วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

1.ลดการมอบอำนาจจัดซื้อจัดจ้างให้ ผอ.กศน.อำเภอ จากวงเงิน 2 ล้าน เหลือ 5 แสนบาท, 2.วิธีลงข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์สำนักงาน กศน., 3.การย้ายผู้บริหารสถานศึกษา, 4.การลดธงชาติครึ่งเสา, 5.การทำบัตรและรูปติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ( เดือน ต.ค.59 พนักงานราชการทุกตำแหน่งของ กศน. ต้องต่อสัญญาใหม่ ต้องทำบัตรใหม่ ), 6.การพิมพ์ตำแหน่งในบัตรประจำตัวฯกับในป้ายชื่อติดเครื่องแบบ, 7.มีความผิดทั้งครู และสถานศึกษา


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 22 ม.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องลดการมอบอำนาจ ว่า
             สป.ศธ.ออกคำสั่งที่ 111/58 ลงวันที่ 19 ม.ค.58 ยกเลิกคำสั่งที่ 1997/55 ลงวันที่ 11 ธ.ค.55 ที่มอบอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างให้ ผอ.สถานศึกษา 2,000,000 บาท  และมอบอำนาจใหม่ในวงเงิน 500,000 บาท
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/CM111-58.pdf

        
2. วันที่ 23 ม.ค.58 คุณ ณัฐพงศ์ โสภิณ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  ถ้าจะประชาสัมพันธ์ผ่านหน้าเว็บสำนักต้องทำไง


             ผมตอบว่า
            
1)  ผู้ที่จะขึ้นข่าวประชาสัมพันธ์ในเว็บไซต์ สนง.กศน. จะต้องมี ชื่อสมาชิกและ รหัสผ่านโดยผู้ที่จะขึ้นข่าวประชาสัมพันธ์ไมใช่เป็นบุคคล แต่ให้ขึ้นข่าวประชาสัมพันธ์ในนามหน่วยงาน คือ กศน.จังหวัด อำเภอ หรือตำบล  ฉะนั้นในแต่ละหน่วยงาน จึงให้มี ชื่อสมาชิก/รหัสผ่าน ชุดเดียว
             2)  ลองถามกันดูว่า หน่วยงานนี้ ชื่อสมาชิก/รหัสผ่าน คืออะไร อยู่กับใคร ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ให้โทร.02-2820750, 2802924 ติดต่อขอกับผู้ดูแลเว็บไซต์สำนักงาน กศน. หรือคุณอุดมศักดิ์ บุญก่อ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ กลุ่มแผนงาน กศน.
             3)  เมื่อมี ชื่อสมาชิก/รหัสผ่าน แล้ว ให้คีย์ลงในหน้าโฮมเพจเว็บไซต์ สนง.กศน. แล้วคลิกที่ เข้าสู่ระบบ
             4)  จากนั้นคลิกที่ "เพิ่มบทความ"
             5)  เข้าไปกรอกข้อมูลข่าวประชาสัมพันธ์ ต่าง ๆ เสร็จแล้วคลิกที่ปุ่ม "บันทึก"
              ( ถ้าจำไม่ผิด เมื่อบันทึกข่าวประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ข่าวจะยังไม่ขึ้นประชาสัมพันธ์ออกหน้าเว็บในทันที ต้องคอยให้กลุ่มแผนงานตรวจสอบก่อน แล้วจึงจะปล่อยข่าวขึ้นประชาสัมพันธ์ในหน้าเว็บ สนง.กศน.ภายหลัง )







         3. วันเสาร์ที่ 24 ม.ค.58 มีผู้ถามในไทม์ไลน์ผม ว่า  มีเกณฑ์การย้าย ผอ.อำเภอ ไหม

             ผมตอบว่า   อยู่ในเรื่องเดียวกับที่แจ้งตำแหน่งว่างให้ ผอ.อำเภอ ขอย้ายครั้งก่อน ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/chengeBoss.PDF

         4. วันที่ 26 ม.ค.58 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ค เรื่องการลดธงชาติครึ่งเสา ว่า
             ให้ปฏิบัติการเหมือนการชักธงขึ้นตามปกติ แต่เมื่อธงถึงยอดเสาแล้วจึงลดลงให้อยู่ในระดับความสูงประมาณ
2 ใน 3 ส่วน ของความสูงของเสาธงนั้น คือลดลงเพียง 1 ใน 3 ของเสา ไม่ใช่ครึ่งเสา
             และเมื่อจะชักธงลงในตอนเย็น ก็ให้ชักธงขึ้นจนถึงยอดเสาก่อน แล้วจึงชักธงลง
             จะลดธงชาติครึ่งเสากรณีใด เป็นเวลาเท่าใด ทางราชการจะประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาการลดธงชาติครึ่งเสาจะกระทำในกรณีที่ประมุขหรือบุคคลสำคัญของประเทศต่างๆ เสียชีวิต โดยปกติทางราชการจะประกาศให้ลดธงชาติครึ่งเสาทั่วราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 วัน








         5. วันเดียวกัน ( 26 ม.ค.) พรณรงค์ ผ่องไสววงศ์ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  รูปติดบัตรประจำตัวข้าราชการบำนาญ ที่เขาได้สายสะพาย ใช้รูปแบบเต็มยศมีสายสะพาย หรือแบบแพรย่อ

             ผมตอบว่า   ตาม พ.ร.บ.บัตรประจำตัวฯ จะใช้ได้ทั้ง 2 อย่าง เพราะเป็นเครื่องแบบพิธีการทั้งคู่ ( เครื่องหมายที่ติดปกคอเสื้อ จะต่างจากตอนเป็นข้าราชการประจำ )
             รูปถ่ายติดบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท ( รวมทั้งพนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) นั้น ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2542 ข้อ 4 (1) กำหนดให้เลือกแต่งเครื่องแบบได้หลายแบบคือ
             - เครื่องแบบปฏิบัติราชการ/เครื่องแบบพิธีการ เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งตนสังกัด หรือ
             - ชุดสากล หรือ
             - ชุดไทยพระราชทาน
              ( ดูกฎกระทรวงฯนี้ได้ที่ http://ahph9thi.gotoknow.org/assets/media/files/000/830/787/original_role2542.pdf )
             รูปถ่ายสำหรับติดบัตรนี้ ขนาด
2.5 X 3.0 ซ.ม. ถ่ายครึ่งตัว หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาสีเข้ม ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันยื่นคำขอมีบัตร
             กรณีข้าราชการสตรีไทยมุสลิม สามารถถ่ายรูปที่มีผ้าคลุมศีรษะได้ แต่ต้องเห็นหน้า ( เห็น หน้าผาก คิ้ว ตา จมูก ปาก และคาง ) ( ตามหนังสือที่ นร 1304/1074/ 4 ก.พ.40 )

             สำหรับข้าราชการบำนาญ ( เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับบำเหน็จบำนาญ ) ก็ใช้เครื่องแบบปฏิบัติราชการ ( ชุดกากี ) และเครื่องแบบพิธีการ ( ชุดขาว ) เหมือนเดิมเกือบทุกอย่าง เปลี่ยนแค่ ติดเครื่องหมายสังกัดข้างเดียว ( ถ้าเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เครื่องหมายสังกัดคือ เสมา ) ที่ปกคอเสื้อด้านหน้าข้างซ้าย  ส่วนข้างขวาให้เปลี่ยนเป็นเครื่องหมายอักษร นก ( นอกราชการ ) เท่านั้นเอง
             สำหรับพนักงานราชการ บัตรจะมีอายุครบกำหนดตามสัญญาจ้าง และจะทำบัตรได้เมื่อมีวาระการจ้าง
1 ปี ขึ้นไปเท่านั้น ( พนักงานราชการที่บรรจุใหม่ถ้าในช่วงแรกทำสัญญาจ้างไม่ถึง 1 ปี จะยังไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ )   เดือน ต.ค.59 พนักงานราชการทุกตำแหน่งของ กศน. ต้องต่อสัญญาใหม่ ก็ต้องทำบัตรใหม่








         6. คืนวันเดียวกัน ( 26 ม.ค.) แดง พัฒนสิน กศน.พิชัย ถามบนไทม์ไลน์ผม ว่า  บัตรประจำตัว ระบุตำแหน่งว่า ครูชำนาญการพิเศษ ป้ายชื่อเครื่องแบบข้าราชการต้องเปลี่ยนตามหรือไม่
             ผมตอบว่า   พ.ร.บ.บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ กับ พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฯ เป็นคนละฉบับกัน โดยป้ายชื่อตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฯ กำหนดให้มี
2 บรรทัด บรรทัดแรกระบุชื่อ-สกุลไม่ต้องมีคำนำหน้า บรรทัดที่ 2 ระบุตำแหน่งปัจจุบัน  ต่างจากบัตรประจำตัวฯในช่องตำแหน่ง ให้ระบุตำแหน่ง/ระดับ/ยศ จึงไม่ต้องเปลี่ยนป้ายชื่อตามบัตรประจำตัว ( ถ้าจะเปลี่ยนตามก็คงไม่เป็นไร เพราะปัจจุบันหลายคนก็ใส่รูปเครื่องหมายสังกัดเช่นเสมาลงไปในป้ายชื่อด้วย ทั้งๆที่ไม่มีกำหนดให้ใส่ )

             ในส่วนของการพิมพ์ “ตำแหน่งในบัตรประจำตัวข้าราชการครูนี้ สำนักนายกรัฐมนตรีตอบข้อหารือสำนักงาน ก.ค.ศ. ว่า
             1)  ครู ที่ไม่มีวิทยาฐานะ ให้ลงชื่อตำแหน่ง ( ชื่อตำแหน่งตาม ม.38 พรบ.ระเบียบข้าราชการครู 2547 ) เช่น ลงว่า ครู ศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการสถานศึกษา เป็นต้น
             2)  ครู ที่มีวิทยฐานะให้ลงชื่อวิทยฐานะ ( ชื่อวิทยฐานะตาม ม.39 พรบ.ระเบียบข้าราชการครู 2547 ) เช่น ลงว่า ครูชำนาญการพิเศษ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการชำนาญการ เป็นต้น
              ( ดูหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ ได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/cardteacher.pdf )

         7. วันที่ 28 ม.ค.58 มนูญ ฮับ ถามในอินบ็อกซ์ผม ว่า  พนักงานราชการ ครู กศน.ตำบล ไม่มีใบประกอบฯ และไม่ได้เรียน ป.บัณฑิต ในขณะนี้ผ่านล่วงเลยมา 4 ปี จะมีผลอย่างไร จะต่อสัญญาได้อีกหรือไม่ คนที่ต่อสัญญามีความผิดหรือไม่

             ผมตอบว่า   ถ้าสถานศึกษา ให้ ผู้ที่ไม่มี "ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู" ไม่มี "หนังสืออนุญาตให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" และไม่สามารถขออนุญาตต่อได้อีกแล้ว มาสอน "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" จะมีความผิดทั้งสถานศึกษาและผู้สอนนั้น ( ถ้ามีผู้ร้องเรียนไปคุรุสภา )  ตอนที่ต่อสัญญายังไม่มีความผิดในเรื่องนี้ถ้าในสัญญาไม่ได้ระบุให้สอน กศ.ขั้นพื้นฐาน แต่ถ้าให้สอน "การศึกษาขั้นพื้นฐาน" จึงจะมีความผิด  ไม่เกี่ยวกับการสอนการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตามอัธยาศัย
             ( ปัจจุบันให้สถานศึกษาขออนุญาตให้บุคคลปฏิบัติการสอนโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ถึง 3 ครั้ง ๆ ละ 2 ปี )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย