วันเสาร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2560

1.สงสัยเรื่องงบการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน, 2.ให้เรียนวิชาเลือกบังคับทั้งสี่วิชาได้ไหม เพื่อลดภาระ, 3.ขอคู่มือเทียบระดับ, 4.การทำวิทยฐานะ ผอ.อำเภอ, 5.เกินห้าปี เทียบโอนได้ไหม, 6.วิชาที่เรียนเกิน 5 ปีก่อนวันลาออก แต่ปรากฏในใบ รบ. จะหมดอายุไหม, 7.ใช้งบ “1 อำเภอ 1 อาชีพ” สอนวิชาช่างพื้นฐานได้ไหม



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. เย็นวันที่ 22 พ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เรื่องกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของ นศ.กศน. ใน 1 เทอม แต่ละคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างน้อย 1 ครั้ง ตามที่จัดสรรงบฯให้เทอมละ 2 รอบ ๆ ละ 1 ไตรมาส หรือเปล่า หรืออย่างไร

             ผมตอบว่า
             - ใน 1 เทอม นศ.แต่ละคนต้องได้รับการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างน้อย 1 ครั้ง
             - โดยปกติจะจัดสรรงบประมาณให้เทอมละ 1 รอบ แต่ที่ปีหลัง ๆ จัดสรรงบประมาณให้เทอมละ 2 ครั้ง ( ไม่ใช่ครั้งละ 1 ไตรมาส ) เพราะ การจัดสรรครั้งแรกยังไม่รู้จำนวน นศ.ของเทอมนั้นที่ชัดเจน จึงใช้จำนวน นศ.ของเทอมก่อนมาเป็นฐานในการจัดสรร 50 % ก่อน และเมื่อรู้จำนวน นศ.ที่ชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนแล้ว จะมีการจัดสรรครั้งที่สองเพื่อปรับให้จำนวนเงินเต็มตามจำนวน นศ.ของเทอมนั้น

         2. วันที่ 25 พ.ค.60 มี ศน.จาก สนง.กศน.จังหวัด ถามผมทางไลน์ ว่า  วิชาเลือกบังคับ 4 วิชา ถ้าให้ นศ.ลงทั้ง 4 วิชา โปรแกรมไอทีจะยอมให้จบรึเปล่า เพราะทั้ง 4 วิชาน่าสนใจ และช่วยลดภาระสถานศึกษาได้อีกด้วย

             ผมตอบว่า   โปรแกรมยอมให้จบ แต่

             - ดูตารางสอบ วิชาเลือกบังคับจะสอบปลายภาคในเวลาเดียวกันครั้งละ 2 วิชานะ
             - อาจจะขัดหลักการของแผนการเรียนรู้รายบุคคลบ้าง คือทุกแผนต้องลดหน่วยกิตลง โดยวิชาเลือกบังคับที่เกิน 2 วิชาจะไปอยู่ในทุกแผนซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับแต่ละแผน

             ศน.ผู้ถาม บอกว่า ให้ลงเรียนวิชาเลือกบังคับเทอมละ 1 วิชา จะไม่ชนเวลาสอบ แต่ที่กลัวคือไอทีจะไม่ยอมให้จบ เพราะเห็นระบุว่าให้เลือก 2 ใน 4 วิชา
             ผมตอบว่า  โปรแกรมยอมให้จบแน่
             ( แม้จะไม่เป็นไปตามอุดมคติของแผนการเรียนรู้
รายบุคคลเพราะเป็นการเพิ่มวิชาบังคับ ลดวิชาเลือกที่สอดคล้องกับสภาพของแต่ละคน แต่ถ้าทุกแผนลดหน่วยกิตลง ลดวิชาเลือกเสรี ก็ช่วยลดภาระสถานศึกษาได้จริง วิชาเลือกบังคับมีหลักสูตร/หนังสือเรียน/ข้อสอบปลายภาคให้อยู่แล้ว 
             เรื่องนี้ทั้งคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. และคุณสุขุม ผู้พัฒนาโปรแกรม
ITw บอกว่า เรียนวิชาเลือกบังคับทั้ง 4 วิชาได้ โดยจะเรียนเกินหรือจะไปลดวิชาเลือกเสรีในแต่ละแผนก็ได้

             คุณสุขุมบอกแถมว่า กำลังปรับโปรแกรมฯออกเวอร์ชั่นใหม่ ปรับสำหรับผู้ที่เทียบโอนแล้วเหลือวิชาเลือกที่ต้องเรียนไม่เกิน 4 หน่วยกิตในระดับประถม ไม่เกิน 6 หน่วยกิตในระดับ ม.ต้น-ปลาย ก็จบได้โดยไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ และปรับโครงสร้างการเรียนระดับประถมของเด็กในวัยเรียนให้เป็น 6 ชั้น ๆ ละ 2 ภาคเรียน )

         3. วันที่ 24 พ.ค.60 มี ขรก.ครู กศน.อำเภอ ในอยุธยา โทร.มาถามผมเรื่องเทียบระดับฯ ผมตอบดังนี้

             1)  มีผู้เทียบระดับการศึกษาฯสูงสุดฯ ( ม.6 ใน 8 เดือน ) สอบผ่านภาคทฤษฎีทั้ง 9 วิชา แต่ยังไม่ประเมินภาคประสบการณ์ ผ่านไป 2-3 ปีแล้ว จะมาลงทะเบียนใหม่เพื่อประเมินภาคประสบการณ์ จะต้องเก็บค่าธรรมเนียมในปีที่เว้นไปด้วยหรือไม่
                  ผมตอบว่า  ถ้าสอบผ่านแต่ภาคทฤษี ไม่ผ่านภาคประสบการณ์ในรอบการประเมินนั้น จะสะสมผลการประเมินภาคทฤษฎีไว้ไม่ได้ ต้องลงทะเบียนสอบใหม่หมด

             2)  ผู้ถามเปลี่ยนคำถามใหม่ เป็นว่า ถ้ามีผู้เทียบระดับการศึกษาฯ ผ่านทั้งภาคทฤษฎีและภาคประสบการณ์ ในบางวิชาไป 2-3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ครบ 9 วิชา  จะมาลงทะเบียนใหม่เพื่อประเมินวิชาที่เหลือ จะต้องเก็บค่าธรรมเนียมในปีที่เว้นไปด้วยหรือไม่
                  ผมตอบว่า  รอบการประเมินที่เว้นไป ไม่ได้ลงทะเบียน ก็ไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียม รอบไหนมาลงทะเบียนก็เก็บค่าธรรมเนียมเฉพาะรอบนั้น  ( รวมแล้วต้องประเมินให้จบผ่านหมดภายใน 5 ปีนะ รวมช่วงที่เว้นด้วยเกิน 5 ปีไม่ได้ และห้ามรับขึ้นทะเบียนเทียบระดับฯสูงสุดฯรายใหม่แล้ว )

             3)  ผู้เข้าประเมินจะเปลี่ยนไปเทียบระดับแบบเดิม ( ไต่ระดับ ) ซึ่งผู้ถามไม่เคยจัด  ขอให้นำไฟล์คู่มือการเทียบระดับแบบเดิม มาลงในกลุ่มไลน์หรือในเฟซบุ๊กให้ด้วย
                  ผมตอบว่า
                  - ดาวน์โหลดคู่มือการดำเนินงานเทียบระดับฯแบบเดิม ( ไต่ระดับ ) ฉบับปรับปรุง ปี 2559 ได้ที่
                    
https://dl.dropboxusercontent.com/u/109014048/PDF/manualTeab59.pdf
                  - ดาวน์โหลดเอกสารงานเทียบระดับอื่น ๆ เช่น คู่มือกรรมการฯ คู่มือผู้เข้าประเมินฯ ได้ที่
                    
http://203.172.142.102/pattana/compare.html

         4. วันที่ 26 พ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอคำแนะนำแนวทางในการทำวิทยฐานะชำนาญการพิเศษผู้บริหาร(ผอ.อำเภอ)

             ผมตอบว่า   การทำวิทยฐานะของผู้บริหารสถานศึกษา ให้ทำตามแบบดั่งเดิม คือแบบทำผลงานวิชาการ ตาม ว 17 ปี 52 ( ชายแดนใต้จะเป็น ว 10 ปี 54 )
             ที่มีข่าวว่า ออกหลักเกณฑ์ใหม่ในวันที่ 5 ก.ค.60 นั้น เฉพาะสายผู้สอนเท่านั้น
             ตอนนี้ผู้บริหารสถานศึกษายื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยาฐานะได้ตามแบบ ว 17 เท่านั้น ส่วน ว 13 ปี 56 ( แบบได้รับรางวัลระดับชาติ-เชิงประจักษ์ ) เลิกให้ยื่นรายใหม่แล้ว และ ว 17 ปี 58 ( แบบ P.A. ประเมินตามข้อตกลงการพัฒนางาน ) ก็ล้มเลิกไปแล้ว

         5. เย็นวันเสาร์ที่ 27 พ.ค.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันเอาใบ รบ. ( ใบ ปพ.1 หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานปี 2551 ) มาขอเทียบโอน แต่ทาง กศน.อ. ... ... บอกว่าเทียบโอนให้ไม่ได้ เพราะใบ รบ.ผลการเรียนหมดอายุ เกินห้าปีแล้ว ให้เรียน ม.ปลายใหม่เลย ซึ่งฉันเพิ่งลาออกเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แล้วมาสมัครเดือนเมษายน ฉันอยากทราบว่า ใบ รบ.มีหมดอายุด้วยหรือ เพราะในใบ รบ.ที่ส่งให้เขาตอนขอเทียบ ข้างหลังระบุว่าเพื่อศึกษาต่อสถาบันอื่น ฉันขอดูระเบียบและหลักเกณฑ์การนับเวลาใบ รบ. เขาก็บอกไม่ว่างไม่มีเวลาจะมาเปิดให้ดู เขาเคยทำกันแบบนี้มาตลอด ฉันควรทำอย่างไรดี ทางทะเบียน รร.เดิม ก็บอกว่าผลการเรียนไม่มีวันหมดอายุ ใบ รบ.ที่ส่งให้เขาก็ฉบับจริงด้วย

             ผมตอบว่า   ถ้าออกใบระเบียนแล้ว ผลการเรียน กศ.ขั้นพื้นฐานจะไม่กำหนดอายุ ถ้ามีวันหมดอายุ คนที่เรียนจบ ม.ต้น แล้วไม่เรียนต่อ ม.ปลาย ภายใน 5 ปี ก็ต้องเรียน ม.ต้นใหม่อย่างนั้นหรือ
             ( แม้แต่จบ ป.4 มา 30 ปีแล้ว ยังให้เทียบโอนได้ 24 หน่วยกิตเลย )
             ผมเคยโพสต์เรื่องนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ครั้งแล้ว เช่น ใน
             - ข้อ 3 (2) ที่ http://nfeph.blogspot.com/2014/05/26.html
             - ข้อ 9 ที่ https://www.gotoknow.org/posts/506950
              
( ตามหนังสือ แนวทางการเทียบโอนผลการเรียนหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551” หน้า 5 ข้อ 5 กำหนดว่า การเทียบโอนจาก กศ.ขั้นพื้นฐาน ไม่กำหนดอายุของผลการเรียนที่นำมาเทียบโอน ถ้าเป็นการเทียบโอนจากการศึกษาต่อเนื่อง จึงให้สถานศึกษาพิจารณาว่าจะกำหนดอายุของผลการเรียนรู้ที่นำมาเทียบโอนไม่ให้เกินกี่ปีหรือไม่ )

         6. เช้าวันที่ 29 พ.ค.60 ผมถามคุณกิตติพงษ์ กลุ่มพัฒนา กศน. ว่า  มี นร.ลาออกจากในระบบ มาสมัครเรียน ม.ปลายที่ กศน. เขาเรียน ม.4-ม.6 ระหว่างปีการศึกษา 2553-2555 เรียนจนสอบปลายภาค 2 ของ ม.6 แล้ว แต่บางวิชาไม่ผ่าน และไม่แก้ จึงไม่จบ นร.คนนี้เพิ่งไปลาออกเมื่อ มี.ค.60 วันที่ลาออกนี้วิชาที่เรียนตอน ม.4-5 เมื่อปี กศ.53-54 จะเกิน 5 ปีแล้ว แต่ก็ยังปรากฏในใบ รบ.ที่ลาออก ( รร.ในระบบเขาคงไม่ได้กำหนดให้มีการหมดอายุวิชาเหมือน กศน. )
             ถามว่า  วิชาที่ปรากฏในใบ รบ. แต่เกิน 5 ปีก่อนวันลาออก จะเทียบโอนเข้าหลักสูตร กศน.ได้ไหม

             คุณกิตติพงษ์ตอบว่า  ถ้าปริ้นท์ระเบียบ ปพ.1 ออกมาได้ ก็ใช้ได้ตลอดไม่หมดอายุ ตามแนวทางเล่มเขียว
             ส่วนของ กศน. ถ้า 5 ปีแล้วยังไม่จบ รายวิชาที่เกิน 5 ปีจะปริ้นท์ออกมาไม่ได้ ต้องรีบลาออกและปริ้นท์ระเบียบออกมา ไม่งั้นวิชาจะหมดอายุไปเรื่อย ๆ เหมือนงูกินหาง   กศน.กำหนด 5 ปี เพราะมีบางคนหายไปไม่จบซักที เป็นภาระทะเบียนเมื่อผ่านไปหลายปีกลายเป็นมี นศ.จำนวนมากมาย  ส่วนในระบบเขาหลักสูตร 3 ปี  ประถม 6 ปี  แต่ละรุ่นเรียนไปพร้อมกัน ไม่มีปัญหาเรื่องการดรอปเรียน/หายไปเหมือน กศน. เขาเลยไม่กำหนดอายุรายวิชาไว้
             ( เมื่อไม่กำหนดอายุ ก็ไม่มีวันหมดอายุ สรุปว่า ผลการเรียนที่ปรากฏในใบระเบียนแสดงผลการเรียน กศ.ขั้นพื้นฐาน จะไม่มีวันหมดอายุ แม้จะเรียนเกิน 5 ปีก่อนวันลาออกหรือกรณีใด ๆ ก็ตาม )

         7. วันที่ 2 มิ.ย.60 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  สอบถามระเบียบเกี่ยวกับ โครงการ 1 อำเภอ 1 อาชีพ เราสามารถสอนเป็นวิชาชีพได้หรือไม่ เช่น ช่างไฟฟ้าภายในอาคาร เพราะอาชีพนี้เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

             ผมตอบว่า   งบฯ 1 อำเภอ 1 อาชีพจะจัดสอนอาชีพใดก็ได้ เพียงแต่เขาแยกงบนี้ออกมาเป็นส่วนของระดับอำเภอ ไม่ได้จัดสรรเป็นรายตำบล  ปกติไม่ให้จัดในรูปแบบอบรม แต่ให้จัดในรูปแบบกลุ่มสนใจหรือชั้นเรียน ให้จัดสอน/พัฒนาอาชีพที่เหมาะกับสภาพอำเภอนั้น 1 อาชีพ ซ้ำกับอำเภออื่นก็ได้  ถ้าจะจัดสอนเป็นวิชาอาชีพช่างพื้นฐานก็ได้ ปัจจุบันช่างรับบริการซ่อมบำรุงตามบ้านก็ยังมีไม่มากและมีรายได้ดีเพราะคนที่ซ่อมบำรุงภายในบ้านตัวเองไม่เป็นต้องหาจ้างช่างมีมากขึ้น แต่การสอนอาชีพช่างคงต้องจัดในรูปแบบชั้นเรียนจึงจะเหมาะสมกับเนื้อหาวิชาอาชีพช่างพื้นฐาน ( ช่างภายในบ้าน )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย