็นผู้ขีดฆ่า อากรแสตมป์ )   เช่น จ้างเดือนละ 10,000 บาท ถ้าทำสัญญาจ้างครั้งเดียวตลอดปี 12 เดือน สินจ้างก็คือ 120,000 บาท แต่ถ้าทำสัญญาแค่ 6 เดือน สินจ้างก็คือ 60,000 บาท  ( เช่น ค่าจ้าง 7,940 บาท ทำสัญญา 4 เดือน รวมค่าจ้าง 31,760 บาท ให้ติดอากร 32 บาท เป็นต้น )   ยกเว้นถ้าสินจ้างรวม 200,000 บาทขึ้นไป ให้ชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดอากรแสตม์ป์
                  - คู่ฉบับสัญญาจ้างหรือคู่ฉบับใบสั่งจ้าง  ถ้าต้นฉบับติดอากรแสตมป์ไม่เกิน 5 บาท ให้ติดอากรแสตมป์ที่คู่ฉบับ 1 บาท  ถ้าต้นฉบับติดอากรแสตมป์เกิน 5 บาท ให้ติดอากรแสตมป์ที่คู่ฉบับ 5
บาท

         5. วันที่ 3 ต.ค.57 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องวิธีแก้ปัญหาการรับจ้างทำการบ้านผ่านเว็บไซต์  ( กศน. แจ้ง หน่วยงาน/สถานศึกษา สังกัด กศน.ทุกแห่ง ตั้งแต่ 3 ก.ย. ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/homeexercy.pdf )   ว่า

             1)  ให้การบ้านอย่างเหมาะสม และพิถีพิถันตรวจการบ้าน/รายงาน ว่า เป็นงานที่เกิดจากความรู้ความสามารถของผู้เรียนจริงหรือไม่ ( ครูต้องทราบความรู้ความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน )  อาจให้ใช้การเขียนด้วยลายมือแทนการพิมพ์
             2)  ประชาสัมพันธ์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ( ประชาชน ผู้ปกครอง ) ทราบถึงผลเสียของการจ้างทำการบ้าน อันส่งผลต่อ ผู้เรียน ครอบครัว สังคม และประเทศชาติในอนาคต


         6. วันที่ 9 ต.ค.57 สุวิจักขณ์ ใสศรัทธาวงษ์ ครู ศรช. กศน.อ.วังสามหมอ ถามผมผ่านเฟซบุ๊ค ว่า  สัญาจ้างครู ศรช. ให้ ครู คศ. 1 ค้ำประกันได้ไหม เป็นข้อกำหนดเหมือนกันหมดไหม หรือแล้วแต่ กศน.นั้นๆ

             ผมตอบว่า   ผู้ค้ำประกันจะต้องเป็น ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการครู พนักงานเทศบาล พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในระดับปฏิบัติการหรือเทียบเท่าระดับปฏิบัติการ ขึ้นไป  ( ดูคำตอบเก่าในข้อ 5 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/538893 )  ครู คศ.1 ก็เป็นข้าราชการครูระดับปฏิบัติการ
             แต่บางจังหวัด อาจมีนโยบายกำหนดเป็นอย่างอื่น เช่น ให้ ผอ.อำเภอ เป็นผู้ค้ำประกัน หรือให้คนค้ำประกันคนหนึ่งสามารถค้ำประกันครู ศรช.ได้เพียงคนเดียว เป็นต้น   ผมคิดว่านโยบายการกำหนดเป็นอย่างอื่นนี้ น่าจะกำหนดได้ถ้ามีเหตุผลที่ดี และไม่กำหนดในลักษณะกลั่นแกล้งคนส่วนหนึ่งให้ยาก จนทำไม่ได้

         7. วันเดียวกัน ( 9 ต.ค.) Montian Nunin ถามในกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  ถ้าครู ศรช.มีนักศึกษาไม่ถึง 60 คน ต้องเบิกจ่ายอย่างไร

             ผมตอบว่า   ตอบบ่อยแล้ว  ดูในหนังสือแจ้งที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/moneyteacher571.pdf  ( ดูที่ข้อ 1.3 ในหนังสือฉบับที่ 2 )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย