วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2560

1.เรื่อง เรียกบรรณารักษ์คืนตำแหน่ง ยกเลิกแล้วหรือ, 2.แผนจุลภาค กับ แผนปฏิบัติการ กศน.ตำบล ใช่แผนเดียวกันไหม, 3.วิชาชีพ จ้างถ่ายเอกสารได้เท่าไร ซื้อวัสดุอุปกรณ์ช่างได้ไหม, 4.สาขาวิชาเอกใดจะสมัครสอบบรรจุในกลุ่มวิชาเอกใด, 5.การติดป้ายที่หน้าอก กรรมการคุมสอบ, 6.ผอ.บอกว่าออกใบรับรองไม่ได้, 7.นับปีทำชำนาญการจากวันที่เป็นครู คศ.1 ไม่ใช่นับจากวันที่เป็นครูผู้ช่วย



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 20 มี.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ฉันเป็นบรรณารักษ์ รับงานประกัน กับงานบุคลากรมาสามปีแล้ว และงานแผนงานเพิ่งทำได้ 1 ภาคเรียน งานห้องสมุดแทบไม่ได้ทำเลย แต่ผู้บริหารอำเภอและรอง ผอ.จังหวัด ออกคำสั่งให้รับงานการเงินอีก ฉันทำไม่ไหว ไม่ถนัดงานการเงินเลย จะปฏิเสธอย่างไรดี เจ้านายไม่รับฟังเหตุผลเลย บอกว่าเป็นข้าราชการต้องรับงานให้มากกว่าพนักงานราชการ
             ไม่ทราบว่าคำสั่งเรื่องเรียกบรรณารักษ์คืนตำแหน่ง ของท่านอภิชาติ จีระวุฒิ เมื่อปี 2554 ยกเลิกแล้วหรือ

             ผมตอบในตอนเย็นวันเดียวกัน ว่า  หนังสือที่ว่าเรียกบรรณารักษ์คืนตำแหน่ง ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ ) ยังไม่ยกเลิก แต่หนังสือฉบับนี้หมายถึง ห้ามสั่งให้บรรณารักษ์และเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ไปช่วยปฏิบัติงานในหน้าที่ต่าง ๆ ที่ กศน.จังหวัด หรือ กศน.อำเภอ ( นอกห้องสมุด )
             แต่ ถ้า ให้ช่วยปฏิบัติงานในหน้าที่ต่าง ๆ โดยปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องสมุด ก็จะผิดนโยบาย/ข้อสังการนี้ ครึ่งหนึ่ง ...
             ซึ่ง กศน.จังหวัด/อำเภอ ก็ไม่ควรสั่งอย่างนี้ โดยเฉพาะถ้ามีบรรณารักษ์และหรือ จนท.ห้องสมุดฯคนเดียว แม้บุคลากร กศน.อำเภอไม่พอก็ไม่น่าจะให้บรรณารักษ์ดูแลงานอื่นมากนัก
             ( ผมตอบอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ เพราะนโยบายให้ครูออกไปอยู่ กศน.ตำบลหมด แล้วงานต่าง ๆ เหล่านี้ใครจะทำไหว )





         2. เช้าวันที่ 21 มี.ค.60 koikunyarat  ถามผมทางไลน์ ว่า  แผนจุลภาค กับ แผนปฏิบัติการ กศน.ตำบล ใช่แผนเดียวกันไหม

             ผมตอบว่า   ให้จัดทำแผนปฏิบัติการ กศน.ตำบล เป็นแผนประเภท แผนจุลภาค
             คำว่า แผนปฏิบัติการ กศน.ตำบลเป็นชื่อแผน  ส่วนคำว่า แผนจุลภาคเป็นประเภทหรือลักษณะของแผนประเภทหนึ่ง
             แผนจุลภาค (Micro Planning) คือ แผนปฏิบัติการประจำปี ที่ ใช้ข้อมูลสารสนเทศในระดับตำบล/หมู่บ้าน ที่จำเป็น ครบถ้วนทันสมัย ข้อมูลเป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้ โดยใช้ข้อมูลทั้งทางด้านกายภาพ ข้อมูลประชากร ข้อมูลด้านสังคม อาชีพ การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ  มากำหนดแผน


         3. เย็นวันอาทิตย์ที่ 19 มี.ค.60 กศน.ตำบลน้ำขุม ศรีนครซีสตี้ ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  วิชาชีพช่างซ่อมรถจักรยานยนต์พื้นฐาน สามารถจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ช่างได้หรือไม่ จ้างถ่ายเอกสารเกี่ยวกับวิชาชีพช่าง ได้ไม่เกินเท่าไหร่

             ผมตอบว่า   กศ.ต่อเนื่อง รูปแบบชั้นเรียนวิชาชีพ ทั้งค่าถ่ายเอกสาร/ค่าสื่อหนังสือเรียน วัสดุอุปกรณ์ช่าง ก็รวมเป็นวัสดุฝึกทั้งหมด ซึ่งจ่ายค่าวัสดุฝึกได้ตามเกณฑ์ปกติ คือ
             หลักสูตร 31-50 ชม. จ่ายค่าวัสดุฝึกได้ไม่เกิน 3,000 บาท, หลักสูตร 51-70 ชม. ไม่เกิน 4,000 บาท, 71 ชม.ขึ้นไป ไม่เกิน 5,000 บาท
             ดูรายละเอียดได้ที่  https://db.tt/zDLTGTrC
             แต่ วัสดุฝึกนี้ จะเป็น "ครุภัณฑ์" ไม่ได้ ( งบดำเนินงาน งบอุดหนุนรายหัว ซื้อครุภัณฑ์ไม่ได้ )


         4. มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค เรื่องเดียวกัน 2 คน คือ
             1)  คืนวันที่ 23 มี.ค.60 หญิง จันทร์ธณา ถามว่า ลูกจบวิศวะ เอกวัสดุศาสตร์ จะสอบครู ถ้าเรานับหน่วยกิตที่เรียนคณิตศาสตร์แล้วสามารถสอบได้ไหม
             2)  เช้าวันที่ 24 มี.ค.60 Saowalak Poonperm ถามว่า หนูจบนิติศาสตร์ ปกติถ้าจะสอบครู เทียบได้กับครูสังคม แต่ประกาศรับสมัครสอบของ คศจ. ไม่มีบอกว่าจบนิติศาสตร์เลย มีแต่รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ .... หนูมีทางอื่นไหม หนูรู้คร่าวๆว่ามีการนับหน่วยกิตได้ แต่ไม่รู้จะนับหน่วยกิตยังไง

             ผมตอบว่า   ดูในใบทรานสคริปต์ ถ้านับรายวิชานั้น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์ ที่เรียน ได้ครบ 30 หน่วยกิต ก็สมัครสอบเอกนั้น ๆ ได้  ( เอาใบทรานสคริปไปให้หน่วยรับสมัครเขานับ เท่าที่ทราบ วิศวะจะเรียนคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มาไม่ครบ 30 หน่วยกิต อาจสมัครสอบได้ในเอกอุตสาหกรรมศิลป์ )
             มีลิ้งค์สำหรับตรวจสอบว่าสาขาวิชาเอกใดจะสมัครสอบบรรจุในสาขาวิชาเอกหรือกลุ่มวิชาเอกใดได้ อยู่ในข้อ 4 ที่ http://nfeph.blogspot.com/2015/08/pa_29.html  ( ตอนท้ายของไฟล์นี้มีหนังสือแจ้งเรื่องการนับหน่วยกิตด้วย )
             แต่ข้อมูลในลิ้งค์นี้ก็ยังไม่ค่อยครบถ้วน ต้องดูในบัญชีแนบท้ายประกาศรับสมัครของแต่ละจังหวัดด้วย

         5. คืนวันที่ 24 มี.ค.60 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอความรู้ ไม่แน่ใจว่าในการจัดสอบ ของ กศน. มีส่วนไหนระบุเรื่องป้ายติดอกให้กรรมการคุมห้องสอบ กรรมการกลาง หรือไม่ เพราะอยู่ส่วนของ จ. ออกนิเทศสนามสอบ ปรากฏว่าทักกรรมการคุมสอบเป็นนักศึกษา เขิลเลย อีกอย่าง สมัยเคยไปหาสอบบรรจุเป็นข้าราชการ เห็นเขามีบัตรติดหน้าอก รบกวนขอความรู้และประสบการณ์

             ผมตอบว่า   การจัดสอบปลายภาค ไม่มีกำหนด ติดก็ได้ ไม่ติดก็ได้


         6. เช้าวันเสาร์ที่ 25 มี.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  การออกใบรับรองให้นักศึกษา เขาเรียนภาคเรียนสุดท้าย ขณะนี้รอผลคะแนนสอบปลายภาค เขาจะไปสมัครไม่ทันเวลา เขาขอใบรับรองว่า "กำลังศึกษาอยู่ภาคเรียนสุดท้าย" เพื่อจะไปสมัครสอบ เราออกใบรับรองให้เขาได้ไหม ผอ.บอกว่าออกให้ไม่ได้ใช่ไหม

             ผมตอบว่า   ออกใบรับรองได้ในเรื่องที่เป็นความจริงและอยู่ในอำนาจหน้าที่โดยตรงของหน่วยงาน/สถานศึกษา เช่น ถ้าเขากำลังศึกษาอยู่ภาคเรียนสุดท้าย แล้วเขาให้รับรองว่ากำลังศึกษาอยู่ภาคเรียนสุดท้าย ก็รับรองได้
             โดยถ้าในโปรแกรม ITw ไม่มีแบบหนังสือรับรองที่ตรงตามความต้องการ ก็พิมพ์หนังสือรับรองขึ้นมาเองได้


         7. คืนวันเสาร์ที่ 25 มี.ค.60 ผมตอบคำถามที่มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  หนูบรรจุครูผู้ช่วย 12 ก.ย.54 สามารถส่งชำนาญการได้หรือยัง จบ ป.โทแล้ว สำนักงาน กศน.ปรับคุณวุฒิ ป.โทให้ปี 58 แล้ว

             ผมตอบว่า   ไม่ได้นับตั้งแต่วันบรรจุเป็นครูผู้ช่วย แต่นับตั้งแต่วันที่เป็น ครู คศ.1 ให้ครบ 4 ปี ( ป.โท ) ก็ส่งชำนาญการได้
             ( ดูที่เคยตอบในข้อ 3.1.1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/476995 )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย