วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

1.การทำวิทยฐานะ, 2.ต้องสอนวิชาชีพเดียวกันทุกตำบลในอำเภอหรือ? (1 อำเภอ 1 อาชีพ ), 3.ครูที่ไม่ใช่หัวหน้า กศน.ตำบล ลงนามในบันทึกข้อความได้ไหม, 4.แก้ไข การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สพฐ., 5.ทำไม DMIS ไม่ให้ลงสอนเกินวันละ 3 ชั่วโมง, 6.การเงินจังหวัดให้ยืมเงินสอบปลายภาค แยกวิชาบังคับกับวิชาเลือก, 7.นศ.ไม่สามารถมาประเมินการรู้หนังสือ มีผลต่อการจบไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 20 ก.พ.60 ผมถาม ก.ค.ศ. เรื่องการทำวิทยฐานะ ได้คำตอบดังนี้

             - ถ้าจะยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะในตอนนี้ ให้ยื่นแบบดั้งเดิมเท่านั้น ( แบบทำผลงานวิชาการ ) ตาม ว 17 ลว.30 ก.ย.52 ( ทั่วไป ) หรือ ว 10 ลว.29 ก.ค.54 ( ชายแดนใต้ )
             - แบบ ว 13 ลว.1 ส.ค.56 ( ประเมินผลงานเชิงประจักษ์ สำหรับผู้ได้รับรางวัลระดับชาติ ) นั้น ผู้ที่ยังไม่ได้ยื่น ยื่นไม่ได้แล้ว ยกเลิกแล้ว
             - แบบ ว 7 ลว.11 พ.ค.58 ( P.A. : Performance Agreement ประเมินตามข้อตกลงในการพัฒนางาน ) ยังไม่เคยนำมาใช้ปฏิบัติ และจะไม่นำมาใช้ ( เลิกแล้ว )
             - ขณะนี้กำลังจัดทำแบบใหม่ คาดว่าจะประกาศใช้ในเดือน ก.ค.60 ( ถ้าไม่เปลี่ยน รมว.ใหม่อีกเสียก่อน )  แบบใหม่นี้ ระดับชำนาญการพิเศษคงจะไม่ต้องทำผลงานทางวิชาการ ทำเฉพาะระดับเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ

         2. วันที่ 21 ก.พ.60 ไออุ่น สุดน่ารัก ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  โครงการ หนึ่งอำเภอ หนึ่งอาชีพ ตามที่ได้รับจัดสรรมานั้น มีผู้ให้ข้อมูลมาว่า ในอำเภอ ไม่ว่าจะกี่ตำบลก็ตาม ทุกตำบลจะต้องจัดกิจกรรมอาชีพเดียวกันทั้งหมด หากจะทอผ้า ทุกตำบลจะต้องทอผ้า
             ขอความความกระจ่างด้วย

             ผมตอบว่า   งบฯ 1 อำเภอ 1 อาชีพ เป็นงบฯที่แยกต่างห่างจากงบฯที่จัดสรรให้ระดับตำบล แต่เป็นงบฯที่ให้ กศน.อำเภอเป็นผู้ดำเนินงานในระดับอำเภอ จัดสรรให้อำเภอละ 30,000 บาท/ครึ่งปี
             งบฯ 30,000 บาทนี้อำเภอก็ใช้จัด 1 อาชีพ ไม่เกี่ยวกับงบอื่น

         3. วันเดียวกัน ( 21 ก.พ.) Boykung Biw ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  ตำแหน่ง ครู กศน.ตำบล ที่ไม่ใช่หัวหน้า กศน.ตำบล. สามารถลงนามในบันทึกข้อความได้หรือป่าว เช่น เบิกวัสดุ โครงการต่างๆ ส่งสรุปผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ที่เราจัดขึ้น  ( ฉันจัดโครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนเพื่อการมีงานทำ ดำเนินการและทำสรุปผลการดำเนินงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำบันทึกข้อความนำส่งเพื่อที่จะส่งสรุปผลให้ กศน. อำเภอ )  ฉันสามารถที่จะลงนามในบันทึกข้อความได้หรือไม่ หรือต้องให้หัวหน้า กศน.ตำบลมีสิทธิ์ลงนามเท่านั้น

             ผมตอบว่า   โดยปกติในการปฏิบัติงานนั้น บันทึกข้อความระหว่าง กศน.ตำบลกับ กศน.อำเภอ ไม่ใช่หนังสือภายนอก บุคลากรทุกคนลงนามในบันทึกข้อความได้
             แต่ก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในการบริหารจัดการของ ผอ.กศน.อำเภอ แต่ละราย ว่า ถ้าเป็นงานประจำตามสายงานปกติ จะให้บุคลากรแต่ละรายบันทึกเสนอโดยตรง หรือจะให้เสนอผ่านการลงความเห็น/ลงนามผ่านเรื่องของ หัวหน้า กศน.ตำบล / หัวหน้ากลุ่มงาน/ฝ่าย อย่างไรหรือไม่ หรือจะให้หัวหน้า กศน.ตำบลเป็นผู้บันทึกเสนอตั้งต้น ก็ได้
             กรณีที่ถามนี้ ถือเป็นงานประจำตามสายงานปกติ ลงนามได้ แต่ควรให้หัวหน้า กศน.ตำบล ลงนาม(และความเห็น ถ้ามี)ต่อท้ายที่เราลงนาม หรือด้านริมซ้ายของบันทึก ด้วย  ( หรือ ผอ.กศน.อำเภอ จะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้ )

         4. คืนวันที่ 22 ก.พ.60 ผมเผยแพร่ในเฟซบุ๊ก เรื่องแก้ไขการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก สพฐ. ว่า

             ให้ กศน.อำเภอ สำรวจข้อมูลและประสานงาน เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อนำโรงเรียนขนาดเล็กที่เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เข้าสู่กระบวนการส่งคืนกรมธนารักษ์ เสร็จแล้ว กศน.ขอใช้ที่ราชพัสดุเพื่อประโยชน์ในราชการสำนักงาน กศน. กับกรมธนารักษ์
             - ถ้า เขตพื้นที่ฯส่งคืนโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่กรมธนารักษ์ และ กศน.ขอใช้ที่ราชพัสดุเพื่อประโยชน์ในราชการสำนักงาน กศน. กับ กรมธนารักษ์ เรียบร้อยแล้ว
                ให้ กศน.อำเภอดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตชุมชน และรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ

             - ถ้า เขตพื้นที่ฯไม่มีแผนที่จะส่งคืนโรงเรียนขนาดเล็กให้แก่กรมธนารักษ์ และ/หรือ เขตพื้นที่ฯมีแผนที่จะยังใช้ประโยชน์โรงเรียนขนาดเล็กที่เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
                ให้ กศน.อำเภอ ทำหนังสือชี้แจงส่งผ่านจังหวัดไปยังสำนักงาน กศน.
                และไม่ต้องดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิตชุมชน รวมทั้งไม่ต้องรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ
             ดูรายละเอียดในหนังสือแจ้ง ที่
            
https://www.dropbox.com/s/1nelthku6t1khm1/smallschooledit.zip?dl=1

         5. วันที่ 24 ก.พ.60 มี ผอ.กศน.อำเภอ โทร.มาถามผม ว่า  ทำไมระบบ DMIS ไม่สามารถบันทึกว่าสอนมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง

             ผมตอบว่า   ถ้า จัดในรูปแบบ กลุ่มสนใจมีข้อสั่งการ-นโยบาย ปี 60  ( ดาวน์โหลดได้ที่  https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/briefPolicy60.pdf )  กำหนดว่า
             กลุ่มสนใจวันละไม่เกิน 3 ชั่วโมง

         6. เช้าวันเสาร์ที่ 25 ก.พ.60 Nana Veo ถามในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊คผม ว่า  เรื่องวัดผลประเมินผลปลายภาคเรียน
             1)  ควรทำโครงการและยืมเงินแยกวิชาบังคับและวิชาเลือกหรือไม่ เพราะเคยทำรวมทั้งโครงการและยืมเงินทีเดียวทั้งสอบวิชาบังคับและวิชาเลือก แต่การเงินจังหวัดบอกว่าควรทำแยกบังคับกับเลือก
             2)  ค่าตอบแทนคนงาน/นักการภารโรง สอบปลายภาค ให้เท่าไหร่  ดูระเบียบที่ อ.เคยโพสต์ไว้แล้ว ไม่ได้ระบุจำนวนเงินว่าให้เท่าไหร่
             ขอความกระจ่างเพื่อจะได้ทำให้ถูกต้อง

             ผมตอบว่า
             1)  หลักการยืมเงินคือ การจ่ายเงินต้องจ่ายหลังทำงานเสร็จ จะจ่ายก่อนสอบไม่ได้ และจะยืมเงินมาเก็บไว้ก่อนถึงเวลาจ่ายนานไม่ได้

                  ฉะนั้น ถ้าการสอบวิชาบังคับและวิชาเลือก แยกห่างกันมาก ถ้ายืมเงินมาพร้อมกันจะต้องเก็บเงินไว้หลายวันกว่าจะจ่ายเงินหมดทั้งสองอย่าง จึงต้องแยกการยิมเงิน  ถ้าห่างกันไม่มาก ให้อยู่ในดุลยพินิจของ ผอ.จังหวัดว่าควรให้แยกยืมหรือไม่ แต่ถ้าสอบพร้อมกันควรยืมรวมกัน

             2)  ตามระเบียบระบุว่า ค่าตอบแทนกรรมการ เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบ อัตราต่อคน ไม่เกิน 300 บาทต่อครึ่งวัน, ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน
                  ( ดูระเบียบได้ในข้อ 1 ที่  https://www.gotoknow.org/posts/481090 )
                  นั่นคือ ไม่ว่าจะเป็นนักการภารโรงหรือ ผอ. ถ้าเป็น กรรมการ เจ้าหน้าที่จำนวนคนตามระเบียบ ก็เบิกจ่ายเท่ากันได้  ( ตอนนี้ค่าเบี้ยเลี้ยง ก็ยังเท่ากันตั้งแต่ระดับ 1 ถึง 8 เพราะแต่ละคนก็ต้องทานอาหารให้อิ่มพอ ๆ กัน ไม่ว่าจะระดับตำแหน่งอะไร )
                  การอ่านระเบียบ หรือจะทำอะไรก็ตาม ต้องใช้การ คิดวิเคราะห์ซึ่ง ความรู้พื้นฐานจะช่วยให้คิดวิเคราะห์ได้ดี

         7. วันอาทิตย์ที่ 26 ก.พ.60 Watcharayut Man ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ค ว่า  นักศึกษาที่จะต้องเข้าทดสอบการประเมินการรู้หนังสือ ถ้าไม่สามารถมาทดสอบได้ จะมีผลต่อการจบของนักศึกษาหรือเปล่า เป็นเกณฑ์การจบเพิ่มมาอีกข้อใช่มั้ย

             เรื่องนี้  กลุ่มพัฒนา กศน. บอกว่า ไม่ใช่เกณฑ์การจบ ไม่มีผลต่อการจบของ นศ. แต่นโยบายให้ประเมินทุกคน และรายงานระดับการรู้หนังสือแต่ละราย
             ( ถ้ารายใดมีเหตุผลแจ้งได้ว่า มีเหตุจำเป็นอะไรตลอดเวลา 2 เดือนเต็ม แล้วยังมีสิทธิสอบปลายภาค ก็จบได้ )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย