วันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

1.วิธีเช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์, 2.เทียบโอนแล้วเหลือวิชาเลือกเพียง 1 นก.ก็ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ, 3.เมื่อไม่ไปสอบ N-NET ( เหตุผลที่ สทศ.ไม่ให้สอบ N-NET อีก ), 4.อยู่ในคุก จะสอบ E-Exam ยังไง, 5.พนักงานราชการ ทำงานรับใช้แผ่นดิน หลังเกษีนณมีสิทธิประโยชน์อะไร หรือออกไปแต่ตัวอย่างเดียว !, 6.ใช้งบพัฒนาผู้เรียน อบรมลูกเสือ BTC ให้ นศ.ได้ไหม เบิกอย่างไรได้บ้าง, 7.อินทรธนูข้าราชการครู


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้


         1. วิธีเช็กสิทธิประกันสังคมผ่านเว็บไซต์

             1)  เข้าเว็บไซต์  https://www.sso.go.th/wpr/main/login
             2)  คลิก "เข้าสู่ระบบ/สมัครสมาชิก" ที่มุมบนขวา
             3)  หากเคยสมัครสมาชิกไว้แล้ว ใส่รหัสผู้ใช้งาน/รหัสผ่าน
             4)  แต่หากยังไม่เคยสมัครสมาชิก ให้เลือก "สมัครสมาชิก"
                  - จะปรากฏหน้า "นโยบายการคุ้มครองสิทธิ์ข้อมูลส่วนบุคคล" ให้คลิก "ฉันยอมรับข้อตกลงในการให้บริการ" แล้วกด "ถัดไป"
                  - กรอกข้อมูลส่วนตัวให้ครบทุกช่องแล้วกด "ถัดไป"
                  - เข้าสู่หน้ายืนยันตัวตน ให้กดขอรับรหัส
OTP ซึ่งจะส่ง SMS มาให้ทางโทรศัพท์มือถือ เมื่อได้รับรหัสแล้ว ให้มากรอกรหัสแล้วกด "ยืนยัน" ระบบจะขึ้นข้อความ "การลงทะเบียนเสร็จสมบูรณ์ กรุณาล็อกอินเข้าระบบ"
                  - จากนั้น กลับไปที่หน้า
Home คลิกเลือก "เข้าสู่ระบบ/สมัครสมาชิก" อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ให้กรอกรหัสผู้ใช้งาน คือ เลขบัตรประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านตามที่เราตั้งไว้ เท่านี้ก็สามารถเข้าระบบได้แล้ว
             5)  หากต้องการเช็กสิทธิของตัวเองให้เลือก "ผู้ประกันตน"
                  เมื่อคลิกเข้ามาแล้วจะเจอข้อมูลส่วนตัวของเรา และรายละเอียดสิทธิประโยชน์
                  เราสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในแต่ละหัวข้อได้เลยว่า ได้ใช้สิทธิ์ไปบ้างแล้วหรือยัง โดยมีให้เลือกคือ
                  - ข้อมูลการส่งเงินสมทบ
                  - ยื่นแบบขอเปลี่ยนสถานพยาบาล
                  - ประวัติการเปลี่ยนแปลงสถานพยาบาล
                  - การใช้สิทธิประโยชน์ทดแทน
                  - การคำนวณเงินสงเคราะห์ชราภาพ (ดูว่าเรามีเงินชราภาพอยู่เท่าไรแล้ว)
                  - ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร
                  - ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร
                  - ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
                  - ขอเบิกสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ
                  - เลือกบัญชีธนาคารเพื่อรับเงิน
                  - ประวัติการทำรายการ

             นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม ไม่ว่าจะเจ็บป่วย คลอดบุตร ว่างงาน รวมทั้งสิทธิผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 ได้
             หากสงสัยตรงไหน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม หรือโทร.สายด่วน 1506

         2. การเรียนวิชาเลือกบังคับสำหรับผู้ที่เทียบโอน ถ้าเทียบโอนวิชาเลือกได้ทั้งหมด ก็ไม่ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับและวิชาเลือกเสรี แต่ ถ้าเทียบโอนวิชาเลือกได้ไม่ครบถ้วน แม้เหลือวิชาเลือกอีกเพียง 1 หน่วยกิต ก็ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ จึงจะจบหลักสูตร

             แม้เทียบโอนแล้วเหลือวิชาเลือกบังคับ 3 นก.ในระดับประถม เหลือ 4 นก.ในระดับ ม.ต้น-ปลาย ก็ต้องเรียนวิชาเลือกบังคับ 2 วิชา ( รวม 2 วิชา เกิน 3 หรือ 4 นก. )
             ดูหนังสือแจ้งที่
            
https://www.dropbox.com/s/6offmu9522x5rwv/selectfixT.pdf?dl=1

         3. วันอาทิตย์ที่ 11 ก.พ.61 ชยานนท์ ไทยเนียมน้อย ถามต่อท้ายโพสต์ของผมที่  https://nfeph.blogspot.com/2017/05/rdnfe-n-net-2-44-3-4-5-6-7.html  ว่า  คนที่จะจบเทอมนี้แล้วไม่ไปสอบn-netจะจบไหม

             ผมตอบว่า  โพสต์นี้บอกไว้ชัดเจนแล้วนะ ว่า ยังไม่สอบ N-NET ก็ยังไม่จบ

             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  อ๋อครับและสามารถแก้ได้ไหมครับ
             ผมตอบว่า  ทำไมไม่ไปสอบ
N-NET ล่ะ
             กศน. เปิดให้สอบ
N-NET ทุกปลายเทอม ถ้าไปสอบปลายเทอมหน้าก็จบปลายเทอมหน้า
             ที่ผ่านมา ผู้ที่มีเหตุผลความจำเป็นพลาดการสอบ
N-NET จะให้ไปสอบ E-Exam แทนในเดือนถัดไปนี้เลย ไม่ต้องรอถึงปลายเทอมหน้า ตอนหลังคนที่ไม่จำเป็นจริงแต่ไม่ไปสอบ N-NET คอยสอบ E-Exam แทน มีมาก จนการสอบ E-Exam รับไม่ค่อยไหว เขาจึงกำหนดหลักเกณฑ์ผู้มีสิทธิสอบ E-Exam ใหม่

             ให้คุณยื่นคำร้องต่อ กศน.อำเภอ ขอสอบ E-Exam แทนในเดือนหน้า โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นอย่างละเอียด  เพราะถ้า กศน.อำเภอ ส่งชื่อคุณเข้าสอบ N-NET แล้วคุณปล่อยให้ที่นั่งคุณในห้องสอบว่าง สทศ.คงไม่ให้คุณเข้าสอบ N-NET ในเทอมใดอีกแล้ว เนื่องจาก ถ้ารู้ก่อนว่าคนจะไม่เข้าสอบมากอาจลดห้องสอบได้ เมื่อห้องสอบลดลงจะไม่เสียงบประมาณต่าง ๆ เช่น ค่าข้อสอบ ค่ากรรมการคุมสอบ กรรมการกลางก็อาจลดได้ ฯลฯ การที่คุณไม่ไปสอบจึงทำให้เสียงบประมาณแผ่นดินไปเปล่า ๆ เขาต้องพิมพ์ข้อสอบและจัดห้องสอบล่วงหน้าตามจำนวนที่ กศน.อำเภอส่งรายชื่อเข้าสอบ
             เช่น สมมุติว่า มีห้องสอบ 5 ห้อง โดยห้องสอบที่ 5 มีรายชื่อผู้มีสิทธิสอบเพียง 15 คน  ถ้ารู้ก่อนว่าเมื่อถึงเวลาสอบจะมีผู้ขาดสอบเฉลี่ยห้องละ 3 คน รวม 5 ห้องเป็น 15 คน ก็จะพิมพ์ข้อสอบลดลง 15 ชุด และจัดห้องสอบใหม่ให้มีเพียง 4 ห้อง ประหยัดงบประมาณค่าตอบแทนกรรมการคุมสอบและอื่น ๆ เพราะจำนวนห้องสอบใช้ในการคำนวณจำนวนกรรมการกลางอื่น ๆ ด้วย )

             ( บางแห่ง เข้าสอบวิชาเดียวก็ถือว่าสอบแล้ว บันทึกภาคเรียนที่สอบ N-NET ลงโปรแกรม ITw เลย แบบนั้นไม่ถูกต้อง  ตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ๆ สอบ 2 วิชาจึงจะบันทึกภาคเรียนที่สอบลงโปรแกรม เพราะถ้าลงภาคเรียนแล้ว โปรแกรมจะเข้าใจผิดว่าสอบ N-NET แล้ว และยอมให้จบ )






         4. วันที่ 12 ก.พ.61 Sansuk Amnuaykun ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ ว่า
            
1)  ในกรณีที่นักศึกษาเรือนจำ มีชื่อสอบ N-net แต่มีเหตุสุดวิสัย นักศึกษาป่วย ไม่สามารถเข้าสอบได้ จะออกมาสอบ E-Exam ก็ไม่ได้ กรณีเช่นนี้จะแก้ปัญหาให้นักศึกษาอย่างไร
            
2)  กรณีที่นักศึกษามีชื่ออยู่ในสนามสอบนอกเรือนจำ แต่ติดคุกก่อนสอบ จะแก้ปัญหาให้นักศึกษาจบได้อย่างไร
             อยากจะแก้ปัญหาให้นักศึกษาคะ

             เรื่องนี้   ผมเรียนถามท่าน ผอ.กลุ่มพัฒนา กศน. ท่านไปถามเอาคำตอบมาจากกลุ่มพัฒนาระบบการทดสอบ อีกทอด ว่า..
             ให้สถานศึกษาติดต่อ สทศ.ขอคืนสิทธิ์ให้ นศ.กรณีทั้งสองนี้ ซึ่งจะถูกตัดสิทธิไม่ให้สอบ
N-NET เพราะเคยขาดสอบ ให้ได้สิทธิสอบ N-NET อีกครั้งในภาคเรียนหน้า ด้วยเหตุต้องโทษ แล้วภาคเรียนหน้าให้เขาสอบ N-NET ที่สนามสอบในเรือนจำ ซึ่ง สทศ.เขามีหลักเกณฑ์วิธีการนี้อยู่แล้ว ถ้าหาในเว็บ สทศ.ไม่พบก็ลองโทร.ถาม สทศ.ก่อนก็ได้ว่ามีวิธีการให้ติดต่ออย่างไร

         5. คืนวันที่ 13 ก.พ.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  อยากทราบชีวิตหลังเกษียณอายุการทำงานรับใช้แผ่นดินของครู กศน.(พนักงานราชการ)ว่าจะมีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ที่พอจะมีความหวังและวางแผนอนาคตบั้นปลายชีวิตบ้าง หรือออกไปแต่ตัวอย่างเดียว

             ผมตอบว่า   ให้เสิร์ชหาดูคำตอบเดิม ๆ ของผมที่เกี่ยวข้อง เช่น
             - เรื่องทำไมพนักงานราชการไม่รู้  ในข้อ 1 ที่  
http://nfeph.blogspot.com/2018/02/thaination.html
                และ ข้อ 7 ที่
https://www.gotoknow.org/posts/508111
             - เรื่องอยากรู้ไหม ข้อมูลประกันสังคมของตัวเอง เช่น จ่ายเงินสมทบไปเท่าไรแล้ว จะได้เงินบำเหน็จบำนาญชราภาพเท่าไรแล้ว เรามีสิทธิประกันสังคมอะไรบ้าง ใช้สิทธิไปบ้างหรือยัง  ในข้อ 1 ของโพสต์นี้

             1)  ทำไมจึงมีพนักงานราชการขึ้นมา
                  เดิมประเทศไทยมีข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐค่อนข้างสูงทั้งในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ บำเหน็จบำนาญ รวมถึงคุณภาพในการทำงานใน
ระบบราชการ ( เช้าชามเย็นชาม )จึงปรับเปลี่ยนเป็นระบบพนักงานราชการ จ้างตามวาระสัญญา เทียบกับรูปแบบบริษัท รัฐวิสาหกิจ ที่บุคคลกระตือรือร้นในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ
                  โดยกำเนิดพนักงานราชการขึ้นครั้งแรกในปี 2547 รวม 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งตั้งแต่ปี 47 ประเทศไทยไม่มีการบรรจุลูกจ้างประจำคนใหม่อีกเลย  ส่วนข้าราชการ ถ้าเกษียณจะถูกลดอัตราลงทุกปี ( แต่ 3 ปีหลัง ข้าราชการครูที่เกษียณได้รับอัตราคืนมาเป็นข้าราชการ 100 % ส่วนกระทรวงอื่น ๆ จะถูกลดอัตราข้าราชการลงทุกปี  ในอนาคตแต่ละสำนักงานอาจจะมี ผอ.คนเดียวเท่านั้นที่เป็นข้าราชการ นอกนั้นเป็นพนักงานราชการ )
                  เหตุผลหนึ่งที่มีพนักงานราชการขึ้นมา ก็เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายภาครัฐ
                  พนักงานราชการที่เกษียณช่วงนี้ ถ้าอายุงาน 15 ปีขึ้นไป แสดงว่าตอนบรรจุใหม่ ๆ ไม่ได้เป็นพนักงานราชการ แต่เป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งมีสวัสดิการน้อย เพราะ ประเทศไทยเพิ่งมีพนักงานราชการไม่เกิน 15 ปี
                  ( ที่จริง ราชการ ไม่ใช้คำว่า เกษียณ กับพนักงานราชการ แต่เป็นการ หมดสัญญาจ้าง คล้ายกับการหมดสัญญาจ้างในแต่ละรอบ เพียงแต่รอบสุดท้ายให้ทำสัญญาถึงสิ้นปีงบประมาณของปีที่อายุครบ 60 แล้วไม่ต่อสัญญาอีก )

             2)  เรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการ จะมีในข้อสอบที่ใช้สอบบรรจุต่าง ๆ ใครเคยสอบก็ต้องดูหนังสือเตรียมสอบในเรื่องสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการนี้
                  พนักงานราชการ จะได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือนซึ่งเรียกว่า
ค่าตอบแทนโดยได้รับมากกว่าข้าราชการ 20 % เช่นพนักงานราชการได้ 18,000 บาท ในขณะที่ข้าราชการพลเรือนได้ 15,000 บาท
                  ส่วนที่เกินในแต่ละเดือน 20 % นี้ แบ่งได้เป็น บำเหน็จบำนาญ 10 % ค่าประกันสังคมส่วนที่หักจากลูกจ้าง 5 % และค่าสวัสดิการต่าง ๆ เช่น ค่าการศึกษาบุตร ค่ารักษาพยาบาล ค่าตรวจสุขภาพ 5 %
                  ข้าราชการยังไม่ได้เงินเหล่านี้ ต้องทำเรื่องเบิกเป็นครั้ง ๆ โดยบำเหน็จบำนาญก็ต้องคอยไปได้ตอนเกษียณ แต่พนักงานราชการได้โดยอัตโนมัติทุกเดือน
                  ถ้าวางแผนเก็บออมไว้กว่าจะเกษียณก็เป็นเงินก้อนใหญ่
                  เช่นบรรจุใหม่ได้เงินเดือนเกินข้าราชการเดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นปีละ 36,000 บาท ถ้าทำงาน 30 ปีเกษียณก็เท่ากับรวมได้ประมาณ 1 ล้าน 8 หมื่นบาท เฉลี่ยเป็นบำเหน็จบำนาญประมาณ 540,000 บาท
                  พนักงานราชการทุกกระทรวง ตอนออก ไม่มีบำเหน็จบำนาญจากกรม เพราะได้รับอยู่ทุกเดือนแล้ว จึงรับเพิ่มไม่ได้อีก นอกจากไปรับทางประกันสังคม ซึ่งประกันสังคมก็มีระบบบำเหน็จบำนาญสำหรับพนักงานราชการที่เกษียณด้วย

         6. วันที่ 16 ก.พ.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  เราสามารถฝึกอบรมนักศึกษา กศน.ในเรื่องของลูกเสือ BTC ได้ไหม เพื่อให้นักศึกษา เป้นรอผู้กำกับลูกเสือช่วยเหลือครู กศน.ตำบล เพราะการอบรมลูกเสือคือต้องมีคุณสมบัติ อายุ 18 ปีขึ้นไป วุฒิม3 และหากอบรมได้ จะใช้งบพัฒนคุณภาพผู้เรียนได้หรือไม่ จะเบิกอย่างไรได้บ้าง

             ผมตอบว่า   กิจกรรมลูกเสือ มีในกรอบการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ข้อ 2.7 อยู่แล้ว และเกณฑ์ค่าใช้จ่ายการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียนจากเงินอุดหนุน ในตารางข้อ 1.1-1.9 ที่  https://www.dropbox.com/s/24vx30wq37r7luz/Criteriamoney.pdf?dl=1  ก็กำหนดไว้แล้วว่า เบิกอย่างไรได้บ้าง
             แต่ กิจกรรมลูกเสือที่จัดกับนักเรียนนักศึกษานั้น ( ตามกรอบข้อ
2.7 ) ต้องเป็นกิจกรรมเพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่มีจิตอาสา  มีความเสียสละในการช่วยเหลือผู้อื่น  เป็นลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ หรือลูกเสือวิสามัญ
             ส่วนการอบรมหลักสูตร
B.T.C. ( ผู้กำกับลูกเสือ  หลักสูตรนี้ไม่ได้ให้เราดัดแปลงเป็นอบรมรองผู้กำกับหรือผู้ช่วยผู้กำกับ  กศน.ชอบยืดหยุ่นดัดแปลงไปเรื่อย ) ต้องอบรมครูหรือบุคลากรทางการศึกษา
            
( - ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ อายุ 14–18 ปี หรือ กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา
               
- ลูกเสือวิสามัญ อายุ 16–25 ปี หรือ กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
               
- ผู้กำกับกองลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ อายุไม่น้อยกว่า 23 ปี และต้องได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ประเภทลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ S.S.W.B.
               
- ผู้กำกับกองลูกเสือวิสามัญ อายุไม่น้อยกว่า 25 ปี และต้องได้รับเครื่องหมายวูดแบดจ์ประเภทลูกเสือวิสามัญ R.W.B. )

         7. คืนวันที่ 16 ก.พ.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ข้าราชการครูของ กศน.ยังใช้ระเบียบนี้อยู่ไหม ( การติดอินทรธนูตามภาพประกอบข้อนี้ )

             ผมตอบว่า   ใช่
             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  ฉันเงินเดือน 18,270 บาท ถ่ายรูปติดบัตรข้าราชใส่แบบนี้ ถ้าบุคลากรจังหวัดให้ใช้แบบระดับปฏิบัติการ ( 3 แถบเล็ก แถบบนขมวด ) ฉันควรทำอย่างไร หรือให้ยึดตามงานบุคลากรจังหวัดบอก/ถ้าใส่ไม่ถูกจะมีผลอะไรไหม

             ผมตอบว่า  ก็เอารูปนี้ ให้งานบุคลากรจังหวัดดู ถ้าเขามีระเบียบที่แตกต่างและใหม่กว่า ก็ขอระเบียบเขามาพิจารณาอีกที
             ( รูปนี้ ขรก.ครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพคือ ศน.ให้ดูในคอลัมน์ที่ 2  ส่วน ขรก.พลเรือนและบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ดูในคอลัมน์ที่ 3  ซึ่งเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดให้ใช้เครื่องหมายตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ลงวันที่ 16 ส.ค.53 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 102 ง วันที่ 14 ต.ค.53 หน้า 25-26   ดูประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีนี้ได้ที่
            
https://www.dropbox.com/s/pn9vzphc3g9v8nl/inthanuTeacher.pdf?dl=1  )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย