วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2560

1.ไปราชการในเขตที่เช่าซื้อบ้านไว้ เบิกค่าเช่าที่พักได้ไหม, 2.พรบ.ไปราชการฯฉบับใหม่ ทุกระดับตำแหน่งใช้รถรับจ้าง-รถส่วนตัวได้, 3.ไม่เรียนวิชาเลือกบังคับ จะจบได้ไหม, 4.ค่าอาหาร นศ.เข้าค่าย ให้ทำเรื่องจ้างตามระเบียบพัสดุ, 5.การซื้อ/จ้างพิมพ์ หนังสือเรียน, 6.วิธีช่วยให้สมองดีในวันสอบ, 7.การเปลี่ยนสายงานของ ขรก.38 ค.(2)



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันอาทิตย์ที่ 26 ก.พ.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ผู้บริหารหรือครูไปราชการอำเภอที่เช่าซื้อบ้านไว้ สามารถเบิกค่าที่พักได้หรือเปล่า

             เรื่องนี้  ผมได้เรียนถามหน่วยตรวจสอบภายใน กศน.ในวันที่ 26 ก.พ.60 นี้ ได้รับคำตอบว่า
             จากการศึกษาระเบียบในเบื้องต้น ระเบียบไม่ได้ระบุห้ามประเด็นนี้ไว้โดยตรง ถ้าเช่าที่พักที่อื่นและต้องชำระค่าเช่าที่พักจริงก็เบิกค่าเช่าที่พักได้ แต่ถ้าพัก ณ บ้านที่เช่าซื้อไว้ หรือพักที่อื่นแต่ไม่ต้องจ่ายค่าเข่าที่พักจริง แล้วเบิกค่าที่พัก แม้จะเบิกแบบเหมาจ่าย ไม่ได้ระบุว่าพักที่ใด ก็มีความผิดถ้ามีการตรวจสอบพบ

         2. พระราชกฤษฎีกาค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560

             1)  แก้ไขบทนิยามคำว่า ข้าราชการโดยตัด ข้าราชการฝ่ายตุลาการ และข้าราชการฝ่ายอัยการ"  ออก ซึ่งมีผลให้พระราชกฤษฎีกาฯไม่ใช้บังคับกับข้าราชการตุลาการและอัยการ เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมและสำนักงานอัยการมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ

             2)  แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้เดินทางไปราชการทุกระดับตำแหน่ง สามารถเดินทางโดยพาหนะรับจ้างได้ โดยผู้เดินทางต้องชี้แจงเหตุผลความจำเป็น

             3)  เพิ่มเติมให้ใช้พาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการ โดยผู้เดินทางต้องใช้พาหนะส่วนตัวนั้นตลอดเส้นทาง ถ้าไม่สามารถใช้พาหนะส่วนตัวได้ตลอดเส้นทาง ให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาอนุญาต

             4)  กำหนดชั้นโดยสารเครื่องบินในการเดินทางไปราชการสำหรับ การเดินทางในประเทศ โดยให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (อธิบดีหรือเทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการ เอกอัครราชทูต รองปลัดกระทรวง)  ตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น  ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง  ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญและระดับทรงคุณวุฒิ  ตำแหน่งประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ  โดยสารเครื่องบินชั้นประหยัด

                  ส่วนการเดินทางในต่างประเทศ ให้พิจารณาจากระยะเวลาในการเดินทาง คือ
                  - ระยะเวลาการเดินทางตั้งแต่เก้าชั่วโมงขึ้นไป กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ ตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษ โดยสารเครื่องบินชั้นประหยัด
                  - ระยะเวลาการเดินทางต่ำกว่าเก้าชั่วโมง กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ได้แก่ อธิบดีหรือตำแหน่งที่เทียบเท่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ตรวจราชการ เอกอัครราชทูต รองปลัดกระทรวง หรือตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า  โดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจ  และกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง ตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษ ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ หรือตำแหน่งที่เทียบเท่า  โดยสารเครื่องบินชั้นประหยัด
                  ซึ่งกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการเดินทาง

                  นอกจากนี้ หากมีความจำเป็นต้องโดยสารเครื่องบินในชั้นที่สูงกว่าสิทธิ สามารถเดินทางได้แต่จะต้องได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวงเจ้าสังกัดก่อน ยกเว้นผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญลงมา ประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษลงมา ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น  ให้โดยสารเครื่องบินในชั้นประหยัดเท่านั้น

             5)  กรณีข้าราชการที่ปฏิบัติราชการประจำในต่างประเทศย้ายไปประจำสำนักงานซึ่งต่างสังกัด ให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการจากสังกัดใหม่ที่ไปประจำ ( เดิมไม่มีกำหนด ในเรื่องนี้ไว้ )
                  รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญ จัดให้มีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับชั้นโดยสารเครื่องบิน เช่นเดียวกับหน่วยงานภาครัฐ

         3. วันที่ 28 ก.พ.60 ครู กศน.ตำบล อ.แม่สาย ถามผมระหว่างที่นั่งประชุมใกล้กัน ว่า  นศ.ออกมาจากในระบบ เทียบโอนเข้าสู่หลักสูตร กศน. ซึ่งเทียบโอนได้มากจนสามารถเรียนเทอมเดียวจบ แต่ติดที่วิชาเลือกที่เทียบโอนได้ไม่ใช่วิชาเลือกบังคับ ถ้าต้องเรียนวิชาเลือกบังคับอีก 2 วิชา จะไม่สามารถเรียนจบในเทอมเดียว โปรแกรม ITw รุ่นใหม่ไม่ยอมให้จบ  ถามจากส่วนกลางได้รับคำแนะนำให้กลับไปใช้โปรแกรม ITw รุ่นเก่าสำหรับ นศ.รายนี้เพื่อให้จบได้ในเทอมเดียว
             ถามว่าจะต้องปฏิบัติอย่างนี้ใช่หรือไม่

             เรื่องนี้  ผมเรียนถามกลุ่มพัฒนา กศน. ได้รับคำตอบว่า เป็นไปตามที่ถาม คือ นโยบายให้ นศ. รหัส 591...... เป็นต้นไป ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ 2 วิชา แต่ถ้า เทียบโอนได้วิชาเลือกครบหน่วยกิตแล้ว ก็ไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับก็ได้ แต่ถ้ายังเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนอีกก็ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ
             กรณีที่ได้วิชาเลือกครบแล้วไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ แต่โปรแกรม ITw รุ่นใหม่ไม่ยอมให้จบ ให้แก้ไขโดยวิธีกลับไปใช้โปรแกรม ITw รุ่นเก่าก่อนรุ่น 3 ต.ค.59 เฉพาะรายนี้  ( คงไม่แก้โปรแกรม ITw รุ่นใหม่ให้เลือกได้ เพราะเป็นปัญหาส่วนน้อย และถ้าเลือกได้ บางแห่งอาจเลือกให้ นศ.ที่ต้องเรียนวิชาเลือก ให้เรียนวิชาเลือกอื่นที่ไม่ใช่วิชาเลือกบังคับ )

         4. วันที่ 13 มี.ค.60 มีผู้ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  การเบิกจ่ายเงินนักศึกษาเข้าค่ายฝึกอบรม พักค้างคืน เดิม อาหารและเครื่องดื่มจะเบิกตามระเบียบฝึกอบรม แต่ปัจจุบัน กศน.จังหวัด... ... ให้จัดจ้างเหมาทำอาหารตามระเบียบพัสดุ บอกว่าจะเบิกตามระเบียบฝึกอบรมไม่ได้เพราะเป็นงบเงินอุดหนุน
             จึงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ จึงขอให้ช่วยไขข้อข้องใจ แท้จริงแล้วควรปฏิบัติวิธีการใดถึงจะถูกต้อง

             เรื่องนี้  การเบิกจ่ายเงินอุดหนุน กศ.ขั้นพื้นฐาน ในการเข้าค่ายพัฒนา นักศึกษาไม่ใช่การฝึกอบรมประชาชน จึงใช้ระเบียบการฝึกอบรมไม่ได้
             ในการจัดอาหาร-เครื่องดื่มต้องทำเรื่องจ้างตามระเบียบพัสดุ
             ( อ.ชลลดา หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า หน่วยตรวจสอบภายในเป็นผู้ไปแนะนำเรื่องนี้ให้จัดจ้างตามระเบียบพัสดุอย่างนี้ )

         5. คืนวันที่ 15 มี.ค.60 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก เรื่องการซื้อ/จ้างพิมพ์ หนังสือเรียน  ว่า

             อย่าลืมนะ การจ้างพิมพ์หนังสือเรียน ให้ดาวน์โหลดต้นฉบับหนังสือเรียนที่ปรับปรุงใหม่แล้ว มาเป็นต้นฉบับในการจ้างพิมพ์  ( การซื้อก็ต้องซื้อหนังสือเรียนที่ปรับปรุงใหม่แล้ว )
             ในช่วงต้นปี
2560 มีการปรับปรุงถึง 18 วิชา
            
( ปรับปรุงเพิ่มเติมพระนามรัชกาลที่ 9-10, พระนามพระบรมวงศานุวงศ์, คำที่เกี่ยวข้อง, วันสำคัญเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์, พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ ปรัชญา, สมเด็จพระสังฆราช, พระพรหมคุณาภรณ์ )
             ดูหนังสือแจ้งที่
            
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/cheingeTextR10.pdf

         6. วันที่ 17 มี.ค.60 มีผู้ขอคำแนะนำผมทางไลน์กลุ่มห้องสมุดชาวตลาด ว่า  ขอคำแนะนำให้กับน้องๆที่สมัครสอบบรรณารักษ์ กศน.

             ผมไม่รู้ว่าขอคำแนะนำด้านไหน และผมก็ไม่รู้จะแนะนำอะไร จึงขอแนะนำวิธีกระตุ้นให้สมองปราดเปรื่องในการทำข้อสอบ ว่า
             เราสามารถกระตุ้นสมองเพื่อให้สติปัญญาดีขึ้น ( หรือเฉื่อยชา ) ได้ โดย
             - ถ้าได้พักผ่อนเพียงพอ สมองก็จะทำงานได้ดี และในทางตรงข้าม สมองจะเฉื่อยชา คิดอะไรไม่ค่อยออก หลง ๆ ลืม ๆ ถ้าพักผ่อนไม่เพียงพอ  ฉะนั้นคืนวันก่อนวันสอบจึงไม่ควรนอนดึกมาก หรือนอนน้อยเกินไป

             - น้ำ มีส่วนช่วยให้สมองชุ่มชื่น กระตุ้นการคิดได้ดี  ในวันสอบและก่อนเข้าห้องสอบควรดื่มน้ำให้เพียงพอเหมาะสม

             - ยา บางชนิดมีผลตรงข้ามกับน้ำ เช่น ยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้แพ้ ยากดประสาท จะทำให้สมองเบลอ คิดไม่ออก  ฉะนั้น ควรดูแลรักษาสุขภาพ จะได้ไม่ต้องใช้ยาเหล่านี้ในวันสอบ

             - ในวันสอบ ควรไปถึงสนามสอบ และหาห้องสอบ แต่เนิ่น ๆ เมื่อหาห้องสอบเจอแล้วยังเหลือเวลาเตรียมความพร้อม-นั่งพัก-เข้าห้องน้ำ ให้เรียบร้อย จะช่วยให้สมองปลอดโปร่งพร้อมที่จะคิดวิเคราะห์  แต่ถ้าไปถึงสนามสอบใกล้ถึงเวลาเข้าห้องสอบ กว่าจะหาห้องสอบพบก็ถึงเวลาเข้าห้อง จะลุกลนตื่นเต้นตกใจ ทำให้สมองสับสนไม่ปลอดโปร่ง คิดไม่ออกจำไม่ได้

         7. วันที่ 20 มี.ค.60 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก เรื่องการเปลี่ยนสายงานของ ขรก. 38 ค.(2) ว่า

             ตามที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ตำแหน่งประเภททั่วไป ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ เพื่อให้ตำแหน่งประเภททั่วไป ได้เปลี่ยนสายงานและมีความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น นั้น
             เนื่องจากขณะนี้ ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูง กว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และ ก.ค.ศ.ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวมาใช้กับ ขรก.38 ค.(2) ด้วยแล้ว
             ดังนั้น ก.ค.ศ.จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกตำแหน่งประเภททั่วไปให้เป็นประเภทวิชาการ ให้สอดคล้องกับมติ ครม. ใหม่ ดังนี้
             - คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก คือ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ที่รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาท
             - ให้บรรจุและแต่งตั้งเป็นตำแหน่งประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ โดยให้ได้รับเงินเดือนเท่าเดิม  กรณีที่เงินเดือนเดิมสูงกว่าขั้นสูงของระดับปฏิบัติการ ให้ได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.กำหนด


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย