วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2561

1.ใบประกาศนียบัตรหาย ออกให้อีกได้ไหม, 2.ผอ.ไม่อนุมัติเปิดสอนกลุ่มอาชีพ เพราะผู้สมัครเรียน เกินเป้าหมายไป 3 คน, 3.กศน.จะทำไงดีหนอ, 4.ความหมายของ ตรา “กศน.เพื่อนเรียนรู้” สีของ กศน.คือสีอะไร ? สโลแกนของ กศน.คืออะไร ?, 5.สีเหลือง-เขียว คืออะไร สงสัยเรื่องสีและสโลแกนของ กศน. ใครทราบ ?, 6.ทำไม กศน.ใช้คำว่า "รักษาการในตำแหน่ง" ใช้ระเบียบข้อใด, 7.การเทียบโอนจากหลักสูตร ปวช.56 เข้าสู่หลักสูตร กศน.51


สัปดาห์นี้มีเรื่องที่คิดว่าน่าสนใจ ขอเลือกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7  เรื่อง ดังนี้

         1. วันที่ 19 มิ.ย.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  กรณีใบประกาศนียบัตร ( กศ.ขั้นพื้นฐาน ) หาย  สถานศึกษาสามารถออกให้อีกได้ไหม



             ผมตอบว่า   ดูในคู่มือฯ ปกสีเลือดหมู หน้า 169-178
             ( ออกใบแทน )


         2. เย็นวันเดียวกัน ( 19 มิ.ย.) มีผู้ถามผมในอินบ็อกซ์แฟนเพจเฟซบุ๊ก ว่า  “เรื่องการจัดการศึกษาต่อเนื่องมีเพื่อนครูถามว่า เปิดสอนกลุ่มอาชีพ เป้าหมาย 17 คน แต่มีผู้สมัครเรียน 20 คน กลุ่มแผนงานและผู้บริหารไม่เซ็นต์อนุมัติเปิดสอน ให้ไปหาหลักฐานว่ากลุ่มเป้าหมายเกินแล้วเปิดสอนได้ ฉันเคยเห็นแต่เป้าหมายเกินถือว่าเป็นเรื่องดี”

             ผมตอบว่า   ลองดูคำตอบเก่า ในข้อ 5 ที่
             http://nfeph.blogspot.com/2016/08/1-2-600-3-4-5-6-7.html

         3. เช้าวันที่ 21 มิ.ย.61 มี ผอ.กศน.อำเภอ ปรารภกับผมทางไลน์ ว่า

             “ครู1คนต้องรับผิดชอบจัดกิจกรรมอย่างน้อย10กิจกรรม/โครงการต่อ1ภาคเรียน ( ชั้นเรียนอาชีพ กลุ่มสนใจ ทักษะชีวิต พัฒนาสังคมชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง จัดการขยะ ดิจิทัลชุมชน smart farmer 1อำเภอ1อาชีพ ภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพ พัฒนาผู้เรัยน ) ยังไม่รวมงานภาคีเครือข่าย ไทยนิยม ศสปชต. อื่นๆ
             รวมทั้งต้องไปประชุม อบรม กับกศน.จังหวัดอีก108โครงการ
             แล้วจะเอาเวลาไหนไปจัดการเรียนการสอน จัดการเรียนรู้รายบุคคล ติดตามผู้เรียนให้มีคุณภาพ
             วิชาในแต่ละสาระการเรียนรู้ก็มาก ครู1คนต้องจัดการเรียนการสอนอย่างน้อย15วิชาต่อภาคเรียนสำหรับนศ.ทั้ง3ระดับ
             กลุ่มเป้าหมายก็เปลี่ยนไปนศ.ที่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงานก็ลดลงมาก เหลือแต่วัยรุ่นพูดอย่างยาก
             จะทำไงดีหนอ”

             ผมตอบว่า   ยึดทางสายกลางครับ
             ถ้าทำเต็มที่เต็มเวลาแล้ว ได้แค่ไหนก็แค่นั้น
             ( ยังมีพวกเราส่วนหนึ่งที่ทำงานไม่เต็มที่เต็มเวลา ถ้าใครทำเต็มที่เต็มเวลาแล้วได้แค่ไหนก็สุขสบายใจเถอะครับ )

             เรื่องนี้  ดร.ศุภัชณัฏฐ์ ผอ.สนง.กศน.จ.เพชรบุรี เสนอแนะในกลุ่มไลน์ “ภาคีเครือข่ายคนดี” ว่า
             “ที่เพชรบุรี ผมให้จัดแบบบูรณาการ ส่วนไหนทำด้วยกันได้ให้จัดด้วยกัน เช่น บูรณาการโครงการ/งาน/กิจกรรม
             บูรณาการเชิงพื้นที่ เช่น ตำบลใกล้กันรวมกันทำ
             ผอ.กศน.อำเภอ, ผอ.กศน.จังหวัด ก็ต้องช่วยแนะนำและแนะแนว ครู กศน.ด้วย อย่าปล่อยให้เขาอ้างว้างไม่มีที่พึ่ง ไม่ใช่ปรึกษาเพื่อนก็ไม่ได้ ปรึกษา ผอ.กศน.อำเภอ /ผอ.กศน.จังหวัดก็ไม่ได้”

             ส่วน ส.ต.อ.สมลักษณ์ กลิ่นชื่น เสนอแนะต่อท้ายโพสต์ของผมเรื่องในเฟซบุ๊ก ว่า
             “กศน.ต้องแสวงหาแนวร่วมภาคีพันธมิตรร่วมจัดการศึกษา โดยเฉพาะวิชาหลักๆเช่นภาษาอังกฤษ สังคม ฯลฯ (อย่าคิดว่าสังคมง่ายใครก็สอนได้ แท้แล้ววิชานี้ผู้สอนต้องเชี่ยใชาญมากๆ) ผมเคยติดต่อ กศน.บางอำเภอมีความรู้สึกว่า กศน.ไม่ต้องการให้ใครเข้ามาช่วย อยากเป็นพระเอกคนเดียวหรือ อย่าลืม กศน. ม.ปลายเนื้อหาค่อนข้างยาก ครู กศน.คนเดียวสอนได้หมดอย่างนั้นหรือ ถึงไม่อยากให้ใครเข้ามาช่วย”
             ( ส.ต.อ.สมลักษณ์ กลิ่นชื่น เคยลงข้อความในเฟซของตนว่า “ถึง นศ.กศน.กำแพงเพชร ผมสมลักษณ์ กลิ่นชื่น ข้าราชการบำนาญ ประสงค์สอนให้ทุกคนที่ต้องการความรู้ทางวิชาการที่เข้มแข็งได้แก่วิชา
                1.ภาษาอังกฤษ เน้น ม.ปลาย 2.ธรรมะที่สำคัญๆที่ทุกคนต้องรู้ 3.ระบบสังคมโลกในทุกด้านเพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัฒน์ 4.คณิตศาสตร์ ม.ต้น
                โดยสอนเป็นการกุศล นศ.ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขอเพียงให้ทุกคนตั้งใจผมจะทุ่มเทให้ทุกคนได้รับความรู้เต็มที่แบบค่อยเป็นค่อยไป รับรองผู้ที่ต้องการความรู้จริงๆจะไม่ผิดหวัง สนใจโทรมาคุยหรือปรึกษาหมายเลข 0914820959” )

         4. ภาพแบรนด์ "กศน.เพื่อนเรียนรู้" นำมาใช้แทน โลโก้เก่าที่เป็นตราสัญลักษณ์ งอบของชาวนาชาวสวน อยู่บนรูปคนกำลังอ่านหนังสือ และมีรวงข้าวอยู่ด้านล่าง

             แบรนด์หรือโลโก้ใหม่ “กศน.เพื่อนเรียนรู้” เปิดตัวที่เมืองทองธานีตั้งแต่ 8 ก.ย.2549 ( สโลแกนของ กศน. คือ "กศน.เพื่อนเรียนรู้" ) สัญลักษณ์เป็นรูปคน 2 คน ตรงกลางเป็นรูปหนังสือ มีข้อความภาษาไทย "กศน.เพื่อนเรียนรู้" ภาษาอังกฤษ "ONIE : LEARNING BUDDY"
             หมายถึง “การเรียนรู้เป็นสิ่งจำเป็นกับทุกคน กศน.ปรารถนาที่จะให้ทุกคนได้มีโอกาสเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต กศน.จะคอยช่วยเหลือส่งเสริมให้ทุกคนได้เรียนรู้สู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใด กศน.จะเป็นเพื่อนเรียนรู้เคียงคู่ทุกคนทุกกลุ่มเป้าหมายตลอดไป”
             - ตัวหนังสือ "กศน.เพื่อนเรียนรู้" ใช้สีม่วง ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นการเทิดทูนที่พระองค์ทรงเป็นผู้นำด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
             - ตัวหนังสือ "ONIE : LEARNING BUDDY" ใช้สีขาวอยู่ในกรอบพื้นสีแดง
             - รูปคน ใช้สีเขียวเหลือง ซึ่งเป็นสีของ กศน.
             - รูปหนังสือ ใช้สีขาวเพื่อส่งให้ตัวหนังสือโดดเด่น





         5. หลังจากที่ผมโพสต์เรื่องสีและสโลแกนของ กศน. จากตรา “กศน.เพื่อนเรียนรู้” ที่กำหนดเมื่อปี 2549  ปรากฏว่ามีบางท่านสงสัยว่า สีปัจจุบันอาจจะเปลี่ยนเป็นสีกรมท่าแล้วเพราะเห็นให้ใส่เสื้อสีกรมท่า และ เห็นมีคำว่า Education for all สโลแกนก็อาจจะเปลี่ยนเป็น “กศน.เพื่อปวงชน” แล้ว
             และ มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ “ITw NFE” ว่า  “สีเขียว/ สีเหลือง ( ของ กศน.) มีความหมาย ปะครับ.. อยากทราบจริงๆ”

             ผมคิดว่า  สีเขียว/สีเหลือง มีความหมายเช่นเดียวกับสีในเครื่องหมายราชการของสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ( กศน.) ที่ ภายในวงกลม มีตราเสมาธรรมจักร สีเขียว ตั้งอยู่บนเครื่องหมาย Infinity สีเขียว และรองรับด้วยรูปรวงข้าว สีเหลืองทอง
             ตราเครื่องหมาย กศน. นี้ หมายถึง "การส่งเสริมให้ประชาชนได้เรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตเพื่อความผาสุขของประชาชน"
             ( สีเขียว หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ ความสามัคคี ชุมชนเข้มแข็ง ความรู้ การเกษตร การเจริญเติบโตต่อเนื่อง
                สีเหลือง เป็นสีของรวงข้าว หมายถึง ความผาสุข )

             ท่านใด มีความรู้เรื่องสีและสโลแกนของ กศน. ที่เป็นปัจจุบัน ว่าเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่ อย่างไร กรุณาช่วยให้ข้อมูลความรู้ด้วยนะครับ

 
         6. วันที่ 27 มิ.ย.61 มีผู้ถามผมทางโทรศัพท์ ว่า  ทำไม กศน.ใช้คำว่า "รักษาการในตำแหน่ง" ใช้ระเบียบข้อใด

             ผมตอบว่า   การแต่งตั้ง "ผู้รักษาการในตำแหน่ง" ใช้ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547  มาตรา 68
             ประกอบกับ คำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ 270/2551 เรื่องมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานครปฏิบัติราชการแทน ลงวันที่ 5 มี.ค.51 ข้อ 1
             ( “รักษาการในตำแหน่ง” ต่างจาก “รักษาราชการแทน”
                ถ้าเป็น สพฐ. จะแต่งตั้งรอง ผอ.สถานศึกษา ให้ “รักษาราชการแทน” ผอ.สถานศึกษา ก่อน ถ้าไม่มี รอง ผอ. จึงแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้ “รักษาการในตำแหน่ง” )

         7. เย็นวันที่ 28 มิ.ย.61 มีผู้ถามในกลุ่มไลน์ ITw NFE ว่า  มีนักศึกษาเรียน ปวช. หลักสูตร 2556 สามารถเทียบโอน กศน.ได้ไหม มีข้อมูล เอกสาร ไหม ดูในเล่มสีเขียว แนวทางการเทียบโอนผลการเรียนฯแล้ว มันไม่มี ปวช.หลักสูตร 2556

             ผมตอบก่อนว่า
             1)  ถ้าเรียนจบ ปวช.แล้ว เทียบโอนไม่ได้  การ "เทียบโอน" ต้องยังเรียนไม่จบ
             2)  การเทียบโอนทุกหลักสูตรทุกวิชา ถ้า ไม่มีหลักเกณฑ์การเทียบโอนไว้ ให้พิจารณาความสอดคล้องของเนื้อหารายวิชา ถ้าเนื้อหารายวิชาที่นำมาเทียบโอน ( ได้เกรด 1 ขึ้นไป ) กับวิชาที่จะเทียบโอนในหลักสูตร กศน. สอดคล้องกันไม่น้อยกว่า 60 % ก็เทียบโอนเป็นรายวิชานั้นได้
                  ปกติต้องพิจารณาจากคำอธิบายรายวิชา แต่ถ้าไม่สามารถหาคำอธิบายรายวิชาของเขามาดูได้ ก็อาจต้องคาดเดาเนื้อหาจาก "ชื่อรายวิชา" การเทียบโอนจึงต้องทำในรูปคณะกรรมการเพราะอาจคิดไม่ตรงกันว่าสอดคล้องกันถึง 60 % หรือไม่ กรรมการอาจต้องลงมติ

             ส่วนคุณ ชวนิต พรมมา ตอบว่า
             กรณีเทียบโอนหลักสูตร ปวช.56 มาสู่ กศน.51 หลักการที่ใกล้เคียงที่สุด ที่สามารถศึกษาได้คือ แนวทางการจัดการศึกษาหลักสูตรเรียนร่วมหรือ ทวิศึกษา คู่มือเล่มนี้หาดูได้ที่เว็บของกลุ่มพัฒนาการศึกษานอกระบบ

             ผมจึงเสริม ว่า  ดาวน์โหลดเล่ม “แนวทางการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย ( ทวิศึกษา )” ได้ที่
             https://www.dropbox.com/s/n6sa7bzz82avypo/Manual2Ed.pdf?dl=0
             ( ดูในหน้า 25-46 )


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ/ข้อสงสัย