วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

1.วันหยุดของครู กศน., 2.พนักงานราชการบนจังหวัด ย้าย/เปลี่ยนตำแหน่ง, 3.สมุดหมายเหตุรายวัน เริ่มเล่มใหม่เมื่อไร, 4.สอบปลายภาคถึงสามทุ่ม ค่าคุมสอบเท่าไร, 5.เรียน ป.ตรี ออนไลน์ ม.เวสเทิร์น เชื่อได้ไหม, 6.แต่งตั้งใครเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุได้บ้าง, 7.การขอย้าย



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 7 ม.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ฉันมีเรื่องสอบถามเพื่อจะเป็นแนวทางในการทำงานให้ถูกต้อง คือเมื่อวันหยุดที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศให้วันที่ 31-4 เป็นวันหยุดยาว ซึ่งตรงกับวันที่เราต้องมาปฏิบัติการสอนในวันเสาร์  ฉันไม่ได้มาปฏิบัติการสอน และได้แจ้งนักศึกษาแล้ว  แบบนี้ถือว่ามีความผิดไหม ตามที่ฉันเข้าใจก็คือรัฐบาลประกาศให้หยุดจึงได้หยุด แต่ผู้บังคับบัญชามองว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่   อยากให้ช่วยอธิบาย
             ผมตอบว่า   ไม่มีประกาศฉบับใดที่ว่ารัฐบาลประกาศให้วันที่ 31-4 เป็นวันหยุด  มีแต่มติ ครม.กำหนดให้วันที่ 2 ม.ค.58 เป็นวันหยุดเพิ่มเติมพิเศษเพียงวันเดียว  ส่วนวันที่ 31 ธ.ค. – 1 ม.ค. เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์อยู่แล้ว รัฐบาลไม่ได้ประกาศใหม่  และวันที่ 3-4 ม.ค.58 ก็เป็นวันเสาร์อาทิตย์เหมือนวันเสาร์อาทิตย์ทั่วไป  เพียงแต่เวลาออกข่าวในสื่อจะบอกว่าหยุดยาว 5 วัน เป็นการสรุปสำหรับส่วนราชการทั่วไป
             ฉะนั้น  ผู้ที่โดยปกติหยุดวันอื่นและสอนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์  ที่ถูกต้องก็ยังต้องมาสอนในวันที่ 3 หรือ 4 ม.ค.58 เช่นเดิม   อย่างไรก็ตาม ถ้าปกติคนนั้นจะหยุดวันศุกร์และสอนวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ แต่เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ม.ค.58 รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุด จึงเป็นวันหยุดซ้อนวันหยุดของคนที่ปกติจะหยุดวันศุกร์ ( รวมทั้งคนที่ปกติจะหยุดในวันที่ 31 ธ.ค. หรือ 1 ม.ค.อยู่แล้ว )  เพื่อความยุติธรรม บุคคลนี้ก็ควรได้หยุดชดเชยในวันอื่น เพราะวันที่ 2 เป็นวันหยุดซ้อนวันหยุด   แต่จะหยุดชดเชยในวันที่ 3 หรือ 4 ก็ต้องขอความเห็นชอบ ผอ.ก่อน
             ที่ถูกต้องคือ ถ้าโดยปกติต้องมาสอนในวันที่ 3 หรือ 4 ม.ค.58 แต่จะหยุด 5 วัน ต้องขอความเห็นชอบจาก ผอ.ก่อน แล้วแจ้ง นศ.

         2. คืนวันเสาร์ที่ 3 ม.ค.58 อ้อยควั่น เพชร์รื่น นักวิชาการเงินและบัญชี กศน.จ.ฉะเชิงเทรา ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พนักงานราชการตำแหน่งบนจังหวัด ย้ายหรือเปลี่ยนตำแหน่งโดยไม่ต้องสอบใหม่ได้หรือไม่ หรือขอย้ายไป กศน.อำเภอได้หรือไม่
             ผมตอบว่า   เขียนเรื่องนี้บ่อยแล้ว "พนักงานราชการ" ไม่ว่าตำแหน่งใด ๆ ก็เหมือนกัน คือ การเปลี่ยนตำแหน่งต้องสอบใหม่ การย้ายต้องย้ายสับเปลี่ยนกับอัตราตำแหน่งเดียวกัน

         3. วันที่ 8 ม.ค.58 Maythaporn Foytong ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การเขียนสมุดหมายเหตุรายวัน จะเริ่มเล่มใหม่นับจากปี พ.ศ. หรือ ปีงบประมาณ
             ผมตอบว่า   หมายถึงสมุดหมายเหตุรายวันที่หัวหน้าสถานศึกษามีหน้าที่จดบันทึกเหตุการณ์ลงในสมุดทุกวันใช่ไหม  ไม่กี่ยวกับปี พ.ศ. หรือปีงบประมาณเลย ต้องใช้ไปจนกว่าจะหมดเล่ม แล้วจึงจะเริ่มเล่มใหม่

         4. วันเสาร์ที่ 10 ม.ค.58 เพ็ญศรี ใจหลัก ถามในไทม์ไลน์ผม ว่า  ในวันที่ 7-8 มี.ค.58 นี้ จะมีการสอบปลายภาคในรายวิชาบังคับของ กศน. ส่วนในรายวิชาเลือกนั้น ปกติจะจัดสอบในอาทิตย์ถัดไปทุกภาคเรียน ตามนโยบายของ กศน.จังหวัด  แต่ในภาคเรียน 2/57 นี้ กศน.จังหวัดได้เปลี่ยนผู้บริหาร จึงเปลียนแปลงนโยบายโดยสั่งการให้นำรายวิชาเลือกมาสอบในวันที่ 7-8 มี.ค. ซึ่งรายวิชาเลือกมีจำนวนหลากหลายวิชา ปกติที่มีการจัดสอบในอาทิตย์ถัดไปเพียง 1 วัน การรับและส่งข้อสอบของครูคุมสอบก็แทบจะไม่ทันกันอยู่แล้ว แต่ในเมื่อเป็นนโยบายของผู้บริหาร ทางผู้ปฏิบัติระดับอำเภอจึงต้องปฏิบัติ  เมื่อจัดแทรกรายวิชาเลือกลงในระหว่างรายวิชาบังคับแล้ว เวลาในการสอบในแต่ละวันน่าจะล่วงเลยถึง 2-3 ทุ่ม
             ค่าตอบแทนสำหรับคณะกรรมการดำเนินการสอบ หากเวลาเกินช่วงปกติจากเดิมถึงห้าโมงเย็น อาจจะถึงสามทุ่ม ถามว่า ปกติหากช่วงเช้าได้รับค่าตอบแทน 300 บาท ช่วงบ่าย 300 บาท กรรมการท่านใดคุมทั้งเช้าและบ่ายจะได้รับค่าตอบแทน 600 บาท แล้วในกรณีที่คุมสอบเกินจากช่วงห้าโมงเย็น ล่วงเลยจนถึงค่ำ สามารถเบิกจ่ายเพิ่มให้คณะกรรมการได้หรือไม่ เบิกจ่ายได้จำนวนเท่าไหร่ และมีระเบียบกำหนดไว้หรือไม่ ( รายวิชาเลือกมีหลากหลาย จำนวนวิชาที่ นศ.สอบมากมาย จังหวัดและอำเภออื่นๆอาจจะมีจำนวนน้อยวิชา ก็สามารถจัดได้ภายใน 2 วัน )
             ผมตอบว่า   ที่ว่าค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบช่วงเช้า 300 บาท ช่วงบ่าย 300 บาทนั้น ในระเบียบไม่ได้ว่าอย่างนี้ ดูระเบียบในข้อ 1 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/481090   ระเบียบกำหนดว่า ไม่เกิน 300 บาทต่อครึ่งวัน, ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน  คำว่า วัน ต่างจากคำว่า ช่วงเช้าช่วงบ่าย คือ ช่วงเย็นก็ยังอยู่ใน "วัน" ฉะนั้นจ่ายได้ไม่เกิน "วัน" ละ 600 บาท ถึงแม้จะเกินห้าโมงเย็นก็ตาม

         5. วันเดียวกัน ( วันเสาร์ที่ 10 ม.ค.) ครูปู ภัทรนันท์ สว่างวิจิตรา ถามในอินบ็อกซ์ผมว่า  ลูกศิษย์ถามมาแล้วหนูไม่รู้จะไปตรวจสอบให้ได้ที่ไหนว่าจริงหรือเท็จเรื่องเรียนปริญญาตรีออนไลน์ในเพจมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น  เพจนี้เชื่อถือได้ไหม
             ผมตอบว่า   เป็นเพจของมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย  หลักสูตรบางสาขาของเขาได้รับการรับรอง/รับทราบจาก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสภาวิชาชีพแล้ว  แต่บางสาขาก็ยังไม่ได้รับการรับรอง  จะเรียนสาขาใดควรตรวจสอบก่อนว่าสาขานั้นได้รับการรับรอง/รับทราบจาก สกอ.และสภาวิชาชีพหรือยัง  โดยตรวจสอบได้ที่เว็บ http://www.mua.go.th/users/bhes/front_home/Go%20U/index.html

         6. วันที่ 14 ม.ค.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  การแต่งตั้ง "กรรมการตรวจรับพัสดุ" สามารถแต่งตั้งบุคคลภายนอกได้หรือไม่ เช่น บรรณารักษ์อัตราจ้าง หรือจ้างเหมาบริการ เป็นต้น
             ผมตอบว่า   คณะกรรมการในการดำเนินการซื้อหรือจ้าง และรวมทั้งคณะกรรมการเพิ่มเติม ( คณะกรรมการเพิ่มเติมคือ คณะกรรมการกำหนดราคากลาง, คณะกรรมการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ ) ให้แต่งตั้งตามระเบียบพัสดุ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2552 ข้อ 35 และตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ว 417 ลงวันที่ 22 ตุลาคม 2553 คือ
             1)  แต่งตั้งจาก ข้าราชการ พนักงานราชการ หรือลูกจ้างประจำ ตามจำนวนที่กำหนด โดยคำนึงถึงความรู้ความสามารถ ลักษณะงาน หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสำคัญ
             2)  กรณีวงเงินเกินหนึ่งหมื่นบาท แต่งตั้ง ประธานรวมกับกรรมการ จำนวนอย่างน้อย 3 คน  และถ้าจำเป็นหรือเพื่อประโยชน์ทางราชการ อาจตั้งบุคคลอื่นอีกไม่เกิน 2 คนร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้  รวมเป็นจำนวน 3-5 คน  ซึ่งต้องเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ อย่างน้อย 3 คน ส่วนอีก 1-2 คน เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในพัสดุนั้น ซึ่งจะมี 1-2 คนนี้หรือไม่ก็ได้ โดย 1-2 คนนี้จะเป็นข้าราชการ/ลูกจ้างประจำ/พนักงานราชการหรือไม่ก็ได้
             3)  ต้องแต่งตั้งเป็นครั้ง ๆ ไป
             กลุ่มงานพัสดุ กลุ่มงานคลัง กศน. บอกว่า ถ้ามีข้าราชการ ประธานกรรมการต้องเป็นข้าราชการ
             ( เคยตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในข้อ 1 ที่
https://www.gotoknow.org/posts/521501 )

         7. คืนวันที่ 20 ม.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการขอย้าย ว่า
             ตามระเบียบ ก.ค.ศ.  การขอย้ายกรณีปกติ ( กลับภูมิลำเนา
, อยู่ร่วมกับคู่สมรส, ดูแลบิดามารดา ) ให้ยื่นขอย้ายได้ปีละ 2 ช่วง คือ 1-15 ก.พ. กับ 1-15 ส.ค.  ( ก.ค.ศ.ส่งระเบียบนี้ให้ส่วนราชการต่าง ๆ ครั้งเดียว แล้วไม่ได้แจ้งใหม่อีก แต่ถือเป็นกำหนดการที่เป็นที่รู้กันแล้ว เมื่อถึงเวลา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ยื่นขอย้ายโดยไม่จำเป็นต้องมีหนังสือแจ้ง รวมทั้งขอโอนเปลี่ยนตำแหน่งด้วย   แต่ถ้ารอบไหนมีอัตราว่างหลายอัตรา กจ.กศน.ก็จะมีหนังสือแจ้งมาพร้อมแจ้งอัตราว่าง  รอบไหนมีอัตราว่างน้อยก็จะไม่แจ้งมา  แต่ถึงไม่แจ้งก็ยื่นขอย้ายได้ โดยเฉพาะการขอย้ายสับเปลี่ยนไม่ต้องมีอัตราว่างอยู่ก่อน
             คำร้องขอย้ายใช้ได้รอบเดียว ถ้ายังไม่ได้ย้ายตามคำขอ เมื่อถึงช่วงขอย้ายใหม่ต้องยื่นใหม่
             คำสั่งย้ายจะออกเมื่อไร ไม่แน่  ปกติ ยื่นขอย้ายในช่วง 1-15 ก.พ. ถ้าได้ย้าย คำสั่งย้ายจะออกประมาณ เม.ย.-พ.ค.  

2 ความคิดเห็น:

  1. กศนมีวันหยุดหรือคะและถ้าไปเอาเอกสารจะไปได้ทุกวันหรือเปล่าคะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. แต่ละอำเภอแต่ละเขตแต่ละฝ่าย ต่างกัน จะไปติดต่อเรื่องอะไรที่ไหน ก็ โทร.ติดต่อสอบถามที่นั่นก่อนครับ

      ลบ

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย