วันเสาร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

1.การขอเครื่องราชฯเป็นหน้าที่ของจังหวัด ไม่ใช่อำเภอ, 2.ครูอาสารับผิดชอบพื้นที่กี่ตำบล-ย้ายภายในจังหวัด, 3.ครูอาสาไปช่วยราชการที่ สนง.กศน.จังหวัดคราวละกี่เดือน แล้วประเมินยังไง, 4.การจ้าง จนท.รักษาความปลอดภัยสนามสอบ, 5.อบรม 60 คน แต่ช่วงวันไปศึกษาดูงานต่างจังหวัดไป 30 คน, 6.ครูประจำกลุ่มเรือนจำ กลุ่มทหาร เบิกค่าคุมสอบได้ไหม, 7.สมาชิกเสียชีวิตน้อยได้เงินสงเคราะห์มาก



สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. คืนวันที่ 19 ก.พ.61 มีผู้ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในหน้าเฟซบุ๊กผม ว่า  แนวทางขอเครื่องราชย์เป็นหน้าที่ของอำเภอ หรือจังหวัด ไม่เห็นมีรายชื่อจังหวัดสตูล

             ผมตอบว่า   เป็นหน้าที่ของจังหวัด ( บางจังหวัดแจ้งไปอำเภอให้สำรวจส่งจังหวัด, แต่ถ้าเป็นเหรียญจักรพรรดิมาลา เจ้าตัวจึงจะต้องลงนามขอเอง )  ดูทั่วแล้วหรือ หรือว่าปีนี้สตูลไม่มีผู้สมควรเสนอขอให้เลย

             ที่ว่า การขอพระราชทานเครื่องราชฯ ( คำว่าเครื่องราชฯนี้ ไม่รวมเหรียญจักรพรรดิมาลา ) เป็นหน้าที่ของจังหวัดไม่ใช่อำเภอ มีเหตุผล 3 ประการ คือ
             1)  การขอพระราชทานเครื่องราชฯ ไม่ได้ให้เจ้าตัวขอเอง ผู้ลงนามเสนอขอพระราชทานในแบบ ขร.4/37 คือ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด/หัวหน้าหน่วยงานสถานศึกษาขึ้นตรง
                  และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ พ.ศ.2536 ข้อ 8 กำหนดว่า
                 
ในการเสนอขอพระราชทานแก่บุคคลใด ไม่ใช่เพียงแค่อายุราชการครบก็ขอให้ทุกคน แต่ให้พิจารณาโดยรอบคอบว่าบุคคลนั้นได้กระทำความดีความชอบจนถึงขนาดสมควรได้รับพระราชทานฯ เพื่อให้บุคคลที่ได้รับพระราชทานรู้สึกภาคภูมิใจอย่างแท้จริง และเพื่อให้เครื่องราชฯเป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติยศอย่างสูง
             2)  การบริหารงานบุคคลต่าง ๆ เป็นบทบาทอำนาจของ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด/สถานศึกษาขึ้นตรง  เช่น การออกคำสั่งจ้าง/ทำสัญญาจ้าง  แม้แต่การรับรองเงินเดือนบุคลากรรวมทั้งผู้รับจ้างเหมาบริการซึ่งจังหวัดเป็นผู้ออกคำสั่ง/ทำสัญญาจ้างและเบิกจ่ายค่าจ้างให้โดยไม่ผ่านระบบบัญชีอำเภอ  ก็ยังเป็นบทบาทอำนาจของ ผอ.สนง.กศน.จังหวัด/สถานศึกษาขึ้นตรง ส่วน ผอ.กศน.อำเภอ/เขต ไม่มีสิทธิอำนาจในการรับรองเงินเดือน/ค่าจ้างบุคลากรในอำเภอ ( แต่ถ้า ผอ.กศน.อำเภอออกหนังสือรับรองเงินเดือนไปแล้ว หน่วยที่รับเขายอมรับไม่ว่าอะไร ก็ไม่เป็นอะไร แต่ตามระเบียบกฎหมาย ผอ.กศน.อำเภอ/เขต ไม่มีสิทธิอำนาจในการรับรองเงินเดือน )
             3)  ทะเบียนประวัติบุคลากรต่าง ๆ เช่น กพ.7 ต้องมีอยู่ที่ สนง.กศน.จังหวัด/กทม./สถานศึกษาขึ้นตรง อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสำรวจข้อมูลไปยัง กศน.อำเภอ/เขต

             แต่บางจังหวัดแจ้งไปอำเภอให้สำรวจส่งจังหวัด อาจจะมีเหตุผลจาก
             1)  ให้อำเภอช่วยสำรวจเพื่อความรอบคอบ จะได้ไม่ตกหล่นผิดพลาด
             2)  จนท.งานบุคลากรของจังหวัด ขี้เกียจหรือทำทะเบียนประวัติต่าง ๆ ไม่เป็นปัจจุบัน ไม่ถูกต้อง
             ( บางจังหวัดแจ้งให้อำเภอสำรวจส่งจังหวัด ส่วนงานบุคลากรของอำเภอก็ไม่ทำทะเบียนประวัติบุคลากรให้ละเอียดเป็นปัจจุบันเช่นกัน จังหวัดถามอะไรไป ก็ให้บุคลากรแต่ละรายกรอกให้ใหม่ทุกครั้ง บุคลากรกรอกอย่างไรก็เชื่อตามนั้น ส่งกลับไปจังหวัด
                หลายจังหวัดเมื่อมีบุคลากรเกษียณ จะใช้ทะเบียนประวัติของจังหวัดในการเสนอเรื่องขอบำเหน็จบำนาญไม่ได้ เพราะบันทึกไม่ครบถ้วน ต้องใช้ทะเบียนประวัติที่ กจ.กศน. ซึ่งยังพอเป็นหลักได้
                 แต่ระยะหลัง ๆ แม้แต่ กจ.กศน.ก็มีข้อมูลบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเป็นปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากการประกาศบัญชีตำแหน่งว่างเพื่อการบรรจุหรือให้ขอย้าย ที่มักจะมีการแจ้งแก้ไขตามมาอีกบ่อย บางครั้งถึงขนาดเคยออกคำสั่งย้ายไปทับซ้อนในตำแหน่งที่มีคนอื่นครองอยู่
                 คนรุ่นเก่าที่มีความละเอียดถี่ถ้วน เกษียณไปเกือบหมดแล้ว
                 ความละเอียดถี่ถ้วนนี้ จะใช้เฉพาะตอนตรวจสอบไม่พอ แต่ต้องขยันบันทึกข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงให้เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ถ้าผลัดวันประกันพรุ่งไว้เพียงไม่กี่วันก็อาจลืมไปเลย )

         2. วันที่ 20 ก.พ.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ฉันตำแหน่งครูอาสาสมัครพื้นที่ปกติ อยากทราบข้อมูลการรับผิดชอบพื้นที่ปฏิบัติงาน เพราะมีเพื่อนครูอาสาเคยพูดว่าครูอาสาพื้นที่ปกติหนึ่งคนต้องรับผิดชอบพื้นที่2ตำบล พอจะมีหลักฐานตัวนี้มั้ย

             ผมตอบว่า   ส่วนกลางไม่เคยกำหนดว่าครูอาสาพื้นที่ปกติหนึ่งคนต้องรับผิดชอบสองตำบล แต่ให้อยู่ที่บริบทของแต่ละพื้นที่
             ผู้ถาม เขียนต่อ ว่า  ขอบคุณ พอดีฉันจะย้ายพื้นที่ปฏิบัติงานภายในจังหวัดเดียวกัน
             ผมตอบว่า  การย้ายพื้นที่ ไม่เกี่ยกับการรับผิดชอบกี่ตำบล แต่เกี่ยวกับเลขที่ตำแหน่งว่าง
             ปัจจุบันจังหวัดย้ายพื้นที่ปฏิบัติงานพนักงานราชการภายในจังหวัดได้ แต่ต้องมีเลขที่ตำแหน่งว่างในตำแหน่งเดียวกัน และพนักงานราชการเป็นผู้ขอย้าย ( ต่างกับการให้ไปช่วยปฏิบัติราชการนอกพื้นที่ชั่วคราวเพื่อความเหมาะสม )
             ต้องขอย้ายไปในอำเภอที่มีเลขที่ตำแหน่งครูอาสาฯว่างอยู่หรือสับเปลี่ยนกันเท่านั้น เลขที่เดิมของเราต้องอยู่ที่เดิม จะนำเลขที่เดิมตามตัวไปไม่ได้ ถ้าที่จะย้ายไปไม่มีเลขที่ตำแหน่งครูอาสาฯว่างอยู่ก็ย้ายไปไม่ได้ ถ้าจะย้ายเลขที่ตำแหน่ง ( เกลี่ยตำแหน่ง ) จังหวัดต้องขออนุมัติส่วนกลางก่อน  ( งานบุคลากร สนง.กศน.จังหวัด จะรู้ว่า มีเลขที่ตำแหน่งครูอาสาฯว่างอยู่ที่อำเภอใดบ้าง )

         3. วันที่ 21 ก.พ.61 มัณฑน์กาญจน์ ไชยหงษ์ (Mantakan Ch) ( สระแก้ว ) ถามต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ ว่า  กรณีตำแหน่งครูอาสาไปช่วยราชการที่สนง.กศน.จังหวัดคราวละกี่เดือน

             เรื่องนี้  อ.ณัฐพนธ์ กจ.กศน. บอกว่า ถ้าเป็นไปตามข้อ 2.1 ในแนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการ สังกัดสำนักงาน กศน.” ( ข้อ 2.1 นี้ พนักงานราชการไม่ต้องร้องขอ ) ไม่ได้กำหนดเวลาไปช่วยราชการในแต่ละคราวไว้ แต่ กำหนดว่า รวมทุกคราวในปีงบประมาณเดียวกัน ต้องไม่เกิน 4 เดือน  เช่น คราวแรกให้ไป 3 เดือน คราวที่สองก็ต้องไม่เกิน 1 เดือน  ทั้งนี้ในแต่ละคราวต้องระบุระยะเวลาสิ้นสุดที่ชัดเจน ไม่ใช่แจ้งให้ไปช่วยราชการโดยไม่ระบุว่าให้ไปช่วยราชการถึงวันไหน
             ผู้ถาม ถามต่อ ว่า  แล้วแบบประเมินละ..ประเมินแบบไหน เพราะตอนนี้ไปช่วยแล้วแต่ทางสนง.กศน.จังหวัดไม่มีรายบะเอียดให้ รบกวนส่งระเบียบไปช่วยราชการใหหน่อยนะ
             ผมตอบว่า  แบบประเมินอะไร การไปช่วยราชการนี้ไปชั่วครั้งชั่วคราว การประเมินก็ยังประเมินตำแหน่งเดิมงานเดิม

             ส่วนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการไปปฏิบัติราชการนอกพื้นที่นี้ ดูที่ผมเคยโพสต์เรื่องซักซ้อมแนวปฏิบัติของระบบพนักงานราชการ 2 ครั้งแล้วนะ
            
( ดูแนวปฏิบัติข้อ 2.1 จะระบุว่าให้ไปปฏิบัติราชการนอกพื้นที่ได้ในงานราชการที่ไม่แตกต่างจากที่ระบุในสัญญาจ้าง
             เช่น ครูอาสาฯอำเภอ ก. ลาออก ในขณะที่ยังสรรหาบรรจุคนใหม่ไม่เสร็จ ก็ให้ครูอาสาฯอำเภอ ข. ที่มีหลายคน แบ่งไปปฏิบัติงานที่อำเภอ ก. ชั่วคราว ในบทบาทหน้าที่ครูอาสาฯ เป็นต้น การประเมินก็ใช้แบบประเมินครูอาสาฯนั่นแหละ
             ถ้าคุณคิดว่าการไปช่วยปฏิบัติงานที่จังหวัด ไม่เป็นไปตามแนวปฏิบัติ ทำให้ผลงานครูอาสาฯลดและคะแนนการประเมินต่ำ คุณก็ควรบันทึกแจ้งขอไม่ไปช่วยราชการ )

         4. เย็นวันที่ 26 ก.พ.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ขอหนังสือ/เอกสาร เรื่องการจ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามสอบปลายภาคเรียน อาจารย์โพสไว้ แต่หาแล้วไม่เจอ

             ผมตอบว่า   ผมไม่เคยโพสต์เรื่องการ จ้างจนท.รักษาความปลอดภัยสนามสอบ
             ไม่มีระเบียบรองรับให้จ้าง จนท.รักษาความปลอดภัยสนามสอบ
             เคยมีหนังสือสำนักงาน กศน. แจ้งเรื่องมาตรการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสนามสอบวัดผลสัมฤทธิ์ปลายภาคเรียน ( ตามภาพประกอบโพสต์นี้ )
             แต่หนังสือฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้ จ้าง แต่ระบุให้
ประสานขอความอนุเคราะห์จากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อยู่ในพื้นที่
             อย่างไรก็ตาม ถ้าประสานขอความอนุเคราะห์โดยไม่ต้องจ้างไม่ได้ เราอาจจะแต่งตั้งให้ จนท.ตำรวจเป็นกรรมการดำเนินการสอบ และเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้ตามเกณฑ์กรรมการดำเนินการสอบได้
             กรรมการดำเนินการสอบต้องเป็นข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือพนักงานราชการ ที่ยังไม่เกษียณ ( สังกัดอื่นก็อนุโลมได้ ) ถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ ต้องเป็นครูสังกัด กศน. ( แต่นโยบายเรา ไม่ให้ครู กศน.คุมสอบ นศ.กลุ่มของตนเอง )
             อนึ่ง อย่าลืมว่า การตั้งกรรมการดำเนินการสอบมีเกณฑ์กำหนดจำนวนคนตามจำนวนห้องสอบ รวมกรรมการดำเนินการสอบทั้งหมดต้องตั้งไม่เกินเกณฑ์







         5. เย็นวันเดียวกัน ( 26 ก.พ.61 ) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก ว่า  ถามเกี่ยวกับการเบิกจ่าย Smart ONIE เพื่อสร้าง Smart Farmer คือ กศน.อำเภอหนึ่งมี 6 ตำบล ได้รับงบประมาณ 91,200 บาทสำหรับจัดกิจกรรม ซึ่งสำนักงาน กศน.ให้นโยบายว่าเป้าหมายตำบลละ 10 คนขึ้นไป ตามระเบียบการฝึกอบรมแล้วจะต้องมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 15 คน ถึงจะเบิกได้ตามระเบียบนี้ แต่ว่าอำเภอนี้เขาจัดเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกอบรมในพื้นที่ 60 คน วันเดียว และระยะที่ 2 คัดเลือกตัวแทนเพียง 30 คนจาก 60 คนแรก ไปศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ 3 วัน
             อยากถามว่าจะใช้เป้าหมายรวมกันทั้ง 2 ระยะ คือระยะแรก 60 คน กับระยะที่ 2 อีก 30 คน รวมเป็น 90 คน เพื่อที่จะเบิกงบประมาณทั้งหมดจะได้หรือไม่ ในส่วนตัวฉันมองว่าจะเป็นการฉีกแบ่งเป้าหมายทำให้อบรมไม่ครบตามหลักสูตร คือ 27-30 =4 วัน หรือเปล่า ขอความรู้หน่อย

             ผมตอบว่า   ต้องดูว่าโครงการนี้มีการกำหนดไว้ไหมว่า หลักสูตรจะต้องกี่วัน หลักสูตร 1 วันได้ไหม 3 วันได้ไหม เนื้อหาของหลักสูตรต้องมีแค่ไหน
             - ถ้าโครงการนี้ หลักสูตรจะกี่วันก็ได้ เนื้อหาแค่ไหนก็ได้ ก็สามารถเบิกจ่ายเป็น 2 โครงการ 2 หลักสูตร หลักสูตรที่ 1 เบิกจ่าย 60 คน 1 วัน หลักสูตรที่ 2 เบิกจ่าย 30 คน 3 วัน นับรวมเป็น 90 คนได้ เพราะเนื้อหา 2 หลักสูตรไม่เหมือนกัน
             - แต่ถ้ามีกำหนดว่า หลักสูตรจะต้อง 4 วัน ( 27-30 ชม.) หรือหลักสูตรจะต้องมีเนื้อหาครบตามที่กำหนด คงต้องจัดอบรมเพิ่มเติมให้ครบ จึงจะเบิกจ่ายได้ คือต้องให้ 30 คน ที่เดิมมาแค่ 1 วัน มาอบรมเพิ่มอีก 3 วัน แล้วเบิกจ่ายโดยถือว่าเป็นหลักสูตร 4 วัน ผู้เข้าอบรม 60 คน

         6. ดึกวันที่ 1 มี.ค.61 มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  ระเบียบให้ครูประจำกลุ่มเรือนจำ ครูประจำกลุ่มทหาร เบิกค่าตอบแทนกรรมการคุมสอบได้ไหม

             เรื่องนี้  ผมถามต่อทางไลน์ไปที่ อ.เอมอร ครูชำนาญการพิเศษ กศน.อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีครูประจำกลุ่มเรือนจำ
             และถาม อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน กศน. ว่า
            
เท่าที่ผมทราบ หน.กลุ่มงานตรวจจ่าย กลุ่มการคลัง กศน.คนเก่า เคยตอบว่า ถ้าแต่งตั้งให้เป็นกรรมการดำเนินการสอบก็เบิกได้ตามระเบียบ
             เช่น ถ้าสังกัด กศน.ดำเนินการสอบนอกวันราชการของเขาก็เบิกได้เต็ม  ถ้าสังกัดอื่นแม้ดำเนินการสอบในเวลาราชการเขาแต่ถ้าผู้บังคับบัญชาระดับสูงเขาอนุญาตให้ทำ ก็เบิกได้
             โดย กรรมการดำเนินการสอบต้องแต่งตั้งจาก ข้าราชการ หรือลูกจ้างประจำ หรือพนักงานราชการ ที่ยังไม่เกษียณ ( สังกัดอื่นก็อนุโลมได้ ) ถ้าไม่ได้เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำหรือพนักงานราชการ ต้องเป็นครูสังกัด กศน. ( แต่นโยบายเรา ไม่ให้ครู กศน.คุมสอบ นศ.กลุ่มของตนเอง )
             กรณีนี้จะคุมสอบ และเบิกค่าตอบแทนกรรมการคุมสอบได้ไหมครับ

             อ.สุนีย์ หน่วยตรวจสอบภายใน ตอบว่า
            
คำอธิบายทั้งหมดข้างต้น ถูกต้องแล้ว เหตุผลทั้งหมด ปัจจุบันยังไม่เปลี่ยนแปลง
             ส่วน อ.เอมอร ตอบว่า
            
ใช้ครูประจำกลุ่มคุมสอบ โดยสลับห้อง เช่นถ้าเขาเป็นครูประถม ก็ให้ไปคุม ม ต้น ถ้าครูประจำกลุ่มไม่พอ(ห้องสอบต้องมีครูคุมสอบ 2 คน) ก็จะต้องมีคนอื่นไปคุมสอบด้วย

             สรุป ครูประจำกลุ่มในเรือนจำ ในค่ายทหาร สามารถเบิกค่าตอบแทนกรรมการคุมสอบได้ ไม่มีระเบียบห้าม แต่นโยบายไม่ให้คุมสอบ นศ.กลุ่มของตนเอง

         7. เช้าวันเสาร์ที่ 3 มี.ค.61 มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อท้ายโพสต์ของผมในเฟซบุ๊กกลุ่มครูนอกระบบ ที่ผมใช้ภาพ ยอดเงินสงเคราะห์รายศพ ชพค.,ชพส.ประกอบโพสต์ ว่า
            
สมาชิกเสียชีวิตน้อยได้เงินสงเคราะห์มาก

             ประเด็นนี้ ผมอธิบายข้อมูลว่า
             จำนวนเงินสงเคราะห์ที่ทายาทจะได้รับ ไม่ได้คำนวณจากจำนวนสมาชิกที่เสียชีวิต
             แต่จำนวนเงินที่ทายาทจะได้รับ =
96 % ของจำนวนสมาชิกคงเหลือในเดือนนั้น เช่น เดือนนั้นมีจำนวนสมาชิกคงเหลือ 948,422 คน ทายาทก็จะได้รับเงิน 96 % เป็นเงิน 910,485 บาท โดยได้รับทันทีที่ยืนมรณบัตร 200,000 บาท เพื่อใช้จัดการศพ ส่วนที่เหลือได้รับภายหลัง
            
( ที่หักไว้ 4 % เป็นค่าบริหารจัดการ เช่น เจ้าหน้าที่ ชพค.-ชพส.ของทั้งส่วนกลางและทุกจังหวัด ทุกคนไม่ได้รับเงินเดือน/ค่าจ้างจากเงินงบประมาณนะ เช่นเดียวกับสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ทั่วประเทศ แต่ได้เงินเดือน/ค่าจ้างจากเงิน 4 % นี้ นอกจากนั้นเงิน 4 % ยังใช้จ่ายเป็นค่าวัสดุสำนักงาน ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ )
             ส่วนจำนวนเงินที่หักจากสมาชิกแต่ละคน = จำนวนสมาชิกที่ถึงแก่กรรมในเดือนนั้น เช่น
627 บาท = 627 ศพ
             บางเดือนสมาชิกถึงแก่กรรมมากแต่จำนวนสมาชิกเหลือน้อยเพราะสมัครใหม่น้อยกว่าถึงแก่กรรม+ลาออก บางเดือนสมาชิกถึงแก่กรรมน้อยแต่จำนวนสมาชิกมากขึ้นเพราะสมัครใหม่มากกว่าถึงแก่กรรม+ลาออก





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย