วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

1.บุคลากรทางการศึกษาหมายถึงข้าราชการ, 2.ถึงเวลาส่ง SAR ปี 58 แล้ว, 3.ให้ นศ.พิการ สอบที่บ้านได้ไหม, 4.ผอ.ใหม่รับงาน ไม่รับหนี้สินได้ไหม, 5.การแต่งกายของครู, 6.พนักงานราชการตำแหน่งครูต่อสัญญาได้ไหมถ้าไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู, 7.ครูช่วยกรอกข้อมูลในกระดาษคำตอบให้ นศ.พิการได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 10 ก.ย.58 ผมถามคำถามในเฟซบุ๊คกลุ่มครูนอกระบบ ว่า
             คำว่า
บุคลากรทางการศึกษาใน พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาหมายถึงข้อใด ?
             ก.  ข้าราชการ
             ข.  แล้วแต่สถานการณ์
             ค.  บุคลากรทุกประเภท
             ง.  บุคลากรอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ
             จ.  บุคลากรทุกประเภท ยกเว้นพนักงานจ้างเหมาบริการ

             เช้าวันเสาร์ที่ 12 ก.ย.58 ผมเฉลยว่า
             ตามมาตรา
38 ค. ของ พ.ร.บ.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ( http://www.sesa10.go.th/sesa10/data/mar55/7.pdf ) ระบุว่า บุคลากรทางการศึกษามี 2 ประเภท คือ
              (1)  ศึกษานิเทศก์ ( ซึ่งเป็นข้าราชการ )
              (2)  บุคลากรทางการศึกษาอื่น ( เช่น บรรณารักษ์ นักวิชาการศึกษา นักจัดการงานทั่วไป ซึ่งเป็นข้าราชการ )
             เช่น
             1)  การแต่งตั้งผู้รักษาการในตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ ต้องแต่งตั้งจาก ข้าราชการครูหรือ บุคลากรทางการศึกษาคำว่าบุคลากรทางการศึกษาในที่นี้หมายถึงข้าราชการ ก.ค.ศ. ( ไม่ใช่ข้าราชการ ก.พ.) เช่น ศึกษานิเทศก์ หรือบุคลากรทางการศึกษาอื่นตาม ม.38 ค.(2) เช่นข้าราชการตำแหน่งบรรณารักษ์ ถ้าในอำเภอไม่มี ก็แต่งตั้งจากอำเภออื่น จะแต่งตั้งผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการให้รักษาการในตำแหน่ง ผอ.กศน.อำเภอ ไม่ได้
             2)  ผู้ช่วยเลขานุการกรรมการสถานศึกษา ต้องเป็น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาคำว่าบุคลากรทางการศึกษาในที่นี้ หมายถึงข้าราชการเช่นกัน
             3)  โครงการเพชรน้ำหนึ่ง ของ กศน. กำหนดให้ผู้ที่ไปต่างประเทศ ต้องเป็นข้าราชการครูหรือ บุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งใดก็ได้ คำว่าบุคลากรทางการศึกษาในที่นี้หมายถึงเฉพาะข้าราชการเช่นกัน

             ฉะนั้น คำตอบที่ถูกต้องคือ ก. ข้าราชการ

         2. วันที่ 15 ก.ย.58 ผมโพสต์ในเฟซบุ๊ค ว่า  ขณะนี้ถึงเวลาที่สถานศึกษาต้องส่ง SAR ( รายงานการประเมินตนเอง ) ประจำปีงบประมาณ 2558 แล้ว

             การทำ SAR ต้องทำทุกปี  สถานศึกษาในระบบทำ SAR ตามปีการศึกษา แต่สถานศึกษา กศน.ทำ SAR ตามปีงบประมาณ ( 1 ต.ค. ถึง 30 ก.ย. )
             ในการประเมินฯภายในโดยต้นสังกัด คณะกรรมการต้องใช้ข้อมูลตาม SAR 3 ปีล่าสุด จึงจะคำนวณคะแนนออกมาได้ บางอำเภอเข้าใจผิดคิดว่าคณะกรรมการจะใช้ข้อมูลตาม SAR ปีล่าสุดปีเดียว กว่าจะรู้ก็ถึงวันที่คณะกรรมการไปถึงแล้ว หาข้อมูล 3 ปีไม่ทันแล้ว

             การทำ SAR ปีงบประมาณ 2558 ยังคงใช้หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพภายในเดิม ( 6 มาตรฐาน 26 ตัวบ่งชี้เดิม ) เพราะหลักเกณฑ์ที่กำลังพัฒนาใหม่ยังไม่เสร็จ อาจเสร็จและเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งจะใช้ในการทำ SAR ประจำปีงบประมาณ 2559 เป็นอย่างเร็ว
             ดูแบบฟอร์มการทำ SAR ได้ที่
             - ไฟล์สกุล .pdf  ที่  https://db.tt/K96czmfJ
             - ไฟล์สกุล
.doc  ที่  https://db.tt/7PAofFGu  

             อนึ่งการทำ SAR ประจำปี งปม.58 ในตัวบ่งชี้ที่ 1.5 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จะใช้ค่าขีดจำกัดล่างของการสอบปลายภาค เปรียบเทียบ 2 ปีงบประมาณ ระหว่างปีงบประมาณ 2558 (ภาค 2/57 และ 1/58 ) กับ ปีงบประมาณ 2557 ( ภาค 2/56 และ 1/57 ) โดยให้โปรแกรม ITw คำนวณให้  แต่ขณะนี้ยังไม่มีค่าขีดจำกัดล่างภาค 1/58 ( ยังไม่ได้สอบปลายภาค 1/58 ) เมื่อต้องรีบส่ง SAR ให้ปล่อยข้อมูลค่าขีดจำกัดล่างของภาคเรียนที่ 1/58 ในโปรแกรม ITw ว่างไว้ก่อน คำนวณเท่าที่มีข้อมูลไปก่อน  แต่เมื่อภายหลังได้ค่าขีดจำกัดล่างแล้ว ต้องเข้ามากรอกในโปรแกรม คำนวณใหม่ ปรับแก้ SAR ในส่วนนี้ใหม่

         3. วันที่ 14 ก.ย.58 Pattanan Dondee ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การสอบปลายภาคเรียนนักศึกษาพิการด้านร่างกาย สามารถนำข้อสอบไปให้นักศึกษาสอบที่บ้านได้หรือไม่ ต้องดำเนินการอย่างไร

             ผมตอบว่า   ไม่มีระเบียบให้ปฏิบัติได้โดยตรง  อยู่ที่ผู้บริหารและประธานฯสนามสอบจะอนุญาตหรือไม่  ถ้าอนุญาตก็ให้คน 2 คนนำข้อสอบไปสอบที่บ้าน แล้วรีบนำมาบรรจุกลับเข้าซองข้อสอบในวันนั้น
             ที่ต้องใช้คนนำไปสอบ 2 คน เพื่อเป็นพยานให้กันและกันว่าดำเนินการถูกต้อง เช่น ใช้เวลาสอบตามที่กำหนด ไม่ได้คัดลอกหรือถ่ายเอกสารข้อสอบ ไม่ได้บอกข้อสอบ และช่วยกันแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นต้น

             กรณีจะให้นักศึกษาพิการใช้เวลาทำข้อสอบมากกว่านักศึกษาทั่วไป ก็ไม่มีระเบียบให้ปฏิบัติได้โดยตรงเช่นกัน เพราะปกติไม่ได้แยกห้องสอบจากนักศึกษาทั่วไป ผมคิดว่าผู้บริหารเป็นผู้รับผิดชอบในการอนุโลมที่เหมาะสมตามความจำเป็น

         4. คืนวันที่ 15 ก.ย.58 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ผอ.กศน.อำเภอคนใหม่ ไม่ยอมรับหนี้สินค่าวัสดุของ กศน.อำเภอ จะให้ ผอ.คนเก่ามาจ่ายหนี้สินได้หรือ

             เรื่องนี้  ผมซักผู้ถามอีกหลายประโยค จึงได้รับข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
             เมื่อเดือน ก.พ.58 ผอ.กศน.อำเภอ ย้ายกันอยู่ภายในจังหวัดเดียวกัน
             ระบบการซื้อวัสดุของอำเภอนี้ ผอ.เก่าจะให้เจ้าหน้าที่พัสดุเป็นผู้ไปทยอยนำวัสดุสำนักงานที่จำเป็นต้องใช้ จากร้านที่ กศน.อำเภอมีเครดิตกันอยู่ มาใช้ทำงานในสำนักงาน โดยภายหลังทางร้านจึงจะรวบรวมรายการทำใบส่งของมาให้ทำเอกสารจัดซื้อ
             แต่ค่าวัสดุประมาณ 28,000 บาทนี้ ยังไม่ได้ทำเอกสารขออนุญาตจัดซื้อเพราะเงินงบประมาณงวดแรกหมดแล้ว ต้องรอเงินงบประมาณงวดหลัง แต่ ผอ.ก็ย้ายไปก่อน และเมื่อ ผอ.ใหม่ย้ายมา ก็ใช้เงินงบประมาณงวดหลังสั่งซื้อของใหม่ ไม่สนใจหนี้เก่า ทั้งที่ ผอ.เก่าได้บันทึกหนี้สินนี้ไว้ในรายงานมอบงานของ ผอ.เก่า ด้วย

             ผมตอบว่า
             1)  ขั้นตอนการจัดซื้อพัสดุ ที่นำพัสดุมาใช้ก่อนแล้วจึงทำเอกสารจัดซื้อภายหลัง นี้ ไม่ถูกต้องตามระเบียบ จึงมีปัญหา
                  นอกจากนี้ จะก่อหนี้ผูกพันโดยที่ยังไม่มีเงินหรือยังไม่ได้รับการแจ้งจัดสรรเงินอย่างเป็นทางการไม่ได้  ถ้างบประมาณไม่พอใช้ก็ต้องวางแผนประหยัด
             2)  ถ้าทำทะเบียน/บัญชีพัสดุ จะมีการกำหนดขั้นต่ำขั้นสูงของวัสดุสำนักงานแต่ละรายการไว้ ( ขั้นต่ำคือ เมื่อวัสดุรายการนี้คงเหลือเท่าใดให้จัดซื้อจัดหามาเพิ่มเติม ไม่ต้องรอให้หมดจึงจัดซื้อมาเพิ่ม ขั้นสูงคือไม่จัดซื้อเก็บไว้เกินเท่าใด )  หมายความว่า วัสดุสำนักงานนั้นสามารถวางแผนจัดซื้อไว้ให้เพียงพอในการใช้งานตลอดปีหรือตลอดงวดได้ ไม่ใช่ทยอยไปนำมาจากร้านเมื่อพัสดุใดหมด
             3)  เมื่อ ผอ.เก่า ก็ยังไม่ได้ลงนามอนุญาตให้จัดซื้อในเอกสาร การก่อหนี้ผูกพันที่ไม่ถูกขั้นตอนนี้ก็ยังไม่เข้าระบบที่จะถือว่าเป็นพัสดุหรือหนี้ผูกพันของสถานศึกษา/กศน.อำเภอ  ซึ่งในการลงนามรับมอบงานของ ผอ.ใหม่ จะเกี่ยวข้องเฉพาะรายการที่อยู่ในระบบ ( ถ้า ผอ.เก่าอนุญาตให้จัดซื้อและลงนามในใบสังซื้อโดยชอบด้วยระเบียบแล้ว จึงจะเป็นหนี้ผูกพันในนามสถานศึกษา/กศน.อำเภอ ผอ.ใหม่จะปฏิเสธไม่ได้ )  กรณีนี้ ผอ.ใหม่จะปฏิเสธก็ได้
             4)  ถ้ายังไม่เข้าระบบ และ ผอ.ใหม่ปฏิเสธ ผู้ที่รับผิดชอบจะเป็นตัวบุคคล ผู้รับของแต่ ผู้ขายเขาไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร ถ้าในที่สุดเขาไม่สามารถเรียกเก็บเงินจาก กศน.อำเภอ เขาอาจโกรธและไม่ให้เครดิตอีก กศน.อำเภอก็ต้องเปลี่ยนไปซื้อที่อื่น มีความคล่องตัวน้อยลง  การที่มีคนโกรธและไม่ให้เครดิตนี้ ถือได้ว่า กศน.อำเภอเสียหาย  ( ถ้าจะหาตัว/ลงโทษ ผู้ที่ทำให้ กศน.อำเภอเสียหายหรือเสื่อมเสียนี้ คนแรกก็คือผู้รับของ ผู้รับของอาจซัดทอดคนอื่นต่อ เช่นบอกว่า ผอ.เก่าวางระบบให้ทำแบบนี้ )
             5)  โดยส่วนตัวผม มีความเห็นว่า  เพื่อไม่ให้ กศน.อำเภอเสื่อมเสีย ผอ.เก่า+ผอ.ใหม่+ผอ.จังหวัด ควรคุยกันว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร  ถ้า เป็นการนำพัสดุมาใช้ในราชการตามความจำเป็นจริง ผอ.ใหม่จะอนุเคราะห์ยอมอนุญาตให้ใช้งบประมาณงวดต่อไปจัดซื้อ โดยกำชับว่าต่อไปไม่ให้ทำนอกระบบอีก จะได้หรือไม่

         5. เรื่องไม่ค่อยจะเป็นเรื่อง แต่ก็มีข้อคิด

             เย็นวันเสาร์ที่ 19 ก.ย.58 มีผู้ถามและผมตอบในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ดังนี้
             ผู้ถาม :  หนูเป็นครู ศรช. วันนี้มีเด็กสอบ หนูไม่ได้คุมสอบและเป็นกรรมการใดๆเลย วันนี้หนูใส่กระโปรงยีน ยาวถึงเข่า ผอ.อำเภอหนูเขาโทรมาบอกครูอีกท่านว่า ให้บอกว่าอย่าใส่กระโปรงยีนมาในสถานที่ราชการ ไม่สุภาพ หนูอยากถามว่า มันผิดระเบียบหรอคะ
             ผมตอบ :  ไม่ผิด แต่ก็มองว่าไม่สุภาพได้ เพราะสถานที่ราชการถือว่ายีนไม่สุภาพแม้จะเป็นกางเกงหรือกระโปรงยาว ไม่ค่อยเหมาะที่ใครจะใส่เข้าไปในสถานที่ราชการ โดยเฉพาะเราเป็นครูแม้จะไม่ได้เข้าไปเพื่อคุมสอบก็ตาม

              ( ปัจจุบัน บางคนไม่ถือ ผอ.บางคนไม่ถือ ก็ไม่ได้หมายความว่า ผอ.คนนี้จะเคร่งครัดมากไป ผอ.เห็นว่าไม่สุภาพก็แนะนำตักเตือน )

             ผู้ถาม :  แล้ว ผอ. ใส่กางเกงยีนได้ใช่ไหม วันนี้ท่านใส่ไปดูคุมสอบ
             ผมตอบ :  ผอ.ใส่กางเกงยีนเข้าไปในสถานที่ราชการในเวลาทำงานก็ไม่สุภาพเช่นกัน

             ผู้ถาม :  หนูจะลาออกละ หนูโดน ผอ.คนนี้กดดันมากเลย หนูไม่มีทางออกเลย หนูทำงานมา 10 ปี
             ผมตอบ :  อยากให้คิดเงียบๆซัก 3 วันก่อน จึงจะถือว่าไม่วู่วาม ถ้าตัดสินใจวู่วามอาจจะเสียใจภายหลัง

         6. เย็นวันที่ 20 ก.ย.58 กานต์ นครสวรรค์ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า ในการต่อสัญญาพนักงานราชการตำแหน่งครู หลังจากหมดสัญญา 4 ปีแล้ว จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูแนบในการต่อสัญญาไหม หรือเป็นพนักงานราชการครูมาแล้ว 5 ปี แต่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ จะต่อสัญญาได้หรือไม่

             ผมตอบว่า   เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 เรื่องที่เป็นคนละส่วนกัน คือ 1) เรื่องการสมัครเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครูและการต่อสัญญาของเรา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และ 2) เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูซึ่งเป็นกฎหมายของคุรุสภา
             1)  การสมัครเป็นพนักงานราชการตำแหน่งครูและการต่อสัญญาของเรา  ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  โดยที่มีการกำหนดเพิ่มว่าจะสมัครพนักงานราชการตำแหน่งครู ต้องจบสาขา การศึกษาบัณฑิต ศึกษาศาสตร์บัณฑิต หรือครุศาสตร์บัณฑิต ( ถ้าเป็นลูกจ้าง กศน. จบ ป.บัณฑิตก็ได้ ) นั้น จะมีใบอนุญาติประกอบวิชาชีพครูหรือไม่ก็ไม่เกี่ยว
                  และการต่อสัญญาก็ไม่เกี่ยวกับวุฒิที่ใช้ตอนสมัครนี้ สามารถต่อสัญญาได้ถ้า ก.พ.ร.เห็นชอบให้ต่อ และผ่านการประเมินตามเกณฑ์
             2)  เรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูตามกฎหมายของคุรุสภา คือ ผู้ที่จะเป็นครูสอน กศ.ขั้นพื้นฐานในสถานศึกษาทุกคนต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู  ถ้าสถานศึกษาจะให้ผู้ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเข้ามาสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน จะต้องขอหนัง "อนุญาติให้ประกอบวิชาชีพโดยไม่มีใบอนุญาติประกอบวิชาชีพ" ครั้งละ 2 ปี ปัจจุบันต่ออายุได้รวม 3 ครั้ง 6 ปี ถ้าครบแล้วยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ต้องหยุดสอน กศ.ขั้นพื้นฐาน มิฉะนั้นจะมีความผิดทั้งผู้สอนและสถานศึกษา ( แต่สอน กศ.ต่อเนื่องและ กศ.ตามอัธยาศัยได้ )

         7. เช้าวันที่ 21 ก.ย.58 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  ระเบียบการสอบปลายภาคเรียนของนักศึกษาคนพิการมีอะไรบ้าง แล้วครูผู้สอนคนพิการมีสิทธิ์เขียนข้อความต่างๆบนกระดาษคำตอบแล้วให้ นศ.พิการเขียนเฉพาะชื่อตัวเองในกระดาษคำตอบ แบบนี้ถือว่าทุจริตในการสอบไหม

             ผมตอบว่า
             1)  การเข้าสอบปลายภาคของนักศึกษาคนพิการกับนักศึกษาปกติทั่วไป ใช้ระเบียบเดียวกัน
             2)  ที่ว่าให้ นศ.เขียนเฉพาะชื่อนั้นหมายถึง ครูกาเลือกคำตอบให้ด้วยหรือไง อ่านไม่เข้าใจ
ครูผู้สอนจะเข้าไปช่วยเขียนได้อย่างไร เป็นเรื่องของกรรมการคุมสอบในห้องสอบ อุปกรณ์สำหรับคนพิการไม่มีหรือ ปกติแม้แต่ตาบอดก็ต้องมีอุปกรณ์ให้ทำเอง
                  แม้คนปกติ ก็มีนโยบายไม่ให้ครูผู้สอนคุมสอบ เพราะจะอดใจช่วยไม่ได้ ถ้าถาม นศ.ว่าจะเลือกข้อไหนแล้วครูกาแทนให้ก็จะอดใจช่วยเลือกข้อถูกให้ไม่ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย