วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2561

1.หลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน กศน. ยึดติดในระบบมากแค่ไหน ทำไม ?, 2.”กระบวนการ กศน.” ถ้าได้ตามภาพนี้ก็วิเศษ, 3.จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในวันพบกลุ่ม เบิกได้หรือไม่, 4.การลงตำแหน่ง ผอ.ในใบ รบ. ใช้คำย่อได้ไหม, 5.ต้องทำ กพช.คุณธรรม 50 ชั่วโมง ไหม ( การเข้ากลุ่มไลน์สแควร์ กศน.), 6.อบรมประชาชน พาไปศึกษาดูงานที่ กศน.อำเภออื่นโดยเขาให้ครู กศน.เป็นวิทยากร จะจ่ายค่าตอบแทนวิทยากรได้ไหม, 7.มีแผนการจัดการเรียนรู้วิชาบังคับไหมคับ


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้



         1. วันที่ 19 พ.ย.61 มี ผอ.กศน.อำเภอ ซึ่งเป็นผู้ร่วมออกข้อสอบปลายภาค กศน.คนหนึ่ง โพสต์ในเฟซบุ๊ก ว่า  เทอมที่ผ่านมาบางวิชานักศึกษาได้คะแนนเฉลี่ย ต่ำกว่าครึ่ง คณะทำงานสร้างข้อสอบเลยคุยกันว่า
             “จะแก้ที่จุดไหน ?”
             ผอ.ผู้โพสต์ แสดงความคิดเห็นพร้อมตั้งคำถามต่อไปเองว่า “คนออกข้อสอบ ก็กางหนังสือแบบเรียน(ของ กองพัฒฯ) ออกข้อสอบนี่แหละ แทบจะลอกข้อความตามหนังสือมาเลยทีเดียว
             ปัญหาอยู่ที่ ???
             ก.คนออกข้อสอบ ยาก
             ข.นักศึกษาไม่เคยอ่านหนังสือสอบ
             ค.ครูได้สอนมากน้อยแค่ไหน
             ง.นักศึกษาอ่านข้อสอบตอนสอบไม๊ ใช้เวลาสอบเท่าไร”

             เรื่องนี้  ผมร่วมแสดงความคิดเห็นว่า
             “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อสอบ แต่อยู่ที่นักศึกษาและครู “รู้แกว” แล้วว่า ยังไง ๆ ก็จบ ( เพราะคะแนนเก็บมากแล้ว ) เลยไม่สนใจการเรียนการสอนการสอบ
             การจะแก้ที่ข้อสอบ ที่ทำได้คือ ออกข้อสอบง่าย ๆ เพื่อให้นักศึกษามีกำลังใจอ่านข้อสอบ”

             แต่ก็มีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นคนหนึ่ง บอกว่า
             คนออกข้อสอบหาทางออกจุดคิดได้หรือยัง...เขาอยากให้ “ใส่เสื้อเบอร์อะไรก็จัดการให้ใส่ได้”...เรียกว่าการพัฒนาตามจุดประสงค์...งงเดะ คริ คริ”
             ผมจึงร่วมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ว่า
             การสอนและการสอบต้องยึดสิ่งเดียวกัน จึงจะออกมาตรงกัน คือยึด "ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง" ของหลักสูตรนั้น ๆ ซึ่งจะกำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวังกระจายไว้แต่ละเนื้อหาตลอดหลักสูตรวิชานั้น ๆ อย่างเหมาะสม
             ถ้าทั้งผู้เรียนผู้สอนและผู้ออกข้อสอบยึดสิ่งเดียวกัน ก็จะออกมาตรงกัน
             ส่วนกลางทำข้อสอบเฉพาะปลายภาค และเฉพาะ “วิชาบังคับ” เท่านั้น ในส่วนของ วิชาบังคับ ที่เป็นวิชาแกนกลางให้ หลักสูตรในระดับเดียวกัน "เทียบเท่า / มีศักดิ์และสิทธิ์ เหมือนกัน" ข้อสอบก็เหมือนกัน แต่บางแห่งเกรดเฉลี่ยอาจเป็น 3-4 บางแห่งอาจแค่ 1-2 ก็ไม่เป็นไร เกณฑ์ขั้นต่ำได้ถึง 50 % ก็ผ่าน
             แต่ในส่วน "วิชาเลือกเสรี" ผู้กำหนดหลักสูตรวิชานั้น ๆ ก็กำหนด "ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง" เอง กำหนดให้เหมาะสมกับปัญหาและสภาพของชุมชน ส่วนกลางไม่ได้ทำข้อสอบวิชาเลือกเสรี
             แม้หลักสูตรจะ "เทียบเท่า / มีศักดิ์และสิทธิ์ เหมือนกัน" แต่วิชาบังคับของหลักสูตร กศน. ก็ไม่ได้ลอกวิชาบังคับของในระบบมาทั้งหมด ( ลองเทียบกันดู )
             นอกจากนี้ หลักสูตร กศน.กำหนดให้เรียนวิชาบังคับไม่มากนัก โดยเฉพาะระดับ ม.ปลาย มีวิชาบังคับเพียง 58 % เกินครึ่งนิดหน่อย ที่เหลือ 42 % เป็นหน่วยกิตของวิชาเลือก
             จึงสรุปได้ว่า แม้จะ "เทียบเท่า / มีศักดิ์และสิทธิ เหมือนกัน" ผู้เรียนมีสิทธิไปศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเหมือนกัน แต่หลักสูตร กศน. โดยเฉพาะ ม.ปลาย ก็แตกต่างจากหลักสูตรในระบบมากกว่า 42 %

 

         2. “กระบวนการ กศน.” ถ้าเปลี่ยน INPUT เป็น OUTPUT ตามภาพนี้ได้ ก็วิเศษ..
             ( ภาพกระบวนการในการพัฒนา ตามทฤษฎี "เตาหลอม" ของ “อ.ยักษ์” : ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร )







         3. วันที่ 28 พ.ย.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  จัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน.. กิจกรรมกีฬา กศน.อำเภอ ในวันอาทิตย์วันเดียว สามารถเบิกค่าอาหาร อาหารว่างและเครื่องดื่ม ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายข้อ 1.1 และข้อ 1.2 ให้กับนักกีฬา กรรมการ เจ้าหน้าที่ในวันนั้น ได้หรือไม่.. (ดูรายละเอียดจากหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินอุดหนุนฯ ล่าสุด ลว 20 มี.ค.61.. แต่ไม่แน่ใจว่าจะเบิกได้หรือไม่ เพราะจัดในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันพบกลุ่ม)

             ผมตอบว่า
             1)  เบิกได้ตามอัตราของกิจกรรมการการแข่งขันกีฬาในหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายข้อ 1.1 และ 1.2 ซึ่งค่าอาหาร/อาหารว่าง-เครื่องดื่ม อัตราจะต่ำกว่ากิจกรรมเข้าค่าย-อบรม
             2)  จัดแข่งขันในวันอาทิตย์ก็เบิกได้ โดยถ้าซ้ำซ้อนกับการพบกลุ่ม ก็อาจเลื่อนการพบกลุ่มไปวันอื่นให้ครบตามเกณฑ์การพบกลุ่ม
             ( บางคนอาจพูดว่า
             - การแข่งขันกีฬาก็ถือเป็นการพบกลุ่มอย่างหนึ่ง หรือ
             - การเรียน “วิธีพบกลุ่ม” สมัยนี้ส่วนใหญ่ไม่เห็นประโยชน์ของการมาพบกลุ่มให้ครบตามเกณฑ์ บางแห่งเหลือพบกลุ่มจริงไม่ถึง 9 ครั้งก็ไม่เห็นเป็นไร
             การพูด 2 ลักษณะนี้ เป็นการพูดแบบ กศน.ที่ยืดหยุ่น แต่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหลักเกณฑ์  แต่ละคนคิดต่างกันมีเหตุผลต่างกัน ผู้ที่ออกระเบียบก็ใช่ว่าจะไม่มีเหตุผล ถ้าคิดว่าระเบียบที่กำหนดเกณฑ์การพบกลุ่มล้าสมัยแล้วก็ต้องเสนอให้ผู้ออกระเบียบเห็นด้วยและแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหลักเกณฑ์ก่อน )

 

         4. วันที่ 6 ธ.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  "การลงตำแหน่งของ ผอ. ในใบระเบียนแสดงผลการเรียน สามารถใช้เป็นตัวย่อได้รึเปล่า(เช่น ผอ.กศน.....)"

             เรื่องนี้  คำว่า กศน. นั้น ย่อได้อยู่แล้วเพราะมีกำหนดคำย่อนี้ไว้ในกฎหมาย ส่วนคำอื่น ( เช่น "รักษาการในตำแหน่ง", "ผู้อำนวยการ", "อำเภอ" ) ผมก็ไม่แน่ใจว่าย่อได้หรือไม่ ผมจึงนำคำถามนี้ไปถามในกลุ่มไลน์ต่าง ๆ
            ท่าน ผอ.สนง.กศน.จ.น่าน ให้ความเห็นว่า “ถ้ายังไม่มีประกาศจากส่วนกลางให้ใช้คำย่อใด ก็ให้ใช้คำเต็ม” ( คำว่า “ผู้อำนวยการ”, “อำเภอ”, “รักษาการในตำแหน่ง” ยังต้องพิมพ์เต็ม ส่วนคำว่า “กศน.” ใช้ได้ )

         5. เช้าวันนี้ 27 พ.ย.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์สแควร์ กศน. ว่า  นักศึกษาต้องทำ กพช.คุณธรรม 50 ชั่วโมง จึงจะจบหลักสูตรไหม

             ( กลุ่มไลน์สแควร์ กศน. นี้ รับสมาชิกกลุ่มเฉพาะบุคลากร กศน. ไม่รวมนักศึกษา ปัจจุบันมีสมาชิกพันกว่าคน สื่อสารถามตอบกันในเรื่องวงใน กศน.
              ใครสนใจจะเข้ากลุ่มนี้ ขอให้แจ้งขอเข้ากลุ่มโดยบอกทั้ง ตำแหน่ง และ สังกัด “ที่ชัดเจน” เช่น “ครูอาสาสมัคร กศน.อ.หนองหูลิง” ไปที่ผู้เป็นสมาชิกกลุ่มอยู่แล้ว หรือที่อินบ็อกซ์กล่องข้อความผมก็ได้ จะส่งลิ้งค์หรือ QR-code สำหรับเข้ากลุ่มให้ )

             ผมตอบว่า   กรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต ( กพช.) ส่งตามหนังสือที่ ศธ 0210.04/5242 ลงวันที่ 21 พ.ย.55  ( กำหนดโดย กป.กศน. ตั้งแต่ กพช.ยังเป็น ไม่น้อยกว่า 100 ชม.)
             ถ้าอ่านและตีความหนังสือนำส่งฉบับนี้ จะสรุปได้ว่า ใน 100 ชม. นศ.ต้องทำกิจกรรมศีลธรรม 50 ชั่วโมง และกิจกรรมตามนโยบาย กศน. 50 ชั่วโมง
             ต่อมามีการเพิ่ม กพช.เป็นไม่น้อยกว่า 200 ชั่วโมง ( บังคับใช้เป็นเงื่อนไขการจบหลักสูตรสำหรับนักศึกษารหัส 562... เป็นต้นมา )  แต่ กป.กศน.ยังไม่ได้กำหนดกรอบใหม่
             จึงยังต้องทำทั้ง 2 ส่วน ๆ ละ ไม่น้อยกว่า 50 ชั่วโมงเหมือนเดิม แต่รวมไม่น้อยกว่า 200 ชม.
             ( กิจกรรมศีลธรรม ไม่จำเป็นต้องเข้าค่ายคุณธรรมเท่านั้น นักศึกษาอาจทำด้วยตนเองก็ได้ เช่น กิจกรรมจิตอาสา กิจกรรมทางศาสนา ฯลฯ  ดูรายละเอียดในหนังสือแจ้งกรอบ กพช.ที่
             https://drive.google.com/file/d/1kLatNTL4vYuFhL7QJt3kS85evhJ7uei_/view?usp=sharing )

 

         6. วันที่ 12 ธ.ค.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์สแควร์ “กศน.” ว่า งบต่อเนื่อง การศึกษาดูงานแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บุคลากรภายในองค์กรเป็นวิทยากรได้หรือไม่ เช่นครู ศรช./ครูกศน.

             เรื่องนี้  อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. บอกว่า
             การศึกษาต่อเนื่อง รูปแบบการอบรมประชาชน นั้น บุคลากรของหน่วยงานอื่นที่เป็นแหล่งศึกษาดูงาน เบิกค่าตอบแทนวิทยากรได้ ถ้า “ระบุในตารางการอบรมว่าเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อใดช่วงเวลาใด”
             แต่ ถ้าวิทยากรคนนั้นเป็นบุคลากรในสังกัด กศน.ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยากรช่วงในหรือนอกเวลาราชการ ก็ไม่เหมาะสมที่จะรับค่าตอบแทนวิทยากร  โดย วิทยากรสังกัดเดียวกับส่วนราชการผู้จัด อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการผู้จัด ( อธิบดี/ปลัดกระทรวง )

         7. วันที่ 14 ธ.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  มีแผนการจัดการเรียนรู้วิชาบังคับไหมคับ

             ผมตอบว่า
             1)  กลุ่มพัฒนา กศน. ได้จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ วิชาบังคับในหลักสูตร 2551 มีทั้งแผนฯแบบรายวิชา ( วิชาบังคับ ม.ต้น – ปลาย ครบหมดทั้ง 14 รายวิชา แต่ไม่มีระดับประถม ) และแผนฯแบบบูรณาการ ( มีไม่มาก )  ใครสนใจดาวน์โหลดได้ที่  http://bit.ly/2UK5alm
                  ( ไฟล์ใหญ่มาก 46 MB ใช้เวลาดาวน์โหลดนานมาก ใครดาวน์โหลดไม่เป็นก็แล้วแต่นะ )
             2) ชาว กศน. หลายคน จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ ต่าง ๆ ขึ้นเว็บเผยแพร่ไว้ ลองเสิร์ชหาดู จะพบไม่น้อย
                  เช่น ของคุณอาคม จันตะนี ที่  https://goo.gl/gkwYR6 เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

1.ออกจากประกันสังคม ( ออกจากพนักงานราชการ ) เพราะสอบบรรจุได้ จะได้เงินอะไรจากประกันสังคม, 2.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ถ้ารอหมดอายุแล้วจึงต่อ จะถูกปรับ 200 บาท/เดือน, 3.คำนวณเกรดการเทียบโอนฯได้ 2.25 ควรให้เกรด 2 หรือ 2.5, 4.ใบประกาศนียบัตรหมด ต้องดำเนินการอย่างไร, 5.ให้ข้าราชการใน ค่ายทหาร/เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่มได้ไหม, 6.เรื่องปกติของ กศน. แต่เขารับไม่ได้, 7.เรียนผ่านทุกวิชาแล้ว ขาดแต่สอบ N-NET กับ กพช. ต้องลงทะเบียนอย่างไร


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1.
คืนวันที่ 9 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า
             “ ฉันได้ข้อมูลจากการเข้าอบรมเรื่องกฏหมายเกี่ยวกับพนักงานราชการชึ่ง ผอ.กจ.และ อ.จักราวุธ เป็นวิทยากร ให้กับครู กศน.จังหวัดร้อยเอ็ด และฉันได้โทรปรึกษากับ อ.จักราวุธ อาจารย์ก็แนะนำในเรื่องการขอเงินจากกองทุนประกันสังคม ในกรณีที่ลาออกจากประกันสังคมเนื่องจากสอบได้ครูผู้ช่วย เราสามารถขอเงินกองทุนประกันสังคม ในส่วนที่เราจ่าย 5 เปอร์เช็นแต่ละเดือน จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.กองทุนประกันสังคม 2.กองทุนส่วนการรักษาพยาบาล 3.กองทุนสำหรับการว่างงาน. และเราสามารถขอส่วนที่เป็นกองทุนในส่วนที่เราไม่ได้ใช้จาก ส่วนที่เป็นการรักษาพยาบาล ที่เราไม่ได้ใช้บริการในแต่ละป ถ้าไม่ได้ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลเราก็สามารถขอ ในส่วนนี้คืนได้ในกรณีที่ลาออก และเมื่อสถานะการประกันลาออกจากประกันสังคมให้ขอโค๊ตการจ่ายเงินสมทบเดือนสุดท้ายและเดือนแรกเพื่อจะดำเนินการขอเงินส่วนนี้ผ่านทางเว็ปไชต์
                แต่ภายหลังฉันไม่สามารถติดต่อ อ.จักราวุธ ได้. ฉันจึงปรึกษาขอคำแนะนำจากอาจารย์อีกทาง ว่าข้อมูลที่ฉันได้มาเป็นจริงหรือไม่ เพื่อดำเนินการต่อไป ”

             ผมตอบว่า   อาจจะฟังผิด.. ขอคืนค่ารักษาพยาบาลไม่ได้หรอกครับ เพราะสำนักงานประกันสังคมเขาจ่ายเงินเหมาจ่ายส่วนของเราให้โรงพยาบาลไปทุกปีแล้ว บางคนใช้เกินบางคนใช้ไม่หมด ถ้าคืนคนที่ใช้ไม่หมด แล้วคนที่ใช้เกินจะเอาที่ไหนมาล่ะ
             สิ่งที่จะได้ตามเกณฑ์คือ ส่วนของเงินออมกรณีชราภาพ กับเงินกรณีว่างงาน  ดูที่ผมเคยอธิบายเรื่องนี้ในข้อ 4 ที่  http://nfeph.blogspot.com/2014/02/blog-post.html
             ในส่วนของสิทธิประโยชน์ “กรณีว่างงาน” ถ้าจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือนติดต่อกัน และอายุไม่เกิน 55 ปี จะได้รับสิทธินี้ แต่ต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานกับสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับจากวันลาออก นะ ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานนะ แล้วมาเบิกที่ สนง.ประกันสังคม ไม่ใช่ขึ้นทะเบียนกับ สนง.ประกันสังคม
             ซึ่งจะได้เงิน 30 % ของค่าจ้างจริง ( แต่ถ้าค่าจ้างเกินเดือนละ 15,000 บาท ให้คิดค่าจ้างไม่เกิน 15,000 บาท คือจะได้เงินไม่เกินเดือนละ 4,500 บาท ) เป็นเวลา 90 วัน ( 3 เดือน ) รวมจะได้ไม่เกิน 13,500 บาท โดยต้องรายงานตัวเป็นผู้ว่างงานทุกเดือน
             ถ้าขึ้นทะเบียนหลัง 30 วัน นับจากวันลาออก จะได้รับเงินลดลงตามวันทั้งหมดนับจากวันลาออกถึงวันขึ้นทะเบียน เช่น ถ้าขึ้นทะเบียนวันที่ 27 นับจากวันลาออก จะได้รับสิทธิเต็ม 90 วัน แต่ถ้าขึ้นทะเบียนวันที่ 32 นับจากวันลาออก จะถูกตัดสิทธิไป 31 วันเลย เหลือได้รับเงินเพียง 59 วัน และถ้าขึ้นทะเบียนช้าเกิน 3 เดือน ก็จะไม่ได้รับเงินนี้เลย แต่เกินแล้วจะขึ้นทะเบียนก็ได้ เพื่อให้สำนักงานจัดหางานเขาจัดหางานใหม่ให้เท่านั้น
             ลองขึ้นทะเบียนทางเว็บไซต์กรมการจัดหางาน ที่  https://empui.doe.go.th/auth/index  ก็ได้
             แม้การออกจากงานเพราะหมดสัญญาแล้วไม่จ้างต่อ ก็ได้รับสิทธินี้ ยกเว้นถูกเลิกจ้างกรณีทำความผิดต่าง ๆ จึงจะไม่ได้รับสิทธินี้

             เรื่องเงินกรณีว่างงานนี้ มีข้อมูลแตกต่างกัน คือ ท่านประกันสังคมจังหวัดท่านหนึ่งบอกว่า “ถ้าสำนักงานประกันสังคมรู้ว่าออกแล้วมีงานทำใหม่ จะไม่จ่ายให้”
             แต่ สายด่วนประกันสังคม 1506 ยืนยันว่า จ่ายให้ 90 วัน แม้จะถามย้ำว่า ออกจากประกันสังคมแล้วเป็นข้าราชการต่อทันทีนะ ก็ยังยืนยันว่าจ่ายให้ 90 วัน

         2. เดือนมิถุนายน 2562 จะเป็นอีกรอบหนึ่งที่ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา หมดอายุมากที่สุด
             ดังนั้น ลองดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู/ผู้บริหาร ของตนเอง ว่าจะหมดอายุเมื่อไร ถ้าจะหมดอายุในเดือนมิถุนายน 2562
             "เดือนหน้า" ธันวาคม 2561 ก็เริ่มต่ออายุได้แล้วนะ
             เพราะต้องต่ออายุภายใน 180 วัน ก่อนวันหมดอายุ ถ้ารอให้หมดอายุแล้วจึงต่อ จะเสียค่าปรับเดือนละ 200 บาท เศษของเดือนคิดเป็น 1 เดือน และถ้าปล่อยให้หมดอายุครบ 5 ปี จะต่ออายุไม่ได้เลย
             ตอนนี้เจ้าหน้าที่คุรุสภาจังหวัดย้ายไปอยู่ที่ สนง.ศธจ. แล้ว ไปต่ออายุที่ สนง.ศธจ.





         3. เย็นวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ย.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอความรู้เกี่ยวกับการเทียบโอนหน่อย ถ้าฉันคำนวณแล้วได้ผล 2.25 เราควรให้นักเรียนเกรด 2 หรือ  2.5

และถ้าคำนวณได้ 2.75 เราควรให้เกรด 2.5 หรือ 3

             ผมตอบว่า   เกรดของ “แต่ละวิชา” ของเรา ให้ปัดเศษตามหลักคณิตศาสตร์ ให้ทศนิยมเป็น .00 หรือ .50 เพราะเกรดรายวิชาจะต้องมีทศนิยมเป็น .00 หรือ .50  โดย ถ้าใกล้เลขต่ำให้ปัดลง ถ้าใกล้เลขสูงหรือใกล้เท่ากันให้ปัดขึ้น 
             ( ส่วน ระดับผลการเรียนเฉลี่ยตลอดหลักสูตร จะมีทศนิยมสองตำแหน่งเป็นเท่าไรก็ได้ ตัดตำแหน่งที่สามทิ้งเลย ไม่ปัด )
             กรณีที่ถามนี้ 2.25 ใกล้ทั้ง 2.00 และใกล้ 2.50 เท่ากัน ให้ปัดขึ้นเป็น 2.50, ถ้า 2.24 ปัดลงเป็น 2.00, ถ้า 2.75 ปัดขึ้นเป็น 3.00
             ( ถ้าสนใจไฟล์ PowerPoint ที่ผมทำไปประกอบการบรรยายเรื่องการเทียบโอนฯ ตั้งแต่ปี 2557  ดาวน์โหลดได้ที่
                https://drive.google.com/file/d/1Wz94AeyF2vWVY5e7GgB-REs5Eked06dR/view?usp=sharing )






         4. วันเดียวกัน ( 11 พ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เนื่องจากใบประกาศนียบัตร (กศน.2) ระดับ ม.ปลาย ของ กศน.อำเภอ หมด ไม่ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

             ผมตอบว่า   ประกาศนียบัตร ( กศน.2 ) เป็นหลักฐานการศึกษาควบคุมและบังคับแบบ เช่นเดียวกับ ระเบียนแสดงผลการเรียน ( กศน.1 ) จึงดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ กศน.อำเภอ ทำหนังสือไป กศน.จังหวัด ขอให้ กศน.จังหวัดดำเนินการสั่งซื้อให้
             เป็นไปตามหนังสือแจ้งในภาพประกอบโพสต์นี้ ( หนังสือนี้ได้มาจากคุณ KRUSURAPEE-Jam )






         5. วันนี้ ( 12 พ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า 
             “ กรณีกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เช่นในค่ายทหาร ในเรือนจำ ในสถานพินิจ ทางกศนอำเภอมีสิทธิ์จ้างครูประจำกลุ่ม ที่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นข้าราชการ ประจำหน่วยงานนั้นๆได้หรือเปล่า
                ถ้าได้ มีระเบียบหรือคำสั่งตัวไหนที่รองรับหรือเปล่า
                ( เนื่องจาก การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ จาก เจ้าหน้าที่ ประจำหน่วยงานนั้นๆ ) ”

             เรื่องนี้   เพื่อความมั่นใจ ผมนำคำถามไปให้สมาชิกกลุ่มไลน์ ITw NFE ช่วยกันให้ข้อมูลด้วย แล้วผมจึงตอบว่า
             กศน.จังหวัด สามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการในหน่วยทหาร เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่มได้  เพราะไม่มีระเบียบหลักเกณฑ์ห้าม ผู้ที่บอกว่าไม่ได้ เขาอาศัยระเบียบหลักเกณฑ์ใด  เข้าใจว่าปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังแต่งตั้งเจ้าหน้าที่หรือข้าราชการในหน่วยทหาร เรือนจำ/สถานพินิจ เป็นครูประจำกลุ่ม มีเพียงส่วนน้อยที่แต่งตั้งคนนอกเข้าไปเป็นครูประจำกลุ่ม
             ใน “คู่มือการจัด กศ.ตามหลักสูตร กศน.51 สำหรับเด็กและเยาวชนในกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน” ( คู่มือนี้ออกเมื่อปี 2560 ) หน้า 4 ก็ระบุว่า กศน.แต่งตั้งครูประจำกลุ่มจาก ครูสามัญหรือครูวิชาชีพหรือบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมาย ของกรมพินิจฯ
             ( ในหน่วยทหาร/เรือนจำ ก็ลักษณะเดียวกัน )

         6. เย็นวันที่ 13 พ.ย.61 มีผู้ถามผมทางอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันทำงานอยู่ กศน. แล้วเรียนต่อ ป.บัณฑิต แล้วทีนี้เวลาฝึกสอน ฉันสามารถฝึกสอนที่ กศน.ได้ใหม

             ผมตอบว่า   ตามระเบียบ/หลักการ สามารถฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียนและปฏิบัติการสอนที่ กศน. ได้ เพราะคุรุสภากำหนดหลักเกณฑ์ว่าสถานศึกษาที่จะฝึกปฏิบัติการสอน ต้องเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและผ่านการประเมินภายนอกจาก สมศ. ซึ่ง กศน.ก็เข้าเกณฑ์นี้
             แต่ในทางปฏิบัติ
             - บางมหาวิทยาลัย ให้ ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. ได้ เช่น ม.นราธิวาส, ม.ราชภัฏเชียงใหม่, มรท.ราชมงคลพระนคร, ม.ราชภัฏเพชรบุรี, ม.ราชภัฏเชียงราย, ม.ราชภัฏนครราชสีมา, วิทยาลัยสันตพล, ม.เชนต์จอห์น, ม.ราชภัฏร้อยเอ็ด
             - บางมหาวิทยาลัย ไม่ให้ ฝึกปฎิบัติการสอนที่ กศน. เช่น ม.ราชภัฏเทพสตรี, ม.ราชภัฏนครปฐม, ม.ราชภัฏเพชรบูรณ์, ม.ราชภัฏสวนดุสิต, ม.ราชภัฏศรีษะเกษ
             สาเหตุที่บางมหาวิทยาลัย ไม่ให้ ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. เพราะเขารับไม่ได้ในเรื่องปกติของเรา คือ สอนไม่ตรงตาม ตาราง/เวลาสอน ไม่ตรงแผนการสอน ทำให้เขาเสียเวลามานิเทศเก้อ
             การนิเทศส่วนใหญ่จะแจ้งแผนล่วงหน้า แต่ บางมหาวิทยาลัยทำแผนนิเทศบอกช่วงนิเทศกว้างหลายวันโดยไม่ระบุรายละเอียดว่าวันใดไปที่ใด อย่างไรก็ตามอาจารย์นิเทศก็มักโทร.บอกล่วงหน้า แต่อาจารย์นิเทศบางท่านไม่บอกล่วงหน้า ( อาจารย์นิเทศจะไม่มีเวลามานิเทศในวันเสาร์อาทิตย์ )
             เรื่องนิเทศการฝึกปฏิบัติการสอน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเรียน ป.บัณฑิต ดังจะเห็นได้จาก คุรุสภากำหนดโควตาให้มหาวิทยาลัยรับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ตามจำนวนอาจารย์ที่จะไปนิเทศนี่แหละ คือถ้ามหาวิทยาลัยไหนมีอาจารย์นิเทศ 1 คน ก็ให้รับผู้เรียน ป.บัณฑิตได้ครั้งละ 10 คน ถ้ามีอาจารย์นิเทศ 10 คน ก็รับได้ครั้งละ 100 คน
             นักศึกษา กศน.เรา ก็มาไม่ค่อยตรงเวลา ตารางสอนระบุเริ่ม 9.00 น. แต่ 9.30 น.แล้ว นักศึกษาเพิ่งมาครึ่งเดียว
             สรุปคือ ตามระเบียบ/หลักการนั้น สามารถฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน.ได้  ถ้ามหาวิทยาลัยใดไม่ให้ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน. และ เรามั่นใจว่าจะสอนตรงตาม ตารางสอน/เวลาสอน/แผนการสอน ได้ ก็เจรจากับมหาวิทยาลัย ถ้ามหาวิทยาลัยยอมให้ฝึกปฏิบัติการสอนที่ กศน.แล้ว ก็พยายามรักษาไว้ โดยสอนให้ตรงตาม ตารางสอน/เวลาสอน/แผนการสอน ไม่ให้อาจารย์มานิเทศเก้อ
             ( ปกติตารางสอน กศน.ที่ส่งมหาวิทยาลัย ต้องระบุชั่วโมงสอนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 10-12 ชม. ครูจึงมีสิทธิ์สมัครเรียน ป.บัณฑิต แต่ถ้าครู กศน.ไปฝึกปฏิบัติการสอนที่โรงเรียน สพฐ. ในส่วนตารางสอนที่ สพฐ.ต้องระบุชั่วโมงสอนอีกอย่างน้อยสัปดาห์ละ 6-8 ชั่วโมง )

         7. วันที่ 14 พ.ย.61  มีผู้ถามผมทางไลน์ ว่า  กรณีที่นักศึกษาเรียนครบตามหน่วยกิต แต่ขาดสอบ n-net และ กพช.ไม่ครบ จะต้องลงทะเบียนหรือจะทำยังไง

             ผมตอบว่า  ก็ให้เขาสอบ N-NET และทำ กพช.จนกว่าจะครบ
             ถ้าไม่ทิ้งไว้เกิน 6 เทอม หรือรวมเวลาตั้งแต่ได้ผลการเรียนวิชาแรกเกิน 10 เทอม ก็ไม่มีปัญหาอะไร  แต่ถ้าจะทำไม่เสร็จใน 6 เทอม ต้องให้เขาลงทะเบียนรักษาสถานภาพไว้ด้วย เพราะการบันทึกภาคเรียนที่สอบ N-NET และการบันทึกชั่วโมง กพช.ในภาคเรียนใด โปรแกรม ITw ไม่ได้ถือว่าเป็นการลงทะเบียน/รักษาสถานสภาพ